Pages

การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

กระทู้โดย : นายไกรสิทธิ์ 17/12/2008 , 20:55:25 สรุปในส่วนการแก้ไขใหม่ในเรื่องของการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล......( หรือการดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเดิมนั่นเองครับผม )

1 )มาตรา 155 นั้นยุบลงมาเหลือเพียงวรรคเดียว กล่าวคือคู่ความที่ไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา

2 )ส่วนมาตรา 156 นั้นยุบลงมาเหลือเพียงสองวรรคเท่านั้น กล่าวคือวรรคหนึ่งให้ตัดในส่วนของการสาบานตัวออกไปเท่านั้น ผู้ใดมีความจำนงจะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดี ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่จะฟ้องหรือได้ฟ้องคดีนั้นไว้ พร้อมกับคำฟ้อง คำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา คำร้องสอด หรือคำให้การ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าบุคคลนั้นตกเป็นผู้ไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลในภายหลัง จะยื่นคำร้องในเวลาใด ๆ ก็ได้

3 ) ส่วนในมาตรา156 วรรคสองนั้น ใจความส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ให้อำนาจแก่ศาลในการที่ใช้ดุลพินิจที่จะสั่งไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ ....และศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้ร้องอาจเสนอพยานหลักฐานไปพร้อมกับคำร้อง และหากศาลเห็นสมควรไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วเท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้ศาลจะมีคำสั่งให้งดการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นไว้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว จนกว่าการพิจารณาสั่งคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะถึงที่สุดก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร

4 ) มาตรา156/1 โดยมีจุดที่แตกต่างไปจากมาตรา 156 เดิมตรงที่ว่าถ้าหากศาลสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล คำสั่งศาลที่อนุญาตตามคำร้องจะไม่เป็นเป็นที่สุด และได้แก้ไขจากเดิมถ้าผู้ขอเป็นโจทก์ ผู้ขอจะต้องแสดงว่าคดีของตนมีมูล มาเป็นในกรณีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ การฟ้องร้องนั้นจะต้องมีเหตุผลอันสมควรด้วยแทนครับผม

มาตรา156/1 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลพิจารณาคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเสร็จแล้วให้ศาลมีคำสั่งโดยเร็ว โดยศาลจะมีคำสั่งอนุญาตทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วน หรือยกคำร้องนั้นเสียก็ได้

มาตรา156/1 วรรคสอง ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำร้องขอเช่นว่านั้นเว้นแต่จะเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ร้องขอไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือหากผู้ร้องไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินควรเมื่อพิจารณาถึงสถานะของผู้ร้อง และในกรณีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์หรือผู้อุทธรณ์หรือฎีกา การฟ้องร้องหรืออุทธรณ์หรือฎีกานั้นต้องมีเหตุอันสมควรด้วย

มาตรา156/1 วรรคสาม เมื่อคู่ความคนใดได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้ในศาลชั้นต้น แล้วมายื่นคำร้องเช่นว่านั้นในชั้นอุทธรณ์หรือในชั้นฎีกา แล้วแต่กรณีอีก ให้ถือว่าคู่ความนั้นยังคงไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาลหรือหากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแล้วจะได้รับความเดือดร้อนเกินควรอยู่ เว้นแต่จะปรากฏต่อศาลเป็นอย่างอื่น

มาตรา156/1 วรรคสี่ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แต่เฉพาะบางส่วน หรือมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลได้ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันมีคำสั่งคำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

5 ) ส่วนตามมาตรา 157 นั้นเพียงแต่เปลี่ยนจาก “ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถา” มาเป็น “ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในศาลใด” เท่านั้น นอกจากนี้แล้วยังคงเดิม

6 ) ในส่วนของมาตรา 158 นั้นเพียงแต่เปลี่ยนจาก “บุคคลผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถา” มาเป็น “ผู้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในศาลใด” และจาก“ผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถา” มาเป็น “ผู้นั้น” เท่านั้น นอกจากนี้แล้วหลักใหญ่ยังคงเดิม

7 ) ส่วนมาตรา159 นั้นก็เขียนล้อตามมาตรา159 และมาตรา 160 เดิมเพียงแต่เปลี่ยนตัวบุคคลและเปลี่ยนมาเป็นอนุมาตราเท่านั้น และมาตรา 160 ก็เขียนล้อตามมาตรา160 เดิมเช่นเดียวกัน หลักใหญ่ยังคงเดิมครับผม จากความข้างต้นทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างจากเดิมได้ดังต่อไปนี้

ข้อแตกต่างที่ 1 ใหม่ = จะไม่มีการสาบานตัวอีกต่อไป

ข้อแตกต่างที่ 2 ใหม่ = คำสั่งอนุญาตไม่เป็นที่สุด

ข้อแตกต่างที่ 3 ใหม่ = การที่ศาลอนุญาตบางส่วน จะขอให้พิจารณาคำขอใหม่ไม่ได้อีกต่อไป......แต่ในทางปฏิบัติศาลจะต้องนัดไต่สวนกันเหนียวกันพลาดเอาไว้ก่อน

ข้อแตกต่างที่ 4 ใหม่ = ศาลจะสั่งให้ไต่สวนก็ได้หรือไม่สั่งให้ไต่สวนก็ได้ โดยให้เป็นดุลพินิจโดยแท้ของศาล

8 ) เดิมในการฟ้องหรือต่อสู่คดีในชั้นฎีกานั้น มาตรา 156 วรรคท้ายเดิมกำหนดให้ผู้ขออุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วน หรือมีคำสั่งให้ยกคำขอเสียทีเดียวโดยตรงต่อศาลฎีกาได้เลย......

ถึงแม้ว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมิได้บัญญัติกำหนดเอาไว้ว่าจะให้อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาหรือไม่ก็ตาม แต่เราๆท่านๆก็ควรที่จะต้องตีความว่ายังคงสามารถอุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลฎีกาได้อยู่เช่นเดิมครับผม จึงขอแสดงความคิดเห็นเอาไว้เพียงแค่นี้ก่อนนะครับ จากคุณ : ผ่านมาแล้วอยากตอบ - [21 มาตราค.51 12:55]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น