Pages

ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่ง

ความหมายของคดีแพ่ง
คดีแพ่ง คือ คดีที่มีการโต้แย้งสิทธิ หรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง เช่น การฟ้องให้ผู้กู้ชำระเงินตามสัญญากู้ หรือการฟ้องเรียกให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของการฟ้องมุ่งให้จำเลยชำระเงิน มิใช่มุ่งที่จะให้จำเลยต้องถูกลงโทษ เช่น จำคุกดังเช่นคดีอาญา
คดีแพ่ง นอกจากจะเป็นเรื่องพิพาทกันดังกล่าวแล้ว อาจเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลเพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิของตน เช่น การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งถือเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท
สิทธิในการฟ้องคดีแพ่ง
บุคคลที่มีสิทธินำคดีแพ่งขึ้นฟ้องร้องต่อศาล จะต้องมีเหตุตามกฎหมายกำหนดไว้ 2 ประการ คือ
1. มีการโต้แย้งสิทธิ หรือ
2. มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล
1. การโต้แย้งสิทธิ หมายถึง การกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทบกระเทือนหรือละเมิดต่อสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายของบุคคลอื่น สิทธินี้มิได้หมายถึงสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงสิทธิอื่นๆ ด้วย เช่น สิทธิในชีวิตร่างกาย สิทธิในครอบครัว หรือสิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง
2. การต้องใช้สิทธิทางศาล หมายถึง กรณีที่กฎหมายกำหนดให้การกระทำบางอย่างต้องได้รับอนุญาตหรือได้รับการรับรองจากศาลก่อน เช่น การขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย การขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ การขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ การขอให้ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ หรือสาบสูญ หรือการขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น
กรณีเช่นนี้ ผู้ขอไม่ต้องฟ้องใครเป็นจำเลย เพียงแต่ยื่นคำร้องขอต่อศาลเท่านั้นและศาลจะนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง จึงเรียกว่าเป็น "คดีที่ไม่มีข้อพิพาท" ส่วนคดีที่มีการโต้แย้งสิทธิและต้องฟ้องบุคคลอื่นเป็นจำเลยนั้นเรียกว่า"คดีมีข้อพิพาท"

ผู้ที่จะฟ้องคดีหรืออาจถูกฟ้องคดีได้ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
บุคคลธรรมดา
ได้แก่ มนุษย์หรือคนซึ่งเมื่อมีสภาพบุคคลก็มีสิทธิและหน้าที่ จึงอาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยได้
อนึ่ง ตำแหน่งหน้าที่ราชการบางตำแหน่งรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วย เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยได้เช่นกัน
กรณีผู้เยาว์ ถ้าจะฟ้องคดีอาจแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องคดีแทนผู้เยาว์ หรือกรณีผู้เยาว์ฟ้องคดีเองซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน แต่ถ้าผู้เยาว์ถูกฟ้องคดี ผู้แทนโดยชอบธรรมจะต้องเข้าดำเนินคดีแทน
นิติบุคคล เป็นบุคคลทีกฎหมายกำหนดขึ้นให้มีสิทธิและหน้าที่บางประการที่นิติบุคคลจะมีอย่างเช่นบุคคลธรรมดาไม่ได้ การจะเป็นนิติบุคคลได้ต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองไว้ นิติบุคคลได้แก่

บริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ สมาคม มูลนิธิ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หน่วยราชการ (กระทรวง ทบวง กรม) รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย จังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ เป็นต้น
สิ่งที่ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล เช่น รัฐบาล กลุ่มหรือคณะบุคคล กองมรดก หน่วยราชการที่มีฐานะเป็นกอง สำนักสงฆ์ สุเหร่า อำเภอ ชมรม เป็นต้น ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จึงไม่อากเป็นโจทก์ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยได้
คำฟ้อง
ยื่นฟ้องที่

1.คดีเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นคดีฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์โดยตรง เช่น ฟ้องบังคับจำนอง หรือไถ่ถอนที่ดินขายฝาก ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกออกจากที่ดิน หรือฟ้องเกี่ยวกับสิทธิหรือประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ฟ้องเรียกค่าเช่าค่าเสียหาย

1.ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือ
2.ศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่

2.คดีเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล เช่น ฟ้องเรียกเงินกู้ ฟ้องเรียกเงินตามเช็ค ฟ้องผิดสัญญา ฟ้องหย่า ฯลฯ

1. ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
2. ศาลที่มูลคดีเกิด

3. คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตขณะถึงแก่ความตาย


การฟ้องจะฟ้องที่ศาลใด
1. ดูประเภทของคดีก่อนว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด
2. ดูทุนทรัพย์ของคดีว่าอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดหรือศาลแขวง
คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัด

ศาลจังหวัดมีอำนาจทั่วไปที่จะชำระคดีได้ทุกประเภท ในส่วนของคดีแพ่งมีเงื่อนไขดังนี้
1. คดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์ที่พิพาทเกินกว่า 300,000 บาท
2. คดีที่ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เช่น การฟ้องขับไล่
3. คดีที่ไม่มีข้อพิพาท เช่น คดีขอเป็นผู้จัดการมรดก คดีขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครอง คดีขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ เป็นต้น

ดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง
ศาลแขวงมีอำนาจชำระคดีเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ในอำนาจของพิพากษาคนเดียว ในส่วนของคดีแพ่ง เป็นคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท
การเตรียมเอกสารในการฟ้องคดีแพ่ง

เอกสารที่ต้องจัดเตรียม เช่น
1. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ เช่น หนังสือสัญญา หนังสือบอกกล่าวทวงถาม
2. หนังสือมอบอำนาจในกรณีที่มอบให้ผู้อื่นกระทำการแทน
3. รายละเอียดในการคำนวณยอดหนี้
4. ใบแต่งทนายความ
5. บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์
6. สำเนาทะเบียนบ้านหรือแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของจำเลย ไม่ควรเกิน 1 เดือน (จากฐานข้อมูลการทะเบียน สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)
7. หนังสือรับรองนิติบุคคล (จากสำนักงานหุ้นส่วนบริษัท กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์) ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล


ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่ง
1. ค่าขึ้นศาล
คดีที่มีทุนทรัพย์ ได้แก่ คดีที่โจทก์เรียกร้องโดยมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เช่น คดีที่มีคำขอเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินซึ่งยังมิได้เป็นของตนจากผู้อื่นมาเป็นของตน โดยจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์ที่เรียกร้องนั้นถือเป็นทุนทรัพย์
สำหรับค่าขึ้นศาลในคดีที่มีทุนทรัพย์โจทก์ต้องเสียอัตราร้อยละ 2.50 บาท ของจำนวนทุนทรัพย์ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

คดีไม่มีทุนทรัพย์ คือ คดีที่โจทก์มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เช่น ขอให้บังคับจำเลยให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้อ้างหรือเรียกร้องเป็นจำนวนเงินหรือทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง
สำหรับค่าขึ้นศาลในคดีไม่มีทุนทรัพย์โจทก์ต้องเสียเรื่องละ 200 บาท
ในกรณีเป็นคดีมีทุนทรัพย์กับไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ในคดีเดียวกัน ให้คิดค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.50 บาท ของจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง โดยเป็นเงินอย่างต่ำ 200 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
อุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 หรือ 228 เสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท

ค่าขึ้นศาลในอนาคต (เกี่ยวกับค่าเช่า ดอกเบี้ย ค่าเสียหาย)
เช่นถ้าไม่ได้ขอดอกเบี้ยก่อนฟ้อง แต่ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ ต้องเสียค่าขึ้นศาลอนาคตอีก 100 บาท

ค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้น
ตามปกติศาลจะคำนวณค่าขึ้นศาลเมื่อโจทก์ยื่นฟ้อง แต่ถ้าต่อมามีการแก้ไขคำฟ้องหรือมีเหตุประการอื่นอันทำให้จำนวนทุนทรัพย์เพิ่มขึ้น โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เพิ่มนั้น

2. ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ในคดีแพ่งคำร้อง 20 บาท
คำขอ 10 บาท
คำแถลง - บาท
ใบแต่งทนาย 20 บาท
- ค่าอ้างเอกสารเป็นพยานฉบับละ 5 บาท สูงสุดไม่เกิน 200 บาท
- ค่ารับรองสำเนาเอกสาร โดยผู้อำนวยการสำนักงานศาล 20 บาท
- ค่าใบสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด15บาท

3. ค่าใช้จ่ายอื่น
ในการดำเนินคดีแพ่ง คู่ความอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าส่งหมาย ค่าทำแผนที่พิพาท ค่าป่วยการ และค่าพาหนะพยาน ค่าตรวจเอกสารโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
กรณีที่โจทก์หรือจำเลยเป็นคนยากจน ไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาล โจทก์หรือจำเลยอาจยื่นคำร้องขออนุญาตยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ เรียกว่าการฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถา ซึ่งขอได้ทุกระดับชั้นศาล
ผู้ขอจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้อง คำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา หรือคำให้การ และสาบานตัวต่อเจ้าหน้าที่ศาลว่า ไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลจะบันทึกถ้อยคำสาบานเอาไว้ ศาลจะฟังคู่ความทุกฝ่ายโดยไต่สวนก่อนพิจารณาสั่ง
ถ้าศาลอนุญาตให้ฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาทั้งหมด ผู้นั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ซึ่งรวมถึงเงินวางศาล อันได้แก่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่ฝ่ายชนะคดีในศาลล่าง สำหรับการยื่นฟ้องอุทธรณ์ หรือฎีกา
แต่ถ้าศาลอนุญาตให้ฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาเพียงบางส่วน ผู้นั้นจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเฉพาะส่วนที่ศาลสั่งยกเว้นให้

กรณีจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หมายถึง กรณีที่จำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การโดยชอบแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล และจำเลยมิได้ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ซึ่งตามกฎหมายจะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การทันที
อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยจะขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การแล้ว แต่ก็ยังอาจขาดนัดยื่นคำให้การได้ ถ้าศาลไม่อนุญาตขยายระยะเวลาให้ยื่นคำให้การ เนื่องจากไม่มีเหตุผลสมควร
การขาดนัดยื่นคำให้การจะมีได้เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาไม่มีการยื่นคำให้การ ทางแก้สำหรับจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ
- กรณีจำเลยมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้จำเลยแจ้งต่อศาลว่าประสงค์จะสู้คดี และขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นคำให้การ ดังนี้ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ จากนั้นศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยสามารถแจ้งต่อศาลว่าประสงค์จะสู้คดีเป็นหนังสือหรือแจ้งด้วยวาจาก็ได้ โดยจำเลยอาจมาศาลด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่น หรือแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินการแทนก็ได้
การขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ศาลต้องสอบถามฝ่ายโจทก์ก่อน หรือหากจำเลยยื่นคำขอเป็นหนังสือ ก็ต้องส่งสำเนาคำขอให้โจทก์ เพื่อให้โอกาสโจทก์คัดค้าน จากนั้นศาลจะพิจารณาสั่งตามรูปคดีไป

- กรณีที่จำเลยมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี แต่จำเลยมิได้แจ้งต่อศาลว่าประสงค์จะสู้คดี หรือศาลไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ดังนี้จำเลยมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบพยานได้ แต่จำเลยไม่มีสิทธินำพยานของตนเข้าสืบ
ข้อควรระวัง กรณีที่จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนด โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ชนะคดี เพราะเหตุจำเลยขาดนัดภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลย มิฉะนั้น ศาลอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ได้
ผลของการจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ
1. จำเลยจะนำพยานของตนเข้าสืบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล หรือพยานเอกสาร
2. จำเลยมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้

การขาดนัดพิจารณา
การขาดนัดพิจารณา คือ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาล (ไม่ว่าจะเป็นตัวความหรือผู้มีสิทธิทำการแทนตัวความ เช่น ผู้รับมอบอำนาจและทนายความ) ในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา

ชนิดของพยานหลักฐาน
1. พยานบุคคล หมายถึง บุคคลที่ไปเบิกความให้ข้อเท็จจริงต่อศาล
2. พยานเอกสาร หมายถึง กระดาษ หรือวัตถุใดๆ ที่ปรากฏตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายซึ่งเป็นการสื่อความหมายนั้นๆ เช่น สัญญากู้ โฉนดที่ดิน
3. พยานวัตถุ หมายถึง วัตถุสิ่งของหรือสัตว์ที่นำมาให้ศาลตรวจ
4. พยานผู้เชี่ยวชาญ หมายถึง พยานที่มาเบิกความให้ความเห็นต่อศาล ในฐานะเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษในวิชาการบางอย่าง

การอ้างพยานเอกสาร
1. การอ้างเอกสารเป็นพยานนั้น ศาลรับฟังเฉพาะต้นฉบับของเอกสาร
เว้นแต่
1. คู่ความทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้อง
2. หาต้นฉบับเอกสารไม่ได้ ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้
3. ต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของทางราชการ หากมีสำเนาหรือข้อความที่คัดจากเอกสารโดยที่ทางราชการรับรองถูกต้อง ก็ใช้อ้างอิงเป็นพยานได้

2. ฝ่ายที่อ้างเอกสาร ต้องส่งสำเนาเอกสารให้ศาลและคู่ความฝ่ายอื่นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน
3. ฝ่ายที่อ้างเอกสาร ต้องเสียค่าอ้างเอกสารเป็นพยานในศาลชั้นต้นฉบับละ 5 บาท แต่สูงสุดไม่เกิน 200 บาท คำพิพากษาของศาล

คำพิพากษาคำพิพากษาของศาลกฎหมายกำหนดให้ทำเป็นหนังสือแสดงคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น รวมทั้งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วย
ย่อหน้าสุดท้ายของคำพิพากษา จะบอกผลของข้อวินิจฉัย เช่น
"พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 80,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กันยายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท" หรือ "พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ"
การอ่านผลของคดีจากคำพิพากษาชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา มีถ้อยคำที่ควรทราบคือ
ยืน หมายถึง เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ทั้งหมด

ยก หมายถึง ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกายกอุทธรณ์หรือฎีกาของคู่ความ เช่น กรณีต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ฎีกา หรือยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
กลับ หมายถึง ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ทั้งหมด
แก้ หมายถึง เห็นด้วยบางส่วน ไม่เห็นด้วยบางส่วน
เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติตามคำพิพากษา และกำหนดวิธีปฏิบัติไว้ เรียกว่า "คำบังคับ" ศาลมีหน้าที่ออกคำบังคับแก้ผู้แพ้คดีโดยผู้ชนะคดีไม่ต้องร้องขอ หากผู้แพ้คดีมาฟังคำพิพากษาศาลจะออกคำบังคับให้ผู้แพ้คดีลงลายมือชื่อทราบคำบังคับโดยอาจเขียนคำบังคับไว้ที่หน้าสำนวน หากผู้แพ้คดีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลจะออกคำบังคับและให้เจ้าพนักงานศาลส่งคำบังคับให้ผู้แพ้คดีทราบในภายหลัง
การพิพากษาตามยอมเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแล้วคู่ความอาจตกลงกันและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ โดยมีวิธีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน 2 วิธี คือ การทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาล ซึ่งเป็นการทำสัญญากันเองไม่ผ่านกระบวนพิจารณาของศาล กับการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามขั้นตอนและ

กระบวนการของศาล
ถ้าเป็นการตกลงประนีประนอมยอมความกันนอกศาลต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และขั้นตอนทางศาลคือโจทก์ต้องมาขอถอนฟ้องโดยอ้างว่าตกลงกันได้แล้วซึ่งศาลจะอนุญาตให้ถอนฟ้อง คดีก็เป็นอันเสร็จกันไป หากภายหลังฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาก็ต้องฟ้องร้องต่อศาลขอบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ส่วนการตกลงประนีประนอมยอมความกันในศาลเป็นเรื่องที่คู่ความตกลงกันได้แล้วขอให้ศาลบันทึกข้อตกลงในแบบพิมพ์สัญญาของศาลหรือคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเอง แล้วขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งย่อมขอให้ศาลบังคับคดีได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องคดีใหม่
ในช่วงคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ถ้าคู่ความตกลงกันได้ก็อาจทำสัญญาประนีประนอมกันยอมความในศาลกันได้ ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงไม่ขัดต่อกฎหมายก็จะพิพากษาตามยอมให้

การอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาข้อจำกัดการอุทธรณ์ฎีกา
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว คู่ความที่ไม่พอใจ อาจอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ หรือ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คู่ความที่ไม่พอใจอาจฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ข้อโต้แย้งที่คู่ความหยิบยกขึ้นอาจแยกเป็นข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง โดยหลักถ้าเป็นข้อกฎหมายจะไม่มีข้อห้ามในการอุทธรณ์ฎีกา แต่กฎหมายจำกัดสิทธิในการ


อุทธรณ์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงดังนี้
คดีที่จะอุทธรณ์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้
ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในแต่ละชั้นศาลต้องเกินกว่า 50,000 บาท (กรณีอุทธรณ์) หรือเกินกว่า 200,000 บาท (กรณีฎีกา)

ถ้าจำนวนทุนทรัพย์ 50,000 บาท หรือ 200,000 บาทพอดี หรือต่ำกว่านั้น มีข้อยกเว้นให้อุทธรณ์ฎีกาได้ โดยต้องให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณารับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์หรือฎีกา หรือได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค (กรณีอุทธรณ์) หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ (กรณีฎีกา)
คดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล หรือสิทธิในครอบครัว หรือคดีฟ้องขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ (หรือที่เรียกว่าคดีไม่มีทุนทรัพย์) สามารถอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ยกเว้นคดีฟ้องขับไล่ซึ่งถือเป็นคดีฟ้องปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะที่ยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท (กรณีอุทธรณ์) หรือไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท (กรณีฎีกา) ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาข้อเท็จจริง
ระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกา
คู่ความจะต้องยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังแล้วแต่กรณี


การบังคับคดี
การบังคับคดี หมายถึง วิธีการที่คู่ความผู้ชนะคดีจะดำเนินการเอาแก่ผู้แพ้คดีเพื่อให้ได้ผลตามคำพิพากษา

เนื่องจากฝ่ายแพ้คดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยได้ทราบคำบังคับและระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้เพื่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีอำนาจที่จะดำเนินการขอให้ศาลบังคับคดีได้

คู่ความฝ่ายชนะคดีอาจร้องขอให้มีการบังคับคดีได้นับแต่วันศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยการบังคับคดีไม่จำเป็นจะต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อศาลพิพากษาแล้ว แม้จะมีการอุทธรณ์ฎีกา คำพิพากษา แต่หากศาลมิได้มีคำสั่งสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีไว้ก็ย่อมดำเนินการบังคับคดีได้

อย่างไรก็ตาม คู่ความฝ่ายชนะคดีจะต้องร้องขอให้มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด แต่ถ้าผู้ชนะคดีไม่ร้องขอให้ศาลบังคับคดีภายใน 10 ปี การบังคับคดีก็ย่อมสิ้นสุดลง
วิธีการออกหมายบังคับคดีเมื่อได้มีการส่งคำบังคับให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ล่วงพ้นแล้ว แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษายังขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิจารณาและพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี หรืออีกนัยหนึ่งคือขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อดำเนินการบังคับคดี เช่น ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แล้วนำออกมาขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

การฟ้องคดีมโนสาเร่และคดีไม่มีข้อยุ่งยากด้วยตนเอง

คดีมโนสาเร่ความหมายของคดีมโนสาเร่
คดีมโนสาเร่ ได้แก่
1. คดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท
2. คดีฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าเช่า หรืออาจให้เช่าได้ในขณะที่ยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท
วิธีการฟ้องและขั้นตอนการดำเนินคดีการฟ้องคดีมโนสาเร่ทุกเรื่องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นๆ ยังคงต้อเสียเหมือนคดีแพ่งทั่วไป เช่น ค่าคำร้อง คำขอ ค่าส่งประเด็น เป็นต้น
วิธีการฟ้องคดีมโนสาเร่ โจทก์อาจยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หรือมาแถลงข้อหาต่อศาลด้วยวาจา
(ฟ้องด้วยวาจา) ก็ได้ หลังจากศาลรับฟ้อง ศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็ว โดยในหมายเรียกต้องระบุประเด็นในคดี เช่น โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องกู้ยืมให้จำเลยชำระเงินกู้คืนโจทก์สี่หมืนบาท เป็นต้น หมายเรียกจะมีข้อความให้จำเลยมาศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การและสืบพยานในวันเดียวกัน และให้โจทก์มาศาลในวันนัดด้วย
หากจำเลยไม่ยื่นคำให้การ ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้ดำเนินคดีต่อไป โดยถือว่าจำเลยขาดยื่นนัดคำให้การ
กรณีโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ขอเลื่อนคดี หรือเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ศาลถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไป และจำหน่ายคดีจากสารบบความได้
คดีมโนสาเร่ ศาลจะเลื่อนคดีได้เฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นและเลื่อนได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน

ในการสืบพยาน ศาลจะเป็นผู้ซักถามพยานก่อน แล้วจึงให้ตัวความหรือทนายความซักถามเพิ่มเติม การบันทึกคำเบิกความพยาน ศาลจะบันทึกข้อความโดยย่อก็ได้
การดำเนินคดีมโนสาเร่ด้วยตนเอง

1. เตรียมหลักฐานให้พร้อม ได้แก่
1.1 บัตรประจำตัวประชาชน/สำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์พร้อมสำเนา;
1.2 หนังสือรับรองจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (กรณีนิติบุคคลฟ้อง) พร้อมสำเนา
1.3 สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย พร้อมสำเนา
1.4 หนังสือรับรองจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (ไม่เกิน 1 เดือน) กรณีนิติบุคคลถูกฟ้องเป็นจำเลย พร้อมสำเนา
1.5 หลักฐานในการดำเนินคดี
- คดีกู้ยืม/ค้ำประกัน ได้แก่ สัญญากู้/ค้ำประกัน
- คดีผิดสัญญา ได้แก่ สัญญาหรือบันทึกข้อตกลง
- คดีละเมิด ได้แก่ บันทึกประจำวันของเจ้าพนักงานตำรวจ
- คดีตั๋วเงิน ได้แก่ เช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน

2. ติดต่อนิติกรประจำศาล เพื่อบันทึกคำฟ้องด้วยวาจา ตามแบบ ม. 1 (ส่วนฟ้องแย้งด้วยวาจาใช้แบบ ม. 2)
3. ยื่นบันทึกคำฟ้องพร้อมเอกสารหลักฐาน ชำระเงินค่าธรรมเนียมต่อเจ้าหน้าที่งานรับฟ้อง และกำหนดวันนัดกับเจ้าหน้าที่ศาล
4. ศาลมีหมายเรียกจำเลยมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ยโดยกำหนดวันนัดพิจารณา ประมาณ 30 วัน (จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาล) หรือ 45 วัน (กรณีจำเลยมีภูมิลำเนานอกเขตศาล) โดยโจทก์ต้องมาศาลในวันนัดทุกครั้ง
5. กรณีโจทก์จำเลยมาศาลในวันนัด ศาลจะเรียกไกล่เกลี่ยก่อน หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จศาลจึงพิจาณาคดีต่อไป โดยโจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบ
6. กรณีจำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา ศาลจะถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา และหากจำเลยมิได้ยื่นคำให้การไว้ก่อนด้วยแล้ว ศาลจะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยศาลจะสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาคดีทันที และศาลจะออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน โดยโจทก์ไม่ต้องขอ
7. กรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับภายในกำหนด (15 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ หรือ 30 วันกรณีปิดหมาย) โจทก์จะขอให้ศาลออกหมายต้องบังคับคดีต่อไป คดีไม่มีข้อยุ่งยาก ความหมายของคดีไม่มีข้อยุ่งยาก

คดีไม่มีข้อยุ่งยาก ได้แก่
1. คดีฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวนแน่นอนตามตั๋วเงิน ซึ่งการรับรองหรือการชำระเงินตามตั๋วเงินถูกปฏิเสธ
2. คดีฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวนแน่นอนตามหนังสือสัญญา ซึ่งปรากฏว่า เป็นสัญญาอันแท้จริง มีความสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย
วิธีการฟ้องและขั้นตอนการดำเนินคดี
คดีไม่มีข้อยุ่งยากนั้น จะยื่นฟ้องและเสียค่าขึ้นศาลเหมือนคดีแพ่งทั่วไป หากศาลเห็นว่าคดีที่ฟ้องเป็นคดีที่ไม่มีข้อยุ่งยาก ศาลจะมีคำสั่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มาใช้และออกหมายเรียกไปยังจำเลย แสดงจำนวนเงินที่เรียกร้อง และเหตุแห่งการเรียกร้อง และให้จำเลยมาศาลและให้การในวันที่กำหนด
ถ้าจำเลยมาศาล ศาลจะจดคำแถลงของจำเลยลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ถ้าศาลพิจารณาคำแถลงและคำให้การของจำเลยแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุต่อสู้คดี ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีโดยเร็ว ถ้าจำเลยมีคู่ต่อสู้อันสมควร ศาลจะพิจารณาโดยไม่ชักช้า และฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายก่อนพิพากษา ถ้าจำเลยได้รับหมายเรียกแล้วไม่มาศาลตามกำหนด ศาลจะสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วศาลจะพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวและพิพากษาคดีโดยเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น