Pages

ศาล รธน.มีมติ 8 ต่อ 6 ชี้เลือกตั้ง 2 เมษาฯ มิชอบ - สั่งเลือกใหม่


โดย ผู้จัดการออนไลน์  วันที่  8 พฤษภาคม 2549

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 6 ชี้ว่า การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในประเด็นการกำหนดวันเลือกตั้งไม่เป็นธรรม และการจัดคูหาหันหลังให้คณะกรรมการทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ พร้อมมีมติ 9 ต่อ 5 ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งกระบวนการ

วันนี้ (8 พ.ค.2549 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาคำร้องคำร้อง ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยให้เพิกถอนการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยมี 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1.กกต.ให้ความเห็นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ซึ่งเมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เมษายน ซึ่งห่างจากวันยุบสภาเพียง 35 วันเท่านั้น ทั้งๆ ที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 กำหนดกรอบระยะเวลาการจัดเลือกตั้งไว้ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันยุบสภา ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ในการให้มีเวลา ที่พอเพียงสำหรับจัดเลือกตั้งโดยไม่มีการกำหนดล่วงหน้ามาก่อน ซึ่งการให้ความเห็นดังกล่าวของ กกต.แม้จะอยู่ภายใต้กรอบมาตรา 116 แต่เป็นการดำเนินการที่ไม่เที่ยงธรรม เอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจยุบสภา ซึ่งขัดกับหลักความเป็นกลางทางการเมืองของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 และขัดหลักการจัดเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมตามมาตรา 144

2.การเลือกตั้ง 2 เมษายน กกต.ได้กำหนดการจัดคูหาในลักษณะที่บุคคลภายนอก สามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด อันเป็นการละเมิดหลักการลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งต้องดำเนินการโดยลงคะแนนโดยตรงและลับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 วรรค 3

3.ผลการสอบสวนของอนุกรรมการสอบสวนกรณีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทุกจังหวัด ว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรค ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีผู้สมัครคนเดียวในหลายเขตเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้ กกต.มีมติร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองขนาดเล็กที่รับจ้างส่งผู้สมัคร และดำเนินคดีอาญากับหัวหน้าพรคการเมืองขนาดเล็กที่เกี่ยวข้อง พฤติการณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.แล้วยังละเมิดหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่กำหนดว่า พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้เพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เพราะกรณีดังกล่าวหมายความว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจและกำหนดและดำเนินการให้มีผู้สมัคร 2 คนนั่นเอง

4.การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.มีมติ สั่งการ ออกประกาศและออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ การสืบสวนเพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งโดยไม่ได้มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยกรรมการครบถ้วนตามจำนวนที่มีอยู่ รวมถึงการให้ความเห็นชอบกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ตามหลักเกณฑ์ของ พร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า กกต.มาตรา 10 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 (6) และขัดแย้งกับหลักการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรกลุ่มตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136

ต่อมาในเวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งใน 2 ประเด็น คือ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาจนนำไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 และการจัดคูหาเลือกตั้งโดยหันหลังให้คณะกรรมการมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติด้วยคะแนะเสียง 9 ต่อ 5 ให้การเลือกตั้งมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

สำหรับมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.และการจัดคูหามิชอบ โดยเสียงข้างมากของตุลาการทั้ง 8 คน มีดังนี้

1.นายผัน จันทรปาน
2.นายอภัย จันทนจุลกะ
3.นายมงคล สระฏัน
4.นายปรีชา เฉลิมวณิชย์
5.ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์
6.นายอุระ หวังอ้อมกลาง
7.นายจิระ บุญพจนสุนทร
8.นายนพดล เฮงเจริญ

เสียงข้างน้อยของตุลาการทั้ง 6 ได้แก่
1.นายศักดิ์ เตชาชาญ
2.พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช
3.นายจุมพล ณ สงขลา
4.นายมานิต วิทยาเต็ม
5.นายสุวิทย์ ธีรพงษ์
6.นายสุธี สุทธิสมบูรณ์

ส่วนมติด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 5 สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเสียงข้างมากของตุลาการทั้ง 9 คน มีดังนี้
1.นายผัน จันทรปาน
2.นายอภัย จันทนจุลกะ
3.นายมงคล สระฏัน
4.นายปรีชา เฉลิมวณิชย์
5.ศาสตราจารย์ ดร. เสาวนีย์ อัศวโรจน์
6.นายอุระ หวังอ้อมกลาง
7.นายจิระ บุญพจนสุนทร
8.นายนพดล เฮงเจริญ
9.นายมานิต วิทยาเต็ม

เสียงข้างน้อยของตุลาการทั้ง 5 ได้แก่
1.นายศักดิ์ เตชาชาญ
2.พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช
3.นายจุมพล ณ สงขลา
4.นายสุวิทย์ ธีรพงษ์
5.นายสุธี สุทธิสมบูรณ์

รายละเอียดศาล รธน.แถลงผลการวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามประเด็นหลักที่กล่าว ด้วยสาเหตุบางประเด็น ดังนี้

1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับเตรียมการจัดการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ขัดกับหลักการเรื่องความเป็นกลางในทางการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และขัดกับหลักการเรื่องการควบคุม และดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

2. การจัดคูหาเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนน และหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง กับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

3. พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทั่วประเทศ ว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรค ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง ตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เป็นการละเมิดหลักการพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เพียงคนเดียว ในเขตเลือกตั้งนั้น

4. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีมติสั่งการ ออกประกาศ และออกคำสั่ง ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวน สอบสวน เพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนการพิจารณาประกาศ และรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่มีการประชุม ปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วน ตามอำนาจที่มีอยู่ และการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มิได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดโดยมติเอกฉันท์

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกา มติ การสั่งการ ประกาศ ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฎีกา มติ สั่งการ ประกาศ ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 ได้

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้โอกาสประธานกรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้ง คือท่านปริญญา ได้มีโอกาสชี้แจงด้วยวาจา ประกอบเอกสาร เป็นหนังสือ แล้วคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายทั้งประเด็นตามคำร้อง และคำชี้แจงด้วยวาจาและเอกสารเป็นหนังสือประกอบ จนเป็นที่ยุติแล้ว ได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติในเช้าวันนี้

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยตามประเด็นในคำร้อง มี 2 ประเด็น
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงด้วยวาจาก่อนลงมติ และลงมติ สำหรับประเด็นแรกที่ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในจำนวน 8 คนนี้ 6 คน คือ ท่านผัน จันทรปาน ท่านจิระ บุญพจนสุนทร ท่านนพดล เฮงเจริญ ท่านมงคล สระฏัน ท่านเสาวนีย์ อัศวโรจน์ และท่านอภัย จันทนจุลกะ เห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุตามคำร้องในข้อ 1. และ ข้อ 2. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ในจำนวน 8 คน คือ ท่านปรีชา เฉลิมวณิชย์ และท่านอุระ หวังอ้อมกลาง เห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุตามคำร้อง ข้อ 2.

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างนอก จำนวน 6 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ ท่านจุมพล ณ สงขลา ท่านมานิต วิทยาเต็ม ท่านศักดิ์ เตชาชาญ ท่านสุธี สุทธิสมบูรณ์ พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช และท่านสุวิทย์ ธีรพงษ์

อนึ่ง สำหรับท่านมานิต วิทยาเต็ม แม้วินิจฉัยว่า ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยเหตุผลที่ได้แถลงต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เห็นว่า ให้มีการเพิกถอนผลการเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติในประเด็นที่ 1 ตามที่ผมเรียนแล้ว ก็ได้มีการลงมติในประเด็นต่อไป เป็นประเด็นที่ 2 ว่า เมื่อการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงมีการลงมติในประเด็นว่า ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการการเลือกตั้ง จนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งหมด และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่หรือไม่

ในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน คือ ท่านผัน จันทรปาน ท่านจิระ บุญพจนสุนทร ท่านนพดล เฮงเจริญ ท่านนายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ท่านมงคล สระฏัน ท่านมานิต วิทยาเต็ม ท่านเสาวนีย์ อัศวโรจน์ ท่านอภัย จันทนจุลกะ และท่านอุระ หวังอ้อมกลาง วินิจฉัยว่า ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้ง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปใหม่
ข้างต้นเป็นมติของศาลรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น ที่ได้มีการแถลงด้วยวาจา และลงมติไปเสร็จสิ้นแล้ว


ช่วง ถาม-ตอบ
ถาม - ถ้าจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ กระบวนการในการจัดการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ไหมว่าจะต้องทำอย่างไร
ตอบ - เอาไว้รอในคำวินิจฉัยกลาง ซึ่งจะออกในเร็วๆ นี้

ถาม - แต่มีการชี้ชัดเกี่ยวกับประเด็นนี้ใช่ไหมว่าหน่วยงานแต่ละหน่วยงานควรจะต้องทำอะไรบ้าง และพระราชกฤษฎีกาจะต้องออกใหม่ไหม
ตอบ - มีอยู่ในคำแถลง และจะเขียนคำวินิจฉัย แต่ต้องประมวลก่อน

ถาม - ตอนนี้เท่ากับว่าพระราชกฤษฎีกาถูกเพิกถอนไปด้วยหรือเปล่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ตอบ - พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน เท่าที่ฟังจากการแถลงด้วยวาจา ในส่วนแรกตรงจุดนี้ เป็นบทบัญญัติในส่วนที่ 1 ที่ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น การยุบสภาฯ เป็นการกระทำของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่กำหนดไว้ในระบบรัฐสภา เพื่อให้ฝ่ายบริหารถ่วงดุลและคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องความสำคัญระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา ตรงจุดนี้จึงเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของอำนาจตุลาการ

ในส่วนที่ 2 ซึ่งมีในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องของกำหนดวันเลือกตั้ง แม้จะเป็นการกำหนดโดยรัฐบาล แต่เนื่องจากว่า ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ที่กำหนดวันเลือกตั้ง มีความสัมพันธ์กับการจัดการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ และมีกำหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการในกระบวนการจัดการเลือกตั้งหลายประการ การกำหนดวันเลือกตั้งที่รัฐบาลจะต้องกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร จึงจำเป็นต้องประสานงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน และในพระราชกฤษฎีกาส่วนที่ 2 นี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการกำหนดวันเลือกตั้ง หากมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ก็สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้

ถาม - เท่ากับว่ามีการเพิกถอนเป็นบางมาตรา คือมีการเพิกถอนเกี่ยวกับเรื่องกำหนดวัน เวลา และสามารถที่จะกำหนดวันใหม่ได้เลยหรือเปล่า
ตอบ - ยังไม่ถึงขั้นนั้น ในรายละเอียด ผมคิดว่าเพื่อความชัดเจนในการสื่อสารถึงกัน ไว้รออ่านในคำวินิจฉัย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ที่สอบถามจะชัดเจนทั้งหมด

ถาม – (เสียงไม่ชัดเจน) 60 วันหรือเปล่า
ตอบ - อันนั้นเดี๋ยวในคำวินิจฉัยจะระบุไว้หมด

ถาม - ผลของคำวินิจฉัยนี้จะมีการบ่งบอกด้วยไหมว่าใครจะต้องรับผิดชอบต่อความที่ทำให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ตอบ - ตรงจุดนี้ ในเรื่องของการวินิจฉัยตามมาตรา 198 ศาลจะบอกแต่เพียงว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุใด องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปอย่างไร เท่านั้นเอง

ถาม -ในเมื่อท่านบอกว่าเกี่ยวข้อง แสดงว่าพระราชกฤษฎีกา (เสียงไม่ชัดเจน)
ตอบ - ในประเด็นที่ 2 ที่ผมเขียนไป ให้เพิกถอนประกาศ และให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ การจัดการเลือกตั้งใหม่ตรงนี้ จะระบุในคำวินิจฉัยโดยละเอียดทั้ง 2 ประเด็น

ถาม - แล้ว กกต.จะทราบคำวินิจฉัยกลางนี้ได้เมื่อไร
ตอบ - ผมคิดว่าในวันพรุ่งนี้เสียงข้างมากคงจะมาตรวจคำวินิจฉัย ซึ่งตอนนี้ได้ยกร่างขึ้นเกือบจะสมบูรณ์แล้ว

ถาม - ปกติการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของทางศาลรัฐธรรมนูญที่จะสามารถกำหนด
ตอบ- ผมคิดว่าเอาไว้ดูในคำวินิจฉัย ในจุดนั้นจะชัดเจน

ถาม - การกำหนดวันเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญมาตราไหน
ตอบ- แล้วแต่แต่ละประเด็น มันจะมีไม่เหมือนกันในแต่ละประเด็น ตรงนั้นจะระบุไว้ วันนี้เพียงแต่แจ้งข่าวให้ทราบโดยสรุปเท่านั้น

ถาม - กรณีของท่านมานิต ในเมื่อท่านเห็นว่ามันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วทำไมท่านถึงเห็นว่าควรจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ท่านให้เหตุผลว่าอย่างไร
ตอบ - ก็มีเหตุผลที่ผมเรียนแล้วว่า ได้แถลงต่อที่ประชุม ในเรื่องของผลการเลือกตั้งที่ออกมา ในจุดนั้นท่านดูว่ากระบวนการ อันนี้ผมจะตอบแทนท่านมากไม่ได้นะครับ แต่ในกระบวนการ ในพระราชกฤษฎีกาการดำเนินการนั้นอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ผลที่ออกมาจากการดำเนินการ ตรงนั้นต้องสอบถามท่านโดยตรง

ถาม - การเลือกตั้งใหม่จะดำเนินการโดย กกต.ชุดเดิมหรือเปล่า หรือว่าจะต้องเปลี่ยน
ตอบ - อย่าไปคิดไกลขนาดนั้นเลยครับ เอาเป็นว่าคำวินิจฉัยออกแล้วรออ่านนะครับ

ถาม - การเลือกตั้งขัดหลักเรื่องความเป็นกลาง กับเรื่องสุจริตเที่ยงธรรม อันนี้ 2 มาตรา ทีนี้ในคำวินิจฉัยบอกว่า มันขัดมาตราไหน เรื่องความเป็นกลางหรืออะไร
ตอบ - อันนี้เดี๋ยวประมวลแล้วจะชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น