สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly)

30/10/52


สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly)

เป็นหนึ่งใน 6 องค์กรหลักของสหประชาชาติ

สมัชชานี้ประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ แต่ละประเทศมีสิทธิออกเสียงเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น
(ทุกประเทศมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือไม่)

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเป็นที่ประชุมและ

- ถกปัญหาต่างๆที่เข้าสู่วาระการประชุม
และ
-เพื่อแสดงความเห็น
-ให้คำปรึกษา
-ข้อสงสัย
-ข้อแนะนำ
-ตลอดจนข้อโต้แย้ง แก่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ รวมทั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม สมัชชาแห่งนี้จะไม่พิจารณาให้ข้อคิดเห็นต่อประเด็นที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคง เว้นแต่จะได้รับการร้องขอจากคณะมนตรีความมั่นคงเอง

อนึ่ง ความเข้าใจผิดที่มักเกิดขึ้นก็คือ เรื่องมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

กล่าวคือ มติของสมัชชาแห่งนี้ไม่มีสภาพบังคับใดๆในทางกฎหมายต่อประเทศสมาชิก ผลของมติเป็นเพียงการแสดงออกร่วมกันของประเทศสมาชิกเท่านั้น

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะมีการประชุมขึ้นทุกปี เปิดสมัยประชุมในวันอังคารของสัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายนและมักปิดสมัยประชุมในช่วงคริสต์มาส อย่างไรก็ตาม อาจมีการเรียกประชุมสมัยวิสามัญได้หากมีการร้องขอจากคณะมนตรีความมั่นคงหรือจากประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่มีประเด็นฉุกเฉินเร่งด่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยและสันติภาพของประชาคมโลก

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเฉพาะในการจัดทำงบประมาณของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับการบริจาคจากประเทศสมาชิกทั้งหมดโดยขึ้นอยู่กับโควตาตามข้อตกลง ประเทศที่บริจาคเงินสูงที่สุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา โดยมีจำนวนเงินคิดเป็น  22  % ของงบประมาณทั้งหมด
Read more ...

International Court of Justice ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

30/10/52


ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Court of Justice) 


หรือ


ที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ศาลโลก (อังกฤษ: World Court


ตั้งขึ้นโดยกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2489 เป็นองค์กรหลักภายใต้องค์การสหประชาชาติตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยทำหน้าที่สืบเนื่องต่อจาก


ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice) 


ที่ยุติบทบาทหน้าที่ไปพร้อมกับองค์การสันนิบาตชาติ ( ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ ตั้งขึ้นเมื่อ 10 มกราคม พ.ศ. 2463 )

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีใดๆ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ 2 ประเทศขึ้นไป (อังกฤษ: Contentious Case) เช่น


-ข้อพิพาทเรื่องดินแดนอาณาเขต 
-การละเมิดอำนาจอธิปไตย 
-ปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ หรือแม้แต่
กรณีที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่รัฐเป็นผู้ฟ้องแทน ฯลฯ 


ทั้งนี้ประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องยินยอมรับอำนาจศาลให้เป็นผู้พิจารณาตัดสินก่อนเท่านั้น ศาลจึงจะมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีนั้นได้

นอกจากนี้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังมีอำนาจวินิจฉัยเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในทางกฎหมาย ระหว่างประเทศ (อังกฤษ: Advisory Opinion) ในสามกรณีหลัก คือ

กรณีแรก ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ร้องขอ

กรณีที่สอง ตามที่องค์กรอื่นภายใต้สหประชาชาติหรือองค์การชำนัญพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติร้องขอโดยได้รับการอนุมัติจากสมัชชาใหญ่ และ

กรณีที่สาม ตามที่ได้มีการให้อำนาจวินิจฉัยปัญหาไว้โดยสนธิสัญญา

เมื่อปี พ.ศ. 2505 ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาได้ยอมรับอำนาจศาลให้พิจารณาตัดสินคดีปราสาทเขาพระวิหาร โดยศาลได้ตัดสินว่าบริเวณปราสาทเขาพระวิหารส่วนสำคัญถือเป็นของประเทศกัมพูชา

ผู้พิพากษาศาลโลก

ผู้พิพากษาศาลโลกมี 15 ท่าน เลือกตั้งคราวละ 9 ปี การพิจารณาพิพากษาคดีต้องมีองค์คณะครบ 9 ท่าน ศาลจะเลือกประธานและรองประธานศาลเอง และ ศาลจะนั่งพิจารณาที่อื่นนอกจากสำนักงานศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ได้



Read more ...

วิธีการเพื่อความปลอดภัย

26/10/52


๑.๑ เหตุที่ต้องบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย
ในทางอาญาเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อการกระทำความ ผิดจะมีทั้งในด้านการปราบปรามและในด้านการป้องกัน

ในด้านการปราบปราม คือ การลงโทษผู้กระทำผิด

ในด้านการป้องกันได้แก่ การบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด

วิธีการเพื่อความปลอดภัยจึงถูกกำหนดขึ้นตามสภาพที่เป็นอันตรายซึ่งบุคคลนั้นแสดง ออกมาว่าน่าจะกระทำผิดขึ้นในอนาคต รัฐจึงต้องหาวิธีการป้องกันมิให้การกระทำผิดที่เป็นอันตราย ต่อสังคมเกิดขึ้นหรือมิให้เกิดขึ้นอีก อันเป็นการป้องกันการกระทำความผิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมี ลักษณะแตกต่างจากโทษโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพบังคับ กล่าวคือ โทษเป็นสภาพบังคับที่รัฐจะบังคับ ใช้แก่บุคคลภายหลังจากที่บุคคลนั้นได้กระทำความผิดแล้ว แต่วิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นมาตรการ ที่รัฐนำมาใช้ก่อนที่จะมีการกระทำความผิด หรือมีการกระทำความผิดแล้วไม่ให้กลับ มากระทำผิดอีก

การฟ้องผู้กระทำผิดเพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นโทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่ใช้ในการปราบปรามอาชญากรรม หลังจากที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น

ส่วนมาตรการในการป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นนั้น ประมวลกฎหมาย อาญาได้บัญญัติไว้ส่วนหนึ่ง คือ การบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมีทั้งหมด ๕ ประเภท ได้แก่ การกักกัน การห้ามเข้าเขตกำหนด การเรียกประกันทัณฑ์บน การคุมตัวในสถานพยาบาล และการห้าม ประกอบอาชีพบางอย่าง ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้ประกาศใช้มากว่า ๓๐ ปี แต่ไม่มีการนำวิธีการ เพื่อความปลอดภัยตามที่บัญญัติไว้มาใช้ในทางปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพราะปัญหาของสังคมในระยะ เวลาที่ผ่านมามีไม่มากนัก ดังนั้น การใช้มาตรการในการลงโทษอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะปราบปรามและ แก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ แต่ในสภาพสังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมากอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้าน เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจจนบางครั้งนำไปสู่การกระทำความผิดจึง จำเป็นต้องหามาตรการในการป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรม ซึ่งได้แก่ การบังคับใช้วิธีการเพื่อ ความปลอดภัยซึ่งกฎหมายมุ่งประสงค์คุ้มครองป้องกันสังคมไว้ก่อนที่จะมีการกระทำผิดขึ้น เนื่องจาก หากปล่อยให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะนำความเสียหายมาสู่ประชาชนและสังคมซึ่งยากที่จะ เยียวยาแก้ไขความเสียหายเหล่านั้นได้
๑.๒ ประโยชน์และหลักเกณฑ์ของวิธีการเพื่อความปลอดภัยแต่ละประเภท
การนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยมาบังคับใช้ หากได้นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมจะมีผลช่วยแก้ไขสังคมให้เกิดความสงบเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอาชญากรรมใน อนาคตได้เป็นอย่างดี โดยวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ละประเภทสามารถใช้ป้องกันบุคคลที่มีสภาพเป็นอันตรายต่อสังคมไม่ให้ไปกระทำความผิดได้ดังนี้
๑.๒.๑ การกักกัน
- เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผผผิดติดนิสัย โดยทำให้บุคคล ที่เคยกระทำความผิดมาแล้วไม่กล้าที่จะกระทำผิดซ้ำอีก เพราะเกรงกลัวว่าจะต้องถูกกักกัน
- เพื่อป้องกันการแพร่นิสัยอาชญากรรมแก่ผู้ต้องโทษที่ไม่มีนิสัยเป็น อาชญากรรม โดยการกันบุคคลที่กระทำผิดติดนิสัยเหล่านี้ควบคุมไว้ในสถานที่กักกัน
- เพื่อแก้ไขให้ผู้กระทำผิดติดนิสัยได้กลับตัวเป็นคนดีโดยการดัดนิสัย และฝึกหัดอาชีพให้แก่ผู้นั้น
๑.๒.๒ การห้ามเข้าเขตกำหนด
- เพื่อป้องกันผู้ที่มีพฤติกรรมโน้มเอียงในการกระทำผิดในเขตพื้นที่ ไม่ให้เข้าไปกระทำผิดในเขตนั้น ๆ อีก
๑๒.๓ การเรียกประกันทัณฑ์บน
- เพื่อป้องกันผู้ที่มีความประพฤติโน้มเอียงที่จะประกอบอาชญากรรม ให้ไม่กล้าลงมือกระทำผิด เกิดความยับยั้งชั่งใจกลัวเนื่องจากถูกทำทัณฑ์บนไว้
๑.๒.๔ การคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
- เพื่อป้องกันผู้ที่มีสภาพอาจจะกระทำผิดได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป เนื่อง จากสภาพร่างกายและจิตใจป่วยเป็นโรคจิตหรือเสพสุราเป็นอาจิณหรือติดยาเสพติดให้โทษ ให้หาย จากสภาพดังกล่าวนี้เพื่อไม่ให้มีสาเหตุไปกระทำผิดได้อีก
๑.๒.๕ การห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง
- เพื่อป้องกันผู้ที่มีสภาพอาจจะกระทำผิดไไได้ง่ายเพราะการประกอบ อาชีพหรือวิชาชีพบางอย่าง ให้ไม่มีโอกาสได้กลับมากระทำผิดเช่นนั้นได้อีก

วิธีการเพื่อความปลอดภัยแต่ละประเภทมีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑.๒.๑ การกักกัน
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๐ กักกัน คือ ก ารควบคุมผู้กระทำความผิด ติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัยและเพื่อฝึกหัดอาชีพ

การกักกันจึงมีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลโดยการนำตัวมาควบคุมไว้ ภายในเขตกำหนดซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางพอที่จะไปไหนมาไหนได้มากกว่าเรือนจำ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุ ประสงค์เพื่อป้องกันการกระทำผิด เพื่อดัดนิสัยและเพื่อฝึกหัดอาชีพให้แก่ผู้ถูกกักกัน

การกักกันจึงต่างกับการจำคุกที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทดแทนการกระทำผิด โดยการลงโทษให้ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของสภาพความผิด ในทางกฎหมายจึงไม่ถือว่าการกักกัน เป็นการลงโทษบุคคลเหมือนโทษจำคุก หากแต่มีลักษณะเป็นมาตรการที่เสริมต่อจากการลงโทษ จำคุกเท่านั้น

ผู้กระทำผิดติดนิสัยซึ่งศาลอาจพิพากษาให้กักกันได้ ต้องเป็นผู้กระทำความผิด ตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๑ โดยต้องเป็น

(๑) ผู้กระทำผิดที่มีอายุเกิน ๑๗ ปี
(๒) เป็นผู้เคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันมาแล้ว หรือเป็นผู้เคยถูกศาลพิพากษา ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า ๖ เดือนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง ในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๑ (๑) ถึง (๘)
(๓) ได้กลับมากระทำความผิดอีกภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันพ้นจากการกักกันหรือพ้น โทษจำคุก
(๔) ความผิดที่กลับมากระทำใหม่นี้ต้องเป็นความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุ ไว้ในมาตรา ๔๑ (๑) ถึง (๘)
(๕) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน ในความผิดที่กลับมากระทำใหม่นั้น

เช่นนี้ศาลอาจพิพากษาให้กักกันมีกำหนดไม่น้อยกว่า ๓ ปี และไม่เกิน ๑๐ ปี

ความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๑(๑) ถึง (๘) ได้แก่ความผิดดังต่อไปนี้
(๑) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามมาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖ เช่น ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ฐานซ่องโจร ฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ฐานไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่ง
(๒) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามมาตรา ๒๑๗ ถึง มาตรา ๒๒๔ เช่น ความผิดฐานวางเพลิง ฐานตระเตรียมวางเพลิง ฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ ฐานทำให้เกิดระเบิด
(๓) ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ตามมาตรา ๒๔๐ ถึง มาตรา ๒๔๖ เช่น ความผิดฐาน ปลอมและแปลงเงินตรา ฐานทำให้เหรียญกษาปณ์มีน้ำหนักลดลง ฐานนำเข้าซึ่งเงินตราปลอมและ แปลง ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งเงินตราปลอมและแปลง ฐานนำออกใช้ซึ่งเงินตราปลอมและแปลง ฐานทำหรือมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงเงินตรา
(๔) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามมาตรา ๒๗๖ ถึง มาตรา ๒๘๖ เช่น ความผิดฐาน ข่มขืนกระทำชำเรา ฐานกระทำอนาจาร ฐานเป็นธุระจัดหาไปเพื่อการอนาจารหรือโดยใช้อุบาย ฐานดำรงชีพด้วยรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี
(๕) ความผิดต่อชีวิต ตามมาตรา ๒๘๘ ถึง มาตรา ๒๙๐ และมาตรา ๒๙๒ ถึง มาตรา ๒๙๔ เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฐานฆ่าโดยไม่มีเจตนา ฐานทำการทารุณให้บุคคลที่ต้องพึ่งตน ให้ฆ่าตนเอง ฐานยุยงเด็กให้ฆ่าตนเอง ฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้มีคนตาย
(๖) ความผิดต่อร่างกาย ตามมาตรา ๒๙๕ ถึง มาตรา ๒๙๙ เช่น ความผิดฐาน ทำร้ายร่างกาย ฐานทำร้ายร่างกายสาหัส ฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
(๗) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา ๓๐๙ ถึง มาตรา ๓๒๐ เช่น ความผิดฐาน ทำให้เสื่อมเสรีภาพ ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ฐานเอาคนเป็นทาส ฐานเรียกค่าไถ่ ฐานสนับสนุนเรียก ค่าไถ่ ฐานพรากผู้เยาว์ ฐานพาคนส่งออกนอกราชอาณาจักร
(๘) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามมาตรา ๓๓๔ ถึง มาตรา ๓๔๐ มาตรา ๓๕๔ และ มาตรา ๓๕๗ เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ฐานวิ่งราวทรัพย์ ฐานกรรโชกทรัพย์ ฐานรีดเอาทรัพย์ ฐานชิงทรัพย์ ฐานปล้นทรัพย์ ฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน หรือเป็นผู้มีอาชีพอันเป็นที่ไว้ใจของ ประชาชน ฐานรับของโจร

ตัวอย่าง นาย ก. ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายสาหัส ตามรายการ ประวัติปรากฏว่า ขณะที่ นาย ก. มีอายุเกินกว่า ๑๗ ปี แล้ว เคยถูกศาลลงโทษจำคุก ๒ ครั้ง ได้แก่ ฐาน ลักทรัพย์จำคุก ๖ เดือน ฐานข่มขืนกระทำชำเราจำคุก ๒ ปี พ้นโทษมาแล้ว ๑ ปี ได้กลับมากระทำ ความผิดและถูกจับกุมในข้อหาทำร้ายร่างกายสาหัสเช่นนี้ นาย ก. อยู่ในข่ายเป็นผู้กระทำผิดติดนิสัย ที่ต้องขอให้ศาลกักกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๑

การฟ้องขอให้กักกันกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ โดยจะฟ้องขอให้กักกันรวมไปในฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกันหรือจะฟ้องภายหลัง ก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายในกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันที่ฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้ กักกัน มิเช่นนั้นจะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๗
๑.๒.๒ การห้ามเข้าเขตกำหนด
การห้ามเข้าเขตกำหนด คือ การห้ามมิให้เข้าไปในท้องที่หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ใน คำพิพากษา

ท้องที่ ได้แก่ ตำบล อำเภอ จังหวัด

สถานที่ที่กำหนด ได้แก่ สถานที่ใด ๆ ก็ได้ซึ่งแคบกว่าท้องที่ เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า บาร์ ไนท์คลับ สถานีรถไฟ เป็นต้น

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๕ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ศาลสั่ง ห้ามเข้าเขตกำหนดได้ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องเพื่อความปลอดภัยของประชาชน กล่าวคือ เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของ ผู้ต้องหาในความผิดที่กระทำแล้ว ผู้ต้องหาได้กระทำผิดโดยอาศัยสถานที่เป็นที่ประกอบการกระทำ ความผิด หรือหากให้เข้าไปในสถานที่นั้นอีกก็อาจจะก่อการกระทำผิดขึ้นซึ่งเป็นภัยต่อความปลอดภัย ของประชาชน เช่น นาย ข. ชอบเข้าไปเต้นรำในดิสโก้เธคและมักจะก่อการทะเลาะวิวาทชกต่อยกับ ผู้เข้าไปเที่ยวทุกครั้ง เช่นนี้ พฤติการณ์ของผู้ต้องหาย่อมจะเป็นภัยต่อความปลอดภัยของประชาชน ที่เข้าไปเที่ยวในดิสโก้เธค เพื่อป้องกันไม่ให้ นาย ข. ได้มีโอกาสทำความผิดขึ้นอีก จึงควรขอให้ศาลสั่ง ห้ามเข้าเขตกำหนด คือ สถานดิสโก้เธคทุกแห่ง

(๒) การที่ศาลจะสั่งห้ามเข้าเขตกำหนดได้นั้น ศาลต้องลงโทษผู้นั้นในความผิดที่ ถูกฟ้องก่อน
(๓) การห้ามเข้าเขตกำหนดจะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อจำเลยผู้นั้นได้พ้นโทษตามคำ พิพากษาแล้ว
(๔) ต้องระบุท้องที่หรือสถานที่ที่กำหนดห้ามไว้ให้ชัดเจน
(๕) การห้ามเข้าเขตกำหนดจะกำหนดระยะเวลาเท่าไรก็ได้แต่ต้องไม่เกิน ๕ ปี

อนึ่ง การห้ามเข้าเขตกำหนดอีกกรณีหนึ่งที่ศาลมีอำนาจสั่งตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา ๔๖ วรรคสอง เนื่องจากผู้ถูกศาลสั่งให้ทำทัณฑ์บนไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกัน ไม่ได้นั้น เป็นการสั่งห้ามบุคคลที่จะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่ง การกระทำยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดอาญา ดังนั้นจึงไม่จำต้องอาศัยหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาแล้วให้ ครบถ้วนแต่อย่างใด

กรณีมีการฝ่าฝืนเข้าไปในเขตกำหนดที่ศาลได้สั่งห้ามไว้ในระยะเวลาที่ ศาลกำหนด เช่น ศาลสั่งห้าม นาย ข. เข้าไปในสถานดิสโก้เธคในเขตบางรักทุกแห่งมีกำหนด ๒ ปี เช่นนี้ เมื่อ คำสั่งศาลมีผลบังคับใช้และนาย ข. ได้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามดังกล่าวของศาลโดยเข้าไปในดิสโก้เธคในเขต บางรัก การกระทำของนาย ข. ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๔ ฐานฝ่าฝืนคำ พิพากษาเข้าไปในเขตกำหนดที่ศาลห้ามซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน สองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
๑.๒.๓ การเรียกประกันทัณฑ์บน
การเรียกประกันทัณฑ์บนเป็นการบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย เพื่อป้องกัน การกระทำผิด โดยศาลให้ผู้นั้นสัญญาว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายหรืออันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่เกินสองปี ถ้าผู้นั้นกระทำผิดทัณฑ์บนจะต้องชำระเงินค่าปรับแก่ ศาลตามที่ระบุไว้ในทัณฑ์บนซึ่งจะไม่เกินกว่าครั้งละห้าพันบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๖, ๔๗

การเรียกประกันทัณฑ์บน ต้องเป็นกรณีที่ผู้นั้นมีพฤติการณ์จะก่อเหตุร้ายให้เกิด ภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

เหตุร้าย หมายถึงเหตุที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกายของบุคคลหรือ ทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น

ถ้าเหตุร้ายนั้นไม่เป็นภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ แม้จะเป็นความผิดอาญาแต่ก่อ ให้เกิดผลอย่างอื่นก็ไม่ใช่เหตุร้ายตามความในมาตรานี้ เช่น การหมิ่นประมาท แม้จะเป็นการก่อเหตุร้าย ต่อชื่อเสียง แต่เหตุร้ายดังกล่าวนี้ไม่ได้ทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นจึงไม่ใช่เหตุร้าย ตามความในมาตรา ๔๖

โดยที่กรณีนี้ยังไม่ได้มีการกระทำผิดและเพียงแต่อาจจะก่อเหตุร้ายขึ้นเท่านั้น จึงมี ความจำเป็นต้องป้องกันไว้ โดยการเรียกประกันทัณฑ์บนเพื่อให้สัญญาว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายขึ้นใน อนาคต ซึ่งวิธีการนี้อาจเริ่มดำเนินการได้โดย

(๑) พนักงานอัยการเป็นผู้เสนอต่อศาล
(๒) โดยศาลเป็นผู้พิจารณาดำเนินการเอง
(๑) กรณีพนักงานอัยการเป็นผู้เสนอต่อศาล

กรณีนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการกระทำความผิด แต่พนักงานอัยการเห็นว่าบุคคลนั้น จะก่อเหตุร้ายทำความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิด เหตุร้ายทำความเสียหายแก่ผู้อื่น พนักงานอัยการสามารถใช้มาตรการนี้เพื่อยับยั้งป้องกันไว้ก่อน โดยการ เสนอเป็นคดีต่อศาลให้เรียกประกันทัณฑ์บน

ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบนายขาวเดินอยู่ตามถนนบริเวณหมู่บ้านจัดสรรตอน ดึกมีอาการพิรุธ โดยเดินหลบเลี่ยงจากแสงไฟและแอบซุ่มสังเกตหน้าประตูบ้านเป็นเวลานาน จึงได้ ขอ ตรวจค้นตัวและพบไขควง ใบเลื่อยสำหรับตัดเหล็ก ไฟฉายขนาดเล็ก อยู่ในถุงที่นายขาวถืออยู่ ซึ่งสิ่งของดังกล่าวเหล่านี้อาจใช้เป็นเครื่องมือในการงัดแงะเพื่อทำการลักทรัพย์ตามบ้านต่าง ๆ นั้นได้ โดยที่นายขาวไม่มีอาชีพใดเป็นหลักแหล่ง เช่นนี้ พฤติการณ์ส่อแสดงว่านายขาวตระเตรียมการจะไป ลักทรัพย์ภายในหมู่บ้านดังกล่าวแต่ถูกจับกุมเสียก่อน ซึ่งการเตรียมการจะไปลักทรัพย์นั้นตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิด แต่กรณีนี้ก็น่าเชื่อว่าในโอกาสต่อไปนายขาวอาจจะไปทำการลักทรัพย์จนได้ จึงควร ใช้มาตรการเรียกประกันทัณฑ์บนตามมาตรา ๔๖ เพื่อยับยั้งป้องกันไม่ให้นายขาวมีโอกาสไปกระทำผิด

ซึ่งกรณีนี้พนักงานสอบสวนจะควบคุมตัวนายขาวได้ไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง เพื่อทำการ สอบสวนนายขาว เสมือนเป็นความผิดอาญา แล้วทำสำนวนเสนอไปยังพนักงานอัยการตามพระราช บัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ ซึ่งเมื่อพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็น ว่านายขาวมีพฤติการณ์จะก่อเหตุร้ายดังที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา ก็จะทำคำฟ้องต่อศาลขอให้ศาล สั่งให้นายขาวทำทัณฑ์บน

(๒) กรณีที่ศาลพิจารณาดำเนินการเอง
กรณีนี้จะมีการกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำความผิดจนถูกดำเนินคดีฟ้องต่อศาล ในฐาน ความผิดนั้น ๆ แต่ในชั้นศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นความผิดโดยไม่ลงโทษผู้นั้น แต่ศาลเห็นว่า ผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น เช่นนี้ ศาลจะสั่งให้เรียก ประกันทัณฑ์บนเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้

ตัวอย่าง นาย ก. ถูกฟ้องฐานพยายามลักทรัพย์ ในชั้นพิจารณาได้ความว่า นาย ก. เดินตามหลังผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายหยุดอยู่ที่ป้ายรถโดยสารประจำทาง นาย ก. ได้ทำท่าจะล้วงกระเป๋า ผู้เสียหายแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นและเข้าจับ นาย ก. ดังนี้ การกระทำของนาย ก. ยังไม่เข้าขั้นพยายาม ลักทรัพย์ ศาลจะลงโทษ นาย ก. ไม่ได้ แต่ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งเรียกประกันทัณฑ์บนได้ เพราะ การกระทำของ นาย ก. เป็นการจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

แต่อย่างไรก็ดี บุคคลที่จะถูกสั่งให้ทำทัณฑ์บนได้ ต้องมีอายุเกิน ๑๗ ปี ไม่ว่าจะเป็น กรณีพนักงานอัยการร้องขอหรือกรณีศาลสั่งเอง

สำหรับการขอให้ศาลสั่งเรียกประกันทัณฑ์บนนี้ เป็นอำนาจเฉพาะของพนักงาน อัยการในการร้องขอต่อศาลเพื่อป้องกันบุคคลทั่วไป

ในการสั่งให้ผู้ใดทำทัณฑ์บนศาลจะสั่งให้มีประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ และถ้าหากผู้ นั้นไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ ศาลก็จะสั่งกักขังผู้นั้นมีกำหนดไม่เกิน ๖ เดือนหรือจนกว่า จะยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันได้ หรือจะสั่งห้ามเข้าเขตกำหนดก็ได้

กรณีที่ผู้นั้นทำผิดทัณฑ์บน โดยการกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ในสัญญา ทัณฑ์บน ศาลมีอำนาจสั่งให้ชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาทัณฑ์บน หรือถ้าผู้นั้นไม่ ชำระ เงินตามที่ศาลสั่งก็จะถูกกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐

อนึ่ง อายุความในการบังคับให้ทำทัณฑ์บนหรือสั่งให้ใช้เงินเมื่อทำผิดทัณฑ์บนมี กำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๑
๑.๒.๔ การคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
การคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล เป็นการป้องกันบุคคลบางประเภท ซึ่งมีสภาพ กระทำผิดได้ง่ายกว่าบุคคลทั่ว ๆ ไป ได้แก่
(๑) ผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน
(๒) ผู้กระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเสพสุราเป็นอาจิณ หรือผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

เมื่อบุคคลเหล่านี้ไปกระทำผิดเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมากระทำผิดได้อีก จึงให้อยู่ใน สถานที่ที่เหมาะสมกับสภาวะแห่งจิตของผู้นั้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการตัดโอกาสไม่ให้มา กระทำผิดอีก
(๑) หลักเกณฑ์กรณีผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๔๘ มีดังนี้
(๑).๑ ต้องเป็นผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน
(๑).๒ ศาลไม่ลงโทษหรือลดโทษให้เนื่องจากเป็นผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน
(๑).๓ ถ้าปล่อยผู้นั้นไปจะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน
(๑).๔ ศาลสั่งให้คุมตัวผู้นั้นในสถานพยาบาลได้โดยไม่มีกำหนดเวลา จนกว่าสภาวะ แห่งจิตของผู้นั้นจะดีขึ้นและไม่เป็นอันตรายแก่ประชาชนแล้วศาลจึงจะเพิกถอนคำสั่งคุมตัวใน สถานพยาบาล

(๒) หลักเกณฑ์กรณีเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเสพสุราเป็นอาจิณ หรือ ผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๙ มีดังนี้
(๒).๑ ต้องเป็นการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับ
- การเสพสุราเป็นอาจิณ หรือ
- การเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒).๒ ศาลสั่งห้ามเสพสุราหรือเสพยาเสพติดให้โทษ มีกำหนดเวลา ๒ ปี นับแต่ วันพ้นโทษหรือวันปล่อยตัว
(๒).๓ ระหว่างระยะเวลาที่ศาลสั่งห้าม ผู้นั้นได้ฝ่าฝืนเสพสุราหรือเสพยาเสพติด ให้โทษ
(๒).๔ ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ฝ่าฝืนไปคุมในสถานพยาบาลได้ไม่เกินสองปี

ตัวอย่าง นายเหลืองชอบดื่มสุราและทุกครั้งที่ดื่มสุราจะก่อเหตุวิวาททำร้ายร่างกาย ผู้อื่นเป็นประจำ เช่นนี้เป็นการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเสพสุราเป็นอาจิณ หรือกรณีนายม่วง ซึ่งเป็น ผู้ติดยาเสพติดให้โทษไม่มีเงินซื้อยาเสพติด ได้ไปลักทรัพย์เพื่อนำเงินมาซื้อยาเสพติดมาเสพ เช่นนี้ เป็นการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

ซึ่งทั้ง ๒ กรณีนี้เมื่อพนักงานอัยการขอให้ศาลสั่งห้ามเสพสุราหรือยาเสพติดให้โทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๙ แล้ว และศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งห้ามเสพสุราหรือยาเสพติด แล้วแต่กรณีภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี หากภายในระยะเวลาที่คำสั่งศาลมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้นั้นฝ่าฝืนคำสั่งศาล พนักงานอัยการจะร้องขอให้ศาลส่งผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งศาลไปคุมตัวในสถาน พยาบาลตาม มาตรา ๔๙ วรรคสอง ต่อไป

กรณีที่ศาลสั่งให้ส่งตัวไปคุมยังสถานพยาบาลตามมาตรา ๔๙ วรรคสองแล้ว ต่อมาถ้า ผู้นั้นหลบหนีจากสถานพยาบาล เช่นนี้เป็นความผิดฐานหลบหนีจากสถานพยาบาลตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
๑.๒.๕ การห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพบางอย่าง
เนื่องจากการประกอบอาชญากรรมบางอย่าง ผู้กระทำความผิดได้อาศัยโอกาสจาก การประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และหากให้ผู้นั้น ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไปอาจจะกระทำผิดเช่นนี้ขึ้นอีก ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการ กระทำความผิดที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงขอให้ศาลสั่งห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นชั่วระยะเวลา หนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้

หลักเกณฑ์การขอให้ห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพบางอย่าง ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๕๐ มีดังนี้
(๑) ต้องเป็นผู้ที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษและกระทำความผิดโดย
- อาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพพพ หรือ
- เนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ
(๒) หากผู้นั้นประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไปอาจกระทำความผิดเช่นนั้นอีก

ตัวอย่าง นายแสดมีอาชีพเป็นเจ้าของโรงงานผลิตน้ำปลา ได้ผลิตน้ำปลาปลอมซึ่ง ก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างร้ายแรง พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดโดย อาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพผลิตน้ำปลา ซึ่งหากให้นายแสดประกอบอาชีพผลิตน้ำปลาอีก ก็อาจกลับมากระทำผิดฐานผลิตน้ำปลาปลอม เช่นนี้ จึงขอให้ศาลสั่งห้ามประกอบอาชีพผลิตน้ำปลา
เมื่อศาลสั่งห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพบางอย่าง ซึ่งสั่งห้ามได้ไม่เกินห้าปี หากภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลสั่งห้ามผู้นั้น ได้ฝ่าฝืนคำสั่งศาลไปประกอบอาชีพหรือวิชาชีพที่ถูก ศาลสั่งห้ามผู้นั้น มีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๑๙๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
Read more ...

ศาล รธน.มีมติ 8 ต่อ 6 ชี้เลือกตั้ง 2 เมษาฯ มิชอบ - สั่งเลือกใหม่

26/10/52

โดย ผู้จัดการออนไลน์  วันที่  8 พฤษภาคม 2549

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 6 ชี้ว่า การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในประเด็นการกำหนดวันเลือกตั้งไม่เป็นธรรม และการจัดคูหาหันหลังให้คณะกรรมการทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ พร้อมมีมติ 9 ต่อ 5 ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งกระบวนการ

วันนี้ (8 พ.ค.2549 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาคำร้องคำร้อง ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยให้เพิกถอนการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยมี 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1.กกต.ให้ความเห็นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ซึ่งเมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เมษายน ซึ่งห่างจากวันยุบสภาเพียง 35 วันเท่านั้น ทั้งๆ ที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 กำหนดกรอบระยะเวลาการจัดเลือกตั้งไว้ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันยุบสภา ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ในการให้มีเวลา ที่พอเพียงสำหรับจัดเลือกตั้งโดยไม่มีการกำหนดล่วงหน้ามาก่อน ซึ่งการให้ความเห็นดังกล่าวของ กกต.แม้จะอยู่ภายใต้กรอบมาตรา 116 แต่เป็นการดำเนินการที่ไม่เที่ยงธรรม เอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจยุบสภา ซึ่งขัดกับหลักความเป็นกลางทางการเมืองของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 และขัดหลักการจัดเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมตามมาตรา 144

2.การเลือกตั้ง 2 เมษายน กกต.ได้กำหนดการจัดคูหาในลักษณะที่บุคคลภายนอก สามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด อันเป็นการละเมิดหลักการลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งต้องดำเนินการโดยลงคะแนนโดยตรงและลับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 วรรค 3

3.ผลการสอบสวนของอนุกรรมการสอบสวนกรณีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทุกจังหวัด ว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรค ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีผู้สมัครคนเดียวในหลายเขตเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้ กกต.มีมติร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองขนาดเล็กที่รับจ้างส่งผู้สมัคร และดำเนินคดีอาญากับหัวหน้าพรคการเมืองขนาดเล็กที่เกี่ยวข้อง พฤติการณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.แล้วยังละเมิดหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่กำหนดว่า พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้เพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เพราะกรณีดังกล่าวหมายความว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจและกำหนดและดำเนินการให้มีผู้สมัคร 2 คนนั่นเอง

4.การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.มีมติ สั่งการ ออกประกาศและออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ การสืบสวนเพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งโดยไม่ได้มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยกรรมการครบถ้วนตามจำนวนที่มีอยู่ รวมถึงการให้ความเห็นชอบกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ตามหลักเกณฑ์ของ พร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า กกต.มาตรา 10 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 (6) และขัดแย้งกับหลักการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรกลุ่มตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136

ต่อมาในเวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งใน 2 ประเด็น คือ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาจนนำไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 และการจัดคูหาเลือกตั้งโดยหันหลังให้คณะกรรมการมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติด้วยคะแนะเสียง 9 ต่อ 5 ให้การเลือกตั้งมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

สำหรับมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.และการจัดคูหามิชอบ โดยเสียงข้างมากของตุลาการทั้ง 8 คน มีดังนี้

1.นายผัน จันทรปาน
2.นายอภัย จันทนจุลกะ
3.นายมงคล สระฏัน
4.นายปรีชา เฉลิมวณิชย์
5.ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์
6.นายอุระ หวังอ้อมกลาง
7.นายจิระ บุญพจนสุนทร
8.นายนพดล เฮงเจริญ

เสียงข้างน้อยของตุลาการทั้ง 6 ได้แก่
1.นายศักดิ์ เตชาชาญ
2.พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช
3.นายจุมพล ณ สงขลา
4.นายมานิต วิทยาเต็ม
5.นายสุวิทย์ ธีรพงษ์
6.นายสุธี สุทธิสมบูรณ์

ส่วนมติด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 5 สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเสียงข้างมากของตุลาการทั้ง 9 คน มีดังนี้
1.นายผัน จันทรปาน
2.นายอภัย จันทนจุลกะ
3.นายมงคล สระฏัน
4.นายปรีชา เฉลิมวณิชย์
5.ศาสตราจารย์ ดร. เสาวนีย์ อัศวโรจน์
6.นายอุระ หวังอ้อมกลาง
7.นายจิระ บุญพจนสุนทร
8.นายนพดล เฮงเจริญ
9.นายมานิต วิทยาเต็ม

เสียงข้างน้อยของตุลาการทั้ง 5 ได้แก่
1.นายศักดิ์ เตชาชาญ
2.พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช
3.นายจุมพล ณ สงขลา
4.นายสุวิทย์ ธีรพงษ์
5.นายสุธี สุทธิสมบูรณ์

รายละเอียดศาล รธน.แถลงผลการวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามประเด็นหลักที่กล่าว ด้วยสาเหตุบางประเด็น ดังนี้

1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับเตรียมการจัดการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ขัดกับหลักการเรื่องความเป็นกลางในทางการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และขัดกับหลักการเรื่องการควบคุม และดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

2. การจัดคูหาเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนน และหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง กับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

3. พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทั่วประเทศ ว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรค ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง ตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เป็นการละเมิดหลักการพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เพียงคนเดียว ในเขตเลือกตั้งนั้น

4. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีมติสั่งการ ออกประกาศ และออกคำสั่ง ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวน สอบสวน เพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนการพิจารณาประกาศ และรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่มีการประชุม ปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วน ตามอำนาจที่มีอยู่ และการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มิได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดโดยมติเอกฉันท์

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกา มติ การสั่งการ ประกาศ ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฎีกา มติ สั่งการ ประกาศ ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 ได้

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้โอกาสประธานกรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้ง คือท่านปริญญา ได้มีโอกาสชี้แจงด้วยวาจา ประกอบเอกสาร เป็นหนังสือ แล้วคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายทั้งประเด็นตามคำร้อง และคำชี้แจงด้วยวาจาและเอกสารเป็นหนังสือประกอบ จนเป็นที่ยุติแล้ว ได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติในเช้าวันนี้

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยตามประเด็นในคำร้อง มี 2 ประเด็น
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงด้วยวาจาก่อนลงมติ และลงมติ สำหรับประเด็นแรกที่ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในจำนวน 8 คนนี้ 6 คน คือ ท่านผัน จันทรปาน ท่านจิระ บุญพจนสุนทร ท่านนพดล เฮงเจริญ ท่านมงคล สระฏัน ท่านเสาวนีย์ อัศวโรจน์ และท่านอภัย จันทนจุลกะ เห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุตามคำร้องในข้อ 1. และ ข้อ 2. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ในจำนวน 8 คน คือ ท่านปรีชา เฉลิมวณิชย์ และท่านอุระ หวังอ้อมกลาง เห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุตามคำร้อง ข้อ 2.

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างนอก จำนวน 6 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ ท่านจุมพล ณ สงขลา ท่านมานิต วิทยาเต็ม ท่านศักดิ์ เตชาชาญ ท่านสุธี สุทธิสมบูรณ์ พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช และท่านสุวิทย์ ธีรพงษ์

อนึ่ง สำหรับท่านมานิต วิทยาเต็ม แม้วินิจฉัยว่า ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยเหตุผลที่ได้แถลงต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เห็นว่า ให้มีการเพิกถอนผลการเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติในประเด็นที่ 1 ตามที่ผมเรียนแล้ว ก็ได้มีการลงมติในประเด็นต่อไป เป็นประเด็นที่ 2 ว่า เมื่อการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงมีการลงมติในประเด็นว่า ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการการเลือกตั้ง จนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งหมด และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่หรือไม่

ในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน คือ ท่านผัน จันทรปาน ท่านจิระ บุญพจนสุนทร ท่านนพดล เฮงเจริญ ท่านนายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ท่านมงคล สระฏัน ท่านมานิต วิทยาเต็ม ท่านเสาวนีย์ อัศวโรจน์ ท่านอภัย จันทนจุลกะ และท่านอุระ หวังอ้อมกลาง วินิจฉัยว่า ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้ง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปใหม่
ข้างต้นเป็นมติของศาลรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น ที่ได้มีการแถลงด้วยวาจา และลงมติไปเสร็จสิ้นแล้ว


ช่วง ถาม-ตอบ
ถาม - ถ้าจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ กระบวนการในการจัดการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ไหมว่าจะต้องทำอย่างไร
ตอบ - เอาไว้รอในคำวินิจฉัยกลาง ซึ่งจะออกในเร็วๆ นี้

ถาม - แต่มีการชี้ชัดเกี่ยวกับประเด็นนี้ใช่ไหมว่าหน่วยงานแต่ละหน่วยงานควรจะต้องทำอะไรบ้าง และพระราชกฤษฎีกาจะต้องออกใหม่ไหม
ตอบ - มีอยู่ในคำแถลง และจะเขียนคำวินิจฉัย แต่ต้องประมวลก่อน

ถาม - ตอนนี้เท่ากับว่าพระราชกฤษฎีกาถูกเพิกถอนไปด้วยหรือเปล่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ตอบ - พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน เท่าที่ฟังจากการแถลงด้วยวาจา ในส่วนแรกตรงจุดนี้ เป็นบทบัญญัติในส่วนที่ 1 ที่ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น การยุบสภาฯ เป็นการกระทำของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่กำหนดไว้ในระบบรัฐสภา เพื่อให้ฝ่ายบริหารถ่วงดุลและคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องความสำคัญระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา ตรงจุดนี้จึงเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของอำนาจตุลาการ

ในส่วนที่ 2 ซึ่งมีในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องของกำหนดวันเลือกตั้ง แม้จะเป็นการกำหนดโดยรัฐบาล แต่เนื่องจากว่า ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ที่กำหนดวันเลือกตั้ง มีความสัมพันธ์กับการจัดการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ และมีกำหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการในกระบวนการจัดการเลือกตั้งหลายประการ การกำหนดวันเลือกตั้งที่รัฐบาลจะต้องกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร จึงจำเป็นต้องประสานงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน และในพระราชกฤษฎีกาส่วนที่ 2 นี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการกำหนดวันเลือกตั้ง หากมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ก็สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้

ถาม - เท่ากับว่ามีการเพิกถอนเป็นบางมาตรา คือมีการเพิกถอนเกี่ยวกับเรื่องกำหนดวัน เวลา และสามารถที่จะกำหนดวันใหม่ได้เลยหรือเปล่า
ตอบ - ยังไม่ถึงขั้นนั้น ในรายละเอียด ผมคิดว่าเพื่อความชัดเจนในการสื่อสารถึงกัน ไว้รออ่านในคำวินิจฉัย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ที่สอบถามจะชัดเจนทั้งหมด

ถาม – (เสียงไม่ชัดเจน) 60 วันหรือเปล่า
ตอบ - อันนั้นเดี๋ยวในคำวินิจฉัยจะระบุไว้หมด

ถาม - ผลของคำวินิจฉัยนี้จะมีการบ่งบอกด้วยไหมว่าใครจะต้องรับผิดชอบต่อความที่ทำให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ตอบ - ตรงจุดนี้ ในเรื่องของการวินิจฉัยตามมาตรา 198 ศาลจะบอกแต่เพียงว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุใด องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปอย่างไร เท่านั้นเอง

ถาม -ในเมื่อท่านบอกว่าเกี่ยวข้อง แสดงว่าพระราชกฤษฎีกา (เสียงไม่ชัดเจน)
ตอบ - ในประเด็นที่ 2 ที่ผมเขียนไป ให้เพิกถอนประกาศ และให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ การจัดการเลือกตั้งใหม่ตรงนี้ จะระบุในคำวินิจฉัยโดยละเอียดทั้ง 2 ประเด็น

ถาม - แล้ว กกต.จะทราบคำวินิจฉัยกลางนี้ได้เมื่อไร
ตอบ - ผมคิดว่าในวันพรุ่งนี้เสียงข้างมากคงจะมาตรวจคำวินิจฉัย ซึ่งตอนนี้ได้ยกร่างขึ้นเกือบจะสมบูรณ์แล้ว

ถาม - ปกติการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของทางศาลรัฐธรรมนูญที่จะสามารถกำหนด
ตอบ- ผมคิดว่าเอาไว้ดูในคำวินิจฉัย ในจุดนั้นจะชัดเจน

ถาม - การกำหนดวันเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญมาตราไหน
ตอบ- แล้วแต่แต่ละประเด็น มันจะมีไม่เหมือนกันในแต่ละประเด็น ตรงนั้นจะระบุไว้ วันนี้เพียงแต่แจ้งข่าวให้ทราบโดยสรุปเท่านั้น

ถาม - กรณีของท่านมานิต ในเมื่อท่านเห็นว่ามันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วทำไมท่านถึงเห็นว่าควรจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ท่านให้เหตุผลว่าอย่างไร
ตอบ - ก็มีเหตุผลที่ผมเรียนแล้วว่า ได้แถลงต่อที่ประชุม ในเรื่องของผลการเลือกตั้งที่ออกมา ในจุดนั้นท่านดูว่ากระบวนการ อันนี้ผมจะตอบแทนท่านมากไม่ได้นะครับ แต่ในกระบวนการ ในพระราชกฤษฎีกาการดำเนินการนั้นอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ผลที่ออกมาจากการดำเนินการ ตรงนั้นต้องสอบถามท่านโดยตรง

ถาม - การเลือกตั้งใหม่จะดำเนินการโดย กกต.ชุดเดิมหรือเปล่า หรือว่าจะต้องเปลี่ยน
ตอบ - อย่าไปคิดไกลขนาดนั้นเลยครับ เอาเป็นว่าคำวินิจฉัยออกแล้วรออ่านนะครับ

ถาม - การเลือกตั้งขัดหลักเรื่องความเป็นกลาง กับเรื่องสุจริตเที่ยงธรรม อันนี้ 2 มาตรา ทีนี้ในคำวินิจฉัยบอกว่า มันขัดมาตราไหน เรื่องความเป็นกลางหรืออะไร
ตอบ - อันนี้เดี๋ยวประมวลแล้วจะชัดเจน
Read more ...

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งรับคำฟ้อง กกต.กรณีจัดการเลือกตั้ง-จัดคูหาเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 104 เมื่อปี พ.ศ.2549

26/10/52
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งรับคำฟ้อง กกต.กรณีจัดการเลือกตั้ง-จัดคูหาเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 104 ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ พร้อมทั้งให้เพิกถอนการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนด้วย ขณะเดียวกัน ได้ให้ กกต.ทำคำให้การคัดค้านภายใน 7 วัน

วันนี้ (27 เม.ย.2549) ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้รับฟ้อง คดีดำที่ 620/2549 ที่ นพ.ประมวล วีรุตมเสน กับพวกรวม 10 คน ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในความผิดเรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครอง กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ในคำฟ้องระบุว่า กรณี กกต.มีมติจัดการเลือกตั้ง เรื่องวิธีจัดคูหาเลือกตั้งโดยหันหน้าออก ทำให้การลงคะแนนของผู้มาใช้สิทธิไม่เป็นความลับ ซึ่งวิธีจัดคูหาเลือกตั้งดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 ที่บัญญัติให้การเลือกตั้งให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและเป็นความลับ

ทั้งนี้ คดีดังกล่าว นพ.ประมวล กับพวกยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2549 โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอน กฎ ระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งการกระทำใดๆ ซึ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 พร้อมทั้งให้เพิกถอนการจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เม.ย.2549 ด้วย

โดยศาลพิจารณาคำฟ้อง ในคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่า การฟ้องคดีเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 9 วรรค 1 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาได้ จึงมีคำสั่งให้รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไป โดยศาลมีคำสั่งให้ กกต.ต้องทำคำให้การคัดค้านเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งศาล

สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องทั้ง 10 ได้ยื่นคำขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ก่อนการพิพากษาด้วย โดยขอให้ศาลสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนับคะแนนเลือกตั้ง การรายงานผลการเลือกตั้ง การรับรอง และการประกาศผลการเลือกตั้ง ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งในคดีนี้ ซึ่งการพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว นั้น ศาลปกครองยังไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ออกมา

ขณะเดียวกัน วันนี้ ศาลปกครองกลาง ยังมีคำสั่งรับฟ้องในคดีดำ หมายเลข 617/2549 ที่นายโพธิ์พงศ์ บรรลือวงศ์ ชาวบ้านจังหวัดนนทบุรี ยื่นฟ้องกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในความผิดเดียวกัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 104

โดยคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.นนทบุรี พร้อมกับให้ กกต.ชดใช้เงินจำนวน 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จากการทำละเมิด ละดังกล่าวด้วย ซึ่งคดีนี้ผู้ฟ้องได้ยื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีศาลยังไม่มีคำสั่งออกมา
Read more ...

บทความเรื่องยุบพรรค โดย คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬา

19/10/52






บทความเรื่องยุบพรรค ของ ศจ.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ยุบพรรคไทยรักไทย

ช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมมีเรื่องให้ต้องเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ผมกลับมาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งหลังจากเดินทางกลับจากประเทศ โปรตุเกสไปอยู่ที่ประเทศไทยได้เพียง 3 วันเท่านั้นเองครับ ในครั้งนี้ผมร่วมเดินทางมาฝรั่งเศสกับคณะของรองนายกรัฐมนตรีโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ครับ

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้ว่า ขณะที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทยนั้น ผมอยู่ต่างประเทศ กลับมาอยู่เมืองไทยได้ 3 วันก็กลับมาต่างประเทศอีก จนถึงวันนี้ก็เลยทำให้ผมยังไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยกลางของคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวอย่างละเอียด แต่อย่างไรก็ตาม 3 วันในประเทศไทยก็มีคนมาสัมภาษณ์ผมหลายคนเกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรคไทยรักไทย ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจึงขอแสดงความเห็นของผมเกี่ยวกับการยุบพรรคไทยรักไทย โดยผมจะพูดเรื่องใหญ่ๆ 2 เรื่องคือ เรื่องการยุบพรรคการเมืองกับการมีผลย้อนหลังของกฎหมายครับ
ก่อนที่จะเข้าสู่สาระสำคัญของทั้งสองเรื่อง ผมมีข้อสังเกต

สองประการที่เชื่อมโยงไปถึงความเห็นของผมในเรื่องการยุบพรรค การเมืองด้วยครับ ข้อสังเกตสองประการของผมนั้นเกี่ยวข้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ที่ผมมองว่าเป็นเรื่อง แปลกมากๆที่ทำไมถึงได้มีการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรประเภทตรวจ สอบความชอบด้วยรัฐธรรนูญของกฎหมายเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีขึ้น มาหลังรัฐประหารเพื่อปกครองประเทศในระยะเวลาสั้นๆ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในบรรดาประเทศต่างๆ ที่มีองค์กรประเภทศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่หลัก คือ เป็นองค์กรในการ ค้ำประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็ได้ เพิ่มอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและอำนาจอื่นๆให้กับศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปอีก เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นและมีการเลิกใช้รัฐธรรนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 รวมไปถึงการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 3 ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ บทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540

จึงควรต้องจบสิ้นลงไป ณ ช่วงเวลานั้น
แต่เมื่อมีการประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 มาตรา 35 ของ

รัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่และให้มีอำนาจ หน้าที่อื่นซึ่งก็รวมไปถึงอำนาจในการยุบพรรคการเมืองด้วย จึงเป็นข้อน่าสังเกตที่สำคัญว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการตั้งคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญขึ้นมาคืออะไร เพื่อควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญหรือเพื่อทำหน้าที่อื่นที่ สำคัญกันแน่ครับ

ส่วนข้อสังเกตประการที่สองก็คือ เจตนารมณ์ที่แท้จริงของการออกประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 โดยเฉพาะที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ว่าในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำ สั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ผลของประกาศ คปค.ดังกล่าวทำให้ โทษที่เกิดจากการมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

ในส่วนตัวผมแล้ว ผมมองว่าการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 กับการเพิ่มโทษกรณียุบพรรคการเมืองเป็น เรื่องเดียวกันและเป็นกรณีที่ต้องมีการ คาดการณ์เอาไว้แล้วล่วงหน้า เพราะหากจะว่าไปแล้ว ความจำเป็นในการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาในช่วงที่มีการบังคับใช้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีน้อยมาก

และที่ผ่านมาจากการรัฐประหารหลายๆครั้ง เราก็ไม่เคยมีการตั้งองค์กรประเภทดังกล่าวขึ้นมาสักครั้งในช่วงรัฐประหาร ดังนั้น จึงน่าจะมีความเป็นไปได้สูงมากที่คณะรัฐประหาร ต้องการหรือ ตั้งเป้าเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะ จัดการกับพรรคการเมืองบางพรรคการเมือง ให้สิ้นซากด้วยการยุบพรรคการเมืองนั้นและ กันนักการเมืองของพรรคการเมืองนั้นออกไปนอกวงการเมือง

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ในวันที่ 30 กันยายน 2549 และเพียง 1 วันหลังจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ก็มีผลใช้ บังคับ ผมจึงค่อนข้าง แน่ใจว่าการยุบพรรคไทยรักไทยนั้นเป็นความประสงค์ดั้งเดิมของคณะรัฐประหารครับ ! จึงไม่ควรที่จะแปลกใจหรือสงสัยอะไรทั้งนั้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ครับ
เข้ามาสู่เรื่องแรกที่ตั้งใจเอาไว้ว่าจะกล่าวถึงในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็ คือเรื่อง การยุบพรรคไทยรักไทย จากที่ผมได้อ่านดูอย่างคร่าวๆในเหตุผลที่ปรากฏในคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค ไทยรักไทยนั้น ผมไม่มีความสงสัยในเหตุผลดังกล่าว

เพราะไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาว่ามีการยุบสภาเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัว มีการผูกขาดทางการเมือง หรือมีการโกงการเลือกตั้ง การกระทำเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ผิดอยู่แล้วและเป็นความ ชอบธรรมที่จะลงโทษพรรคการเมืองที่กระทำการดังกล่าวอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ ในบรรดาการกระทำทั้งหลายที่ปรากฎอยู่ในข้อกล่าวหานั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองพรรคไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ทำเช่นนั้นทั้งนั้น

ถ้าเราไปค้นข้อมูลเก่าๆจากหนังสือพิมพ์ก็จะพบว่า แทบจะเรียกได้ว่านับแต่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งใดเลยที่ไม่มีการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย จะว่าไปแล้ว การซื้อเสียงหรือการโกงการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคของตนได้ชัยชนะเป็นสิ่งที่ เกิดขึ้น ตามปกติในระบบการเลือกตั้งของเราครับ

และเมื่อพรรคการเมืองไหนเข้ามาบริหารประเทศก็จะทำการ ผูกขาดทางการเมืองกันเป็นปกติอยู่แล้ว (คงไม่ต้องไปนับรวมถึงการรัฐประหารที่ภายหลังการรัฐประหารก็เกิดการ ผูกขาดทางการเมืองขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้ง ครม. สนช. สสร. หรือแม้กระทั่งกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ !!! )

ด้วยเหตุนี้เองที่ผมยังไม่ค่อยสนิทใจเท่าไหร่นักกับ ผลของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ ลงโทษสถานหนักพรรคไทยรักไทยด้วยการยุบพรรคการเมืองดังกล่าวครับ ผมคงพูดมากไปกว่านี้ไม่ได้แล้วในประเด็นนี้เพราะอาจเกิด ปัญหาตามมาได้ครับ

เรื่องต่อมาเป็นเรื่องที่เข้าใจว่าวันข้างหน้าคงสร้างความขัดแย้งและความ สับสนในทางวิชาการให้กับนักกฎหมายและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก นั่นคือเรื่อง การมีผลย้อนหลังของกฎหมาย เราถูกสอนกันมานานว่ากฎหมายไม่สามารถมีผลลงโทษย้อนหลังได้ หรือกฎหมายไม่สามารถมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษได้ หรือการลงโทษต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ในขณะกระทำความผิด สิ่งต่างๆเหล่านี้จะว่าไปแล้วก็ถือเป็น หัวใจของระบบนิติรัฐที่เราไม่อาจปฏิเสธได้

ในประเทศฝรั่งเศส 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้งศาลขึ้นมาใหม่สำหรับใช้ในการพิจารณาความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ของรัฐมนตรีซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดเอาไว้ว่าสามารถนำไปใช้ กับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นได้ เหตุสำคัญที่ฝ่ายรัฐสภาใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีผลย้อนหลังในทางที่ เป็นโทษกับรัฐมนตรีก็คือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ (public interest) ครับ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นซึ่งผ่านการพิจารณาจากตัวแทนของประชาชน คือรัฐสภา และถ้าผมจำไม่ผิด ผ่านการออกเสียงประชามติโดยประชาชนด้วย จึงมีบทบัญญัติที่มีโทษย้อนหลังได้ครับ

กลับมาสู่กรณีของประเทศไทย หากเรามาลองไล่เรียงเหตุการณ์ดูก็จะพบว่า มีการยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และในวันที่ 2 เมษายน 2549 ก็มีการเลือกตั้ง ดังนั้น การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองและการตัด สิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน จึงเกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดได้กำหนดโทษร้ายแรง ที่สุดไว้เพียงห้ามกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปตั้งพรรคการเมือง ใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง

ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 และตามด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญ การยุบศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการออกประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 เพิ่มโทษให้กับกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ จนกระทั่งนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ซึ่งก็ส่งผลให้มีการนำประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 มาใช้ตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมือง 111 คน จึงเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณากันว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ในส่วนที่มีการกำหนดโทษย้อนหลังนั้นมีผลใช้บังคับอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้เองก็มีผู้ออกมาให้ความเห็นกันมากมาย ฝ่ายที่เห็นด้วยก็บอกว่า การตัดสิทธิทางการเมืองไม่ใช่โทษทางอาญา จึงสามารถดำเนินการย้อนหลังได้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งรวมทั้งผมด้วยก็ไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว โดยมีเหตุผลที่สำคัญคือ การตัดสิทธิทางการเมืองแม้จะไม่ใช่โทษทางอาญา แต่ก็เป็นสิ่งที่มีสภาพเป็น โทษแล้วก็เป็นโทษที่มีความรุนแรงมากเพราะกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ในวันข้างหน้า หากเรานำเหตุผลที่ได้จากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ว่า การออกกฎหมายให้มีโทษย้อนหลังสามารถทำได้หากไม่ใช่โทษทางอาญา มาใช้กับการบริหารราชการแผ่นดิน ก็เกรงว่าน่าจะก่อให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายตามมาไม่จบสิ้น ฝ่ายปกครองคงออกระเบียบต่างๆที่เป็นโทษอื่นๆที่ไม่ใช่โทษทางอาญา เช่น

โทษปรับทางปกครอง

ตัดเงินเดือน ฯลฯ

ได้อย่างง่ายดาย โดยอ้างคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานครับ
เพราะฉะนั้น ก็คงต้องฝากเรื่องนี้ไว้กับบรรดานักกฎหมายทั้งหลายที่จะต้องช่วยกันศึกษา วิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดต่อไปเพื่อหา ข้อยุติที่เป็นธรรมที่สุดสำหรับประเทศไทยของเราครับ
จริงๆแล้วในคำวินิจฉัยดังกล่าวยังมีประเด็นให้ต้องขบคิดอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น

การเกิดขึ้นของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
การ

เข้ามารับช่วงวินิจฉัยคดีที่ตนเองไม่ได้ทำตั้งแต่ต้น
การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดทั้งๆที่รู้อย่างชัดแจ้งว่ามีเพียงไม่ กี่คนที่เป็นผู้กระทำผิด
ประเด็นต่างๆเหล่านี้ในวันข้างหน้าคงมีคนหยิบยกมาพูดกันบ้างครับ

ก่อนจะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ คงต้องเล่าให้ฟังว่าในต่างประเทศนั้น การยุบพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย หรือเกิดขึ้นง่ายๆ เพื่อนชาวฝรั่งเศสหลายๆคนถามผมว่า การยุบพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองอันดับ 1 ของประเทศ มีสมาชิกอยู่ประมาณ 14 ล้านคน และสามารถชนะการเลือกตั้งจนจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกใน ประวัติศาสตร์การเมืองของเรา จะส่งผลกระทบต่อระบบการเมืองและระบบประชาธิปไตยของไทยต่อไปอย่างไร
ซึ่งผมก็ตอบไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่อยู่ นอกกรอบและ นอกเกณฑ์

ที่ควรจะเป็นทั้งสิ้น ในขณะที่การรัฐประหารเพื่อ

ล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ

ดำเนินการต่างๆอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยเป็น

สิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม นักการเมืองและ
พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการโกง กลับกลายเป็นผู้ ทำลายประชาธิปไตยก็ไม่แน่ใจว่าในชีวิตนี้จะได้ยินอะไรแบบนี้ในโลกนี้ได้อีกครับ !!!
Read more ...