Pages

ข้อ 1 แพ่ง อาญา 2551

คำถามข้อ 1

นายหนึ่ง เป็นผู้จัดการ ของ บริษัท มั่งคั่ง จำกัด ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในกิจส่วนตัวจำนวน 5,000,000 บาท แต่ไม่สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทมั่งคัง จำกัด ในนามตนเองได้เพราะ ขัดระเบียบข้อบังคับ ของบริษัทมั่งคั่ง จำกัด

จึงให้ นายสองเพื่อนสนิท ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด แทน โดยนายหนึ่งเป็นผู้รับเงินกู้ทั้งหมดไปและจะเป็นคนผ่อนชำระเงินกู้เอง

นอกจากนี้ นายหนึ่งยังขอร้องให้ นายสามน้องเขยของตน นำที่ดินของนายสาม จดทะเบียนจำนอง เป็น ประกันการกู้ยืมเงิน ไว้ด้วย

เมื่อถึงวันกำหนดนัด นายสามประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่สามารถไปจดทะเบียนจำนองที่ดินได้

จึงทำ หนังสือมอบอำนาจ ให้ นางสาวหญิง อายุ 19 ปี 6 เดือน หลานสาวซึ่งเป็นบุตรของนายหนึ่ง ทำสัญญา + จดทะเบียนจำนอง แทน

ต่อมาอีก 7 เดือน นายหนึ่งลาออกจาก บริษัท มั่งคั่ง จำกัด และหลบหนีไปต่างประเทศ โดยไม่ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ บริษัท มั่งคั่ง จำกัด ทวงถามนายสองให้ชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย และมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังนายสาม

บุคคลทั้งสองเพิกเฉย

มีแต่เพียง นางสาวหญิง บุตรของนายหนึ่งที่ทำหนังสือถึง บริษัทมั่งคั่ง จำกัด ขอบอกเลิกสัญญาจำนอง เพราะกระทำไปโดยบิดามารดาของตนไม่ได้ให้ความยินยอมเสียก่อน

บริษัท มั่งคั่ง จำกัด ฟ้อง นายสองให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและฟ้องนายสามให้รับผิดตามสัญญาจำนอง

นายสอง ให้การว่า ทำสัญญากู้ยืมเงินแทนนายหนึ่ง โดยการแสดงเจตนาลวงมิได้ต้องการให้ตนต้องผูกพันกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ตามที่แสดงออกมา และไม่ได้รับเงินกู้หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งนายหนึ่งในฐานะผู้จัดการของบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ร่วมรู้เห็นมาตั้งแต่แรก สัญญากู้ยืมเงินตกเป็นโมฆะ จึงไม่ต้องรับผิด

ส่วน
นายสาม ให้การว่า ขณะทำสัญญาและจดทะเบียนจำนอง นางสาวหญิงยังไม่บรรลุนิติภาวะ นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆียะกรรม เมื่อได้มีการบอกล้างโดยชอบแล้ว ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก จึงไม่ต้องรับผิด

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายสองและนายสามฟังขึ้นหรือไม่


---------------------------------------------------------------------------

ธงคำตอบข้อ 1

กรณีนายสอง แม้ความจริงจะเป็นดังที่ต่อสู้ว่า นิติกรรมการกู้ยืมเงินเกิดขึ้นโดยนายหนึ่งกับนายสองตกลงกันไว้ว่า ให้นายสองกระทำแทนนายหนึ่งเท่านั้น และเงินกู้ที่ไดัรับมาจากบริษัทมั่งคั่ง จำกัด นายหนึ่งจะรับเงินนั้นไปเป็นประโยชน์เฉพาะตัวทั้งหมด โดยในใจจริงนายสองถือว่าทำนิติกรรมการกู้ยืมเงินแทนนายหนึ่ง ไม่มีเจตนาให้มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ก็ตาม

แต่นายหนึ่ง  ในฐานะผู้จัดการ ของ บริษัทมั่งคั่ง จำกัด ไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ในการนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 74

เพราะ นายหนึ่งผู้จัดการของบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ได้จัดการให้นายสองกู้ยืมเงินกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด โดยตนเองมีผลประโยชน์ได้เสียขัดแย้งกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด นายหนึ่งในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลย่อมไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนได้

ความรู้เห็นของนายหนึ่ง ผู้จัดการของ บริษัทมั่งคั่ง จำกัด ตามข้อต่อสู้ของนายสอง จึงไม่ถือว่าเป็นความรู้เห็นของบริษัท มั่งคั่ง จำกัด ด้วย

ดังนั้น นายสองจึงต้องผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมาตามมาตรา 154 นิติกรรม การกู้ยืมเงินระหว่างนายสองกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ

นายสอง ต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างตามสัญญา
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1437/2529 และ 580/2509)

ข้อต่อสู้ของนายสองฟังไม่ขึ้น

ส่วนกรณีนายสามนั้น แม้ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หากไดักระทำนิติกรรมไปโดยไม่ไดัรับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21

แต่การที่นางสาวหญิงซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำนิติกรรมสัญญาจำนองตามที่นายสามมอบอำนาจ ไม่ใช่นิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำในนามตนเองแต่เป็นนิติกรรมที่นางสาวหญิงผู้เยาว์ทำแทนนายสามซึ่งเป็นตัวการเท่านั้น ตามมาตรา 799 ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทน ท่านว่าตัวการคนนั้นย่อมต้องผูกพันในกิจการที่ตัวแทนกระทำ

ดังนั้น นิติกรรมสัญูญาจำนองที่นายสามมอบอำนาจให้นางสาวหญิงซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำแทนจึงมีผลสมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

แม้นางสาวหญิงจะทำในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 598/2506)

การที่นางสาวหญิงผู้เยาว์ซึ่งได้บรรลุนิติภาวะแล้ว มีหนังสือขอบอกล้างนิติกรรมดังกล่าว

ย่อมไม่มีผลทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก

ไม่ต้องด้วยมาตรา 175 (1) และมาตรา 176 วรรคหนึ่ง

นายสาม จึงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง

ข้อต่อสู้ของนายสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น