Pages

ศาลญี่ปุ่นตัดสินอุลตร้าแมนเป็นของคนไทย

โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ เมื่อ 6 ต.ค.2553

ศาลญี่ปุ่นนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีประวัติศาสตร์อุลตร้าแมน สั่งซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จ่ายค่าเสียหาย 16 ล้านเยนฐานละเมิดสิทธิ์นอกประเทศฝ่าฝืนคำพิพากษาศาลสูงสุดที่เคยตัดสินให้ "สมโพธิ แสงเดือนฉาย"

เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั่วโลกยกเว้นญี่ปุ่น เผยค่ายหนังอเมริกาเจรจาซื้อลิขสิทธิ์สร้างเป็นภาพยนตร์ส่งฉายทั่วโลก

นายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ประธานบริษัท ซึบูราญ่า ไชโย จำกัด
ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าหลังจากที่คดีการฟ้องร้องสิทธิ์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนระหว่าง

บริษัท ซึบูราญ่า ไชโย จำกัด

กับ

บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)


ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปีวันนี้ฝ่ายไทยได้รับชัยชนะอีกครั้ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ที่ผ่านมาศาลแขวงกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ได้พิพากษาให้ บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)ในฐานะจำเลย สูญเสียสิทธิ์ที่จะใช้คาแรกเตอร์อุลตร้าแมนทั่วโลกยกเว้นญี่ปุ่น

จากกรณีที่บริษัทยูเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะโจทก์ ซึ่งได้รับการโอนสิทธิ์อุลตร้าแมน จากนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ได้ทำการฟ้องบริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว) มาตั้งแต่ปี 2549 โดยจำเลยอ้างว่าศาลฎีกาไทยได้มีการยืนยันว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ์ในการใช้คาแรกเตอร์และภาพยนตร์อุลตร้าแมนตามสัญญาในคดีและห้ามโจทก์อ้างสิทธิ์ใดตามสัญญาในคดี

โดยส่วนหนึ่งของคำพิพากษาที่ 10273 ศาลแขวงกรุงโตเกียวได้มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายแก่โจทก์เพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่ได้จากผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การให้ไลเซนส์ การใช้สิทธิ์นอกประเทศญี่ปุ่นจำนวน 16,363,636 เยน นับตั้งแต่วันที่ 26 เดือนมิถุนายน 2549 พร้อมดอกเบี้ยปีละ 5% จนกว่าจะชำระหมด

จากคำพิพากษาดังกล่าวนายสมโพธิกล่าวว่าส่งผลให้บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)ต้อง

หยุดทำธุรกรรมต่างๆ เพราะไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในประเทศไทยแล้ว นอกจากนั้นศาลแขวงกรุงโตเกียวญี่ปุ่นยังบังคับไม่ให้บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)ออกไปดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

นายสมโพธิยังกล่าวอีกว่าคดีเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการถือครองสิทธิ์อุลตร้าแมนที่ตนเป็นฝ่ายชนะมาโดยตลอดนั้น

โดยก่อนหน้านี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 ในคดีหมายเลข 3516/2553 ยกฟ้องนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย และผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลอีกประมาณ 20 คนในฐานะจำเลยร่วม จากการที่บริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์(โตเกียว) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2547 กรณีละเมิดลิขสิทธิ์นำตัวคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนไปใช้ในทางการค้ากับผลิตภัณฑ์ KFC

โดยศาลให้เหตุผลว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำความผิดทางอาญาละเมิดลิขสิทธิ์เนื่องจากศาลประเทศญี่ปุ่นได้ตัดสินให้นายสมโพธิ แสงเดือนฉายมีสิทธิ์ใช้คาแรกเตอร์อุลตร้าแมนได้ทั่วโลกยกเว้นในประเทศญี่ปุ่น

ย้อนหลังไปในปี 2552 ศาลอาญารัชดาฯ ที่ได้มีคำพิพากษาที่ 1484/2552 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 กรณีที่บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว) เป็นโจทก์ฟ้องนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย จำเลยที่ 1 และบริษัทซึบูราญ่า ไชโย จำกัด จำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้และอ้างเอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ โดยศาลพิพากษายกฟ้องโดยอ้างถึงคำพิพากษาของศาลสูงญี่ปุ่นและข่าวตีพิมพ์ของผลคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นที่ระบุถึงสิทธิ์การใช้อย่างผูกขาดนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นของนายสมโพธิ

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า โจทก์ยังรับว่ามีประเด็นเรื่องสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่แท้จริงและมีผลบังคับได้หรือไม่รวมอยู่ในคดีนั้นด้วย เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาญี่ปุ่นขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลฎีกาไทย แสดงว่าผลของคำพิพากษาของทั้งสองประเทศขัดกันจริง พฤติการณ์ดังกล่าวทั้งหมดล้วนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิ์ตามสัญญาพิพาทจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าคดีของโจทก์มีมูลตามฟ้อง ศาลอาญารัชดาฯจึงพิพากษายกฟ้อง

นอกจากนั้นศาลอาญากรุงเทพใต้ยังได้พิจารณาคดีแดงที่ 1274 /2548 ที่บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)เป็นโจทก์ ฟ้องนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย กรณีหมิ่นประมาทในตัวคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนจำนวน 4 ตัวใหม่ คือ ทีก้า ไดนา ไกญ่า และคอสมอส เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท โดยศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ให้ยกฟ้องด้วยเหตุผลว่ายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง กรณีจึงไม่อาจบังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายส่วนแพ่งได้ จึงพิพากษายกฟ้องทั้งหมด

ส่วนการขับเคลื่อนทางธุรกิจนั้นนายสมโพธิกล่าวว่า ขณะนี้มีสตูดิโอชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาติดต่อแสดงความสนใจจะนำคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายในฮอลลีวูดและทั่วโลก ทราบว่าทางบริษัทยูเอ็มซี คอร์ปอเรชั่นฯ ที่รับโอนสิทธิ์อุลตร้าแมนจากตนกำลังพิจารณาในรายละเอียดของสัญญา

"ชื่อเสียงของอุลตร้าแมนวันนี้โด่งดังไปทั่วโลกและศาลญี่ปุ่นก็ตัดสินครั้งแล้วครั้งเล่าว่าผมซึ่งเป็นคนไทยเป็นผู้ถือครองสิทธิ์โดยถูกต้อง จึงอยากวอนให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ น่าจะให้ความสนใจสนับสนุนอย่างจริงจังเพราะเป็นการสร้างสรรค์ทางด้านความคิด เป็นโอกาสในการสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย สามารถสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและทำรายได้เข้าประเทศได้อีกมหาศาล" นายสมโพธิกล่าวในที่สุด

นางสาวพนิดา สกุลพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดรีม เอ็กเพรส จำกัด หรือ เดกซ์ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ก่อนหน้านี้ว่า ลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนที่บริษัทได้มา เป็นลิขสิทธิ์ โฮมวิดีโอ และเมอร์ชันไดซิ่ง ของ อุลตร้าแมน แม็กซ์ และอุลตร้าแมน เมเบียส ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เดียวกับที่บริษัท มีเดีย เน็ตเวิร์คฯ เคยบริหาร

ล่าสุด เดกซ์ ยังร่วมกับ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดกิจกรรมต้อนรับปิดเทอม มีการแสดงโชว์ 'อุลตร้าแมน เมบิอุส & พี่น้องอุลตร้า โชว์' ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่บริษัทได้รับมา ประกอบด้วย อุลตร้าแมน เมบิอุส อุลตร้าเซเว่น และอุลตร้าแมนทาโร่ นอกจากนี้ ยังมีอุลตร้าแมนคลาสสิก ตั้งแต่อุลตร้าแมนร่างแรก และอุลตร้าแมนคาแรกเตอร์ฮิต ที่คนไทยรู้จักมาร่วมแสดงโชว์ด้วยในงาน 'คิดส์ ออฟ เดอะ เวิลด์' ระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น