ถ้อยคำของบุคคลที่ให้ต่อพนักงานสอบสวน ในฐานะพยานนั้น หากพิจารณาถึง ผลที่ได้จากถ้อยคำของบุคคลนั้น ๆ ก็พิจารณาแยกได้เป็น 3 ประเภท คือ พยานฝ่ายผู้กล่าวหา พยานฝ่ายผู้ต้องหา และพยานฝ่ายเป็นกลาง
(3.1 ) พยานฝ่ายผู้กล่าวหา
พยานประเภทนี้มีที่มาจากเหตุ ดังต่อไปนี้
- จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ จะทราบได้ว่ามีบุคคลใดอยู่ในที่เกิดเหตุบ้าง
เช่น ได้รับบาดเจ็บอยู่ในที่เกิดเหตุ หรือทราบว่าผู้ใดนำผู้บาดเจ็บส่งไปรับการตรวจรักษา บุคคลดังกล่าวนี้จึงเป็นพยานที่ได้จากที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมีบุคคลอยู่ตามเส้นทางซึ่งผู้กระทำผิดหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ ดังนั้น ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุพึงแสวงหาบุคคลดังกล่าวนี้ เพื่อสอบสวนเป็นพยานในคดี
- จากการกล่าวอ้างหรือให้การหรือการยืนยันจากผู้เสียหาย หรือจากผู้กล่าวหา หรือจากพยานว่าเป็นบุคคลที่รู้เห็นในคดีนั้น ๆ
- จากบุคคลซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องหรืออาจยืนยันซึ่งเอกสารหรือวัตถุพยานอันเป็นการสนับสนุนให้พยานเอกสารหรือวัตถุพยานนั้น ๆ มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
จากการสอบสวนพยานฝ่ายผู้กล่าวหานี้ ชอบที่ พงส. จะซักถามพยานที่ให้การเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในคดี และพิสูจน์ได้ว่าพยานรู้เห็นจริงหรือว่ามีการซักซ้อม ตระเตรียม ว่าจ้าง ให้มาเป็นพยาน ถ้าพยานให้การสอดคล้องต้องกันโดยเป็นเหตุเป็นผลก็เป็นข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าพยานแต่ละคนให้การขัดกันหรือมีเหตุผลข้อเท็จจริงที่ไม่น่าเป็นไปได้ น้ำหนักคำพยานนั้นที่จะรับฟังก็ย่อมลดน้อยลง หรือไม่น่ารับฟัง แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยเหตุการณ์ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอื่นประกอบด้วย ฉะนั้น ในการสอบสวนพยานฝ่ายผู้กล่าวหาซึ่งจะต้องสอบสวนโดยอาศัยประสบการณ์ ตลอดจนการมีความรู้ในเรื่องความเป็นไปได้มาซักถามพยานอย่างละเอียดรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม พยานที่ถูกกล่าวอ้างดังกล่าวนี้ พงส.จะต้องรีบสอบสวนโดยด่วน เพื่อป้องกันการซักซ้อมหรือในบางกรณีก็อาจมีการแยกสอบสวนพยานเพื่อป้องกันมิให้พยานได้พบปะกัน ภายหลังจากที่ได้สอบสวนพยานผู้หนึ่งไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี และเพื่อมิให้ผู้กล่าวหาหรือพยานดูถูก พงส.ได้ว่า รู้เท่าไม่ทันหรือถูกต้มถูกหลอก
(3.2) พยานฝ่ายผู้ต้องหา
พยานประเภทนี้ มักจะปรากฏจากบุคคลที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง เช่น อ้างว่า ขณะเกิดเหตุพยานบุคคลนี้อยู่ร่วมกับผู้ต้องหา ไปด้วยกันหรืออ้างสถานที่อยู่ หรือจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบว่ามีเหตุผลเชื่อว่าบุคคลนี้อยู่กับผู้ต้องหา จึงจำเป็นต้องสอบสวนให้ได้ความกระจ่างว่า ในสถานที่ซึ่งผู้ต้องหาได้อยู่ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุเป็นใครบ้าง อีกทั้งต้องสอบสวนถึงเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ว่าได้มีการกระทำอะไรเกิดขึ้น ซึ่งต้องรีบสอบสวนพยานหลักฐานต่าง ๆ นี้โดยเร็ว การสอบสวนพยานที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างนั้น พงส. ควรเดินทางไปสอบสวนยังที่อยู่ของพยานดีกว่าเรียกพยานมาสอบสวน ณ ที่ทำการของ พงส. เพราะการเรียกพยานมาสอบสวนนั้น พยานมีโอกาสได้พบปะกันระหว่างพยานด้วยกันหรือพบกับผู้ต้องหา หรือญาติ พรรคพวกของผู้ต้องหาได้ อันจะทำให้พยานถูกกดดันหรือบีบคั้น เพื่อให้การบิดเบือนเป็นประโยชน์กับฝ่ายผู้ต้องหาได้
พยานฝ่ายผู้ต้องหานั้น ถ้ามิใช่เป็นบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ จริง ๆ แล้ว ย่อมจะให้การมีความแตกต่างถ้อยคำของผู้ต้องหาที่ให้การไว้บ้างในหลายประเด็น เช่น การแต่งกาย การพูดคุย การรับประทานอาหาร ชนิดของอาหาร หรือการแบ่งมอบหมายการงาน ความถนัดของมือข้างซ้ายข้างขวา เหล่านี้ก็จะทำให้วินิจฉัยได้ว่าผู้ต้องหาให้การจริงหรือเท็จประการใดบ้าง
พยานฝ่ายผู้ต้องหานั้น พงส. ส่วนใหญ่มักไม่คอยสอบปากคำโดยคิดว่า พยานฝ่ายผู้กล่าวหาดีแล้ว หนักแน่นแล้ว เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอบพยานฝ่ายผู้ต้องหาก็ได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะหาก พงส.ละเว้นการสอบพยานดังกล่าว ผู้ต้องหาซึ่งมีสิทธิอ้างพยานในชั้นศาลก็จะขอให้ศาลเรียกไปเบิกความในศาล และมีการซักซ้อมกับฝ่ายผู้ต้องหา หรือมีการเตรียมการที่จะเบิกความให้เป็นประโยชน์ในทางคดีแก่ผู้ต้องหาได้
(ข้อบังคับ มท. พ.ศ.2523 แก้ไข (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2538 ข้อ 3 และ ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 8 บทที่ 5 ข้อ 254)
ประการนี้ หากว่ามีเหตุผลและพยานบุคคลตลอดจนวัตถุพยานฝ่ายผู้กล่าวหาหนาแน่นดีแล้วก็ควรสอบสวนพยานที่ผู้ต้องหาอ้างเป็นการปิดปากไว้ก่อน ซึ่งหากผู้ต้องหานำไปกล่าวอ้างชั้นศาล พยานนี้ก็ไม่อาจจะบิดเบือนข้อเท็จจริงไปได้
ข้อสังเกต
(1) สอบสวนพยานคนใดไว้แล้ว พยานคนนั้นเกิดตาย พงส. จะต้องสอบสวนบุคคลที่รู้เห็น ในการสอบสวนพยานผู้นั้นไว้ประกอบด้วย เพื่อใช้ในการรับรองคำให้การพยานที่ตายนั้นในชั้นศาล (ฎีกาที่ 1769/2541)
(2) พยานถูกยิงหลอดเสียงแตก และเขียนหนังสือไม่ได้ การสอบสวนให้พยานตอบโดย การแสดงอาการกิริยา เช่น พยักหน้า หรือใช้มือโบกว่าใช่ หรือไม่ใช่ก็ได้ ตาม ป.วิ อาญา ม.96 ป.วิ อาญา ม.15 และควรสอบสวนต่อหน้าบุคคลอื่นด้วย (ตามหนังสือ คด.ที่ 0503(ส)/4426 ลง 10 ก.ย.2524)
(3) คำเบิกความของพยานที่หูหนวกและเป็นใบ้ให้ถือว่า เป็นคำเบิกความของพยานบุคคลส่วนวิธีถามหรือตอบนั้น อาจจะทำโดยวิธีเขียนหนังสือหรือโดยวิธีอื่นที่สมควรก็ได้ ตาม ป.วิ แพ่ง ม.96 (ฎีกาที่ 81/2531)
(4) บุตรโจทก์ถูกรถของนาย ส. ชนตาย พงส.จดคำพยานไม่ตรงข้อเท็จจริง เพื่อช่วยนาย ส .ดังนี้ พงส. ผิด ม.157 , 200 (ฎีกาที่ 2294/2517
(5) พงส.ได้ชกปากผู้ต้องหา เพราะไม่ยอมรับสารภาพ ผิด ม.157 (ฎีกาที่ 1399/2508)
(6) การสอบสวนจำเลยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้เตือนจำเลยตาม ป.วิ อาญา ม.134 คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนจะใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยไม่ได้ (ฎีกาที่ 1304/2483)
(7) ในการสอบสวนหากปรากฏว่า มีผู้ให้การโดยมิได้มีการสาบานหรือปฏิญาณตน การสอบสวนก็มิเสียไป (ฎีกาที่ 614/2486)
(8) พงส. เอาคำให้การของพยานที่ให้การไว้ในชั้นกรรมการสอบสวนมาถามพยานและให้รับรองและสอบถามเพิ่มเติม แล้วจดบันทึกและอ่านบันทึกให้พยานฟังและลงลายมือชื่อดังนี้ ถือว่าได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว (ฎีกาที่ 869/2520)
(9) มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาหนึ่ง พงส.ได้ทำการสอบสวนเห็นว่า เป็นความผิดอีกข้อหาหนึ่ง ดังนี้ เป็นดุลพินิจของ พงส. สามารถทำได้ (ฎีกาที่ 755/2509)
(10) พยานให้การต่อ พงส.แล้ว แต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำให้การ ดังนี้ ให้พงส.บันทึกเหตุนั้นไว้ตาม ป.วิ อาญา ม.11 (ฎีกาที่ 51/2481)
(11) บันทึกคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ลง วัน เดือน ปี ไม่ตรงกับวันที่สอบจริง ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป ถือว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบแล้ว (ฎีกา 1991/2535)
(12) ในคดีที่ผู้เสียหายหรือพยานเป็นจำนวนมาก พงส.จำเป็นต้องทำแบบพิมพ์
เดียวกัน แล้วกรอกข้อความในส่วนที่แตกต่างกันของพยานแต่ละคน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในปัจจุบันเช่นนี้ ถือว่าใช้ได้ (ฎีกาที่ 2888/2535)
(3.3) พยานฝ่ายเป็นกลาง
พยานประเภทนี้ เป็นพยานที่ได้จากการสืบสวนสอบสวนของ พงส. ซึ่ง
จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือในคดี อีกทั้งให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมากที่สุด พยานบุคคลที่ได้เช่นนี้เป็นพยานที่ พงส.ซักไซร้จากการสอบสวนผู้กล่าวหาหรือผู้ต้องหา หรือพยานบุคคลอื่น แล้วปรากฏขึ้นมาโดยทั้ง ๆ ที่ผู้กล่าวหาและผู้ต้องหาพยายามปกปิดเอาไว้ เพราะหากอ้างขึ้นมาก็จะทำให้ฝ่ายตนเสียหาย บางครั้งพยานบุคคลประเภทนี้ก็ได้จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ โดยมีผู้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่าตนเองเป็นผู้เห็น หรือยืนยันว่าพยานบุคคลนั้น ๆ เห็น หรืออยู่ในที่เกิดเหตุ หรือน่าจะเห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ หรือผ่านไปพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเข้าพอดี ซึ่งพยานดังกล่าวนี้ มักไม่ใช่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่กรณี นอกจากนี้พยานที่เป็นผู้ชำนาญการ เป็นผู้ออกความเห็น พยานบุคคลประเภทนี้ในบางครั้งก็จำเป็นต้องเรียกมาสอบสวน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงละเอียดยิ่งขึ้นในบางประเด็น หรือรับฟังจากเอกสารที่ส่งมา
ในการสอบสวนพยานทั้งสามประเภทดังกล่าวข้างต้นนั้น พงส.จะต้องพิจารณาประเด็นที่จะสอบให้เป็นลูกโซ่สอดคล้องกัน อีกทั้งต้องปรากฏเหตุผลและที่มาของพยานมิใช่ไม่ปรากฏเหตุผลความเป็นมาของพยานนั้น ๆ
การสอบสวนและบันทึกถ้อยคำหรือคำให้การของพยานนั้น ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบของการสอบสวน อีกทั้งกฎหมายที่กำหนดวิธีการปฏิบัติต่อพยาน เช่น การให้พยานสาบานตน หรือกรณีที่จะต้องมีล่ามแปลหรือปฏิบัติตามที่ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 กำหนดไว้ นอกจากนี้จะต้องเคร่งครัดต่อข้อกำหนดตามกฎหมาย เช่น การขีดฆ่าคำผิดและลงชื่อกำกับ หรือการอ่านข้อความที่บันทึกให้พยานฟังแล้วให้ลงนามไว้ทุกแผ่น นอกจากนี้เอกสารการสอบสวนพยานจะต้องสะอาดเรียบร้อย มีรูปแบบที่งามตา
( - ป.วิ อาญา มาตรา 11, 13, 133 , - ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 8 บทที่ 1 ข้อ 124)
(3.4) การควบคุมพยานและการป้องกันพยานสำคัญในคดีอาญา
1. เป็นพยานสำคัญในคดีอาญาที่สมควรป้องกัน ได้แก่
- พยานนั้นเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีนั้น
- พยานเป็นผู้ไม่มีหลักแหล่งแห่งที่มั่นคงหรือทางสืบสวนมีเหตุผลน่า
เชื่อว่าถ้าจะปล่อยให้พยานอยู่ในที่เดิมแล้วจะเกิดอันตรายเสียก่อนที่พยานจะได้เบิกความ หรือฝ่ายผู้ต้องหาได้พยายามจัดการที่จะให้พยานหลบหนีไปเสียก่อน
2. วิธีป้องกันพยานสำคัญในคดีอาญา
- ให้ พงส.รายงานชี้แจงเหตุผลพร้อมด้วยอัตราเบี้ยเลี้ยงต่อกรมตำรวจเพื่อขออนุมัติให้ดำเนินการป้องกันพยาน
- เมื่อได้รับคำสั่งอนุมัติจาก ตร. แล้ว ให้ พงส. ระดับ สารวัตรขึ้นไป อธิบายความประสงค์ในการป้องกันพยานให้พยานทราบให้พยานลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงป้องกันพยานตามแบบบันทึกที่กำหนดขึ้น (แบบ ก.)
- ในการนี้ให้ พงส.จัดที่อยู่อาศัยหรือสถานที่กินอยู่ หลับนอนให้แก่พยานชั่วคราว และจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงค่าทดแทนจนกว่าพยานจะเบิกความเสร็จ ในระหว่างรออยู่นี้ หากพยานจะไปที่ใดจะต้องขออนุญาตจาก พงส.ก่อน เพื่อให้สามารถติดตามตัวมาเบิกความได้ (ไม่ใช่เป็นการควบคุม)
- ทำคำร้องตามแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ยื่นต่อศาลโดยเร็ว โดยแสดงเหตุผลให้ศาลทราบว่า ทางราชการได้จัดการป้องกันพยานสำคัญนี้อย่างใด เพื่อขอให้ศาลรีบพิจารณาคดีและให้พยานนั้นได้เบิกความโดยเร็ว
( ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ บทที่ 6 ข้อ 255,256 , - ระเบียบ ตร.ว่าด้วยการคุมพยานและการป้องกันพยานสำคัญในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530)
(3.5) การขอให้สืบพยานไว้ก่อน
1. ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ยากแก่การนำสืบ ให้พนักงานอัยการโดยตรงหรือได้รับคำร้องขอจาก พงส.จะนำผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องต่อศาล โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ (ป.วิ อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก)
2. คดีเรื่องใดเมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด หรือเพียงบางคนก็ตามเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะอ้างนำมาสืบในภายหน้าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ยากแก่การนำสืบ พงส.จะดำเนินการให้มีการสืบพยานก่อนฟ้องได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- กรณีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ให้ พงส.ส่งคำร้องและหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้น พร้อมนำตัวผู้ต้องหหาส่งพนักงานอัยการโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดเหตุผล และความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อน เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้น
- กรณีที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว ให้ พงส.สั่งให้นายประกันนำตัวผู้ต้องหามาส่งแล้วส่งคำร้องขอและหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้น พร้อมนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการ โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อนเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลมีคำส่งให้สืบพยานนั้น
- กรณีที่ผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างฝากขังตามอำนาจศาลให้ พงส.ส่งคำร้องขอและหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้นต่อพนักงานอัยการโดยไม่จำเป็นต้องส่งตัวผู้ต้องหา โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อน เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้น ทั้งนี้ให้รายงานไว้ในคำร้องขอ ว่าผู้ต้องหาได้ถูกขังโดยศาลอยู่แล้วตามคำร้องฝากขังที่…………….ลงวัน เดือน ปีใดด้วย
3. กรณีที่ผู้ต้องหาเห็นว่า หากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว บุคคลซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาสืบเป็นพยานของตนจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร อันทำให้เป็นการยากแก่การที่จะนำบุคคลนั้นมาสืบในภายหน้า ถ้าเป็นกรณีผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนจะยื่นคำร้องโดยผ่าน พงส.ก็ได้ เพื่อดำเนินการต่อไปตาม (2) แล้วแต่กรณี
4. คำร้องขอให้มีการสืบพยานไว้ก่อนให้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิด เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานไว้ก่อน ตามแบบคำร้องขอสืบพยานไว้ก่อน ตามแบบท้ายระเบียบฯ และให้รวมไว้ในสำนวนการสอบสวน
(3.6) พยานที่มีเอกสิทธิ์ทางการทูต
1. หากประสงค์จะสอบสวนบุคคลซึ่งเป็นทูต หรืออยู่ในคณะทูตที่มีเอกสิทธิทางการทูตเป็นพยานต้องรายงานกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) สั่งการก่อน จะออกหมายเรียก หรือเชิญตัวมาสอบสวนเป็นพยานโดยพลการไม่ได้
2. ถ้าได้รับอนุมัติให้สอบสวนบุคคลดังกล่าวเป็นพยานได้ หากจำเป็น
ต้องใช้ล่ามก็ให้สอบสวนล่ามและผู้ที่นั่งฟังการสอบสวนเป็นพยานด้วยว่า ได้ฟังพยานนั้น ๆ ให้การอย่างไร ด้วยอาการอย่างไร ทั้งนี้หากว่าพยานกลับไปประเทศของตน ก่อนที่ไปเบิกความที่ศาล หรือกลับใจอ้างเอกสิทธิในภายหลัง จะได้ส่งคำให้การของพยาน และนำล่ามหรือผู้ที่ฟังการสอบสวนเข้าสืบชั้นศาลต่อไป
(3.7) พยานที่เป็นใบ้ หูหนวก
1. ต้องใช้ล่าม โดยล่ามต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อน
2. พยานที่เป็นใบ้ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้การ
3. ถ้าคนใบ้อ่านหนังสือได้ ควรใช้วิธีเขียนหนังสือถาม และให้คนใบ้ เขียนหนังสือตอบก็จะได้ความดีขึ้น
4.. อ่านคำให้การให้ล่ามและพยานที่เป็นใบ้ฟังให้ล่ามและคนใบ้ลงลายมือชื่อไว้
อนึ่ง พยานที่เป็นใบ้นั้น ถ้าไม่ใช่ตัวผู้เสียหายซึ่งจะต้องสอบสวนเป็นพยานเสมอแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่สอบสวนเป็นพยาน เพราะยุ่งยากและอาจได้ผลแก่คดีน้อย
(ป.วิ แพ่ง มาตรา 95 , วิ อาญา มาตรา 15)
(3.8) พยานแพทย์หรือผู้ชำนาญการพิเศษ
พยานประเภทนี้ซึ่งได้ออกรายงานผลการตรวจไว้แล้วไม่จำเป็นต้องสอบปากคำอีกเว้นแต่มีประเด็นต้องสอบสวนนอกเหนือจากรายงานผลการตรวจหรือมีประเด็นอื่นที่ยังไม่สิ้นสงสัย
(ป. วิ อาญา มาตรา 243, - หนังสือ คด.ตร.ที่ 0004.6/10940 ลง 3 ก.ย.2545 เรื่องแนวทางการปฏิบัติในการทำสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม)
พยานซึ่งเป็นแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ หรือชันสูตรบาดแผลผู้เสียหายนั้น ควรทำความเห็นตามหลักวิชาการแพทย์ ถึงสาเหตุที่ตายหรือความเห็นในลักษณะบาดแผลนั้นว่า รักษากี่วันหาย เป็นอันตรายธรรมดาหรืออันตรายสาหัสไว้ด้วย
(3.9) พยานที่เป็นเด็กอ่อนอายุ
1. กฎหมายไม่กำหนดว่าบุคคลใดจึงจะเป็นพยานได้หรือไม่ได้ เพียงแต่ระบุว่าถ้าบุคคลนั้นสามารถเข้าใจและตอบคำถามได้และเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้น มาด้วยตนเองโดยตรง ก็ให้รับฟังเป็นพยานได้
(ป.วิ แพ่ง มาตรา 95 , ป. วิ อาญา มาตรา 15)
ฉะนั้น แม้เป็นเด็กอ่อนอายุ ถ้าสามารถเข้าใจและตอบคำถามได้ และรู้เห็นเหตุการณ์ในคดีก็อาจสอบสวนเป็นพยานได้
2. เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้การ
3. ต้องสร้างบรรยากาศในการซักถามเพื่อมิให้เด็กประหม่า หรือตกใจกลัวจนเสียผลในการให้ข้อเท็จจริง ด้วยการตั้งคำถามง่าย ๆ และให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กนั่งฟังการสอบสวนด้วย
4. ต้องสอบสวนปากคำบิดามารดา หรือผู้ปกครองเด็กไว้ด้วยว่า เมื่อเห็นเหตุการณ์ในคดีแล้ว เด็กได้เล่าเรื่องที่พบเห็นได้ฟังอย่างไรบ้างหรือไม่
5.ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ตั้งแต่สามปีขึ้นไปหรือในคดีที่โทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสามปี และผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กร้องขอ หรือในคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย
ให้เป็นหน้าที่ของ พงส.ที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการทราบ
นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการ ที่เข้าร่วมในการถามปากคำ อาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น
การถามปากคำเด็กให้ พงส.จัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าว ซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน ประการนี้ให้บันทึกไว้ในบันทึกคำให้การพยานเด็กหรือผู้เสียหายเด็กด้วย
ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควร ไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้ ให้ พงส.ถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวข้างต้นอยู่ร่วมด้วยก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวนและมิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(3.10) พยานที่เป็นพระภิกษุหรือสามเณรในพระพุทธศาสนา
1. อย่าเรียกหรือนิมนต์พยานมาที่สถานีตำรวจ เว้นแต่พยานจะเต็มใจมาเอง และอย่าออกหมายเรียก เพราะหมายนั้นไม่มีสภาพบังคับเนื่องจากพยานมีเอกสิทธิที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียก
2. ก่อนถามปากคำ ไม่ต้องให้พยานสาบานหรือปฏิญาณตนเพราะพยานมีเอกสิทธิที่จะไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้การ
3. อธิบายให้พยานทราบว่า พยานมีเอกสิทธิที่ไม่ไปให้การเป็นพยานศาล และมีสิทธิที่จะไม่เบิกความได้ แล้วสอบถามพยานให้แน่ใจว่าพยานจะไม่ใช้เอกสิทธิดังกล่าว จึงบันทึกคำพยานไว้
(3.11) คำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตาย
ก. คำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายนั้น หมายถึงถ้อยคำที่ผู้ตายได้กล่าวไว้ต่อ
ผู้ใกล้ชิด หรือเจ้าพนักงานก่อนตาย ซึ่งโดยปกติก็นำผู้ที่รับฟังคำบอกเล่านั้นมาให้การหรือเบิกความต่อศาล จึงถือเป็นพยานบอกเล่า แต่ศาลรับฟังหากว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ต้องนำสืบเพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดีที่ต้องบาดเจ็บหรือถูกประทุษร้ายถึงตายเท่านั้น
(2) ผู้กล่าวได้รู้สึกตัวดีว่ากำลังใกล้จะตาย
(3) ความตายนั้นใกล้จะถึง คำกล่าวที่จะรับฟังนั้นจะรับฟังเฉพาะถึงเหตุในการที่ต้องบาดเจ็บหรือถูกประทุษร้ายเท่านั้น
ข. ในกรณีที่ พงส. เป็นผู้บันทึกถ้อยคำของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายไว้ด้วยตนเอง
มีหลักเกณฑ์ในการบันทึกดังนี้
1) บันทึกถึงความรู้สึกของผู้ถูกทำร้ายใกล้จะตายว่า
- เขากำลังใกล้จะตายเพราะบาดแผลที่ถูกทำร้าย
- ในขณะที่ให้การหรือเล่าเหตุการณ์อันร้ายแรงให้ฟังนี้เขายังมีสติอยู่
- ให้ผู้นั้นลงชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ท้ายคำให้การ
2) บันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ไว้คือ
- ชื่อและตำบลที่อยู่ ที่ถูกต้องของผู้ใกล้ตาย
- วันเดือนปี และเวลาที่ถูกทำร้าย
- ใครเป็นผู้ทำร้ายด้วยอาวุธใด
- ถูกทำร้ายตรงไหน ก่อนหลังอย่างไร
- สาเหตุที่ถูกทำร้ายกับใคร
- ผู้ทำร้ายเป็นใครบ้าง จำได้หรือไม่
- รูปพรรณของผู้ทำร้ายมีรูปร่างอย่างไร
- ข้อเท็จจริงอื่น ๆ เพิ่มเติม
3) คำให้การของบุคคลผู้ใกล้จะตายนั้น ให้อ่านให้ผู้ใกล้ตายฟังต่อหน้า พยานอย่างน้อย 1 คน และ พงส. และพยานจะต้องลงชื่อกำกับไว้ทันที
ค. ถ้า พงส. ไม่ได้สอบปากคำผู้ถูกทำร้ายก่อนตายไว้ ให้สอบสวนผู้ที่ได้รับคำบอกเล่าเช่นนั้นไว้ โดยหลักการเช่นเดียวกันที่กล่าวมาข้างต้น
ดังนี้ พงส. จะต้องรีบไปสอบสวนผู้ที่ถูกทำร้ายโดยเร็ว ด้วยเหตุที่คำให้การของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายนั้น ศาลรับฟัง หากไปสอบสวนแล้วแต่ปรากฏว่าผู้ถูกทำร้ายดังกล่าวยังไม่ตายแต่ไม่อาจให้ถ้อยคำได้ เช่น หมดสติ หรืออาการหนักหรือแพทย์กำลังช่วยชีวิตอยู่ ดังนั้น พงส.จะต้องบันทึกเหตุขัดข้องนี้ไว้ แล้วให้พยานที่ทราบเหตุดังกล่าวนี้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ในบันทึกนั้นด้วย
(3.12) การส่งประเด็นหรือให้ พงส.อื่นสอบสวนพยานแทน
1. การใดในการสอบสวนอยู่นอกเขตอำนาจของตน พงส.มีอำนาจจะส่งประเด็นไปให้ พงส.อื่น ซึ่งมีอำนาจการนั้นจัดการได้
2. การส่งประเด็นนั้น พงส. ผู้รับผิดชอบเป็นผู้จัดส่งไปควรสำเนาคำให้การของผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ กับสำเนาคำให้การผู้ต้องหาส่งไปด้วย และถ้าจะแจ้งประเด็นซักถามหรือข้อความที่ควรซักถามไปให้ผู้รับประเด็นทราบด้วยก็จะเป็นการสะดวกแก่ผู้รับประเด็นมากขึ้น
( ป.วิ อาญา มาตรา 128)