แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ศาลปกครอง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ศาลปกครอง แสดงบทความทั้งหมด

"จารุวรรณ" แพ้คดี ขรก.สตง.ซ้ำซาก ศาล ปค.สั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง"ผอ.สำนักฯ" ไม่ชอบด้วย กม.อีก

23/9/53
โดยมติชน เมื่อ 23 ก.ย.2553

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 กันยายนในคดีที่

นางจุฑาทิพย์ ศิริรักษ์ ข้าราชการระดับ 8 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา) 

ฟ้อง

1. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ

2. ผู้่่ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ 

กรณีออกคำสั่งแต่งตั้ง

นายเฉลิมชัย ทั่วจบ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดิน (นักบริหาร8) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา)

ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

โดยศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ฟ้อง ได้แก่ นางจุฑาทิพย์ ข้าราชการซี8 สตง.ภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา)และรักษาราชการแทนผู้ำอำนวยการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ระดับ 9 (นักบริหาร9) ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจาก ผู้ว่าการฯ ออกคำสั่งโดยลดระดับตำแหน่งของผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค (นักบริหาร9) สตง.ภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา) ตำแหน่งที่2607 ลงหนึ่งระดับ เป็นตำแหน่งนักบริหาร 8 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งนายเฉลิมชัย ทั่วจบ ได้ทำให้ตนไม่ได้รับโอกาสในการคัดเลือกเพื่อเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9

แต่เนื่องจากการกำหนดตำแหน่งตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 มีนาคม 2549 คณะกรรมการข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(ก.ตง.) ได้กำหนดตำแหน่งนักบริหารไว้เพียง 2 ระดับ คือ 

1.นักบริหาร10 ระดับ10 รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ

2.นักบริหาร9 ระดับ9 ผู้อำนวยการสำนักงาน 

โดยที่การแต่งตั้งนักบริหาร8 ระดับ8ถึง นักบริหาร10 ระดับ10 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

ดังนั้น การลดระดับตำแหน่งของผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค (นักบริหาร9) ลงหนึ่งระดับ เป็นตำแหน่งนักบริหาร 8 เพื่อแต่งตั้งนายเฉลิมชัย ทั่วจบ ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

เพราะคุณหญิงจารุวรรณ ไม่มีอำนาจที่จะปรับลดระดับตำแหน่ง ของตำแหน่งที่ ก.ตง.ไม่ได้กำหนดให้
ดังนั้น เมื่อตำแหน่งผู้ำอำนวยการตรวจเงินแผ่นดิน (นักบริหาร9) สตง.ภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา) ก.ตง.ได้กำหนดให้เป็นตำแหน่งนักบริหาร 9 ตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการเดิม (พ.ศ.2545) อยู่แล้ว ตำแหน่งดังกล่าวจึงมิใช่ตำแหน่งที่ ก.ตง.กำหนด การลดระดับตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้นายเฉลิมชัย ดำรงตำแหน่ง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การจัดคนลงตามโครงสร้างใหม่ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ให้ความเห็นชอบเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่แต่งตั้งนายเฉลิมชัย ทั่วจบ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค (นักบริหาร8)ตำแหน่งเลขที่ 2607 สตง.ภูมิภาคที่15 (จ.สงขลา)โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และให้ผู้ว่าฯสตง.พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการ รวมทั้งตัวนางจุฑาทิพย์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป คำขออื่นให้ยก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คุณหญิงจารุวรรณ แพ้คดีการแต่งตั้งข้ารากชาร สตง.ดดยไม่ชอบมาแล้ว จำนวน 2 คดี จากที่มีผู้ฟ้องทั้งหมด 4 คดี โดยศาลปกครองกลางได้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำนวน 2คดี ดังนี้

1. เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา เนตรสว่าง จากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน สตง.(ส่วนกลาง)ไปเป็นนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 กลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สตง.ภูมิภาคที่ 1 ตั้งแต่มีนาคม 2549 (หมายเลขแดงที่ 88/2552)


2.เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง นายอภิชัย ล้อไพบูลย์ทรัพย์ จากผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สตง.ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 2 ระดับ 9 เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบเพราะไม่ทำตามมติคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ที่เสนอให้แต่งตั้งนายอภิชัย ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย(หมายเลขแดงที่ 1357/2552)

ทั้งสองคดีเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบคือไม่ทำตามมติคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ซึ่งพิจารณาเสนอแต่งตั้งบุคคลทั้งสองตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ได้กำหนดไว้ แต่คุณหญิงจารุวรรณอ้างว่า บุคคลทั้งสองคุณสมบัติไม่เหมาะสม

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 10.30 น. วันเดียวกัน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะรักษาการ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เดินทางมาขอเป็นผู้ร้องสอดในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าdkiฯ โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณ ได้ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการฯ เป็นผู้รักษาการผู้ว่าการฯ โดยระบุว่า เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งของผู้ไม่มีอำนาจ 

เพราะ ผู้ออกคำสั่ง(คุณหญิงจารุวรรณ)ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว พร้อมทั้งขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ทำให้นายพิศิษฐ์ ตัดสินใจเดินทางมายื่นฟ้องด้วยตัวเอง

นายพิศิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่ามายื่นคำร้องขอเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าว นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลได้ดำเนินการไต่สวนฉุกเฉินและออกมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่ผู้ร้องสอดด้วย เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของราชการ และให้คุณหญิงจารุวรรณหยุดการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

"เหตุที่ทำให้ผมตัดสินใจเดินทางมาฟ้องท่านครั้งนี้เพราะว่า ระหว่างที่รักษาการอยู่นั้นมีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานมากมาย อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสับสนต่อข้าราชการในหน่วยงาน สตง.และหน่วยงานราชการอื่นๆ อีกด้วย จึงตัดสินใจเดินทางมาเป็นผู้ร้องสอดในวันนี้ เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นต้องทำความเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับตัวบุคคล" นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า เหตุการณ์ที่คุณหญิงจารุวรรณเข้ามาตบไหล่นั้น เป็นเรื่องจริง และได้แถลงข่าวเล่าให้สื่อมวลชนฟัง ซึ่งตอนนั้นคุณหญิงจารุวรรณก็นั่งอยู่ด้วย และก็ไม่ได้โต้แย้งอะไร แสดงว่าคุณหญิงจารุวรรณก็ยอมรับการกระทำดังกล่าวด้วย

เมื่อถามว่าทั้งรถยนต์ประจำตำแหน่ง โทรศัพท์มือถือ และห้องทำงานขณะนี้ได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง รักษาการ ผู้ว่าการฯ กล่าวว่า การดำเนินการทุกอย่างก็ปฏิบัติตามระเบียบราชการ เมื่อคุณหญิงจารุวรรณได้พ้นจากภาระหน้าที่ไปแล้ว ทรัพย์สมบัติที่เป็นของหน่วยงานราชการทั้งหมดก็จำเป็นจะต้องนำมาคืน แต่ด้วยความอะลุ่มอะล่วยเก็ได้แต่เพียงทำหนังสือขอคืนไปแต่จนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วท่านก็ยังไม่ได้นำมาคืนแต่อย่างใด 

หากคุณหญิงจารุวรรณกระทำเช่นนี้แล้วข้าราชการ สตง.จะไปดำเนินการกับหน่วยงานอื่นได้อย่างไร ในเมื่อ สตง.ต้องเป็นหน่วยงานที่คอยดูแลพิทักษ์ทรัยพ์สินของรัฐ แต่คุณหญิงจารุวรรณซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็มาทำเสียเอง
Read more ...

ศาลปกครองตัดสินเพิกถอนคำสั่งให้ออก 3 อ. ม.ราชภัฎนครศรีธรรม ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 2.4 แสน

2/9/53
เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553

อ.คมกฤช วางหา, 
อ.ปริญดา ตันเสวี,และ
อ.วีลายา มะห์มูดีย์


อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ได้ร่วมแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า

วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ศาลปกครองนครศรีธรรมราชนั่งบัลลังค์ตัดสินคดี 3 ในทีม 14

อาจารย์ ที่ถูกอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชไล่ออก ระบุชัด การลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสอบสวนทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนพร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายภายใน 90 วัน รวมกว่า 2.4 แสนบาท

3 อาจารย์ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมกันแถลงต่อไปอีกว่า

ตามที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดย 

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ได้มีคำสั่งให้ 14 อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ถูกไล่ออกอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ทั้งที่อาจารย์เหล่านั้นไม่ได้รับการตรวจสอบมูลความผิดตามกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด
จึงได้ขอความเป็นธรรมโดยทยอยส่งคำฟ้องไปที่ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551- มกราคม 2552 นั้น
ต่อมาในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมาศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้มีคำพิพากษา 3

คดีแรก ประกอบด้วย  

อ.คมกฤช วางหา 
อ.ปริญดา ตันติเสวี และ 
อ.วีลายา มะห์มูดีย์
คำพิพากษาอ้างถึงเอกสารสัญญาจ้างและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุ

"โดยที่ระเบียบกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดลักษณะดังกล่าวไว้แล้ว เช่น การลงโทษว่ากล่าวตักเตือน การทำทัณฑ์บน ซึ่งต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสอบสวนทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนเพื่อทราบรายละเอียดแห่งพฤติการณ์แห่งการกระทำและการให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานหักล้าง เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด 

ดังนั้นข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดทั้งสองจึงปราศจากพยานหลักฐาน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดสัญญาจ้างอันเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิเลิกจ้างโดยชอบธรรมตามกฎหมายได้"

สะท้อนว่าอาจารย์สัญญาจ้างเหล่านี้ไม่มีความผิดและถูกให้ออกจากราชการโดยไม่ชอบธรรม พร้อมให้มหาวิทยาลัยจ่ายค่าเสียหายรวม จำนวน 244,354 บาท 

ประกอบด้วย

-ค่าตอบแทนการออกจากราชการโดยไม่มีความผิด 
-ค่าเสียหายที่พึงได้จากการขาดรายได้ตามสัญญา 

ทั้งนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ร้อยละ 7.5 ต่อปี
และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลให้ผู้ฟ้องคดีบางส่วนตามส่วนของการชนะคดี  

ทั้งนี้ดำเนินการให้เป็นตามคำพิพากษาของศาลภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

หนึ่งในอาจารย์ผู้ชนะคดีท่านหนึ่งกล่าวด้วยความดีใจหลังฟังพิพากษาว่า 

เหตุมาจากระบบงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชที่คร่ำครึ 

เบี่ยงเบนและขาดจิตวิญญาณมหาวิทยาลัย
อ้างแต่วัฒนธรรมองค์กรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

จนเลยเถิดขาดจริยธรรมและคุณธรรมแทนที่จะพัฒนานำพาองค์กรให้มีอุดมการณ์รับใช้ท้องถิ่น
กลับเถลิงแก่อำนาจรังแกผู้อ่อนแอกว่า

ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญเน้นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมได้รับการคุ้มครอง

ความเป็นธรรมครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของคนเล็กคนน้อยที่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้และแสวงหาความยุติธรรม

พร้อมวอนเพื่อนอาจารย์สัญญาจ้างศึกษากฎหมายเพื่อสร้างปกป้องศักดิ์ศรีและธำรงมาตรฐานทางจริยธรรม
Read more ...

ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งไล่ออก 3 อาจารย์ ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช

2/9/53
โดยโพสต์ทูเดย์ เมื่อ 2 กันยายน 2553

ศาลปกครองพิพากษาให้มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีฯชดใช้เงินกว่า2.4 แสน หลังไล่ออก3อาจารย์ไม่เป็นธรรม

1. อ.คมกฤช วางหา 
2. อ.ปริญดา ตันเสวี และ
3. อ.วีลายา มะห์มูดีย์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 

ร่วมกันแถลงข่าวว่า 

เมื่อวันที่ 25ส.ค.2253 ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ได้พิพากษาตัดสินคดี 3 ใน 14 อาจารย์ ที่

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม และไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2551

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลปกครองอ้างถึงเอกสารสัญญาจ้างและประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดลักษณะดังกล่าวไว้ เช่น 

การลงโทษว่ากล่าวตักเตือน การทำทัณฑ์บน ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสอบสวนทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน

เพื่อทราบรายละเอียดแห่งพฤติการณ์แห่งการกระทำและการให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานหักล้าง

ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ข้อกล่าวอ้างจึงปราศจากพยานหลักฐาน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดสัญญาจ้าง อันเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีสิทธิเลิกจ้างโดยชอบธรรมตามกฎหมายได้ และให้มหาวิทยาลัยจ่ายค่าเสียหายรวมจำนวน 244,354 บาท
Read more ...

ศาลปกครองกับการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน

15/8/53
โดยชินานนท์ วงศ์วีระชัย เมื่อ 29/06/2553 www.forlayman.com


ในการสอบสอนคดีอาญานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน   ผู้ที่จะเป็นพนักงานสอบสวนได้ก็คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ   ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเป็นพนักงานสอบสวน   มีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ
    
การสอบสวนก็คือ การรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับความผิดที่มีการกล่าวหา   เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด   และเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ   ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงอาจออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ   หรืออาจจะขอให้ศาลออกหมายค้นเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ    หรือขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อเอาตัวผู้ต้องหามาเพื่อดำเนินคดีต่อไปก็ได้   และขั้นตอนสุดท้ายคือ การสั่งคดีว่าควรจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่   ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจได้ตามความเหมาะสมตามกรอบที่กฎหมายกำหนด
    
ศาลปกครองนั้น มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำต่างๆของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่   แต่ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปปฏิบัติการในเรื่องนั้นๆเสียเอง   ดังนั้น การเข้าไปใช้ดุลพินิจสั่งการในเรื่องนั้นๆเสียเอง ศาลปกครองไม่สามารถกระทำได้   คงวินิจฉัยว่าการดำเนินการในเรื่องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น   แต่ถ้าพนักงานสอบสวนละเลยต่อหน้าที่หรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่   ศาลปกครองสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
    
คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๙๐/๒๕๕๒   การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีอาญานั้น   เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม

-กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและ
-ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับคดี   ประกอบกับ
-ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   

เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน(ผู้ถูกฟ้องคดี)   กล่าวโทษพี่สาวของผู้ฟ้องคดีและเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาว่ายักยอกฉ้อโกงทรัพย์มรดก   แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการใดๆ   จึงเป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยหรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่   อันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ   หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร   คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
    
แต่ถ้าเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน   เกี่ยวกับการดำเนินคดีหรือการรวบรวมพยานหลักฐานใดๆหรือการสั่งคดี   พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจกระทำการอย่างใดก็ได้ตามที่เห็นสมควรตามกรอบของกฎหมาย   อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   กรณีเหล่านี้ย่อมอยู่ในการตรวจสอบของศาลยุติธรรม   ไม่ใช่ศาลปกครอง(คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๙๙/๒๕๕๐)
    
สำหรับกรณีที่พนักงานสอบสวนกระทำละเมิด   เช่น กรณีที่พนักงานสอบสวนยึดรถของผู้ฟ้องคดีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย   เมื่อผู้ฟ้องคดีขอรับรถคืนแล้วไม่คืนให้   และรถยนต์ถูกจอดทิ้งไว้โดยไม่มีการดูแลรักษา   เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีรถยนต์ใช้และรถยนต์ได้รับความเสียหาย   จึงเป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่า พนักงานสอบสวนกระทำละเมิดของผู้ฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา   คดีอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม   ไม่ใช่ศาลปกครองเช่นเดียวกัน(คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๖๖/๒๕๕๒)
Read more ...

ตัดสินจารุวรรณ ย้ายขรก.สตง.มิชอบ

11/5/53
ด้วยกฎหมาย โดยผู้ฟ้องระบุ สตง. มีมติให้ไปดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 แต่กลับถูกเด้ง จากเมืองกรุง ไปเป็นนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 จ.อยุธยา


เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ
นายชูพงศ์ เศวตจินดา ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะ

ได้ออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 88/2552 ซึ่ง

น.ส.สุมิตรา เนตรสว่าง
อดีตเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ยื่นฟ้อง

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และ
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.

ในข้อหา

หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ ของรัฐออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในการมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2549 ย้ายผู้ฟ้องคดีไปดำรงตำแหน่ง นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 สังกัดกลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 (จ.พระนครศรีอยุธยา)

โดยไม่มีอำนาจ
มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และ
ไม่เป็นไปตามความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ทั้งที่ตำแหน่งว่างใน สตง.ส่วนกลางยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า
ในการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2548 ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้โครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในและจัดอัตรากำลังของ สตง.ใหม่

โดยเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีจัดคนลงตำแหน่ง ด้วยการ พิจารณาองค์ประกอบ คือ

1.ความรู้หรือคุณวุฒิที่สำเร็จ
2.ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในงานที่ปฏิบัติ
3.ความประพฤติ 4.ประวัติการรับราชการ 5.ผลสำเร็จของงานที่รับผิดชอบในตำแหน่งและต่อนโยบายของ สตง. 6.จากการประเมินผลงาน และ7.ความอาวุโส โดยในการพิจารณาแต่ละองค์ประกอบดังกล่าว ให้เน้นที่ผลสำเร็จของงานเป็น อันดับแรก ส่วนวิธีการจัดคนลงตามโครงสร้างใหม่นั้น ให้ผู้ว่าการ สตง.แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา 4 คณะ ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านสนับสนุนการตรวจสอบ ด้านการตรวจสอบภายในส่วนกลาง และด้านการตรวจสอบในส่วนภูมิภาค



เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คณะกรรมการตามคำสั่ง สตง.ที่ 17/2549 ซึ่งมีนายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าฯ สตง.รักษาราชการแทนผู้ว่าการ สตง. เป็นประธานได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้ น.ส.สุมิตราเข้าดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดคนลงตามโครงสร้างใหม่ ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบ ผู้ว่าการ สตง. โดยคุณหญิงจารุวรรณ ก็ควรพิจารณาแต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา เข้าดำรงตำแหน่งตามที่คณะกรรมการดังกล่าวเสนอ แต่หากผู้ว่าฯ สตง. เห็นว่า ไม่เหมาะสม ควรแต่งตั้ง น.ส.สุมิตราให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น ก็จะต้องมีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่หักล้างความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวได้



ในกรณีนี้ ผู้ว่าการ สตง. โดยคุณหญิงจารุวรรณ ได้มีคำสั่ง สตง.ที่ 40/2549 ลงวันที่ 10 มี.ค.2549 แต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา ให้ไปดำรงตำแหน่งนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 สังกัดกลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 (จ.พระนครศรีอยุธยา) ตามโครงสร้างแบ่งส่วนราชการใหม่ โดยอ้างว่า น.ส.สุมิตรา ไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน เนื่องจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่องานการตรวจสอบภายในอย่างใด



โดยอ้างอิงผลการปฏิบัติงานของ น.ส.สุมิตรา ซึ่งศาลได้ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารรายงานฉบับดังกล่าว มิได้มีข้อโต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่า น.ส.สุมิตรา มีข้อบกพร่องหรือไม่เป็นประโยชน์ต่องานตรวจสอบภายในเรื่องใด ประกอบกับผลการปฏิบัติงานดังกล่าวตามเอกสารที่ ผู้ว่าการ สตง. โดยคุณหญิงจารุวรรณ อ้างถึงนั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่คุณหญิงจารุวรรณ ไม่ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่ง ผู้ว่าการ สตง.ในระหว่างวันที่ 8 ก.ค. 2547 ถึง 7 ก.พ. 2549 รวมระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน ข้ออ้างดังกล่าวของผู้ว่าการ สตง.จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะหักล้างความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งตามคำสั่งที่ 17/2549 ที่เห็นควรจัดและแต่งตั้ง น.ส.สุมิตราได้ดำรงตำแหน่งเดิม



ดังนั้น การที่ผู้ว่าการ สตง. โดยคุณหญิงจารุวรรณ ได้พิจารณาแต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน ไปดำรงตำแหน่งนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 สังกัดกลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 (จ.พระนครศรีอยุธยา) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย



พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง สตง.ที่ 40/2549 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2549 เฉพาะส่วนที่แต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา ให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 สังกัดกลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 (จ.พระนครศรีอยุธยา) และให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของ น.ส.สุมิตราได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ที่ส่วนกลาง (กทม.) ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2549 จนเกษียณอายุราชการ ส่วนคำขออื่นให้ยก



อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
Read more ...

ร่างกายพิการกับการสมัครสอบเป็นอัยการ

7/5/53
เราคงเห็นบุคคลที่มีร่างกายพิการแต่มีความเพียร ไม่ย่อท่อยอมแพ้ในชีวิต ในการดำรงตนที่จะมีอาชีพอยู่ในสังคมและโลกใบนี้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป

บทความนี้จะเขียนถึงผู้มีร่างกายพิการเป็นนักกฎหมายประกอบอาชีพทนายความ แต่ร่างกายพิการเพราะเป็นโปลิโอไปสมัครสอบคัดเลือกเป็นอัยการผู้ช่วยประจำปี พ.ศ.2544 แต่ถูกปฏิเสธ

เรื่องนี้ได้มีการว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลรัฐธรรมนูญ โดยทนายความผู้นี้ได้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 มาตรา 33 (11) ที่ไม่รับสมัครคนพิการเป็นอัยการอ้างว่า “ กายไม่เหมาะสม ” นั้น กฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญเลือกปฏิบัติ โดยรัฐธรรมนูญจะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเสมอภาคกัน ยึดมั่นในเสรีภาพในการประกอบอาชีพและให้รัฐช่วยเหลือผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่ 44/2545 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2545 ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเสียงข้างมากคือ 12 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่า

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 มาตรา 33 (11) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ผลคือทนายความผู้มีกายพิการด้วยโปลิโอ ไม่สามารถที่จะทำการสมัครเป็นอัยการได เพราะกายไม่เหมาะสมดังที่ตนตั้งใจไว้

แต่ทนายความผู้นี้ หาได้ลดความพยายามไม่ ในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมายและผลเกิดขึ้นกับตน จึงนำเรื่องดังกล่าวที่คณะกรรมการอัยการมีมติไม่รับสมัครเข้าเป็นอัยการ ไปฟ้องยังศาลปกครองชั้นต้น เพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนมติของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ) ต่อไป

ศาลปกครองชั้นต้นว่าผู้ฟ้องมีรูปกายพิการ เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเทียบกับบุคคลปกติทั่วไป จึงยกฟ้อง

ต่อมาผู้ฟ้องได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ให้เพิกถอนมติคณะกรรมการอัยการที่สั่งไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดี จึงมีผลให้ทนายความผู้พิการมีสิทธิสอบได้ โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า

แม้ผู้ฟ้องจะมีรูปกายพิการ แต่ความพิการไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ฟ้องไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่การงานโดยปกติ ได้ ซึ่งงานที่ผู้ฟ้องเคยทำในขณะเป็นทนายความมาแล้วมีลักษณะทำนองเดียวกับงานของข้าราชการอัยการดังกล่าว

จึงน่าเชื่อว่าความแตกต่างทางร่างกายของผู้ฟ้องจะไม่เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ของงานอัยการ จึงไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นควรค่าแก่การรับฟัง

ซึ่ง

-เป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยโดยไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ
-เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี
-เป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยโดยไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ และ
-เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี

ตามมาตรา 30 ของ รธน.

ผลจึงทำให้ทนายความผู้นี้สามารถสมัครสอบแข่งขันที่จะเป็นพนักงานอัยการได้

จากแนววินิจฉัยสะท้อนให้เห็นได้ว่า ร่างกายจะพิการแต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เพราะค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร มีอิทธิบาท 4 ย่อมประสพผลสำเร็จ แต่ถ้าผู้มีการพิการไปสมัครรับราชการเป็นตำรวจ กรณีนี้ กายพิการก็อาจเป็นอุปสรรคได้ตามกฎหมาย

เพราะตำรวจต้องใช้ร่างกายที่แข็งแรงปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2538 มาตรา 30 (5)

ที่ว่า

ผู้ที่จะเข้ารับราชการต้องไม่เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัตหน้าที่ได้
แต่การเป็นอัยการเพียงใช้สติปัญญาความคิดเป็นสำคัญ
ซึ่งเขาปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างที่เคยเป็นทนายความมาแล้ว

การตีความหรือเข้าถึงเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ผู้พิการมีความสามารถจะไม่ให้เขาเข้าแสดงความสามารถ ไม่ให้โอกาสเพียงมีกฎระเบียบไว้ปิดกั้น เขาจะอยู่ในสังคมได้อย่างไร มีสิทธิเพียงหายใจอย่างเดียวหรือ คนพิการไม่มีสิทธิประกอบอาชีพอันทรงเกียรติหรืออย่างไร แต่บางคนมีกายครบสามสิบสองแต่ทำตนไม่สมที่มีเกียรติ ซึ่งมีข่าวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอาย

โดยเฉพาะประเทศไทยได้มีกติกาสัญญาเป็นภาคี และประกาศของสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องสิทธิต่าง ๆ ของผู้พิการทุพพลภาพบัญญัติว่า “ บุคคลพิการทุพพลภาพมีสิทธิที่จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และที่จะมีระดับการครองชีวิตที่ดีบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิที่จะได้ทำงานและคงสภาพการมีงานทำ หรือที่จะเข้าร่วมปฏิบัติอาชีพที่มีประโยชน์มีผลิตผลและมีรายได้และที่จะร่วมกับสหภาพแรงงานทั้งนี้ ตามความสามารถของตน

ดังนั้น การอยู่รวมกันในสังคมในโลกใบนี้ จะต้องมองในภาพกว้างไม่ยึดติดต่อบทกฎหมายตามตัวอักษร ต้องถือมั่นในบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ที่เป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่เป็นจิตวิญญาณอยู่เบื้องหลังที่ปรากฎเป็นตัวอักษร ดังคำที่ว่าความยุติธรรมคือการไม่เลือกปฏิบัติ (Justice is not discrimination )
Read more ...

ศาลปกครองสั่งรับมานิต วงศ์สมบูรณ์ กลับเข้ารับราชการ คดีทำร้าย พธม.ไล่"แม้ว"

26/4/53
วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552 เวลา 17:24:22 น. มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้รับ

พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1

กลับเข้ารับราชการเหมือนเดิม พร้อมทั้งคืนสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายให้ด้วยภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ภายหลังจากที่ถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากพัวพันในคดีทำร้ายร่างกายแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ดพลาซ่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549

สำหรับคดีนี้ พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1และ 2 ตามลำดับ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 647/2550 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ที่ลงโทษให้ปลดออกจากราชการ และคำสั่งของ ก.ตร.ที่ให้ยกอุทธรณ์คำสั่งปลดออกจากราชการดังกล่าว

คดีนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อ พล.ต.ต.มานิต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (ยศ "พ.ต.อ.") เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติการณ์แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เพราะปล่อยให้มีการทำร้ายร่างกายประชาชนโดยมิได้เข้าขัดขวาง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ กลับไม่ถูกดำเนินคดี

จากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) เพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยตามความผิดดังกล่าว ต่อมา ผบ.ตร.ได้นำเรื่องการลงโทษทางวินัยเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการพิจารณาสั่งลงโทษ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ปลด พล.ต.ต.มานิต ออกจากราชการ แต่ทาง พล.ต.ต.มานิต ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อ ก.ตร. และต่อมา ก.ตร.ได้มีมติยกอุทธรณ์คำร้อง

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาพฤติการณ์แล้วเห็นว่า การกระทำของพล.ต.ต.มานิต ไม่ได้เป็นการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เพราะจากภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นว่า พล.ต.ต.มานิตได้เข้าไปแยก นายวิชัย เอื้อสิยาพันธุ์ ชายผู้ขับไล่อดีตนายกฯ พร้อมกับพูดว่า "อย่า อย่า" อันมีลักษณะเข้าไปช่วยแยกตัวออกจากกลุ่มนายจรัญ จงอ่อน ซึ่งเป็นชายที่สนับสนุนอดีตนายกฯ มากกว่าที่จะเข้าไปจับกุม

นอกจากนี้ ในขณะที่นายวิชัยถูกกลุ่มผู้สนับสนุนนายกฯ ห้อมล้อมพร้อมกับตะโกนด่าทอตลอดทาง พล.ต.ต.มานิตก็ได้พูดระงับเหตุว่า "หยุด หยุด" แล้วพาตัวนายวิชัย ออกจากการถูกห้อมล้อม เพื่อนำตัวขึ้นรถไปยังสน.ปทุมวัน พร้อมกับแจ้งแก่สื่อมวลชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุว่า จำเป็นต้องแยกออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ตีกัน

อีกทั้งนายวิชัยเองได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ขณะที่ถูกห้อมล้อมอยู่นั้น มีตำรวจชื่อ พ.ต.อ.มานิต ได้เข้ามาช่วยเหลือ และนำตัวส่งสน.ปทุมวัน โดยมิได้แจ้งข้อกล่าวหาหรือจับกุมแต่อย่างใด อีกทั้งระหว่างที่ถูกนำตัวมาสน.ปทุมวันก็ไม่มีการใส่กุญแจมือหรือใช้เครื่องพันธนาการใดๆ

ศาลยังเห็นว่า ภาพเคลื่อนไหวในช่วงชุลมุน เป็นภาพจากด้านหลังของผู้ฟ้องคดีและเป็นภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ เฉพาะจุดไม่ได้เป็นภาพรวมทั้งหมด ประกอบกับพยานบุคคลคือนางกชชมณฑ์ อรชุนวงศ์ ซึ่งให้การว่าเห็นพล.ต.ต.มานิต ผลักนายวิชัย ไปให้กลุ่มนายจรัญทำร้ายนั้นก็เป็นกล้องจากโทรศัพท์มือถือ แต่มิได้เป็นการเห็นด้วยตาตัวเอง จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาผลักนายวิชัย

ส่วนกรณีที่ พล.ต.ต.มานิต มิได้จับกุมกลุ่มของนายจรัญกับพวกในทันทีนั้น

ศาลเห็นว่าในกรณีการเข้าจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุชุลมุนของประชาชนที่มีความเห็นไม่ตรงกันนั้น การเข้าจับกุมกลุ่มประชาชนทั้งสองฝ่ายด้วยตัวคนเดียวในทันทีย่อมจะทำไม่ได้ จึงได้ตัดสินใจระงับเหตุด้วยการกันตัวต้นเหตุออกมา การที่พล.ต.ต.มานิต ได้พยายามกันตัวนายวิชัย โดยไม่ได้จับกุมนายจรัญกับพวกในทันทีนั้นจึงมีเหตุผลเพียงพอรับฟังได้ กอปรกับต่อมาได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายมงคล บุญเต็ม ซึ่งยอมรับว่าเป็นพวกที่สนับสนุนอดีตนายกฯ รวมทั้งบุคคลอื่นอีกด้วย จึงเป็นกากระทำที่สมควรแก่สถานการณ์ในขณะนั้น และยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์เลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมาย และใช้ดุลพินิจโดยมิชอบตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

ดังนั้น คำสั่งให้ปลอดออกจากราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมติยกอุทธรณ์ของ ก.ตร.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงมีคำสั่งให้รับ พล.ต.ต.มานิต กลับเข้ารับราชการ รวมทั้งคืนสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
Read more ...

ความจำเป็นและประโยชน์ของการมีศาลปกครอง

27/12/52

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน18/3/2552

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากที่ประเทศไทยมีศาลปกครองทำให้ประชาชนมีสิทธิมากกว่าที่เป็นอยู่ ในแต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุให้ข้าราชการทำงานอย่างไม่มั่นใจและสะดวกใจ เพราะกริ่งเกรงว่าจะมีการปฏิบัติงานผิดพลาด ศาลปกครองจึงอาจจะถูกมองทั้งในแง่บวก เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และในขณะเดียวกัน ก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อการปฏิบัติของข้าราชการ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองด้วย ประเด็นดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการพินิจพิเคราะห์จากแง่มุมต่างๆ อย่างถี่ถ้วน

ภายใต้ระบบการเมืองการปกครองนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนคือ เจ้าของประเทศ และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การมีระบบการปกครองซึ่งมาจากการมีรัฐบาล มีรัฐสภา และมีศาล ก็คือการมอบพันธกิจให้กับบุคคลที่ทำหน้าที่ในสถาบันดังกล่าวดูแลผลประโยชน์ของประชาชนด้วยการใช้อำนาจรัฐ ทรัพยากร การวางกฎระเบียบ และการมีนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาและเพื่อการพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ได้อย่างมีความผาสุก

แต่อำนาจเป็นดาบสองคม สามารถจะนำไปสู่ความเสียหายได้ ทั้งโดยเจตนาด้วยการลุแก่อำนาจ หรือโดยประมาทรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยไม่แยแสต่อผลที่จะเกิดขึ้น ประชาชนมีที่พึ่งด้วยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลักดัน ด้วยการเรียกร้องผ่านผู้แทนราษฎร หรือเรียกร้องโดยตรงต่อรัฐบาลหรือรัฐสภา ในบางกรณีก็มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลระหว่างกันเอง หรือการฟ้องร้ององค์กรของรัฐ หน่วยราชการต่างๆ

ศาลปกครองเป็นองค์กรหนึ่งที่ดูแลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างหน่วยราชการด้วยกันเอง ก็สามารถจะเป็นที่พึ่งในการแก้ปัญหาได้ หรือประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการประจำ ย่อมจะมีสิทธิในการป้องกันสิทธิและผลประโยชน์ของตนที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ

ข้าราชการที่ทำงานด้วยการอุทิศตนอย่างเต็มที่ ปฏิบัติตามกฎหมาย วางตัวเป็นกลางทางการเมือง มีศีลธรรมและจริยธรรม ย่อมมีความองอาจและบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่รู้สึกถึงการทำงานที่ไม่สบายใจเพราะมิได้ทำความผิดอะไร หลักการก็คือ ต้องถือเอาความยุติธรรมและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

สิทธิของประชาชนที่จะพึ่งพาศาลปกครองเพื่อความยุติธรรมและเพื่อความถูกต้อง เป็นสิทธิขั้นมูลฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้องค์กรของรัฐไม่ว่าจะฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายราชการละเมิดสิทธิของตนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย


สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างกระจ่างก็คือ รัฐเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยความยินยอมของประชาชนในสังคม ในลักษณะสัญญาประชาคม (social contract) ตามที่รุสโซได้กล่าวไว้ ความหมายก็คือ เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มจนกลายเป็นสังคมย่อมจะต้องมีความขัดแย้ง จึงได้ยินยอมให้มีการสถาปนารัฐขึ้น และผู้ใช้อำนาจรัฐซึ่งมี 3 อำนาจ ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จะทำหน้าที่ตามอาณัติที่ได้รับมอบจากประชาชน แต่เมื่อใดก็ตามที่การทำหน้าที่ดังกล่าวกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ประชาชนย่อมมีทางออกที่จะไม่ปล่อยให้ผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวดำรงอยู่ต่อไป วิธีการก็คือ การถอนอาณัติ

การถอนอาณัติในระบอบประชาธิปไตยก็คือ การไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งบุคคลดังกล่าวมาทำหน้าที่ต่อไป ขณะเดียวกันก็มีทางออกอื่นด้วยการชุมนุมโดยสงบและปราศจาอาวุธ ประท้วงและต่อต้านไม่ให้มีโครงการซึ่งกำหนดโดยรัฐที่ส่งผลกระทบต่อตน เช่น การสร้างมลภาวะ การทำให้การทำมาหากินโดยสงบสุขถูกกระทบกระเทือน โดยมีเหตุผลพอเพียงที่จะชี้ให้เห็นประจักษ์ และเมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถจะทำให้สัมฤทธิผลได้ก็ต้องอาศัยองค์กรที่มีอยู่ และองค์กรที่มีอยู่ในหลายๆ องค์กรก็คือศาลสถิตยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลสถิตยุติธรรมมี 3 ศาล คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ในส่วนของศาลปกครองนั้นก็มี 2 ระดับ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ มีภารกิจสำคัญคือ การวินิจฉัยตีความกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม นอกเหนือจากนั้น ประชาชนสามารถจะพึ่งพาองค์กรที่เรียกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (ตามรัฐธรรมนูญปี 2540) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน (ตามรัฐธรรมนูญปี 2550) เพื่อแก้ไขความทุกข์ของประชาชนจากการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม นอกจากนั้น ยังมีองค์กรที่เรียกว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นที่พึ่งในกรณีที่มีการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองก็เช่นเดียวกันกับศาลสถิตยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นองค์กรที่สำคัญและเป็นองค์กรที่ประชาชนภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีสิทธิที่จะใช้เป็นที่พึ่งพาในกรณีที่มีการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของตนจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ
Read more ...

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งรับคำฟ้อง กกต.กรณีจัดการเลือกตั้ง-จัดคูหาเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 104 เมื่อปี พ.ศ.2549

26/10/52
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งรับคำฟ้อง กกต.กรณีจัดการเลือกตั้ง-จัดคูหาเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 104 ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ พร้อมทั้งให้เพิกถอนการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนด้วย ขณะเดียวกัน ได้ให้ กกต.ทำคำให้การคัดค้านภายใน 7 วัน

วันนี้ (27 เม.ย.2549) ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้รับฟ้อง คดีดำที่ 620/2549 ที่ นพ.ประมวล วีรุตมเสน กับพวกรวม 10 คน ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในความผิดเรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครอง กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ในคำฟ้องระบุว่า กรณี กกต.มีมติจัดการเลือกตั้ง เรื่องวิธีจัดคูหาเลือกตั้งโดยหันหน้าออก ทำให้การลงคะแนนของผู้มาใช้สิทธิไม่เป็นความลับ ซึ่งวิธีจัดคูหาเลือกตั้งดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 ที่บัญญัติให้การเลือกตั้งให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและเป็นความลับ

ทั้งนี้ คดีดังกล่าว นพ.ประมวล กับพวกยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2549 โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอน กฎ ระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งการกระทำใดๆ ซึ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 พร้อมทั้งให้เพิกถอนการจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เม.ย.2549 ด้วย

โดยศาลพิจารณาคำฟ้อง ในคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่า การฟ้องคดีเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 9 วรรค 1 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาได้ จึงมีคำสั่งให้รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไป โดยศาลมีคำสั่งให้ กกต.ต้องทำคำให้การคัดค้านเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งศาล

สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องทั้ง 10 ได้ยื่นคำขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ก่อนการพิพากษาด้วย โดยขอให้ศาลสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนับคะแนนเลือกตั้ง การรายงานผลการเลือกตั้ง การรับรอง และการประกาศผลการเลือกตั้ง ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งในคดีนี้ ซึ่งการพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว นั้น ศาลปกครองยังไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ออกมา

ขณะเดียวกัน วันนี้ ศาลปกครองกลาง ยังมีคำสั่งรับฟ้องในคดีดำ หมายเลข 617/2549 ที่นายโพธิ์พงศ์ บรรลือวงศ์ ชาวบ้านจังหวัดนนทบุรี ยื่นฟ้องกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในความผิดเดียวกัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 104

โดยคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.นนทบุรี พร้อมกับให้ กกต.ชดใช้เงินจำนวน 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จากการทำละเมิด ละดังกล่าวด้วย ซึ่งคดีนี้ผู้ฟ้องได้ยื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีศาลยังไม่มีคำสั่งออกมา
Read more ...

เหตุ(ร้าวลึก!)เกิดที่ศาลปกครอง(2)

12/10/52
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์
วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เวลา 20:30:04 น.



สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงกฎหมายมหาชน อาจไม่เข้าใจว่า การลาออกของ  


ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ 


จากตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพียงคนเดียว ทำไมจึงมีความสลักสำคัญมากมายนัก


โดยเฉพาะการลาออกดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นเพียงอาการของคน"อกหัก"เท่านั้น


แต่ถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวในศาลปกครองมาตลอดจะรู้ว่า ปรากฏกาณณ์ที่เกิดขึ้นมิใช่เรื่องธรรมดา เพราะเป็นเรื่องหลักการในการทำงานของศาลปกครองในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร  แนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นที่สาธารณชนมีต่อศาลปกครองได้


นอกจากนั้นในการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นเมื่อปี 2543  ดร.วรพจน์ เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการลงหลักปักฐานของศาลปกครองกลางในฐานะอธิบดีคนแรก เช่นเดียวกับ  


ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ 


ในฐานะเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้จัดระบบต่างๆรองรับการทำงานของตุลาการ


การทำงานของ ดร.วรพจน์ เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา  แม้บางครั้งจะมีความพยายามแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองผ่าน "อดีตบิ๊ก"บางคนในศาลปกครองสูงสุด แต่ดร.วรพจน์ ไม่ยินยอมและนำเรื่องเข้าที่ประชุมตุลาการศาลปกครองกลางพิจารณาหักล้าง


เมื่อมีการเปิดสอบตุลาการศาลปกครองสูงสุดรุ่นแรก ดร.วรพจน์ได้รับการขอจาก"ผู้ใหญ่" บางคนให้ทำหน้าที่อธิบดีต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อนเพื่อวางระบบการวินิจฉัยคดีให้มั่นคง 


ขณะที่  


นายเกษม คมสัตย์ธรรม  

ซึ่งเป็นเพียงตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองกลาง สามารถสอบเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดก่อนดร.วรพจน์ที่สอบเข้าไปเป็นตุลาการศาลปครองสูงสุดรุ่นที่ 2


แต่ด้วยคำมั่นของ"ผู้ใหญ่"บางคน ทำให้ ดร.วรพจน์เชื่อว่า "ผู้ใหญ่"จะทำตามสัญญา ที่จะไม่ถือว่า เรื่องการเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดก่อนหรือหลัง เป็นเหตุในการพิจารณาตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด


แล้วก็เกิดกรณีปราสาทพระวิหารจนกลายเป็นปมขัดแย้งและร้าวลึก เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2551 คุ้มครองชั่วคราวห้ามนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน.2551 ซึ่งเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปดำเนินการการใดๆ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น


 ดร.วรพจน์ และ ดร.ชาญชัยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โดยเห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองเพราะมติคณะรัฐมนตรีเรื่องนี้เป็นการกระทำในทางรัฐบาล หรือเรื่องในทางนโยบาย โดยแท้ มิใช่การกระทำทางปกครอง


แต่ความเห็นที่แตกต่างกันอย่างเดียวไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรขึ้น แต่ในฐานะนักวิชาการที่สอนกฎหมายด้วย มีการนำคำสั่งไปวิพากษ์วิจารณ์ในห้องเรียนสร้างความไม่พอใจให้"ผู้ใหญ่"บางคน


ต่อมาเมื่อศาลปกครองสูงสุดคณะที่ 1 ซึ่งมี ดร.อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ยิ่งทำให้ปมความขัดแย้งขยายใหญ่ขึ้น


เนื่องจาก มีกระแสข่าวเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่เรื่องคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางออกมาในเวลาตีสอง ซึ่งทำให้สงสัยว่า ทำไมองค์คณะจึงทำงานกันกลางดึกเช่นนั้น  การเปลี่ยนองค์คณะ แต่ไม่มีใครยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่า เป็นอย่างไร


น่าเสียดายว่า ศาลปกครองมิได้ชี้แจงและนำเอกสารหลักฐาน เช่น การจ่ายสำนวน กระบวนพิจารณาคดีชี้แจงต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส  กระแสข่าวดังกล่าวจึงเป็นเรื่องอึมครึมที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในแวดวงวิชาการกฎหมาย


หลังจากเกิดกระแสข่าวดังกล่าวได้เกิดสภาพหวาดระแวงขึ้นในศาลปกครองโดย"ผู้ใหญ่"บางคนมองว่า มีการนำเรื่องภายในไปปูดข้างนอก แน่นอนว่า ทั้งดร.วรพจน์และ ดร.ชาญชัย  ถูกเพ่งเล็งอยู่ด้วย


กอปรกับช่วงการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในสำนักงานศาลปกครอง จึงมีการขุดเรื่องเก่าเกี่ยวกับการจ้างสถาบันพระปกเกล้าทำวิจัยเรื่อง"สัญญาทางปกครอง"และ "คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล"ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งศาลใหม่ๆขึ้นมาเล่นงานตุลาการศาลปกครองสูงสุดบางคนโดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)สอบโดยอ้างว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งๆที่เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าว มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดว่า จ้างบุคคลใดทำวิจัย ใครเป็นที่ปรึกษาซึ่ง "ผู้ใหญ่"เองก็รับรู้ข้อมูลนี้มาตลอด


แต่ทำไมเพิ่งนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาแต่งตั้งตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด


จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการสกัดบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างกันในหลักการพิจารณาคดีและทางการเมือง


หลังการลาออกของ ดร.วรพจน์ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 มีความเคลื่อนไหวจากตุลาการจำนวนหนึ่งทำหนังาอถึงประธานศาลปกครองสูงสุดให้ยับยั้งการลาออกดังกล่าว


อีกไม่กี่วันคงจะรู้ว่า ดร.อักขราทรจะตัดสินใจอย่างไรและอาจเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบว่า อนาคตของศาลปกครองจะเป็นอย่างไร
Read more ...

เหตุ(ร้าวลึก!)เกิดที่ศาลปกครอง(1)

12/10/52
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์ 

วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เวลา 20:30:25 น.



เป็นการช็อคแวดวงวิชการกฎหมายมหาชนอย่างมาก เมื่อ  



ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์  


ซึ่งมีโอกาสดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดในอนาคตอันใกล้ได้ยื่นใบลาออกจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดอย่างกระทันหันโดยให้มีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552


แม้การลาออกของ ดร.วรพจน์ เมื่อดูผิวเผินแล้วอาจจะเป็นผลมาจากกรณีที่


ดร.วรพจน์


และ



นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดอีกคนหนึ่ง พลาดจากตำแหน่ง


ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด


ซึ่งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(กศ.ป.)มีมติแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2552 จำนวน 3 ตำแหน่งโดยบุคคลทั้งสองรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมมีการข้ามอาวุโสและเป็นการผิดข้อตกลงบางประการ


แต่ความจริงแล้ว ปรากฎกาณณ์ครั้งนี้อาจเป็นสะท้อนอาการร้าวลึกของศาลปกครองที่เริ่มปรากฎขึ้นมาตั้งแต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2551 คุ้มครองชั่วคราวห้ามนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน.2551 ซึ่งเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปดำเนินการการใดๆ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น


คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว นอกจากเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแวดงวงวิชาการแล้ว แม้แต่ในแวดวงศาลปกครองเอง ตุลาการระดับสูงจำนวนหนึ่งซึ่งในจำนวนนี้มี   


ดร.วรพจน์ และนายชาญชัย 


ไม่เห็นด้วยอย่างมาก โดยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองเพราะมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้เป็นการกระทำในทางรัฐบาล หรือเรื่องในทางนโยบาย โดยแท้ มิใช่การกระทำทางปกครอง


ในการวิการวิพากษ์วิจารณ์มีการหยิบยกกรณีคดีข้อตกลงทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับไทยหรือเจเทปป้าที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณาด้วยเหตุผลว่า ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองเนื่องจากเป็นการกระทำในทางรัฐบาลมาเป็นบรรทัดฐาน


ต่อมาคณะรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งศาลปกครองสูสุดคณะที่ 1 ซึ่งมี 


ดร.อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ มีคำสั่งเมื่อ 11 กันยายน 2551 ยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง


ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลโดยสรุปว่า แถลงการณ์ร่วมฯอาจ ก่อให้เกิดความความแตกแยกกันในด้านความคิดเห็นของคนในสังคม และอาจก่อให้เกิดวิกฤติสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-ประเทศกัมพูชา ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง แถลงการณ์ร่วมจึงเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศไทย


ดังนั้นหากดำเนินการใด ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ดังกล่าว ก็จะมีผลเสียหายและกระทบต่อประเทศชาติโดยรวมและสิทธิของประชาชนได้ จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้ต่อไปซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศและประชาชนโดยรวม


เป็นที่น่าสังเกตว่า องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดคณะที่ 1
ประกอบด้วย


-ประธานศาลปกครองสูงสุด
-รองประธาน 2 คน และ
-ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุดอีก 4 คน 
รวม 7 คน


(องค์คณะปกติมีตุลาการ 5 คน และมีหัวหน้าคณะ 1 คน)
การใช้องค์คณะที่ 1 พิจารณาคดีดังกล่าว เป็นครั้งแรกนับแต่จัดตั้งศาลปกครองมา 8 ปี น่าจะเป็นเพราะผู้บริหารศาลให้ความสำคัญกับคดีนี้อย่างมาก


แต่การให้ความสำคัญกับคดีนี้มากเป็นพิเศษ โดยให้เหตุผลเน้นในเรื่องผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติในมุมมองหนึ่ง อาจทำให้อีกมุมมองเห็นว่า เป็นการละเลยหลักการทางวิชาการ และอาจมีผลกระทบต่อความยุติธรรมได้


ที่สำคัญเกรงว่า จะทำให้ศาลปกครองถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถือหางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนอาจมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อของศาลที่เคยสร้างบรรทัดฐานในการพิพากษาคดีสำคัญมาแล้วเป็นจำนวนมาก


กรณีดังกล่าวทำให้เกิดกระแสข่าวมากมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านคดีที่ยังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงว่า แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร เพราะกระแสข่าวดังกล่าว ถ้าเป็นจริงถือเป็นร้ายแรงอย่างมากในกระบวนการยุติธรรม


หลังจากคดีดังกล่าวในทางเปิดเผยได้เกิดวิวาทะกันอย่างระหว่าง  

ดร.อมร จันทรสมบูรณ์  อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและที่ปรึกษาใหญ่ศาลปกครองกับ
กลุ่มนักวิชาการกฎหมายที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะ  
ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
อย่างต่อเนื่อง


ขณะเดียวกันได้เกิดสภาพมึนตึงได้เกิดขึ้นในศาลปกครองที่ผู้บริหารศาลบางคนมองว่า มีกรณี"ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า "จึงเกิดความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันมานับแต่บัดนั้น


ด้วยเหตุนี้เมื่อ ดร.วรพจน์ลาออกอย่างกระทันหัน จึงถูกมองว่า อาจจะเป็นผลพวงจากความสขัดแย้งที่ต่อเนื่องมาจากปมปราสาทพระวิหาร


ประเด็นที่น่าจับตามองคือ หลังจากการลาออก  ดร.วรพจน์ 
ผู้บริหารศาลปกครองจะสรุปบทเรียนใอย่างไร เพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อความน่าเชื่อถือศรัทธาของสถาบันแห่งนี้
Read more ...

ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดให้คนป่วยจากแม่เมาะยกเว้นค่าธรรมเนียมฟ้องกฟผ.ได้

10/5/52



21 ม.ค. 2549 คนแม่เมาะเฮ! เมื่อศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแบบอนาถา เพื่อยื่นฟ้อง กฟผ.ได้ เผยดีใจที่ต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรม พร้อมยืนยันเดินหน้าฟ้อง กฟผ.ต่อ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,000 กว่าล้านบาท หลังจากต้องกลายเป็นคนป่วยรับสารพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะมานานหลายสิบปี

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ตัวแทนชาวบ้านแม่เมาะได้เดินทางเข้าฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามหมายเลขดำ 66/2548 ลงวันที่ 20 ม.ค.2549 ระหว่าง นายสุวัฒน์ สุริยะแก้ว กับพวกรวม 10 คน ที่ฟ้องคดี บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดี โดยศาลได้อ่านคำสั่งที่ 791/2548 ของศาลปกครองสูงสุด ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ยืนคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้ชาวบ้านแม่เมาะที่เป็นผู้ป่วยจากการได้รับสารพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ สามารถยื่นคำร้องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแบบอนาถาได้

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขานุการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้ชาวบ้านแม่เมาะที่เป็นผู้ป่วยจากการได้รับสารพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ สามารถยื่นคำร้องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแบบอนาถาในครั้งนี้

“ซึ่งชาวบ้านได้ขอรับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแบบอนาถา จำนวนทั้งหมด 128 คนไปก่อนหน้านั้น ล่าสุด ศาลปกครองโดยศาลปกครองสูงสุดยืนคำพิจารณาศาลชั้นต้นให้ชาวบ้านที่ยื่นคำร้องขอฟ้องแบบอนาถาได้จำนวน 57 คน ที่เหลือได้พิจารณายกเว้นในสัดส่วน 3ใน 4 และ 9 ใน 10 นั่นหมายความว่า หากชาวบ้านรายใดที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายไป 10 ล้านบาท ก็สามารถยื่นฟ้องแบบอนาถาโดยลดเหลือ 9 ล้าน ซึ่งก็ถือว่าศาลปกครองได้เมตตาชาวบ้านแล้ว หลังจากนี้ ก็คงต้องรอให้ศาลได้พิสูจน์ว่าเป็นผู้ป่วยจากผลกระทบจากโรงไฟฟ้าจริงหรือไม่ ซึ่งทุกคนไม่หนักใจ เพราะเชื่อว่าทุกคนป่วยจากสารพิษโรงไฟฟ้าจริง และเมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนพร้อมยืนยันจะเดินหน้าฟ้อง กฟผ. เพื่อเรียกค่าเสียหายต่อไป” นางมะลิวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เลขาฯ เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ได้กล่าวแสดงความหวังว่าศาลปกครองจะเร่งพิจารณาคดีดังกล่าว เนื่องจากว่าในขณะนี้ ชาวบ้านที่ได้เข้ายื่นคำร้องได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว 4 ราย ซึ่งเธอระบุว่าล้วนแล้วแต่เป็นการเสียชีวิตจากสารพิษโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้ป่วยได้ร่วมกันเรียกร้องสิทธิ และต่อต้านโรงไฟฟ้ามาโดยตลอด แต่ก็ไม่เกิดการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงได้ยื่นฟ้อง กฟผ. ต่อศาลปกครองใน 2 กรณี คือ กรณีการเจ็บป่วย และกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

จนกระทั่ง ในวันที่ 29 สิงหาคม 2546 กลุ่มชาวบ้านในนามเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปางจำนวน 128 ราย ได้เข้ายื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกรณีเจ็บป่วยจากโรงไฟฟ้าจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,069,778,433 บาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้สภาพอากาศโดยรอบโครงการไฟฟ้าเป็นพิษ จนชุมชนมีอาการเจ็บป่วยจากมลพิษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยระบุว่าชาวแม่เมาะป่วยด้วยโรคนิวโมโคนิโอซีส ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาและดำเนินการโยกย้ายชุมชนโดยเร่งด่วน แต่ กฟผ.กลับหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับผิดชอบมาโดยตลอด

นางมะลิวรรณกล่าวด้วยว่า สำหรับตัวเธอเองนั้น พ.ญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยที่โรงพยาบาลราชวิถี ได้ทำการรักษาผู้ป่วยทั้งหมด ระบุว่าผลการเอ็กซ์เรย์พบว่าปอดของเธอเหลือเพียง 70% บางรายเป็นหนักกว่าคือเหลือปอดไม่ถึง 50% ต้องใช้ยาพ่นเพื่อขยายหลอดลมตลอดเวลา

ต่อมา นายธีระศักดิ์ ชึขุนทด สภาทนายความที่ช่วยเหลือคดีดังกล่าว ได้กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้เป็นการฟ้อง

ตามมาตรา 6(2) และมาตรา 96 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2535

ที่ระบุว่าเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ทำให้ผู้อื่น และทรัพย์สินเสียหายจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย โดยโจทก์ทั้ง 128 คน ยื่นขอค่าเสียหายรวม 1,069,778,433 บาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายเฉพาะส่วนที่ชาวบ้านเจ็บป่วย พร้อมทั้งให้ศาลสั่งให้ กฟผ.หยุดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

นายธีรศักดิ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการพิจารณาคดีในครั้งนั้นว่า เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมศาลจำนวนร้อยละ2.5 ของจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้อง ซึ่งเป็นเงินหลายล้านบาท จึงส่งสำนวนคำฟ้องพร้อมด้วยคำร้องให้ศาลยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หรือการขอยื่นคำร้องฟ้องแบบอนาถา

ล่าสุด (20 ม.ค.49) ศาลปกครองสูงสุดได้ิพิจารณาให้้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ ตามจำนวนสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามฐานะของผู้ยื่นคำร้อง และเมื่อศาลรับฟ้องแล้ว ก็จะมีการส่งสำนวนการฟ้องไปยัง กฟผ.เพื่อให้กฟผ.ได้มาพิจารณาและส่งเอกสารหลักฐานมาเพื่อให้เกิดกระบวนการไต่สวนของศาลต่อไป.

องอาจ เดชา
โดย : ประชาไท

วันที่ 23/01/2006
Read more ...