ศาลอาชญากรกับกรณี?คาราดิช?

8/10/52


การจับกุมตัว

นายราโดวาน คาราดิช 

ผู้ต้องหาคดีอาชญากรสงครามในบอสเนีย ได้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาสร้างความเชื่อถือที่จำเป็นอย่างยิ่งให้แก่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้ต้องหาอาชญากรสงครามที่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากมานานหลายปีในการตามล่าตัวเขา นอกจากนี้การจับกุมนายคาราดิชยังช่วยสนับสนุนคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศที่ว่า ความอดทนและมาตรการทางการทูตแบบพหุภาคีสามารถช่วยให้กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางมาร์ธา มินาว ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและผู้เชี่ยวชาญด้านคดีอาชญากรสงคราม บอกว่า การจับกุมครั้งนี้ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการยุติธรรม

นายคาราดิชจะกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนที่ 3 ที่ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ต่อจาก

1. ประธานาธิบดีชาร์ลส์ เทย์เลอร์ ของไลบีเรีย และ

2. อดีตประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเซวิช ของเซอร์เบีย

การที่นายคาราดิชลอยนวลอยู่นานถึงเกือบ 13 ปีหลังก่อเหตุนับว่าเป็นการเยาะเย้ยต่อศาลอาชญากรสงครามในอดีตสาธารณรัฐยูโกสลาเวีย (ไอซีทีวาย) ซึ่งเมื่อปี 1993 นับเป็นศาลอาชญากรสงครามแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นโดยยูเอ็น

แม้นายคาราดิชจะปรากฏตัวตามที่สาธารณะในช่วงที่กองกำลังนาโต้ (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) และสหรัฐได้เข้าไปยังบอสเนียเมื่อปี 1996 แต่เขาก็ยังไม่ถูกจับกุม สาเหตุหนึ่งเนื่องจากหวั่นเกรงว่าการจับตัวเขาจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงต่อกองกำลังนาโต้

แทนที่จะจับกุม ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) พยายามใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจและการทูตต่อรัฐบาลเซอร์เบียเพื่อบีบบังคับให้จับตัวเขา จนกระทั่งถึงวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ นโยบายดังกล่าวดูเหมือนว่าล้มเหลว

ในขณะเดียวกันศาลอาชญากรสงครามแห่งอื่นๆที่ก่อตั้งขึ้นโดยยูเอ็นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกัน ศาลอาชญากรระหว่างประเทศเพื่อรวันดาถูกชาวรวันดาวิจารณ์ว่าก่อตั้งขึ้นนอกรวันดา และยังแยกตัวออกจากรวันดา ส่วนการก่อตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศของยูเอ็น ซึ่งจะเป็นองค์กรหลักในการดำเนินคดีอาชญากรสงครามทั่วโลก ก็ต้องล่าช้ามานานหลายปีจากการเจรจาอย่างยืดเยื้อและกระแสต่อต้านของรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เองอัยการของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศก็เพิ่งถูกวิจารณ์เรื่องการตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ ของซูดาน ซึ่งผู้ที่วิจารณ์อ้างว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะสร้างความยุ่งยากต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพในแคว้นดาฟัวร์ของซูดาน และจะไม่ส่งผลให้นายอัล-บาชีร์ถูกจับ ซึ่งยิ่งส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศถูกกล่าวหาว่ามีสถิติที่แย่มากในการจับตัวอาชญากรมาดำเนินคดี

หลังการจับตัวนายคาราดิช นายแกรี่ เบสส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และผู้เขียนหนังสือชื่อ   

Stay the Hand of Vengeance : The Politics of War Crimes 

บอกว่า จะช่วยสร้างแรงกดดันเพิ่มในการจับตัวนายอัล-บาชีร์ โดยระบุว่า เมื่อตอนที่นายคาราดิชถูกแจ้งข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในปี 1995 ไม่มีใครคาดหวังว่าเขาจะถูกจับตัวได้จริง ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่านายอัล-บาชีร์จะถูกจับหรือไม่ แต่กรณีของนายคาราดิชก็ทำให้นายอัล-บาชีร์ต้องคิดหนัก

เจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาสหรัฐและชาติพันธมิตรขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองในการจับกุมอาชญากรสงคราม และขณะเดียวกันก็ล้มเหลวต่อการใช้แรงกดดันทางการทูตและเศรษฐกิจในการผลักดันการจับกุม ซึ่งจนถึงขณะนี้สถิติการจับกุมอาชญากรสงครามยังนับว่าน้อยมาก การจับนายคาราดิชได้ไม่อาจถือได้ว่าประสบความสำเร็จหลังจากที่พยายามมานานถึง 10 ปี แต่การเพิ่มแรงกดดันหลายครั้งต่อรัฐบาลเซอร์เบียในการจับนายคาราดิชแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องง่ายเพียงใดสำหรับชาติใดก็ตามที่จะท้าทายและแบ่งแยกประชาคมโลก

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองเซเบรนิซาเมื่อปี 1995 ซึ่งนายคาราดิชเป็นผู้บงการ ได้กล่าวหาศาลไอซีทีวายว่าไร้ประสิทธิภาพ ทั้งยังบอกว่าศาลดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ และได้รับงบประมาณถึงปีละ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะยังคงล้มเหลวต่อไปจนกว่านายคาราดิชและนายพลรัตโก มลาดิค อดีตผู้บัญชาการทหารเซิร์บ คู่หูของนายคาราดิช จะถูกจับตัวได้

นายริชาร์ด โกลด์สโตน ผู้พิพากษาชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งเคยเป็นอัยการคนแรกของศาลไอซีทีวาย และเป็นผู้แจ้งข้อหานายคาราดิชเมื่อปี 1995 บอกว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ทางการเซอร์เบียจะต้องจับ

นายพลมลาดิค

ซึ่งยังคงเป็นอิสระและเชื่อว่าหลบซ่อนตัวอยู่ในเซอร์เบียให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น