ศาลเป็นสถาบันที่มีภารกิจหลักคือการพิจารณาอรรถคดี ซึ่งประกอบด้วยคดีแพ่ง และคดีอาญาเป็นหลักที่เรียกว่าศาลสถิตยุติธรรม ภารกิจของศาลส่วนนี้เป็นภารกิจของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ซึ่งต้องพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้จบลงด้วยความยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ในกรณีคดีอาญานั้นคือการกระทำที่ผิดต่ออาญาแผ่นดินเกิดขึ้นได้โดยการกระทำต่อบุคคลด้วยกัน หรือระหว่างบุคคล และรัฐ หรือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำผิดต่อประชาชน ในคดีแพ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชน หรือรัฐกับเอกชน หรือกลับกันแล้วแต่กรณี ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นภารกิจหลักของศาลโดยมีกฎหมายที่ใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลความขัดแย้งทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
การทำหน้าที่ของศาลที่กล่าวมาเบื้องต้นนอกจากจะมีกฎหมาย ซึ่งออกมาในรูปของพระราชบัญญัติ กฎระเบียบต่างๆ ยังมีกระบวนการยุติธรรม เช่น มีตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิด อัยการ ซึ่งเป็นทนายความของแผ่นดิน รวมทั้งกรมราชทัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว นอกจากนั้นก็มีกรมบังคับคดี เป็นต้น
นอกจากภารกิจหลักของศาลสถิตยุติธรรมดังกล่าวมาเบื้องต้น ศาลยังมีภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในส่วนของการเมืองนั้นศาลอาจจะมีภารกิจเกี่ยวพันกับทางอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารในระดับทั้งที่เป็นข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ รวมตลอดทั้งรัฐวิสาหกิจ และองค์กรอื่นๆ แต่ในการเกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองของศาลนั้น มีความแตกต่างกันระหว่างศาลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองโดยตรง กับศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอรรถคดี ซึ่งมีผลกระทบหรือเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง
ในกรณีของศาล ซึ่งการวินิจฉัยเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองโดยตรงก็ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงหรือเป็นคดีอาญาตามปกติก็ได้ ส่วนศาลปกครองนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีที่สืบเนื่องจากการปกครองบริหาร เช่น ระหว่างกรมกองข้าราชการด้วยกันเอง หรือระหว่างเอกชนกับหน่วยงานราชการทั้งการเมือง และข้าราชการประจำ
แต่ในบางกรณีศาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง หรือศาลสถิตยุติธรรมธรรมดาอาจจะถูกกำหนดให้มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการเมืองร่วมกัน เช่น กรณีของตุลาการ 9 คน ในการวินิจฉัยคดี การกระทำความผิดกฎหมายพรรคการเมืองจนนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย โดยตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนั้นประกอบด้วย ผู้พิพากษาจากศาลสถิตยุติธรรมคือศาลฎีกา ศาลปกครอง เป็นต้น
ในส่วนของความเกี่ยวพันระหว่างศาล และการเมืองการปกครองนั้น แม้ในกรณีของศาลสถิตยุติธรรมก็มีโอกาสเกี่ยวพันกับการเมือง และการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีกรณีการวินิจฉัยที่เห็นชัดในประวัติศาสตร์สองกรณีคือ
กรณีแรก คือ เรื่องความชอบธรรม และความถูกต้องตามกฎหมายของการได้มา ซึ่งอำนาจอธิปไตยจากการยึดอำนาจรัฐโดยใช้กำลัง หรือพูดง่ายๆ คือการเป็นรัฏฐาธิปัตย์หลังทำการรัฐประหารสำเร็จ
กรณีที่สอง คือ เรื่องการออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง เกี่ยวเนื่องกับคดีอาชญากรสงครามหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับกระบวนการออกกฎหมายก็คือการเกี่ยวพันกับกระบวนการนิติบัญญัติหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ส่วนกรณีแรกที่เกี่ยวกับการเป็นรัฐาธิปัตย์นั้นคือการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสถาปนาอำนาจรัฐ หรืออำนาจอธิปไตยว่ามีความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) และมีความชอบธรรม (legitimacy)หรือไม่อย่างไร
ในกรณีคดีเกี่ยวกับอาชญากรสงครามนั้นเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ตั้งศาลพิเศษขึ้น เพื่อพิจารณาคดีการกระทำความผิดของพวกนาซีเยอรมนี และฟาสซิสต์อิตาลี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามโดยศาลที่ตั้งขึ้นมาพิเศษที่นูเรมเบิร์ก และที่โตเกียว ในกรณีประเทศไทยนั้นเนื่องจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐฯ โดยลงนามเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น จึงถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม ได้มีการออกพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ซึ่งมีผลย้อนหลัง
กล่าวคือ การกระทำที่เกิดก่อนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ถือเป็นความผิดด้วย อันเป็นลักษณะที่ขัดกับปรัชญาหลักกฎหมายทั่วไปที่ไม่ให้มีการออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษผู้กระทำการใด ในกรณีของศาลที่นูเรมเบิร์ก และที่โตเกียวก็มีผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผิดหลักการ แต่ในกรณีของไทยนั้นเมื่อคดีมาถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาได้ตัดสินตามคำพิพากษาที่1/2489 ว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่ลงโทษก่อนวันที่ใช้กฎหมายนี้เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ โดยมีเหตุผลว่า
ก) ศาลเป็นผู้ใช้กฎหมายจึงต้องดูว่าอะไรเป็นกฎหมาย หรือเป็นกฎหมายที่ใช้ได้หรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยเช่นนี้เป็นอำนาจของศาล
ข) ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมี 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต่างย่อมมีอำนาจยับยั้ง และควบคุม ซึ่งกัน และกัน อันเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเมือง เมื่อกฎหมายถูกตราออกมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไม่ถูกต้องหรือขัดรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมมีอำนาจแสดงให้เห็นความไม่ถูกต้องนั้นได้
ค) จำเป็นต้องมีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นข้อความที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดก็จะไม่มีผล จะให้สภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้ออกเองชี้ขาดเองย่อมไม่ถูกต้อง และให้อำนาจฝ่ายบริหารชี้ขาดก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร
นี่คือเหตุผล 3 ข้อใหญ่ๆ ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญโดยสังเขปเบื้องต้น ข้อสังเกตคือ การวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยมิได้มีแนววินิจฉัยแนวเดียวกับคดีอาชญากรสงคราม โดยตุลาการ 9 คนอ้างว่าแม้จะเป็นกฎหมายย้อนหลัง “แต่ไม่ใช่กฎหมายอาญา” ซึ่งมีนักกฎหมายจำนวนไม่น้อยถกเถียงว่า แม้กฎหมายแพ่งหรือกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองก็จะออกกฎหมายให้มีผลการลงโทษย้อนหลังไม่ได้เช่นเดียวกัน ประเด็นนี้คงถกเถียงกันได้อีกนาน
แต่ที่สำคัญก็คือ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวนั้นมีผลทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง และฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเช่นเดียวกัน ไม่สามารถจะกระทำอะไรได้ตามอำเภอใจ การวินิจฉัยของศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสถิตยุติธรรมจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยนัยนี้
ส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย และการเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น กรณีที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มทางการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจกัน โดยมีการรัฐประหารเกิดขึ้น และผู้กระทำการยึดอำนาจรัฐได้ สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้ ทำให้นำไปสู่การอ้างได้ว่าเมื่อความเป็นจริงทางการเมืองมีว่า เมื่อคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจสามารถดำรงอำนาจอยู่ได้ตามปกติวิสัย และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ก็ต้องถือว่าเป็นรัฐบาลตามความเป็นจริง แต่กระบวนการช่วงชิงอำนาจโดยใช้กำลังจนฝ่ายที่ครองอำนาจรัฐอยู่เดิมต้องสูญเสียอำนาจไปนั้นเกิดคำถามที่สำคัญเรื่องความถูกต้อง และความชอบธรรม คำถามก็คือ การใช้กำลังเข้าช่วงชิงอำนาจรัฐที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นอำนาจที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร และผู้ใช้อำนาจนั้นจะถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องได้หรือไม่
แง่มุมของกฎหมาย ถ้ามีกฎกติกา เช่น การปกครองที่มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่ยาวนานจนกลายเป็นประเพณีเช่นของอังกฤษ และสหรัฐฯ และก็มีการทำให้ประเพณีดังกล่าวนั้นมีความถูกต้องอีกโสตหนึ่งด้วยตัวบทกฎหมาย และความมีเหตุมีผลอันเป็นที่ยอมรับ ก็จะสอดคล้องกับความชอบธรรมของอำนาจของ
แม็กซ์ เวเบอร์ คือ อำนาจประเพณี (traditional authority)
เช่น การสืบเชื้อสายการเป็นกษัตริย์จากพ่อไปสู่ลูกอันประเพณีอันยาวนาน ก็ถือว่าลูกมีอำนาจ และความชอบธรรมตามประเพณี
ส่วนอำนาจด้านกฎหมาย และความถูกต้องนั้น เช่น มีการเลือกตั้ง และได้ชัยชนะการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่นประธานาธิบดีอเมริกา ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็จะได้เป็นประธานาธิบดีอันเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย และการมีเหตุมีผลอันเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม (legal-rational authority)
แต่เมื่อใดก็ตามที่อำนาจตามประเพณี และความมีเหตุมีผลนั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ก็อาจเกิดการแย่งอำนาจกันจนบางครั้งเกิดสงครามกลางเมืองแยกเป็นสองรัฐ หรือรัฐบาลเดิมจำกัดตัวเองอยู่ในพื้นที่โดยยังไม่ล้มจากการเป็นรัฐบาล เช่น ในกรณีที่จีนคณะชาติหนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน หรือบางครั้งรัฐบาลเดิมอาจจะไปตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นที่นอกประเทศ (อ่านต่อพฤหัสฯ หน้า)
ขขขขขขขขขขขขขข
ในทางรัฐศาสตร์นั้นอาจถือเอาความเป็นจริงมากำหนดเป็นความยอมรับทางการเมือง แม้จะไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม ซึ่งกรณีเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยากที่จะรับสำหรับคนที่มีหลักการมั่นคง เพราะสิ่งที่ผิดย่อมจะผิด จะกลายเป็นถูกไม่ได้ ถ้ายอมรับสิ่งที่ผิดมาเป็นสิ่งที่ถูกก็เป็นการยอมรับอำนาจดิบ (raw power) ซึ่งเป็นระยะต้นของการตั้งรัฐ โดยคนที่แข็งแรงที่สุดในสังคมที่คนอื่นเกรงกลัวจะเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ และสถาปนาความเป็นรัฐ และครองความเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยคนไม่กล้าขัดขืน การสนับสนุนรัฐเช่นนี้เป็นการสนับสนุนจากความกลัว (fear) ไม่ใช่เกิดจากการยอมรับตามข้อตกลงสัญญาประชาคม (social contract)
อย่างไรก็ตาม เมื่อความเป็นจริงเป็นตัวกำหนด และ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นอนาธิปไตย และ เพื่อให้สังคมดำเนินต่อไปได้ ทั้งประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ก็ต้องยอมรับสภาพดังกล่าวเพราะไม่มีทางเลือก โดยหวังว่าถึงจุดๆ หนึ่งความถูกจ้องตามกฎหมาย และความมีเหตุมีผล หรือแม้พัฒนาไปสู่ความเป็นประเพณีก็จะตามมา เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่จะขอยกมาให้พิจารณาประกอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1153-1154/2495 :
“…การล้มล้างรัฐบาลเก่าตั้งเป็นรัฐบาลใหม่โดยใช้กำลังนั้นในตอนต้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าประชาชนจะได้ยอมรับนับถือแล้ว เมื่อเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง คือหมายความว่าประชาชนได้ยอมรับนับถือแล้ว ผู้ก่อการกบฏล้มล้างรัฐบาลดังกล่าวก็ต้องเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 102…”
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 :
“…ข้อเท็จจริงได้ความว่าในพ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขยกเลิก และออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศชาติต่อไป มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์…”
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1512-1515/2497 :
“…คำว่า “รัฐบาล” ตามที่กล่าวไว้ในกฎหมายลักษณะอาญานั้น ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้ แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า “องค์การปกครองบ้านเมือง…รัฐบาลที่โจทก์หาว่าพวกจำเลยจะล้มล้างนั้นเป็นรัฐบาลที่ได้ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นคือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้ในกรณีที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่ดำรงอยู่ก่อน รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ ได้เข้าครอบครอง และบริหารราชการแผ่นดินด้วยความสำเร็จเด็ดขาด และรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศไว้ได้ และตลอดมาเป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปว่าเป็นรัฐบาลอันสมบูรณ์มาช้านานจนบัดนี้ ศาลไม่เห็นมีเหตุใดที่จะไม่ถือว่าเป็นรัฐบาลอันไม่ชอบธรรมตามความเป็นจริง อันปรากฏประจักษ์แจ้งอย่างชัดเจน”
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2505 :
“ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อในพ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยความแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ดังนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 ดังนั้นประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 (บุคคลอันธพาล) ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าวข้างต้นเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองเช่นนั้นได้…”
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2523 :
“…แม้จะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่ก็หาได้มีกฎหมายยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไม่ ประกาศหรือคำสั่งนั้นจึงยังคงเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่…” จาก “ความคิดของหยุด แสงอุทัย ในปรัชญากฎหมาย” http://www.sameskybooks.org/2008/04/05/thai-legal-philosophy
จากที่กล่าวมาเบื้องต้นจะเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลเกี่ยวพันโดยตรงกับการเมือง คือ การยอมรับความเป็นรัฐบาลของกลุ่มที่ยึดอำนาจได้สำเร็จจากการรัฐประหาร ซึ่งเท่ากับยอมรับความเป็นรัฏฐาธิปัตย์เนื่องจากความสามารถในการคุมอำนาจรัฐได้
คำวินิจฉัยที่ยกมาให้พิจารณานั้น ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันโดยเฉพาะระหว่างหลักการกับความเป็นจริง ถ้ายอมรับอำนาจจากการใช้กำลังก็เท่ากับยอมรับว่าอำนาจเป็นธรรม (might is right) แต่ถ้าไม่ยอมรับก็เท่ากับการเปิดประตูไปสู่ความเป็นอนาธิปไตย (anarchy) จนนำไปสู่กลียุค และสงครามกลางเมืองได้ กรณีนี้จึงไม่ใช่กรณีที่มีลักษณะขาว และดำ
ประเด็นที่ว่า ศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นองค์กร และกลุ่มบุคคลที่เชี่ยวชาญทางกฎหมาย มีภารกิจในการผดุงไว้ ซึ่งความยุติธรรมด้วยการพิจารณาอรรถคดี มีบทบาทในทางการเมือง และการปกครองด้วยหรือไม่ ก็เห็นได้ชัดว่าจากคำวินิจฉัยที่กล่าวมาเบื้องต้นย่อมส่งผลในทางการเมือง และการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้อาจจะขยายความคำตอบจากการตีความในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะปี 2540 หรือ 2550 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
ซึ่งในกรณีของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มีการกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ 3 อำนาจ รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) อำนาจดังกล่าวแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านสามสถาบันหลักเบื้องต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ศาล ซึ่งได้แก่ศาลสถิตยุติธรรม และศาลอื่นทั้งที่เป็นศาลที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง หรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองก็ตาม ต่างอยู่ในอำนาจที่สามนี้ทั้งสิ้น ภารกิจของศาลจึงมีสองส่วนด้วยกัน ส่วนที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวเนื่องกับอรรถคดี และส่วน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย
การวินิจฉัยคดีโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองหรือตัวนักการเมือง ซึ่งผลการวินิจฉัยจะส่งผลกระทบต่อการครองอำนาจรัฐรวมทั้งระบบการเมืองการปกครอง ย่อมจะมีลักษณะที่เป็นการเมืองการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การวินิจฉัยคดี เช่น คดีการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการแจ้งทรัพย์สินก็ดี การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ดี ฯลฯ แม้จะไม่ใช่คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงแต่ก็ส่งผลต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือส่งผลต่อการเมืองการปกครอง
ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะถ้าการวินิจฉัยอรรถคดีตามปกติ ซึ่งไม่ส่งผลต่อการเมืองการปกครองนั้น ผู้พิพากษาจะต้องยืนตามหลักฐาน ความมีเหตุมีผลอื่นๆ แต่ในกรณีเรื่องที่มีผลหรือนัยทางการเมือง ข้อพิจารณาที่เกิดขึ้นนอกจากจะเป็นกรณีที่เกี่ยวกับคดีล้วนๆ แล้วยังอาจจะมีประเด็นที่เกี่ยวกับนัยทางการเมือง คำถามก็คือ ภารกิจของศาลหรือตุลาการในการพิจารณาคดีในคดีดังกล่าวนี้จะรวมไปถึงการพิจารณาบทบาทที่มีตามมาตรา 3 นี้ด้วยหรือไม่ หรือจะจำกัดอยู่ในกรอบของการพิจารณาเฉพาะคดีล้วนๆ โดยไม่คำนึงถึงนัยทางการเมืองที่จะตามมาไม่ว่าจะบวกหรือลบก็ตาม ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้พิพากษาเฉพาะบุคคล
คำวินิจฉัย ซึ่งมีนัยทางการเมือง และการปกครองในคดีที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือเกี่ยวกับนักการเมือง หรือเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม หลักการใหญ่ของผู้พิพากษา และตุลาการก็คือ จะต้องธำรงไว้ ซึ่งความยุติธรรมอย่างเคร่งครัด นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสย้ำถึงความสำคัญของความยุติธรรมว่า
“.....ท่านก็เป็นผู้ที่เป็นประกันของความยุติธรรมของศาล และเป็นผู้จะสามารถรักษาความยุติธรรมให้บ้านเมือง ถ้าทำได้แล้วท่านก็จะเป็นคนที่ดี เป็นคนที่ช่วยบ้านเมืองให้อยู่ได้ ให้ปลอดโปร่งได้ ขอให้ท่านได้พยายามทำ เพื่อที่ให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีขื่อมีแปก็หมายความว่ามีความสุข ความยุติธรรม
ถ้าท่านรักษาความยุติธรรม ได้แท้ๆ ท่านจะเป็นผู้ที่ได้ทำ ได้ช่วยให้บ้านเมืองอยู่ได้ ถ้าไม่มีความยุติธรรมบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ เพราะคนก็จะสงสัยอยู่เสมอ จะต้องไม่ให้มีความสงสัยในบ้านเมือง แต่บ้านเมืองต้องมีแต่ความยุติธรรม ฉะนั้นก็ขอร้องให้ท่านได้พยายาม และรักษาความยุติธรรมแท้ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่เชื่อว่า ท่านตั้งใจจะทำ ก็ขอให้ท่านตั้งใจรักษาความยุติธรรมในบ้านเมือง การรักษาความยุติธรรมในบ้านเมืองนี้ก็เหมือนกับง่ายๆ คือ ท่านเป็นผู้พิพากษา ถ้ารู้จักความเป็นผู้พิพากษาสักนิดเดียวก็จะไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ฉะนั้นขอให้ท่านรักษาความยุติธรรมในบ้านเมืองตามความรู้ที่ท่านได้ฝึกฝนมาด้วยการเรียน และการปฏิบัติ แต่ว่า ถ้าทำได้ก็จะเป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นเรื่องที่ยาก ถ้าทำได้ท่านก็จะเป็นวีรบุรุษของบ้านเมืองเป็นผู้ที่รักษาความยุติธรรม ฉะนั้นขอให้ท่านวางตัวเป็นวีรบุรุษรักษาความเรียบร้อยของบ้านเมือง...... ขอให้ท่านรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาลของระบบยุติธรรม ......”
จาก ข่าวศาลยุติธรรม ปีที่ 9 ฉบับที่ 84 (วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2551)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น