คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549

9/8/53
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549

นาย xxx โจทก์

นายสุกรี สุจิตตกุล จำเลย

จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมายและในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา200 วรรคหนึ่ง

การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดคือการใช้อำนาจในฐานะพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ผลของการกระทำของจำเลยคือ โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย

ตามฟ้องข้อ 1 (ก) แม้ข้อความว่า “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” จะอยู่ต่อจากและติดข้อความว่า “…ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์” กล่าวคือ เมื่ออ่านรวมกันมีข้อความว่า “…ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” แต่การทำความเข้าใจข้อความในคำฟ้อง ต้องทำความเข้าใจในข้อความดังกล่าวประกอบข้อความส่วนอื่น ๆ ของคำฟ้องด้วย ซึ่งเห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความสืบเนื่องจากการสั่งไม่ฟ้องคดีของจำเลยดังที่โจทก์บรรยายไว้อย่างชัดเจนในตอนต้น จึงเข้าใจได้อยู่ในตัวว่า ในการอ้างว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์หมายถึงเจตนาที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจสั่งฟ้องคดีของจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว
________________________________

โจทก์ฟ้อง ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นพนักงานอัยการ ชั้น 5 ตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม ปฏิบัติงานในหน้าที่อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4 สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคดีและดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ

(ก) เมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2541 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ระหว่างโจทก์ผู้กล่าวหา บริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ที่ 1 นายประชา เหตระกูล ที่ 2 ผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ตรวจสำนวนการสอบสวนพบว่าผู้ต้องหาทั้งสองร่วมกันลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ว่า

ในวันเกิดเหตุวันที่ 4 กันยายน 2540 เวลากลางวัน ภายหลังจากที่รถยนต์ของโจทก์ถูกรถยนต์ของนายบุญชัย สงวนความดี ชนที่ส่วนท้าย โจทก์ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันแจ้งข้อหาว่าทำร้ายร่างกายนายบุญชัยเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และโจทก์ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการประกันตัวไป ซึ่งข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง เพราะความจริงโจทก์ไม่ได้ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันแจ้งข้อหาและไม่มีกรณีที่โจทก์ต้องใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการประกัน

จำเลยในฐานะเป็นเจ้าของสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวย่อมรู้ดีว่าผู้ต้องหาทั้งสองกระทำความผิดร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยเอกสารจริง บังอาจวินิจฉัยสั่งคดีว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาของโจทก์ และมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองโดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะจำเลยรู้อยู่แล้วว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งในหน้าที่ราชการและฐานะส่วนตัว นอกจากนี้การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยผู้ต้องหาทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 อันมิใช่ความผิดลหุโทษเพื่อมิให้ต้องโทษ

(ข) เมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2541 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 31พฤษภาคม 2541 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้รับมอบหมายให้วินิจฉัยสั่งคดีสำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันระหว่างโจทก์ผู้กล่าวหา นายบุญชัย สงวนความดี ผู้ต้องหาข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ข้อหารู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดข้อหาทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดอาญาเกิดขึ้น ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนเพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่น (โจทก์) ต้องรับโทษ รวมทั้งความผิดทางอาญาข้อหาอื่น ๆ ด้วย

ได้ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนแล้วพบว่านายบุญชัยกระทำความผิดตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์จริง แต่จำเลยบังอาจวินิจฉัยสั่งคดีว่า นายบุญชัย สงวนความดี ผู้ต้องหาไม่มีเจตนาเพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่น (โจทก์) ต้องรับโทษแต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา174 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะที่ถูกต้องแล้ว จำเลยในฐานะพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนย่อมรู้ดีว่านายบุญชัยผู้ต้องหาได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์กระทำความผิดอาญา โดยมีเจตนาเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งในหน้าที่ราชการและในฐานะส่วนตัว ส่วนข้อหาอื่น ๆ จำเลยอ้างว่าอัตราโทษอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง

การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้การกระทำของจำเลยยังเป็นการช่วยนายบุญชัยผู้ต้องหา ซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา174 วรรคสอง อันมิใช่ความผิดลหุโทษเพื่อมิให้ต้องโทษ เหตุทั้งหมดเกิดที่สำนักงานอัยการพิเศษคดีอาญาธนบุรี 4 ถนนเอกชัย แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157, 165, 189 และ 200

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธว่า จำเลยวินิจฉัยสั่งคดีตามสำนวนการสอบสวนด้วยความสุจริตตามอำนาจหน้าที่ในฐานะพนักงานอัยการ จำเลยสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา เหตระกูล ข้อหาหมิ่นประมาทโจทก์เพราะบุคคลทั้งสองขาดเจตนาในการกระทำความผิด สั่งไม่ฟ้องนายบุญชัย สงวนความดี ข้อหาแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะนายบุญชัยมิได้มีเจตนาเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165, 189, 200 โจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา158 (5) ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุกหนึ่งปี และปรับสองพันบาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคหนึ่ง และมาตรา 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นพนักงานอัยการ ชั้น 5 ตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม ปฏิบัติงานในหน้าที่อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4 สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคดีและดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4 ส่วนโจทก์รับราชการเป็นข้าราชการตุลาการ ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2540 รถยนต์ของโจทก์ถูกรถยนต์ของนายบุญชัย สงวนความดี ชนท้าย ณ บริเวณสี่แยกอรุณอมรินทร์

โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันว่าถูกนายบุญชัยทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนควบคุมตัวนายบุญชัยไว้แล้ว ต่อมานายบุญชัยได้รับการประกันตัวไป นายบุญชัยได้แจ้งความกลับโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายตนจนได้รับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีโดยโจทก์มิได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ประกันตัวและในวันนั้นทั้งโจทก์และนายบุญชัยมิได้แจ้งความว่าอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความเท็จ

ในวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ที่ 5 กันยายน 2540 ซึ่งมีบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เป็นเจ้าของ และมีนายประชา เหตระกูล เป็นบรรณาธิการ ได้ลงข่าวกรณีโจทก์กับนายบุญชัยตามเอกสารหมาย จ. 6 โดยมีข้อพาดหัวข่าวว่า

“พิพากษาทะเลาะกับพ่อค้าผ้า”

 และมีข้อความในข่าว ดังนี้ “เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 4 ก.ย. ร.ต.ท. สุรการ ธานีรัตน์ ร้อยเวร สน. บางยี่ขัน รับแจ้งจากนายประทีป ปิติสันต์ อายุ 48 ปี ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ถูกนายบุญชัย สงวนความดี อายุ 46 ปี ทำร้ายร่างกาย โดยก่อนหน้านี้ขณะที่ขับรถเก๋งโตโยต้าสีฟ้า หมายเลขทะเบียน 1 ธ – 1280กรุงเทพมหานคร มาถึงบริเวณแยกอรุณอมรินทร์ ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย ถูกรถเบนซ์ของนายบุญชัยชนท้าย จึงลงมาดูความเสียหายจนมีการโต้เถียงกันแล้วถูกตบที่ต้นคอ จึงนำความเข้าแจ้งดังกล่าว

ในระหว่างนั้นนายบุญชัยพ่อค้าผ้าย่านพาหุรัดเดินทางมาที่ สน. ทราบว่าถูกแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายจึงแจ้งกลับโดยระบุว่า ถูกนายประทีปตบที่คอเช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอต่างยังแจ้งข้อหาแจ้งความเท็จเพิ่มกันอีกข้อหาหนึ่ง ทาง ร.ต.ท. สุรการจึงส่งทั้ง 2 คน ไปตรวจบาดแผลที่ ร.พ. ศิริราช พร้อมดำเนินคดีทั้งคู่ โดยนายประทีปใช้ตำแหน่งประกันตัวไป ส่วนนายบุญชัยใช้เงินสดจำนวน 70,000 บาท ในการประกันตัว แล้วต่างแยกย้ายกันกลับไป”

สืบเนื่องจากข่าวนี้โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันกล่าวหาบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาว่าร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้วได้ส่งความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา จำเลยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสำนวนและวินิจฉัยสั่งสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าว จำเลยพิจารณาสำนวนการสอบสวนพร้อมด้วยความเห็นของพนักงานสอบสวนแล้ว มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาตามเอกสารหมาย จ. 11 โดยอ้างเหตุผลว่า ลักษณะการลงข่าวย่อยมีการพาดหัวข้อสั้น ๆ

ส่วนเนื้อหาก็มีลักษณะเป็นการสรุปข่าวสั้น ๆ มิได้ตีพิมพ์อย่างเอิกเกริกหรือพาดหัวในหน้าหนึ่งให้ผิดปกติแต่อย่างใด และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแจ้งความดำเนินคดีระหว่างผู้เสียหาย (โจทก์) กับนายบุญชัยที่สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ก็ปรากฏว่ามีการแจ้งความซึ่งกันและกันตามข่าวจริง และในสำนวนการสอบสวนที่เกี่ยวข้องทั้งโจทก์และนายบุญชัยก็ตกเป็นผู้ต้องหาจริงเพียงแต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษามิได้ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบสวนคำให้การในฐานะผู้ต้องหาและมิได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวไปตามข่าวที่เสนอเท่านั้น ลักษณะการลงข่าวทำให้เห็นได้ว่าเป็นการลงข่าวและคาดคะเนสรุปของข่าวว่าเป็นกรณีทั่ว ๆ ไปของการตกเป็นผู้ต้องหาเท่านั้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองเรื่องใดกับโจทก์มาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะต้องแกล้งใส่ความโจทก์ในการพิมพ์โฆษณาเช่นนั้น และสรุปสำนวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองตามข้อกล่าวหาตามความเห็นของพนักงานสอบสวน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่

ในปัญหานี้จำเลยฎีกาข้อ 2.1 ข้อ 2.2 ข้อ 2.3 ข้อ 2.4 ข้อ 2.5 และข้อ 2.6 มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า

การวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด จำเลยมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา เหตระกูล เพราะพิจารณาถึงเจตนาของผู้ต้องหาทั้งสองแล้วว่าไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ การใช้ดุลพินิจของจำเลยเป็นไปด้วยความสุจริตใจ ซึ่งการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีนี้เป็นอิสระของจำเลยและอาจแตกต่างจากศาลอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดโดยอาศัยเหตุที่ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับดุลพินิจของจำเลยเป็นการมิชอบและนำมาซึ่งความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่าย ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นในเบื้องต้นว่า

ในฐานะพนักงานอัยการที่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยย่อมมีอิสระที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการตามความเห็นของตนได้โดยไม่มีการอ้างได้ว่าการใช้ดุลพินิจไปในทางใดเป็นการชอบหรือมิชอบ เพราะการใช้ดุลพินิจในกรณีเดียวกัน พนักงานอัยการอาจวินิจฉัยคดีไปคนละทางได้ ความถูกต้องเหมาะสมของดุลพินิจเป็นเรื่องของกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 145 กำหนดว่าในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไม่ฟ้องไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจเพื่อพิจารณาเป็นต้น

ในกรณีนี้แม้การวินิจฉัยของพนักงานอัยการและการวินิจฉัยของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจจะแตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องของความมีอิสระของแต่ละฝ่ายที่ไม่อาจถือได้ว่าการวินิจฉัยของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นการมิชอบ อย่างไรก็ดี ความมีอิสระของพนักงานอัยการที่จะวินิจฉัยสั่งคดีนี้มิใช่จะไร้ขอบเขตเสียทีเดียว ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า ถ้าการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการคนใดเกินล้ำออกนอกขอบเขตดังกล่าว การใช้ดุลพินิจนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่ถ้าการใช้ดุลพินิจดังกล่าวอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ภายในขอบเขตนี้ พนักงานอัยการจะวินิจฉัยสั่งคดีไปในทางใดก็ได้ ซึ่งความหมายของการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายในที่นี้คือการใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจนั่นเอง

ปัญหาว่าการวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยที่มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาว่าร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสารเป็นการใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจหรือไม่ ข้อที่ต้องวินิจฉัยคือ จากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนประกอบกับความเห็นของพนักงานสอบสวน

การที่พนักงานอัยการคนหนึ่งคนใดจะวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องในกรณีนี้ ข้อวินิจฉัยของพนักงานอัยการดังกล่าววิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้หรือไม่ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจ อนึ่ง เนื่องจากการวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการในชั้นนี้มิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเช่นกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่เป็นเพียงการวินิจฉัยมูลความผิดตามที่กล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการที่วินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาคือมีเหตุผลอันสมควรเพียงพอหรือไม่ที่จะนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

สำหรับกรณีการวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาผู้ต้องหาทั้งสองของจำเลยกรณีนี้ได้ความว่า ข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตามเอกสารหมาย จ. 6 มีข้อความอันเป็นเท็จอยู่สองประการ คือ ประการแรก มีข้อความว่า ทั้งโจทก์และนายบุญชัยต่างแจ้งความหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความเท็จ และประการที่สองมีข้อความว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ด้วย โดยโจทก์ต้องใช้ตำแหน่งราชการประกันตัวไป ซึ่งข้อความสองประการดังกล่าวนี้ไม่ตรงความจริง เพราะในวันเกิดเหตุทั้งโจทก์และนายบุญชัยยังไม่ได้แจ้งความหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความเท็จ และโจทก์ยังไม่ถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนต้องใช้ตำแหน่งราชการประกันตัว

การลงข่าวในหนังสือพิมพ์อันเป็นเท็จดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าแจ้ง ไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เนื่องจากมีการบิดเบือนข่าว อีกทั้งเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยปราศจากข้ออ้างเรื่องผลประโยชน์สาธารณะใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์เป็นข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 การลงข่าวเท็จในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตามเอกสารหมาย จ. 6 ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าโจทก์มิได้ครองตัวให้สมกับสถานะอันเป็นที่เคารพยำเกรงของตำแหน่งผู้พิพากษาที่โจทก์ดำรงอยู่โดยปล่อยตัวเองถึงขนาดไปทะเลาะกับพ่อค้ากลางถนนจนถูกดำเนินคดีอาญา

จากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนโดยเฉพาะข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เอกสารหมาย จ. 6 วิญญูชนโดยทั่วไปย่อมเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะนำบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชามีความจริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่มีความผิดเนื่องจากขาดเจตนาหรือมีข้ออ้างอย่างอื่น

การที่จำเลยวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการวินิจฉัยมูลความผิดแบบด่วนวินิจฉัยคดีเสียเองดุจเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล กล่าวคือ มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างพนักงานอัยการพึงใช้ การใช้ดุลพินิจของจำเลยกรณีนี้นับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการผู้สุจริตโดยทั่วไป จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่วิญญูชนโดยทั่วไปไม่สามารถยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ แม้การวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด แต่เมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจเช่นนี้แล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยสุจริตใจดังที่จำเลยอ้าง

โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่า การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยที่มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา ทั้งที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เป็นเจ้าของและนายประชาเป็นบรรณาธิการ ลงข้อความตามเอกสารหมาย จ. 6 เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในกรณีนี้ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและยังเห็นได้อีกว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชามิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาจำเลยข้อ 2.1 ข้อ 2.2 ข้อ 2.3 ข้อ 2.4 ข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาในข้อ 2.7 และข้อ 2.8 มีใจความว่า โจทก์มิใช่เป็นผู้เสียหายจากการวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาของจำเลย เพราะถึงแม้จำเลยจะสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าว โจทก์ก็ยังฟ้องคดีเองได้ อีกทั้งการสั่งไม่ฟ้องคดีของจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใด อนึ่ง จำเลยยังอ้างอีกว่า ความผิดกรณีนี้เฉพาะรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดคือการใช้อำนาจในฐานะพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ผลของการกระทำของจำเลยคือ โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย ฎีกาของจำเลยข้อ 2.7 และข้อ 2.8 ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาในข้อ 2.9 ว่า ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดโดยโจทก์มิได้บรรยายคำฟ้องในส่วนที่ว่าการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของจำเลยกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยข้อความในคำฟ้องที่ว่า “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” นั้น เป็นส่วนที่อ้างถึงการหมิ่นประมาทโจทก์ของบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา มิใช่เป็นส่วนที่อ้างถึงการใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาของจำเลย ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า

ตามฟ้องข้อ 1 (ก) แม้ข้อความว่า “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” จะอยู่ต่อจากและติดความข้อความว่า “…ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์” กล่าวคือ เมื่ออ่านรวมกันมีข้อความว่า “…ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” แต่การทำเข้าใจข้อความในคำฟ้อง ต้องทำความเข้าใจข้อความดังกล่าวประกอบข้อความส่วนอื่นๆ ของคำฟ้องด้วย ซึ่งเห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความสืบเนื่องจากการสั่งไม่ฟ้องคดีของจำเลยดังที่โจทก์บรรยายไว้อย่างชัดเจนในตอนต้น จึงเข้าใจได้อยู่ในตัวว่า ในการอ้างว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์หมายถึงเจตนาที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจสั่งฟ้องคดีของจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อ 2.9 ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษายืน ( วิชัย วิวิตเสวี – หัสดี ไกรทองสุก – เกรียงชัย จึงจตุรพิธ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น