ตัดสินจารุวรรณ ย้ายขรก.สตง.มิชอบ

11/5/53
ด้วยกฎหมาย โดยผู้ฟ้องระบุ สตง. มีมติให้ไปดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 แต่กลับถูกเด้ง จากเมืองกรุง ไปเป็นนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 จ.อยุธยา


เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ
นายชูพงศ์ เศวตจินดา ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะ

ได้ออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 88/2552 ซึ่ง

น.ส.สุมิตรา เนตรสว่าง
อดีตเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ยื่นฟ้อง

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และ
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.

ในข้อหา

หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ ของรัฐออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในการมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2549 ย้ายผู้ฟ้องคดีไปดำรงตำแหน่ง นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 สังกัดกลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 (จ.พระนครศรีอยุธยา)

โดยไม่มีอำนาจ
มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และ
ไม่เป็นไปตามความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ทั้งที่ตำแหน่งว่างใน สตง.ส่วนกลางยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า
ในการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2548 ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้โครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในและจัดอัตรากำลังของ สตง.ใหม่

โดยเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีจัดคนลงตำแหน่ง ด้วยการ พิจารณาองค์ประกอบ คือ

1.ความรู้หรือคุณวุฒิที่สำเร็จ
2.ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในงานที่ปฏิบัติ
3.ความประพฤติ 4.ประวัติการรับราชการ 5.ผลสำเร็จของงานที่รับผิดชอบในตำแหน่งและต่อนโยบายของ สตง. 6.จากการประเมินผลงาน และ7.ความอาวุโส โดยในการพิจารณาแต่ละองค์ประกอบดังกล่าว ให้เน้นที่ผลสำเร็จของงานเป็น อันดับแรก ส่วนวิธีการจัดคนลงตามโครงสร้างใหม่นั้น ให้ผู้ว่าการ สตง.แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา 4 คณะ ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านสนับสนุนการตรวจสอบ ด้านการตรวจสอบภายในส่วนกลาง และด้านการตรวจสอบในส่วนภูมิภาค



เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คณะกรรมการตามคำสั่ง สตง.ที่ 17/2549 ซึ่งมีนายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าฯ สตง.รักษาราชการแทนผู้ว่าการ สตง. เป็นประธานได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้ น.ส.สุมิตราเข้าดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดคนลงตามโครงสร้างใหม่ ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบ ผู้ว่าการ สตง. โดยคุณหญิงจารุวรรณ ก็ควรพิจารณาแต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา เข้าดำรงตำแหน่งตามที่คณะกรรมการดังกล่าวเสนอ แต่หากผู้ว่าฯ สตง. เห็นว่า ไม่เหมาะสม ควรแต่งตั้ง น.ส.สุมิตราให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น ก็จะต้องมีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่หักล้างความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวได้



ในกรณีนี้ ผู้ว่าการ สตง. โดยคุณหญิงจารุวรรณ ได้มีคำสั่ง สตง.ที่ 40/2549 ลงวันที่ 10 มี.ค.2549 แต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา ให้ไปดำรงตำแหน่งนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 สังกัดกลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 (จ.พระนครศรีอยุธยา) ตามโครงสร้างแบ่งส่วนราชการใหม่ โดยอ้างว่า น.ส.สุมิตรา ไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน เนื่องจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่องานการตรวจสอบภายในอย่างใด



โดยอ้างอิงผลการปฏิบัติงานของ น.ส.สุมิตรา ซึ่งศาลได้ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารรายงานฉบับดังกล่าว มิได้มีข้อโต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่า น.ส.สุมิตรา มีข้อบกพร่องหรือไม่เป็นประโยชน์ต่องานตรวจสอบภายในเรื่องใด ประกอบกับผลการปฏิบัติงานดังกล่าวตามเอกสารที่ ผู้ว่าการ สตง. โดยคุณหญิงจารุวรรณ อ้างถึงนั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่คุณหญิงจารุวรรณ ไม่ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่ง ผู้ว่าการ สตง.ในระหว่างวันที่ 8 ก.ค. 2547 ถึง 7 ก.พ. 2549 รวมระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน ข้ออ้างดังกล่าวของผู้ว่าการ สตง.จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะหักล้างความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งตามคำสั่งที่ 17/2549 ที่เห็นควรจัดและแต่งตั้ง น.ส.สุมิตราได้ดำรงตำแหน่งเดิม



ดังนั้น การที่ผู้ว่าการ สตง. โดยคุณหญิงจารุวรรณ ได้พิจารณาแต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน ไปดำรงตำแหน่งนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 สังกัดกลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 (จ.พระนครศรีอยุธยา) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย



พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง สตง.ที่ 40/2549 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2549 เฉพาะส่วนที่แต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา ให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 สังกัดกลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 (จ.พระนครศรีอยุธยา) และให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของ น.ส.สุมิตราได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ที่ส่วนกลาง (กทม.) ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2549 จนเกษียณอายุราชการ ส่วนคำขออื่นให้ยก



อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
Read more ...

ร่างกายพิการกับการสมัครสอบเป็นอัยการ

7/5/53
เราคงเห็นบุคคลที่มีร่างกายพิการแต่มีความเพียร ไม่ย่อท่อยอมแพ้ในชีวิต ในการดำรงตนที่จะมีอาชีพอยู่ในสังคมและโลกใบนี้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป

บทความนี้จะเขียนถึงผู้มีร่างกายพิการเป็นนักกฎหมายประกอบอาชีพทนายความ แต่ร่างกายพิการเพราะเป็นโปลิโอไปสมัครสอบคัดเลือกเป็นอัยการผู้ช่วยประจำปี พ.ศ.2544 แต่ถูกปฏิเสธ

เรื่องนี้ได้มีการว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลรัฐธรรมนูญ โดยทนายความผู้นี้ได้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 มาตรา 33 (11) ที่ไม่รับสมัครคนพิการเป็นอัยการอ้างว่า “ กายไม่เหมาะสม ” นั้น กฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญเลือกปฏิบัติ โดยรัฐธรรมนูญจะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเสมอภาคกัน ยึดมั่นในเสรีภาพในการประกอบอาชีพและให้รัฐช่วยเหลือผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่ 44/2545 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2545 ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเสียงข้างมากคือ 12 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่า

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 มาตรา 33 (11) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ผลคือทนายความผู้มีกายพิการด้วยโปลิโอ ไม่สามารถที่จะทำการสมัครเป็นอัยการได เพราะกายไม่เหมาะสมดังที่ตนตั้งใจไว้

แต่ทนายความผู้นี้ หาได้ลดความพยายามไม่ ในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมายและผลเกิดขึ้นกับตน จึงนำเรื่องดังกล่าวที่คณะกรรมการอัยการมีมติไม่รับสมัครเข้าเป็นอัยการ ไปฟ้องยังศาลปกครองชั้นต้น เพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนมติของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ) ต่อไป

ศาลปกครองชั้นต้นว่าผู้ฟ้องมีรูปกายพิการ เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเทียบกับบุคคลปกติทั่วไป จึงยกฟ้อง

ต่อมาผู้ฟ้องได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ให้เพิกถอนมติคณะกรรมการอัยการที่สั่งไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดี จึงมีผลให้ทนายความผู้พิการมีสิทธิสอบได้ โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า

แม้ผู้ฟ้องจะมีรูปกายพิการ แต่ความพิการไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ฟ้องไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่การงานโดยปกติ ได้ ซึ่งงานที่ผู้ฟ้องเคยทำในขณะเป็นทนายความมาแล้วมีลักษณะทำนองเดียวกับงานของข้าราชการอัยการดังกล่าว

จึงน่าเชื่อว่าความแตกต่างทางร่างกายของผู้ฟ้องจะไม่เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ของงานอัยการ จึงไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นควรค่าแก่การรับฟัง

ซึ่ง

-เป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยโดยไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ
-เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี
-เป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยโดยไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ และ
-เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี

ตามมาตรา 30 ของ รธน.

ผลจึงทำให้ทนายความผู้นี้สามารถสมัครสอบแข่งขันที่จะเป็นพนักงานอัยการได้

จากแนววินิจฉัยสะท้อนให้เห็นได้ว่า ร่างกายจะพิการแต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เพราะค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร มีอิทธิบาท 4 ย่อมประสพผลสำเร็จ แต่ถ้าผู้มีการพิการไปสมัครรับราชการเป็นตำรวจ กรณีนี้ กายพิการก็อาจเป็นอุปสรรคได้ตามกฎหมาย

เพราะตำรวจต้องใช้ร่างกายที่แข็งแรงปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2538 มาตรา 30 (5)

ที่ว่า

ผู้ที่จะเข้ารับราชการต้องไม่เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัตหน้าที่ได้
แต่การเป็นอัยการเพียงใช้สติปัญญาความคิดเป็นสำคัญ
ซึ่งเขาปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างที่เคยเป็นทนายความมาแล้ว

การตีความหรือเข้าถึงเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ผู้พิการมีความสามารถจะไม่ให้เขาเข้าแสดงความสามารถ ไม่ให้โอกาสเพียงมีกฎระเบียบไว้ปิดกั้น เขาจะอยู่ในสังคมได้อย่างไร มีสิทธิเพียงหายใจอย่างเดียวหรือ คนพิการไม่มีสิทธิประกอบอาชีพอันทรงเกียรติหรืออย่างไร แต่บางคนมีกายครบสามสิบสองแต่ทำตนไม่สมที่มีเกียรติ ซึ่งมีข่าวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอาย

โดยเฉพาะประเทศไทยได้มีกติกาสัญญาเป็นภาคี และประกาศของสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องสิทธิต่าง ๆ ของผู้พิการทุพพลภาพบัญญัติว่า “ บุคคลพิการทุพพลภาพมีสิทธิที่จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และที่จะมีระดับการครองชีวิตที่ดีบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิที่จะได้ทำงานและคงสภาพการมีงานทำ หรือที่จะเข้าร่วมปฏิบัติอาชีพที่มีประโยชน์มีผลิตผลและมีรายได้และที่จะร่วมกับสหภาพแรงงานทั้งนี้ ตามความสามารถของตน

ดังนั้น การอยู่รวมกันในสังคมในโลกใบนี้ จะต้องมองในภาพกว้างไม่ยึดติดต่อบทกฎหมายตามตัวอักษร ต้องถือมั่นในบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ที่เป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่เป็นจิตวิญญาณอยู่เบื้องหลังที่ปรากฎเป็นตัวอักษร ดังคำที่ว่าความยุติธรรมคือการไม่เลือกปฏิบัติ (Justice is not discrimination )
Read more ...