การคัดเลือกผู้พิพากษาในประเทศไทย

29/4/53
การคัดเลือกผู้พิพากษาในประเทศไทยมีการคัดเลือก 3 วิธี คือ

1. การสอบคัดเลือก (สนามใหญ่)
2. การทดสอบความรู้ในวิชากฎหมาย (สนามเล็ก)
3. การคัดเลือกพิเศษ

1. การสอบคัดเลือก (สนามใหญ่)

จะมีการเปิดสอบ โดยสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจะเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่แจกใบสมัคร ส่งไปตรวจร่างกายและจิตใจ ตรวจสอบคุณสมบัติ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ดำเนินการสอบ ประกาศผลสอบ และบรรจุเข้ารับราชการ

คุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือก ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้

1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

2. ผู้สมัครสอบคัดเลือกหรือผู้สมัครทดสอบความรู้ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี บริบูรณ์ ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

3. เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ

4. เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา

5. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

6. ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

7. ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามพระราชบัญญัติหรือตามกฎหมายอื่น

8. ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจหรือ หน่วยงานอื่นของรัฐ

9. ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

10. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบ ก.ต. และ

11. เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจโดยคณะกรรมการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.ต. กำหนด และ ก.ต. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์แล้วเห็นสมควรรับสมัครได้

หลักฐานในการสมัครสอบ

ภาพถ่ายปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต (แสดงต้นฉบับด้วย)

ภาพถ่ายประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายฯ (แสดงต้นฉบับด้วย)

สำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวประชาชน (ถ่ายเอกสารทั้งสองหน้าในแผ่นเดียวกัน) (แสดงต้นฉบับด้วย)

หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย (กรณีเป็นทนายความ ให้นำหนังสือรับรองการเป็นทนายความจากสภาทนายความมายื่นด้วย)

ใบรับรองสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา (ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน)

รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 4 รูป (เขียนชื่อ - สกุลด้านหลัง)

เงินค่าธรรมเนียมการสอบ 100 บาท

เงินค่าตรวจร่างกาย 600 บาท (จ่ายวันไปตรวจร่างกาย)

กรณีเคยสมัครแล้วและมีสิทธิสอบใช้หลักฐานเฉพาะใบสมัครและข้อ 5,6,7 และ 8

การสอบคัดเลือก มีการสอบข้อเขียน 3 วัน

วันที่หนึ่ง สอบวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา จำนวน 10 ข้อ เวลา 4 ชม. คะแนนเต็ม 100 คะแนน

วันที่สอง สอบวิชากฎหมายลักษณะพยาน จำนวน 3 ข้อ วิชากฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวง จำนวน 1 ข้อ และให้เลือกสอบในลักษณะวิชากฎหมายล้มละลาย กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายปกครอง กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศวิชาใดวิชาหนึ่ง จำนวน 2 ข้อ รวมจำนวนข้อสอบทั้งหมด 6 ข้อ เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง คะแนนเต็ม 60 คะแนน และวิชาภาษาอังกฤษ เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง คะแนนเต็ม 10 คะแนน สำหรับลักษณะวิชาที่ให้เลือกสอบ ผู้สมัครต้องแสดงความจำนงว่าจะสอบลักษณะวิชาใดในวันสมัครสอบ

วันที่สาม สอบวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 10 ข้อ เวลา 4 ชั่วโมง คะแนนเต็ม 100 คะแนน

การสอบปากเปล่า เนื้อหาครอบคลุมลักษณะวิชาที่สอบข้อเขียน ตามแต่คณะอนุกรรมการสอบฯ จะเห็นสมควรกำหนดเวลาประมาณคนละ 15 นาที คะแนนเต็ม 100 คะแนน

เกณฑ์ที่จะได้บรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ

ผู้สมัครต้องได้คะแนนสอข้อเขียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนสอบข้อเขียนทั้งหมด จึงมีสิทธิเข้าสอบปากเปล่า และต้องได้คะแนนสอบข้อเขียนกับสอบปากเปล่ารวมกันไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 ของคะแนนทั้งสองอย่างรวมกัน

2. การทดสอบความรู้ในวิชากฎหมาย (สนามเล็ก)

มีสิทธิยื่นใบสมัครได้ตลอดเวลา เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วน โดยสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่แจกใบสมัคร ส่งไปตรวจร่างกาย ตรวจสอบคุณสมบัติ ดำเนินการสอบและประการผลสอบ

คุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือก

สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปีหรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือสอบไล่ได้ปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง

สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมี หลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปี หรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

สอบไล่ได้ปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรองและได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีเป็นนิติศาสตรบัณฑิตชั้นเกียรตินิยมและได้ประกอบวิชาชีพเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

เป็นนิติศาสตรบัณฑิตและเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมที่ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในตำแหน่งตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกปี และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรับรองว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถดีและมีความประพฤติดีเป็นที่ไว้วางใจว่า จะปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการได้

สอบไล่ได้ปริญญาโทหรือปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ ก.ต. กำหนด และเป็นนิติศาสตรบัณฑิต และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) หรือได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี หรือ

สอบไล่ได้ปริญญาตรีหรือที่ ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาวิชาที่ ก.ต. กำหนด และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นและเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต

การทดสอบความรู้ในวิชากฎหมาย

มีการสอบข้อเขียนในวิชาต่างๆ คือ วิชากฎหมายอาญา จำนวน 2 ข้อ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำนวน 2 ข้อ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 2 ข้อ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำนวน 2 ข้อ กฎหมายลักษณะพยาน จำนวน 1 ข้อ และให้เลือกสอบในลักษณะวิชาพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม กฎหมายปกครอง กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 1 ข้อ

รวมจำนวนข้อสอบทั้งหมด 10 ข้อ เวลา 4 ชั่วโมง คะแนนเต็ม 100 คะแนน

สำหรับลักษณะวิชาที่ให้เลือกสอบผู้สมัครต้องแสดงความจำนงว่าจะสอบลักษณะวิชากฎหมายใดในวันสมัครสอบ

การสอบปากเปล่า กำหนดเวลาประมาณคนละ 15 นาที คะแนนเต็ม 40 คะแนน

เกณฑ์ที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ

ผู้สมัครต้องสอบได้คะแนนสอบข้อเขียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนสอบ ข้อเขียนทั้งหมดจึงมีสิทธิเข้าสอบปากเปล่า และต้องได้คะแนนสอบข้อเขียนกับสอบปากเปล่ารวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของคะแนนทั้งสองอย่างรวมกัน

ปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง

มหาวิทยาลัยของรัฐ

1. นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (น.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (น.ม.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (น.ม.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

มหาวิทยาลัยของเอกชน

1. นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (น.ม.) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


3. การคัดเลือกพิเศษ

คุณสมบัติของผู้สมัคร
1. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) เป็นหรือเคยเป็นศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ

(ข) เป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

(ค) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัยหรือข้าราชการประเภทอื่นในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไป

(ง) เป็นหรือเคยเป็นทนายความมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี

2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

3. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ดีเด่นในสาขาวิชากฎหมายตามที่ ก.ต. กำหนด และ

4. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีบุคลิกภาพ มีความประพฤติ และทัศนคติที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ


การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นอัยการผู้ช่วย (สนามใหญ่)

วิชาที่สอบข้อเขียน

วันที่หนึ่ง (ข้อสอบรวม 10 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

-กฎหมายอาญา 6 ข้อ

-กฎหมายแพ่งและพาณิชย 4 ข้อ

วันที่สอง (ข้อสอบรวม 10 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

-กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 6 ข้อ

-กฎหมายวิธีพิจารณาความแพง 4 ข้อ

วันที่สาม (ข้อสอบ 8 ข้อ คะแนนเต็ม 80 คะแนน)

-กฎหมายลักษณะพยาน 1 ข้อ -พระธรรมนูญศาลยุติธรรม 1 ข้อ -กฎหมายลักษณะล้มละลาย 1 ข้อ -กฎหมายรัฐธรรมนูญ 1 ข้อ -กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงฯ หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนฯ 1 ข้อ -กฎหมายปกครอง 1 ข้อ -กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาฯ หรือกฎหมายการค้าระหว่าง ประเทศ 1 ข้อ -กฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการ 1 ข้อ -วิชาภาษาอังกฤษ (จำนวนข้อ แล้วแต่คณะกรรมการฯ จะเห็นสมควร) (คะแนนเต็ม 20 คะแนน)
Read more ...

ศาลปกครองสั่งรับมานิต วงศ์สมบูรณ์ กลับเข้ารับราชการ คดีทำร้าย พธม.ไล่"แม้ว"

26/4/53
วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552 เวลา 17:24:22 น. มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้รับ

พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1

กลับเข้ารับราชการเหมือนเดิม พร้อมทั้งคืนสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายให้ด้วยภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ภายหลังจากที่ถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากพัวพันในคดีทำร้ายร่างกายแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ดพลาซ่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549

สำหรับคดีนี้ พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1และ 2 ตามลำดับ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 647/2550 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ที่ลงโทษให้ปลดออกจากราชการ และคำสั่งของ ก.ตร.ที่ให้ยกอุทธรณ์คำสั่งปลดออกจากราชการดังกล่าว

คดีนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อ พล.ต.ต.มานิต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (ยศ "พ.ต.อ.") เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติการณ์แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เพราะปล่อยให้มีการทำร้ายร่างกายประชาชนโดยมิได้เข้าขัดขวาง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ กลับไม่ถูกดำเนินคดี

จากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) เพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยตามความผิดดังกล่าว ต่อมา ผบ.ตร.ได้นำเรื่องการลงโทษทางวินัยเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการพิจารณาสั่งลงโทษ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ปลด พล.ต.ต.มานิต ออกจากราชการ แต่ทาง พล.ต.ต.มานิต ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อ ก.ตร. และต่อมา ก.ตร.ได้มีมติยกอุทธรณ์คำร้อง

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาพฤติการณ์แล้วเห็นว่า การกระทำของพล.ต.ต.มานิต ไม่ได้เป็นการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เพราะจากภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นว่า พล.ต.ต.มานิตได้เข้าไปแยก นายวิชัย เอื้อสิยาพันธุ์ ชายผู้ขับไล่อดีตนายกฯ พร้อมกับพูดว่า "อย่า อย่า" อันมีลักษณะเข้าไปช่วยแยกตัวออกจากกลุ่มนายจรัญ จงอ่อน ซึ่งเป็นชายที่สนับสนุนอดีตนายกฯ มากกว่าที่จะเข้าไปจับกุม

นอกจากนี้ ในขณะที่นายวิชัยถูกกลุ่มผู้สนับสนุนนายกฯ ห้อมล้อมพร้อมกับตะโกนด่าทอตลอดทาง พล.ต.ต.มานิตก็ได้พูดระงับเหตุว่า "หยุด หยุด" แล้วพาตัวนายวิชัย ออกจากการถูกห้อมล้อม เพื่อนำตัวขึ้นรถไปยังสน.ปทุมวัน พร้อมกับแจ้งแก่สื่อมวลชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุว่า จำเป็นต้องแยกออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ตีกัน

อีกทั้งนายวิชัยเองได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ขณะที่ถูกห้อมล้อมอยู่นั้น มีตำรวจชื่อ พ.ต.อ.มานิต ได้เข้ามาช่วยเหลือ และนำตัวส่งสน.ปทุมวัน โดยมิได้แจ้งข้อกล่าวหาหรือจับกุมแต่อย่างใด อีกทั้งระหว่างที่ถูกนำตัวมาสน.ปทุมวันก็ไม่มีการใส่กุญแจมือหรือใช้เครื่องพันธนาการใดๆ

ศาลยังเห็นว่า ภาพเคลื่อนไหวในช่วงชุลมุน เป็นภาพจากด้านหลังของผู้ฟ้องคดีและเป็นภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ เฉพาะจุดไม่ได้เป็นภาพรวมทั้งหมด ประกอบกับพยานบุคคลคือนางกชชมณฑ์ อรชุนวงศ์ ซึ่งให้การว่าเห็นพล.ต.ต.มานิต ผลักนายวิชัย ไปให้กลุ่มนายจรัญทำร้ายนั้นก็เป็นกล้องจากโทรศัพท์มือถือ แต่มิได้เป็นการเห็นด้วยตาตัวเอง จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาผลักนายวิชัย

ส่วนกรณีที่ พล.ต.ต.มานิต มิได้จับกุมกลุ่มของนายจรัญกับพวกในทันทีนั้น

ศาลเห็นว่าในกรณีการเข้าจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุชุลมุนของประชาชนที่มีความเห็นไม่ตรงกันนั้น การเข้าจับกุมกลุ่มประชาชนทั้งสองฝ่ายด้วยตัวคนเดียวในทันทีย่อมจะทำไม่ได้ จึงได้ตัดสินใจระงับเหตุด้วยการกันตัวต้นเหตุออกมา การที่พล.ต.ต.มานิต ได้พยายามกันตัวนายวิชัย โดยไม่ได้จับกุมนายจรัญกับพวกในทันทีนั้นจึงมีเหตุผลเพียงพอรับฟังได้ กอปรกับต่อมาได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายมงคล บุญเต็ม ซึ่งยอมรับว่าเป็นพวกที่สนับสนุนอดีตนายกฯ รวมทั้งบุคคลอื่นอีกด้วย จึงเป็นกากระทำที่สมควรแก่สถานการณ์ในขณะนั้น และยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์เลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมาย และใช้ดุลพินิจโดยมิชอบตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

ดังนั้น คำสั่งให้ปลอดออกจากราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมติยกอุทธรณ์ของ ก.ตร.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงมีคำสั่งให้รับ พล.ต.ต.มานิต กลับเข้ารับราชการ รวมทั้งคืนสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
Read more ...

ข้อ 1 อาญา 2552(สนามใหญ่)

20/4/53
นายลีกับนางมาอยู่กินฉันสามีภริยา ระหว่างอยู่กินนายลีกับนางมา ร่วมกันปลูกบ้านบนที่ดินของมารดานางมา ซึ่งอนุญาตให้ปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัย และร่วมกันซื้อที่นอนไว้ในห้องนอน

หลังจากอยู่กินได้ประมาณ 1 ปี ก็ตกลงเลิกร้างกัน

นายลีย้ายไปอาศัยอยู่ที่บ้านของมารดานายลีที่จังหวัดอื่น และไม่เคยกลับไปที่บ้านหลังดังกล่าวอีกเลย

ส่วนนางมาคงอยู่อาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวตลอดมา ในชวงนั้นนางมามีอาชีพค้าขาย เมื่อมีกำไรได้นำเงินไปซื้อกระเป๋าถือมาใช้

เวลาผ่านไปได้ 2 ปี นายลีรู้ความจริงว่า นางมาเลิกร้างกับนายลี เพราะมีชายอื่น

ด้วยความโมโห นายลีจึงตั้งใจจะไปวางเพลิงเผาที่นอนในห้องนอนบ้านหลังดังกล่าว เมื่อนายลีรู้ว่านางมาไม่อยู่บ้านในเวลากลางวัน นายลีจึงเข้าไปในห้องนอนบ้านหลังดังกล่าว แล้วราดน้ำมันเบนซินบนที่นอนและจุดไฟเผาที่นอน ซึ่งนายลีก็เห็นกระเป๋าถือวางอยู่บนที่นอน แต่เนื่องจากทำด้วยใยมะพร้าว ไฟจึงลุกไหม้มาก แล้วลามไปติดผนังบ้าน จนไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลัง

ให้วินิจฉัยว่า การกระทำของนายลี เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่
Read more ...

ธงคำตอบผู้ช่วยผู้พิพากษา สนามใหญ่ พ.ศ. 2550 วิแพ่ง วิอาญา

20/4/53
ธงคำตอบ การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา

วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550  วิชา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เวลาสอบ 4 ชั่วโมง (เวลา 14.00 น. – 18.00 น.)

ธงคำตอบข้อ 1

(ก) เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนายโท และจำหน่ายคดีเฉพาะนายโทออกจากสารบบความแล้ว นายโทจึงเป็นบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดตาม วิ.แพ่ง ม.57 วรรคหนึ่ง และการที่นายโทยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวจำเลยที่ 1 เพราะนายโทเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างไม่จำกัดจำนวน อันถือได้ว่านายโทมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น จึงเป็นการร้องสอดตาม ม.57(2) นายโทย่อมต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ม.58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว นายโทย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การเพราะเป็นการใช้สิทธิอย่างอื่นนอกเหนือจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งนายโทเข้าเป็นจำเลยร่วม

คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายโทเข้าเป็นจำเลยร่วมชอบแล้ว แต่คำสั่งศาลชั้นต้นที่รับคำให้การของนายโทไม่ชอบ (996/2549)

(ข) นายเอกทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารกับห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวที่จังหวัดชัยนาท เพื่อก่อสร้างสำนักงานสาขาในจังหวัดเดียวกัน การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวผู้ว่าจ้างได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าก่อสร้างดังกล่าว มูลหนี้ตามเช็คจึงมีที่มาจากหนี้ค่าก่อสร้างที่ได้ทำสัญญาระหว่างกันที่จังหวัดชัยนาท ศาลจังหวัดชัยนาทจึงเป็นศาลที่มูลคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวให้แก่นายเอกเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4(1) นายเอกจึงมีสิทธิฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวต่อศาลจังหวัดชัยนาท (1864/2548)

ส่วนนายโทเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างฯ โดยไม่จำกัดจำนวน มูลความแห่งคดีจึงเกี่ยวข้องกัน นายเอกจึงฟ้องนายโทร่วมกันเป็นจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวต่อศาลจังหวัดชัยนาทได้ตาม ม.5

นายเอกจึงฟ้องห้างฯ และนายโทให้ร่วมกันชำระเงินตามเช็คดังกล่าวต่อศาลจังหวัดชัยนาทได้


ธงคำตอบข้อ 2

การที่นายกล้าเป็นโจทก์ฟ้องนายโดดเป็นจำเลยที่ 1 และนายจอมเป็นจำเลยที่ 2 คดีหลัง ในขณะที่คดีก่อนซึ่งนายเก่งเป็นโจทก์ฟ้องนายโดดเป็นจำเลยอยู่ระหว่างการพิจารณา คดีก่อนที่นายเก่งเป็นโจทก์ฟ้องจึงยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดจะมีผลให้คดีหลังที่นายกล้าเป็นโจทก์ฟ้องเป็นฟ้องซ้ำได้ ทั้งนายจอมก็มิได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของนายกล้าคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม วิ.แพ่ง ม.148

การที่นายเก่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโดดเป็นจำเลยกรณีกระทำละเมิดเป็นเหตุให้นางแก้วตามารดานายเก่งและนายกล้าถึงแก่ความตาย ขอให้ชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพนั้น ในส่วนของค่าปลงศพถือว่านายเก่งฟ้องเพื่อประโยชน์ของทายาทนางแก้วตาผู้ตายทุกคนรวมทั้งนายกล้าด้วย ฉะนั้น คดีหลังที่นายกล้าฟ้องนายโดดเป็นจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้นางแก้วตามารดาถึงแก่ความตายและขอให้ชดใช้ค่าปลงศพด้วย จึงเป็นคำฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีก่อนที่นายเก่งฟ้องนายโดดเป็นจำเลยและอยู่ในระหว่างการพิจารณา ฟ้องของนายกล้าส่วนนี้จึงเป็นการฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม วิ.แพ่ง ม.173 วรรคสอง (1) ทั้งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนให้นายโดดใช้ค่าปลงศพแล้ว ฟ้องของนายกล้าเกี่ยวกับนายโดดที่ขอให้ใช้ค่าปลงศพในคดีหลังยังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ม.144 แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่ได้รับความเสียหาย ไม่ถือว่านายเก่งฟ้องเพื่อประโยชน์ของทายาทคนอื่น ๆ ฟ้องของนายกล้าเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากนายโดดในคดีหลังจึงไม่ใช่เรื่องเดียวกันหรือประเด็นเดียวกันกับคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ส่วนฟ้องของนายกล้าเกี่ยวกับนายจอมซึ่เป็นจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับนายโดดในฐานะนายจ้างนั้น เมื่อนายจอมไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อนที่นายเก่งฟ้องนายโดด ฟ้องของนายกล้าเกี่ยวกับนายจอมจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (6641/2548)

ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายโดดที่ว่าฟ้องของนายกล้าจึงรับฟังได้แต่เพียงในส่วนค่าปลงศพที่นายกล้าฟ้องนายโดดในคดีหลังเป็นฟ้องซ้อนและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ส่วนข้อต่อสู้ของนายจอมที่ว่าฟ้องของนายกล้าในคดีหลังเป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำรับฟังไม่ได้


ธงคำตอบข้อ 3

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่ตาม วิ.แพ่ง ม.203 เมื่อคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าว คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงไม่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอีกต่อไป ที่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของศาลชั้นต้นนั้นเป็นคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ทำให้คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์อยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์มีสิทธิยื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกันเป็นคดีใหม่หลังจากศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีแล้วได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืน ม.173 วรรคสอง (1) ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังไม่เป็นฟ้องซ้อน (3291/2537)

จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นโจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง เมื่อคดีเดิมในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งโจทก์ในคดีหลังในเรื่องเดียวกันอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีเดิม ต้องห้ามตาม วิ.แพ่ง ม.173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ถอนอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งในคดีเดิมแล้วก็หาทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ในคดีหลัง ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในขณะยื่นฟ้องมาแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่ (337/2538)

จำเลยที่ 1 เคยฟ้องแย้งโจทก์ในเรื่องเดียวกัน แม้จำเลยที่ 1 จะได้ถอนฟ้องแย้งไปแล้ว แต่การที่จำเลยที่ 1 ถอนฟ้องแย้งโดยแถลงต่อศาลในคดีเดิมว่าจะไม่นำคดีมาฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการซื้อขายข้าวสารที่พิพาทอีก เป็นกระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 1 ในคดีนั้นได้ทำต่อศาลและต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คำแถลงของจำเลยที่ 1 เป็นการสละสิทธิที่มีอยู่ตาม วิ.แพ่ง ม.176 ซึ่งให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ผู้ถอนฟ้องแย้งที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่อีกจึงผูกมัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจฟ้องแย้งโจทก์ในคดีหลังได้อีก (2002/2511)

ธงคำตอบข้อ 4

(ก) กรณีของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การตาม วิ.แพ่ง ม.197 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิขออนุญาตยื่นคำให้การได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้โจทก์มายื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง ก่อน (4340-4341/2545 ประชุมใหญ่) และเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยจงใจตาม ม.199 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จะยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ม.199 ตรี (2) ประกอบ ม.199 วรรคสาม

ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ ถ้าจำเลยที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาย่อมมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตาม วิ.แพ่ง ม.199 ตรี ดังนั้น แม้โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เต็มตามฟ้อง แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

(ข) ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดตาม วิ.แพ่ง ม.199 เบญจ วรรคสี่ แต่การที่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดนั้น จะต้องเป็นการวินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีในชั้นขอพิจารณาคดีใหม่ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่วางเงินค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีในชั้นขอพิจารณาคดีใหม่ กรณีไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิฎีกาต่อไปได้ (คำสั่งคำร้อง 3779/2546)


ธงคำตอบข้อ 5

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม วิ.แพ่ง ม.24 การที่โจทก์อุทธรณ์และมีคำขอท้ายอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปและมีคำพิพากษาใหม่ มิได้ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้ายประมวล วิ.แพ่ง

การที่โจทก์สำคัญผิดว่าจะต้องเสียค่าขึ้นศาล 20,000 บาท ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องแล้วยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมที่โจทก์จะต้องใช้แกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาโดยในวันที่ยื่นอุทธรณ์โจทก์ได้นำเงิน 20,000 บาท ซึ่งเกินกว่าค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์กับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม วิ.แพ่ง ม.229 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้วางค่าธรรมเนียมศาลและเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถูกต้องตาม ม.229 แล้ว ดังนั้น กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับตั้งแต่มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมตามคำร้องของโจทก์ตลอดจนมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย (464/2549)

เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตาม วิ.แพ่ง ม.232 หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ อันเป็นการปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ม.234 แล้วศาลชั้นต้นจึงมีหน้าที่จะต้องส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณาตาม ม.236 จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งอีกไม่ได้เนื่องจากพ้นอำนาจของศาลชั้นต้นไปแล้ว (1436/2548) ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ธงคำตอบข้อ 6

การปิดประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่กำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันผิดประกาศนั้น มิใช่การส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องตาม วิ.แพ่ง ม.67 และ ม.70 จึงไม่ต้องด้วย ม.79 วรรคสอง ที่ให้มีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วันได้ล่วงพ้นไปแล้ว กำหนดเวลาดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการปิดประกาศโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 15 วัน เสียก่อน (5393/2542)

แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องเมื่อเกิน 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศก็ตาม แต่กำหนดระยะเวลาที่ให้ผู้ที่อ้างว่ามิใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลเป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลดังกล่าวว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่เท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาตาม วิ.แพ่ง ม.23 ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วก็ตาม (6013/2539 และ 5294/2547) ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องได้ ข้อคัดค้านของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ส่วนคำแถลงของจำเลยที่ว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นปัญหาในคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เกี่ยวกับคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตาม ม.296 จัตวา (3) แต่อย่างใด จึงไม่มีผลถึงคดีของผู้ร้อง ข้อคัดค้านของจำเลยฟังไม่ขึ้น (1592/2542)

เมื่อตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นสามีผู้ร้องได้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์โดยผู้ร้องไม่ทราบและไม่ได้รู้เห็นยินยอม สัญญาซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว สัญญาซื้อขายจึงมีผลสมบูรณ์ผูกพันผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่อาจแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเสีย (5393/2542)


ธงคำตอบข้อ 7

นายทองต้องการกู้เงินจากสหกรณ์ฯ แต่นายทองไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะกู้ได้ การที่นายทองให้นางเงินกู้เงินจากสหกรณ์ฯ ก็ด้วยนางเงินเป็นสมาชิกมีสิทธิที่จะกู้เงินจากสหกรณ์ฯ ต้องถือว่านางเงินเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะต้องรับผิดต่อสหกรณ์ฯ และเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิในเงินที่กู้ยืมจากสหกรณ์ฯ ตราบเท่าที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ต่อให้แก่ผู้ใด การที่นางเงินได้ฝากเงินกับนายเพชรเพื่อนำไปมอบให้แก่นายทอง เป็นกรณีที่นายเพชรกระทำการเป็นตัวแทนนางเงินในการที่จะนำเงินไปมอบให้กับนายทอง เมื่อนายเพชรยังมิได้มอบเงินให้แก่นายทอง เงินดังกล่าวยังเป็นของนางเงินอยู่ การที่นายเพชรเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต การกระทำของนายเพชรย่อมเป็นความผิดฐานยักยอกเงินของนางเงิน นางเงินจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องนายเพชรในข้อหายักยอกได้ ตาม วิ.อาญา ม.2(4), 28 (7062/2548)

ตาม วิ.อาญา ม.5(2) วางหลักไว้ว่า กรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้โดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ตามที่บัญญัติใน ม.3(2) แม้นายทองถูกนายเพชรทำร้ายจนถึงแก่ความตายซึ่งเป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายสามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ก็ตาม แต่นางเงินเป็นเพียงน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายทองและเป็นผู้จัดการมรดกของนายทอง นางเงินมิใช่บุคคลตามบทกฎหมายดังกล่าวที่จะมีอำนาจจัดการแทนนายทองผู้เสียหาย นางเงินจึงไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (866/2494 และ 4185/2529)


ธงคำตอบข้อ 8

(ก) การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีของนายสิงห์เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหา ไม่ใช่การถามปากคำผู้ต้องหาและมิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหาซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายโดยเฉพาะ ดังนั้น แม้จะกระทำขณะนายสิงห์อายุไม่เกิน 18 ปี ก็ไม่จำต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่นายสิงห์ร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมอยู่ด้วยในการนำชี้ตามบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปี ตาม วิ.อาญา ม.134/2 ประกอบ 133 ทวิ และ ม.133 ตรี การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีของนายสิงห์จึงชอบแล้ว (2132/2548)

(ข) วิ.อาญา ม.134/1 วรรคหนึ่ง ในคดีที่ผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ การที่พนักงานสอบสวนสอบถามนายสิงห์เรื่องทนายความและนายสิงห์ไม่ต้องการทนายความ แล้วพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำนายสิงห์ไปโดยมิได้จัดหาทนายความและตั้งทนายความให้ จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ ม.134/4 วรรคห้า เพียงบัญญัติว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดไม่ได้เท่านั้น แสดงว่าไม่มีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด อันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ม.120 ดังนั้น พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง

(ค) การแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบตาม วิ.อาญา ม.134 นั้น มิได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิด เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นายสิงห์ว่า ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว แม้ไม่ได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของนายสิงห์เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นก็เรียกได้ว่ามีการสอบสวนในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องนายสิงห์ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นได้ตาม ม.120 (8316/2548)


ธงคำตอบข้อ 9

วันที่โจทก์รู้เรื่องการกระทำความผิดของจำเลยไม่เป็นองค์ประกอบของความผิดและไม่เป็นรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ตาม วิ.อาญา ม.158 ที่โจทก์ต้องบรรยายมาในฟ้อง เมื่อในชั้นตรวจคำฟ้องถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องได้ ตาม วิ.อาญา ม.161 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เพื่อทราบว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องโดยให้ระบุวันที่โจทก์รู้เรื่องจำเลยกระทำความผิดให้ถูกต้องได้ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (5095/2540)

การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยขอให้ศาลอนุญาตให้ตัวโจทก์ลงลายมือชื่อในฟ้อง หรือถือเอาคำร้องเป็นการลงลายมือชื่อของตัวโจทก์ในช่องโจทก์ท้ายฟ้องก่อนที่จะได้มีการสืบพยานโจทก์ ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี หรือหลงต่อสู้ในข้อที่พลั้งเผลอแต่อย่างใด กรณ๊เช่นนี้ย่อมมีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้ถูกต้องได้ ทั้งไม่ล่วงเลยเวลาที่จะสั่งให้แก้ฟ้องได้ ตาม วิ.อาญา ม.163 วรรคหนึ่ง และ ม. 164 คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (856/2510)

ส่วนคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ที่ขอเพิ่มเติมฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยในฐานะเป็นพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในหมวดความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นการแก้ฐานความผิดหรือเพิ่มเติมฐานความผิด เป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้ กรณีเช่นนี้ย่อมมีเหตุอันควร และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในวันที่สืบพยานจำเลยเสร็จซึ่งเป็นเวลาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตาม วิ.อาญา ม.163 วรรคหนึ่ง และ ม.164 คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นกัน (8187/2543)


ธงคำตอบข้อ 10

(ก) อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์โต้เถียงว่าคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และแม้คดีนี้จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม วิ.อาญา ม.193 ทวิ ทั้งนี้ปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์นั้นต้องเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี แต่ปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ (1927/2537)

(ข) วิ.อาญา ม.212 บัญญัติว่า คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกนายสามอีกสถานหนึ่งแม้จะรอการลงโทษจำคุกไว้ ก็ถือว่าเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษนายสาม โดยพนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษนายสามให้หนักขึ้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ลงโทษจำคุกนายสามโดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้นั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว (4899/2536)

ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ริบมีดของกลางนั้น โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ริบมีดของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินของนายสามที่ใช้ในการกระทำความผิดมาด้วย แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยยังไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องของกลาง เป็นการไม่ชอบด้วย วิ.อาญา ม.186(9) ซึ่งปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องและพิพากษาให้ริบมีดของกลางได้ตาม 195 วรรคสอง โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ริบมีดของกลางดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (6247/2545, 714/2542 และ 8154/2543)
Read more ...

ข้อ 1 ภาษาอังกฤษ ปี 2551

20/4/53
การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา
วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม 2551 วิชา ภาษาอังกฤษ  เวลาสอบ 1 ชั่วโมง (เวลา 13.00 น. - 14.00 น.)

คำถามข้อ 1 ให้แปลเป็นภาษาไทย (ไม่ต้องแปลข้อความในวงเล็บ)

The name of a great monarch often goes down to posterity คนรุ่นหลัง in connection เชื่อมโยง with some great law-book. That of the Emperor Justinian, who had been a great general, is handed down to us more in connection with his famous codes than in connection with any of his great wars.

Napoleon is now remembered equally well in connection with warfare as in connection with codification การรวบรวมเป็นประมวล, but as time goes on, the glories of his famous wars will fade เลือนหาย into obscurity ความสับสน ความไม่ชัดแจ้ง ควาไม่มีชื่อเสียง and the time will come when, as in the code of Justinian, Napoleon's name will be remembered more in connection with his famous codes than in connection with his famous wars. lt may then be said that the recent promulgation การประกาศใช้ of the penal เกี่ยวกับอาญา ,โทษ code for the Kingdom of Siam was an event of no small significance ความสำคัญ to His Majesty, King chulalongkorn of Siam. indeed, any one who reads His Majesty's preamble พระราชปรารถ to the penal code cannot fail to be impressed ความประทับใจ with the deep appreciation ความชื่นชม His Majesty พระเจ้าอยู่หัว has of the importance of the steps His Majesty is taking in regard การมอง to the enactment การประกาศเป็นกฎหมาย of this code and other codes that are to follow.

Excerpt(คัดตอนมาจาก) from Tokichi Masao, The Newpenal code of Siam, 18 Yale Law Journal วารสาร 85 (1909).)
Read more ...

ข้อ 3 แพ่ง อาญา 2551

17/4/53
คำถามข้อ 3


บริษัท สมชาย จำกัด เช่ารถยนต์เบนซ์จาก บริษัท สมพงษ์ ลีสซิ่ง จำกัด

เพื่อนำมาใช้ในกิจการของบริษัท ฯ มีกำหนด 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2546 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2551

ตกลงชำระค่าเช่าภายในทุกวันที่ 7 ของเดือน ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 35,000 บาท

โดย บริษัท สมชาย จำกัด ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดการเช่า

แต่ บริษัทสมชาย จำกัด มีสิทธิซื้อรถยนต์ที่เช่าจาก บริษัท สมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ในราคาเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อครบกำหนดการเช่า

ซึ่งหากต้องการ บริษัทสมชาย จำกัด ต้องแจ้งบอกกล่าวเป็นหนังสือให้ บริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ทราบก่อนครบกำหนดการเช่าไม่น้อยกว่า 60 วัน

หลังจากทำสัญญาบริษัทสมชาย จำกัด ชำระคาเช่าแก่บริษัทสมพงษ์ ลิสชิ่ง จำกัด ด้วยดีมาโดยตลอด

แต่ ระหว่างสัญญาเช่าเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างมาก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายบริษัทสมชาย จำกัด จึงดัดแปลงเครื่องยนต์รถยนต์ที่เช่าจากระบบใช้น้ำมันเบนซินไปเป็นระบบก๊าช

โดยบริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ไม่ได้รู้เห็น
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 หลังจากบริษัทสมชาย จำกัด ได้ชำระค่าเช่างวดที่ 58 ให้บริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด รับไปแล้ว รถยนต์ที่เช่าเกิดเพลิงไหม้เนื่องจากความบกพร่องของการติดตั้งระบบก๊าซ
ทำให้รถยนต์ที่เช่าได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง บริษัทสมชาย จำกัด ไม่ต้องการชดใช้ราคารถยนต์ที่เช่าแก่บริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด

จึงปิดบังไม่แจ้งเหตุดังกล่าวให้ บริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ทราบ แต่กลับมีหนังสือบอกกล่าวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 ขอซื้อรถยนต์ที่เช่าจากบริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด

จากนั้นได้ชำระค่าเช่าแก่บริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด จนครบกำหนดตามสัญญูาเช่า หลังจากนั้นบริษัทสมชาย จำกัด ได้ทวงถามให้บริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าให้ตามสัญญา แต่บริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ปฏิเสธ

ให้วินิจฉัยว่า

(ก) บริษัทสมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ต้องรับผิดต่อบริษัทสมชาย จำกัด หรือไม่ เพียงใด

(ข) บริษัทสมพงษ์ ลิสชิ่ง จำกัด มีสิทธิเรียกร้องจากบริษัทสมชาย จำกัด หรือไม่ เพียงใด





----------------------------

หลักกฎหมาย

ปพพ.มาตรา๕๕๘ การดัดแปลงทรัพย์สินที่เช่า ผู้เช่าต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบและอนุญาตก่อน ถ้าฝ่าฝืนต้องรับผิดในการกระทำ

ปพพ.มาตรา ๕๖๗ สัญญาเช่าเป็นอันระงับจากการที่ทรัพย์สินที่เช่าเสียหายไปหมดหรือสูญหายไป 


จากกรณีปัญหา

๑.บริษัท สมชาย จำกัด ดัดแปลงเครื่องยนต์รถยนต์ที่เช่า จากระบบใช้น้ำมันเบนซินไปเป็นระบบก๊าซ โดย บริษัท สมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ไม่ได้รู้เห็น

เป็นการฝ่าฝืน ปพพ.มาตรา ๕๕๘ บริษัท สมชาย จำกัดผู้เช่าต้องรับผิด

๒.รถยนต์ที่เช่าเกิดเพลิงไหม้เนื่องจากความบกพร่อง ของการติดตั้งระบบก๊าซ ทำให้รถยนต์ที่เช่าได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง

ทำให้สัญญาเช่าระงับตาม ปพพ.มาตรา ๕๖๗

๓.วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ บริษัท สมชาย จำกัด (ผู้เช่า)

ขอซื้อรถยนต์ที่เช่าจาก บริษัท สมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด(ผู้ให้เช่า) จากนั้นได้ชำระค่าเช่าแก่ บริษัท สมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด จนครบตามสัญญาเช่า

หลังจากนั้น บริษัท สมชาย จำกัด ได้ทวงถามให้ บริษัท สมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าตามสัญญา

แต่ บริษัท สมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด ปฎิเสธได้เพราะสัญญาเช่าได้ระงับแล้ว(ตามข้อ ๒)

สรุป

ก)บริษัท สมพงษ์ ลิสซิ่ง จำกัด(ผู้ให้เช่า) ไม่ต้องรับผิดต่อ บริษัท สมชาย จำกัด (ผู้เช่า)

เพราะสัญญาเช่าได้ระงับไปแล้วตั้งแต่รถยนต์ได้เสียหายอย่างสิ้นเชิงเพราะการกระทำของผู้เช่า

(ข)บริษัท สมพงษ์ ลิสซิ่งจำกัด(ผู้ให้เช่า) มีสิทธิเรียกร้องจาก บริษัท สมชาย (ผู้เช่า)จำกัดได้

ในราคารถยนต์ ณ เวลาที่รถยนต์ได้เสียหายไปหมด
Read more ...

ข้อ 2 แพ่ง อาญา 2551

9/4/53
คำถามข้อ 2

นายสิน ทำ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน มี โฉนดจาก นายพวง สองแปลง ชำระเงินให้นายพวงบางส่วน ตกลงโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินส่วนที่เหลือ ภายใน 6 เดือน

ครบกำหนดนายพวงผิดสัญญาไม่โอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้นายสิน กลับนำ ที่ดินแปลงแรกไปจดทะเบียนโอนขายให้ นายเขียว

โดยนายเขียว ทราบว่านายพวงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายสินไว้ก่อนแล้ว และนายสินไม่ทราบเรื่อง

ต่อมานายสิน กลัวว่านายพวงจะโอนขาย ที่ดินแปลงที่สองให้แก่บุคคลอื่น จึงฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอบังคับให้นายพวงจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่สองให้แก่ นายสินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน พร้อมทั้งแจ้งเรื่องที่ฟ้องคดีดังกล่าวให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ

แต่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น นายพวง จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงที่สองให้แก่ นายขาว โดยเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งเรื่องที่นายสินฟ้องคดีดังกล่าวให้นายขาวทราบ แต่นายขาว ยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้

ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2545 นายสินทราบว่า นายพวง จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงที่สองให้ นายขาว และ

วันที่ 30 กันยายน 2546 นายสิน ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินทราบว่านายพวงจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงแรกให้นายเขียว นายสิน จึงฟ้องนายพวง นายเขียว และนายขาวต่อศาล

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลง ระหว่างนายพวงกับนายขาว และ นายพวงกับนายเขียว

หลังจากฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว นายเขียว ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงแรกให้แก่ นางแดง โดยขณะที่ซื้อขายที่ดิน นายแดงไม่ทราบว่า นายสินฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างนายสินกับนายเขียว

ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นได้หมายเรียกนายแดงเข้ามาเป็นจำเลยร่วม หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวข้างต้น

ทั้ง
นายพวง
นายเขียว
นายขาว และ
นายแดง

ให้การต่อสู้ว่า นายสินไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนและคดีขาดอายุความแล้ว

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาซื้อขาย

- ที่ดินแปลงแรก ระหว่าง นายพวงกับนายเขียว + ระหว่าง นายเขียวกับนายแดง 

และ

- ที่ดินแปลงที่สอง ระหว่าง นายพวงกับนายขาว ได้หรือไม่

-------------------------------------------------------------------

ธงคำตอบข้อ 2

สำหรับการขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ดินแปลงแรก นายสินเป็นเจ้าหนี้นายพวง ในการที่จะบังคับให้นายพวงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แม้จะมิได้มีการฟ้องคดีต่อศาลก็ตาม

เมื่อนายเขียวซื้อที่ดินจากนายพวงลูกหนี้โดยทราบว่านายพวงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไว้กับนายสินไว้ก่อนแล้ว เป็นการทำนิติกรรมที่ทำให้นายสินเจ้าหนี้ของนายพวงเสียเปรียบ
จึงเป็นการฉ้อฉลนายสิน

ส่วนนายแดงแม้จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายเขียวโดยสุจริต แต่เป็นการซื้อที่ดินมาภายหลังจากที่นายสิน ฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างนายพวงกับนายเขียวแล้ว
จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238

ปพพ. มาตรา ๒๓๘ การเพิกถอน ดั่งกล่าวมา ในบทมาตราก่อนนั้น ไม่อาจกระทบกระทั่ง ถึง สิทธิของ บุคคลภายนอก อันได้มา โดยสุจริต ก่อนเริ่มฟ้องคดี ขอเพิกถอน


อนึ่ง ความที่กล่าวมา ในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้า สิทธินั้น ได้มาโดยเสน่หา

และนายแดงเป็นผู้รับโอนที่ดินของลูกหนี้ต่อจากนายเขียวผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ ไม่ใช่เป็นคู่กรณีทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง จึงไม่ใช่เป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้ลาภงอกอันจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 237
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3180/2540)

ปพพ. มาตรา ๒๓๗ เจ้าหนี้ ชอบที่จะร้องขอ ให้ศาลเพิกถอนเสียได้ ซึ่ง นิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ ได้กระทำลง ทั้งรู้อยู่ว่า จะเป็นทางให้ เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้า ปรากฏว่า ในขณะที่ทำ นิติกรรมนั้น บุคคล ซึ่ง เป็นผู้ได้ลาภงอก แต่การนั้น มิได้รู้เท่าถึง ข้อความจริง อันเป็นทางให้เจ้าหนี้ ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณี เป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่า เพียงแต่ลูกหนี้ เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว เท่านั้น ก็พอแล้ว ที่จะขอเพิกถอนได้


บทบัญญัติ ดังกล่าวมา ในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่ นิติกรรมใด อันมิได้มีวัตถุ เป็นสิทธิใน ทรัพย์สิน

เมื่อนายสินฟ้องคดียังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนคดีจึงไม่ขาดอายุความ ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงแรกระหว่างนายพวงกับนายเขียว และระหว่างนายเขียวกับนายแดงได้ ส่วนการขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ดินแปลงที่สอง การที่นายขาวทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินว่านายสินได้ฟ้องขอให้บังคับนายพวงโอนที่ดินให้นายสิน แต่นายขาวยังยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวตามคำขอ

การกระทำของนายขาวเห็นได้ว่ามีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินเพื่อขัดขวางมิให้นายสินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายพวงได้รับชำระหนี้ทั้งหมด ตามที่นายสินได้ใช้สิทธิทางศาลในการเรียกร้องให้นายพวงชำระหนี้ไว้แล้ว

นิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
นายทุนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิ์ฟ้องขอให้เพิกถอนได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิในเรื่อง

การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738 - 5739/2545)

และไม่อยู่บังคับที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี ตามมาตรา 240
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2547)

ปพพ. มาตรา ๒๔๐ การเรียกร้อง ขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ ฟ้องร้อง เมื่อ พ้นปีหนึ่ง นับแต่ เวลาที่เจ้าหนี้ ได้รู้ต้นเหตุ อันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือ พ้นสิบปี นับแต่ ได้ทำ นิติกรรมนั้น

ดังนั้น แม้จะได้ความว่านายสินฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีก็ไม่ขาดอายุความ

ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่สองระหว่างนายพวงกับนายขาวได้
Read more ...

ข้อ 1 แพ่ง อาญา 2551

8/4/53
คำถามข้อ 1

นายหนึ่ง เป็นผู้จัดการ ของ บริษัท มั่งคั่ง จำกัด ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในกิจส่วนตัวจำนวน 5,000,000 บาท แต่ไม่สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทมั่งคัง จำกัด ในนามตนเองได้เพราะ ขัดระเบียบข้อบังคับ ของบริษัทมั่งคั่ง จำกัด

จึงให้ นายสองเพื่อนสนิท ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด แทน โดยนายหนึ่งเป็นผู้รับเงินกู้ทั้งหมดไปและจะเป็นคนผ่อนชำระเงินกู้เอง

นอกจากนี้ นายหนึ่งยังขอร้องให้ นายสามน้องเขยของตน นำที่ดินของนายสาม จดทะเบียนจำนอง เป็น ประกันการกู้ยืมเงิน ไว้ด้วย

เมื่อถึงวันกำหนดนัด นายสามประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่สามารถไปจดทะเบียนจำนองที่ดินได้

จึงทำ หนังสือมอบอำนาจ ให้ นางสาวหญิง อายุ 19 ปี 6 เดือน หลานสาวซึ่งเป็นบุตรของนายหนึ่ง ทำสัญญา + จดทะเบียนจำนอง แทน

ต่อมาอีก 7 เดือน นายหนึ่งลาออกจาก บริษัท มั่งคั่ง จำกัด และหลบหนีไปต่างประเทศ โดยไม่ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ บริษัท มั่งคั่ง จำกัด ทวงถามนายสองให้ชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย และมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังนายสาม

บุคคลทั้งสองเพิกเฉย

มีแต่เพียง นางสาวหญิง บุตรของนายหนึ่งที่ทำหนังสือถึง บริษัทมั่งคั่ง จำกัด ขอบอกเลิกสัญญาจำนอง เพราะกระทำไปโดยบิดามารดาของตนไม่ได้ให้ความยินยอมเสียก่อน

บริษัท มั่งคั่ง จำกัด ฟ้อง นายสองให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและฟ้องนายสามให้รับผิดตามสัญญาจำนอง

นายสอง ให้การว่า ทำสัญญากู้ยืมเงินแทนนายหนึ่ง โดยการแสดงเจตนาลวงมิได้ต้องการให้ตนต้องผูกพันกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ตามที่แสดงออกมา และไม่ได้รับเงินกู้หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งนายหนึ่งในฐานะผู้จัดการของบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ร่วมรู้เห็นมาตั้งแต่แรก สัญญากู้ยืมเงินตกเป็นโมฆะ จึงไม่ต้องรับผิด

ส่วน
นายสาม ให้การว่า ขณะทำสัญญาและจดทะเบียนจำนอง นางสาวหญิงยังไม่บรรลุนิติภาวะ นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆียะกรรม เมื่อได้มีการบอกล้างโดยชอบแล้ว ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก จึงไม่ต้องรับผิด

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายสองและนายสามฟังขึ้นหรือไม่


---------------------------------------------------------------------------

ธงคำตอบข้อ 1

กรณีนายสอง แม้ความจริงจะเป็นดังที่ต่อสู้ว่า นิติกรรมการกู้ยืมเงินเกิดขึ้นโดยนายหนึ่งกับนายสองตกลงกันไว้ว่า ให้นายสองกระทำแทนนายหนึ่งเท่านั้น และเงินกู้ที่ไดัรับมาจากบริษัทมั่งคั่ง จำกัด นายหนึ่งจะรับเงินนั้นไปเป็นประโยชน์เฉพาะตัวทั้งหมด โดยในใจจริงนายสองถือว่าทำนิติกรรมการกู้ยืมเงินแทนนายหนึ่ง ไม่มีเจตนาให้มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ก็ตาม

แต่นายหนึ่ง  ในฐานะผู้จัดการ ของ บริษัทมั่งคั่ง จำกัด ไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ในการนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 74

เพราะ นายหนึ่งผู้จัดการของบริษัทมั่งคั่ง จำกัด ได้จัดการให้นายสองกู้ยืมเงินกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด โดยตนเองมีผลประโยชน์ได้เสียขัดแย้งกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด นายหนึ่งในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลย่อมไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนได้

ความรู้เห็นของนายหนึ่ง ผู้จัดการของ บริษัทมั่งคั่ง จำกัด ตามข้อต่อสู้ของนายสอง จึงไม่ถือว่าเป็นความรู้เห็นของบริษัท มั่งคั่ง จำกัด ด้วย

ดังนั้น นายสองจึงต้องผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมาตามมาตรา 154 นิติกรรม การกู้ยืมเงินระหว่างนายสองกับบริษัทมั่งคั่ง จำกัด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ

นายสอง ต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างตามสัญญา
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1437/2529 และ 580/2509)

ข้อต่อสู้ของนายสองฟังไม่ขึ้น

ส่วนกรณีนายสามนั้น แม้ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หากไดักระทำนิติกรรมไปโดยไม่ไดัรับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21

แต่การที่นางสาวหญิงซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำนิติกรรมสัญญาจำนองตามที่นายสามมอบอำนาจ ไม่ใช่นิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำในนามตนเองแต่เป็นนิติกรรมที่นางสาวหญิงผู้เยาว์ทำแทนนายสามซึ่งเป็นตัวการเท่านั้น ตามมาตรา 799 ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทน ท่านว่าตัวการคนนั้นย่อมต้องผูกพันในกิจการที่ตัวแทนกระทำ

ดังนั้น นิติกรรมสัญูญาจำนองที่นายสามมอบอำนาจให้นางสาวหญิงซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำแทนจึงมีผลสมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

แม้นางสาวหญิงจะทำในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 598/2506)

การที่นางสาวหญิงผู้เยาว์ซึ่งได้บรรลุนิติภาวะแล้ว มีหนังสือขอบอกล้างนิติกรรมดังกล่าว

ย่อมไม่มีผลทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก

ไม่ต้องด้วยมาตรา 175 (1) และมาตรา 176 วรรคหนึ่ง

นายสาม จึงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง

ข้อต่อสู้ของนายสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
Read more ...

ข้อ 1 วิ.แพ่ง วิ.อาญา 2551

7/4/53


คำถามข้อ 1 ( ภาพทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด )

โจทก์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชลบุรี

แต่เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินสวนยางแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่จังหวัดจันทบุรี


จำเลย มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดระยอง




โจทก์มอบหมายให้จำเลยหาคนมากรีดยางกับทำหน้าที่ดูแลสวนยางและเสียภาษีบำรุงท้องที่แทนโจทก์ตลอดมา

แต่แล้วจำเลยกลับยักยอกที่ดินของโจทก์โดยนำที่ดินสวนยางไปทำสัญญาขายให้แก่นายโชคที่ จังหวัดตราด กับส่งมอบ ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ ทั้งหมดให้แก่นายโชค


เป็นเหตุให้นายโชคนำไปขอออก หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน สวนยางเป็นของนายโชค

โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อ ศาลจังหวัดตราด และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยักยอกให้จำคุก 1 ปี จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และจำเลยถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดตราด อยู่ที่เรือนจำจังหวัดตราด

โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดตราด กล่าวหาว่า

จำเลยกระทำละเมิด ด้วยการยักยอกเอาที่ดินสวนยางของโจทก์ไปขายให้แก่นายโชค
ที่บ้านของนายโชค ซึ่งตั้งอยู่ใน จังหวัดตราด
เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายสูญเสียที่ดินสวนยางไป
ขอให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดิน พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้ว่า

-ที่ดินสวนยางเป็นที่สาธารณะ มิใช่เป็นของโจทก์และ
-จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
-อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดตราด ด้วย

ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลย ยื่น คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ว่า

ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม


แต่ศาลกลับมี คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ว่า

คดีไม่อยู่เขตอำนาจของศาลจังหวัดตราด
โดยมิได้วินิจฉัยในปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

แล้วพิพากษายกฟ้องของโจทก์

ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดของศาลจังหวัดตราดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

-----------------------------------------------------------------------

ธงคำตอบข้อ 1
โจทก์ฟ้องว่า

จำเลย กระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายสูญเสียที่ดินสวนยางของโจทก์ไป
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ ไม่ใช่ของโจทก์และ
จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์

ขอให้ยกฟ้อง

แม้จำเลยจะมิได้กล่าวแก้ เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ ว่า

- ที่ดินสวนยางพิพาทเป็นของจำเลย และ
- ตามฟ้องโจทก์ จะมิได้มีคำขอบังคับแก่ที่ดินพิพาท ด้วยก็ตาม

แต่การที่จะพิจารณาว่า

จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่

อันเป็น การพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์

จึงเป็น คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งโจทก์ต้องเสนอคำฟ้อง ต่อ

- ศาลจังหวัดจันทบุรี ที่อสังหาริมทรัพย์นั้น ตั้งอยู่ในเขตศาล

หรือต่อ

- ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา อยู่ในเขตศาล

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ทวิ
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2527 (ประชุมใหญ่))

ปวพ. มาตรา ๔ ทวิ 
คำฟ้อง เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือ สิทธิ หรือ ประโยชน์ อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อ ศาล ที่อสังหาริมทรัพย์นั้น ตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่า จำเลย จะมี ภูมิลำเนา อยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือ ต่อศาล ที่จำเลย มีภูมิลำเนา อยู่ในเขตศาล

แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง
จำเลยจะถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดตราด อยู่ในเรือนจำจังหวัดตราด ก็ตาม

แต่ก็ถือไม่ได้ว่า ภูมิลำเนาของจำเลยผู้ถูกจำคุก ได้แก่ เรือนจำที่จำเลยถูกจำคุกอยู่

เพราะ คำพิพากษาของศาลจังหวัดตราดยังไม่ถึงที่สุดตาม ปพพ. มาตรา 47
 
ปพพ. มาตรา ๔๗

ภูมิลำเนา ของ ผู้ที่ถูกจำคุก ตาม คำพิพากษา ถึงที่สุด ของ ศาล หรือ ตามคำสั่ง โดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำ หรือ ทัณฑสถาน ที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับ การปล่อยตัว

กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดระยอง
แม้หากโจทก์ไม่ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี ที่ที่ดินสวนยางพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาล
โจทก์ก็ต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดระยอง ที่จำเลยมีภูมิลำเนา

การที่โจทก์นำคดีมายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดตราด
จึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ทวิ และ

ศาลจังหวัดตราด ย่อมไม่มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8336/2538)

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น โดยอ้างเหตุหนึ่ง
แต่ศาลเห็นว่า
กรณีเข้าเหตุอื่น ที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดได้
กรณีย่อมเข้าเกณฑ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 24

ที่เมื่อศาลเห็นสมควร see as appropriate
ศาลย่อมมีอำนาจที่จะมี คำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น preliminary decision ในเหตุอื่นนั้นได้

ปวพ. มาตรา ๒๔

เมื่อ คู่ความ ฝ่ายใด ยกปัญหาข้อกฎหมาย ขึ้นอ้าง ซึ่ง ถ้าหาก ได้วินิจฉัย ให้เป็นคุณ แก่ฝ่ายใดแล้ว จะไม่ต้องมี การพิจารณาคดี ต่อไปอีก หรือ ไม่ต้องพิจารณา ประเด็นสำคัญ แห่งคดีบางข้อ หรือ ถึงแม้จะ ดำเนินการพิจารณา ประเด็นข้อสำคัญ แห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ ได้ความชัด ขึ้นอีกแล้ว เมื่อ ศาลเห็นสมควร หรือเมื่อ คู่ความ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีคำขอ ให้ศาล มีอำนาจที่จะ มีคำสั่ง ให้มีผลว่า ก่อน ดำเนินการพิจารณา ต่อไป ศาลจะได้พิจารณา ปัญหาข้อกฎหมาย เช่นว่านี้ แล้ว วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ในปัญหานั้น


ถ้า ศาลเห็นว่า คำวินิจฉัยชี้ขาด เช่นว่านี้ จะทำให้ คดีเสร็จไปได้ ทั้งเรื่อง หรือ เฉพาะแต่ ประเด็นแห่งคดี บางข้อ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาด ปัญหาที่กล่าวแล้ว และ พิพากษา คดีเรื่องนั้น หรือ เฉพาะแต่ประเด็น ที่เกี่ยวข้อง ไปโดย คำพิพากษา หรือ คำสั่ง ฉบับเดียวกัน ก็ได้


คำสั่งใดๆ ของศาล ที่ได้ออก ตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์ และ ฎีกาได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๒๒๗, ๒๒๘ และ ๒๔๗

ดังนั้น
แม้จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
แต่เนื่องจาก ตามคำให้การของจำเลย ไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องฟ้องเคลือบคลุมที่จะวินิจฉัย

เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลก็มีอำนาจหยิบยกประเด็น ตามคำให้การต่อสู้ของจำเลย ว่า
คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดตราดขึ้นวินิจฉัย
เพื่อพิพากษายกฟ้องของโจทก์ได้
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102/2506)

คำวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลจังหวัดตราด ที่ วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า
คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของ ศาลจังหวัดตราด
โดย มิได้วินิจฉัยในปัญหาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
แล้วพิพากษายกฟ้องของโจทก์
ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
Read more ...