วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552 เวลา 17:24:22 น. มติชนออนไลน์
เมื่อวันที่ 30 กันยายน ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้รับ
พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1
กลับเข้ารับราชการเหมือนเดิม พร้อมทั้งคืนสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายให้ด้วยภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ภายหลังจากที่ถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากพัวพันในคดีทำร้ายร่างกายแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ดพลาซ่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549
สำหรับคดีนี้ พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1และ 2 ตามลำดับ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 647/2550 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ที่ลงโทษให้ปลดออกจากราชการ และคำสั่งของ ก.ตร.ที่ให้ยกอุทธรณ์คำสั่งปลดออกจากราชการดังกล่าว
คดีนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อ พล.ต.ต.มานิต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (ยศ "พ.ต.อ.") เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติการณ์แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เพราะปล่อยให้มีการทำร้ายร่างกายประชาชนโดยมิได้เข้าขัดขวาง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ กลับไม่ถูกดำเนินคดี
จากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) เพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยตามความผิดดังกล่าว ต่อมา ผบ.ตร.ได้นำเรื่องการลงโทษทางวินัยเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการพิจารณาสั่งลงโทษ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ปลด พล.ต.ต.มานิต ออกจากราชการ แต่ทาง พล.ต.ต.มานิต ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อ ก.ตร. และต่อมา ก.ตร.ได้มีมติยกอุทธรณ์คำร้อง
ทั้งนี้ ศาลพิจารณาพฤติการณ์แล้วเห็นว่า การกระทำของพล.ต.ต.มานิต ไม่ได้เป็นการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เพราะจากภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นว่า พล.ต.ต.มานิตได้เข้าไปแยก นายวิชัย เอื้อสิยาพันธุ์ ชายผู้ขับไล่อดีตนายกฯ พร้อมกับพูดว่า "อย่า อย่า" อันมีลักษณะเข้าไปช่วยแยกตัวออกจากกลุ่มนายจรัญ จงอ่อน ซึ่งเป็นชายที่สนับสนุนอดีตนายกฯ มากกว่าที่จะเข้าไปจับกุม
นอกจากนี้ ในขณะที่นายวิชัยถูกกลุ่มผู้สนับสนุนนายกฯ ห้อมล้อมพร้อมกับตะโกนด่าทอตลอดทาง พล.ต.ต.มานิตก็ได้พูดระงับเหตุว่า "หยุด หยุด" แล้วพาตัวนายวิชัย ออกจากการถูกห้อมล้อม เพื่อนำตัวขึ้นรถไปยังสน.ปทุมวัน พร้อมกับแจ้งแก่สื่อมวลชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุว่า จำเป็นต้องแยกออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ตีกัน
อีกทั้งนายวิชัยเองได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ขณะที่ถูกห้อมล้อมอยู่นั้น มีตำรวจชื่อ พ.ต.อ.มานิต ได้เข้ามาช่วยเหลือ และนำตัวส่งสน.ปทุมวัน โดยมิได้แจ้งข้อกล่าวหาหรือจับกุมแต่อย่างใด อีกทั้งระหว่างที่ถูกนำตัวมาสน.ปทุมวันก็ไม่มีการใส่กุญแจมือหรือใช้เครื่องพันธนาการใดๆ
ศาลยังเห็นว่า ภาพเคลื่อนไหวในช่วงชุลมุน เป็นภาพจากด้านหลังของผู้ฟ้องคดีและเป็นภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ เฉพาะจุดไม่ได้เป็นภาพรวมทั้งหมด ประกอบกับพยานบุคคลคือนางกชชมณฑ์ อรชุนวงศ์ ซึ่งให้การว่าเห็นพล.ต.ต.มานิต ผลักนายวิชัย ไปให้กลุ่มนายจรัญทำร้ายนั้นก็เป็นกล้องจากโทรศัพท์มือถือ แต่มิได้เป็นการเห็นด้วยตาตัวเอง จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาผลักนายวิชัย
ส่วนกรณีที่ พล.ต.ต.มานิต มิได้จับกุมกลุ่มของนายจรัญกับพวกในทันทีนั้น
ศาลเห็นว่าในกรณีการเข้าจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุชุลมุนของประชาชนที่มีความเห็นไม่ตรงกันนั้น การเข้าจับกุมกลุ่มประชาชนทั้งสองฝ่ายด้วยตัวคนเดียวในทันทีย่อมจะทำไม่ได้ จึงได้ตัดสินใจระงับเหตุด้วยการกันตัวต้นเหตุออกมา การที่พล.ต.ต.มานิต ได้พยายามกันตัวนายวิชัย โดยไม่ได้จับกุมนายจรัญกับพวกในทันทีนั้นจึงมีเหตุผลเพียงพอรับฟังได้ กอปรกับต่อมาได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายมงคล บุญเต็ม ซึ่งยอมรับว่าเป็นพวกที่สนับสนุนอดีตนายกฯ รวมทั้งบุคคลอื่นอีกด้วย จึงเป็นกากระทำที่สมควรแก่สถานการณ์ในขณะนั้น และยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์เลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมาย และใช้ดุลพินิจโดยมิชอบตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
ดังนั้น คำสั่งให้ปลอดออกจากราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมติยกอุทธรณ์ของ ก.ตร.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงมีคำสั่งให้รับ พล.ต.ต.มานิต กลับเข้ารับราชการ รวมทั้งคืนสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น