ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายในคดีละเมิด ตาม กม.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

16/8/53
ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายในคดีละเมิด ตามมาตรา 9

มาตรา 9 บัญญัติว่า “ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะนำมาเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้”
ตามบทบัญญัตินี้ บุคคลผู้ที่ได้รับความเสียหายจะตกลงหรือให้ความยินยอมยกเว้น (คือ การที่ผู้ก่อความเสียหายไม่ต้องรับผิดเลย) หริอจำกัดความรับผิด ( คือ การที่ผู้ก่อความเสียหายยังต้องรับผิดอยู่บ้างแต่ไม่ทั้งหมด) เพื่อละเมิดของผู้ก่อความเสียหายไม่ได้ หากความเสียหายที่ผู้ก่อความเสียหายได้ก่อให้เกิดขึ้นนั้น เกิดจาการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับผลบังคับของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
มาตรา 10 บัญญัติว่า “ในการวินิจฉัยว่าข้อสัญญาจะมีผลบังคับเพียงใดจึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ให้พิเคราะห์ถึงพฤติกรณีทั้งปวง รวมทั้ง
(1)

-ความสุจริต 
-อำนาจต่อรอง 
-ฐานะทางเศรษฐกิจ 
-ความรู้ความเข้าใจ 
-ความสันทัดจัดเจน 
-ความคาดหมาย 
-แนวทางที่เคยปฏิบัติ 
-ทางเลือกอย่างอื่น และ
-ทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง
(2)ปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น
(3)เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาหรือในการปฏิบัติตามสัญญา
(4)การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง”
ตามบทบัญญัตินี้ กำหนดแนวทางในการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสภาพบังคับของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมว่าจะมีผลบังคับเพียงใดจึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี อันได้แก่กรณีตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 6 และมาตรา 8 วรรคสอง นอกจากนี้ยังใช้โดยอนุโลมในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งว่าจะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ตามมาตรา 4 วรรคสี่
Read more ...

เหตุลดโทษในประมวลกฎหมายอาญา

16/8/53
โดยอาจารย์ ดร. มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์

เหตุลดโทษในประมวลกฎหมายอาญา

มี 3 กรณีดังนี้

1. บันดาลโทสะ (มาตรา 72) 2. ความไม่รู้กฎหมาย (มาตรา 64) 3. เหตุบรรเทาโทษอื่นๆ

1. บันดาลโทสะ (มาตรา 72) 

มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ

-ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

-การที่ถูกข่มเหงนั้น เป็นเหตุให้ ผู้กระทำบันดาลโทสะ

-ผู้กระทำได้กระทำ ความผิด ต่อผู้ข่มเหง ในขณะบันดาลโทสะ

ผล : ศาล “จะ” ลงโทษผู้กระทำน้อยกว่าที่กม. กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ คือ ศาลจะไม่ลงโทษเลยไม่ได้ แต่อาจไม่ลดโทษให้ได้

1. ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม 

ความหมาย : 

“การข่มเหง” คือ การใช้วิธีรังแกหรือรบกวนให้ผู้อื่นเดือดร้อนโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่จะกระทำเช่นนั้น

ข้อสังเกต : การข่มเหงต้องเกิดจากต้องเกิดจากการกระทำของบุคคลเท่านั้น หากสิ่งของ สัตว์หรือธรรมชาติเป็นเหตุให้เกิดโทสะ จะว่าถูกข่มเหงไม่ได้

“ร้ายแรง” : การพิจารณาว่าเป็นการข่มเหงในเรื่องที่ร้ายแรงหรือไม่ อาศัยการสมมติบุคคลขึ้นมาเปรียบเทียบ ให้อยู่ในฐานะและสภาพอย่างเดียวกับผู้กระทำผิด แต่ระดับความร้ายแรงให้ถือระดับ “วิญญูชน”

“ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม” คือ กระทำโดยปราศจากเหตุผล

ข้อสังเกต : 

“ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม” คือ ไม่มีเหตุสมควรที่จะทำเช่นนั้น (ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม) ซึ่ง “วิญญูชน”โดยทั่วไปเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะทำเช่นนั้น

“การข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมนี้ อาจกระทำการ ข่มเหงต่อผู้กระทำความผิดเองหรือกระทำต่อผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้กระทำความผิดก็ได้” 
ex พ่อตา – ลูกเขย , น้า – หลาน , พ่อ – ลูก , สามี – ภรรยา (แต่เพื่อนสนิทของสามีไม่ได้)

* การข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม คือ กระทำโดยปราศจากเหตุผล แม้อาจไม่ถึงกับผิด กม.ก็ตาม

ข้อยกเว้น

- ถ้าผู้ที่บันดาลโทสะเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน จะอ้างว่าถูกข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมไม่ได้

- การวิวาทหรือสมัครใจเข้าต่อสู้ทำร้ายซึ่งกันและกัน จะยกข้อต่อสู้ว่าถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ไม่ได้

- การกระทำความผิดโดยจำเป็นตาม ม. 69 เป็นการกระทำที่ผิดกม. เพียงแต่ ก.ม. ยกเว้นโทษ จึงอาจถือ ว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมได้

ex อ้นขู่ว่าจะยิงอ้วน หากจะไม่ใช้ไม้ตีหัวอุ้ย อ้วนทำตาม เพราะกลัวถูกยิง เมื่ออ้วนตีหัวอุ้ยแตกอ้วนจึงวิ่งหนี อุ้ยวิ่งไล่ตามใช้ปืนยิงอ้วน อ้นอ้างบันดาลโทสะได้
ข้อสังเกต : 

การพิจารณาว่าผู้กระทำบันดาลโทสะหรือไม่ ต้องพิจารณาจากจิตใจของผู้กระทำผิดนั้นเอง มิใช่เปรียบเทียบกับความรู้สึกของ “วิญญูชน”

การบันดาลโทสะ อาจเกิดขึ้นหลังจากการข่มเหง ได้ผ่านพ้นไปนานแล้วก็ได้

การบันดาลโทสะ อาจจะ เกิดจากคำบอกเล่าก็ได้ ไม่จำเป็นที่ผู้กระทำความผิดต้องประสบเหตุการข่มเหงด้วยตนเอง

เมื่อทราบเหตุข่มเหงแล้ว ต้องบันดาลโทสะทันที หากทราบเหตุแล้วยังไม่บันดาลโทสะ แต่ไปบันดาลโทสะในภายหลัง แม้จะกระทำความผิดในขณะที่ยังมีโทสะอยู่ ก็อ้างบันดาลโทสะไม่ได้

3. ผู้กระทำได้กระทำในขณะบันดาลโทสะ 

ข้อสังเกต :
หลักการวินิจฉัยเป็นการกระทำความผิด ในขณะบันดาลโทสะหรือไม่ ต้องเปรียบเทียบกับ “วิญญูชน” ที่อยู่ในฐานะอย่างเดียวกับตัวผู้กระทำว่าสามารถระงับโทสะได้หรือยัง หากวิญญูชนสามารถระงับโทสะได้แล้ว แต่จำเลยยังระงับโทสะไม่ได้ จะอ้างบันดาลโทสะไม่ได้

“ในขณะบันดาลโทสะ” หมายถึง กระทำในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิด หรือในขณะที่ยังมีโทสะรุนแรงก่อนเวลาที่จะสงบอารมณ์ได้ หากขาดตอนไปไม่เป็นบันดาลโทสะ (ฎ. 272/2513)

ต้องเป็นการกระทำต่อผู้ข่มเหงเท่านั้น หากกระทำ ต่อผู้อื่นอ้างบันดาลโทสะไม่ได้ แต่หากเป็นเรื่องพลาดอ้างบันดาลโทสะโดยพลาดได้

ต้องเป็นการกระทำโดยมี “เจตนาธรรมดา” กล่าวคือ ประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผล หรือพลาด และมี “เจตนาพิเศษ” เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

2. ความไม่รู้กฎหมาย (มาตรา 64) 

ความไม่รู้กฎหมาย (ม.64) : โดยปกติบุคคลจะอ้างว่า ไม่รู้กม.ไม่ได้ เว้นแต่ ความผิดที่ ก.ม.ห้าม (Mala prohibita) เพราะเป็น กม.ที่มีลักษณะพิเศษที่บทบัญญัติมีความแตกต่างกับศีลธรรม

ข้อสังเกต ทางทฤษฎีบอกว่าควรเป็นเหตุยกเว้นโทษ แต่ตาม ป.อ.ของไทยเป็นเพียงเหตุลดโทษซึ่งอยู่นอกโครงสร้างความรับผิดทางอาญา

3. เหตุบรรเทาโทษอื่นๆ 

ศาลพิจารณาโดยอาศัยข้อเท็จจริงประกอบการนำสืบของจำเลย

Ex : 

- ป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- กระทำด้วยความจำเป็น แต่เกินขอบเขต

- ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน

- เป็นบุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม

- กระทำผิดด้วยความยากแค้นลำเค็ญ

- กระทำความผิดด้วยความมึนเมา (ที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ก.ม.)
Read more ...

การสอบสวนพยานบุคคล

15/8/53
ถ้อยคำของบุคคลที่ให้ต่อพนักงานสอบสวน ในฐานะพยานนั้น หากพิจารณาถึง ผลที่ได้จากถ้อยคำของบุคคลนั้น ๆ ก็พิจารณาแยกได้เป็น 3 ประเภท คือ พยานฝ่ายผู้กล่าวหา พยานฝ่ายผู้ต้องหา และพยานฝ่ายเป็นกลาง

(3.1 ) พยานฝ่ายผู้กล่าวหา 


พยานประเภทนี้มีที่มาจากเหตุ ดังต่อไปนี้

- จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ จะทราบได้ว่ามีบุคคลใดอยู่ในที่เกิดเหตุบ้าง

เช่น ได้รับบาดเจ็บอยู่ในที่เกิดเหตุ หรือทราบว่าผู้ใดนำผู้บาดเจ็บส่งไปรับการตรวจรักษา บุคคลดังกล่าวนี้จึงเป็นพยานที่ได้จากที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมีบุคคลอยู่ตามเส้นทางซึ่งผู้กระทำผิดหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ ดังนั้น ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุพึงแสวงหาบุคคลดังกล่าวนี้ เพื่อสอบสวนเป็นพยานในคดี

- จากการกล่าวอ้างหรือให้การหรือการยืนยันจากผู้เสียหาย หรือจากผู้กล่าวหา หรือจากพยานว่าเป็นบุคคลที่รู้เห็นในคดีนั้น ๆ

- จากบุคคลซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องหรืออาจยืนยันซึ่งเอกสารหรือวัตถุพยานอันเป็นการสนับสนุนให้พยานเอกสารหรือวัตถุพยานนั้น ๆ มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

จากการสอบสวนพยานฝ่ายผู้กล่าวหานี้ ชอบที่ พงส. จะซักถามพยานที่ให้การเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในคดี และพิสูจน์ได้ว่าพยานรู้เห็นจริงหรือว่ามีการซักซ้อม ตระเตรียม ว่าจ้าง ให้มาเป็นพยาน ถ้าพยานให้การสอดคล้องต้องกันโดยเป็นเหตุเป็นผลก็เป็นข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าพยานแต่ละคนให้การขัดกันหรือมีเหตุผลข้อเท็จจริงที่ไม่น่าเป็นไปได้ น้ำหนักคำพยานนั้นที่จะรับฟังก็ย่อมลดน้อยลง หรือไม่น่ารับฟัง แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยเหตุการณ์ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอื่นประกอบด้วย ฉะนั้น ในการสอบสวนพยานฝ่ายผู้กล่าวหาซึ่งจะต้องสอบสวนโดยอาศัยประสบการณ์ ตลอดจนการมีความรู้ในเรื่องความเป็นไปได้มาซักถามพยานอย่างละเอียดรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม พยานที่ถูกกล่าวอ้างดังกล่าวนี้ พงส.จะต้องรีบสอบสวนโดยด่วน เพื่อป้องกันการซักซ้อมหรือในบางกรณีก็อาจมีการแยกสอบสวนพยานเพื่อป้องกันมิให้พยานได้พบปะกัน ภายหลังจากที่ได้สอบสวนพยานผู้หนึ่งไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี และเพื่อมิให้ผู้กล่าวหาหรือพยานดูถูก พงส.ได้ว่า รู้เท่าไม่ทันหรือถูกต้มถูกหลอก

(3.2) พยานฝ่ายผู้ต้องหา 


พยานประเภทนี้ มักจะปรากฏจากบุคคลที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง เช่น อ้างว่า ขณะเกิดเหตุพยานบุคคลนี้อยู่ร่วมกับผู้ต้องหา ไปด้วยกันหรืออ้างสถานที่อยู่ หรือจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบว่ามีเหตุผลเชื่อว่าบุคคลนี้อยู่กับผู้ต้องหา จึงจำเป็นต้องสอบสวนให้ได้ความกระจ่างว่า ในสถานที่ซึ่งผู้ต้องหาได้อยู่ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุเป็นใครบ้าง อีกทั้งต้องสอบสวนถึงเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ว่าได้มีการกระทำอะไรเกิดขึ้น ซึ่งต้องรีบสอบสวนพยานหลักฐานต่าง ๆ นี้โดยเร็ว การสอบสวนพยานที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างนั้น พงส. ควรเดินทางไปสอบสวนยังที่อยู่ของพยานดีกว่าเรียกพยานมาสอบสวน ณ ที่ทำการของ พงส. เพราะการเรียกพยานมาสอบสวนนั้น พยานมีโอกาสได้พบปะกันระหว่างพยานด้วยกันหรือพบกับผู้ต้องหา หรือญาติ พรรคพวกของผู้ต้องหาได้ อันจะทำให้พยานถูกกดดันหรือบีบคั้น เพื่อให้การบิดเบือนเป็นประโยชน์กับฝ่ายผู้ต้องหาได้

พยานฝ่ายผู้ต้องหานั้น ถ้ามิใช่เป็นบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ จริง ๆ แล้ว ย่อมจะให้การมีความแตกต่างถ้อยคำของผู้ต้องหาที่ให้การไว้บ้างในหลายประเด็น เช่น การแต่งกาย การพูดคุย การรับประทานอาหาร ชนิดของอาหาร หรือการแบ่งมอบหมายการงาน ความถนัดของมือข้างซ้ายข้างขวา เหล่านี้ก็จะทำให้วินิจฉัยได้ว่าผู้ต้องหาให้การจริงหรือเท็จประการใดบ้าง

พยานฝ่ายผู้ต้องหานั้น พงส. ส่วนใหญ่มักไม่คอยสอบปากคำโดยคิดว่า พยานฝ่ายผู้กล่าวหาดีแล้ว หนักแน่นแล้ว เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอบพยานฝ่ายผู้ต้องหาก็ได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะหาก พงส.ละเว้นการสอบพยานดังกล่าว ผู้ต้องหาซึ่งมีสิทธิอ้างพยานในชั้นศาลก็จะขอให้ศาลเรียกไปเบิกความในศาล และมีการซักซ้อมกับฝ่ายผู้ต้องหา หรือมีการเตรียมการที่จะเบิกความให้เป็นประโยชน์ในทางคดีแก่ผู้ต้องหาได้

(ข้อบังคับ มท. พ.ศ.2523 แก้ไข (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2538 ข้อ 3 และ ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 8 บทที่ 5 ข้อ 254)

ประการนี้ หากว่ามีเหตุผลและพยานบุคคลตลอดจนวัตถุพยานฝ่ายผู้กล่าวหาหนาแน่นดีแล้วก็ควรสอบสวนพยานที่ผู้ต้องหาอ้างเป็นการปิดปากไว้ก่อน ซึ่งหากผู้ต้องหานำไปกล่าวอ้างชั้นศาล พยานนี้ก็ไม่อาจจะบิดเบือนข้อเท็จจริงไปได้

ข้อสังเกต 

(1) สอบสวนพยานคนใดไว้แล้ว พยานคนนั้นเกิดตาย พงส. จะต้องสอบสวนบุคคลที่รู้เห็น ในการสอบสวนพยานผู้นั้นไว้ประกอบด้วย เพื่อใช้ในการรับรองคำให้การพยานที่ตายนั้นในชั้นศาล (ฎีกาที่ 1769/2541)

(2) พยานถูกยิงหลอดเสียงแตก และเขียนหนังสือไม่ได้ การสอบสวนให้พยานตอบโดย การแสดงอาการกิริยา เช่น พยักหน้า หรือใช้มือโบกว่าใช่ หรือไม่ใช่ก็ได้ ตาม ป.วิ อาญา ม.96 ป.วิ อาญา ม.15 และควรสอบสวนต่อหน้าบุคคลอื่นด้วย (ตามหนังสือ คด.ที่ 0503(ส)/4426 ลง 10 ก.ย.2524)

(3) คำเบิกความของพยานที่หูหนวกและเป็นใบ้ให้ถือว่า เป็นคำเบิกความของพยานบุคคลส่วนวิธีถามหรือตอบนั้น อาจจะทำโดยวิธีเขียนหนังสือหรือโดยวิธีอื่นที่สมควรก็ได้ ตาม ป.วิ แพ่ง ม.96 (ฎีกาที่ 81/2531)

(4) บุตรโจทก์ถูกรถของนาย ส. ชนตาย พงส.จดคำพยานไม่ตรงข้อเท็จจริง เพื่อช่วยนาย ส .ดังนี้ พงส. ผิด ม.157 , 200 (ฎีกาที่ 2294/2517

(5) พงส.ได้ชกปากผู้ต้องหา เพราะไม่ยอมรับสารภาพ ผิด ม.157 (ฎีกาที่ 1399/2508)

(6) การสอบสวนจำเลยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้เตือนจำเลยตาม ป.วิ อาญา ม.134 คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนจะใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยไม่ได้ (ฎีกาที่ 1304/2483)

(7) ในการสอบสวนหากปรากฏว่า มีผู้ให้การโดยมิได้มีการสาบานหรือปฏิญาณตน การสอบสวนก็มิเสียไป (ฎีกาที่ 614/2486)

(8) พงส. เอาคำให้การของพยานที่ให้การไว้ในชั้นกรรมการสอบสวนมาถามพยานและให้รับรองและสอบถามเพิ่มเติม แล้วจดบันทึกและอ่านบันทึกให้พยานฟังและลงลายมือชื่อดังนี้ ถือว่าได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว (ฎีกาที่ 869/2520)

(9) มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาหนึ่ง พงส.ได้ทำการสอบสวนเห็นว่า เป็นความผิดอีกข้อหาหนึ่ง ดังนี้ เป็นดุลพินิจของ พงส. สามารถทำได้ (ฎีกาที่ 755/2509)

(10) พยานให้การต่อ พงส.แล้ว แต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำให้การ ดังนี้ ให้พงส.บันทึกเหตุนั้นไว้ตาม ป.วิ อาญา ม.11 (ฎีกาที่ 51/2481)

(11) บันทึกคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ลง วัน เดือน ปี ไม่ตรงกับวันที่สอบจริง ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป ถือว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบแล้ว (ฎีกา 1991/2535)

(12) ในคดีที่ผู้เสียหายหรือพยานเป็นจำนวนมาก พงส.จำเป็นต้องทำแบบพิมพ์

เดียวกัน แล้วกรอกข้อความในส่วนที่แตกต่างกันของพยานแต่ละคน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในปัจจุบันเช่นนี้ ถือว่าใช้ได้ (ฎีกาที่ 2888/2535)

(3.3) พยานฝ่ายเป็นกลาง 

พยานประเภทนี้ เป็นพยานที่ได้จากการสืบสวนสอบสวนของ พงส. ซึ่ง

จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือในคดี อีกทั้งให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมากที่สุด พยานบุคคลที่ได้เช่นนี้เป็นพยานที่ พงส.ซักไซร้จากการสอบสวนผู้กล่าวหาหรือผู้ต้องหา หรือพยานบุคคลอื่น แล้วปรากฏขึ้นมาโดยทั้ง ๆ ที่ผู้กล่าวหาและผู้ต้องหาพยายามปกปิดเอาไว้ เพราะหากอ้างขึ้นมาก็จะทำให้ฝ่ายตนเสียหาย บางครั้งพยานบุคคลประเภทนี้ก็ได้จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ โดยมีผู้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่าตนเองเป็นผู้เห็น หรือยืนยันว่าพยานบุคคลนั้น ๆ เห็น หรืออยู่ในที่เกิดเหตุ หรือน่าจะเห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ หรือผ่านไปพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเข้าพอดี ซึ่งพยานดังกล่าวนี้ มักไม่ใช่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่กรณี นอกจากนี้พยานที่เป็นผู้ชำนาญการ เป็นผู้ออกความเห็น พยานบุคคลประเภทนี้ในบางครั้งก็จำเป็นต้องเรียกมาสอบสวน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงละเอียดยิ่งขึ้นในบางประเด็น หรือรับฟังจากเอกสารที่ส่งมา

ในการสอบสวนพยานทั้งสามประเภทดังกล่าวข้างต้นนั้น พงส.จะต้องพิจารณาประเด็นที่จะสอบให้เป็นลูกโซ่สอดคล้องกัน อีกทั้งต้องปรากฏเหตุผลและที่มาของพยานมิใช่ไม่ปรากฏเหตุผลความเป็นมาของพยานนั้น ๆ

การสอบสวนและบันทึกถ้อยคำหรือคำให้การของพยานนั้น ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบของการสอบสวน อีกทั้งกฎหมายที่กำหนดวิธีการปฏิบัติต่อพยาน เช่น การให้พยานสาบานตน หรือกรณีที่จะต้องมีล่ามแปลหรือปฏิบัติตามที่ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 กำหนดไว้ นอกจากนี้จะต้องเคร่งครัดต่อข้อกำหนดตามกฎหมาย เช่น การขีดฆ่าคำผิดและลงชื่อกำกับ หรือการอ่านข้อความที่บันทึกให้พยานฟังแล้วให้ลงนามไว้ทุกแผ่น นอกจากนี้เอกสารการสอบสวนพยานจะต้องสะอาดเรียบร้อย มีรูปแบบที่งามตา

( - ป.วิ อาญา มาตรา 11, 13, 133 , - ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 8 บทที่ 1 ข้อ 124)

(3.4) การควบคุมพยานและการป้องกันพยานสำคัญในคดีอาญา 

1. เป็นพยานสำคัญในคดีอาญาที่สมควรป้องกัน ได้แก่

- พยานนั้นเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีนั้น

- พยานเป็นผู้ไม่มีหลักแหล่งแห่งที่มั่นคงหรือทางสืบสวนมีเหตุผลน่า

เชื่อว่าถ้าจะปล่อยให้พยานอยู่ในที่เดิมแล้วจะเกิดอันตรายเสียก่อนที่พยานจะได้เบิกความ หรือฝ่ายผู้ต้องหาได้พยายามจัดการที่จะให้พยานหลบหนีไปเสียก่อน

2. วิธีป้องกันพยานสำคัญในคดีอาญา

- ให้ พงส.รายงานชี้แจงเหตุผลพร้อมด้วยอัตราเบี้ยเลี้ยงต่อกรมตำรวจเพื่อขออนุมัติให้ดำเนินการป้องกันพยาน

- เมื่อได้รับคำสั่งอนุมัติจาก ตร. แล้ว ให้ พงส. ระดับ สารวัตรขึ้นไป อธิบายความประสงค์ในการป้องกันพยานให้พยานทราบให้พยานลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงป้องกันพยานตามแบบบันทึกที่กำหนดขึ้น (แบบ ก.)

- ในการนี้ให้ พงส.จัดที่อยู่อาศัยหรือสถานที่กินอยู่ หลับนอนให้แก่พยานชั่วคราว และจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงค่าทดแทนจนกว่าพยานจะเบิกความเสร็จ ในระหว่างรออยู่นี้ หากพยานจะไปที่ใดจะต้องขออนุญาตจาก พงส.ก่อน เพื่อให้สามารถติดตามตัวมาเบิกความได้ (ไม่ใช่เป็นการควบคุม)

- ทำคำร้องตามแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ยื่นต่อศาลโดยเร็ว โดยแสดงเหตุผลให้ศาลทราบว่า ทางราชการได้จัดการป้องกันพยานสำคัญนี้อย่างใด เพื่อขอให้ศาลรีบพิจารณาคดีและให้พยานนั้นได้เบิกความโดยเร็ว

( ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ บทที่ 6 ข้อ 255,256 , - ระเบียบ ตร.ว่าด้วยการคุมพยานและการป้องกันพยานสำคัญในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530)

(3.5) การขอให้สืบพยานไว้ก่อน 

1. ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ยากแก่การนำสืบ ให้พนักงานอัยการโดยตรงหรือได้รับคำร้องขอจาก พงส.จะนำผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องต่อศาล โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ (ป.วิ อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก)

2. คดีเรื่องใดเมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด หรือเพียงบางคนก็ตามเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะอ้างนำมาสืบในภายหน้าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ยากแก่การนำสืบ พงส.จะดำเนินการให้มีการสืบพยานก่อนฟ้องได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

- กรณีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ให้ พงส.ส่งคำร้องและหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้น พร้อมนำตัวผู้ต้องหหาส่งพนักงานอัยการโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดเหตุผล และความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อน เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้น

- กรณีที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว ให้ พงส.สั่งให้นายประกันนำตัวผู้ต้องหามาส่งแล้วส่งคำร้องขอและหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้น พร้อมนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการ โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อนเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลมีคำส่งให้สืบพยานนั้น

- กรณีที่ผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างฝากขังตามอำนาจศาลให้ พงส.ส่งคำร้องขอและหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้นต่อพนักงานอัยการโดยไม่จำเป็นต้องส่งตัวผู้ต้องหา โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อน เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้น ทั้งนี้ให้รายงานไว้ในคำร้องขอ ว่าผู้ต้องหาได้ถูกขังโดยศาลอยู่แล้วตามคำร้องฝากขังที่…………….ลงวัน เดือน ปีใดด้วย

3. กรณีที่ผู้ต้องหาเห็นว่า หากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว บุคคลซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาสืบเป็นพยานของตนจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร อันทำให้เป็นการยากแก่การที่จะนำบุคคลนั้นมาสืบในภายหน้า ถ้าเป็นกรณีผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนจะยื่นคำร้องโดยผ่าน พงส.ก็ได้ เพื่อดำเนินการต่อไปตาม (2) แล้วแต่กรณี

4. คำร้องขอให้มีการสืบพยานไว้ก่อนให้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิด เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานไว้ก่อน ตามแบบคำร้องขอสืบพยานไว้ก่อน ตามแบบท้ายระเบียบฯ และให้รวมไว้ในสำนวนการสอบสวน

(3.6) พยานที่มีเอกสิทธิ์ทางการทูต 

1. หากประสงค์จะสอบสวนบุคคลซึ่งเป็นทูต หรืออยู่ในคณะทูตที่มีเอกสิทธิทางการทูตเป็นพยานต้องรายงานกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) สั่งการก่อน จะออกหมายเรียก หรือเชิญตัวมาสอบสวนเป็นพยานโดยพลการไม่ได้

2. ถ้าได้รับอนุมัติให้สอบสวนบุคคลดังกล่าวเป็นพยานได้ หากจำเป็น

ต้องใช้ล่ามก็ให้สอบสวนล่ามและผู้ที่นั่งฟังการสอบสวนเป็นพยานด้วยว่า ได้ฟังพยานนั้น ๆ ให้การอย่างไร ด้วยอาการอย่างไร ทั้งนี้หากว่าพยานกลับไปประเทศของตน ก่อนที่ไปเบิกความที่ศาล หรือกลับใจอ้างเอกสิทธิในภายหลัง จะได้ส่งคำให้การของพยาน และนำล่ามหรือผู้ที่ฟังการสอบสวนเข้าสืบชั้นศาลต่อไป

(3.7) พยานที่เป็นใบ้ หูหนวก 

1. ต้องใช้ล่าม โดยล่ามต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อน

2. พยานที่เป็นใบ้ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้การ

3. ถ้าคนใบ้อ่านหนังสือได้ ควรใช้วิธีเขียนหนังสือถาม และให้คนใบ้ เขียนหนังสือตอบก็จะได้ความดีขึ้น

4.. อ่านคำให้การให้ล่ามและพยานที่เป็นใบ้ฟังให้ล่ามและคนใบ้ลงลายมือชื่อไว้

อนึ่ง พยานที่เป็นใบ้นั้น ถ้าไม่ใช่ตัวผู้เสียหายซึ่งจะต้องสอบสวนเป็นพยานเสมอแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่สอบสวนเป็นพยาน เพราะยุ่งยากและอาจได้ผลแก่คดีน้อย

(ป.วิ แพ่ง มาตรา 95 , วิ อาญา มาตรา 15)

(3.8) พยานแพทย์หรือผู้ชำนาญการพิเศษ

พยานประเภทนี้ซึ่งได้ออกรายงานผลการตรวจไว้แล้วไม่จำเป็นต้องสอบปากคำอีกเว้นแต่มีประเด็นต้องสอบสวนนอกเหนือจากรายงานผลการตรวจหรือมีประเด็นอื่นที่ยังไม่สิ้นสงสัย

(ป. วิ อาญา มาตรา 243, - หนังสือ คด.ตร.ที่ 0004.6/10940 ลง 3 ก.ย.2545 เรื่องแนวทางการปฏิบัติในการทำสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม)

พยานซึ่งเป็นแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ หรือชันสูตรบาดแผลผู้เสียหายนั้น ควรทำความเห็นตามหลักวิชาการแพทย์ ถึงสาเหตุที่ตายหรือความเห็นในลักษณะบาดแผลนั้นว่า รักษากี่วันหาย เป็นอันตรายธรรมดาหรืออันตรายสาหัสไว้ด้วย

(3.9) พยานที่เป็นเด็กอ่อนอายุ 

1. กฎหมายไม่กำหนดว่าบุคคลใดจึงจะเป็นพยานได้หรือไม่ได้ เพียงแต่ระบุว่าถ้าบุคคลนั้นสามารถเข้าใจและตอบคำถามได้และเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้น มาด้วยตนเองโดยตรง ก็ให้รับฟังเป็นพยานได้

(ป.วิ แพ่ง มาตรา 95 , ป. วิ อาญา มาตรา 15)

ฉะนั้น แม้เป็นเด็กอ่อนอายุ ถ้าสามารถเข้าใจและตอบคำถามได้ และรู้เห็นเหตุการณ์ในคดีก็อาจสอบสวนเป็นพยานได้

2. เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้การ

3. ต้องสร้างบรรยากาศในการซักถามเพื่อมิให้เด็กประหม่า หรือตกใจกลัวจนเสียผลในการให้ข้อเท็จจริง ด้วยการตั้งคำถามง่าย ๆ และให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กนั่งฟังการสอบสวนด้วย

4. ต้องสอบสวนปากคำบิดามารดา หรือผู้ปกครองเด็กไว้ด้วยว่า เมื่อเห็นเหตุการณ์ในคดีแล้ว เด็กได้เล่าเรื่องที่พบเห็นได้ฟังอย่างไรบ้างหรือไม่

5.ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ตั้งแต่สามปีขึ้นไปหรือในคดีที่โทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสามปี และผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กร้องขอ หรือในคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย

ให้เป็นหน้าที่ของ พงส.ที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการทราบ

นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการ ที่เข้าร่วมในการถามปากคำ อาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น

การถามปากคำเด็กให้ พงส.จัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าว ซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน ประการนี้ให้บันทึกไว้ในบันทึกคำให้การพยานเด็กหรือผู้เสียหายเด็กด้วย

ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควร ไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้ ให้ พงส.ถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวข้างต้นอยู่ร่วมด้วยก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวนและมิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(3.10) พยานที่เป็นพระภิกษุหรือสามเณรในพระพุทธศาสนา 

1. อย่าเรียกหรือนิมนต์พยานมาที่สถานีตำรวจ เว้นแต่พยานจะเต็มใจมาเอง และอย่าออกหมายเรียก เพราะหมายนั้นไม่มีสภาพบังคับเนื่องจากพยานมีเอกสิทธิที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียก

2. ก่อนถามปากคำ ไม่ต้องให้พยานสาบานหรือปฏิญาณตนเพราะพยานมีเอกสิทธิที่จะไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้การ

3. อธิบายให้พยานทราบว่า พยานมีเอกสิทธิที่ไม่ไปให้การเป็นพยานศาล และมีสิทธิที่จะไม่เบิกความได้ แล้วสอบถามพยานให้แน่ใจว่าพยานจะไม่ใช้เอกสิทธิดังกล่าว จึงบันทึกคำพยานไว้

(3.11) คำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตาย 

ก. คำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายนั้น หมายถึงถ้อยคำที่ผู้ตายได้กล่าวไว้ต่อ

ผู้ใกล้ชิด หรือเจ้าพนักงานก่อนตาย ซึ่งโดยปกติก็นำผู้ที่รับฟังคำบอกเล่านั้นมาให้การหรือเบิกความต่อศาล จึงถือเป็นพยานบอกเล่า แต่ศาลรับฟังหากว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ต้องนำสืบเพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดีที่ต้องบาดเจ็บหรือถูกประทุษร้ายถึงตายเท่านั้น

(2) ผู้กล่าวได้รู้สึกตัวดีว่ากำลังใกล้จะตาย

(3) ความตายนั้นใกล้จะถึง คำกล่าวที่จะรับฟังนั้นจะรับฟังเฉพาะถึงเหตุในการที่ต้องบาดเจ็บหรือถูกประทุษร้ายเท่านั้น

ข. ในกรณีที่ พงส. เป็นผู้บันทึกถ้อยคำของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายไว้ด้วยตนเอง

มีหลักเกณฑ์ในการบันทึกดังนี้

1) บันทึกถึงความรู้สึกของผู้ถูกทำร้ายใกล้จะตายว่า

- เขากำลังใกล้จะตายเพราะบาดแผลที่ถูกทำร้าย

- ในขณะที่ให้การหรือเล่าเหตุการณ์อันร้ายแรงให้ฟังนี้เขายังมีสติอยู่

- ให้ผู้นั้นลงชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ท้ายคำให้การ

2) บันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ไว้คือ

- ชื่อและตำบลที่อยู่ ที่ถูกต้องของผู้ใกล้ตาย

- วันเดือนปี และเวลาที่ถูกทำร้าย

- ใครเป็นผู้ทำร้ายด้วยอาวุธใด

- ถูกทำร้ายตรงไหน ก่อนหลังอย่างไร

- สาเหตุที่ถูกทำร้ายกับใคร

- ผู้ทำร้ายเป็นใครบ้าง จำได้หรือไม่

- รูปพรรณของผู้ทำร้ายมีรูปร่างอย่างไร

- ข้อเท็จจริงอื่น ๆ เพิ่มเติม

3) คำให้การของบุคคลผู้ใกล้จะตายนั้น ให้อ่านให้ผู้ใกล้ตายฟังต่อหน้า พยานอย่างน้อย 1 คน และ พงส. และพยานจะต้องลงชื่อกำกับไว้ทันที

ค. ถ้า พงส. ไม่ได้สอบปากคำผู้ถูกทำร้ายก่อนตายไว้ ให้สอบสวนผู้ที่ได้รับคำบอกเล่าเช่นนั้นไว้ โดยหลักการเช่นเดียวกันที่กล่าวมาข้างต้น

ดังนี้ พงส. จะต้องรีบไปสอบสวนผู้ที่ถูกทำร้ายโดยเร็ว ด้วยเหตุที่คำให้การของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายนั้น ศาลรับฟัง หากไปสอบสวนแล้วแต่ปรากฏว่าผู้ถูกทำร้ายดังกล่าวยังไม่ตายแต่ไม่อาจให้ถ้อยคำได้ เช่น หมดสติ หรืออาการหนักหรือแพทย์กำลังช่วยชีวิตอยู่ ดังนั้น พงส.จะต้องบันทึกเหตุขัดข้องนี้ไว้ แล้วให้พยานที่ทราบเหตุดังกล่าวนี้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ในบันทึกนั้นด้วย

(3.12) การส่งประเด็นหรือให้ พงส.อื่นสอบสวนพยานแทน 

1. การใดในการสอบสวนอยู่นอกเขตอำนาจของตน พงส.มีอำนาจจะส่งประเด็นไปให้ พงส.อื่น ซึ่งมีอำนาจการนั้นจัดการได้

2. การส่งประเด็นนั้น พงส. ผู้รับผิดชอบเป็นผู้จัดส่งไปควรสำเนาคำให้การของผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ กับสำเนาคำให้การผู้ต้องหาส่งไปด้วย และถ้าจะแจ้งประเด็นซักถามหรือข้อความที่ควรซักถามไปให้ผู้รับประเด็นทราบด้วยก็จะเป็นการสะดวกแก่ผู้รับประเด็นมากขึ้น

( ป.วิ อาญา มาตรา 128)
Read more ...

ศาลปกครองกับการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน

15/8/53
โดยชินานนท์ วงศ์วีระชัย เมื่อ 29/06/2553 www.forlayman.com


ในการสอบสอนคดีอาญานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน   ผู้ที่จะเป็นพนักงานสอบสวนได้ก็คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ   ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเป็นพนักงานสอบสวน   มีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ
    
การสอบสวนก็คือ การรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับความผิดที่มีการกล่าวหา   เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด   และเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ   ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงอาจออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ   หรืออาจจะขอให้ศาลออกหมายค้นเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ    หรือขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อเอาตัวผู้ต้องหามาเพื่อดำเนินคดีต่อไปก็ได้   และขั้นตอนสุดท้ายคือ การสั่งคดีว่าควรจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่   ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจได้ตามความเหมาะสมตามกรอบที่กฎหมายกำหนด
    
ศาลปกครองนั้น มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำต่างๆของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่   แต่ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปปฏิบัติการในเรื่องนั้นๆเสียเอง   ดังนั้น การเข้าไปใช้ดุลพินิจสั่งการในเรื่องนั้นๆเสียเอง ศาลปกครองไม่สามารถกระทำได้   คงวินิจฉัยว่าการดำเนินการในเรื่องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น   แต่ถ้าพนักงานสอบสวนละเลยต่อหน้าที่หรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่   ศาลปกครองสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
    
คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๙๐/๒๕๕๒   การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีอาญานั้น   เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม

-กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและ
-ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับคดี   ประกอบกับ
-ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   

เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน(ผู้ถูกฟ้องคดี)   กล่าวโทษพี่สาวของผู้ฟ้องคดีและเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาว่ายักยอกฉ้อโกงทรัพย์มรดก   แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการใดๆ   จึงเป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยหรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่   อันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ   หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร   คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
    
แต่ถ้าเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน   เกี่ยวกับการดำเนินคดีหรือการรวบรวมพยานหลักฐานใดๆหรือการสั่งคดี   พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจกระทำการอย่างใดก็ได้ตามที่เห็นสมควรตามกรอบของกฎหมาย   อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   กรณีเหล่านี้ย่อมอยู่ในการตรวจสอบของศาลยุติธรรม   ไม่ใช่ศาลปกครอง(คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๙๙/๒๕๕๐)
    
สำหรับกรณีที่พนักงานสอบสวนกระทำละเมิด   เช่น กรณีที่พนักงานสอบสวนยึดรถของผู้ฟ้องคดีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย   เมื่อผู้ฟ้องคดีขอรับรถคืนแล้วไม่คืนให้   และรถยนต์ถูกจอดทิ้งไว้โดยไม่มีการดูแลรักษา   เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีรถยนต์ใช้และรถยนต์ได้รับความเสียหาย   จึงเป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่า พนักงานสอบสวนกระทำละเมิดของผู้ฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา   คดีอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม   ไม่ใช่ศาลปกครองเช่นเดียวกัน(คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๖๖/๒๕๕๒)
Read more ...

"คดีเสร็จเด็ดขาด" กับ "คดีถึงที่สุด" ต่างกันอย่างไร

10/8/53
คดีเสร็จเด็ดขาด หมายความว่า คดีที่ศาลได้มีการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและได้มีคำพิพากษาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากคู่ความไม่พอใจก็อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้อีก แต่ต้องอุทธรณ์ ฎีกาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกาด้วย

ตัวอย่าง ฎีกาเกี่ยวกับคดีเสร็จเด็ดขาด 
ฎีกาที่ 977/2466 
นางนวม ไพโรจน์ จ. 
นางชัง นางถมยา ล.
กฎหมายที่ใช้ วิธีพิจารณาแพ่ง รื้อร้องฟ้องคดีเรื่องเดียวกัน วางหลักเรื่องคดีเสร็จเด็ดขาด

ย่อยาว
โจทย์ฟ้องเรียกเงินกล่าวว่า จำเลยรับเงินค่าซื้อไม้ซุงเกินไปรวมทั้งดอกเบี้ยด้วยเปนเงิน ๔๐๘๐ บาท ขอให้คืน จำเลยให้การปฏิเสธแก้ว่า เมื่อคิดบาญชีกันแล้ว โจทย์ยังคงเปนณี่จำเลยอีก ดังที่จำเลยที่ ๑ ได้ฟ้องแล้วที่ศาลจังหวัดศุโขทัย

ฎีกาตัดสินว่า ต้องวินิจฉัยตามข้อตัดฟ้องที่จำเลยแก้นี้เสียก่อนว่า ณี่สินรายนี้จะเปนรายเดียวกับที่จำเลยได้ฟ้องโจทย์ที่ศาลจังหวัดศุโขทัยฤาไม่ การที่จะวินิจฉัยว่า คดีเสร็จเด็ดขาดฟ้องอีกไม่ได้ มีหลักคือ

๑. ประเด็นข้อทุ่มเถียง ทั้งเรื่องก่อนเรื่องนี้ต้องเหมือนกัน (มีที่สังเกตุว่าพยานชุดเดียวกันนั้นจะค้ำจุนอุดหนุนคดีทั้ง ๒ เรื่องได้ฤาไม่)

๒. คู่ความเรื่องหลังต้องเปนคู่ความหรือเปนผู้เกี่ยวข้องกับคดีเรื่องก่อน

๓. ประเด็นข้อทุ่มเถียงกันในคดีเรื่องก่อนนั้นศาลมีอำนาจได้พิพากษาเด็ดขาดไปแล้ว

เมื่อได้พิจารณาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าคดีเข้าหลักทั้ง ๓ หลักที่กล่าวมาข้างต้น คือประเด็นทั้ง ๒ คดีเปนประเด็นอันเดียวกัน คู่ความคน ๆ เดียวกัน แลในคดีเรื่องก่อนศาลฎีกาได้พิพากษาเด็ดขาดไปแล้วตามฎีกาที่ ๕๕๓/๖๖ ว่าโจทย์เปนณี่จำเลย จึงพิพากษาว่าคดีโจทย์ต้องด้วยบทห้ามตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ.๑๒๗ ให้ยกฎีกาโจทย์แลยกฟ้องโจทย์ ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฯ

องค์คณะ
จินดา.นรเนติ.หริศ.
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน
ศาลชั้นต้น -
ศาลอุทธรณ์ -


ฎีกาที่ 331/2479 
โจทก์ฟ้องผู้กู้แลผู้ค้ำประกัน ผู้กู้ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ค้ำประกันมาทำยอมความต่อศาลฯได้ พิพากษาให้เป็นไปตามยอมแล้ว และจัดการยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกันได้ไม่พอดังนี้ โจทก์มาฟ้องเรียกเงินที่ขาดจากผู้กู้ได้อีก ไม่นับว่าผู้กู้ได้หลุดพ้นความรับผิดและไม่นับว่าเป็นคดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว


ฎีกาที่ 1777/2506 
จำเลยถูกฟ้องยังศาลทหารฐานทำร้ายร่างกายและศาลพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ต่อมาอัยการยังฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายอีก โดยเอาการทำร้ายร่างกายครั้งเดียวกันนั่นเองมาเป็นองค์ความผิดของคดีหลังนี้ด้วย ดังนี้ ต้องถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ฎีกาที่ 1499/2531 
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาหมิ่นประมาทโดยจำเลยทั้งสองกับพวกทำหนังสือใส่ความโจทก์ซึ่งเป็นกำนันร้องเรียนต่อนายอำเภอ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์จะนำการกระทำอันเดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกในข้อหาแจ้งความเท็จกล่าวหาโจทก์ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้แม้ประเด็นในคดีทั้งสองนี้จะต่างกันก็ตาม สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แล้ว

คดีถึงที่สุด หมายความว่า คดีที่ศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีนั้นไปแล้ว แต่คู่ความมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ หรือฎีกา คำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือ ศาลอุทธรณ์ ดังกล่าวจนล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ หรือฎีกาแล้ว ผลแห่งคดีที่ถึงที่สุดย่อมต้องเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในกรณีที่มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ หรือเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในกรณีที่มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ รวมทั้งในกรณีที่มีการใช้สิทธิอุทธรณ์และได้มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วโดยกฎหมายบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ผลแห่งคดีที่ถึงที่สุดย่อมต้องเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และในกรณีที่ใช้สิทธิฎีกา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีนั้น คดีย่อมถึงที่สุดไปตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัย 

ตัวอย่างคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีถึงที่สุด 

ฎีกาที่ 2224/2547 
ในคดีอาญาโจทก์และจำเลยจะขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาตามยอมหาได้ไม่  คดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองสำนวนถอนฟ้องได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และมีผลให้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองระงับไปด้วยในตัว 

ฎีกาที่ 853/2490 
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งไม่มีฝ่ายใดฎีกาคัดค้านและไม่มีทางใดที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉะบับนั้นได้ ต้องถือว่าถึงที่สุด เมื่ออ่านให้คู่ความฟังแล้ว
ในคดีความผิดส่วนตัวเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้อง แต่คดีไม่มีการยื่นฎีกานั้น ศาลจะสั่งให้คดีระงับไม่ได้ โดยถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว
Read more ...

ศาลแพ่ง พิพากษา สตช.แพ้คดี สั่งจ่าย 2.5 แสนละเมิดผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา หลังทำสำนวนคดีหมิ่นประมาทล่าช้า

10/8/53
โดยหนังสือพิมพ์แนวหน้า

ที่ ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 22 ส.ค.51 ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำหมายเลขที่ 2283/2550 ที่

นาย xxx ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 

เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง 

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)  
2. พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.  
3. พล.ต.อ.ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ ผช.ผบ.ตร. 
4. พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ผบช.น.
5. พล.ต.ต.อำนาวย นิ่มมะโน ผบก.น.2 และ
6. พ.ต.อ.วราวุธ ทวีชัยการ ผกก.สน.พหลโยธิน (ทั้งหมดตำแหน่งขณะฟ้องเมื่อปี 50 ) 

เป็นจำเลยที่ 1 - 6 เรื่องละเมิด 

เรียกค่าเสียหายทุนทรัพย์ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี

ตามคำฟ้องระบุว่าเมื่อวันที่ 14 ม.ค.48 โจทก์ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ขอให้ดำเนินคดีกับ

นายชัยเจริญ ดุษฎีพร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในขณะนั้น

ในข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีนายชัยเจริญ ทำหนังสือถือเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่าโจทก์มักจะสร้างความหวั่นไหวแก่องค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยการที่โจทก์ทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาองค์คณะซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่น่าจะถูกสอบสวนมากกว่าจะสอบสวนผู้ที่โจทก์ร้องเรียน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จและใส่ความโจทก์ต่อเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมให้เข้าใจว่าโจทก์เป็นข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ดีที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง โดยพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้ 

โดย พล.ต.ต.อำนวย จำเลยที่ 5 มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.วราวุธ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนลงรายงานประจำวันรับคดีไว้เป็นหลักฐานในเบื้องต้นเพราะเห็นว่าเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 6 กลับไม่ลงรายงานไว้เป็นหลักฐานและไม่เรียกนายชัยเจริญ ผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งไม่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาเมื่อมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและเพิกเฉยไม่ดำเนินการทำความเห็นสั่งคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ สตช.จำเลยที่หนึ่งกำหนดเป็นระเบียบราชการเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2532 ซึ่งการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีอันเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์ทำหนังสือลงวันที่ 26 ต.ค.48 ร้องเรียนไปยังจำเลยที่ 2,4และ5 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 5 แสนบาท ต่อมา วันที่ 22 ธ.ค.48 โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลย 2,4 ขอทราบผล รวมทั้งเรื่องการทำความเห็นสั่งคดีที่โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ไว้

ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.48 จำเลยที่ 5 แจ้งให้โจทก์ทราบผลความเห็นสั่งคดีว่าคณะพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายชัยเจริญ ผู้ต้องหาเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้องโดย พ.ต.อ.พัลลภ สุวรรณบัตร รอง ผบก.น.2 ปฏิบัติหน้าที่แทน ผบก.น.2 ก็ได้พิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นพ้องด้วยว่า คณะทำงานสอบสวนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อสองฝ่ายไปแล้วจึงมีความเห็นควรยุติเรื่องซึ่งได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นดังกล่าวไปยัง กองบัญชาการตำรวจนครบาลแต่จำเลยที่ 5 ไม่ได้ออกใบรับคำขอให้โจทก์รับไว้เป็นหลักฐานให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 11 

ซึ่งการที่จำเลยที่ 5 มีความเห็นควรยุติเรื่องไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นขัดแย้งกับคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือลงวันที่ 14 ก.พ.49 แจ้งให้โจทก์ทราบผลเรื่องขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและชดใช้ค่าสินไหมว่า จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดประกอบด้วย

-รอง ผบก.น.2,
-รอง ผกก.อก.บก.น.2,
-สว.สส.สน.พหลโยธิน

ซึ่งโจทก์ก็ได้ทำหนังสือลงวันที่ 21 ก.พ.49 ถึงจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดกับจำเลยที่ 4 - 6 ขณะที่จำเลยที่ 3 กลับให้คณะกรรมการดังกล่าวสอบข้อเท็จจริงต่อไปเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้เรียกโจทก์เข้าไปสอบปากคำในฐานะผู้ร้องเรียนให้ถูกต้องตามระเบียบราชการว่าด้วยการสอบสวน รวมทั้งการสอบข้อเท็จจริงยังมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิดซึ่งเป็นพวกเดียวกันโดยระบุว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีอันเป็นการจงใจรวมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงขอให้จำเลยที่ 1 - 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 5 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 6 เป็นพนักงานสอบสวนระดับผู้กำกับการต้องรู้ดีว่าข้อความที่นายชัยเจริญกล่าวถึงโจทก์และโจทก์เข้าแจ้งความร้องทุกข์เป็นปัญหาว่าจะเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์หรือไม่การที่จำเลยที่ 6 มาด่วนใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายชัยเจริญจึงไม่ถูกต้องสมเหตุสมผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ควรจะเป็น การใช้ดุลยพินิจทำความเห็นสั่งคดีของจำเลยที่ 6 ย่อมเป็นการมิชอบ 

ซึ่งแม้การทำความเห็นเป็นการใช้ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่จำเลยทั้งหกให้การไว้ แต่การใช้ดุลยพินิจนั้นต้องอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและให้ถูกต้องสมเหตุสม

ผลการกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีเพราะนอกจากจะมีความล่าช้าในการสอบสวนโดยไม่มีความจำเป็นแล้วโจทก์ยังอาจเสียสิทธิในการนำคดีเข้าสูงกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล

ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 6 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ และคดีไมจำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องที่โจทก์กล่าวหาในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 6 ไม่ลงรายงานประจำวันรับคดีไว้เป็นหลักฐาน ไม่เรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหาและไม่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์อีกหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนจำเลยที่ 2-5 ศาลเห็นว่าขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 6 ดังนั้นจึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่มีความเห็นพ้องด้วยกับจำเลยที่ 6 ในการทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เป็นการร่วมกันกับจำเลยที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 ด้วย

โดยคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพียงใด ศาลเห็นว่าแม้จำเลยที่ 6 จะทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาโดยจำเลยที่ 2 - 5 เห็นพ้องด้วยแต่เมื่อจำเลยที่ 6 เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นดังกล่าวไปที่พนักงานอัยการ พนักงานอัยการกลับได้สั่งฟ้องนายชัยเจริญ เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือ จึงเห็นว่าเมื่อมีการนำคดีเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่านายชัยเจริญกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ถือได้ว่าความเสียหายของโจทก์ได้รับการบรรเทาไปบ้างแล้วจึงเหลือเพียงความเสียหายจากความล่าช้าในการสอบสวนโดยไม่มีความจำเป็นเท่านั้น 

ศาลจึงเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 2 - 6 เป็นการกระทำซึ่งสังกัดจำเลยที่ 1ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 2- 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยตรง แต่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 2 -6 

จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 250,000 บา พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องคดี 15 มิ.ย.49 และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์รวมทั้งค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้ยกฟ้อง
Read more ...

ศาลแพ่งสั่ง ตร.จ่าย 2.5แสน สอบสวนคดีช้า เป็นการละเมิดผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้พิพากษา

10/8/53



โดยมติชน เมื่อ 22 ส.ค.2551

ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ศาลพิพากษาให้

- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.),
- พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.,
- พล.ต.อ.ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.,
- พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ผบช.น.,
- พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผบก.น.2 และ
- พ.ต.อ.วราวุธ ทวีชัยการ ผกก.สน.พหลโยธิน ยศและตำแหน่งขณะฟ้อง เมื่อปี 2550 จำเลยที่ 1-6 เรื่องละเมิด

โดยให้ ตร.จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 250,000 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง ให้กับ

นาย xxx ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โจทก์ 

ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้ยกฟ้อง

คดีนี้นายประทีปยื่นฟ้องสรุปว่า

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2548 โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ขอให้ดำเนินคดีกับ

นายชัยเจริญ ดุษฎีพร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขณะนั้น
ในข้อหาหมิ่นประมาท แต่จำเลยที่ 6 กลับไม่ลงรายงานไว้เป็นหลักฐานและไม่เรียกนายชัยเจริญมาแจ้งข้อกล่าวหา รวมทั้งไม่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาเมื่อมาปรากฏตัว และเพิกเฉยไม่ทำความเห็นสั่งคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี อันเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ จึงขอให้จำเลยที่ 1-6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 5 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 2-6 เป็นการกระทำซึ่งสังกัดจำเลยที่ 1 ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 2- 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยตรง

แต่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 2-6 จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องคดี 15 มิถุนายน 2549 ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้ยกฟ้อง
Read more ...

กรณีการออกหมายจับผู้พิพากษา

10/8/53
โดยหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เมื่อ 11 ก.พ.2553

ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร้อง ก.ต.สร้างบรรทัดฐาน ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบออกหมายจับ “ สุนัย มโนมัยอุดม” อดีตอธิบดีดีเอสไอ คดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าข่ายแทรกแซงตุลาการหรือไม่ ขณะที่อดีตหัวหน้าศาลแจงข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย

กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งอนุกรรมการสอบสวน 

พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ์ วาพันสุ รอง ผกก.สส.สภ.วังน้อย ,
พ.ต.อ.ธาตรี ตั้งโสภณ รอง ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา และ
นายอิทธิพล โสขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ทั้งหมดยศและตำแหน่งขณะนั้น) 

กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีร่วมกันขอออกหมายจับและอนุญาตให้ออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ต้องหา             


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพล ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ว่า การออกหมายจับเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่จะต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน และบางครั้งส่วนใหญ่ก็มิได้ออกหมายเรียกก่อนทุกครั้ง หรือมิได้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นแต่อย่างใด การออกหมายจับครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่ปกติ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ต้องหาที่เป็นอดีตผู้พิพากษาผู้ใหญ่ และไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนแต่ประการใด 


จึงได้มีการปรึกษาผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และรายงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ซึ่ง


หากมีกรณีที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือคำพิพากษาใดๆออกไปแล้ว ฝ่ายที่แพ้คดีหรือเสียประโยชน์ จะอาศัย พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ยื่นคำร้องขอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการหรือกรรมการไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่ปกติของผู้พิพากษาที่ทำงานพิจารณาคดีในสำนวนแล้วจะเป็น


-การแทรกแซง หรือ
-ก้าวล่วงอำนาจตุลาการหรือไม่ และ
-จะก่อให้เกิดความหวั่นไหวหวาดกลัวต่อผู้พิพากษาหรือไม่ 


จึงขอหารือว่า หากได้รับหมายเรียกให้ไปให้ถ้อยคำที่สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อผู้พิพากษาท่านอื่นที่จะต้องถูกไต่สวนเป็นลำดับต่อไป


ขณะที่


นายสุทัศน์ สงวนปรางค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง 

ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะมีการออกหมายจับนายสุนัย ทำบันทึกข้อความชี้แจ้งเรื่องการออกหมายต่อ

นายชาติชาย อัครวิบูลย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง 

ระบุว่า มูลเหตุเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.50 หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์นายสุนัย ซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท จึงมอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความที่ สภ.วังน้อย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการและขออนุมัติหมายจับต่อศาลจังหวัดพระนครศรี อยุธยา 

น.ส.จินดาพร เมื่องอำ ผู้พิพากษาเวร

ออกหมายได้มาปรึกษาตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นอดีตผู้พิพากษา ตนจึงได้เรียกประชุมผู้พิพากษาเพื่อระดมความคิดเห็นประกอบการใช้ดุลพินิจ และโทรศัพท์ปรึกษา

นายฉัตรไชย ไทรโชติ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 

เห็นด้วยว่าควรให้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ก่อน จึงให้ยกคำร้อง

ข้าพเจ้าหาทางเพื่อจะแจ้งความลำบากใจของผู้พิพากษาที่จะต้องออกหมายจับอดีต ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ให้นายสุนัยทราบ กระทั่งมีโอกาสพบนายสุนัยที่มาส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับข้าพเจ้า จึงได้แจ้งถึงความจำเป็นและความลำบากใจและขอร้องให้ไปพบพนักงานสอบสวน แต่นายสุนัยยืนยันไม่ไป และยืนยันความเห็นของตนเองว่าไม่มีเหตุที่ศาลจะออกหมายจับได้

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติหมายจับอีกครั้ง แต่ศาลได้ยกคำร้อง กระทั่งมาขอออกหมายจับครั้งที่ 3 โดยมีหลักฐานการส่งหมายเรียกโดยชอบมาแสดง ซึ่งนายอิทธิพลเป็นผู้พิพากษาเวรออกหมาย ได้รอปรึกษาตนในประเด็นแง่มุมต่างๆทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน ระเบียบ คำสั่ง รวมทั่งข้ออ้างของผู้จะถูกจับอย่างละเอียดแล้ว จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ

สำหรับการพิจารณามีประเด็นสำคัญๆ อาทิ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอำนาจออกหมายจับหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ที่วางจำหน่ายทั่วราช อาณาจักร ความผิดจึงเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร เมื่อมีการร้องทุกข์ที่ สภ.วังน้อย ศาลจังหวัดอยุธยาจึงมีอำนาจชำระคดีนี้

มีเหตุและหลักฐานตามสมควรหรือยังว่านายสุนัยน่าจะได้กระทำความผิดทางอาญา เห็นว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยานฝ่ายผู้กล่าวหา 10 ปาก และเรียกมาสอบเพิ่มอีก 16 ปาก มีพยานให้การว่า การให้สัมภาษณ์ของนายสุนัยเป็นการนัดแถลงข่าวมีทั้งผู้สื่อข่าวในและต่าง ประเทศ มีบรรณาธิการ นสพ.มติชน ให้การว่า ไม่มีมีการตัดหรือเพิ่มข้อความให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด และมีพยานหลายปากเห็นว่าการแถลงข่าวดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำความผิด มีพนักงานสอบสวนดีเอสไอเห็นว่าไม่ควรมีการแถลงข่าวว่าบุคคลอื่นกระทำผิดโดย ที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน 

กรณีที่นายสุนัยอ้างว่า นสพ.เสนอข่าวไม่ตรงคำให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้ระบุว่าที่ถูกต้องเป็นเช่นไร และหากเชื่อมั่นความบริสุทธิ์น่าจะให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวน จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมดในชั้นนี้ จึงเข้าเงื่อนไขว่า นายสุนัยน่าจะได้กระทำความผิดอาญา

มีเหตุอันควรเชื่อว่านายสุนัยจะหลบหนีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ต้องหาขัดหมายเรียกจึงต้องถูกลงโทษโดยการออกหมายจับ เว้นแต่จะมีเหตุอันควร อาทิ เป็นทหาร หรือป่วยอัมพาต การอ้างว่าไม่ได้กระทำผิด ไม่ได้หลบหนีไปไหน ยังทำงานอยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวนไม่ใช่ข้อแก้ตัวอันควร

หมายจับเป็นหมายอาญาอย่างหนึ่ง จึงอยู่ในอำนาจและดุลพินิจของผู้พิพากษา นายเดียวที่จะพิจารณาและมีคำสั่งโดยอิสระ นายอิทธิพลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้โดยลำพัง แต่เพื่อความรอบครอบได้ปรึกษากับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลก่อน จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่อย่างละเอียดรอบครอบโดยชอบและเหมาะสมทุกประการ แล้ว 

แต่ต่อมานายสุนัย ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ และพนักงานสอบสวนยื่นฎีกา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แล้วนายสุนัยร้องเรียน ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการสอบดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบต่อผู้พิพากษาโดยรวม น่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้พิพากษา และผู้พิพากษาควรจะได้รับทราบมูลเหตุเบื้องต้นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จึงเห็นสมควรส่งข้อมูลของข้าพเจ้านี้ ใช้เป็นข้อมูลชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้พิพากษาตามความเหมาะสมและโอกาสต่อไป
Read more ...

ศาลฎีกายืนจำคุก1ปีรองอธิบดีอัยการฯ

10/8/53
โดยไอเอ็นเอ็นนิวส์ 

ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาธนบุรี ในความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี

ศาลอาญา ธนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีที่

นาย xxx ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา 

เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

นายสุกรี สุจิตตกุล รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 

ในความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม กรณีจำเลยไม่สั่งฟ้อง 

บ.สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และ

นายประชา เหตระกูล บก.นสพ.เดลินิวส์ 

ในข้อหาหมิ่นประมาทโจทก์ และไม่สั่งฟ้อง 

นายบุญชัย สงวนความดี พ่อค้าผ้าตลาดพาหุรัด 

คู่กรณีของโจทก์ ที่ขับรถชนท้ายรถโจทก์ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 2,000 บาท แต่จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญามีกำหนด 1 ปี

เนื่องจากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 157 จริง และจำเลยยื่นฎีกาสู้คดี โดยระบุว่า การวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้อง บ.สี่พระยาการพิมพ์ นายประชา และนายบุญชัย เพราะพิจารณาถึงเจตนาแล้วพบว่า ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ อีกทั้งการใช้ดุลยพินิจก็เป็นไปโดยสุจริตใจ แต่ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างพนักงานอัยการพึงใช้ การใช้ดุลยพินิจจำเลยกรณีนี้ นับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการผู้สุจริตทั่วไป และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อีกทั้งไม่ได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ เกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คือ จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

นายสุกรี กล่าวยอมรับคำพิพากษาของศาลฎีกา แต่มั่นใจว่าได้ใช้ดุลยพินิจตามกรอบของกฎหมาย ต่อจากนี้ จะนำคำพิพากษาของศาลฎีกา เสนอให้นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (อสส.) ทราบ เพื่อพิจารณาแนวทางการทำงานของอัยการทั่วประเทศในอนาคต

โดยยอมรับว่า คำพิพากษาวันนี้ (5 ก.ย.) กระทบต่อการทำหน้าที่ของอัยการ เพราะอัยการมีหน้าที่หลายอย่าง ทั้งเรื่องวินิจฉัยสั่งคดี และการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ซึ่งมีอำนาจวินิจฉัยโดยอิสระ ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีอัยการจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นผู้ต้องหา ทั้งนี้ อยากฝากถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่กำกับดูแลอัยการ ขอให้ลงมาช่วยเหลือการทำหน้าที่ของอัยการให้มากขึ้นด้วย

คดีนี้สืบเนื่องจากวันที่ 4 ก.ย.2540 โจทก์ได้ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปส่งภรรยาและบุตร ที่ รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ระหว่างทางถูกรถของนายบุญชัย ชนท้าย โดยนายบุญชัย ได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายโจทก์ และทำผิดอาญาอีกหลายประการ ทั้งเรื่องการแจ้งความเท็จว่าโจทก์ทำร้ายนายบุญชัย และสร้างหลักฐานเท็จให้แพทย์ออกใบรับรองว่าโจทก์ทำร้ายนายบุญชัย โดยวันรุ่งขึ้น (5 ก.ย.) นสพ.เดลินิวส์ ได้พิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ใจความว่า 

”เป็นผู้พิพากษามีเรื่องทะเลาะวิวาทกับพ่อค้าผ้า โดยใช้กำลังประทุษร้ายกัน โดยทั้งคู่ถูกแจ้งความดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหา ซึ่งนายประทีป ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ประกันตัวออกไป” 

ข้อความที่พิมพ์ ถือว่าเป็นข้อความอันเป็นเท็จ เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหากับตน อีกทั้งตนและนายบุญชัย ก็ยังไม่ได้แจ้งความกล่าวหากัน ทำให้โจทก์ตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดี กับ นสพ.ฉบับดังกล่าว ข้อหาหมิ่นประมาท และพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
Read more ...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549

9/8/53
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549

นาย xxx โจทก์

นายสุกรี สุจิตตกุล จำเลย

จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมายและในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา200 วรรคหนึ่ง

การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดคือการใช้อำนาจในฐานะพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ผลของการกระทำของจำเลยคือ โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย

ตามฟ้องข้อ 1 (ก) แม้ข้อความว่า “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” จะอยู่ต่อจากและติดข้อความว่า “…ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์” กล่าวคือ เมื่ออ่านรวมกันมีข้อความว่า “…ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” แต่การทำความเข้าใจข้อความในคำฟ้อง ต้องทำความเข้าใจในข้อความดังกล่าวประกอบข้อความส่วนอื่น ๆ ของคำฟ้องด้วย ซึ่งเห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความสืบเนื่องจากการสั่งไม่ฟ้องคดีของจำเลยดังที่โจทก์บรรยายไว้อย่างชัดเจนในตอนต้น จึงเข้าใจได้อยู่ในตัวว่า ในการอ้างว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์หมายถึงเจตนาที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจสั่งฟ้องคดีของจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว
________________________________

โจทก์ฟ้อง ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นพนักงานอัยการ ชั้น 5 ตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม ปฏิบัติงานในหน้าที่อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4 สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคดีและดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ

(ก) เมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2541 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ระหว่างโจทก์ผู้กล่าวหา บริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ที่ 1 นายประชา เหตระกูล ที่ 2 ผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ตรวจสำนวนการสอบสวนพบว่าผู้ต้องหาทั้งสองร่วมกันลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ว่า

ในวันเกิดเหตุวันที่ 4 กันยายน 2540 เวลากลางวัน ภายหลังจากที่รถยนต์ของโจทก์ถูกรถยนต์ของนายบุญชัย สงวนความดี ชนที่ส่วนท้าย โจทก์ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันแจ้งข้อหาว่าทำร้ายร่างกายนายบุญชัยเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และโจทก์ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการประกันตัวไป ซึ่งข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง เพราะความจริงโจทก์ไม่ได้ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันแจ้งข้อหาและไม่มีกรณีที่โจทก์ต้องใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการประกัน

จำเลยในฐานะเป็นเจ้าของสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวย่อมรู้ดีว่าผู้ต้องหาทั้งสองกระทำความผิดร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยเอกสารจริง บังอาจวินิจฉัยสั่งคดีว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาของโจทก์ และมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองโดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะจำเลยรู้อยู่แล้วว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งในหน้าที่ราชการและฐานะส่วนตัว นอกจากนี้การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยผู้ต้องหาทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 อันมิใช่ความผิดลหุโทษเพื่อมิให้ต้องโทษ

(ข) เมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2541 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 31พฤษภาคม 2541 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้รับมอบหมายให้วินิจฉัยสั่งคดีสำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันระหว่างโจทก์ผู้กล่าวหา นายบุญชัย สงวนความดี ผู้ต้องหาข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ข้อหารู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดข้อหาทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดอาญาเกิดขึ้น ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนเพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่น (โจทก์) ต้องรับโทษ รวมทั้งความผิดทางอาญาข้อหาอื่น ๆ ด้วย

ได้ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนแล้วพบว่านายบุญชัยกระทำความผิดตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์จริง แต่จำเลยบังอาจวินิจฉัยสั่งคดีว่า นายบุญชัย สงวนความดี ผู้ต้องหาไม่มีเจตนาเพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่น (โจทก์) ต้องรับโทษแต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา174 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะที่ถูกต้องแล้ว จำเลยในฐานะพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนย่อมรู้ดีว่านายบุญชัยผู้ต้องหาได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์กระทำความผิดอาญา โดยมีเจตนาเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งในหน้าที่ราชการและในฐานะส่วนตัว ส่วนข้อหาอื่น ๆ จำเลยอ้างว่าอัตราโทษอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง

การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้การกระทำของจำเลยยังเป็นการช่วยนายบุญชัยผู้ต้องหา ซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา174 วรรคสอง อันมิใช่ความผิดลหุโทษเพื่อมิให้ต้องโทษ เหตุทั้งหมดเกิดที่สำนักงานอัยการพิเศษคดีอาญาธนบุรี 4 ถนนเอกชัย แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157, 165, 189 และ 200

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธว่า จำเลยวินิจฉัยสั่งคดีตามสำนวนการสอบสวนด้วยความสุจริตตามอำนาจหน้าที่ในฐานะพนักงานอัยการ จำเลยสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา เหตระกูล ข้อหาหมิ่นประมาทโจทก์เพราะบุคคลทั้งสองขาดเจตนาในการกระทำความผิด สั่งไม่ฟ้องนายบุญชัย สงวนความดี ข้อหาแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะนายบุญชัยมิได้มีเจตนาเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165, 189, 200 โจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา158 (5) ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุกหนึ่งปี และปรับสองพันบาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคหนึ่ง และมาตรา 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นพนักงานอัยการ ชั้น 5 ตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม ปฏิบัติงานในหน้าที่อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4 สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคดีและดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4 ส่วนโจทก์รับราชการเป็นข้าราชการตุลาการ ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2540 รถยนต์ของโจทก์ถูกรถยนต์ของนายบุญชัย สงวนความดี ชนท้าย ณ บริเวณสี่แยกอรุณอมรินทร์

โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันว่าถูกนายบุญชัยทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนควบคุมตัวนายบุญชัยไว้แล้ว ต่อมานายบุญชัยได้รับการประกันตัวไป นายบุญชัยได้แจ้งความกลับโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายตนจนได้รับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีโดยโจทก์มิได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ประกันตัวและในวันนั้นทั้งโจทก์และนายบุญชัยมิได้แจ้งความว่าอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความเท็จ

ในวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันศุกร์ที่ 5 กันยายน 2540 ซึ่งมีบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เป็นเจ้าของ และมีนายประชา เหตระกูล เป็นบรรณาธิการ ได้ลงข่าวกรณีโจทก์กับนายบุญชัยตามเอกสารหมาย จ. 6 โดยมีข้อพาดหัวข่าวว่า

“พิพากษาทะเลาะกับพ่อค้าผ้า”

 และมีข้อความในข่าว ดังนี้ “เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 4 ก.ย. ร.ต.ท. สุรการ ธานีรัตน์ ร้อยเวร สน. บางยี่ขัน รับแจ้งจากนายประทีป ปิติสันต์ อายุ 48 ปี ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ถูกนายบุญชัย สงวนความดี อายุ 46 ปี ทำร้ายร่างกาย โดยก่อนหน้านี้ขณะที่ขับรถเก๋งโตโยต้าสีฟ้า หมายเลขทะเบียน 1 ธ – 1280กรุงเทพมหานคร มาถึงบริเวณแยกอรุณอมรินทร์ ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย ถูกรถเบนซ์ของนายบุญชัยชนท้าย จึงลงมาดูความเสียหายจนมีการโต้เถียงกันแล้วถูกตบที่ต้นคอ จึงนำความเข้าแจ้งดังกล่าว

ในระหว่างนั้นนายบุญชัยพ่อค้าผ้าย่านพาหุรัดเดินทางมาที่ สน. ทราบว่าถูกแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายจึงแจ้งกลับโดยระบุว่า ถูกนายประทีปตบที่คอเช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอต่างยังแจ้งข้อหาแจ้งความเท็จเพิ่มกันอีกข้อหาหนึ่ง ทาง ร.ต.ท. สุรการจึงส่งทั้ง 2 คน ไปตรวจบาดแผลที่ ร.พ. ศิริราช พร้อมดำเนินคดีทั้งคู่ โดยนายประทีปใช้ตำแหน่งประกันตัวไป ส่วนนายบุญชัยใช้เงินสดจำนวน 70,000 บาท ในการประกันตัว แล้วต่างแยกย้ายกันกลับไป”

สืบเนื่องจากข่าวนี้โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันกล่าวหาบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาว่าร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้วได้ส่งความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 4สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา จำเลยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสำนวนและวินิจฉัยสั่งสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าว จำเลยพิจารณาสำนวนการสอบสวนพร้อมด้วยความเห็นของพนักงานสอบสวนแล้ว มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาตามเอกสารหมาย จ. 11 โดยอ้างเหตุผลว่า ลักษณะการลงข่าวย่อยมีการพาดหัวข้อสั้น ๆ

ส่วนเนื้อหาก็มีลักษณะเป็นการสรุปข่าวสั้น ๆ มิได้ตีพิมพ์อย่างเอิกเกริกหรือพาดหัวในหน้าหนึ่งให้ผิดปกติแต่อย่างใด และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแจ้งความดำเนินคดีระหว่างผู้เสียหาย (โจทก์) กับนายบุญชัยที่สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ก็ปรากฏว่ามีการแจ้งความซึ่งกันและกันตามข่าวจริง และในสำนวนการสอบสวนที่เกี่ยวข้องทั้งโจทก์และนายบุญชัยก็ตกเป็นผู้ต้องหาจริงเพียงแต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษามิได้ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบสวนคำให้การในฐานะผู้ต้องหาและมิได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวไปตามข่าวที่เสนอเท่านั้น ลักษณะการลงข่าวทำให้เห็นได้ว่าเป็นการลงข่าวและคาดคะเนสรุปของข่าวว่าเป็นกรณีทั่ว ๆ ไปของการตกเป็นผู้ต้องหาเท่านั้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองเรื่องใดกับโจทก์มาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะต้องแกล้งใส่ความโจทก์ในการพิมพ์โฆษณาเช่นนั้น และสรุปสำนวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองตามข้อกล่าวหาตามความเห็นของพนักงานสอบสวน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่

ในปัญหานี้จำเลยฎีกาข้อ 2.1 ข้อ 2.2 ข้อ 2.3 ข้อ 2.4 ข้อ 2.5 และข้อ 2.6 มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า

การวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด จำเลยมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา เหตระกูล เพราะพิจารณาถึงเจตนาของผู้ต้องหาทั้งสองแล้วว่าไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ การใช้ดุลพินิจของจำเลยเป็นไปด้วยความสุจริตใจ ซึ่งการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีนี้เป็นอิสระของจำเลยและอาจแตกต่างจากศาลอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดโดยอาศัยเหตุที่ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับดุลพินิจของจำเลยเป็นการมิชอบและนำมาซึ่งความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่าย ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นในเบื้องต้นว่า

ในฐานะพนักงานอัยการที่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยย่อมมีอิสระที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการตามความเห็นของตนได้โดยไม่มีการอ้างได้ว่าการใช้ดุลพินิจไปในทางใดเป็นการชอบหรือมิชอบ เพราะการใช้ดุลพินิจในกรณีเดียวกัน พนักงานอัยการอาจวินิจฉัยคดีไปคนละทางได้ ความถูกต้องเหมาะสมของดุลพินิจเป็นเรื่องของกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 145 กำหนดว่าในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไม่ฟ้องไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจเพื่อพิจารณาเป็นต้น

ในกรณีนี้แม้การวินิจฉัยของพนักงานอัยการและการวินิจฉัยของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจจะแตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องของความมีอิสระของแต่ละฝ่ายที่ไม่อาจถือได้ว่าการวินิจฉัยของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นการมิชอบ อย่างไรก็ดี ความมีอิสระของพนักงานอัยการที่จะวินิจฉัยสั่งคดีนี้มิใช่จะไร้ขอบเขตเสียทีเดียว ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า ถ้าการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการคนใดเกินล้ำออกนอกขอบเขตดังกล่าว การใช้ดุลพินิจนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่ถ้าการใช้ดุลพินิจดังกล่าวอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ภายในขอบเขตนี้ พนักงานอัยการจะวินิจฉัยสั่งคดีไปในทางใดก็ได้ ซึ่งความหมายของการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายในที่นี้คือการใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจนั่นเอง

ปัญหาว่าการวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยที่มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาว่าร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสารเป็นการใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจหรือไม่ ข้อที่ต้องวินิจฉัยคือ จากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนประกอบกับความเห็นของพนักงานสอบสวน

การที่พนักงานอัยการคนหนึ่งคนใดจะวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องในกรณีนี้ ข้อวินิจฉัยของพนักงานอัยการดังกล่าววิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้หรือไม่ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจ อนึ่ง เนื่องจากการวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการในชั้นนี้มิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเช่นกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่เป็นเพียงการวินิจฉัยมูลความผิดตามที่กล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการที่วินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาคือมีเหตุผลอันสมควรเพียงพอหรือไม่ที่จะนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

สำหรับกรณีการวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาผู้ต้องหาทั้งสองของจำเลยกรณีนี้ได้ความว่า ข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตามเอกสารหมาย จ. 6 มีข้อความอันเป็นเท็จอยู่สองประการ คือ ประการแรก มีข้อความว่า ทั้งโจทก์และนายบุญชัยต่างแจ้งความหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความเท็จ และประการที่สองมีข้อความว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ด้วย โดยโจทก์ต้องใช้ตำแหน่งราชการประกันตัวไป ซึ่งข้อความสองประการดังกล่าวนี้ไม่ตรงความจริง เพราะในวันเกิดเหตุทั้งโจทก์และนายบุญชัยยังไม่ได้แจ้งความหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความเท็จ และโจทก์ยังไม่ถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนต้องใช้ตำแหน่งราชการประกันตัว

การลงข่าวในหนังสือพิมพ์อันเป็นเท็จดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าแจ้ง ไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เนื่องจากมีการบิดเบือนข่าว อีกทั้งเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยปราศจากข้ออ้างเรื่องผลประโยชน์สาธารณะใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์เป็นข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 การลงข่าวเท็จในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตามเอกสารหมาย จ. 6 ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าโจทก์มิได้ครองตัวให้สมกับสถานะอันเป็นที่เคารพยำเกรงของตำแหน่งผู้พิพากษาที่โจทก์ดำรงอยู่โดยปล่อยตัวเองถึงขนาดไปทะเลาะกับพ่อค้ากลางถนนจนถูกดำเนินคดีอาญา

จากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนโดยเฉพาะข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เอกสารหมาย จ. 6 วิญญูชนโดยทั่วไปย่อมเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะนำบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชามีความจริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่มีความผิดเนื่องจากขาดเจตนาหรือมีข้ออ้างอย่างอื่น

การที่จำเลยวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการวินิจฉัยมูลความผิดแบบด่วนวินิจฉัยคดีเสียเองดุจเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล กล่าวคือ มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างพนักงานอัยการพึงใช้ การใช้ดุลพินิจของจำเลยกรณีนี้นับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการผู้สุจริตโดยทั่วไป จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่วิญญูชนโดยทั่วไปไม่สามารถยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ แม้การวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด แต่เมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจเช่นนี้แล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยสุจริตใจดังที่จำเลยอ้าง

โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่า การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยที่มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา ทั้งที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เป็นเจ้าของและนายประชาเป็นบรรณาธิการ ลงข้อความตามเอกสารหมาย จ. 6 เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในกรณีนี้ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและยังเห็นได้อีกว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชามิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาจำเลยข้อ 2.1 ข้อ 2.2 ข้อ 2.3 ข้อ 2.4 ข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาในข้อ 2.7 และข้อ 2.8 มีใจความว่า โจทก์มิใช่เป็นผู้เสียหายจากการวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาของจำเลย เพราะถึงแม้จำเลยจะสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าว โจทก์ก็ยังฟ้องคดีเองได้ อีกทั้งการสั่งไม่ฟ้องคดีของจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใด อนึ่ง จำเลยยังอ้างอีกว่า ความผิดกรณีนี้เฉพาะรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดคือการใช้อำนาจในฐานะพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ผลของการกระทำของจำเลยคือ โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย ฎีกาของจำเลยข้อ 2.7 และข้อ 2.8 ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาในข้อ 2.9 ว่า ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดโดยโจทก์มิได้บรรยายคำฟ้องในส่วนที่ว่าการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของจำเลยกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยข้อความในคำฟ้องที่ว่า “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” นั้น เป็นส่วนที่อ้างถึงการหมิ่นประมาทโจทก์ของบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา มิใช่เป็นส่วนที่อ้างถึงการใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาของจำเลย ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า

ตามฟ้องข้อ 1 (ก) แม้ข้อความว่า “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” จะอยู่ต่อจากและติดความข้อความว่า “…ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์” กล่าวคือ เมื่ออ่านรวมกันมีข้อความว่า “…ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์” แต่การทำเข้าใจข้อความในคำฟ้อง ต้องทำความเข้าใจข้อความดังกล่าวประกอบข้อความส่วนอื่นๆ ของคำฟ้องด้วย ซึ่งเห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความสืบเนื่องจากการสั่งไม่ฟ้องคดีของจำเลยดังที่โจทก์บรรยายไว้อย่างชัดเจนในตอนต้น จึงเข้าใจได้อยู่ในตัวว่า ในการอ้างว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์หมายถึงเจตนาที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจสั่งฟ้องคดีของจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อ 2.9 ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษายืน ( วิชัย วิวิตเสวี – หัสดี ไกรทองสุก – เกรียงชัย จึงจตุรพิธ )
Read more ...