“อย่างนี้ถึงจะเรียกตุลาการภิวัตน์!!!”

8/12/52

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

“อย่างนี้ถึงจะเรียกตุลาการภิวัตน์!!!”

ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้อ่านคำแปลการให้สัมภาษณ์ของสมเด็จฮุน เซ็น เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถ้าไม่ทราบมาก่อนว่านั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของสมเด็จฮุน เซ็น ก็คงนึกว่าเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเพราะมีความ “ดุเด็ดเผ็ดมัน” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่าไรเลยครับ!!!


มีหลายส่วนของคำแปลการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวที่ผมอ่านแล้วก็ต้องนำกลับมาคิดทบทวนดูหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแยกความโกรธแค้นและผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากผลประโยชน์ของประเทศชาติ การตั้งรัฐบาลโดยการได้เสียงสนับสนุนมาอย่างไม่เหมาะสม รวมไปถึงการรัฐประหารในบ้านเราด้วยครับ

ใครจะว่าอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่สำหรับผม ผมว่าคำให้สัมภาษณ์ของสมเด็จฮุน เซ็น ทำให้เราต้องมาคิดกันใหม่อีกรอบถึง “ท่าที” ของต่างประเทศที่ “มอง” ประเทศไทยว่า เขามองเราอย่างไร!!! เราอาจคิดอยู่เสมอว่ากัมพูชานั้น “ด้อย” กว่าเราในทุก ๆ เรื่อง เราจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเขาแต่ไปมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับประเทศใหญ่ ๆ แต่ในวันนี้ คนในประเทศเล็กๆ อย่างกัมพูชาก็ได้ “ระเบิด” ความรู้สึกของตนที่มีต่อประเทศไทยและต่อรัฐบาลไทยออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้ และก็เป็นเรื่องที่แปลกเพราะสื่อต่างชาติให้ความสนใจกับสิ่งที่สมเด็จฮุน เซ็น พูดกันมาก ประเด็นที่เป็นสิ่งที่ต้องนำมาวิเคราะห์ก็คือ การที่สมเด็จฮุน เซ็น แสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรัฐประหาร การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตย การสร้างประเด็นทางการเมืองด้วยการหยิบยกเรื่องบางเรื่องขึ้นมาโดยหวังผลให้มีการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง หลาย ๆ สิ่งที่สมเด็จฮุน เซ็น พูดออกมาสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากผู้นำของประเทศเล็ก ๆ ที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเขาเท่าไรนัก การพูดของสมเด็จฮุน เซ็น ทำให้ผมมานั่งนึกดูว่า แล้วประเทศอื่น ๆ เขาคิดอย่างนั้นกับเราด้วยหรือไม่ การไม่พูดไม่ได้หมายความว่าเขายอมรับหรือเห็นด้วยแต่อาจจะไม่มี “โอกาส” ที่จะพูดเหมือนสมเด็จฮุน เซ็น ก็ได้ หากจะให้ผมเดาคำตอบก็คงเดาได้ว่า แนวคิดเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องคงไม่ต่างกันเท่าไรระหว่างสมเด็จฮุน เซ็น กับประมุขของชาติอื่น ๆ เพราะหลักการดังกล่าวเป็นหลักการสากลที่บรรดาผู้บริหารประเทศและพลเมืองต่างก็คงต้องมีความรู้ความเข้าใจกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้เองที่ผมคิดว่าไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ก็คงยอมรับการรัฐประหารหรือการเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร หรือการยืมมือคณะรัฐประหารมาทำลายศัตรูทางการเมืองของตนไม่ได้ครับ

พร้อม ๆ กับข่าวการให้สัมภาษณ์ของสมเด็จฮุน เซ็น มีผู้ที่ผมคุ้นเคยคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังถึง “ความกล้า” ของผู้พิพากษาคนหนึ่งที่ออกมาปฏิเสธการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาที่ อม.9/2552 ในคดีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นเวลา 2 เดือน และปรับ 4 พันบาท แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่านายยงยุทธ ติยะไพรัช เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

เรื่องคงไม่มีอะไรมาก หากไม่มีผู้พิพากษาคนหนึ่งได้แสดงความเห็นของตนไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตัว โดย 1 ใน 9 ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ

นายกีรติ กาญจนรินทร์

 ได้กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตัวซึ่งผมขอคัดลอกมานำเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้

Quote:“ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้หรือไม่ เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรในการวินิจฉัยคดีเพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากศาลไม่รับใช้ประชาชน ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน

นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย

การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ

ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์

ผู้ร้องประกอบด้วยคณะบุคคลที่เป็นผลพวงของ คปค. ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 ด้วยเช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้ อำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาว่าผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”

ในประเทศไทย เรามีการรัฐประหารมาแล้วกว่า 10 ครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีการออกคำสั่งหรือประกาศมาใช้บังคับ และเมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะปกติแล้วคำสั่งหรือประกาศเหล่านั้นก็ยังมีผลใช้บังคับต่อไปภายใต้ชื่อเดิมคือประกาศของคณะปฏิวัติ ผมยังจำได้ว่าสมัยที่ทำวิทยานิพนธ์อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสระหว่างปี พ.ศ. 2525 – 2530 ผมได้อ้างประกาศของคณะปฏิวัติฉบับหนึ่งไว้ในวิทยานิพนธ์ด้วย ซึ่งก็มีปัญหาอย่างมากเมื่อแปลคำว่าประกาศของคณะปฏิวัติออกมาเป็นภาษาฝรั่งเศส อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ไม่ยอมเข้าใจเรื่องดังกล่าว อธิบายอย่างไรก็ถูกโต้ตลอด จนกระทั่งในที่สุดก็ต้องเขียนคำอธิบายเอาไว้ด้วยว่าประกาศของคณะปฏิวัติมีสถานะอย่างไร

แม้กระทั่งตอนที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 – 2542 ก็มีการถกเถียงกัน คือ เรื่องการให้สัมปทานสาธารณูปโภคที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ว่าคืออะไรกันแน่และทำไมถึงมีสภาพบังคับอยู่ทั้ง ๆ ที่การปฏิวัติก็จบสิ้นลงไปนานแล้ว ดังนั้น ปัญหานี้ต้องทำความเข้าใจก็คือ บรรดาคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิวัติรัฐประหารที่มีสภาพบังคับเช่นกฎหมาย ถือเป็นกฎหมายโดยชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยที่จะนำมาใช้ต่อไปภายหลังช่วงเวลาของการปฏิวัติรัฐประหารได้หรือไม่ ครับ

ที่มาของความชอบธรรมของคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิวัติรัฐประหารเกิดจากศาลฎีกาครับ!!!

คำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

“ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติให้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม

ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ” คำพิพากษาดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นฐานในการรองรับการใช้อำนาจในการออกกฎหมายของคณะรัฐประหารเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในบรรดากฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศไทยกว่า 600 ฉบับ เรามีกฎหมายที่ใช้ชื่อว่าประกาศของคณะปฏิวัติหรือของคณะรัฐประหารอยู่กว่า 55 ฉบับ

กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติที่ถูกต้อง ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน น่าแปลกใจไหมครับที่ประเทศประชาธิปไตยแบบเรายินยอมใช้กฎหมายที่ออกโดยคณะปฏิวัติแม้การปฏิวัติจะจบสิ้นไปแล้ว!!!

เมื่อผู้พิพากษาคนหนึ่งในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้แสดงความเห็นของตนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจนถึงการไม่ยอมรับการรัฐประหารและอำนาจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร ก็ย่อมเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มี “ผู้กล้า” ออกมาบอกด้วยเสียงอันดังว่าการปฏิวัติรัฐประหารเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงได้นำเสนอข้างต้นว่า บรรดาคำสั่งและประกาศต่าง ๆ ของคณะรัฐประหารนั้น “สมควร” หรือไม่ที่จะนำมาใช้ต่อไปภายหลังจากที่การรัฐประหารจบลงและเราได้กลับเข้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยตามเดิมครับ!!!

มองย้อนกลับไปข้างหลัง เมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการออกคำสั่งและประกาศจำนวนมากที่นำมาใช้กับการดำเนินกิจการทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น การยุบพรรคไทยรักไทย เป็นต้น ซึ่งต่อมา ก็เกิดสิ่งที่มีผู้เรียกว่า “ตุลาการภิวัตน์” ในประเทศไทยที่หมายถึงการที่ตุลาการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเมืองของประเทศ กระแสตุลาการภิวัตน์ถูกนำมาอ้างในหลาย ๆ โอกาสที่มีการพิจารณาพิพากษาคดีที่ “ลงโทษ” นักการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง ตุลาการบางคนก็ออกมา “ขานรับ” ในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นจริงเป็นจังจนมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งต้องออกมาท้วงติงว่า ฝ่ายตุลาการมีหน้าที่เพียงพิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมายและไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” เพราะสักวันหนึ่งกระแสตุลาการภิวัตน์จะย้อนกลับมา “ทำลาย” ตุลาการที่ออกมานอกกรอบเหล่านั้น

ในวันนี้ เมื่อผมได้อ่านคำวินิจฉัยส่วนตัวของคุณกีรติ กาญจนรินทร์ แล้วก็รู้สึกว่า ผมได้พบกับ “ตุลาการภิวัตน์” ของแท้และของจริงแล้วครับ เพราะการที่นักกฎหมายคนหนึ่งออกมาชี้ให้สังคมมองเห็นโครงสร้างของรัฐและระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นคนละทิศทางกับที่ศาลฎีกาได้เคยวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารเอาไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505

และก็คนละทิศทางกับที่บรรดาศาลทั้งหลายก็ได้วางบรรทัดฐานเอาไว้อีกในกระบวนการตุลาการภิวัตน์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ผู้พิพากษาคนนี้ก็กล้าที่จะนำเสนอสิ่งที่ “ถูกต้อง” ความกล้าที่จะนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องด้วยระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและชื่นชมเป็นอย่างมากที่ผมต้องขอแสดงความคารวะอย่างจริงใจไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

ต่อจากนี้ไป ก็คงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่จะนำความเห็นดังกล่าวไปเผยแพร่ ไปใช้สอนหนังสือ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรยอมรับ นักกฎหมายที่ดีก็ไม่ควรเข้าไปข้องแวะกับเรื่องดังกล่าว คำวินิจฉัยส่วนตัวนี้จะเป็นสิ่งที่ถูกนำไปใช้อ้างอิงมากอย่างไม่น่าเชื่อในวันข้างหน้าครับ!!!

ใครที่คิดจะทำรัฐประหารอีกก็อย่าลืมเอาคำพิพากษานี้ไปอ่านก่อนนะครับ จะได้รู้ว่าสิ่งที่ตนจะทำนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และหากยังดื้อทำการรัฐประหาร ผู้ทำรัฐประหารและผู้สมรู้ร่วมคิดก็จะกลายเป็น “ผู้ทำลายระบอบประชาธิปไตย”!!! ครับ

นอกจากนี้แล้ว นักกฎหมายทั้งหลายและบรรดาสมาชิกรัฐสภาคงต้องมาช่วยกันคิดแล้วว่า จะปล่อยให้คำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารมีผลใช้บังคับต่อไปหรือไม่ อย่างน้อยก็คงต้องเริ่ม “อาย” กันบ้างแล้วนะครับที่ประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ใช้กฎหมายที่มีชื่อว่าประกาศของคณะปฏิวัติ!!!

ส่วนตุลาการภิวัตน์ “รุ่นเก่า” คงต้องหยุดกันเสียทีนะครับ สร้างความเข้าใจผิดและสับสนให้กับสังคมมามากแล้ว วันนี้เจอ “ตุลาการภิวัตน์” ของแท้และของจริงเข้า เปรียบเทียบกันดูก็ได้ จะได้รู้กันไปเลยว่า ตุลาการอาชีพและนักกฎหมายที่ดีนั้น คืออะไร?

...

ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

ที่มาของบทความ :

- เผยแพร่ครั้งแรก บทบรรรรณาธิการ ครั้งที่ 226 www.pub-law.net เมื่อ 22 พ.ย.2552 ;

http://www.pub-law.net/publaw/view.asp?PublawIDs=1406

- ประชาชาติธุรกิจนำมาตีพิมพ์เมื่อ 23 พ.ย.2552 ; http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1258960842&grpid=no&catid=04

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น