วิธีการเพื่อความปลอดภัย

26/10/52


๑.๑ เหตุที่ต้องบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย
ในทางอาญาเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อการกระทำความ ผิดจะมีทั้งในด้านการปราบปรามและในด้านการป้องกัน

ในด้านการปราบปราม คือ การลงโทษผู้กระทำผิด

ในด้านการป้องกันได้แก่ การบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด

วิธีการเพื่อความปลอดภัยจึงถูกกำหนดขึ้นตามสภาพที่เป็นอันตรายซึ่งบุคคลนั้นแสดง ออกมาว่าน่าจะกระทำผิดขึ้นในอนาคต รัฐจึงต้องหาวิธีการป้องกันมิให้การกระทำผิดที่เป็นอันตราย ต่อสังคมเกิดขึ้นหรือมิให้เกิดขึ้นอีก อันเป็นการป้องกันการกระทำความผิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมี ลักษณะแตกต่างจากโทษโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพบังคับ กล่าวคือ โทษเป็นสภาพบังคับที่รัฐจะบังคับ ใช้แก่บุคคลภายหลังจากที่บุคคลนั้นได้กระทำความผิดแล้ว แต่วิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นมาตรการ ที่รัฐนำมาใช้ก่อนที่จะมีการกระทำความผิด หรือมีการกระทำความผิดแล้วไม่ให้กลับ มากระทำผิดอีก

การฟ้องผู้กระทำผิดเพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นโทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่ใช้ในการปราบปรามอาชญากรรม หลังจากที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น

ส่วนมาตรการในการป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นนั้น ประมวลกฎหมาย อาญาได้บัญญัติไว้ส่วนหนึ่ง คือ การบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมีทั้งหมด ๕ ประเภท ได้แก่ การกักกัน การห้ามเข้าเขตกำหนด การเรียกประกันทัณฑ์บน การคุมตัวในสถานพยาบาล และการห้าม ประกอบอาชีพบางอย่าง ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้ประกาศใช้มากว่า ๓๐ ปี แต่ไม่มีการนำวิธีการ เพื่อความปลอดภัยตามที่บัญญัติไว้มาใช้ในทางปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพราะปัญหาของสังคมในระยะ เวลาที่ผ่านมามีไม่มากนัก ดังนั้น การใช้มาตรการในการลงโทษอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะปราบปรามและ แก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ แต่ในสภาพสังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมากอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้าน เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจจนบางครั้งนำไปสู่การกระทำความผิดจึง จำเป็นต้องหามาตรการในการป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรม ซึ่งได้แก่ การบังคับใช้วิธีการเพื่อ ความปลอดภัยซึ่งกฎหมายมุ่งประสงค์คุ้มครองป้องกันสังคมไว้ก่อนที่จะมีการกระทำผิดขึ้น เนื่องจาก หากปล่อยให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะนำความเสียหายมาสู่ประชาชนและสังคมซึ่งยากที่จะ เยียวยาแก้ไขความเสียหายเหล่านั้นได้
๑.๒ ประโยชน์และหลักเกณฑ์ของวิธีการเพื่อความปลอดภัยแต่ละประเภท
การนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยมาบังคับใช้ หากได้นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมจะมีผลช่วยแก้ไขสังคมให้เกิดความสงบเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอาชญากรรมใน อนาคตได้เป็นอย่างดี โดยวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ละประเภทสามารถใช้ป้องกันบุคคลที่มีสภาพเป็นอันตรายต่อสังคมไม่ให้ไปกระทำความผิดได้ดังนี้
๑.๒.๑ การกักกัน
- เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผผผิดติดนิสัย โดยทำให้บุคคล ที่เคยกระทำความผิดมาแล้วไม่กล้าที่จะกระทำผิดซ้ำอีก เพราะเกรงกลัวว่าจะต้องถูกกักกัน
- เพื่อป้องกันการแพร่นิสัยอาชญากรรมแก่ผู้ต้องโทษที่ไม่มีนิสัยเป็น อาชญากรรม โดยการกันบุคคลที่กระทำผิดติดนิสัยเหล่านี้ควบคุมไว้ในสถานที่กักกัน
- เพื่อแก้ไขให้ผู้กระทำผิดติดนิสัยได้กลับตัวเป็นคนดีโดยการดัดนิสัย และฝึกหัดอาชีพให้แก่ผู้นั้น
๑.๒.๒ การห้ามเข้าเขตกำหนด
- เพื่อป้องกันผู้ที่มีพฤติกรรมโน้มเอียงในการกระทำผิดในเขตพื้นที่ ไม่ให้เข้าไปกระทำผิดในเขตนั้น ๆ อีก
๑๒.๓ การเรียกประกันทัณฑ์บน
- เพื่อป้องกันผู้ที่มีความประพฤติโน้มเอียงที่จะประกอบอาชญากรรม ให้ไม่กล้าลงมือกระทำผิด เกิดความยับยั้งชั่งใจกลัวเนื่องจากถูกทำทัณฑ์บนไว้
๑.๒.๔ การคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
- เพื่อป้องกันผู้ที่มีสภาพอาจจะกระทำผิดได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป เนื่อง จากสภาพร่างกายและจิตใจป่วยเป็นโรคจิตหรือเสพสุราเป็นอาจิณหรือติดยาเสพติดให้โทษ ให้หาย จากสภาพดังกล่าวนี้เพื่อไม่ให้มีสาเหตุไปกระทำผิดได้อีก
๑.๒.๕ การห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง
- เพื่อป้องกันผู้ที่มีสภาพอาจจะกระทำผิดไไได้ง่ายเพราะการประกอบ อาชีพหรือวิชาชีพบางอย่าง ให้ไม่มีโอกาสได้กลับมากระทำผิดเช่นนั้นได้อีก

วิธีการเพื่อความปลอดภัยแต่ละประเภทมีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑.๒.๑ การกักกัน
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๐ กักกัน คือ ก ารควบคุมผู้กระทำความผิด ติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัยและเพื่อฝึกหัดอาชีพ

การกักกันจึงมีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลโดยการนำตัวมาควบคุมไว้ ภายในเขตกำหนดซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางพอที่จะไปไหนมาไหนได้มากกว่าเรือนจำ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุ ประสงค์เพื่อป้องกันการกระทำผิด เพื่อดัดนิสัยและเพื่อฝึกหัดอาชีพให้แก่ผู้ถูกกักกัน

การกักกันจึงต่างกับการจำคุกที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทดแทนการกระทำผิด โดยการลงโทษให้ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของสภาพความผิด ในทางกฎหมายจึงไม่ถือว่าการกักกัน เป็นการลงโทษบุคคลเหมือนโทษจำคุก หากแต่มีลักษณะเป็นมาตรการที่เสริมต่อจากการลงโทษ จำคุกเท่านั้น

ผู้กระทำผิดติดนิสัยซึ่งศาลอาจพิพากษาให้กักกันได้ ต้องเป็นผู้กระทำความผิด ตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๑ โดยต้องเป็น

(๑) ผู้กระทำผิดที่มีอายุเกิน ๑๗ ปี
(๒) เป็นผู้เคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันมาแล้ว หรือเป็นผู้เคยถูกศาลพิพากษา ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า ๖ เดือนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง ในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๑ (๑) ถึง (๘)
(๓) ได้กลับมากระทำความผิดอีกภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันพ้นจากการกักกันหรือพ้น โทษจำคุก
(๔) ความผิดที่กลับมากระทำใหม่นี้ต้องเป็นความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุ ไว้ในมาตรา ๔๑ (๑) ถึง (๘)
(๕) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน ในความผิดที่กลับมากระทำใหม่นั้น

เช่นนี้ศาลอาจพิพากษาให้กักกันมีกำหนดไม่น้อยกว่า ๓ ปี และไม่เกิน ๑๐ ปี

ความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๑(๑) ถึง (๘) ได้แก่ความผิดดังต่อไปนี้
(๑) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามมาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖ เช่น ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ฐานซ่องโจร ฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ฐานไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่ง
(๒) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามมาตรา ๒๑๗ ถึง มาตรา ๒๒๔ เช่น ความผิดฐานวางเพลิง ฐานตระเตรียมวางเพลิง ฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ ฐานทำให้เกิดระเบิด
(๓) ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ตามมาตรา ๒๔๐ ถึง มาตรา ๒๔๖ เช่น ความผิดฐาน ปลอมและแปลงเงินตรา ฐานทำให้เหรียญกษาปณ์มีน้ำหนักลดลง ฐานนำเข้าซึ่งเงินตราปลอมและ แปลง ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งเงินตราปลอมและแปลง ฐานนำออกใช้ซึ่งเงินตราปลอมและแปลง ฐานทำหรือมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงเงินตรา
(๔) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามมาตรา ๒๗๖ ถึง มาตรา ๒๘๖ เช่น ความผิดฐาน ข่มขืนกระทำชำเรา ฐานกระทำอนาจาร ฐานเป็นธุระจัดหาไปเพื่อการอนาจารหรือโดยใช้อุบาย ฐานดำรงชีพด้วยรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี
(๕) ความผิดต่อชีวิต ตามมาตรา ๒๘๘ ถึง มาตรา ๒๙๐ และมาตรา ๒๙๒ ถึง มาตรา ๒๙๔ เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฐานฆ่าโดยไม่มีเจตนา ฐานทำการทารุณให้บุคคลที่ต้องพึ่งตน ให้ฆ่าตนเอง ฐานยุยงเด็กให้ฆ่าตนเอง ฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้มีคนตาย
(๖) ความผิดต่อร่างกาย ตามมาตรา ๒๙๕ ถึง มาตรา ๒๙๙ เช่น ความผิดฐาน ทำร้ายร่างกาย ฐานทำร้ายร่างกายสาหัส ฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
(๗) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา ๓๐๙ ถึง มาตรา ๓๒๐ เช่น ความผิดฐาน ทำให้เสื่อมเสรีภาพ ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ฐานเอาคนเป็นทาส ฐานเรียกค่าไถ่ ฐานสนับสนุนเรียก ค่าไถ่ ฐานพรากผู้เยาว์ ฐานพาคนส่งออกนอกราชอาณาจักร
(๘) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามมาตรา ๓๓๔ ถึง มาตรา ๓๔๐ มาตรา ๓๕๔ และ มาตรา ๓๕๗ เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ฐานวิ่งราวทรัพย์ ฐานกรรโชกทรัพย์ ฐานรีดเอาทรัพย์ ฐานชิงทรัพย์ ฐานปล้นทรัพย์ ฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน หรือเป็นผู้มีอาชีพอันเป็นที่ไว้ใจของ ประชาชน ฐานรับของโจร

ตัวอย่าง นาย ก. ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายสาหัส ตามรายการ ประวัติปรากฏว่า ขณะที่ นาย ก. มีอายุเกินกว่า ๑๗ ปี แล้ว เคยถูกศาลลงโทษจำคุก ๒ ครั้ง ได้แก่ ฐาน ลักทรัพย์จำคุก ๖ เดือน ฐานข่มขืนกระทำชำเราจำคุก ๒ ปี พ้นโทษมาแล้ว ๑ ปี ได้กลับมากระทำ ความผิดและถูกจับกุมในข้อหาทำร้ายร่างกายสาหัสเช่นนี้ นาย ก. อยู่ในข่ายเป็นผู้กระทำผิดติดนิสัย ที่ต้องขอให้ศาลกักกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๑

การฟ้องขอให้กักกันกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ โดยจะฟ้องขอให้กักกันรวมไปในฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกันหรือจะฟ้องภายหลัง ก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายในกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันที่ฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้ กักกัน มิเช่นนั้นจะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๗
๑.๒.๒ การห้ามเข้าเขตกำหนด
การห้ามเข้าเขตกำหนด คือ การห้ามมิให้เข้าไปในท้องที่หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ใน คำพิพากษา

ท้องที่ ได้แก่ ตำบล อำเภอ จังหวัด

สถานที่ที่กำหนด ได้แก่ สถานที่ใด ๆ ก็ได้ซึ่งแคบกว่าท้องที่ เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า บาร์ ไนท์คลับ สถานีรถไฟ เป็นต้น

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๕ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ศาลสั่ง ห้ามเข้าเขตกำหนดได้ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องเพื่อความปลอดภัยของประชาชน กล่าวคือ เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของ ผู้ต้องหาในความผิดที่กระทำแล้ว ผู้ต้องหาได้กระทำผิดโดยอาศัยสถานที่เป็นที่ประกอบการกระทำ ความผิด หรือหากให้เข้าไปในสถานที่นั้นอีกก็อาจจะก่อการกระทำผิดขึ้นซึ่งเป็นภัยต่อความปลอดภัย ของประชาชน เช่น นาย ข. ชอบเข้าไปเต้นรำในดิสโก้เธคและมักจะก่อการทะเลาะวิวาทชกต่อยกับ ผู้เข้าไปเที่ยวทุกครั้ง เช่นนี้ พฤติการณ์ของผู้ต้องหาย่อมจะเป็นภัยต่อความปลอดภัยของประชาชน ที่เข้าไปเที่ยวในดิสโก้เธค เพื่อป้องกันไม่ให้ นาย ข. ได้มีโอกาสทำความผิดขึ้นอีก จึงควรขอให้ศาลสั่ง ห้ามเข้าเขตกำหนด คือ สถานดิสโก้เธคทุกแห่ง

(๒) การที่ศาลจะสั่งห้ามเข้าเขตกำหนดได้นั้น ศาลต้องลงโทษผู้นั้นในความผิดที่ ถูกฟ้องก่อน
(๓) การห้ามเข้าเขตกำหนดจะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อจำเลยผู้นั้นได้พ้นโทษตามคำ พิพากษาแล้ว
(๔) ต้องระบุท้องที่หรือสถานที่ที่กำหนดห้ามไว้ให้ชัดเจน
(๕) การห้ามเข้าเขตกำหนดจะกำหนดระยะเวลาเท่าไรก็ได้แต่ต้องไม่เกิน ๕ ปี

อนึ่ง การห้ามเข้าเขตกำหนดอีกกรณีหนึ่งที่ศาลมีอำนาจสั่งตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา ๔๖ วรรคสอง เนื่องจากผู้ถูกศาลสั่งให้ทำทัณฑ์บนไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกัน ไม่ได้นั้น เป็นการสั่งห้ามบุคคลที่จะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่ง การกระทำยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดอาญา ดังนั้นจึงไม่จำต้องอาศัยหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาแล้วให้ ครบถ้วนแต่อย่างใด

กรณีมีการฝ่าฝืนเข้าไปในเขตกำหนดที่ศาลได้สั่งห้ามไว้ในระยะเวลาที่ ศาลกำหนด เช่น ศาลสั่งห้าม นาย ข. เข้าไปในสถานดิสโก้เธคในเขตบางรักทุกแห่งมีกำหนด ๒ ปี เช่นนี้ เมื่อ คำสั่งศาลมีผลบังคับใช้และนาย ข. ได้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามดังกล่าวของศาลโดยเข้าไปในดิสโก้เธคในเขต บางรัก การกระทำของนาย ข. ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๔ ฐานฝ่าฝืนคำ พิพากษาเข้าไปในเขตกำหนดที่ศาลห้ามซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน สองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
๑.๒.๓ การเรียกประกันทัณฑ์บน
การเรียกประกันทัณฑ์บนเป็นการบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย เพื่อป้องกัน การกระทำผิด โดยศาลให้ผู้นั้นสัญญาว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายหรืออันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่เกินสองปี ถ้าผู้นั้นกระทำผิดทัณฑ์บนจะต้องชำระเงินค่าปรับแก่ ศาลตามที่ระบุไว้ในทัณฑ์บนซึ่งจะไม่เกินกว่าครั้งละห้าพันบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๖, ๔๗

การเรียกประกันทัณฑ์บน ต้องเป็นกรณีที่ผู้นั้นมีพฤติการณ์จะก่อเหตุร้ายให้เกิด ภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

เหตุร้าย หมายถึงเหตุที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกายของบุคคลหรือ ทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น

ถ้าเหตุร้ายนั้นไม่เป็นภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ แม้จะเป็นความผิดอาญาแต่ก่อ ให้เกิดผลอย่างอื่นก็ไม่ใช่เหตุร้ายตามความในมาตรานี้ เช่น การหมิ่นประมาท แม้จะเป็นการก่อเหตุร้าย ต่อชื่อเสียง แต่เหตุร้ายดังกล่าวนี้ไม่ได้ทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นจึงไม่ใช่เหตุร้าย ตามความในมาตรา ๔๖

โดยที่กรณีนี้ยังไม่ได้มีการกระทำผิดและเพียงแต่อาจจะก่อเหตุร้ายขึ้นเท่านั้น จึงมี ความจำเป็นต้องป้องกันไว้ โดยการเรียกประกันทัณฑ์บนเพื่อให้สัญญาว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายขึ้นใน อนาคต ซึ่งวิธีการนี้อาจเริ่มดำเนินการได้โดย

(๑) พนักงานอัยการเป็นผู้เสนอต่อศาล
(๒) โดยศาลเป็นผู้พิจารณาดำเนินการเอง
(๑) กรณีพนักงานอัยการเป็นผู้เสนอต่อศาล

กรณีนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการกระทำความผิด แต่พนักงานอัยการเห็นว่าบุคคลนั้น จะก่อเหตุร้ายทำความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิด เหตุร้ายทำความเสียหายแก่ผู้อื่น พนักงานอัยการสามารถใช้มาตรการนี้เพื่อยับยั้งป้องกันไว้ก่อน โดยการ เสนอเป็นคดีต่อศาลให้เรียกประกันทัณฑ์บน

ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบนายขาวเดินอยู่ตามถนนบริเวณหมู่บ้านจัดสรรตอน ดึกมีอาการพิรุธ โดยเดินหลบเลี่ยงจากแสงไฟและแอบซุ่มสังเกตหน้าประตูบ้านเป็นเวลานาน จึงได้ ขอ ตรวจค้นตัวและพบไขควง ใบเลื่อยสำหรับตัดเหล็ก ไฟฉายขนาดเล็ก อยู่ในถุงที่นายขาวถืออยู่ ซึ่งสิ่งของดังกล่าวเหล่านี้อาจใช้เป็นเครื่องมือในการงัดแงะเพื่อทำการลักทรัพย์ตามบ้านต่าง ๆ นั้นได้ โดยที่นายขาวไม่มีอาชีพใดเป็นหลักแหล่ง เช่นนี้ พฤติการณ์ส่อแสดงว่านายขาวตระเตรียมการจะไป ลักทรัพย์ภายในหมู่บ้านดังกล่าวแต่ถูกจับกุมเสียก่อน ซึ่งการเตรียมการจะไปลักทรัพย์นั้นตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิด แต่กรณีนี้ก็น่าเชื่อว่าในโอกาสต่อไปนายขาวอาจจะไปทำการลักทรัพย์จนได้ จึงควร ใช้มาตรการเรียกประกันทัณฑ์บนตามมาตรา ๔๖ เพื่อยับยั้งป้องกันไม่ให้นายขาวมีโอกาสไปกระทำผิด

ซึ่งกรณีนี้พนักงานสอบสวนจะควบคุมตัวนายขาวได้ไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง เพื่อทำการ สอบสวนนายขาว เสมือนเป็นความผิดอาญา แล้วทำสำนวนเสนอไปยังพนักงานอัยการตามพระราช บัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ ซึ่งเมื่อพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็น ว่านายขาวมีพฤติการณ์จะก่อเหตุร้ายดังที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา ก็จะทำคำฟ้องต่อศาลขอให้ศาล สั่งให้นายขาวทำทัณฑ์บน

(๒) กรณีที่ศาลพิจารณาดำเนินการเอง
กรณีนี้จะมีการกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำความผิดจนถูกดำเนินคดีฟ้องต่อศาล ในฐาน ความผิดนั้น ๆ แต่ในชั้นศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นความผิดโดยไม่ลงโทษผู้นั้น แต่ศาลเห็นว่า ผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น เช่นนี้ ศาลจะสั่งให้เรียก ประกันทัณฑ์บนเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้

ตัวอย่าง นาย ก. ถูกฟ้องฐานพยายามลักทรัพย์ ในชั้นพิจารณาได้ความว่า นาย ก. เดินตามหลังผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายหยุดอยู่ที่ป้ายรถโดยสารประจำทาง นาย ก. ได้ทำท่าจะล้วงกระเป๋า ผู้เสียหายแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นและเข้าจับ นาย ก. ดังนี้ การกระทำของนาย ก. ยังไม่เข้าขั้นพยายาม ลักทรัพย์ ศาลจะลงโทษ นาย ก. ไม่ได้ แต่ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งเรียกประกันทัณฑ์บนได้ เพราะ การกระทำของ นาย ก. เป็นการจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

แต่อย่างไรก็ดี บุคคลที่จะถูกสั่งให้ทำทัณฑ์บนได้ ต้องมีอายุเกิน ๑๗ ปี ไม่ว่าจะเป็น กรณีพนักงานอัยการร้องขอหรือกรณีศาลสั่งเอง

สำหรับการขอให้ศาลสั่งเรียกประกันทัณฑ์บนนี้ เป็นอำนาจเฉพาะของพนักงาน อัยการในการร้องขอต่อศาลเพื่อป้องกันบุคคลทั่วไป

ในการสั่งให้ผู้ใดทำทัณฑ์บนศาลจะสั่งให้มีประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ และถ้าหากผู้ นั้นไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ ศาลก็จะสั่งกักขังผู้นั้นมีกำหนดไม่เกิน ๖ เดือนหรือจนกว่า จะยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันได้ หรือจะสั่งห้ามเข้าเขตกำหนดก็ได้

กรณีที่ผู้นั้นทำผิดทัณฑ์บน โดยการกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ในสัญญา ทัณฑ์บน ศาลมีอำนาจสั่งให้ชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาทัณฑ์บน หรือถ้าผู้นั้นไม่ ชำระ เงินตามที่ศาลสั่งก็จะถูกกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐

อนึ่ง อายุความในการบังคับให้ทำทัณฑ์บนหรือสั่งให้ใช้เงินเมื่อทำผิดทัณฑ์บนมี กำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๑
๑.๒.๔ การคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
การคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล เป็นการป้องกันบุคคลบางประเภท ซึ่งมีสภาพ กระทำผิดได้ง่ายกว่าบุคคลทั่ว ๆ ไป ได้แก่
(๑) ผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน
(๒) ผู้กระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเสพสุราเป็นอาจิณ หรือผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

เมื่อบุคคลเหล่านี้ไปกระทำผิดเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมากระทำผิดได้อีก จึงให้อยู่ใน สถานที่ที่เหมาะสมกับสภาวะแห่งจิตของผู้นั้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการตัดโอกาสไม่ให้มา กระทำผิดอีก
(๑) หลักเกณฑ์กรณีผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๔๘ มีดังนี้
(๑).๑ ต้องเป็นผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน
(๑).๒ ศาลไม่ลงโทษหรือลดโทษให้เนื่องจากเป็นผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน
(๑).๓ ถ้าปล่อยผู้นั้นไปจะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน
(๑).๔ ศาลสั่งให้คุมตัวผู้นั้นในสถานพยาบาลได้โดยไม่มีกำหนดเวลา จนกว่าสภาวะ แห่งจิตของผู้นั้นจะดีขึ้นและไม่เป็นอันตรายแก่ประชาชนแล้วศาลจึงจะเพิกถอนคำสั่งคุมตัวใน สถานพยาบาล

(๒) หลักเกณฑ์กรณีเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเสพสุราเป็นอาจิณ หรือ ผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๙ มีดังนี้
(๒).๑ ต้องเป็นการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับ
- การเสพสุราเป็นอาจิณ หรือ
- การเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒).๒ ศาลสั่งห้ามเสพสุราหรือเสพยาเสพติดให้โทษ มีกำหนดเวลา ๒ ปี นับแต่ วันพ้นโทษหรือวันปล่อยตัว
(๒).๓ ระหว่างระยะเวลาที่ศาลสั่งห้าม ผู้นั้นได้ฝ่าฝืนเสพสุราหรือเสพยาเสพติด ให้โทษ
(๒).๔ ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ฝ่าฝืนไปคุมในสถานพยาบาลได้ไม่เกินสองปี

ตัวอย่าง นายเหลืองชอบดื่มสุราและทุกครั้งที่ดื่มสุราจะก่อเหตุวิวาททำร้ายร่างกาย ผู้อื่นเป็นประจำ เช่นนี้เป็นการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเสพสุราเป็นอาจิณ หรือกรณีนายม่วง ซึ่งเป็น ผู้ติดยาเสพติดให้โทษไม่มีเงินซื้อยาเสพติด ได้ไปลักทรัพย์เพื่อนำเงินมาซื้อยาเสพติดมาเสพ เช่นนี้ เป็นการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกับการเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

ซึ่งทั้ง ๒ กรณีนี้เมื่อพนักงานอัยการขอให้ศาลสั่งห้ามเสพสุราหรือยาเสพติดให้โทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๙ แล้ว และศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งห้ามเสพสุราหรือยาเสพติด แล้วแต่กรณีภายในกำหนดระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี หากภายในระยะเวลาที่คำสั่งศาลมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้นั้นฝ่าฝืนคำสั่งศาล พนักงานอัยการจะร้องขอให้ศาลส่งผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งศาลไปคุมตัวในสถาน พยาบาลตาม มาตรา ๔๙ วรรคสอง ต่อไป

กรณีที่ศาลสั่งให้ส่งตัวไปคุมยังสถานพยาบาลตามมาตรา ๔๙ วรรคสองแล้ว ต่อมาถ้า ผู้นั้นหลบหนีจากสถานพยาบาล เช่นนี้เป็นความผิดฐานหลบหนีจากสถานพยาบาลตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
๑.๒.๕ การห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพบางอย่าง
เนื่องจากการประกอบอาชญากรรมบางอย่าง ผู้กระทำความผิดได้อาศัยโอกาสจาก การประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และหากให้ผู้นั้น ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไปอาจจะกระทำผิดเช่นนี้ขึ้นอีก ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการ กระทำความผิดที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงขอให้ศาลสั่งห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นชั่วระยะเวลา หนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้

หลักเกณฑ์การขอให้ห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพบางอย่าง ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๕๐ มีดังนี้
(๑) ต้องเป็นผู้ที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษและกระทำความผิดโดย
- อาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพพพ หรือ
- เนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ
(๒) หากผู้นั้นประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไปอาจกระทำความผิดเช่นนั้นอีก

ตัวอย่าง นายแสดมีอาชีพเป็นเจ้าของโรงงานผลิตน้ำปลา ได้ผลิตน้ำปลาปลอมซึ่ง ก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างร้ายแรง พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดโดย อาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพผลิตน้ำปลา ซึ่งหากให้นายแสดประกอบอาชีพผลิตน้ำปลาอีก ก็อาจกลับมากระทำผิดฐานผลิตน้ำปลาปลอม เช่นนี้ จึงขอให้ศาลสั่งห้ามประกอบอาชีพผลิตน้ำปลา
เมื่อศาลสั่งห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพบางอย่าง ซึ่งสั่งห้ามได้ไม่เกินห้าปี หากภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลสั่งห้ามผู้นั้น ได้ฝ่าฝืนคำสั่งศาลไปประกอบอาชีพหรือวิชาชีพที่ถูก ศาลสั่งห้ามผู้นั้น มีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๑๙๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

1 ความคิดเห็น:

  1. มาตรการทางกฎหมายที่ถูกลืม เพราะปัญหาของสภาพบังคับใช้ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ต้องจัดสรรงบประมาณด้านต่างๆ มาสนับสนุน ทั้งเทคโนโลยีต่างๆ และความร่วมมือจากภาคสังคมเพื่อตรวจสอบผู้กระทำผิดวิธีการเพื่อความปลอดภัย ไม่ให้คำพิพากษาเป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น

    ตอบลบ