"คดีเสร็จเด็ดขาด" กับ "คดีถึงที่สุด" ต่างกันอย่างไร

10/8/53
คดีเสร็จเด็ดขาด หมายความว่า คดีที่ศาลได้มีการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและได้มีคำพิพากษาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากคู่ความไม่พอใจก็อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้อีก แต่ต้องอุทธรณ์ ฎีกาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกาด้วย

ตัวอย่าง ฎีกาเกี่ยวกับคดีเสร็จเด็ดขาด 
ฎีกาที่ 977/2466 
นางนวม ไพโรจน์ จ. 
นางชัง นางถมยา ล.
กฎหมายที่ใช้ วิธีพิจารณาแพ่ง รื้อร้องฟ้องคดีเรื่องเดียวกัน วางหลักเรื่องคดีเสร็จเด็ดขาด

ย่อยาว
โจทย์ฟ้องเรียกเงินกล่าวว่า จำเลยรับเงินค่าซื้อไม้ซุงเกินไปรวมทั้งดอกเบี้ยด้วยเปนเงิน ๔๐๘๐ บาท ขอให้คืน จำเลยให้การปฏิเสธแก้ว่า เมื่อคิดบาญชีกันแล้ว โจทย์ยังคงเปนณี่จำเลยอีก ดังที่จำเลยที่ ๑ ได้ฟ้องแล้วที่ศาลจังหวัดศุโขทัย

ฎีกาตัดสินว่า ต้องวินิจฉัยตามข้อตัดฟ้องที่จำเลยแก้นี้เสียก่อนว่า ณี่สินรายนี้จะเปนรายเดียวกับที่จำเลยได้ฟ้องโจทย์ที่ศาลจังหวัดศุโขทัยฤาไม่ การที่จะวินิจฉัยว่า คดีเสร็จเด็ดขาดฟ้องอีกไม่ได้ มีหลักคือ

๑. ประเด็นข้อทุ่มเถียง ทั้งเรื่องก่อนเรื่องนี้ต้องเหมือนกัน (มีที่สังเกตุว่าพยานชุดเดียวกันนั้นจะค้ำจุนอุดหนุนคดีทั้ง ๒ เรื่องได้ฤาไม่)

๒. คู่ความเรื่องหลังต้องเปนคู่ความหรือเปนผู้เกี่ยวข้องกับคดีเรื่องก่อน

๓. ประเด็นข้อทุ่มเถียงกันในคดีเรื่องก่อนนั้นศาลมีอำนาจได้พิพากษาเด็ดขาดไปแล้ว

เมื่อได้พิจารณาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าคดีเข้าหลักทั้ง ๓ หลักที่กล่าวมาข้างต้น คือประเด็นทั้ง ๒ คดีเปนประเด็นอันเดียวกัน คู่ความคน ๆ เดียวกัน แลในคดีเรื่องก่อนศาลฎีกาได้พิพากษาเด็ดขาดไปแล้วตามฎีกาที่ ๕๕๓/๖๖ ว่าโจทย์เปนณี่จำเลย จึงพิพากษาว่าคดีโจทย์ต้องด้วยบทห้ามตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ.๑๒๗ ให้ยกฎีกาโจทย์แลยกฟ้องโจทย์ ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฯ

องค์คณะ
จินดา.นรเนติ.หริศ.
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน
ศาลชั้นต้น -
ศาลอุทธรณ์ -


ฎีกาที่ 331/2479 
โจทก์ฟ้องผู้กู้แลผู้ค้ำประกัน ผู้กู้ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ค้ำประกันมาทำยอมความต่อศาลฯได้ พิพากษาให้เป็นไปตามยอมแล้ว และจัดการยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกันได้ไม่พอดังนี้ โจทก์มาฟ้องเรียกเงินที่ขาดจากผู้กู้ได้อีก ไม่นับว่าผู้กู้ได้หลุดพ้นความรับผิดและไม่นับว่าเป็นคดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว


ฎีกาที่ 1777/2506 
จำเลยถูกฟ้องยังศาลทหารฐานทำร้ายร่างกายและศาลพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ต่อมาอัยการยังฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายอีก โดยเอาการทำร้ายร่างกายครั้งเดียวกันนั่นเองมาเป็นองค์ความผิดของคดีหลังนี้ด้วย ดังนี้ ต้องถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ฎีกาที่ 1499/2531 
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาหมิ่นประมาทโดยจำเลยทั้งสองกับพวกทำหนังสือใส่ความโจทก์ซึ่งเป็นกำนันร้องเรียนต่อนายอำเภอ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์จะนำการกระทำอันเดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกในข้อหาแจ้งความเท็จกล่าวหาโจทก์ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้แม้ประเด็นในคดีทั้งสองนี้จะต่างกันก็ตาม สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แล้ว

คดีถึงที่สุด หมายความว่า คดีที่ศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีนั้นไปแล้ว แต่คู่ความมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ หรือฎีกา คำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือ ศาลอุทธรณ์ ดังกล่าวจนล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ หรือฎีกาแล้ว ผลแห่งคดีที่ถึงที่สุดย่อมต้องเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในกรณีที่มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ หรือเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในกรณีที่มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ รวมทั้งในกรณีที่มีการใช้สิทธิอุทธรณ์และได้มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วโดยกฎหมายบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ผลแห่งคดีที่ถึงที่สุดย่อมต้องเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และในกรณีที่ใช้สิทธิฎีกา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีนั้น คดีย่อมถึงที่สุดไปตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัย 

ตัวอย่างคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีถึงที่สุด 

ฎีกาที่ 2224/2547 
ในคดีอาญาโจทก์และจำเลยจะขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาตามยอมหาได้ไม่  คดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองสำนวนถอนฟ้องได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และมีผลให้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองระงับไปด้วยในตัว 

ฎีกาที่ 853/2490 
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งไม่มีฝ่ายใดฎีกาคัดค้านและไม่มีทางใดที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉะบับนั้นได้ ต้องถือว่าถึงที่สุด เมื่ออ่านให้คู่ความฟังแล้ว
ในคดีความผิดส่วนตัวเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้อง แต่คดีไม่มีการยื่นฎีกานั้น ศาลจะสั่งให้คดีระงับไม่ได้ โดยถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น