ศาลปกครองกับการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน

15/8/53
โดยชินานนท์ วงศ์วีระชัย เมื่อ 29/06/2553 www.forlayman.com


ในการสอบสอนคดีอาญานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน   ผู้ที่จะเป็นพนักงานสอบสวนได้ก็คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ   ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเป็นพนักงานสอบสวน   มีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ
    
การสอบสวนก็คือ การรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับความผิดที่มีการกล่าวหา   เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด   และเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ   ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงอาจออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ   หรืออาจจะขอให้ศาลออกหมายค้นเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ    หรือขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อเอาตัวผู้ต้องหามาเพื่อดำเนินคดีต่อไปก็ได้   และขั้นตอนสุดท้ายคือ การสั่งคดีว่าควรจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่   ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจได้ตามความเหมาะสมตามกรอบที่กฎหมายกำหนด
    
ศาลปกครองนั้น มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำต่างๆของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่   แต่ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปปฏิบัติการในเรื่องนั้นๆเสียเอง   ดังนั้น การเข้าไปใช้ดุลพินิจสั่งการในเรื่องนั้นๆเสียเอง ศาลปกครองไม่สามารถกระทำได้   คงวินิจฉัยว่าการดำเนินการในเรื่องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น   แต่ถ้าพนักงานสอบสวนละเลยต่อหน้าที่หรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่   ศาลปกครองสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
    
คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๙๐/๒๕๕๒   การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีอาญานั้น   เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม

-กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและ
-ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับคดี   ประกอบกับ
-ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   

เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน(ผู้ถูกฟ้องคดี)   กล่าวโทษพี่สาวของผู้ฟ้องคดีและเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาว่ายักยอกฉ้อโกงทรัพย์มรดก   แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการใดๆ   จึงเป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยหรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่   อันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ   หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร   คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
    
แต่ถ้าเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน   เกี่ยวกับการดำเนินคดีหรือการรวบรวมพยานหลักฐานใดๆหรือการสั่งคดี   พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจกระทำการอย่างใดก็ได้ตามที่เห็นสมควรตามกรอบของกฎหมาย   อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   กรณีเหล่านี้ย่อมอยู่ในการตรวจสอบของศาลยุติธรรม   ไม่ใช่ศาลปกครอง(คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๙๙/๒๕๕๐)
    
สำหรับกรณีที่พนักงานสอบสวนกระทำละเมิด   เช่น กรณีที่พนักงานสอบสวนยึดรถของผู้ฟ้องคดีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย   เมื่อผู้ฟ้องคดีขอรับรถคืนแล้วไม่คืนให้   และรถยนต์ถูกจอดทิ้งไว้โดยไม่มีการดูแลรักษา   เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีรถยนต์ใช้และรถยนต์ได้รับความเสียหาย   จึงเป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่า พนักงานสอบสวนกระทำละเมิดของผู้ฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา   คดีอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม   ไม่ใช่ศาลปกครองเช่นเดียวกัน(คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๖๖/๒๕๕๒)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น