การใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญไทย

9/11/52
มาตรา 17 เป็นบทบัญญัติหนึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีต เป็นการให้อำนาจฝ่ายบริหารโดยนายกรัฐมนตรีอย่างไม่มีการถ่วงดุล ทำให้ฝ่ายบริหารมีความเฉียบขาดในการจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความฉับไวในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน แต่ก็นำมาซึ่งการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิดโดยมีการสั่งลงโทษประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก

มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถึง 4 ฉบับที่มีบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในฉบับต่อๆ มานั้นหมายเลขมาตราได้เลื่อนไป แต่ผู้คนก็ยังนิยมกล่าวถึงกรณีการใช้อำนาจเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีว่าการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๗
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีบทบัญญัติดังกล่าวได้แก่

1. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 มาตรา 17

2. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 มาตรา 17
(ยกเลิกไปโดยการออกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517)

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 21

4. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 มาตรา 27
(ยกเลิกไปโดยการออกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521)

ข้อความในบทบัญญัติดังกล่าว ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 มีบทบัญญัติดังนี้
         
มาตรา 27 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้และไม่ว่าจะเกิดขึ้น ภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่ง ดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำ การใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ

กรณีการใช้มาตรา 17

- การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย
- การสั่งประหารชีวิตบ้านต้นเพลิงที่ตลาดพลู
- การสั่งยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดย จอมพลถนอม กิตติขจร
- การสั่งยึดทรัพย์จอมพลถนอม กิตติขจร โดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์

การวิพากษ์วิจารณ์

มีผู้กล่าวว่ารัฐธรรมนูญอันมีบทบัญญัตินี้ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย มีการให้อำนาจเผด็จการแก่ฝ่ายบริหารอย่างไม่มีการตรวจสอบ

--------------------------

จอมพลสฤษดิ์กับ มาตรา 17 เป้าหมายคือปราบปรามประชาชน

แม้จะดูเหมือนว่าในทางนิติ-รัฐศาสตร์ อำนาจทางการเมืองของ

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จะมาจาก ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 แต่โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ รากฐานอำนาจอย่างแท้จริงของจอมพลผ้าขาวม้าแดงนั้นมาจาก ปากกระบอกปืนนั้นคือคืออำนาจทางการทหาร หรือชี้ชัดลงไปได้โดยไม่อ้อมค้อมว่า มาจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนั่นเอง จะเห็นได้ว่าตลอดเวลา 5 ปีเศษในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะปฏิวัติ 2 ตำแหน่งสูงสุดสำหรับข้าราชการทหารที่ไม่วางใจให้บริษัทบริวารคนใดรับช่วงไปถือบังเหียนแทน คือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ดร.เสนีย์ คำสุข ได้ วิเคราะห์และสังเคราะห์ลักษณะของผู้นำทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยระบุว่าเป็นช่วงของการเมืองไทยยุค พ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ และเผด็จการทหารอำนาจนิยม หลังจากจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจแล้ว เน้นการปกครองบริหารราชการ แผ่นดินแบบระบบพ่อขุน กล่าวคือ ระบบการเมืองประกอบด้วย3 ส่วน ได้แก่ 


1.รัฐบาล 


2.ข้าราชการ คั่นกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และ 


3.ประชาชน” 


(เอกสารการสอนชุดวิชาปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. พิมพ์ครั้งที่ 1 (ฉบับปรับปรุง), นนทบุรี : สำนักพิมพ์ มสธ. 2545 หน่วยที่ 9. ปัญหาการเมืองไทยด้านกระบวนการทางเมือง / วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ,เสนีย์ คำสุข, ธโสธร ตู้ทองคำ)

สำหรับการใช้อำนาจตาม ม.17 แห่ง ธรรมนูญปกครองฯ ฐานะหัวหน้า คณะปฏิวัติ จะด้วยจุดประสงค์จะเป็นการ เชือดไก่ให้ลิงดู หรือจะโดยเจตนาอื่นใดเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย การตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดในคดีอาญาโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติตามหลักสากลเยี่ยงอารยะประเทศ ส่งผลให้มีการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าผู้ต้องหา คดีเพลิงไหม้ ถึง 4 คดีในเวลาเพียง 2 เดือนหลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ถนอม กิตติขจร ที่แต่งตั้งมากับมือ 


คดีแรก วันที่ 6 พฤศจิกายนที่ตำบลบางยี่เรือ 


คดีที่ 2 วันที่8 พฤศจิกายน เพลิงไหม้ที่ตลาดพลูมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาทในสมัยนั้น 


คดีที่ 3 ในวันที่25 พฤศจิกายน เพลิงไหม้โรงเลื่อยจักรบ้วนเฮงหลง ตำบลวัดพระยาไกร และ


คดีที่ 4 ในวันที่ 19 ธันวาคมปีเดียวกัน เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนเกือบ 300 หลังคาเรือนที่ตลาดท่าช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ครั้งนี้จอมพลสฤษดิ์ เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อบัญชาการดับไฟและสอบสวนผู้ต้องหาด้วยตนเอง และมีคำสั่งยิงเป้าผู้ต้องหาทันที ณ ที่เกิดเหตุนั้นเอง

อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจาก คทาจอมพลกลายเป็นอาญาสิทธิ์การปกครองที่ไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดละเมิดหรือโต้แย้งได้

ในส่วนการควบคุมประชาชนนั้น การกำจัดเสรีภาพในการคิด การพูด และการแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งในเวลานั้นสื่อที่สำคัญที่สุดคือ หนังสือพิมพ์คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ถือเป็นการดำเนินการเร่งด่วน เริ่มจากการกวาดล้างจับกุม นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนนักคิดนักเขียน นักศึกษา อาจารย์และปัญญาชน ผู้นำกรรมกรและผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ที่ถูกจับสึกในเวลาต่อมา รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนหลายร้อยคนโดยไม่มีการไต่สวนตามกฎหมายแต่อย่างใด อาทิเช่น 


- นายอุทธรณ์ พลกุล
- นายอิศรา อมันตกุล
- นายกรุณา กุศลาศัย
- นายจิตร ภูมิศักดิ์
- นายแคล้ว นรปติ
- นายทองใบ ทองเปาด์
- นายอุดม ศรีสุวรรณ
- นายทวีป วรดิลก
- นายสุพจน์ ด่านตระกูล และ 
- พระมหามนัส จิตตธัมโม วัดมหาธาตุ เป็นต้น
ทั้งหมดนั้น ได้รับการขนานนามในภายหลังตามชื่อหนังสือที่เขียนโดยนายทองใบ ทองเปาด์ ว่า คอมมิวนิสต์ลาดยาวและส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพ ถูกขังลืมไม่มีการสอบสวนดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

พร้อมกันนั้น มีการยกกำลังบุกค้นปิดหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์หลายสิบแห่ง ปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน ออกประกาศคณะปฏิวัติล้มเลิกกฎหมายแรงงานทั้งหมดกับห้ามการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานอย่างเด็ดขาด มีการควบคุมกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างเข้มงวด 

มีคำสั่งห้ามนิสิตนักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ด้วยการ สอดส่องทั้งทางเปิดเผยโดยคณาจารย์ที่เป็นเครื่องมือของรัฐ และผ่านการแทรกซึมหาข่าวผ่านสายลับในหมู่นักศึกษา

กระบวนการโฆษณาชวนเชื่อถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ตอกย้ำและต่อเนื่อง ผ่านวาทกรรมสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เครื่องมือที่รัฐบาลใช้ควบคุมความคิดและการเคลื่อนไหวของประชาชน คือ พระราชบัญญัติ ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ซึ่งประกาศใช้มาตั้งสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้นมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ถูกนำมาใช้ควบคู่กับมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองฯ 

โดยหน่วยงานของรัฐทั้งทางด้านความมั่นคง และทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง ในการปลุกและสร้างกระแสต่อต้านปราบปรามผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาล ประหารชีวิตผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดชัดเจน และไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม

กรณีที่ถือว่ามีความสำคัญต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างระบอบเผด็จการทหารกับระบอบประชาธิปไตยก็คือ การประหารชีวิตในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างรัฐบาลและบ่อนทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร เริ่มต้นจาก


1. ยิงเป้า นายศุภชัย ศรีสติ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 ที่ท้องสนามหลวง 


2. ตามมาด้วยการยิงเป้า 
นายทองพันธ์ สุทธมาศ และ
นายครอง จันดาวงศ์ อดีต ส.ส. จังหวัดสกลนคร จากพรรคแนวร่วมเศรษฐกร ที่อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 และ



3. วันที่ 24 เมษายน 2505 ยิงเป้า นายรวม วงศ์พันธ์ ณ แดนประหาร เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี



ผลที่ตามมาคือ ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกบีบคั้นกดดันจากอำนาจเผด็จการ ตัดสินใจมุ่งสู่เขตป่าเขาใน ชนบทเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งๆที่ในขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังไม่อยู่ในสภาพเข้มแข็งพอจะลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลได้แต่อย่างใด

ปลาย ปี 2504 นายจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในคุก แต่งเพลง วีรชนปฏิวัติขึ้น จากความความรู้สึกประทับใจในการต่อสู้ของนายครอง จันดาวงศ์ และในเวลาต่อมาเพลงนี้ก็ยังได้รับการเผยแพร่และขับร้องกันสืบเนื่องต่อมาในขบวนการฝ่ายประชาชน.

ผลที่ตามมาคือ ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจมุ่งสู่เขตป่าเขาในชนบททั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังไม่เข้มแข็งแต่อย่างใด

โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24 - 30 ตุลาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น