สรุปปรัชญาการเมืองตะวันตกสมัยใหม่ / ทศพร

3/1/53
ยุคกลางสิ้นสุดลง พร้อมกับ renaissance, reformation การค้นพบโลกใหม่ ทำให้คนยุโรปเห็นโลกกว้างขึ้น และยุโรปก็ขยายตัวไปยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะด้านการค้า และการเกิดของสถาบันกษัตริย์ที่มุ่งอำนาจอย่างเด็ดขาด

หลังยุคศักดินาในยุโรปตะวันตก สามสถาบันกษัตริย์ที่เข้มแข็ง คือในอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ส่วนในเยอรมันยังเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยจำนวนมาก แต่ในอิตาลีเป็นนครรัฐที่มีความรุ่งเรือง โดยเฉพาะในทางเหนือ กษัตริย์ล้วนพยายามสร้างความเข็มแข็งด้วยการดึงอำนาจเข้าส่วนกลาง และกำจัดอำนาจของขุนนางหัวเมืองที่แข็งข้อ

การที่มนุษย์มีท่าทีอย่างใหม่ ต่อศาสนา ต่อตนเอง ต่อสังคมและโลกที่แวดล้อมตนเอง รวมทั้งต่อรัฐ ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ บวกกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ ทำให้เกิดเป็นยุคใหม่ที่เรียกว่า Renaissance หรือที่แปลได้ว่า "การเกิดใหม่" เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดความคิดทางการเมืองในรูปแบบใหม่ ที่แตกต่างๆไปจากความคิดในยุคกลางเป็นอย่างยิ่ง

Machiavelli ชาวอิตาลี ในสภาพแวดล้อมที่แต่ละนครรัฐกำลังแข่งขันชิงดีกันในเรื่องอำนาจ แต่งหนังสือเรื่อง "เจ้า" ซึ่งมีเนื้อหาว่า ทำอย่างไรจึงจะได้มาซึ่งอำนาจ และจะรักษาอำนาจนั้นไว้ได้อย่างไร "เจ้า"จะต้องแกล้งแสดงตัวว่าเป็นคนดี ให้ความเอื้อเฟื้อ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินและภรรยาของลูกน้อง แต่ต้องพร้อมโจมตี ต้องคบพันธมิตรที่อ่อนแอกว่า ต้องให้คนกลัว ไม่ต้องรักก็ได้ พร้อมกับยกตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ให้เห็นเป็นหลักฐาน การที่จะเป็น"เจ้า"ที่เข้มแข็งได้ ต้องไม่คำนึงถึงศีลธรรมทางศาสนามากนัก รัฐที่จะเข็มแข็งต้องพร้อมทำสงครามเพื่อขยายตัว ไม่เช่นนั้นก็ต้องพร้อมเสื่อมสลายได้เลย ความเติบโตเป็นกฏของชีวิตทางการเมือง ซึ่งจะมามัวรักษาและแสวงหาอุดมคติไม่ได้

Machiavelli ไม่ได้สนใจที่จะหาเหตุผลและความชอบธรรมให้แก่การกระทำ แต่ต้องการความสำเร็จในการกระทำ "เจ้า"ต้องพร้อมใช้ศาสนาและศีลธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง และ"เจ้า"ต้องให้ความสนใจแก่พลเมือง ผู้มีความประสงค์จะได้รับความปลอดภัยและการคุ้มครอง เพราะนั่นคือพันธมิตรโดยธรรมชาติที่สำคัญของ"เจ้า" ไม่ใช่เหล่าขุนนาง

การปฎิรูปศาสนาโดย Luther, Calvin ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมาก สงคราม ๓๐ ปี เป็นปัจจัยประการหนึ่ง (๑๖๑๘-๑๖๔๘) การกดขี่บุคคลต่างศาสนา ฯลฯ ล้วนทำให้สถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ-สังคมเปลี่ยนแปลงไป ค.ศ. ๑๖๔๘ มีการทำสนธิสัญญา Wesphalia ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด "รัฐชาติ" ในยุคใหม่นี้

อังกฤษ ค.ศ. ๑๖๔๒ - ๑๖๔๙ เป็นช่วงเวลาของสงครามกลางเมือง และจบลงด้วยการปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน สองปีหลังจากนั้น Hobbes แต่งหนังสือ "Liviathan" ซึ่งพูดถึงสภาวะธรรมชาติ สิทธิ์ตามธรรมชาติ และ การทำสัญญาสังคม

Hobbes มองเห็นว่าสถานการณ์ที่เพิ่งผ่านไปนั้น เป็นเหตุการณ์ร้ายแรง เกิดขึ้นเพราะสถาบันศาสนามีบทบาทโดยไม่มีข้อจำกัด ต้องให้สถาบันศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเมือง และให้องค์อธิปัตย์หรือกษัตริย์เป็นผู้มีสิทธิ์ตีความของศาสนาได้ แต่ต้องไม่ใช้พวกคลั่งศาสนา

ความคิดทางการเมืองของเขาคือ ในสภาวะธรรมชาติ ซึ่งไม่มีองค์อธิปัตย์จะมีแต่สงครามที่ทุกฝ่ายจะรบกันเอง ทุกคนมุ่งจะมีอำนาจเหนือคนอื่น และเอาทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นของตน ทุกหนแห่งมีแต่ความกลัว และยิ่งน่ากลัวคือทุกคนเท่าเทียมกัน ในอันที่จะต้องตายด้วยกันได้ทั้งนั้น ทุกคนมีสิทธิ์นี้กันโดยธรรมชาติ แต่แล้วกฏธรรมชาติข้อแรก ก็ทำให้ทุกคนมีความคิดอันมีเหตุผลเกิดขึ้นมา ให้คิดหาสันติภาพ ซึ่งจะทำให้ทุกคนปลอดภัยได้ และก็ทำได้ด้วยการตกลงระหว่างกันว่า จะยกสิทธิ์ตามธรรมชาตินี้ (ยกเว้นสิทธิในชีวิตของตน) ให้แก่องค์อธิปัตย์ และการที่ทุกคนรักษาสัญญานี้ก็เป็นกฏธรรมชาติอีกข้อหนึ่ง แต่ข้อตกลงโดยไม่มีดาบบังคับก็เหมือนลมพัด ทุกคนจึงยอมให้องค์อธิปัตย์นั้นใช้กำลังบังคับได้อย่างเต็มที่ การยอมเช่นนี้ไม่ใช่ข้อบังคับโดยกฏหมาย แต่เป็นความมีเหตุผลต่างหาก (คู่สัญญาในสัญญาของHobbesนี้เป็นศัตรูกันมาก่อน)

องค์อธิปัตย์ของ Hobbes เป็นผู้ออกกฏหมาย (ยกเว้นที่เป็นกฏหรือสิทธิ์โดยธรรมชาติ) มีอำนาจเด็ดขาดในทุกเรื่อง (ยกเว้นเช่นสั่งให้พลเมืองฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของสัญญา หรือพลเมืองมีสิทธิ์ขัดขืนไปไม่รบในกองทัพ)

หลังจากนั้นไม่นาน ยุโรปก็กลับคืนสู่สันติภาพ รวมทั้งในอังกฤษด้วย ๑๖๖๐ อังกฤษมีกษัตริย์อีก ฝรั่งเศสทำสัญญาสันติภาพกับสเปน ๑๖๕๙ และ ๑๖๖๑ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ขึ้นครองราชย์ และโดยทั่วไป ไม่มีการกดขี่ในทางศาสนาอีกมากแล้ว ยกเว้นในฝรั่งเศสระยะหนึ่ง เมื่อมีสันติภาพ การทำมาค้าขายก็รุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการค้าขายกับต่างประเทศ (+การแสวงหาอาณานิคม)

ศาสนาในฮอลแลนด์ ค่อนข้างมีความใจกว้าง (tolerant) กว่าที่อื่น หากแต่เพราะว่า Spinoza เกิดในครอบครัวชาวยิว เขาจึงมีปัญหาอยู่ แต่หลักปรัชญาของเขาก็คือ มีพระเจ้าอยู่ทุกแห่งหน (pantheism) ในความคิดทางการเมือง Spinoza ก็ได้รับอิทธิพลจาก Hobbes อยู่ และเขาก็พูดถึงกำเนิดรัฐบนรากฐานของข้อตกลงระหว่างสมาชิกของสังคม ที่จะโอนสิทธิ์โดยธรรมชาติของเขาให้แก่รัฐ เพื่อให้ออกกฏหมายและบังคับใช้ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกคน แต่สิทธิ์ที่จะมีความคิดเห็นโดยอิสระและที่จะตัดสินยังคงอยู่ที่แต่ละคน ในแง่ของรูปแบบการปกครอง Spinoza ออกจะเห็นว่า การปกครองแบบ aristocracy มีประสิทธิภาพในการรักษาอิสระของสมาชิกแต่ละคนได้ดีกว่าแบบราชาธิปไตย และได้พูดถึงโครงสร้างหน้าที่ของการปกครองทุกรูปแบบค่อนข้างละเอียด

ปรัชญาการเมืองของ สปิโนซา 

(สรุปความจาก Tractus Theologica-Politicus 1670)

กฎธรรมชาติมีความสำคัญเช่นเดียวกับอำนาจธรรมชาติ สิทธิโดยธรรมชาติของธรรมชาติทั้งหมด มีเท่าที่อำนาจธรรมชาติไปถึง

ฉะนั้น มนุษย์ทุกคนโดยธรรมชาติเขาก็จะมีสิทธิทำทุกอย่างได้ เท่าที่เขาจะมีอำนาจที่จะทำเช่นนั้น สิทธิของเขาถูกกำหนดโดยอำนาจของเขาเอง และโดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการ เครื่องมือ มนุษย์ทุกคนจะทำอะไรก็ได้ ตามที่อยู่ในอำนาจเขา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเขาเอง

การก่อตัวของรัฐ/ สังคม เกิดขึ้นบนพื้นฐานของข้อตกลงระหว่างมนุษย์ด้วยกัน สิทธิและอำนาจของเขาก็จะถูกโอนให้รัฐ/ สังคมด้วย รัฐบาลเป็นผู้ใช้สิทธิโดยส่วนรวมนี้ ในการออกกฏหมาย บีบบังคับใช้กฏหมาย ตัดสินใจเรื่องสงครามหรือสันติภาพ ฯลฯ

มนุษย์แต่ละคนก็จะมีสิทธิโดยธรรมชาติ เพียงเท่าที่สิทธิ์ส่วนรวมจะยอมให้เขามีได้ และถึงแม้เขาได้ให้สิทธิ์นั้นไปแก่รัฐแล้ว (สิทธิ์สูงสุดในการที่จะทำอะไรก็ได้) แต่เขาก็ไม่ได้ให้สิทธิ์ที่จะคิดโดยอิสระ และตัดสินใจเอง ไปด้วย ฉะนั้น เขาจึงยังด่าว่า/ ตัดสิน และประนาม รัฐบาลว่าเลว ผิดเป้าหมายได้ หากว่ารัฐบาลไม่สามารถรับรองสิทธิ์ที่จะแสดงออกได้อย่างเสรี คิดและตัดสินใจได้อย่างอิสระ

แม้จะมีรัฐแล้วก็ตาม แต่สภาวะธรรมชาติก็ไม่ไสูญสิ้นไปด้วย แต่การมีรัฐกลับจะทำให้สภาวะที่จะคิดเองได้เช่นนั้นคงอยู่ได้ต่อไป เป็นเพราะว่า รัฐให้ความปลอดภัย ให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รัฐทำให้มนุษย์พัฒนาต่อไป

ทั้งนี้สะท้อน ๒ ความคิดสำคัญของสปิโนซา เรื่อง อิสรภาพ และ ความจำเป็น กล่าวคือ มนุษย์สามารถเป็นอิสระได้ ต่อเมื่อเขามีเหตุผล ที่จะทำไปตามความจำเป็น

และเมื่อมนุษย์มีเหตุผล และเห็นความจำเป็นของการกระทำของเขา เขาก็จะเคารพเชื่อฟังกฏหมาย ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนรากฐานของเหตุผล และผลประโยชน์ของทุกคนในสังคม (=จำเป็น)

แต่ต้องยอมรับว่า มนุษย์มีอารมณ์/ความรู้สึกด้วยไม่มากก็น้อย แล้วก็มีพฤติกรรมตามนั้นด้วย รัฐจะคงอยู่ได้ ต้องมีพฤติกรรมจากเหตุผล และอารมณ์ด้วยกัน รัฐคงจะอ่อนแอลง ถ้าเอาการกระทำด้วยเหตุผล เป็นมาตรฐานของสมาชิกไปเสียทุกกรณี

เราต้องเชื่อฟังรัฐ เพราะมอบอำนาจให้ไปแล้ว รัฐเองก็ไม่มีทางทำอะไรผิด ถูก-ผิด ไม่ยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ระหว่างพลเมืองด้วยกัน (หรือผู้ที่มีหน้าที่แทนรัฐบาล??) แต่พลเมืองสามารถบอกเลิกสัญญากับรัฐได้ เมื่อทุกคนหรือส่วนมากมองเห็นว่า รัฐไม่มีประโยชน์อีกแล้วต่อตน โดยการบอกเลิกสัญญานั้น ต้องชั่งเอาระหว่างผลประโยชน์หรือผลเสียจากการมีสัญญาต่อกัน (แปลว่า การเมืองจะต้องดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์อันมีเหตุผลของพลเมือง การเมืองต้องทำให้พลเมืองเห็นประโยชน์จากการทำตามเหตุผล-กฏระเบียบ มากกว่าผลประโยชน์ของตนอย่างตื้นๆ) (มนุษย์มักมีความหยิ่ง คิดว่า ตนเองรู้ดีกว่าใครๆ)

สปิโนซายอมรับด้วยว่า ธรรมชาติทำให้มนุษย์เป็นศัตรูกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง และที่น่าวิตกสำหรับความมั่นคงของรัฐ คือศัตรูจากภายใน มากกว่าศัตรูจากภายนอก (เขายกตัวอย่างประวัติศาสตร์โรมัน)

เกี่ยวกับรูปแบบของรัฐ สปิโนซาว่ามี ๓ แบบ คือ ประชาธิปไตย (อำนาจตัดสินใจมาจากที่ประชุมที่เลือกจากประชาชนทั้งหมด) อำมาตยาธิปไตย (aristocracy) (อำนาจตัดสินใจมาจากกลุ่มบุคคลผู้ได้รับเลือกแล้ว) และ ราชาธิปไตย (อำนาจตัดสินใจมาจากบุคคลคนเดียว)

สปิโนซาอธิบายว่า ในการปกครองแบบราชาธิปไตยนั้น อาจเกินความสามารถของคนคนเดียวก็ได้ น่าต้องมีคณะที่ปรึกษาและคนไว้ใจช่วยด้วย อาจเป็นที่ประชุมของเผ่า หรือในระบบครอบครัวก็ได้ และสมาชิกในคณะนั้นน่าจะต้องอยู่ในตำแหน่งไม่เท่ากัน เพื่อจะได้มีคนที่มีประสบการณ์ร่วมประชุมอยู่ด้วยเสมอ ถ้าพระราชาฟังคณะที่ปรึกษา เอาเหตุผลในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม พระราชาพระองค์นั้นก็จะมีอำนาจมาก (เพราะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน)

ฝ่ายตุลาการต้องเป็นองค์กรอิสระ สมาชิกต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติว่า มีเหตุผลเหนืออารมณ์

สปิโนซามีความเห็นว่า การปกครองแบบอมาตยาธิปไตยดีกว่าการปกครองแบบอื่นในการรักษาอิสรภาพของพลเมือง สำหรับอาณาจักรขนาดกลาง เห็นว่า"สภาผู้ได้รับเลือกแล้ว" น่าจะมีสมาชิกประมาณ ๕ พันคน จำนวนนี้สามารถตัดสินใจแทนประชาชนได้เลย ถ้าน้อยกว่านี้ก็จะทำให้อำนาจตกอยู่กับคนกลุ่มน้อยเท่านั้น สภาฯนี้ทำหน้าที่นิติบัญญัติ

สปิโนซาเสนอให้มีอีกสภาหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแล "สภา ๕ พัน" โดยมีสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งตลอดชีพ และมีจำนวนไม่มาก ทำหน้าที่คล้ายเป็นศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ให้มี senate ทำหน้าที่บริหาร แต่การทำงานจริงๆในแต่ละเรื่องให้มีคณะกรรมาธิการและ "ข้าราชการ" ซึ่งเป็นมืออาชีพเป็นผู้ดำเนินงาน

การปกครองแบบอำมาตยาธิปไตยนี้เหมาะกับเมืองอิสระ (ทำนอง city state) ซึ่งมีมากในยุคนั้น นอกจากนี้ สปิโนซายังเสนอให้มีการรวมหลายๆนครรัฐเป็น "สหพันธรัฐ" ด้วย

ส่วนการปกครองแบบประชาธิปไตย ประเด็นอยู่ที่ว่า คนส่วนใหญ่มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง ในทางปฏิบัติ ทาสและผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ (สปิโนซาไม่เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์อยู่แล้ว) และสิทธิในการออกเสียงก็ยังขึ้นอยู่กับอายุ และภาษีที่จ่าย

(สรุปความจากหนังสือ Hauptwerke der politischen Theorie โดย Theo Stammen, Gisela Riescher และ Wilhelm Hofmann สำนักพิมพ์ Alfred Kroener เมือง Stuttgart พิมพ์ปี 1997)

Locke เป็นนักคิดที่ความคิดและงานเขียนของเขา "Treatises of Government" (๑๖๙๐) มีอิทธิพลต่อพัฒนาการและเหตุการณ์ทางการเมืองมากที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Enlightenment ของฝรั่งเศส และการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา

ในทัศนะของ Locke มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและสามารถมีเหตุผลได้ เมื่ออยู่ในสภาวะธรรมชาติที่ไม่มีอำนาจร่วมส่วนกลางคอยดูแล ก็รู้ได้ว่าไม่ปลอดภัย แต่เหตุผลก็บอกได้ด้วยว่า ต้องยอมรับสิทธิ์โดยธรรมชาติว่า แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิต แสวงหาทรัพย์สิน และมีอิสรภาพได้เสมอกัน และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องสิ่งเหล่านี้ โดยที่ข้อขัดแย้งและความไม่ยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้แน่ และสภาะธรรมชาติก็จะกลายเป็นสภาะสงครามได้โดยง่าย ความมีเหตุผลของมนุษย์ทำให้มนุษย์ตกลงที่จะสร้าง "ชุมชน" ขึ้น และโอนสิทธิ์โดยธรรมชาติในการปกป้องสิทธิ์ของตนนี้ให้แก่อำนาจร่วมส่วนกลาง โดยที่รูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้นจะได้ตกลงกันในระบบเสียงข้างมากต่อไป ไม่ใช่ว่า "รัฐบาล"จะทำสัญญากับพลเมือง แต่พลเมืองมอบฉันทะให้รัฐบาลไปทำหน้าที่ปกป้องสิทธิ์อื่นๆที่ยังมีอยู่ของประชาชนต่อไป รัฐบาลมีหน้าที่อันจำกัด หากรัฐบาลไม่ทำหน้าที่ หรือทำไม่ถูกต้อง ประชาชนในชุมชนจะกลับมาพิจารณาใหม่ว่า จะยังคงให้รัฐบาลทำหน้าที่ต่อไป หรือเปลี่ยนรัฐบาล ทุกอย่างดำเนินไปในระบบเสียงข้างมาก ในรูปแบบการปกครอง Locke ได้เสนอเรื่องการแบ่งแยกอำนาจไว้ด้วย และให้ความสำคัญแก่ฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่า รัฐ ในทัศนะของ Locke เป็นนิติรัฐโดยแท้

ประเด็นที่น่าสนใจในงานของ Locke อีกประเด็นคือทัศนะของเขาต่อเรื่อง "ทรัพย์สิน" ซึ่งมีความหมายกว้างขวาง ตั้งแต่เป็นวัตถุ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตลอดไปจนการมีอิสระในความเชื่อทางศาสนา (สำหรับ Locke เรื่องของศาสนาและความเชื่อ จัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว) สิ่งเหล่านี้เขามองเห็นว่า เป็นหน้าที่หลักของรัฐที่จะต้องปกป้อง แม้ว่า Locke จะระบุว่า มนุษย์มีสิทธิ์โดยธรรมชาติที่จะแสวงหาทรัพย์สินมาครอบครอง แต่ก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดว่า ต้องไม่มากเกินจำเป็น เกินกว่าจะบริโภคหรือใช้สอยได้ หรือไม่เกินจนกระทั่งไม่เหลือสำหรับคนอื่น แต่เมื่อทรัพย์สินแปลงสภาพเป็นเงินตราแล้ว Locke ก็ไม่ได้ขัดขวางว่า มนุษย์จะสะสมเงินตราไม่ได้ เพราะเงินตราไม่ได้เน่าเสียอย่างอาหาร และเพราะมูลค่าของเงินตราเป็นสิ่งที่ได้มีการตกลงกัน

ยุโรปในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ อยู่ในยุคที่เรียกว่า Enlightenment (ยุคที่มนุษย์บรรลุถึงจุดสูงสุดทางปรัชญา โลกสว่างไปด้วยความคิด ความเข้าใจอันมีเหตุและผล ความจริง และเหตุผลสำคัญที่สุดต่อทุกชีวิต สถาบันกษัตริย์ของยุคนี้มีส่วนส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และปรัชญา ตลอดจนศิลปวิทยาการ จักรพรรดิ์แห่งออสเตรีย โจเซฟที่ ๒ (๑๗๖๕-๑๗๙๐) ปรับปรุงประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน เลิกระบบทาสติดที่ดิน การสอบสวนด้วยวิธีทารุณ และโทษประหาร จักรพรรดินีคาธารินาแห่งรัสเซีย (๑๗๖๒-๑๗๙๖) ต้อนรับนักปราชญ์จากทั่วยุโรป และนำรัสเซียสู่ความเป็นศิวิไลซ์มากเท่าที่จะทำได้ พระเจ้าฟรีดิชมหาราชแห่งปรัสเซีย (๑๗๔๐-๑๗๘๖) ให้ความสนับสนุนวอลแตร์และนักปราชญ์อื่นๆ พระองค์เองก็นับว่าเป็นปราชญ์คนหนึ่ง แต่ในทางทฤษฎีมากกว่าในทางปฏิบัติ ในขณะที่ราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ มีความ enlightened ในทางปฏิบัติมากกว่าในทางทฤษฎี นักปราชญ์สนใจศึกษาค้นหาความจริง ด้วยการสังเกต และทดลอง เสรีภาพทางการเมืองของประชาชนได้รับการอุ้มชูเป็นพิเศษ มีการท้าทายอำนาจของผู้ปกครองจากฝ่ายที่ถูกปกครองทั้งทางตรง(ในชีวิตการเมือง) และทางอ้อม(ในงานเขียนทางปรัชญา) เสรีภาพในความคิดและการแสดงออกเป็นสิ่งที่ยอมรับได้โดยทั่วไป แม้แต่ในประเทศที่เคร่งศาสนาและออกจะล้าหลังไปหน่อยสำหรับยุโรปอย่างสเปน พระเจ้าชาลส์ที่ ๓ (๑๗๕๙-๑๗๘๘) ก็นับว่าเป็นกษัตริย์นักปฏิรูปพระองค์หนึ่ง

Hume เป็นตัวแทนที่โดดเด่นของ Enlightenment ของสก๊อตแลนด์ นอกจากงานชิ้นสำคัญของเขาเรื่อง Treatise of Human Nature แล้ว เขายังได้เขียนบทความเกี่ยวกับการเมืองไว้หลายเรื่อง ในที่นี้ขอสรุปแนวคิดบางประการของเขาไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

๑. ยากที่จะให้คำจำกัดความแก่ "มนุษย์" เพราะมนุษย์มีความหลากหลาย และ flexible มาก แรงจูงใจให้มนุษย์กระทำการต่างๆลงไปนั้น ไม่ใช่เหตุผลและความเข้าใจ แต่เป็นอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งมีธรรมชาติที่ซับซ้อนและขัดแย้งกัน ในแง่หนึ่งเหมือนว่ามนุษย์จะพัฒนาจนมีแนวโน้มอยู่กับสังคมและชุมชน สามารถเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ มีความรัก ความกตัญญู ความสงสารได้ แต่อีกแง่หนึ่ง มนุษย์ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นแก่ตัว พอที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของตน เป็นสิ่งมีชีวิตที่"เน่าเละ"แล้ว และเพียงเพื่อความพอใจของตนแม้ในระยะสั้น มนุษย์ก็พร้อมที่จะทำลายเพื่อนมนุษย์แล้ว หรือมีอิสระที่ไม่มีขีดจำกัดและมีอำนาจเหนือคนอื่นๆ

๒. แต่ที่จริง สังคมก็สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีอำนาจรัฐ สังคมเริ่มต้นที่ครอบครัว และการอยู่ร่วมกันก็เริ่มที่การแบ่งงานกันทำ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมีเรื่องทรัพย์สินเข้ามาเกี่ยวข้อง อำนาจรัฐก็กลายเป็นสิ่งจำเป็น (รัฐเป็นผลิตผลจากการทำสัญญา น้อยกว่าการเป็นผลิตผลจากการมีทรัพย์สิน) ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นตัวอธิบายความมีศีลธรรมของมนุษย์ แต่ที่เรานึกว่าเป็นเรื่องของเหตุผลนั้น ก็เพราะว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะเข้าใจและมองความเคยชินว่าเป็นเหตุผล

๓. หน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐ คือการสร้างกฎหมายที่ยุติธรรมและมีผลบังคับใช้ทั่วไป กฎหมายซึ่งแม้จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์จะต้องสามารถกำหนดสิทธิ์การครอบครองทรัพย์สินตามกฎหมายและการใช้ทรัพย์สินนั้นได้ การลงโทษ และความกลัวว่าจะได้รับโทษจะทำให้มนุษย์เกิดการยับยั้งชั่งใจไม่ทำตามสัญชาติญาณของตน และนำไปสู่การทำตามกฎหมาย ตลอดจนการเคารพในทรัพย์สินของคนอื่น และในที่สุด ความเป็นห่วงต่อความสงบสุขส่วนรวมก็จะมาแทนที่ความโลภจากความเห็นแก่ตัว และสิ่งนี้จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมในสังคมเดียวกันได้

๔. ด้วยการจัดให้มีสถาบัน (institutionalisation)การปกครองกลาง ความอยากแสดงอำนาจเหนือคนอื่นโดยธรรมชาติก็จะแสดงออกได้ในรูปแบบของการเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะใช้อำนาจได้(ตามกฎหมาย) ในฐานะดูแลผลประโยชน์อย่างเป็นกลางในเรื่องความยุติธรรม แต่สิ่งนี้ต้องใช้เวลานานในกระบวนการทางประวัติศาสตร์

Montesquieu เป็นนักทฤษฎีการเมืองที่สำคัญที่สุด(ของฝรั่งเศส)ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ งานชิ้นสำคัญของเขาคือ "หัวใจแห่งกฎหมาย" (De l'Esprit des Loix) แนวคิดของเขาประการหนึ่งคือ รัฐที่จะมีความเข้มแข็งและมั่นคงจะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพภูมิอากาศ โครงสร้างทางภูมิศาสตร์ ลักษณะประจำชาติของพลเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และการศึกษา เป็นต้น เขาได้แบ่งรัฐต่างๆเป็น ๓ ประเภทตามสภาพอากาศ ขนาดพื้นที่และลักษณะการปกครอง กล่าวคือ (Despotie) เป็นรัฐขนาดใหญ่ ในภูมิอากาศเขตร้อน และปกครองด้วยความกลัว รัฐ "ราชาธิปไตยผสม" เช่นอังกฤษ เป็นรัฐขนาดกลาง ในดินแดนเขตอากาศอบอุ่น และปกครองด้วยเกียรติ ส่วนสาธารณรัฐ (republic) เป็นรัฐขนาดเล็ก ในดินแดนที่มีอากาศหนาวเย็น และปกครองด้วย คุณธรรมของประชาชน (แม้ว่าวิธีคิดเช่นนี้จะไม่ตรงกับหลักเหตุผลสากลก็ตาม แต่ Montesquieu ก็ไม่สนใจ)

รัฐแบบสาธารณรัฐจะไปได้ดีก็ต่อเมื่อประชาชน (democracy) หรือชนชั้นปกครอง (aristocracy) ยอมรับระเบียบของรัฐธรรมนูญ จะด้วยความเคยชินหรือความรักในความเสมอภาคก็ตาม และยกผลประโยชน์ส่วนรวมไว้เหนือผลประโยชน์ส่วนตัว การกระทำเช่นนี้ได้เรียกว่าเป็น "คุณธรรมของประชาชน"

เขาได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพ (ทำได้ในสิ่งที่อยากทำ และไม่ต้องถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ) ในรัฐแบบสาธารณรัฐเกิดได้พร้อมกับการควบคุมตัวเอง (ซึ่งเป็นคุณธรรมของประชาชน) ในขณะที่ในรัฐแบบราชาธิปไตยเกิดได้ด้วยอำนาจ (ที่จะคอยดูแลและ"เบรก"กันเอง)

"หลายสิ่งควบคุมมนุษย์อยู่ หรือมีผลต่อสภาวะจิตของมนุษย์ เช่น ภูมิอากาศ ศาสนา กฎหมาย รัฐธรรมนูญ ประสบการณ์ประวัติศาสตร์ ประเพณี และความเคยชิน" สภาวะจิตและประเพณีอันสืบเนื่องจากสภาวะจิตนี้นั้นเป็นตัวกำหนดความต่อเนื่องของสังคมที่ดำเนินไปอย่างช้าๆแต่มั่นคง ในสังคมที่มีระเบียบดี สวาวะจิตนี้จะกำหนดรูปแบบของรัฐธรรมนูญ และพฤติกรรม ตลอดจนวิธีคิด วิธีรับรู้และอธิบายประสบการณ์ในโลกของสมาชิกในสังคมนั้นอีกที

Montesquieu มองการค้าขายว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสังคมยุคใหม่ การขยายตัวทางการค้าถือได้ว่าเป็นข้อดี แม้ว่าจะมีข้อเสียอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ข้อดีคือความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ และข้อดีคือ การค้าทำให้ชาติที่ค้าขายร่วมกันต้องพึ่งพากัน (interdependent) และนั่นคือหนทางสู่สันติภาพ ส่วนข้อเสียคือ จริยธรรมมักจะต้องหลีกทางให้กับการค้าเสมอ และถึงแม้ Montesquieu จะพูดถึงการค้า ระบบเงินตรา หรือนโยบายประชากร แต่เป้าหมายสำคัญที่เขาสนใจคือ ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุและมนุษย์ ในบริบทที่ว่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความแตกต่างของสังคม ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเหมือนกันตรงความที่มีเหตุผลก็ตาม

การแบ่งแยกและการคานอำนาจ เป็นผลงานที่ Montesquieu ขยายจากคำอธิบายของ Locke และได้กลายเป็นคุณลักษณะสำคัญในรัฐธรรมนูญสมัยใหม่โดยทั่วไป เริ่มที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา การศึกษาสภาวะจิตของประชาชนและความสัมพันธ์กับสถาบันการเมืองกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ และการศึกษาปัจจัยทางสังคมกับพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาสังคมวิทยาการเมืองสมัยใหม่

ในงานชื่อ "Du Contrat Social" ของ Rousseau ได้มีการพัฒนาทฤษฎีการเมืองขึ้นเพื่อทำให้กระฎุมพี (bourgeois) ที่เห็นแก่ตัวและมีบาปกลายเป็นพลเมืองของรัฐ (citizen) ที่มีคุณธรรม และเคารพกฎหมาย

มนุษย์ (man is born free) แต่ต่อมาได้ถูกสังคมพันธนาการไว้ แต่ปล่อยมนุษย์กลับคืนสู่ธรรมชาติ มนุษย์จะมีความสุขมาก แม้ในความป่าเถื่อนนั้น (return to nature) แต่ตอนนี้ มนุษย์ไม่มีอิสรภาพ ถูกกดขี่ และไม่ได้รับความยุติธรรม

เมื่อเกิดสังคมขึ้นมาแล้ว จะกลับสู่ธรรมชาติก็ไม่ได้ มาสร้างสังคมให้ดีขึ้นดีกว่า ด้วยการทำสัญญาตกลงจัดตั้งอำนาจรัฐขึ้น ด้วยความยินยอมพร้อมใจของทุกคน สะท้อนถึงการมีเจตน์จำนงร่วมกัน (general will) การทำสัญญานี้ ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะต้องเสียเสรีภาพ หรือสละเจตน์จำนงคร่วมนี้ให้แก่องค์อธิปัตย์ไป แต่มอบเสรีภาพให้แก่ชุมชนเป็นส่วนรวม และชุมชนแบ่งแยกไม่ได้ ก็คือ general will ทุกคนต้องต้องให้ความเคารพ ซึ่งก็คือ Will ของตนเองนั่นเอง (ในทางปฏิบัติ คือ มติมหาชน)

รัฐเป็นการรวมตัวของมนุษย์เข้าเป็นสังคมการเมือง รัฐมีอำนาจสูงสุด แทน general will รัฐบาลเป็นเพียงตัวกลาง ทำหน้าที่ระหว่างรัฐและประชาชน อำนาจการออกกฎหมายเป็นของประชาชน ไม่ใช่รัฐบาล เพื่อประชาชนแสดงเจตน์จำนงอย่างเสรีและเต็มที่

คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีการเปลี่ยนแปลงมากในหลายๆทาง ปฏิวัติฝรั่งเศสในค.ศ. ๑๗๘๙ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งทางสังคม และการเมือง สังคมเก่าถูกสั่นคลอน และมีความพยายามในการรักษาสถานภาพเดิมของตนไว้ พลังใหม่ในสังคมก็ต่อสู้เพื่อการปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น แต่แล้วนโปเลียนก็เกิดขึ้นมามีอำนาจ และทำให้โลกยุโรปสั่นคลอนอีกครั้งด้วยสงคราม ท้ายที่สุดชาติต่างๆก็ต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อสันติภาพ และการรักษาสถานะเดิมของตน

"ข้อคิดไตร่ตรองเรื่องการปฏิวัติในฝรั่งเศส" ของ Burke เป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ในเวลาที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่นั้น การปฏิวัติฝรั่งเศสยังไม่สิ้นสุด (ซึ่งทำให้การประเมินอย่างเป็นวิชาการเป็นไปไม่ได้) แต่อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์นิยมถือว่า แนวความคิดในหนังสือเล่มนี้เป็นทฤษฎีการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมต้นฉบับเลยทีเดียว

Burke ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกว่า "พลิกแผ่นดิน" โดยเฉพาะด้วยการใช้กำลัง เขาให้ความสำคัญกับประเพณี สิ่งที่ถ่ายทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ด้วยการสะสมประสบการณ์และการเลือกสรรแล้วของประวัติศาสตร์ ที่จริงเขาเองก็ไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ("รัฐซึ่งไม่มีโอกาสเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นรัฐที่ไม่มีโอกาสอยู่รอดได้") หากแต่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้น ต้องควรมาจากสถานการณ์ที่ไม่เป็นการเมือง แต่ควรจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการกลั่นกรองด้วยประสบการณ์ในระยะเวลานานพอสมควร

การตัดสิน หรือประเมินทางการเมืองที่ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากเหตุผลแต่อย่างเดียว หรือมาจากเหตุผลเป็นหลักใหญ่ แต่ควรมาจากความฉลาดในประสบการณ์ชีวิต ซึ่งสะสมมาในสถานการณ์ต่างๆ และความฉลาดเช่นว่านี้ ไม่ได้มาจากบุคคลคนเดียว แต่จะเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติที่ถ่ายทอดต่อกันมา หรือสะท้อนสถาบันในลักษณะที่เป็นประสบการณ์ร่วม (collective) ของบุคคลที่มีศักยภาพในการตัดสินใจทางการเมือง แม้ว่าประสบการณ์เหล่านี้จะไม่อาจมอบให้ได้โดยตรงเหมือนเป็นมรดก แต่เราก็จะหาได้ไม่ยากในบุคคลซึ่งเติบโตมาในครอบครัวซึ่งอยู่ในแวดวงของผู้มีประสบการณ์เช่นนั้น (คือในหมู่ชนชั้นปกครอง)

สังคมไม่ใช่การอยู่ร่วมกันโดยบังเอิญของคนจำนวนหนึ่งในสถานที่หนึ่งและในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่บุคคลเหล่านี้ยังจะต้องมีวัฒนธรรมร่วมกัน คิดเห็นหรือเชื่อมั่นไปในทำนองเดียวกัน มีศีลธรรม มีภาษาเป็นเครื่องมือที่จำเป็นของความคิด และมีรสนิยม ความรู้สึกผูกพัน ทั้งนี้ด้วยเหตุที่เขาเหล่านี้อยู่ร่วมกันในสังคมนั้น สังคมไม่ใช่แค่สมาคม ที่แค่มาพบกันด้วยเรื่องสรรพเพเหระ แต่สังคมต้องสามารถสร้างเอกลักษณ์ทางสังคมให้แก่มนุษย์ มนุษย์ซึ่งโดยลักษณะพร้อมจะอยู่เป็นสังคม

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นั้นได้มีการพัฒนาทางสังคมหลายประการ ปรากฏการณ์ที่เด่น คือการเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาใช้ในทางการผลิต จนมีการปฏิวัติอุตสาหรรมเป็นครั้งแรกในอังกฤษ ผู้คนในคริสต์ศตวรรษนี้จึงสามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและสังคมได้เต็มที่ เกิดเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม การผลิตและการเอารัดเอาเปรียบรุนแรงขึ้น สังคมชนบทล่มสลาย สังคมเมืองเกิดขึ้นพร้อมด้วยปัญหาต่างๆนานา ทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วินท้าทายคำสอนทางศาสนาอย่างยิ่ง และทำให้คนมีข้ออ้างในการเอารัดเอาเปรียบ ลัทธิ"ตัวใครตัวมัน" รุ่งเรืองขึ้น แต่ก็มีหลายคนที่เห็นว่า ปรากฏการณ์นี้ต้องแก้ไข

ในแนวความคิดทางการเมืองของกลุ่ม "อรรถประโยชน์นิยม" (utilitarianism) เรามีตัวแทน ๓ คนที่โดดเด่น คือ Bentham เป็นผู้เริ่มต้นแนวคิดนี้ James Mill ผู้พ่อ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับ Bentham มาก่อน และเป็นนักปฏิบัติมากกว่า และ John Stuart Mill ผู้ลูก ซึ่งสร้างทฤษฎีไว้อย่างละเอียดและเป็นนามธรรมที่สุด

ความสนใจหลักของ Bentham คือการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญา และต่อมาที่เขาสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาเริ่มต้นด้วยการโจมตีว่า สัญญาสังคมไม่มีและไม่เคยมี (ที่พูดกันมาก่อนนั้น เป็นเพียงการใช้ตรรกะเท่านั้น) และถึงมี ก็ไม่น่าสนใจหรือไม่มีผลกับคนในรุ่นหลังๆ เรื่องสิทธิ์โดยธรรมชาติก็เป็นเรื่องไร้สาระ สิทธิ์ที่จะมีได้เป็นเรื่องของกฎหมายที่องค์อธิปัตย์ให้ร่างขึ้น และใช้บังคับเอาด้วยการขู่ว่าจะมีการลงโทษ ถ้าไม่ปฏิบัติตาม กฎหมายต้องมีความชัดเจน และควรมีที่มาที่ชัดเจน จนประชาชนพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ในกรณีดังกล่าว Bentham โจมตีว่า Common Law เป็นเรื่องสับสนไม่มีเหตุผล เป็นประโยชน์แก่พวกทนายเท่านั้น แต่ไม่ใช่ประชาชนโดยส่วนรวม ถึงเวลาที่ควรจะมีระบบกฎหมายที่จัดระเบียบออกมาใหม่ ซึ่งควรเป็นไปตามหลักการประโยชน์ใช้สอย และจะต้องสนองประโยชน์สูงสุดของคนจำนวนมากที่สุดได้ด้วย (เช่น การลงโทษก็ต้องเป็นไปเพื่อให้ได้ประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด)

ส่วน James Mill ให้ความสนใจในการวิเคราะห์แรงจูงใจของมนุษย์สำหรับการกระทำต่างๆ ในมิติของหลักประโยชน์ และพบว่า ทุกอย่างมาจากความต้องการสนองความพอใจ และเพื่อหลีกจากความเจ็บปวด-ไม่พอใจ และสมาชิกของชนชั้นปกครองก็ได้ใช้หลักการนี้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองกับคนในปกครองของตน เขาได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบรัฐสภา ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปและในทางลับ กับให้มีการเลือกตั้งทุกๆปี แต่ในเวลานั้นเขาไม่ได้เรียกร้องสิทธิ์เลือกตั้งให้แก่สตรีด้วย เพราะเห็นว่าเพียงพอแล้ว ที่บิดาหรือสามีจะใช้สิทธิ์นั้นแทน

ในงานที่ชื่อ "ว่าด้วยเสรีภาพ" John S. Mill พูดถึงเสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เสรีภาพซึ่งในยุคแรกถูกรุกรานด้วยการใช้อำนาจของผู้ปกครอง ทำให้ต้องสังคมต้องหาทางปกป้องด้วยกฎหมายหรือสถาบันต่างๆ ซึ่งก็เป็นผลดีมาระยะหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน (ค.ศ. ๑๘๕๙) ในแนวปฏิบัติขององค์ประชาธิปัตย์ มีความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ปัญหาของเสรีภาพส่วนบุคคลก็คือ อาจถูกกระทบกระเทือนได้ด้วย "ทรราชของเสียงข้างมาก" ซึ่งยากที่ระเบียบสังคมหรือสถาบันที่มีอยู่จะปกป้องและป้องกันได้ ด้วยเหตุนี้ Mill จึงเรียกร้องให้เสรีภาพส่วนบุคคลไม่ต้องอยู่บนพื้นฐานของเสียงข้างมาก หรือด้วยความเคยชิน จะต้องไม่ถูกจำกัดด้วยเหตุดังกล่าว ยกเว้นเพื่อผลประโยชน์ของการปกป้องเสรีส่วนบุคคลของคนอื่นๆ และยังบอกว่าเสรีภาพส่วนบุคคลซึ่งมีบทบาทสำคัญแก่ประโยชน์ของส่วนรวมคือ เสรีภาพในความคิดและการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการดำรงชีวิตและในการประชุม (แม้ความเห็นของบุคคลจะต่างจากความเห็นของส่วนใหญ่อย่างไร ก็ไม่ควรถูกห้ามให้แสดงความคิดเห็นนั้นออกมา ด้วยเหตุผลว่า ถ้าความเห็นที่แปลกออกไปนี้เกิดถูกต้องขึ้นมา โอกาสที่สังคมจะพัฒนาไปในทางที่ถูกต้องนั้นก็จะถูกปิดกั้นเสียอย่างไร้ความหมาย ซึ่งหมายถึงโอกาสที่มนุษยชาติจะพัฒนาและแสวงหาความจริงก็จะต้องเสียไปด้วย และถึงแม้ว่าความเห็นนั้นอาจจะผิด การห้ามแสดงความคิดเห็นก็จะทำให้บุคคลอื่นไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นคัดค้านเพื่อการตรวจสอบและพิสูจน์ ความคิดเห็นที่ถูกปิดกั้นอยู่นานๆจะกลายเป็นความเชื่อที่งมงายและไร้เหตุผลได้โดยง่าย) เขาสรุปว่า ความก้าวหน้าเกิดขึ้นไม่ได้เลยโดยไม่มีเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น

Mill ยังใช้แนวความคิดเรื่องเสรีภาพอธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ของมนุษย์ว่า ถึงแม้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะมีการแบ่งปันกันอย่างไม่เท่าเทียมกันโดยการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง ก็ไม่ได้แปลว่าการกระทำที่นำผลดีผลเสียมาให้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ตราบใดที่ไม่ได้วิธีการอันไม่ชอบธรรมในทางที่จะให้เกิดผลประโยชน์เฉพาะแก่ตนเองเท่านั้น (เช่นการขายสุรา ยาพิษ การพนัน หรือการค้าประเวณี) (แต่ Mill มีอนุมานว่าบุคคลต้องรู้เองว่า ไม่ควรกระทำการที่จะเป็นภัยแก่ตน) โดยหลักการของ Mill: จะไม่มีเสรีภาพ เมื่อต้องสละเสรีภาพของตนเอง แต่ Mill ก็ยอมรับว่า ในเรื่องของครอบครัวและเกี่ยวกับการศึกษา มีความจำเป็นอยู่บ้างที่ต้องจำกัดขอบเขตของเสรีภาพ เช่นเด็กๆต้องรับการศึกษา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม

สุดท้าย Mill เรียกร้องให้รัฐและบุคคลากรของรัฐ ควรทำหน้าที่เพียงจัดการในกิจการต่างๆให้เกิดเป็นผลประโยชน์อย่างเสรีและในความร่วมมือกันแก่ประชาชนเท่านั้น โดยเข้ายุ่งเกี่ยวน้อยที่สุด เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นแล้ว อำนาจที่ไม่จำเป็นของรัฐก็จะทำให้ประชาชนสูญเสียเสรีภาพไปได้

"On Liberty" ถือว่าเป็นเอกสารเริ่มต้นของทฤษฎีการเมืองแบบเสรีนิยมสมัยใหม่

งานสำคัญอีกชิ้นของ MIll ซึ่งพูดถึงระบบและสถาบันการเมือง ในบริบทของเสรีภาพของประชาชนโดยตรง คือ "Considerations on Representative Government"

พัฒนาการทางเศรษฐกิจ-สังคม และทางการเมืองในเยอรมันเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ต่างๆไปจากในอังกฤษและฝรั่งเศส ทุกอย่างออกจะช้ากว่าในอีก ๒ ประเทศ ในขณะที่อังกฤษมีการปฏิวัติของประชาชนมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ แล้ว และสามารถพัฒนาในทางเศรษฐกิจจนเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษต่อมา และสามารถประคับประคองด้วยมาตรการทางการเมืองไม่ให้เกิดการปฏิวัติใหญ่ทางสังคมได้ ฝรั่งเศสก็มีแนวทางการพัฒนาของตนเอง รัฐฝรั่งเศสเป็นรัฐที่รวมอำนาจสู่ศูนย์กลางอย่างยิ่ง กษัตริย์พระองค์หนึ่งถึงกับตรัสว่า "ฉันคือรัฐ" แต่เนื่องจากไม่มีการปฏิรูปทางสังคมและทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นเลย ในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติใหญ่ขึ้น แต่ไม่นานนัก ฝรั่งเศสก็มีกษัตริย์นักรบเป็นผู้นำใหม่ สร้างความรู้สึกภูมิใจเป็นพิเศษแก่ชาติฝรั่งเศส แม้ว่าจะต้องแพ้สงครามในที่สุด ส่วนในดินแดนเยอรมันนั้น มีลักษณะของการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอิสระจากกัน (ประมาณ ๓๐๐ กว่ารัฐ และเมืองที่เป็นอิสระ) ลักษณะเฉพาะตัวก็มีข้อดี เพราะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างสูง ข้อเสียคือการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปค่อนข้างช้า เพราะในดินแดนเยอรมันมีเส้นกั้นพรมแดนมากมายเหลือเกิน (เมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจไม่อำนวย ก็แข่งขันกันทางวัฒนธรรม) แต่ในที่สุด ปรัสเซียก็ก่อร้างสร้างตัวมีอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคู่แข่งของราชสำนักที่ออสเตรียได้ รัฐเยอรมันทั้งหลายเมื่อปลาย คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการรวมตัวเป็นชาติ

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ กระแสของ Romanticism กำลังมาแรงในหมู่ปัญญาชนเยอรมัน พวกโรมันติกปฏิเสธภาพของโลกตามทัศนะของนิวตัน ซึ่งมองโลกอย่างเป็นระบบกลศาสตร์ ที่มีความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงตามกฎที่คำนวณด้วยคณิตศาสตร์และทำนายได้ พวกเขาชื่นชมที่จะมองโลกตามภาพของธรรมชาติที่เป็นกระบวนการที่ค่อยเติบโตและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอกเวลา มองมนุษย์อย่างเป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้ เป็นผลิตผลและการสร้างของจิตวิญญาณที่มีพลังเหนือสิ่งอื่นใด มีพฤติกรรมจากพลังผลักดันอันสับสนวุ่นวาย (chaotic) ของอารมณ์และความรู้สึกสำนึกต่างๆ และสังคมไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพียงเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันโดยปราศจากข้อขัดแย้ง โดยต้องสละความพอใจของตนให้น้อยที่สุด หรืออยู่ในสังคมเพื่อสร้างความพอใจสูงสุดแก่ตนเอง

ตรงนี้ขอแทรกเกี่ยวกับทฤษฎีไดอาเล็คติก มีบทบาทไม่น้อยในพื้นฐานความคิดของ Hegel นักปรัชญาสมัยก่อนเฮเกลเชื่อว่า ทุกอย่างในจักรวาลตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เฮเกลเชื่อตรงกันข้ามว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและจะปฏิรูปในทางที่ดีขึ้น การปฏิรูปจะเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด เขาให้ชื่อทฤษฎีของเขาว่า Dialectic ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า การใช้เหตุผล และเขาอธิบายต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากการปะทะหรือความขัดแย้งของสองสิ่ง ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกัน และทำให้เกิดความเคลื่อนไหว (movement) และนำไปสู่สภาพใหม่ที่ดีกว่า แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ก็จะมีสิ่งตรงข้ามเกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพใหม่อีก และจะเป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ปรัชญาการเมืองของ Hegel เป็นทฤษฎีที่วิจารณ์สังคมเมืองสมัยใหม่ แต่ขณะเดียวกันเขาก็เอาการปฏิวัติใหญ่ ๒ ครั้งมาประเมินด้วย นั่นคือการปฏิวัติฝรั่งเศส(ทางการเมือง) และการปฏิวัติอุตสาหกรรม(ทางสังคม) การปฏิวัติสะท้อนเจตน์จำนงทั่วไปของประชาชน แต่ในกรณีของการปฏิวัติฝรั่งเศส เจตน์จำนงของประชาชนแต่ละคน และของส่วนรวมไม่ประสานกัน ผลก็คือความโหดร้ายและการกดขี่ ในกรณีของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผลคือการแบ่งงานที่เข้มงวดขึ้นและความร่ำรวย แต่ก็หมายถึงความยากจนและการถูกกดขี่อีกด้วย และรัฐก็ได้กลายเป็นแค่เครื่องมือเฝ้าดูแลผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทำหน้าปกป้องผลประโยชน์แก่สมาชิกทุกคนในสังคม แต่ Hegel ว่าการกลับคืนสู่รูปแบบที่เป็นอุดมคติของการอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยที่ปัจเจกชนที่อยู่ในสังคมอย่างเป็นเอกเทศจะต้องกลับคืนสู่ "ความมีศีลธรรม" ของรัฐและประชาชน (folk) อีกครั้ง

นอกจากนี้ คำว่า "เสรีภาพ"ก็มีบทบาทมากในปรัชญาของ Hegel : มนุษย์ปรารถนาเสรีภาพ และสร้างความจริงขึ้นตามนั้น นิยามของคำว่าเสรีภาพของเขา คือ การยกเลิกข้อจำกัดทั้งหลาย และ การที่สามารถอยู่เป็นตัวของตนเองได้ แต่เนื่องจากมนุษย์ไม่ได้อยู่คนเดียว ปัญหาก็คือ ต้องสร้างสถาบันทางสังคมขึ้น ที่จะทำให้ทุกคนมีเสรีภาพอย่างนั้นได้ สถาบันเช่นว่านั้นก็คือ นิติรัฐ ซึ่งมีข้อกำหนดสิทธิ์ของรัฐและประชาชน การยอมรับอำนาจของ "ความคิด" รัฐจะต้องมีหน้าที่ประสานประโยชน์หรืออมชอมผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม แต่ในกรณีที่เกิดปัญหาในการกำหนดดุลอันเหมาะสมระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและของประชาคม เฮเกลตัดสินใจให้ผลประโยชน์ของฝ่ายประชาคมมากกว่า

Hegel มองสังคมเมืองว่าเป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตในโลกสมัยใหม่ และได้เข้ามามีบทบาทแทรกอยู่ระหว่าง ครอบครัวและรัฐ และได้กลายเป็นสถานที่ต่อสู้ระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลของทุกคนกับทุกคน เป็นแหล่งสะท้อนความยากแสนสาหัส ความเสื่อมโทรมทั้งทางวัตถุและทางศีลธรรม ในภาพของความเป็นจริงคือ สังคมเมืองเป็นที่ที่คนจำนวนน้อยสะสมความร่ำรวย ในขณะที่คนจำนวนมากต้องลำบาก และขาดอิสรภาพ และที่สำคัญคือ เนื่องจากงานที่ต้องทำ(งานแลกเงิน) พวกเขาได้สูญเสียความสำนึกต่อกฎหมายและความยุติธรรม และศักดิ์ศรี Hegel ทำนายว่า โลกจะพัฒนาต่อไปสู่จักรวรรดินิยมทางวัตถุ และจะทำให้คนจำนวนหนึ่งค้นพบแนวคิดว่า ถึงเวลาแล้วจะต้องกลับคืนสู่หลักการของครอบครัว และรัฐก็จะต้องมีภารกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจากการให้สวัสดิการแก่ผู้ยากไร้แล้ว รัฐจะต้องนำผลประโยชน์จากความเห็นแก่ตัวกลับคืนสู่ส่วนรวม

รัฐที่ดีที่สุดในทัศนะของ Hegel ไม่ใช่รัฐที่เสรีภาพส่วนบุคคลเป็นใหญ่ที่สุด แต่เป็นสังคมที่มนุษย์แต่ละคนสามารถแสดงออกซึ่งเจตน์จำนงของตนให้ปรากฏเป็นลักษณะเฉพาะพิเศษได้ตามทัศนะทางศีลธรรมของเขา โดยสรุป "รัฐโดยตัวเองแล้ว คือความมีศีลธรรม คือการทำให้เสรีภาพเป็นความจริง" และ "เป้าหมายของประวัติศาสตร์ทั้งปวงคือ เป้าหมายสูงสุดของความมีเหตุผล ที่เสรีภาพเป็นความจริง"

เป็นที่น่าสนใจว่า ผลงานทางปรัชญาการเมืองของ Hegel สามารถอ้างอิงได้จากทั้งฝ่ายขวาจัด เช่นพวกฟาสซิสต์ และจากพวกซ้ายจัด เช่นพวกคอมมิวนิสต์

ความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคลได้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และดูเหมือนว่ามนุษย์จะได้ตกเป็นทาสของทรัพย์สินที่พวกเขาได้สร้างขึ้นเอง ในอดีตมีผู้คิดถึงสังคมที่มีทรัพย์สินเป็นส่วนกลาง ปราศจากทรัพย์สินส่วนบุคคล (เพลโต และโทมัส มอร์) ซึ่งในทางทฤษฎีการเมืองเรียกว่าเป็น "สังคมนิยม"

หลักการทางปรัชญาของ Marx คือ historical materialism (วัตถุนิยมประวัติศาสตร์) ปรากฏอยู่ในงานสำคัญ ๒ ชื้นคือ "The Capital" และ "The Communist Manifest" งานชิ้นแรกเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ โดยพิจารณาจากแนวทางเศรษฐศาสตร์ และพบว่าพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์นี้เป็นตัวกำหนดโครงสร้างส่วนบนของสังคม เช่น สถาบันทางกฎหมาย ทางการเมือง และทางศาสนา และรัฐก็เป็นเพียงสถาบันของชนชั้นหนึ่งในสังคมเท่านั้น ที่ใช้โครงสร้างส่วนบนของสังคมเป็นเครื่องมือในการรักษาและเพิ่มอำนาจและทรัพย์สินของตน มีเพียงการปฏิวัติเท่านั้นที่จะทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคล และการแบ่งแยกชนชั้นได้ หลังจากนั้น "รัฐ" ก็จะตายและหมดความหมายไป (ปัจจัยการผลิต พลังการผลิต และความสัมพันธ์ทางการผลิต ทุนนิยม กำไร การสะสมทุน)

งานชื้นที่สองของเขา (เขียนร่วมกับ Friedrich Engels) ว่าด้วยทฤษฎีการเมืองในลักษณะที่เป็นแนวนโยบาย และมุ่งหวังผลในทางปฏิบัติจริง "ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหลายทั้งปวง เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น" เขาพูดถึงพัฒนาการของชนชั้นกระฎุมพีและการควบคุมกระบวนการการผลิตและโครงสร้างส่วนบนของสังคม และความเสื่อมของชนชั้นนั้น พร้อมกับการพัฒนาการรวมตัวของกรรมกรขึ้นเป็นชนชั้นใหม่ และภารกิจทางประวัติศาสตร์ของพวกเขา เนื่องจากมีความเข้าใจผิดและอคติอย่างมากต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ จึงต้องพัฒนาคอมมิวนิสต์ให้เป็นวิทยาศาสตร์ และทำให้องค์กรเป็นผู้นำในขบวนการของกรรมกรสากล ในงานดังกล่าว มีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอยู่ด้วย เพราะในแนวทางสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เองก็มีรูปแบบย่อยแฝงอยู่หลายแนวทาง ซึ่งแข่งขันกันเอง (เป็น ideological critique ครั้งแรก) และท้ายสุด ได้มีการเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับพรรค พูดถึงยุทธศาสตร์ทั้งในแผนระยะสั้น และในแผนระยะยาว มีการกำหนดเงื่อนไขและบทบาทที่เหมาะสมกับเงื่อนไข การทำงานร่วมกัน การร่วมมือกับกลุ่มต่างๆในสังคม และท้ายสุด ด้วยคำขวัญว่า "กรรมกรทั้งหลายในโลก จงผนึกพลังกันเข้า" สำนึกของการปฏิวัติของชนชั้นกรรมกรก็ถูกปลุกขึ้น
Read more ...

วอลแตร์

2/1/53

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วอลแตร์ (Voltaire 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2237 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2321) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีชื่อเดิมว่า ฟรองซัวส์ มารี อรูเอต์ (François-Marie-Arouet) เกิดที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2237 (ค.ศ. 1694) ในตระกูลคนชั้นกลาง

ประวัติ

วอลแตร์เป็นคนมีการศึกษาดี ฉลาด มีไหวพริบ และมีความสามารถพิเศษทางวรรณศิลป์ เมื่อเขาเข้าศึกษาในโรงเรียนหลุยส์-เลอ-กรอง (Louis-le-Grand) ที่มีชื่อของพระนิกายเยซูอิต ทำให้วอลแตร์มีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ร่วมสมัย การเมือง ตลอดจนวรรณกรรมของนักเขียนกรีกโรมัน ซึ่งมีอิทธิพลทำให้เขามีรสนิยมแบบคลาสสิก เมื่อเขาจบการศึกษาวอลแตร์ก็ทำงานเป็นทนายความ แต่ความที่เขาเป็นคนหัวแข็งและชอบขบถ จึงไม่ชอบอาชีพนี้เลย เพราะเขาคิดว่าเป็นตำแหน่งที่ ”ซื้อเอาได้” เขาอยากทำงานที่ ”ไม่ต้องซื้อหา”

วอลแตร์หันมาเขียนหนังสืออย่างจริงจังเมื่ออายุได้ 20 ปี เขาชอบเขียนหนังสือประเภทเสียดสีสังคมอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเขาจะคบหาสมาคมกับชนชั้นสูงก็ตามแต่เขาก็ไม่ละเว้นที่จะโจมตีชนชั้นนี้ และในปี พ.ศ. 2260 (ค.ศ. 1717) เขาเขียนกลอนล้อเลียนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (Duc d’Orléans) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จึงถูกส่งเข้าคุกบาสตีย์ ขณะที่อยู่ในคุกเขาเขียนบทละครโศกนาฏกรรมเรื่องแรกขึ้นชื่อ เออดิปป์ (Œdipe) ในปี พ.ศ. 2261(ค.ศ. 1718) เพื่อต่อต้านความเชื่อทางศาสนา ต่อต้านความเชื่อเรื่องโชคเคราะห์ และชะตาลิขิต และเพื่อเน้นความสำคัญทางเสรีภาพของมนุษย์ ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อนำออกแสดงภายหลังที่เขาพ้นโทษ ก็ส่งผลให้วอลแตร์มีฐานะทัดเทียมกับกอร์เนย (Corneille) และ ราซีน (Racine) นักเขียนบทละครโศกนาฎกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 17 และทำให้เขาได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างหรูหราในราชสำนัก ต่อมาเขาได้ใช้ชื่อ วอลแตร์ (Voltaire) ซึ่งเป็นชื่อที่เขาคิดขึ้นแทนชื่อเดิม

ในปี พ.ศ. 2269 (ค.ศ. 1726) วอลแตร์ถูกขังคุกอีกครั้ง เนื่องจากมีเรื่องพิพาทกับขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งคือ ดุ๊ค เดอ โรออง-ชาโบ (Duc de Rohan-Chabot) เมื่อออกมาจากคุกเขาถูกเนรเทศไปประเทศอังกฤษ (พ.ศ. 2269 - 2271) ทำให้เขาได้มีโอกาสศึกษาปรัชญาของ จอห์น ล็อก (John Locke) นักปราชญ์ชาวอังกฤษและผลงานของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ที่มีอิทธิพลต่องานละครและผลงานอื่นของเขาในเวลาต่อมาเป็นอย่างมาก บทละครของวอลแตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากเช็คสเปียร์ คือ Zaïre และ Brutus เพียงปีเดียวในประเทศอังกฤษ เขาก็มีผลงานเขียนเป็นภาษาอังกฤษชื่อ Essay Upon Epic Poetry นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2271 (ค.ศ. 1728) เขาก็ได้พิมพ์มหากาพย์ชื่อ La Henriade เพื่อสดุดีพระเจ้าอองรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ในฐานะกษัตริย์ที่ทรงขันติธรรมในด้านศาสนา เนื่องจากทรงเป็นผู้บัญญัติ “L’Edit de Nantes” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยให้สงครามระหว่างพวกคาธอลิกและโปรแตสแตนท์ยุติลงได้ ซึ่งมหากาพย์นี้ไม่สามารถตีพิมพ์ในประเทศ ฝรั่งเศสเนื่องจากไม่เป็นที่พอใจของราชสำนัก รัฐสภาและพระสันตะปาปา

นอกจากนี้ วอลแตร์ยังนิยมความคิดของนิวตัน (Newton) นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ และนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก เขาแปลงานของนิวตัน และยังเขียนหนังสือว่าด้วยทฤษฎีของนักวิทยา-ศาสตร์ผู้นี้อีกหลายเล่ม วอลแตร์เห็นว่าแนวความคิดของนิวตันก่อให้เกิดการปฏิวัติในภูมิปัญญาของมนุษย์ เพราะนิวตันเชื่อว่าความจริงย่อมได้จากประสบการณ์และการทดลอง เขาไม่ยอมรับสมมติฐานใด ๆ โดยอาศัยสูตรสำเร็จโดยวิธีของคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว

เมื่อกลับประเทศฝรั่งเศสวอลแตร์ก็เขียนบทความโจมตีศาสนา เมื่อบาทหลวงปฏิเสธไม่ยอมทำพิธีให้กับนักแสดงละครหญิง ซึ่งรับบทแสดงเป็นราชินีโจคาสต์ ในละครเรื่อง Œdipe นับตั้งแต่นั้นมาวอลแตร์จึงโจมตีเรื่องอคติ และการขาดขันติธรรมของศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกอยู่เสมอ แม้จะถูกตักเตือนและถูกข่มขู่จากผู้มีอำนาจเซ็นเซ่อร์งานเขียนของเขา แต่วอลแตร์ก็ไม่เคยเกรงกลัว นอกจากนี้เขายังเปิดโปงทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง

เขาเกือบถูกจับอีกครั้งเมื่อพิมพ์หนังสือชื่อ จดหมายปรัชญา (Les Lettres philosophiques ou Lettres anglaises) ออกมาในปี พ.ศ. 2277 (ค.ศ. 1734)จดหมายปรัชญา มีทั้งความคิด เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่เขียนด้วยโวหารที่คมคาย พร้อมด้วยการเสียดสีที่ถากถาง วอลแตร์วิพากษ์วิจารณ์ทั้งศาสนา การเมือง วิทยาศาสตร์ ปรัชญา และจบลงด้วยการวิจารณ์แบลส ปาสกาล (Blaise Pascal) นักคิดคนสำคัญทางด้านศาสนาในศตวรรษที่ 17 ผลงานชิ้นนี้ทำให้วอลแตร์กลายเป็นนักปราชญ์ที่ไม่เคยทำให้ผู้อื่นเบื่อ เป็นงานที่ลีลาการเขียนเฉพาะตัวของเขาเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน และด้วยหนังสือเล่มนี้ทำให้เขาต้องหนีไปอยู่ที่วังซิเรย์ (Cirey) ของ มาดาม ดู ชาเตอเล่ท์ (Madame du Châtelet) ในแคว้นลอแรนน์ หล่อนเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์และทรงความรู้ ทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันยาวนานถึง 17 ปี วอลแตร์รักหล่อนมาก นับว่าหล่อนเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญอีกคนหนึ่ง

ตลอดเวลาที่พักอยู่วังซิเรย์ วอลแตร์จะเขียนหนังสืออยู่ไม่หยุด และจะสนใจศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วย เขามีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศปรัสเซีย ซึ่งเขาได้กลายเป็นคนโปรดของพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งประเทศปรัสเซีย (Frederic II roi de Prusse) ในปี พ.ศ. 2288 (ค.ศ. 1745) วอลแตร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักประวัติศาสตร์แห่งชาติ และปีต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสถานของฝรั่งเศส (l’Académie française) และยังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางอีกด้วย จากการที่วอลแตร์เป็นคนที่มีความสามารถ เขาจึงได้กลายเป็นที่โปรดปรานของ มาดาม เดอ ปอมปาดูร์(Madame de Pompadour) พระสนมเอกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แต่อย่างไรก็ตามชีวิตของเขาก็เริ่มตกอับ กล่าวคือเขาเริ่มเบื่อหน่ายกับชีวิตในราชสำนัก ที่มีแต่การเอารัดเอาเปรียบ การแก่งแย่งชิงดี ประจบสอพลอ อีกทั้งมาดาม ดู ปอมปาดูร์ ก็หันไปโปรดกวีคนใหม่คือ Crébillon และยิ่งร้ายไปกว่านั้นในปี พ.ศ. 2292(ค.ศ. 1749) มาดาม ดู ชาเตอเล่ย์ ก็ได้เสียชีวิตลง วอลแตร์จึงรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างมาก ชะตาชีวิตระหว่างปี พ.ศ. 2286 - 2290 นี้ นับเป็นแรงบันดาลใจให้เขาแต่งนวนิยายเชิงปรัชญาที่สำคัญ คือ ซาดิก (Zadig ou La Destineé) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2291 (ค.ศ. 1748)

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2293 (ค.ศ. 1750) เขาได้รับเชิญจากพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 ให้ไปอยู่ในราชสำนัก ระหว่างที่พักอยู่ที่ราชสำนักเบอร์ลินเขาได้ตีพิมพ์ผลงานที่สำคัญสองเรื่อง คือ ศตวรรษพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Le Siècle de Louis XIV) และนิทานปรัชญาเรื่อง มิโครเมกาส (Micromégas) ต่อมาไม่นานวอลแตร์กลับได้พบความผิดหวังในตัวพระองค์อย่างรุนแรง เพราะพระองค์ทรงเห็นวรรณคดีและปรัชญาเป็นเพียงเครื่องเล่นประเทืองอารมณ์เท่านั้น อีกทั้งพระองค์ทรงเล่นการเมืองด้วยความสับปรับ และเมื่อมีปัญหากับพระเจ้า-เฟรเดอริคที่ 2 วอลแตร์ก็ได้ไปตั้งรกรากอยู่ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่คฤหาสน์ เล เดลิซ(Les Délices) และอยู่ที่นั่นกับหลานสาวชื่อมาดามเดอนีส์ (Madame Denis) ซึ่งมีความสัมพันธ์กันมาได้สิบปีแล้ว ในปี พ.ศ. 2300 วอลแตร์ซื้อคฤหาสน์ใหม่ที่แฟร์เนย์ (Ferney) ในประเทศฝรั่งเศสติดชายแดนสวิสเซอร์แลนด์ และเขาได้เริ่มเขียนนิทานปรัชญาเรื่อง ก็องดิดด์ หรือ สุทรรศนิยม (Candide ou L’optimisme) ในปีต่อมา ซึ่งถือกันว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของเขาอีกเรื่องหนึ่งเลยที่เดียว ผลงานชิ้นนี้ได้ยืนยันความเป็นปราชญ์ของวอลแตร์ ผู้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความคิดวิพากษ์ วิจารณ์ในศตวรรษที่18 ได้เป็นอย่างดี

ระหว่างในปี พ.ศ. 2305 – 2308 วอลแตร์ได้ช่วยเหลือครอบครัวกาลาส (Calas) โดยการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ ฌอง กาลาส ผู้เป็นบิดาซึ่งถูกตัดสินลงโทษจนเสียชีวิต จากข้อกล่าวหาว่าฆ่าลูกชายที่ประสงค์จะเปลี่ยนไปนับถือนิกายคาทอลิก เขาจึงได้เขียน บทความว่าด้วยขันติธรรม (Traité sur la tolérance)

ในปี พ.ศ. 2306 ซึ่งพูดถึงการยอมรับศาสนาที่แตกต่างกันออกไปเพื่อช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวกาลาส เหตุที่เขาเข้าไปช่วยเพราะเขาเห็นว่าไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการลงโทษประหารชีวิต ผู้บริสุทธิ์ และคำตัดสินใหม่ก็ทำให้ตระกูลกาลาสพ้นผิด ภรรยาและบุตรธิดาของฌอง กาลาสก็ได้รับทรัพย์สมบัติของตระกูลคืน จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้วอลแตร์เปรียบเสมือนวีรบุรุษแห่งตำนาน เป็นประทีปแห่งปัญญาที่ไม่เคยมีปัญญาชนคนใดเคยทำมาก่อน

ช่วงนี้วอลแตร์ก็ยังมีผลงานคือ ปทานุกรมปรัชญา หรือ Le Dictionnaire Philosophique ในปี พ.ศ. 2307 (ค.ศ. 1764) อีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าเขาจะมีความขัดแย้งกับผู้คนจำนวนมาก เพราะความกล้าที่จะเสียดสีสังคมของเขา แต่ในตอนบั้นปลายชีวิตของวอลแตร์ เขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างทรงเกียรติ เมื่อเดินทางกลับมายังกรุง ปารีส ซึ่งโรงละครโกเมดี ฟรองเซส (La Comédie Française) จัดแสดงละครโศกนาฏกรรมเรื่องสุดท้ายที่วอลแตร์แต่งคือ อิแรนน์ (Irène) เพื่อฉลองการกลับมาถึงกรุงปารีสของเขา โดยที่ช่วงก่อนการแสดง ช่วงสิ้นสุดแต่ละองค์ และช่วงจบการแสดง นักแสดงได้นำรูปปั้นครึ่งตัวของวอลแตร์ขึ้นบนเวที ฝูงชนก็ตบมือและส่งเสียงเรียกชื่อของเขาดังกึกก้อง

ศตวรรษต่อมาวิคตอร์ ฮูโก (Victor Hugo) กล่าวว่า "วอลแตร์ คือ 1789" เพราะความคิดของ วอลแตร์มีอิทธิพลต่อประชาชนผู้ลุกฮือขึ้นมาทำการปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2332 จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เมื่อวอลแตร์เสียชีวิตไปในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2321 (ค.ศ. 1778) ขณะที่มีอายุได้ 84 ปีนั้น ทางศาสนาไม่อยากทำพิธีศพให้ แต่เมื่อประชาชนทำการปฏิวัติได้สำเร็จ ก็ได้นำอัฐิของเขาไปยังวิหารปองเตอง (Le Panthéon) ในปี 1791 ในฐานะผู้ที่ประกอบคุณอนันต์ให้แก่ประเทศฝรั่งเศส

ผลงานของวอลแตร์

ผลงานของวอลแตร์มีจำนวนมากมาย หลากหลายประเภททั้งบทละคร นิยาย นิทานเชิงปรัชญา ประวัติศาสตร์ และบทกวี เขาได้รับยกย่องจากคนร่วมสมัยว่าเป็นนักเขียนบทละครชั้นนำและกวีชั้นนำ แต่ในปัจจุบันเขากลับเป็นที่ยกย่องใน

ฐานะนักเขียนเชิงเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ (Le symbole de l’esprit critique)

 ผลงานของเขาส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่ความคิดทางปรัชญาไปสู่สาธารณชน เพื่อปลุกความคิดวิพากษ์วิจารณ์ให้แก่ชาวฝรั่งเศส เพื่อต่อต้านความคิดระบบสถาบันแบบเก่า การต่อสู้เพื่อขจัดความอยุติธรรมในสังคม รวมทั้งความเชื่อที่งมงายและความบ้าคลั่งทางศาสนา นอกจากนี้เขายังส่งเสริมเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย
[แก้]อิทธิพลของวอลแตร์

ผลงานตลอดชีวิตของวอลแตร์ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดวิพากวิจารณ์” (L‘esprit critique) แก่ชาวฝรั่งเศสโดยรวม ความคิดวิพากวิจารณ์นี้ทำให้ชาวฝรั่งเศสตั้งคำถามต่อทุกเรื่องทุกเหตุการณ์ที่ปรากฏในสังคมของตน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสถาบันการเมืองการปกครอง โดยเขาได้โจมตีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สถาบันกษัตริย์ การใช้อำนาจตามอำเภอใจของกษัตริย์ สถาบันศาสนา โจมตีคำสอนความเชื่อที่งมงาย เป็นต้น

วอลแตร์ได้นำหลักการใช้เหตุผล (L’esprit scientifique) 

มาแพร่หลายให้แก่ประชาชน เพื่อมาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยการใช้เหตุผลแก้ปัญหา และรู้จักคิดพิจารณาก่อนจะเชื่ออะไรง่าย ๆ เขาใช้ผลงานของเขามาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่แนวความคิดทางปรัชญาและนำไปสู่สาธารณชน เพื่อทำให้ประชาชนได้เห็นได้เข้าใจและตระหนักถึงสิ่งเหล่านั้น ซึ่งแนวคิดและความรู้เหล่านี้จึงเปรียบเสมือนกับแสงสว่างทางปัญญาให้แก่ประชาชน วอลแตร์จึงเป็นผู้ที่มีส่วนทำให้ประชาชนมีเสรีภาพทางความคิดและทำให้ผู้คนสนใจการเมืองการปกครองแบบอังกฤษ

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าวอลแตร์มีอิทธิพลต่อคริสตวรรษที่ 18 เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและศาสนา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “การปฏิวัติฝรั่งเศส พ.ศ. 2332”

อ้างอิง

ข้อมูลโดย นักศึกษาสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิชาประวัติวรรณคดีฝรั่งเศส 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548

Read more ...

อังกฤษเตรียมร่างกฎหมายตัดอินเทอร์เน็ต

2/1/53
29 October 2009 - 01:32

หลังจากที่กฎหมายตัดอินเทอร์เน็ตในฝรั่งเศสกำลังจะมีผลบังคับใช้ อังกฤษก็กำลังเตรียมร่างกฎหมายประเภทเดียวกัน

ในชั้นแรก กฎหมายดังกล่าวจะกำหนดให้ทางการแจ้งเตือนผู้ดาวน์โหลดผิดกฎหมายให้หยุดการกระทำที่ฝ่าฝืนลิขสิทธิ์ โดยหากไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจจะโดนลดแบนด์วิธการดาวน์โหลด หรือโดนตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในที่สุด

แหล่งข่าวให้รายละเอียดว่า รัฐบาลอังกฤษ โดย Department for Business, Skills and Innovation กำลังยกร่างกฎหมายดังกล่าว และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในราวเดือนเมษายน 2553 ทั้งนี้ ในปี 2553 จะยังไม่มีการบังคับใช้การตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เนื่องจากต้องการเน้นการสร้างจิตสำนึกก่อน และรัฐบาลอังกฤษคาดว่า ในหนึ่งปี จะสามารถลดการดาวน์โหลดผิดกฎหมายได้ประมาณร้อยละ 70 อย่างไรก็ดี ในปีถัดไป รัฐบาลก็จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด กล่าวคือ ตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษเน้นว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยในระยะยาว รัฐบาลจะมีมาตรการเพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมจับมือกับผู้บริโภคเพื่อให้มีสินค้าที่มีราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้นและช่วยให้การถ่ายโอนเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ระหว่างสื่อต่างๆ สามารถทำได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อีกทางหนึ่ง

ทางด้านภาคประชาสังคม อาทิ กลุ่ม Open Rights ซึ่งเป็นองค์กรล็อบบี้ด้านลิขสิทธิ์ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจาก เป็นการทำให้ผู้ทำผิดกฎหมายกลายเป็นอาชญากร ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยกลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลศึกษาการเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้มากขึ้น แทนที่จะยอมปฏิบัติตามอุตสาหกรรมเพลงที่กดดันให้รัฐบาลออกกฎหมายดังกล่าว
Read more ...

ศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสตัดสินกฎหมายตัดอินเทอร์เน็ตไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

2/1/53

25 October 2009 - 21:25

ตามที่ฝ่ายค้านฝรั่งเศสได้ยื่นร่าง พรบ. ตัดอินเทอร์เน็ตในกรณีดาวน์โหลดผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ (HADOPI) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสนั้น เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า ร่าง พรบ. HADOPI ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี ในคำวินิจฉัยเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินว่า บทบัญญัติของร่าง พรบ. ในส่วนที่ให้อำนาจรัฐบาลในการกำหนดเงื่อนไขทางพระราชกฤษฎีกาสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เจ้าของลิขสิทธิ์โดยผู้กระทำผิด (ร่างมาตรา 6.II) นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญและให้แก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้กำหนดเงื่อนไขลงไปในตัวกฎหมายเอง

อนึ่ง หลังการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใดในฝรั่งเศสที่ดาวน์โหลดแบบผิดกฎหมาย ก็จะได้รับแจ้งให้หยุดการกระทำผิดกฎหมายนั้น และหากไม่ปฏิบัติตาม การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยผู้ใช้รายนั้นก็จะถูกระงับในที่สุด

ที่มา นสพ. Le Monde (ภาษาฝรั่งเศส) และคำแปลโดย Google Translate เป็นภาษาอังกฤษ, แถลงข่าวโดยศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (PDF)
Read more ...