ความจำเป็นและประโยชน์ของการมีศาลปกครอง

27/12/52

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน18/3/2552

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากที่ประเทศไทยมีศาลปกครองทำให้ประชาชนมีสิทธิมากกว่าที่เป็นอยู่ ในแต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุให้ข้าราชการทำงานอย่างไม่มั่นใจและสะดวกใจ เพราะกริ่งเกรงว่าจะมีการปฏิบัติงานผิดพลาด ศาลปกครองจึงอาจจะถูกมองทั้งในแง่บวก เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และในขณะเดียวกัน ก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อการปฏิบัติของข้าราชการ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองด้วย ประเด็นดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการพินิจพิเคราะห์จากแง่มุมต่างๆ อย่างถี่ถ้วน

ภายใต้ระบบการเมืองการปกครองนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนคือ เจ้าของประเทศ และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การมีระบบการปกครองซึ่งมาจากการมีรัฐบาล มีรัฐสภา และมีศาล ก็คือการมอบพันธกิจให้กับบุคคลที่ทำหน้าที่ในสถาบันดังกล่าวดูแลผลประโยชน์ของประชาชนด้วยการใช้อำนาจรัฐ ทรัพยากร การวางกฎระเบียบ และการมีนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาและเพื่อการพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ได้อย่างมีความผาสุก

แต่อำนาจเป็นดาบสองคม สามารถจะนำไปสู่ความเสียหายได้ ทั้งโดยเจตนาด้วยการลุแก่อำนาจ หรือโดยประมาทรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยไม่แยแสต่อผลที่จะเกิดขึ้น ประชาชนมีที่พึ่งด้วยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลักดัน ด้วยการเรียกร้องผ่านผู้แทนราษฎร หรือเรียกร้องโดยตรงต่อรัฐบาลหรือรัฐสภา ในบางกรณีก็มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลระหว่างกันเอง หรือการฟ้องร้ององค์กรของรัฐ หน่วยราชการต่างๆ

ศาลปกครองเป็นองค์กรหนึ่งที่ดูแลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างหน่วยราชการด้วยกันเอง ก็สามารถจะเป็นที่พึ่งในการแก้ปัญหาได้ หรือประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการประจำ ย่อมจะมีสิทธิในการป้องกันสิทธิและผลประโยชน์ของตนที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ

ข้าราชการที่ทำงานด้วยการอุทิศตนอย่างเต็มที่ ปฏิบัติตามกฎหมาย วางตัวเป็นกลางทางการเมือง มีศีลธรรมและจริยธรรม ย่อมมีความองอาจและบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่รู้สึกถึงการทำงานที่ไม่สบายใจเพราะมิได้ทำความผิดอะไร หลักการก็คือ ต้องถือเอาความยุติธรรมและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

สิทธิของประชาชนที่จะพึ่งพาศาลปกครองเพื่อความยุติธรรมและเพื่อความถูกต้อง เป็นสิทธิขั้นมูลฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้องค์กรของรัฐไม่ว่าจะฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายราชการละเมิดสิทธิของตนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย


สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างกระจ่างก็คือ รัฐเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยความยินยอมของประชาชนในสังคม ในลักษณะสัญญาประชาคม (social contract) ตามที่รุสโซได้กล่าวไว้ ความหมายก็คือ เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มจนกลายเป็นสังคมย่อมจะต้องมีความขัดแย้ง จึงได้ยินยอมให้มีการสถาปนารัฐขึ้น และผู้ใช้อำนาจรัฐซึ่งมี 3 อำนาจ ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จะทำหน้าที่ตามอาณัติที่ได้รับมอบจากประชาชน แต่เมื่อใดก็ตามที่การทำหน้าที่ดังกล่าวกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ประชาชนย่อมมีทางออกที่จะไม่ปล่อยให้ผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวดำรงอยู่ต่อไป วิธีการก็คือ การถอนอาณัติ

การถอนอาณัติในระบอบประชาธิปไตยก็คือ การไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งบุคคลดังกล่าวมาทำหน้าที่ต่อไป ขณะเดียวกันก็มีทางออกอื่นด้วยการชุมนุมโดยสงบและปราศจาอาวุธ ประท้วงและต่อต้านไม่ให้มีโครงการซึ่งกำหนดโดยรัฐที่ส่งผลกระทบต่อตน เช่น การสร้างมลภาวะ การทำให้การทำมาหากินโดยสงบสุขถูกกระทบกระเทือน โดยมีเหตุผลพอเพียงที่จะชี้ให้เห็นประจักษ์ และเมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถจะทำให้สัมฤทธิผลได้ก็ต้องอาศัยองค์กรที่มีอยู่ และองค์กรที่มีอยู่ในหลายๆ องค์กรก็คือศาลสถิตยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลสถิตยุติธรรมมี 3 ศาล คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ในส่วนของศาลปกครองนั้นก็มี 2 ระดับ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ มีภารกิจสำคัญคือ การวินิจฉัยตีความกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม นอกเหนือจากนั้น ประชาชนสามารถจะพึ่งพาองค์กรที่เรียกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (ตามรัฐธรรมนูญปี 2540) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน (ตามรัฐธรรมนูญปี 2550) เพื่อแก้ไขความทุกข์ของประชาชนจากการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม นอกจากนั้น ยังมีองค์กรที่เรียกว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นที่พึ่งในกรณีที่มีการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองก็เช่นเดียวกันกับศาลสถิตยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นองค์กรที่สำคัญและเป็นองค์กรที่ประชาชนภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีสิทธิที่จะใช้เป็นที่พึ่งพาในกรณีที่มีการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของตนจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ
Read more ...

การเมือง การปกครองและศาล (จาก ข่าวศาลยุติธรรม ปีที่ 9 ฉบับที่ 84 (วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2551))

27/12/52

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ศาลเป็นสถาบันที่มีภารกิจหลักคือการพิจารณาอรรถคดี ซึ่งประกอบด้วยคดีแพ่ง และคดีอาญาเป็นหลักที่เรียกว่าศาลสถิตยุติธรรม ภารกิจของศาลส่วนนี้เป็นภารกิจของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ซึ่งต้องพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้จบลงด้วยความยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ในกรณีคดีอาญานั้นคือการกระทำที่ผิดต่ออาญาแผ่นดินเกิดขึ้นได้โดยการกระทำต่อบุคคลด้วยกัน หรือระหว่างบุคคล และรัฐ หรือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำผิดต่อประชาชน ในคดีแพ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชน หรือรัฐกับเอกชน หรือกลับกันแล้วแต่กรณี ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นภารกิจหลักของศาลโดยมีกฎหมายที่ใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลความขัดแย้งทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

การทำหน้าที่ของศาลที่กล่าวมาเบื้องต้นนอกจากจะมีกฎหมาย ซึ่งออกมาในรูปของพระราชบัญญัติ กฎระเบียบต่างๆ ยังมีกระบวนการยุติธรรม เช่น มีตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิด อัยการ ซึ่งเป็นทนายความของแผ่นดิน รวมทั้งกรมราชทัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว นอกจากนั้นก็มีกรมบังคับคดี เป็นต้น

นอกจากภารกิจหลักของศาลสถิตยุติธรรมดังกล่าวมาเบื้องต้น ศาลยังมีภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในส่วนของการเมืองนั้นศาลอาจจะมีภารกิจเกี่ยวพันกับทางอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารในระดับทั้งที่เป็นข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ รวมตลอดทั้งรัฐวิสาหกิจ และองค์กรอื่นๆ แต่ในการเกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองของศาลนั้น มีความแตกต่างกันระหว่างศาลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองโดยตรง กับศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอรรถคดี ซึ่งมีผลกระทบหรือเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

ในกรณีของศาล ซึ่งการวินิจฉัยเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองโดยตรงก็ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงหรือเป็นคดีอาญาตามปกติก็ได้ ส่วนศาลปกครองนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีที่สืบเนื่องจากการปกครองบริหาร เช่น ระหว่างกรมกองข้าราชการด้วยกันเอง หรือระหว่างเอกชนกับหน่วยงานราชการทั้งการเมือง และข้าราชการประจำ

แต่ในบางกรณีศาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง หรือศาลสถิตยุติธรรมธรรมดาอาจจะถูกกำหนดให้มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการเมืองร่วมกัน เช่น กรณีของตุลาการ 9 คน ในการวินิจฉัยคดี การกระทำความผิดกฎหมายพรรคการเมืองจนนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย โดยตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนั้นประกอบด้วย ผู้พิพากษาจากศาลสถิตยุติธรรมคือศาลฎีกา ศาลปกครอง เป็นต้น

ในส่วนของความเกี่ยวพันระหว่างศาล และการเมืองการปกครองนั้น แม้ในกรณีของศาลสถิตยุติธรรมก็มีโอกาสเกี่ยวพันกับการเมือง และการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีกรณีการวินิจฉัยที่เห็นชัดในประวัติศาสตร์สองกรณีคือ

กรณีแรก คือ เรื่องความชอบธรรม และความถูกต้องตามกฎหมายของการได้มา ซึ่งอำนาจอธิปไตยจากการยึดอำนาจรัฐโดยใช้กำลัง หรือพูดง่ายๆ คือการเป็นรัฏฐาธิปัตย์หลังทำการรัฐประหารสำเร็จ

กรณีที่สอง คือ เรื่องการออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง เกี่ยวเนื่องกับคดีอาชญากรสงครามหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับกระบวนการออกกฎหมายก็คือการเกี่ยวพันกับกระบวนการนิติบัญญัติหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ส่วนกรณีแรกที่เกี่ยวกับการเป็นรัฐาธิปัตย์นั้นคือการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสถาปนาอำนาจรัฐ หรืออำนาจอธิปไตยว่ามีความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) และมีความชอบธรรม (legitimacy)หรือไม่อย่างไร

ในกรณีคดีเกี่ยวกับอาชญากรสงครามนั้นเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ตั้งศาลพิเศษขึ้น เพื่อพิจารณาคดีการกระทำความผิดของพวกนาซีเยอรมนี และฟาสซิสต์อิตาลี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามโดยศาลที่ตั้งขึ้นมาพิเศษที่นูเรมเบิร์ก และที่โตเกียว ในกรณีประเทศไทยนั้นเนื่องจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐฯ โดยลงนามเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น จึงถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม ได้มีการออกพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ซึ่งมีผลย้อนหลัง

กล่าวคือ การกระทำที่เกิดก่อนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ถือเป็นความผิดด้วย อันเป็นลักษณะที่ขัดกับปรัชญาหลักกฎหมายทั่วไปที่ไม่ให้มีการออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษผู้กระทำการใด ในกรณีของศาลที่นูเรมเบิร์ก และที่โตเกียวก็มีผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผิดหลักการ แต่ในกรณีของไทยนั้นเมื่อคดีมาถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาได้ตัดสินตามคำพิพากษาที่1/2489 ว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่ลงโทษก่อนวันที่ใช้กฎหมายนี้เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ โดยมีเหตุผลว่า

ก) ศาลเป็นผู้ใช้กฎหมายจึงต้องดูว่าอะไรเป็นกฎหมาย หรือเป็นกฎหมายที่ใช้ได้หรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยเช่นนี้เป็นอำนาจของศาล

ข) ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมี 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต่างย่อมมีอำนาจยับยั้ง และควบคุม ซึ่งกัน และกัน อันเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเมือง เมื่อกฎหมายถูกตราออกมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไม่ถูกต้องหรือขัดรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมมีอำนาจแสดงให้เห็นความไม่ถูกต้องนั้นได้

ค) จำเป็นต้องมีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นข้อความที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดก็จะไม่มีผล จะให้สภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้ออกเองชี้ขาดเองย่อมไม่ถูกต้อง และให้อำนาจฝ่ายบริหารชี้ขาดก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร

นี่คือเหตุผล 3 ข้อใหญ่ๆ ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญโดยสังเขปเบื้องต้น ข้อสังเกตคือ การวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยมิได้มีแนววินิจฉัยแนวเดียวกับคดีอาชญากรสงคราม โดยตุลาการ 9 คนอ้างว่าแม้จะเป็นกฎหมายย้อนหลัง “แต่ไม่ใช่กฎหมายอาญา” ซึ่งมีนักกฎหมายจำนวนไม่น้อยถกเถียงว่า แม้กฎหมายแพ่งหรือกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองก็จะออกกฎหมายให้มีผลการลงโทษย้อนหลังไม่ได้เช่นเดียวกัน ประเด็นนี้คงถกเถียงกันได้อีกนาน

แต่ที่สำคัญก็คือ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวนั้นมีผลทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง และฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเช่นเดียวกัน ไม่สามารถจะกระทำอะไรได้ตามอำเภอใจ การวินิจฉัยของศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสถิตยุติธรรมจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยนัยนี้

ส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย และการเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น กรณีที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มทางการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจกัน โดยมีการรัฐประหารเกิดขึ้น และผู้กระทำการยึดอำนาจรัฐได้ สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้ ทำให้นำไปสู่การอ้างได้ว่าเมื่อความเป็นจริงทางการเมืองมีว่า เมื่อคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจสามารถดำรงอำนาจอยู่ได้ตามปกติวิสัย และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ก็ต้องถือว่าเป็นรัฐบาลตามความเป็นจริง แต่กระบวนการช่วงชิงอำนาจโดยใช้กำลังจนฝ่ายที่ครองอำนาจรัฐอยู่เดิมต้องสูญเสียอำนาจไปนั้นเกิดคำถามที่สำคัญเรื่องความถูกต้อง และความชอบธรรม คำถามก็คือ การใช้กำลังเข้าช่วงชิงอำนาจรัฐที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นอำนาจที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร และผู้ใช้อำนาจนั้นจะถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องได้หรือไม่

แง่มุมของกฎหมาย ถ้ามีกฎกติกา เช่น การปกครองที่มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่ยาวนานจนกลายเป็นประเพณีเช่นของอังกฤษ และสหรัฐฯ และก็มีการทำให้ประเพณีดังกล่าวนั้นมีความถูกต้องอีกโสตหนึ่งด้วยตัวบทกฎหมาย และความมีเหตุมีผลอันเป็นที่ยอมรับ ก็จะสอดคล้องกับความชอบธรรมของอำนาจของ


แม็กซ์ เวเบอร์ คือ อำนาจประเพณี (traditional authority) 


เช่น การสืบเชื้อสายการเป็นกษัตริย์จากพ่อไปสู่ลูกอันประเพณีอันยาวนาน ก็ถือว่าลูกมีอำนาจ และความชอบธรรมตามประเพณี

ส่วนอำนาจด้านกฎหมาย และความถูกต้องนั้น เช่น มีการเลือกตั้ง และได้ชัยชนะการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่นประธานาธิบดีอเมริกา ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็จะได้เป็นประธานาธิบดีอันเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย และการมีเหตุมีผลอันเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม (legal-rational authority)

แต่เมื่อใดก็ตามที่อำนาจตามประเพณี และความมีเหตุมีผลนั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ก็อาจเกิดการแย่งอำนาจกันจนบางครั้งเกิดสงครามกลางเมืองแยกเป็นสองรัฐ หรือรัฐบาลเดิมจำกัดตัวเองอยู่ในพื้นที่โดยยังไม่ล้มจากการเป็นรัฐบาล เช่น ในกรณีที่จีนคณะชาติหนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน หรือบางครั้งรัฐบาลเดิมอาจจะไปตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นที่นอกประเทศ (อ่านต่อพฤหัสฯ หน้า)

ขขขขขขขขขขขขขข

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้เกิดปัญหาว่ากลุ่มใดเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือรัฐบาลที่แท้จริง ซึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคใหม่มักจะรอดูสถานการณ์จนฝุ่นจางลง และดูจากความเป็นจริง ในกรณีของจีนแผ่นดินใหญ่นั้นสหรัฐฯ ไม่ยอมรับรองเป็นเวลานาน จนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 40 ปี สหรัฐฯ จึงรับรองจีนแผ่นดินใหญ่แทนจีนไต้หวัน ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของจีนคอมมิวนิสต์ โดยมองจากความเป็นจริงว่าสามารถยึดครองพื้นที่ได้ และสร้างระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ (a new political order) โดยมีคุณสมบัติของการเป็นรัฐครบถ้วน คือ มีประชากร มีอาณาเขตที่ดิน และมีรัฐบาลที่สามารถรักษากฎหมายความเป็นระเบียบ (law and order) ภายในประเทศได้ ดังนั้น ถ้ากลุ่มที่ยึดอำนาจรัฐได้มีคุณสมบัติดังที่กล่าวมาแล้วก็ต้องถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยกเว้นแต่สถานการณ์ยังก้ำกึ่งอยู่ เช่น อยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง มีลักษณะอนาธิปไตย

ในทางรัฐศาสตร์นั้นอาจถือเอาความเป็นจริงมากำหนดเป็นความยอมรับทางการเมือง แม้จะไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม ซึ่งกรณีเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยากที่จะรับสำหรับคนที่มีหลักการมั่นคง เพราะสิ่งที่ผิดย่อมจะผิด จะกลายเป็นถูกไม่ได้ ถ้ายอมรับสิ่งที่ผิดมาเป็นสิ่งที่ถูกก็เป็นการยอมรับอำนาจดิบ (raw power) ซึ่งเป็นระยะต้นของการตั้งรัฐ โดยคนที่แข็งแรงที่สุดในสังคมที่คนอื่นเกรงกลัวจะเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ และสถาปนาความเป็นรัฐ และครองความเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยคนไม่กล้าขัดขืน การสนับสนุนรัฐเช่นนี้เป็นการสนับสนุนจากความกลัว (fear) ไม่ใช่เกิดจากการยอมรับตามข้อตกลงสัญญาประชาคม (social contract)

อย่างไรก็ตาม เมื่อความเป็นจริงเป็นตัวกำหนด และ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นอนาธิปไตย และ เพื่อให้สังคมดำเนินต่อไปได้ ทั้งประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ก็ต้องยอมรับสภาพดังกล่าวเพราะไม่มีทางเลือก โดยหวังว่าถึงจุดๆ หนึ่งความถูกจ้องตามกฎหมาย และความมีเหตุมีผล หรือแม้พัฒนาไปสู่ความเป็นประเพณีก็จะตามมา เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่จะขอยกมาให้พิจารณาประกอบ

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1153-1154/2495 :

“…การล้มล้างรัฐบาลเก่าตั้งเป็นรัฐบาลใหม่โดยใช้กำลังนั้นในตอนต้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าประชาชนจะได้ยอมรับนับถือแล้ว เมื่อเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง คือหมายความว่าประชาชนได้ยอมรับนับถือแล้ว ผู้ก่อการกบฏล้มล้างรัฐบาลดังกล่าวก็ต้องเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 102…”

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 :

“…ข้อเท็จจริงได้ความว่าในพ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขยกเลิก และออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศชาติต่อไป มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์…”

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1512-1515/2497 :

“…คำว่า “รัฐบาล” ตามที่กล่าวไว้ในกฎหมายลักษณะอาญานั้น ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้ แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า “องค์การปกครองบ้านเมือง…รัฐบาลที่โจทก์หาว่าพวกจำเลยจะล้มล้างนั้นเป็นรัฐบาลที่ได้ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นคือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้ในกรณีที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่ดำรงอยู่ก่อน รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ ได้เข้าครอบครอง และบริหารราชการแผ่นดินด้วยความสำเร็จเด็ดขาด และรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศไว้ได้ และตลอดมาเป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปว่าเป็นรัฐบาลอันสมบูรณ์มาช้านานจนบัดนี้ ศาลไม่เห็นมีเหตุใดที่จะไม่ถือว่าเป็นรัฐบาลอันไม่ชอบธรรมตามความเป็นจริง อันปรากฏประจักษ์แจ้งอย่างชัดเจน”

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2505 :

“ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อในพ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยความแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ดังนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 ดังนั้นประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 (บุคคลอันธพาล) ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าวข้างต้นเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองเช่นนั้นได้…”

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2523 :

“…แม้จะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่ก็หาได้มีกฎหมายยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไม่ ประกาศหรือคำสั่งนั้นจึงยังคงเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่…” จาก “ความคิดของหยุด แสงอุทัย ในปรัชญากฎหมาย” http://www.sameskybooks.org/2008/04/05/thai-legal-philosophy
จากที่กล่าวมาเบื้องต้นจะเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลเกี่ยวพันโดยตรงกับการเมือง คือ การยอมรับความเป็นรัฐบาลของกลุ่มที่ยึดอำนาจได้สำเร็จจากการรัฐประหาร ซึ่งเท่ากับยอมรับความเป็นรัฏฐาธิปัตย์เนื่องจากความสามารถในการคุมอำนาจรัฐได้

คำวินิจฉัยที่ยกมาให้พิจารณานั้น ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันโดยเฉพาะระหว่างหลักการกับความเป็นจริง ถ้ายอมรับอำนาจจากการใช้กำลังก็เท่ากับยอมรับว่าอำนาจเป็นธรรม (might is right) แต่ถ้าไม่ยอมรับก็เท่ากับการเปิดประตูไปสู่ความเป็นอนาธิปไตย (anarchy) จนนำไปสู่กลียุค และสงครามกลางเมืองได้ กรณีนี้จึงไม่ใช่กรณีที่มีลักษณะขาว และดำ

ประเด็นที่ว่า ศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นองค์กร และกลุ่มบุคคลที่เชี่ยวชาญทางกฎหมาย มีภารกิจในการผดุงไว้ ซึ่งความยุติธรรมด้วยการพิจารณาอรรถคดี มีบทบาทในทางการเมือง และการปกครองด้วยหรือไม่ ก็เห็นได้ชัดว่าจากคำวินิจฉัยที่กล่าวมาเบื้องต้นย่อมส่งผลในทางการเมือง และการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้อาจจะขยายความคำตอบจากการตีความในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะปี 2540 หรือ 2550 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

ซึ่งในกรณีของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มีการกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ 3 อำนาจ รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) อำนาจดังกล่าวแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านสามสถาบันหลักเบื้องต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ศาล ซึ่งได้แก่ศาลสถิตยุติธรรม และศาลอื่นทั้งที่เป็นศาลที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง หรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองก็ตาม ต่างอยู่ในอำนาจที่สามนี้ทั้งสิ้น ภารกิจของศาลจึงมีสองส่วนด้วยกัน ส่วนที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวเนื่องกับอรรถคดี และส่วน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย

การวินิจฉัยคดีโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองหรือตัวนักการเมือง ซึ่งผลการวินิจฉัยจะส่งผลกระทบต่อการครองอำนาจรัฐรวมทั้งระบบการเมืองการปกครอง ย่อมจะมีลักษณะที่เป็นการเมืองการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การวินิจฉัยคดี เช่น คดีการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการแจ้งทรัพย์สินก็ดี การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ดี ฯลฯ แม้จะไม่ใช่คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงแต่ก็ส่งผลต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือส่งผลต่อการเมืองการปกครอง

ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะถ้าการวินิจฉัยอรรถคดีตามปกติ ซึ่งไม่ส่งผลต่อการเมืองการปกครองนั้น ผู้พิพากษาจะต้องยืนตามหลักฐาน ความมีเหตุมีผลอื่นๆ แต่ในกรณีเรื่องที่มีผลหรือนัยทางการเมือง ข้อพิจารณาที่เกิดขึ้นนอกจากจะเป็นกรณีที่เกี่ยวกับคดีล้วนๆ แล้วยังอาจจะมีประเด็นที่เกี่ยวกับนัยทางการเมือง คำถามก็คือ ภารกิจของศาลหรือตุลาการในการพิจารณาคดีในคดีดังกล่าวนี้จะรวมไปถึงการพิจารณาบทบาทที่มีตามมาตรา 3 นี้ด้วยหรือไม่ หรือจะจำกัดอยู่ในกรอบของการพิจารณาเฉพาะคดีล้วนๆ โดยไม่คำนึงถึงนัยทางการเมืองที่จะตามมาไม่ว่าจะบวกหรือลบก็ตาม ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้พิพากษาเฉพาะบุคคล

คำวินิจฉัย ซึ่งมีนัยทางการเมือง และการปกครองในคดีที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือเกี่ยวกับนักการเมือง หรือเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม หลักการใหญ่ของผู้พิพากษา และตุลาการก็คือ จะต้องธำรงไว้ ซึ่งความยุติธรรมอย่างเคร่งครัด นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสย้ำถึงความสำคัญของความยุติธรรมว่า

“.....ท่านก็เป็นผู้ที่เป็นประกันของความยุติธรรมของศาล และเป็นผู้จะสามารถรักษาความยุติธรรมให้บ้านเมือง ถ้าทำได้แล้วท่านก็จะเป็นคนที่ดี เป็นคนที่ช่วยบ้านเมืองให้อยู่ได้ ให้ปลอดโปร่งได้ ขอให้ท่านได้พยายามทำ เพื่อที่ให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีขื่อมีแปก็หมายความว่ามีความสุข ความยุติธรรม

ถ้าท่านรักษาความยุติธรรม ได้แท้ๆ ท่านจะเป็นผู้ที่ได้ทำ ได้ช่วยให้บ้านเมืองอยู่ได้ ถ้าไม่มีความยุติธรรมบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ เพราะคนก็จะสงสัยอยู่เสมอ จะต้องไม่ให้มีความสงสัยในบ้านเมือง แต่บ้านเมืองต้องมีแต่ความยุติธรรม ฉะนั้นก็ขอร้องให้ท่านได้พยายาม และรักษาความยุติธรรมแท้ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่เชื่อว่า ท่านตั้งใจจะทำ ก็ขอให้ท่านตั้งใจรักษาความยุติธรรมในบ้านเมือง การรักษาความยุติธรรมในบ้านเมืองนี้ก็เหมือนกับง่ายๆ คือ ท่านเป็นผู้พิพากษา ถ้ารู้จักความเป็นผู้พิพากษาสักนิดเดียวก็จะไม่ใช่เรื่องเสียหาย

ฉะนั้นขอให้ท่านรักษาความยุติธรรมในบ้านเมืองตามความรู้ที่ท่านได้ฝึกฝนมาด้วยการเรียน และการปฏิบัติ แต่ว่า ถ้าทำได้ก็จะเป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นเรื่องที่ยาก ถ้าทำได้ท่านก็จะเป็นวีรบุรุษของบ้านเมืองเป็นผู้ที่รักษาความยุติธรรม ฉะนั้นขอให้ท่านวางตัวเป็นวีรบุรุษรักษาความเรียบร้อยของบ้านเมือง...... ขอให้ท่านรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาลของระบบยุติธรรม ......”

จาก ข่าวศาลยุติธรรม ปีที่ 9 ฉบับที่ 84 (วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2551)
Read more ...

ซิเซโร

27/12/52


ทางด้านปรัชญาความคิดนั้นโรมันได้รับแนวความคิดทางปรัชญามาจากกรีกโดยเฉพาะแนวคิดของพวก

สโตอิด

เรื่องความมีเหตุผลความยุติธรรมตามธรรมชาติและความเท่าเทียมกันมาใช้ในกฎหมายโรมัน

กลุ่มนักปรัชญา คือกลุ่ม Scipionic cricle 

ได้เสนอแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ซึ่งทำให้เกิดความยุติธรรมในรัฐ และเสนอเรื่องความเป็นหนึ่งอันเดียวกันของเชื่อชาติ

นอกจากนี้ โพลีบิอุส เสนอแนวคิดว่า ระบบการปกครองแบบผสมเป็นระบบการปกครองที่ดีที่ป้องกันมิให้เสื่อมไปตามธรรมชาติ

โดยกล่าวว่าโลกที่โรมันปกครองเป็นรัฐโลก เพราะได้ปรับอำนาจของสถานบันปกครองให้มีความสมดุล โดยที่กงสุลมีลักษณะเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สภาเซเนทมีลักษณะเป็นแบบอภิชนาธิปไตย สภาราษฎร์มีลักษณะเป็นแบบประชาธิปไตย ทั้ง 3 สถานบัน ต่างมีอำนาจตรวจสอบซึ่งกันและกัน อันเป็นการจัดสมดุลอำนาจทางการเมืองในระบบ Check and Balance

ซิเซโร เห็นด้วยกับความคิดว่าระบบการเมืองแบบผสมทำให้เกิด Check and Balance

ผลสำคัญของซิเซโรคือการเอาความคิดเรื่องกฎธรรมชาติมาผนวกกับลัทธิสโตอิด

โดยถือว่ากฎธรรมชาติ คือ

รัฐธรรมนูญของรัฐโลก

กฎนี้ไม่เปลี่ยนแปลงและใช้สำหรับทุกคน (ในแง่นี้ทุกคนจึงเท่าเทียมกัน) สิ่งใดที่ขัดกับกฎนี้จะถือเป็น กฎหมายมิได้

ซิเซโรมองว่าการมีคนมารวมกันเป็นประชาคมจะต้องการยอมรับกฎหมายสิทธิและประโยชน์ส่วนร่วม ซึ่งทำให้เกิด 3 ประการ คือ

1.รัฐและกฎหมายเป็นสมบัติของประชาชน เกิดจากการรวมกันแห่งอำนาจของประชาชน

2.อำนาจการเมืองที่ใช้อย่างถูกต้องจะสอดคล้องกับอำนาจของประชาชน

3.รัฐและความหมายของรัฐอยู่ใต้กฎของพระเจ้า ในลักษณะเช่นนี้เป็นการยอมรับว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ และการปกครองต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน

เซเนกา ได้รับอิทธิพลจาก ลัทธิสโตอิก เช่นเดียวกับซิเซโร แต่ได้เน้นสังคมมากกว่ารัฐและมีความผูกพันกับศีลธรรมมากกว่ากฎหมายการเมือง นอกจากนี้ยังได้แยกประโยชน์ทางโลกออกจากประโยชน์ทางวิญญาณ ลักษณะความคิดของเซเนกาเป็นศาสนา 2 ประการ คือถือว่าบาปเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเน้นที่ความเข้าใจกันความสุภาพ คุณธรรม
Read more ...

นักนิติศาสตร์หลงทางหรือ

27/12/52

ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ 

อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

คำถามนี้เป็นหัวข้อของการอภิปรายของชมรมนิติศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
เปล่า นักนิติศาสตร์มิได้หลงทาง 


เพราะการที่จะกล่าวได้ว่านักนิติศาสตร์หลงทางย่อมหมายถึงว่านักนิติศาสตร์ต้องมีจุดหมายปลายทางที่นักนิติศาสตร์กำลังจะมุ่งไปสู่เป็นเบื้องแรกเสียก่อน แต่เมื่อนักนิติศาสตร์ได้กำหนดจุดหมายปลายทางไว้แล้ว ดังนั้น จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่านักนิติศาสตร์หลงทาง


ถ้าเช่นนั้น นักนิติศาสตร์กำลังทำอะไร คำตอบก็คือ นักนิติศาสตร์กำลังเดินเล่นไปตามทางโดยปราศจากจุดหมาย นักนิติศาสตร์หลงทาง แต่นักนิติศาสตร์ไม่รู้จักหนทางและกำลังเล่นอยู่กับหนังสือกฎหมายหรือถ้อยคำในบทบัญญัติของกฎหมายโดยลืมหน้าที่ของนักนิติศาตร์ที่มีอยู่ต่อสังคม

ระบบสังคมอันปั่นป่วนของไทยในปัจจุบัน

ในระยะหนึ่งปีที่ล่วงมาแล้ว ระบบสังคมของไทยกำลังเปลี่ยนแปลง การเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาและนักเรียนเกี่ยวกับสิทธิเลือกตั้งสำหรับบุคคลตั้งแต่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปก็ดี หรือกลุ่มกรรมกรเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาค่าแรงและสภาพงานของตนก็ดี หรือกลุ่มชาวนาซึ่งเรียกร้องให้แก้ปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ค่าเช่านา หรือการเอาเปรียบโดยไม่เป็นธรรมก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงการเปลี่ยนรูปของสังคม

ระบบสังคมไทยกำลังเปลี่ยนรูปเป็นสังคมที่ประกอบด้วย "กลุ่มชน"

คำว่า "ประชาชน" เฉยๆนับวันแต่จะไร้ความหมาย เพราะคำว่า "ประชาชน" เป็นนามธรรม ซึ่งกลุ่มบุคคลใดๆก็อาจอ้างและนำมาใช้ได้ และก็ดูจะไร้ประโยชน์ที่จะมาถกเถียงว่านิสิตนักศึกษาหรือนักเรียนเป็น "ประชาชน" หรือไม่ กรรมกรหรือชาวนาจำนวนใดเป็น "ประชาชน" หรือไม่ ฯลฯ ในระบบสังคมที่ประเทศไทยกำลังจะแปรรูปไปสู่นั้น เป็นระบบของสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มชน "ประชาชน" ที่แท้จริงจะอยู่ที่ใดนั้นไม่มีความสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่กลุ่มชนต่างๆจะสร้าง "พลังที่เป็นจริง" ขึ้นมาเพื่อต่อรองหรือเรียกร้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้หรือไม่


สิ่งที่เคยคิดว่าระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ การที่ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งโดยมีความคิดของตนเองเป็นอิสระนั้น อาจจะเป็นความจริงสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่ล่วงเลยไปแล้ว ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง ความคิดที่ว่าประชาชนย่อมมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศด้วย "การแสดงเจตนา" ในการเลือกตั้งนั้นดูยังคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ในสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มชนนั้น กลุ่มชนต่างๆจะ "เรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามความต้องการ" ของตน


ในปัจจุบันนี้ "การเรียกร้องให้ปฏิบัติตามความต้องการ" ของกลุ่มชน ไม่ว่าจะมีความแท้จริงหรือถูกแอบอ้างมากน้อยเพียงใดก็ตาม ได้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของระบบสังคมและระบบการเมืองของไทยในอนาคต
การที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเคยมีความประสงค์จะให้รัฐธรรมนูญสำเร็จและประกาศใช้บังคับโดยเร็ว ดูประหนึ่งว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะคิดว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว เป็นประชาธิปไตยแล้ว ปัญหาต่างๆคงหมดสิ้นไป ทุกฝ่ายจะพอใจ

ความเข้าใจเช่นนี้เป็นการมองสภาพสังคมและการเมืองที่ผิดพลาด

ปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้กำลังเผชิญอยู่ก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปสำหรับรัฐบาลชุดหน้า และรัฐบาลชุดหน้าจะแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้มากน้อยเพียงใดก็ย่อมแล้วแต่ความสามารถของรัฐบาลแต่ละคณะ แต่ดูเหมือนจะเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สายตาของบุคคลทั่วไปว่า รัฐบาลคณะนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้และไม่สามารถแม้แต่จะวางโครงการล่วงหน้าเพื่อให้คณะรัฐบาลชุดต่อไปรับช่วงไปดำเนินการ

บทบาทของนักนิติศาสตร์ในอนาคต

เหตุการณ์เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักนิติศาสตร์ เพราะเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตข้างหน้านั้น กลุ่มชนจะเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาของตน รัฐจึงมีแนวโน้มที่จะต้องเป็นรัฐที่ควบคุมระบบเศรษฐกิจและสังคม (inteurntionist) ส่วนการที่รัฐจะมีมาตรการเข้าควบคุมระบบเศรษฐกิจและสังคมมากน้อยเพียงใดนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคการเมืองซึ่งจะเข้ามาเป็นรัฐบาล
เครื่องมือของรัฐในการดำเนินการนั้น คือ "กฎหมาย" และกฎหมายนั้นมิใช่กฎหมายเอกชน หากแต่เป็น "กฎหมายมหาชน" ซึ่งประกอบด้วยสาขาเป็นจำนวนมาก


รัฐจะต้องแก้ปัญหากรรมกรด้วย "กฎหมายแรงงาน" แก้ปัญหาการบริหารและการกระจายอำนาจด้วย "กฎหมายปกครอง" แก้ปัญหาชาวนาด้วย "กฎหมายการเกษตร" แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย "กฎหมายการคลัง" แก้ปัญหาความกังวลใจในอนาคตของบุคคลที่ไร้ทรัพย์สินด้วย "กฎหมายประกันสังคม" ฯลฯ
สาขาของกฎหมายมหาชนแต่ละสาขามีขั้นตอนของการวิวัฒนาการและมีความลึกซึ้งโดยเฉพาะในแต่ละสาขา เช่น
กฎหมายแรงงาน ประกอบด้วย กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยสมาคมนายจ้าง-สมาคมลูกจ้าง-สหภาพแรงงาน กฎหมายว่าด้วยสิทธิหน้าที่ของผู้แทนลูกจ้างในการบริหารร่วมกัน กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาข้อพิพาทแรงงาน ฯลฯ


กฎหมายปกครอง ประกอบด้วยกฎหมายว่าด้วยองค์กรที่ควบคุมฝ่ายปกครอง (ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง) กฎหมายว่าด้วยการจัดระบบข้าราชการของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการจัดกระทรวงทบวงกรม กฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น กฎหมายว่าด้วยการจัดรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ


กฎหมายการเกษตร ประกอบด้วยกฎหมายจัดรูปที่ดิน กฎหมายค่าเช่าที่ดิน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเกษตรและวิธีพิจารณา กฎหมายว่าด้วยการชลประทาน กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ กฎหมายว่าด้วยเครดิตการเกษตร กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในการเกษตร ฯลฯฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ในกฎหมายแต่ละสาขาก็มีหลายรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ปัญหามีอยู่ว่า รูปแบบใดจะเป็นที่เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ และสมควรนำมาดัดแปลงใช้ในประเทศของเรา

ในเวลาอีกไม่นานนัก เราจะมีรัฐบาลซึ่งเป็นของประชาชน เป็นรัฐบาลที่มาจากผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน รัฐบาลนี้จะเป็นรัฐบาลที่กำหนดนโยบาย ตรากฎหมายขึ้นมาใช้บังคับและบริหารประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มชนต่างๆคำถามที่รอคำตอบอยู่ก็คือ เราจะหานักนิติศาสตร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนสาขาต่างๆเหล่านี้เพื่อจะเสนอแนะข้อแก้ไข ตลอดจนการวางขั้นตอนและโครงการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้แก่รัฐบาล ได้ ณ ที่ไหน

ถ้าท่านคิดว่านักกฎหมายมหาชนของเราซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ ทนายความ ซึ่งหลายๆท่านมีชื่อเสียงที่รู้จักกันดีทั่วประเทศ และควรนอนตาหลับได้ แต่ถ้าท่านคิดว่าบุคคลเหล่านั้นไม่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ ท่านก็ควรจะต้องตื่นและลืมตาขึ้นมองดูรอบๆ ซึ่งในที่สุดท่านอาจจะประหลาดใจว่า ท่านได้พบว่า ในภาวะที่ประเทศไทยอยู่ท่ามกลายปัญหาต่างๆของกลุ่มชนต่างๆที่มีผลประโยชน์แตกต่างกันเปรียบเสมือนคนป่วยเป็นไข้ (หนัก) แต่หาแพทย์ที่จะรักษาไม่ได้

ระบบกฎหมายเอกชนและระบบกฎหมายมหาชน 

ระบบกฎหมายเอกชน ได้วิวัฒนาการเป็นเวลานานนับ 1,000 ปี เพราะมนุษย์มีความสัมพันธ์ระหว่างกันและมีระเบียบของสังคมมนุษย์มาเป็นเวลานาน แต่มนุษย์เพิ่งจะมาพัฒนา ระบบกฎหมายมหาชน ในปลายศตวรรษที่ 19 และในศตวรรษที่ 20 นี้เอง


เพราะเหตุใด ระบบกฎหมายมหาชน จึงพัฒนาล่าช้าถึงเพียงนี้ ก็ในเมื่อในสมัยก่อนๆนั้น ผู้ที่มีอำนาจปกครอง (ไม่ว่าจะมีชื่อเรื่องว่าเป็น "จักรพรรดิ" "พระมหากษัตริย์" "เจ้าผู้ครองนคร" ฯลฯ ) ก็มีอำนาจในการออกคำสั่งหรือตรากฎหมายบังคับกับราษฎรอยู่มิใช่หรือและสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอำนาจของรัฐหรือมิฉะนั้นก็เป็นอำนาจของผู้มีอำนาจตรากฎหมาย ดังนั้นระบบกฎหมายมหาชนก็น่าจะพัฒนาเสียตั้งแต่เวลานมนานมาแล้ว


เราจะเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าหากจะเปรียบเทียบการวิวัฒนาการของระบอบการปกครองกับวิวัฒนาการของปรัชญากฎหมายในระยะต่างๆจนกระทั่ง ระบบกฎหมายมหาชนได้กำเนิดขึ้น


หากจะพูดกันจริงๆแล้ว ระบบกฎหมายมหาชนได้เริ่มเป็นรูปร่างขึ้นพร้อมๆกับระบอบประชาธิปไตยในปลายศตวรรษที่ 18 แต่เดิมนั้นกฎหมายมหาชนอาจจะมีอยู่จริง เช่น 

การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ในการตรากฎหมายหรือในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ (หรือแม้แต่การใช้อำนาจโดยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้พิพากษาเป็นตัวแทนไปวินิจฉัยคดีร้องทุกข์ต่างๆ เช่น ศาลบางประเภทของอังกฤษ) 

แต่กรณีเหล่านี้ก็เป็นเพียงการใช้อำนาจตามอำเภอใจและปราศจากจุดมุ่งหมายที่แน่นอนหรือมิฉะนั้นก็เป็นการวินิจฉัยคดีเฉพาะเรื่องเฉพาะราว


ระบอบการปกครองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือแม้แต่ระบอบการปกครองโดยจักรพรรดิ์สมัยโรมัน เป็นระบอบการปกครองที่ผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด จนกระทั่งไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปศึกษาวิเคราะห์หรือวางกำหนดกฎเกณฑ์ของการใช้อำนาจ 

ดังนั้นอำนาจในการปกครองจึงอยู่นอกขอบเขตวิชานิติศาสตร์ แม้ว่าในราวศตวรรษที่ 14-15 การศึกษาวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของยุโรปจะเจริญรุดหน้าไปก็จริง แต่ก็เป็นการศึกษาในด้านกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น เพราะกฎหมายเอกชนซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนไม่มีลักษณะขัดแย้งกับการใช้อำนาจตามรูปแบบของระบอบการปกครองประเทศในขณะนั้น


จริงอยู่ได้มีนักคิดบางจำพวกที่พยายามจะให้กฎหมายที่ผู้มีอำนาจในขณะนั้นได้ตราขึ้นใช้บังคับมีจุดมุ่งหมาย หรือมิฉะนั้นก็พยายามวางขอบเขตจำกัดการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้ที่มีอำนาจ นักคิดจำพวกนี้ได้แก่พวกนักปรัชญากฎหมาย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแนวความคิดของหลักปรัชญากฎหมายได้วิวัฒนาการมาเป็นลำดับขั้นตอนต่างๆ เช่น 

นักปรัชญาบางท่านเห็นว่า "กฎหมายได้แก่กฎเกณฑ์ที่พระเจ้าได้กำหนดไว้ให้มนุษย์ปฏิบัติ กฎเกณฑ์ของพระเจ้าเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้ว บรรดาข้อบังคับทั้งหลายที่ผู้มีอำนาจประกาศใช้บังคับควรจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายเหล่านี้" 

บางท่านก็เห็นว่า "กฎหมายได้แก่กฎเกณฑ์เก่าๆที่บุพการีได้รวมๆไว้ให้มนุษย์ปฏิบัติตามเพื่อความสงบสุข" "กฎหมายได้แก่กฎเกณฑ์ตามความเป็นจริงโดยธรรมชาติ" "กฎหมายได้แก่สัญญาประชาคมที่มนุษย์ได้จัดทำขึ้นเมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน" ฯลฯ


นักปรัชญากฎหมายเหล่านี้ได้พยายามที่จะให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า กฎเกณฑ์ของกฎหมายนั้นมีหลักเกณฑ์แน่นอนและเป็นสิ่งที่กำหนดให้มาแล้ว ไม่ว่าจะกำหนดโดยพระเจ้าโดยธรรมชาติหรือโดยสัญญาประชาคม และผู้ที่มีอำนาจในการปกครองประเทศควรจะต้องปฏิบัติตาม


และในที่สุด ระบอบประชาธิปไตยตามแนวความคิดที่มีอยู่ในปัจจุบันก็กำเนิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18 และพร้อมๆกันนั้นเองก็เป็นความสำเร็จสุดยอดของการพัฒนาระบบกฎหมายเอกชน โดยการที่ยุโรปได้เริ่มมีประมวลกฎหมายออกมาใช้ โดยมีประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสตราขึ้นเป็นประเทศแรกในต้นศตวรรษที่ 19 และในเวลาเดียวกันนี้ก็เป็นการเริ่มต้นของระบบกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และหลักการแบ่งแยกอำนาจ


ศตวรรษที่ 19 อาจเรียกได้ว่าเป็นศตวรรษของระบบกฎหมายเอกชนเพราะระบบประมวลกฎหมายได้แพร่หลายออกไปทั่วโลกตามที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว


ส่วนระบบกฎหมายมหาชนก็ยังค่อยเป็นค่อยไปอยู่ในระยะแรกของระบอบประชาธิปไตยเพราะในระยะแรกของระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทั่วไปยังนึกถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบของการปกครองซึ่งมีสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยตัวแทนที่คนเลือกตั้งขึ้นไปเพื่อใช้อำนาจควบคุมการออกฎหมายของฝ่ายบริหาร ซึ่งขณะนั้นอาจได้แก่องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ


ศตวรรษที่ 20 อาจเรียกได้ว่าเป็นศตวรรษของระบบกฎหมายมหาชนความจริงการพัฒนาระบบกฎหมายมหาชนนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว และประชาชนได้เริ่มรู้สึกว่า รัฐนั้นเป็นเครื่องมือของตน ประชาชนได้รวมกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆเพื่อใช้สถาบันในการเมือง (สภานิติบัญญัติและรัฐบาล) เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนและดังนั้นในระยะนี้ แนวความคิดในปรัชญากฎหมายก็เปลี่ยนไป นักปรัชญาบางท่านเห็นว่ากฎหมายเป็นกฎข้อบังคับที่ชนชั้นที่ที่มีอิทธิพลในสังคมออกใช้บังคับแก่บุคคลอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตน หรือมิฉะนั้นักปรัชญาบางท่านก็เห็นว่ากฎหมายนั้นเป็นผลของระบบเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมนุษย์เราได้สร้างขึ้นด้วยประสบการณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม


กฎหมายมิใช่มีตัวมีตนอยู่เป็นเอกเทศดังที่เคยเข้าใจมาแต่ก่อน แต่กฎหมายนั้นมีความสัมพันธ์กับวิชาสังคมศาสตร์อย่างอื่น

ความล้มเหลวในการศึกษาวิชานิติศาสตร์ของฝ่ายมหาวิทยาลัย 

ดูเป็นการไร้ประโยชน์ที่จะกล่าวว่า ในภาวะของประเทศไทยในปัจจุบัน เราจะหานักนิติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในสาขากฎหมายต่างๆไปแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างไร และแม้แต่ระยะเวลาในอนาคตอันใกล้เราก็คงจะหานักนิติศาสตร์ดังกล่าวไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะความเชี่ยวชาญนั้นมิใช่ว่าจะสร้างขึ้นมาได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว


ในการกำหนดหลักสูตรของวิชานิติศาสตร์ ฝ่ายมหาวิทยาลัยดูเหมือนจะมิได้ให้ความสำคัญแก่การวิวัฒนาการของระบบกฎหมายซึ่งเริ่มจากระบบกฎหมายเอกชนไปสู่ระบบกฎหมายมหาชน และนอกจากนั้นดูเหมือนจะขาดการสำนึกถึงวิวัฒนาการของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่วิวัฒนาการจากรูปแบบการปกครองที่ประชาชนแสดงเจตนาในการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่กลุ่มชนเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ตน


ปัจจุบันนี้ เรากำลังอยู่ท่ามกลางกลุ่มชนที่เต็มไปด้วยปัญหาเพราะเราได้ปล่อยปละละเลยต่อปัญหาเหล่านี้มาเป็นเวลานาน แม้แต่ในวงการของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเรื่องของวิชาการก็มิได้วิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้ในเชิงนิติศาสตร์ไว้ล่วงหน้าและมิได้แสวงหาวิถึทางที่จะพัฒนาหลักกฎหมายให้แก้ปัญหาของสังคม ดังนั้น เหตุการณ์ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ล่วงมาแล้วเราจึงพบว่านักนิติศาสตร์ยืนนิ่งอยู่ด้วยความสับสนและไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาของกลุ่มชนเหล่านี้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นหรือกำหนดระยะยาว
เมื่อเกิดปัญหาชาวนา สิ่งที่รัฐบาลได้กระทำไปแล้วคือการตั้งคณะกรรมการไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงหรือดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง และคำตอบที่ได้บ่อยครั้งก็คือเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้


เพราะ "กฎหมาย" เป็นอย่างนี้ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมตกลงตามที่รัฐบาลไกล่เกลี่ยประนีประนอมคู่กรณีก็ต้องไปฟ้อง "ศาลยุติธรรม" และรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดหาทนายให้ความหมายของ "รัฐ" ตามความเข้าใจหรือในสายตาของรัฐบาล น่าจะเป็นรัฐในสมัยต้นศตวรรษที่ 19 มากกว่าจะเป็น "รัฐ" ในปลายศตวรรษที่ 20


ผู้เขียนคิดว่า ฝ่ายมหาวิทยาลัยของเราซึ่งเริ่มสอนวิชานิติศาสตร์มาเป็นเวลากว่า 40 ปี ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้


หลักสูตรในการศึกษาวิชานิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยประกอบด้วย การศึกษาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความและพยานหลักฐานเป็นส่วนสำคัญ การกำหนดหลักสูตรในลักษณะนี้ทำให้เข้าใจว่า มหาวิทยาลัยมีจุดมุ่งหมายจะให้ผู้สำเร็จการศึกษาไปประกอบอาชีพเป็นนักกฎหมายประเภทประกอบวิชาชีพ คือเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความหรือพนักงานสอบสวนมากกว่าที่จะผลิตให้เป็นนักนิติศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยความคิดริเริ่มและมีพื้นฐานพอที่จะไปแสวงหาความรู้ความชำนาญในกฎหมาย (มหาชน) สาขาต่างๆ


ประเทศไทยจะได้อะไรบ้าง จากผู้สำเร็จวิชากฎหมายโดยไม่รู้จักจุดหมายของ "กฎหมาย" ที่พลวัตผันแปรไปตามระยะต่างๆของแนวความคิดทางปรัชญากฎหมาย นักกฎหมายที่รู้ตัวบทกฎหมายที่ปราศจากความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจและระบบสังคม นักกฎหมายที่ไม่รู้โครงสร้างของกฎหมายซึ่งจัดตั้งเป็นสถาบันและกลไกของรัฐและระบบคนงานของรัฐ (ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ)


ผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้ในที่หลายที่แล้วว่า มหาวิทยาลัยนั้นมิใช่โรงเรียนฝึกวิชาชีพและมหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ในทางวิชาการ มหาวิทยาลัยจะต้อง "เพาะ" นักนิติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยขึ้นในฐานะที่เป็นอาจารย์หรือศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย และผู้เขียนก็ไม่คิดว่าเราจะ "เพาะ" นักนิติศาสตร์เหล่านี้ขึ้นมาได้ในเมื่อพื้นฐานในระดับปริญญาตรีนั้นยังเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้
แนวการกำหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้นมีหลาย "รูปแบบ" แต่ละประเทศแตกต่างกัน รูปแบบของสหรัฐอเมริกาและรูปแบบของประเทศอังกฤษก็แตกต่างกัน ทั้งๆที่ประเทศทั้งสองนั้นเป็นประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายแองโกลแซกซอนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองมีโครงสร้างของรัฐแตกต่างกัน ประเทศหนึ่งเป็นสหรัฐ และอีกประเทศหนึ่งเป็นรัฐเดี่ยวนั้นเอง และรูปแบบของประเทศในระบบประมวลกฎหมายก็มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ


สิ่งที่เป็นเงื่อนไขในการกำหนด "รูปแบบ" ของหลักสูตรวิชานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยมีอยู่ 3 ประการ คือ 

(1) บรรดาบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญของประเทศทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็น ด้านกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน การจัดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยจะต้องจัดให้กฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนเกิดสมดุลกัน

เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจะต้องรู้หลักกฎหมายในกฎหมายเอกชนและโครงสร้างของรัฐตามกฎหมายมหาชนโดยครบถ้วน จริงอยู่การที่จะกำหนดให้มีการศึกษากฎหมายทุกสาขาวิชานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในชั่วระยะเวลา 4 ปีของการศึกษาปริญญาตรี และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นหน้าที่ของผู้กำหนดหลักสูตรที่จะเลือกสาขาวิชาใดเป็นวิชาบังคับและวิชาเลือก

นอกเหนือไปจากกำหนดจำนวน "วิชา" ไว้ในหลักสูตรแล้ว ผู้กำหนดหลักสูตรจะต้องกำหนด "เนื้อหา" ของวิชาต่างๆให้ครอบคลุมปัญหาอย่างกว้างขวาง เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาย่อมไม่ได้หมายความว่าจะอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่เพียงฉบับเดียว แต่ต้องรวมไปถึงกฎหมายว่าด้วยข้าราชการฝ่ายอัยการ และกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ หรือแม้แต่กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านด้วย ฯลฯ เพราะพนักงานอัยการก็ดี ตำรวจก็ดี กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านก็ดี ต่างก็เป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งสิ้น


"เนื้อหา" (Program) ของวิชาต่างๆจำนวนมากในระดับปริญญาจะต้องกำหนดโดยให้เป็นข่ายครอบคลุมสาระสำคัญของหลักกฎหมายที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติต่างๆที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศ รวมทั้งระเบียบข้อบังคับที่สำคัญซึ่งได้แก่ ระเบียบข้อบังคับที่ทำให้ผลบังคับของกฎหมายนั้นมีประสิทธิภาพหรือไร้ผลด้วย
งานเหล่านี้เป็นหน้าที่ของนักนิติศาสตร์ในวงการมหาวิทยาลัย (ในฐานะอาจารย์หรือศาสตราจารย์) ที่จะสรุปหลักเกณฑ์และสาระของกฎหมายให้ออกมาเป็น "ตำรากฎหมาย" เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรอบรู้มากที่สุดในชั่วระยะเวลาเพียง 4 ปี


การเลือก "รูปแบบ" ในการกำหนดหลักสูตรจึงไม่สามารถลอกเลียนแบบของต่างประเทศได้โดยไม่ดูบรรดาประมวลกฎหมายทั้งปวงที่ได้มีการตราขึ้นไว้ในประเทศของเราเองได้


(2) ความรอบรู้ในโครงสร้างของระบบกฎหมายของประเทศยังไม่เป็นสิ่งเพียงพอสำหรับพื้นฐานของผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี 

หลักสูตรวิชานิติศาสตร์จะต้องสร้างให้ผู้ที่สำเร็จกฎหมายในระดับปริญญาตรีมีความสำนึกในเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยพึงสังวรณ์อยู่เสมอว่า "กฎหมาย" นั้นมิได้เป็นศาสตร์เอกเทศ แต่เป็นศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กับวิวัฒนาการของสังคมและเศรษฐกิจ วิชาต่างๆ ที่จะเสริมความเข้าใจเหล่านี้ได้แก่ วิชาปรัชญากฎหมาย ประวัติลัทธิเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาการเมือง ฯลฯ ก็ควรจะถูกบรรจุลงไว้ในหลักสูตรของวิชานิติศาสตร์ในฐานะเป็น "วิชาบังคับ" ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรของ "วิชานิติศาสตร์ของประเทศไทย"


(3) หลักสูตรของมหาวิทยาลัยต้องมีจุดมุ่งหมายในการสร้างนักนิติศาสตร์ที่ตรงกับความต้องการของประเทศในแต่ละระยะ ถ้า "กฎหมาย" มีลักษณะพลวัต (dynamic) เปลี่ยนแปลงไปตามระบบเศรษฐกิจ-สังคม หลักสูตรวิชานิติศาสตร์เองก็มีลักษณะพลวัตเช่นเดียวกันคือ เปลี่ยนแปลงไปตามปัญหาในระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ


มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยวิชาการที่ถูกสมมติว่าจะต้องคาดหมายและเอาใจใส่ในปัญหาที่เกี่ยวข้องในทางนิติศาสตร์ของบ้านเมือง และจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าในปัญหาเฉพาะเรื่องอยู่เสมอ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงควรมีการปรับปรุงหลักสูตร เช่น เพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงวิชา หรือเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลง "เนื้อหา" (program) ของแต่ละวิชาที่ทำการสอนอยู่ให้ทันต่อเหตุการณ์หรือทันต่อกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้หลักสูตรเหล่านี้ตรงกับปัญหาของบ้านเมืองหรือของประเทศในระยะต่างๆ


ถ้าหลักสูตรในวิชานิติศาสตร์ของต่างประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ แล้ว บางครั้งจะเห็นว่ามีวิชาใหม่ๆ เกิดขึ้นและในบางครั้งก็มีการปรับปรุงเนื้อหาของวิชาต่างๆ แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าถ้าเราจะปรับปรุงหลักสูตรวิชานิติศาสตร์ให้ทันสมัยแล้วก็จะต้องถือตามแนวทางหรือลอกเลียนหลักสูตรของต่างประเทศ การลอกเลียนแบบหลักสูตรของต่างประเทศจะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อปัญหาทางนิติศาสตร์ของประเทศไทยของเราตรงกับปัญหาของต่างประเทศมิฉะนั้นแล้วการลอกเลียนหลักสูตรใหม่ๆ ของต่างประเทศ กลับจะเป็นผลเสียเพราะจะทำให้นักศึกษาต้องเสียเวลาอันมีจำกัดไปในการศึกษาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์แต่น้อย


วิชาใหม่ๆบางวิชาของต่างประเทศอาจจะก้าวหน้าเกินไปกว่าที่จะใช้ประโยชน์ในประเทศไทย เช่น

 วิชาว่าด้วย "เสรีภาพมหาชน" (liberte' public m Les Libertes' Publiques) เป็นต้น

นักนิติศาสตร์ในวงการมหาวิทยาลัย (อาจารย์และศาสตราจารย์) ของเรามีจำกัด ดังนั้นจึงน่าจะทำการศึกษาค้นคว้าในวิชาที่มีประโยชน์ซึ่งถ้าหากนำมาสอนแล้วจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด ดีกว่าที่จะไปค้นคว้าศึกษาในหัวข้อวิชาของประเทศที่มีระดับพัฒนาแตกต่างกับประเทศไทยอย่างเทียบไม่ได้ เมื่อระบบกฎหมายของเรายังเป็น "เกวียน" อยู่ เราก็ต้องยอมรับความจริงและแสวงหาวิถีทางปรับปรุงเกวียนของเราให้ใช้ประโยชน์ได้คล่องตัวที่สุด ไม่ควรไปริเริ่มศึกษาถึงการปรับปรุง "รถยนต์" ให้เสียเวลา


ตรงกันข้าม แนวความคิดเกี่ยวกับวิชาการใหม่ๆ บางประการของต่างประเทศอาจนำมาใช้ได้ เช่น การเริ่มวางพื้นฐานการศึกษาเชิงเปรียบเทียบในระดับปริญญาตรี ซึ่งเราสามารถลอกเลียนมาใช้ได้ เช่น การนำวิชาประวัติศาสตร์สากลหรือวิชาว่าด้วยระบบกฎหมายต่างๆ มาใช้เป็นวิชาเลือกในหลักสูตร หรือมิฉะนั้นก็นำเนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์สากลอย่างย่อๆ เข้าไปรวมอยู่ในเนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ศึกษาวิชากฎหมายมองเห็นวิวัฒนาการเปรียบเทียบระหว่างประวัติศาสตร์กฎหมายไทยกับประวัติศาสตร์กฎหมายสากลได้ เป็นต้น


เป็นเวลาค่อนข้าง "สาย" มากแล้ว หรือมิฉะนั้นก็จวนจะถึงเที่ยงคืนอยู่แล้วสำหรับการปรับปรุงหลักสูตรวิชานิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยของเรา

สรุป 

ขณะนี้ วันนี้ เราอาจจะได้ระบอบประชาธิปไตยมาโดยบังเอิญ แต่ระบอบประชาธิปไตยจะดำรงคงอยู่ได้จะต้องมีรากฐานที่มั่นคง รากฐานที่มั่นคงประกอบด้วยโครงสร้างในด้านต่างๆ ของสังคมเป็นจำนวนมาก โครงสร้างของสังคมเหล่านี้จะแก้ไขปัญหาการขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ที่มีผลประโยชน์แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัดและระดับชาติ


ระบอบประชาธิปไตยไม่อาจอยู่ได้ด้วยการมีเพียงสภานิติบัญญัติ และมีรัฐบาลที่เป็นของประชาชน สภานิติบัญญัติและรัฐบาลจะไม่สามารถสร้างเสถียรภาพในการปกครองได้ในเมื่อประชาชนต่างๆ ได้รวบรวมเข้าเป็นกลุ่มเป็นก้อน และต่างก็เรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามความต้องการของตน ซึ่งมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน


โครงสร้างของสังคมที่ดีจะผ่อนคลายและบรรเทาความรุนแรงของการขัดแย้งในผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ขั้นตำบล ขั้นจังหวัด จนกระทั่งขึ้นมาจนถึงระดับชาติ โครงสร้างของสังคมจะจัดให้กลุ่มชนต่างๆ มีการทำงานร่วมกันและมองเห็นประโยชน์ร่วมกัน (เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา) หรือการทำงานระหว่างคนงานของรัฐ (ข้าราชการ) กับประชาชน


พร้อมๆ กันนั้น รัฐก็จะต้องจัดหาองค์กรผู้ชี้ขาดปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ (เช่น คณะกรรมการชี้ขาดข้อพิพาทหรือศาลต่างๆ) ซึ่งองค์กรเหล่านี้ กลุ่มชนที่มีผลประโยชน์ต่างๆ กันจะต้องมีความศรัทธาและมีความสัมพันธ์อยู่กับองค์กร เช่น ศาลท้องถิ่นต้องเป็นคนของท้องถิ่นหรือศาลเกษตรต้องประกอบด้วยผู้แทนของชาวนาผู้เช่านา เป็นต้น


ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โครงสร้างเหล่านี้ซ่อนอยู่ในการจัดระบบสังคมจำนวนมาก เช่น ระบบการจัดบริการของรัฐ ระดับท้องถิ่น ระบบศาล ฯลฯ

ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในอันตราย 

ในระยะเวลาที่ล่วงมาแล้วหนึ่งปีนั้น กลุ่มชนกำลังเรียกร้องให้ "รัฐ" แก้ปัญหาให้แก่กลุ่มของตน ระบอบประชาธิปไตยของเรากำลังจะแปรรูปจากการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศด้วยการแสดงเจตนาเป็นรายบุคคลออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็น "ระบอบการปกครอง" ที่ประชาชนต่างแยกออกเป็นกลุ่มชนต่างๆ และต่างเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามความต้องการของกลุ่มของตน และ "กฎหมาย" ย่อมเป็นเครื่องมือของรัฐในการแก้ปัญหา


"นักนิติศาสตร์ในปัจจุบัน" หลงทางหรือ? เปล่า! นักนิติศาสตร์ในปัจจุบันของเราไม่มีจุดหมายปลายทาง นักนิติศาสตร์ในปัจจุบันของเราส่วนมากเป็นเพียง

ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย 

ซึ่งปฏิบัติงานตามสิทธิหรือตามอำนาจหน้าที่ที่บทบัญญัติของ "กฎหมาย" กำหนดให้ไว้เท่านั้น


นักศึกษานิติศาสตร์ที่รัก ท่านกำลังคิดเหมือนที่ผู้เขียนกำลังคิดอยู่หรือเปล่าว่า "นักนิติศาสตร์ในอนาคต" จะสามารถ

ชี้วิถีทางและขั้นตอนในการแก้ปัญหาสังคมให้เป็นที่พอใจแก่ "กลุ่มชนต่างๆ" (ซึ่งมีผลประโยชน์แตกต่างกันและกำลังเรียกร้องให้รัฐช่วยแก้ปัญหาที่ขัดแย้งกัน)ได้ทันต่อเวลาหรือไม่ 

หรือว่าจะให้เขาหล้านั้นต้องไปแสวงหาวิถึทางการแก้ปัญหาจากแหล่งอื่นด้วยวิธีการอื่น และในที่สุด ด้วยเหตุบังเอิญอันไม่ได้คาดหมาย คนไทย (ทั้งเขาและเรา) จะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งในสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้ และทั้งในสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว คือ สิทธิเสรีภาพ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เคยลงตีพิมพ์ใน วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 9 ตอน 1 ( เมษายน 2533).
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544
Read more ...

ศาลผู้บริโภค

25/12/52
ทำความรู้จักศาลผู้บริโภคกันครับ


วันนี้สำนักงานคงอดไม่ได้ที่จะพูดถึงศาลผู้บริโภคหรือศาลแผนกคดีผู้บริโภคกันครับ ซึ่งที่จริงแล้วศาลผู้บริโภคก็เป็นระบบวิธีพิจารณาคดีทางแพ่งของศาลยุติธรรมรูปแบบใหม่ตามพระราช บัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ . ศ.2551 นั้นเอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2551เป็นต้นไป

ประชาชนในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ได้รับความเสียหายจากสินค้าอันตรายต่างๆสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อแผนกคดีผู้บริโภคที่มีประจำอยู่ในศาลแขวงศาลจังหวัด และศาลแพ่งทุกแห่งโดยระบบวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะเอื้อต่อการใช้สิทธิของผู้บริโภคเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วเที่ยงธรรมและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้นส่วนฟ้องนั้นจะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ไม่ว่าจะฟ้องด้วยตนเองหรือแต่งทนายความ หรือขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ดำเนินการฟ้องร้องแทนให้ก็ได้อีกเช่นกันครับ ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม และประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่เป็นอันตรายไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมเช่นกัน ซึ่งทั้งสองกรณีต้องไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายเกินควร ไม่เช่นนั้นศาลอาจมีคำสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในภายหลังได้ที่สำคัญการที่ผู้บริโภคไม่มีความรู้ ขาดข้อมูลในหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ ดังนั้น ในคดีผู้บริโภคจึงกำหนดให้ภาระการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการต่อสู้คดีให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

คดีแบบไหนที่ศาลจะรับดำเนินคดีและพิจารณาคดีเป็นคดีผู้บริโภค

1. คดีแพ่ง ที่ผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจมีข้อพิพาทกันเนื่องจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ

2. คดีแพ่ง ที่ประชาชนได้รับความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

3. คดีแพ่ง ที่เกี่ยวพันกับคดีทั้ง 2 ข้อข้างต้น

4. คดีแพ่งอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นคดีผู้บริโภค

ใครบ้างที่สามารถฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคได้

1. ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม (หากยื่นฟ้องในข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคที่ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยอาจต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมเอง แต่หากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่ได้รับการรับรองฟ้องแทน จะได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมเว้นแต่เป็นการเรียกค่าเสียหายเกินควร)

2. ผู้ประกอบธุรกิจหมายถึง ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย (การยื่นฟ้องต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม)

3. ผู้เสียหายหมายถึง ผู้ได้รับความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ หรือทรัพย์สิน แต่ไม่รวมถึงความเสียหายต่อตัวสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้น (การยื่นฟ้องไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมเว้นแต่เรียกค่าเสียหายเกินควร)

ขั้นตอนการยื่นฟ้องต่อศาลคดีผู้บริโภค

1. ผู้บริโภคหรือผู้เสียหาย มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่หรือต่อศาลแห่งอื่นได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องคดีผู้บริโภคได้เฉพาะเขตศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่เท่านั้น

2. ให้ยื่นฟ้องต่อศาล ที่แผนกคดีผู้บริโภค ภายในความ 3 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย หากเลยกำหนดนี้ถือว่าขาดอายุความ

3. หากความเสียหายไม่เกิน 300,000 บาท ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ถ้าเกิน 300,000 บาทให้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด หากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง

4. ในการฟ้องคดีผู้บริโภค สามารถฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้

5. การยื่นฟ้องด้วยวาจา เจ้าพนักงานคดีจะเป็นผู้บันทึกคำฟ้อง และให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ ดังนั้นผู้ฟ้องจึงสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีทนายความก็ได้

6.คำฟ้องต้องมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุที่ต้องมาฟ้องคดีรวมทั้งต้องมีคำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นชัดเจนพอที่จะให้เข้าใจได้

7. เมื่อศาลรับคำฟ้องแล้วศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็วและออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดนัดเพื่อไกล่เกลี่ยให้การและสืบพยานในวันเดียวกัน


•ข้อดีของศาลคดีผู้บริโภค

1. ศาลยุติธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นศาลผู้บริโภค

2. ระบบวิธีพิจารณาคดีเอื้อต่อการใช้สิทธิของผู้บริโภค

3. การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม

4. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้าและบริการ

5. ภาระพิสูจน์เกี่ยวกับสินค้าตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

6. กระบวนวิธีพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น และคำพิพากษาถือเป็นที่สิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์เท่านั้น

7. ให้การคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

8. ศาลอาจจะใช้ผลการพิจารณาคดีเดิม เป็นฐานในการกรณีพิจารณาคดีที่ใกล้เคียงกันได้


ศาลคดีผู้บริโภคมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจทำอะไรได้บ้าง

1. เปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ แทนการแก้ไขซ่อมแซม

2. ให้ทำประกาศเรียกรับสินค้าคืนจากผู้บริโภค

3. ห้ามจำหน่ายสินค้าที่เหลือ เรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่าย หรือให้ทำลายสินค้าที่เหลือ กรณีที่สินค้าอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังผู้ประกอบธุรกิจได้

4. จ่ายค่าเสียหายเกินคำขอของผู้บริโภคได้หากเห็นว่าเกิดความเสียหายมากกว่าที่ได้ขอไป

5. จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริง

6. ฯลฯ
Read more ...

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ศาลเขียน รธน.ใหม่

10/12/52
"รัฐธรรมนูญเขียนว่าหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้โดยใช้เทคนิคหรือกลไกการตีความ ก็เพิ่มถ้อยคำว่าอาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แปลว่าศาลรัฐธรรมนูญเขียนมาตรา 190 ขึ้นใหม่ ว่าหนังสือสัญญาที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรืออาจมีผลเปลี่ยนแปลงสิทธินอกอาณาเขต ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ"

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาให้ความเห็นชอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190

ก็มีเสียงไถ่ถามขึ้นทันทีว่า อาจารย์วรเจตน์มีความเห็นอย่างไร มีคนโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ตว่าขอรอฟังวรเจตน์ก่อน 5 อาจารย์นิติศาสตร์จะออกแถลงการณ์ไหม

ดูเหมือนวรเจตน์และเพื่อนๆ จะกลายเป็นสถาบันไปแล้ว สถาบันกฎหมายมหาชนที่ให้เหตุผลโต้แย้ง "ตุลาการภิวัตน์" ได้อย่างมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ และน่ากลัวเกรงสำหรับผู้ที่พยายามลากถูชูกระแส

อย่างไรก็ดี วรเจตน์ไม่ออกแถลงการณ์ เขาเลือกสนทนากับไทยโพสต์แทบลอยด์แทน ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นภารกิจที่หนักเกินไปสำหรับอาจารย์หนุ่ม 5 คนที่จะต้องมาแบกรับความคาดหวัง แบกรับการรุมถล่มโจมตีจากเหล่าผู้มีคุณธรรมแต่ไม่มีหลักการ

ที่น่าใจหายคือ วรเจตน์บอกว่านับแต่นี้คงออกมาให้ความเห็นน้อยลง เพราะเขาเห็นว่าสังคมไทยไม่ได้ฟังเหตุฟังผลกันอีกแล้ว แต่กำลังจะเอาชนะกันด้วยกำลังอำนาจ

"ผมอาจจะไม่ออกมาพูดอีกนานเลยทีเดียว"

ฉะนั้นวันนี้เราจึงซักถามกันให้ครบ ตั้งแต่ประเด็นแถลงการณ์ร่วม ประเด็น คตส.ซึ่งออกมากระชั้นชิดกับช่วงที่เขาวิจารณ์เรื่องเขตอำนาจศาลปกครอง จนไม่ทันได้วิจารณ์ และย้อนกลับไปที่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองอีกครั้ง รวมทั้งความในใจที่เหนื่อยหน่าย

ooo

1.พระวิหาร

"เรื่องอาณาเขตของประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริเวณที่ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ การดำเนินการและการพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องนี้จึงต้องกระทำอย่างรอบคอบ หากเป็นกรณีที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศแล้วย่อมจะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสองด้วย....."

"อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communique ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสอง"

(คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551)

บัญญัติคำว่า"อาจ"

"ศาลวินิจฉัยว่า joint communiqué เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็ส่งผลในทางการเมืองตามมารัฐมนตรีต่างประเทศลาออกไปแล้ว ประเด็นที่ผมสนใจมากคือเหตุผลของศาลเป็นอย่างไร มันทำเราเสียดินแดนหรือไม่"

"พอไปอ่านตัวคำวินิจฉัยแล้วผมกลับเห็นในทางตรงกันข้ามเลย สำหรับผม คำวินิจฉัยนี้ยืนยันในทางกลับกันว่าหนังสือสัญญาที่ทำไปไม่ทำให้เราเสียดินแดน นี่อ่านจากคำวินิจฉัยนะ เพราะอะไร"

"เพราะเหตุผลที่ศาลวินิจฉัย ท่านไปเปลี่ยนถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญพูดถึงหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความว่าหมายถึงหนังสือสัญญาที่อาจจะมีบทเปลี่ยน

แปลงอาณาเขตไทย ศาลไม่ได้ยืนยันว่าเปลี่ยนแปลงอาณาเขตนะครับ ท่านใช้คำว่า..

ซึ่งแม้ว่าถ้อยคำที่ใช้กับหนังสือสัญญาทั้งสองประเภทนี้จะบัญญัติว่าหากเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลง

อันดูเหมือนว่าจะต้องปรากฏชัดในข้อบทหนังสือสัญญาว่ามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจ จึงต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่หากแปลความเช่นว่านั้น ก็จะไม่เกิดผลตามความมุ่งหมายที่รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะตรวจสอบควบคุมการทำหนังสือสัญญาก่อนที่ฝ่ายบริหารจะไปลงนามผูกพันประเทศ ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ จึงต้องแปลความว่าหากหนังสือสัญญาใด

ที่คณะรัฐมนตรีจะไปดำเนินการทำกับประเทศอื่นหรือกับองค์การระหว่างประเทศ มีลักษณะของหนังสือสัญญาที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรืออาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ต้องนำหนังสือสัญญานั้นขอความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสองและวรรคสาม

อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย-ท่านใช้คำนี้ ซึ่งคำนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญครับ รัฐธรรมนูญพูดถึงการที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แปลว่าถ้ามันมีบทเปลี่ยนแปลงคุณเข้า 190 นะ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้าไม่มีมันก็ไม่เข้า เมื่อไม่เข้าก็ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เขาจะไปถูกตรวจสอบในทางการเมืองโดยสภาผู้แทนราษฎรก็ตรวจสอบไป และไม่ใช่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะไปชี้"

"กรณีนี้ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำหน้าที่เพียงตีความรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ทำหน้าที่เป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเอง โดยเพิ่มถ้อยคำลงไปในรัฐธรรมนูญ"

"รัฐธรรมนูญเขียนว่าหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้โดยใช้เทคนิคหรือกลไกการตีความ ก็เพิ่มถ้อยคำว่าอาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แปลว่าศาลรัฐธรรมนูญเขียนมาตรา 190 ขึ้นใหม่ ว่าหนังสือสัญญาที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรืออาจมีผลเปลี่ยนแปลงสิทธินอกอาณาเขต ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ผมถามว่าอย่างนี้ฝ่ายบริหารจะไปรู้ได้หรือครับ เขาก็ต้องดูตามรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ศาลไปตีความตรงนี้โดยเพิ่มถ้อยคำในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร นี่คือปัญหา"

ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยลงไปใช่ไหมว่าหนังสือสัญญานี้มีผลหรือไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขต

"ต้องวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญานี้มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือไม่มี ซึ่งวินิจฉัยแล้วว่ามันไม่มี แต่โดยนัยมันอาจจะมี ซึ่งไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี แต่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าอาจจะ รัฐธรรมนูญเขียนว่ามีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย"

"การตีความอย่างนี้ก็เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้ทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ คือในทางวิชาการมันเป็นไปได้ว่าการตีความเป็นการให้ความหมายรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ให้ความหมายว่ามาตรานี้มีความหมายอย่างไร แต่การให้ความหมายต้องผูกพันอยู่กับกฏเกณฑ์ในการตีความ ในเบื้องต้นต้องผูกพันกับถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ก่อน เพราะมันเป็นกติกา รัฐธรรมนูญเขียนว่าถ้าเป็นหนังสือที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขต

ฝ่ายบริหารต้องไปความเห็นชอบจากรัฐสภานะ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้อง เมื่อฝ่ายบริหารเขาวิเคราะห์แล้วว่ามันไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ไม่ได้เกิดการเสียดินแดน เขาก็ไม่เอาเข้ารัฐสภา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องยืนยันในคำวินิจฉัยว่า joint communiqué มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ยืนยัน ในคำวินิจฉัยนี้ไม่มีที่ไหนบอกเลยแม้แต่น้อยว่ามันมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย เพียงแต่บอกว่าอาจจะ"

แล้วใครจะไปรู้ว่าอาจจะหรือไม่อาจจะ

"ในอนาคตข้างหน้าถามว่าเวลารัฐบาลจะไปทำ joint communiqué เขาจะทำได้อย่างไร ถ้าเขารู้ว่าไม่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตแน่ๆ แต่คำว่าอาจจะ-จะรู้หรือครับ"

"ปัญหาพรมแดนไทย-กัมพูชา มันไม่ลงตัวมาตั้งแต่คดีเขาพระวิหารปี 2505 แต่คำวินิจฉัยของศาลโลกชัดเจนว่าตัวปราสาทตั้งอยู่ในเขตแดนซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา เลิกเถียงเสียทีว่าพื้นดินใต้ปราสาทเป็นของใคร มันต้องยอมรับกันว่านี่คือข้อยุติโดยคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เราก็บอกว่ารัฐบาลสมัยนั้นตั้งข้อสงวนที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งระยะเวลาคือ 10 ปี มันจบไปแล้วครับ มันไม่มีใครทำเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราก็ยังคิดอยู่นั่นแหละว่าเราจะสงวนเอาไว้ชั่วกัลปาวสาน จะสงวนไว้จนกระทั่งเขาพระสุเมรุหายไป มันไม่ตลกไปหน่อยหรือครับ"

"ที่มันไม่ชัดและเราเถียงกันได้คือพรมแดน อันนี้ผมรับได้นะ ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ต้องมีการปักปันเขตแดน

ต่างฝ่ายต่างเคลมพื้นที่ตรงนั้น มันอาจเป็นกรณีพิพาทอีกทีก็ได้ในวันข้างหน้า เราอย่าหวังให้เขตแดนรัฐสมัยใหม่เป็นเส้นเหมือนกับรั้วบ้าน บางทีพรมแดนระหว่างประเทศมันไม่ชัดเจน มันจึงต้องทำความเข้าใจกัน คนที่เขาอยู่ในเขตพรมแดนเขาไปมาหาสู่กันมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดการรบชิงแดน โดยปลุกระดมชาตินิยมรุนแรงขึ้นมาอย่างนี้"

วรเจตน์ย้ำว่าคำวินิจฉัยนี้แปลได้ว่าไทยไม่เสียดินแดน

"เมื่ออ่านตรงนี้ปุ๊บยืนยันอะไรได้ครับ ยืนยันได้ว่าหนังสือสัญญานี้ และโดยจากศาลรัฐธรรมนูญเอง ยืนยันว่าไม่ได้เป็นสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตตามรัฐธรรมนูญ เพราะศาลก็ไม่ได้กล้ายืนยัน นี่จากคำวินิจฉัยนะ

คำวินิจฉัยบอกว่าอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลง เมื่อตีความกลับกันคือคุณก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะมีผลเปลี่ยนแปลง"

การตีความข้อยกเว้น

"ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ศาลไม่ได้เอามาใช้แต่เขียนไว้อ้อมๆ ซึ่งเป็นปัญหาของมาตรา 190 ที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทะเลเลย คือบอกว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างว้างขวาง

มันคืออะไรล่ะ"

"การเขียนมาตรา 190 ไม่ได้เขียนจากฐานหลักคิดที่แน่นในทางทฤษฎี คุณไม่ได้เริ่มต้นจากหลักก่อนว่าอำนาจในการทำสนธิสัญญาอยู่ที่ใคร นิติบัญญัติ ตุลาการ หรือฝ่ายบริหาร ที่มีอำนาจทำสนธิสัญญาผูกพันระหว่างประเทศ

เมื่อรู้ว่าอำนาจเป็นของฝ่ายไหน เราก็ดูต่อไปว่าข้อยกเว้นควรจะเป็นอย่างไร"

"ในนานาอารยประเทศเรารับกันว่าอำนาจในการทำสนธิสัญญาเป็นของฝ่ายบริหารชัดเจน เว้นแต่เรื่องบางเรื่องที่สำคัญ เช่นไปทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศแล้วความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศมันมีผลเข้ามาภายในประเทศว่าต้องออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง คุณจะต้องให้สภารับรู้"

เขาย้ำว่ามาตรา 190 อยู่ในหมวดคณะรัฐมนตรี หมายถึงเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะไปทำสนธิสัญญา แต่กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าอันไหนต้องขอความเห็นชอบรัฐสภา

"เวลาเขียนข้อยกเว้น ต้องเป็นข้อยกเว้นที่มีลักษณะเนื้อหาจำกัด รัฐธรรมนูญของเรากลับเขียนข้อยกเว้นกว้างเป็นทะเล ถามว่าใครเป็นรัฐมนตรีจะรู้ได้อย่างไรว่าสัญญานี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง แล้วมันจะทำสัญญากันได้หรือครับต่อไปข้างหน้า รัฐมนตรีต่างประเทศเราเดินทางไปที่อื่น ชาติอื่นเขาทำสัญญากันได้ เราบอกไม่ได้นะ ผมต้องกลับไปที่สภาก่อน ขอความเห็นชอบจากสภาก่อน สัก 3 เดือนค่อยมาว่ากันใหม่ อย่างนั้นหรือครับ"

"เพราะฉะนั้นปัญหาอยู่ตรงมาตรา 190 ด้วย คุณจะยกเว้นอะไร เอาให้ชัด เมื่อเป็นข้อยกเว้นแล้วคุณต้องตีความโดยจำกัดครัดเคร่งนะครับ ไม่ใช่ขยาย นี่คือหลักการตีความกฎหมายในชั้นต้นเลย"

"มันต้องดูก่อนว่าอำนาจอยู่ที่ใคร เมื่อเขาเขียนว่าหนังสือสนธิสัญญาแบบนี้ต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯ ก็หมายความว่าหนังสือสัญญาอื่นๆ ไม่ต้องขอความเห็นชอบใช่ไหม หลักทั่วไปคือไม่ต้องขอความเห็นชอบ ข้อยกเว้นคือต้องมาขอความเห็นชอบตามที่กำหนดในมาตรา 190 เมื่อเราได้หลักแบบนี้ก็ต้องเขียนข้อยกเว้นที่มันจำกัดครัดเคร่ง บังเอิญเรามีปัญหาว่ามาตรา 190 เขียนไว้เป็นทะเล เมื่อกฎหมายมันกว้างอยู่แล้ว ศาลยังจะตีความขยายออกไปได้อีกหรือครับ เขาบอกว่ามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แล้วไปตีความว่าอาจจะมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย มันเป็นข้อยกเว้น คุณตีความขยายข้อยกเว้นออกไปอีก ก็เท่ากับว่าต่อไปหลักก็คือ ณ บัดนี้ประเทศไทยอำนาจในการทำสนธิสัญญาโดยแท้จริงอยู่ที่ศาลบัญญัติ อย่างนั้นหรือครับ"

วรเจตน์บอกว่าหลักการตีความกฎหมายบางเรื่องสามารถตีความขยายได้ แต่กฎหมายที่เป็นข้อยกเว้นต้องตีความจำกัด

"ผมเรียนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าการตีความกฎเกณฑ์ที่เป็นข้อยกเว้นต้องตีความโดยเคร่งครัด คุณเทียบเคียงไม่ได้ ถ้าเป็นข้อยกเว้น เพราะมันจะสร้างความแน่นอนในทางกฎหมายว่าทุกฝ่ายจะรู้ และเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศเขาก็ดูแล้วว่ามันไม่เข้า ผมคิดว่ากรมสนธิสัญญาเขาถูก ตอนแรกผมก็สงสัยว่า เอ๊ะมันเข้าไม่เข้า แต่พอมาอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อเลยว่ามันไม่ใช่สัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต เพราะขนาดศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ยืนยัน เขาจึงไปตีความว่าอาจจะ แล้วจึงเข้ามาตรา 190"

"joint communiqué ข้อ 5 ชัดอยู่แล้ว เขาบอกไม่กระทบเขตแดน ข้อสงวนที่เคยมีมาในเรื่องพรมแดนพิพาทไม่กระทบ คุณก็ต้องไปปักปันเขตแดนในวันข้างหน้า ด้วยข้อ 5 นี่แหละศาลรัฐธรรมนูญจึงยืนยันไม่ได้ว่ามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่ถ้าคุณบอกว่าอาจจะ-ใครๆ ก็ต้องคิด มันกว้างจะตาย ถ้าอย่างนั้นต่อไปนี้ก็บอกไปเลยว่าทุกอย่างต้องขอสภาฯ ต่อไปนี้ใครเป็นรัฐบาลก็ปวดหัวหมด"

"ผมจึงวิจารณ์เรื่องนี้ด้วยความเคารพศาลรัฐธรรมนูญ ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการตีความ คือท่านจะวินิจฉัยอย่างไรก็วินิจฉัย แต่ท่านต้องกล้าฟันธง ข้อยกเว้นต้องไม่ขยายออกไป แต่นี่ไปสร้างบทบัญญัติขึ้นมาใหม่ ต่อไปอาจจะออกพระราชบัญญัติ เติมคำว่าอาจจะ ได้ทุกวรรคเลย เพราะใส่คำว่าอาจจะไปแล้วในวรรค 1"

วรเจตน์เห็นว่าปัญหามาตรา 190 จะต้องทำให้ชัดเจนด้วย

"เรื่องนี้ตามหลักนิติศาสตร์ไม่ควรจำกัดอยู่แค่นี้ในแง่การมองประเด็น เราควรเปิดมุมมองกว้างไปกว่านี้อีก คือดูที่ 190 ว่าหลักการเหตุผลควรจะเป็นอย่างไร ถามว่ากระบวนการในการตรวจสอบควรจะทำอย่างไร ต้องทำก่อนที่เขาจะไปดำเนินการหรือเปล่า ถ้าต้องทำก่อน 190 ก็ต้องมีกลไก ถ้าสภาไม่เห็นด้วยเมื่อยื่นเรื่องไป ต้องมีระบบระงับหรือระบบอะไรขึ้นมา เพราะนี่เป็นเรื่องการตีความ รัฐบาลเขาเป็นคนใช้กฎหมายเหมือนกัน รัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญใช้คนเดียวนะครับ รัฐบาลก็ใช้ รัฐสภาก็ใช้ เขาก็ทำของเขาไป ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ทีหลัง ซึ่งก็เป็นบรรทัดฐานในวันข้างหน้า ต่อไปรัฐบาลก็ต้องมาทำแบบที่คุณชี้ แต่พอมาชี้อย่างนี้กรมสนธิสัญญาก็ปวดหัว ทำไมเราไม่ทำเรื่องนี้ให้เป็นกลางๆ ทำไมเราไม่ดูเรื่องของหลักการที่ถูกต้องจริงๆ ว่าควรจะเป็นอย่างไร

กลับไปเอาประเด็นที่เป็นเรื่องการเมืองที่พัวพันมาจนมั่วกันไปหมด"

มาตรา 190 เริ่มมาจากการต่อต้าน FTA

"ใช่ แต่ไปเขียนจนในทางปฏิบัติจะเป็นปัญหามาก ผมไม่เคยเห็นบทบัญญัติแบบนี้ในรัฐธรรมนูญประเทศไหน

ผมก็เห็นด้วยกับฝ่ายที่ต่อต้าน FTA ว่าเวลารัฐบาลไปลงนามมันมีผลกระทบ แต่ก็ต้องเขียนให้จำกัด อยากได้อะไรคุณต้องเขียนให้เคร่งครัด แต่อย่าไปทำลายหลัก เว้นแต่คุณจะบอกว่า ณ บัดนี้ผมไม่ให้คณะรัฐมนตรีบริหาร"

"คือวันนี้ร่างกฎหมายกันไปกันมา ผมก็สงสัยว่าเราจะมีคณะรัฐมนตรีไว้ทำไม คุณจะให้เขาบริหารประเทศหรือเปล่า ประเด็นเรื่องเลือกตั้งซื้อเสียง นักการเมืองเลว มันส่งผลกระทบอย่างมากกับการบริหารและในทางหลักการ

เมื่อคุณบอกคุณไม่อยากให้คณะรัฐมนตรีบริหาร ตกลงประเทศนี้ใครจะบริหาร ผมก็สงสัยอยู่ เราให้เขาบริหารเราถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจเขาเต็มที่ ถ้าทำอย่างนี้ต่อไปประเทศมันไปไม่ได้ คุณก็มาโทษไม่ได้นะเพราะกลไกกฎหมายเป็นแบบนี้ การปกป้องสิทธิประโยชน์ของประเทศเป็นสิ่งที่ดี ทุกคนก็รักชาติรักบ้านเมือง แต่มันจะต้องให้ได้น้ำหนักกัน อย่าไปมองอะไรสุดโต่งข้างเดียวเหมือนที่เป็นกันอยู่ พูดง่ายๆ คือปัญหาของคุณทักษิณนั่นแหละ

มันปนกันไปทุกเรื่องตอนนี้"

เราล้อเล่นว่าต่อไปฝึกคอบบร้าโกลด์อาจต้องผ่านสภาฯ เพราะมีสิงคโปร์มาร่วมด้วย

"อาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะอาจจะมีคนเดินขบวนประท้วงว่าไม่เห็นด้วย เราก็จะเป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางกฎหมายประหลาดที่สุด มีคนต่างประเทศคนหนึ่งเขาบอกว่าไม่เข้าใจประเทศไทยในเวลานี้ คุณรื้อ legal culture ของคุณอย่างสิ้นเชิงเลยนะ ที่ทำๆ กันมา มาถูกรื้อหมดเลยในช่วง 2-3 ปีมานี้ แล้วผมกลายเป็นคนที่พูดอะไรไม่เหมือนกับคนอื่นเขา ก็มันเป็นอย่างนี้ เพราะผมไม่ต้องการรื้อหลักรื้อเกณฑ์ที่ทำกันมาอย่างถูกต้อง เพราะผมเชื่อว่าในที่สุดมันจะวุ่นวายมากจนไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร"

ย้อนไปที่กลไกประกอบมาตรา 190 อาจารย์เห็นว่าต้องกำหนดอย่างไร

"คุณต้องออกแบบกลไกว่าถ้าจะทำอย่างนี้ คุณจะให้เขายื่นเรื่องหรือถามศาลรัฐธรรมนูญตอนไหน ยื่นเรื่องแล้วเบรกยังไง ระงับกระบวนนี้นี้ยังไง เช่นถ้าส.ส.ยื่นเรื่องปุ๊บรัฐบาลต้องระงับ"

"แต่ประเด็นแรกต้องเขียนให้ชัดก่อน ไม่ใช่กว้างเป็นทะเลแบบนี้ กำหนดข้อยกเว้นก่อน ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้นก็ทำไปเลย อันไหนที่จะเข้าข้อยกเว้นที่เขียนไว้ก็ยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มันต้องเริ่มจากข้อยกเว้นที่จำกัดก่อน ถ้าต้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่องก็ตายสิครับ มันจะต้องเริ่มต้นจากตัวบทรัฐธรรมนูญที่มีความชัดเจนระดับหนึ่ง แต่ 190 ยังไปเขียนเรื่องความรับผิดของรัฐ ซึ่งวุ่นวายมาก เพื่อนผมที่เรียนกฎหมายระหว่างประเทศปวดหัวกับมาตรานี้ ในทางปฏิบัติจะงง คนปฏิบัติเขาบอกว่าแล้วจะทำอย่างไรล่ะ ต้องไม่ลืมนะว่าในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีหนึ่งท่านที่เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ที่บอกว่าไม่เข้า 190"

"ความจริงประเด็นเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ยังเป็นปัญหาเลย เพราะประเด็นที่กระทรวงการต่างประเทศสู้ เขาสู้ว่ามันไม่ใช่หนังสือสัญญา เขาไม่พูดถึง 190 เลย ในความเข้าใจของเขา joint communiqué ไม่ใช่หนังสือสัญญาเลยด้วยซ้ำ"

อาจารย์เห็นว่าเป็นสนธิสัญญาไหม

"โดยนัยของตัวความผูกพันมันก็เข้าได้ มันมีการแสดงเหตุการณ์ที่มีผลผูกพันในทางกฎหมายระดับหนึ่ง แต่ผมไม่ยืน100 เปอร์เซ็นต์เพราะผมไม่ได้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อนผมที่เรียนกฎหมายระหว่างประเทศเขาก็บอกว่าไม่เข้า แต่ที่ผมยืนยันได้อย่างหนึ่งชัดๆ เลยคือต่อให้เป็นหนังสือสัญญามันก็ไม่ได้เข้ามาตรา 190"

ไม่ได้ทำให้เสียดินแดน

"ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่กล้าชี้ ก็ทำไมไม่ชี้ไปล่ะครับว่า joint communiqué มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย คือท่านชี้ไม่ได้"

ถ้าทำอย่างนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องเรียกทุกฝ่ายมาไต่สวนให้ชัดเจน กรมแผนที่ทหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ หรืออาจจะต้องลงไปดูพื้นที่จริงให้ชี้แนวเขตกัน

"ถูกต้อง ประเด็นคือเป็นสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือไม่ นี่คือประเด็นใช่ไหมครับ"

"มันจึงเป็นหนังสือที่อาจจะ อาจจะมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย มันไม่ได้เป็นคำในรัฐธรรมนูญ ท่านเติมถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าเกินไปกว่าอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นคนที่ตีความรัฐธรรมนูญ ให้ความหมายรัฐธรรมนูญในกรอบอำนาจของตัว หรือได้กลายเป็นคนจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาเสียเองแล้ว โดยผลของการเพิ่มถ้อยคำตรงนี้ลงไป มันอยู่ในกรอบของการตีความหรือว่ามันเกินไปกว่านั้น"

"ผมก็สอนการตีความในทางกฎหมาย การตีความในทางแย้งถ้อยคำเป็นไปได้เหมือนกัน โดยดูจากเจตนาของตัวบทกฎหมายเป็นใหญ่ แต่ในที่นี้ศาลรัฐธรรมนูญอ้างลอยๆ อ้างเจตนา แต่ไม่ได้ดูหลักเลย ไม่ได้เริ่มต้นว่า 5 ประการนี้เป็นหลักทั่วไปหรือเป็นข้อยกเว้น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นข้อยกเว้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องหลัก เพราะถ้ามันเป็นหลักคุณก็ไม่ต้องเขียน 1 2 3 4 5 คุณต้องเขียนว่า ณ บัดนี้หนังสือสัญญาอะไรก็ตามที่มีลักษณะอย่างนี้ หนังสือสัญญาทุกประเภทที่ไทยไปทำผูกพันระหว่างประเทศ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา มันควรจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม"

คำว่าอาจจะ ไม่ควรมีในบทบัญญัติหรือการตีความกฎหมายใช่ไหม

"อาจจะเป็นได้เหมือนกันในบางกรณี คือเปิด แต่เขียนกฎหมายอย่างนี้ต้องระวัง เพราะเท่ากับเปิดให้คนตีความกฎหมายมีดุลยพินิจสูงมาก และเรื่องที่เป็นเรื่องทางการเมืองจะไม่เขียนหรอกครับ เพราะทำให้ยากแก่คนที่เป็นผู้ปฏิบัติ และเรื่องนี้จะส่งผลในทางกฎหมายอย่างที่พูดกันอยู่"

"มันเป็นการตีความกฎหมายต่างกัน กระทรวงการต่างประเทศเขาตีว่าไม่เข้า ศาลล่างยังตีความกฎหมายฉบับเดียวกันต่างกับศาลสูงสุดได้เลย ฉะนั้นต่อไปถ้าตีความกฎหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อน คุณก็เอาไปเข้าคุกกันหมด

ประหารชีวิตกันหมดเลยอย่างนั้นหรือ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผิดเพี้ยนกันไปได้ขนาดนี้ เขายังเถียงกันเรื่องตีความเลย แล้วไปดูศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ยืนยันเลยว่ามันมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต"

ผลในทางการเมืองคือรัฐบาลทำผิดขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่บอกว่าผิดหรือไม่ผิดในแง่ของการเสียดินแดน

"ธงคือบอกว่ารัฐบาลทำผิด ทำขัดกับขั้นตอนรัฐธรรมนูญ คือไม่เอาเข้าสภาฯ แต่พอหันมาดูเหตุผลว่าท่านให้เหตุผลอย่างไรมันไม่รับกันกับตัวผลคำวินิจฉัย เพราะว่าท่านไม่ได้ยืนยัน"

"อีกข้อหนึ่งท่านพูดอ้อมๆ ว่ามีผลกระทบต่อสังคมของประเทศ ผมเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่กล้ายืนยัน

เพราะตระหนักอยู่ว่าถ้าชี้ตรงนี้มันจะหาความแน่นอนไม่ได้เลยต่อไปข้างหน้า คนปฏิบัติเขาจะทำอย่างไร

ก็เลยไม่ได้เอาตรงนั้นมาใช้ ความปรารถนาดีคือท่านไม่ไปตีความเรื่องสังคม ไม่เอาเรื่องว่าอาจกระทบกับสังคมเข้ามาเป็นเหตุผล หรืออันนั้นอาจจะเบาไปก็ได้ในความรู้สึกของคน เลยต้องมาเอาเรื่องเขตแดน แต่มันก็ไม่ชัดอีก

ก็เลยใช้ว่าอาจจะ ไม่รู้เจตนาของท่านเหมือนกัน"

สมมติศาลรัฐธรรมนูญฟันธงว่าเสียดินแดน เขมรก็คงโต้ว่าไม่จริง

"ใช่ แต่การตีความอย่างนี้มันมีปัญหาระหว่างประเทศนะ เราบอกว่าเป็นหนังสือสัญญาไปแล้ว วันหน้าถ้าเขมรจะได้ประโยชน์ เขาก็เอามาอ้างอิงได้ว่าในทางกฎหมายเราถือเป็นหนังสือสัญญา ระบบกฎหมายของเรารับแล้วว่าเป็นหนังสือสัญญา"

"มันมีทุกมุม ที่น่าเศร้าคือเราอาจจะพูดถึงเหตุผลหรือคำวินิจฉัยน้อยไปในเวลานี้ สื่อก็ดูแต่ธง พอธงบอกผิด รัฐบาลทำผิด ก็ไปกันเลย ไปอ้างว่าเสียดินแดนโดยที่ยังไม่ได้ดูในคำวินิจฉัยเลย คำวินิจฉัยยังบอกว่าอาจจะ ถ้าตีความตามตัวอักษรคือไม่ได้เสียดินแดน"

2.คตส.-309

คำวินิจฉัยเรื่องประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 แต่งตั้ง คตส.และพระราชบัญญัติต่ออายุ คตส.ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ออกมาในช่วงกระชั้นชิด วรเจตน์ไม่ทันออกแถลงการณ์ค้าน จึงย้อนถามรวมกันไป

ในอันดับแรก วรเจตน์เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญควรตีความว่าประกาศ คปค.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพียงเท่านั้น โดยไม่ต้องอ้างมาตรา 309

นั่นคือศาลควรวินิจฉัยเพียงว่า ประกาศ คปค. ให้ คตส.ใช้อำนาจตรวจสอบ ไต่สวน สอบสวน โดยไม่ได้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีอันเป็นอำนาจทางตุลาการ และบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

แต่ตอนท้ายนอกจากอ้างมาตรา 36 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ศาลยังอ้างมาตรา 309 รับรองการกระทำด้วย

"ผมไม่เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญอ้าง 309 เพื่ออะไร เพราะ 309 เป็นมาตราอัปยศในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วิจารณ์กันมาตั้งแต่ตอน debate รัฐธรรมนูญ คนร่างรัฐธรรมนูญก็บอกว่า 309 เอาไว้รับรองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ผมยังถามว่าถ้าชอบด้วยกฎหมายคุณต้องไปรับรองทำไม ก็มันชอบอยู่แล้ว จะไปเขียนรับรองอีกทำไม

เว้นแต่คุณกลัวว่าการทำอะไรที่ผ่านมาจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย คุณเลยต้องเขียนให้มันชอบ”

“คุณเขียนใหม่ก็ได้ แต่ทำไมเขียนรับรองไปในอนาคตล่ะ และทำไมศาลรัฐธรรมนูญต้องเอามาอ้างอย่างนี้ หรือคุณกำลังบอกว่าประกาศ คปค.จริงๆ มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลยต้องเอา 309 มาปิด"

"เอามาทำไม ไม่เข้าใจ เพราะถ้าอ้าง 309 คุณก็ไม่ต้องอ้างเหตุผลอย่างอื่น ถ้าตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องอ้าง 309 แล้ว แต่นี่เอามาทั้ง 2 อันก็ขัดกันอยู่ในตัว เพราะ 309 ไม่ได้พูดเรื่องเหตุผล มาตรานี้เป็นเรื่องอำนาจล้วนๆ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"

"มาตรา 309 ไม่ควรนำมาใช้ มันทำลายระบบกฎหมาย ทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ การอ้าง 309 เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องวินิจฉัยอะไรเลยก็ได้ เพราะชอบด้วยกฎหมายไปทั้งหมดแล้วนี่ครับ ศาลรัฐธรรมนูญควรจะปฏิเสธหรือไม่อ้าง 309 เลยในเชิงการวินิจฉัย ignore มันไปเสียในระบบกฎหมาย"

คำวินิจฉัยประเด็นแรกที่เขาติงยังไม่เพียงแค่การอ้าง 309 แต่ยังมีการรับรองสถานะ คปค.ด้วย

"ที่สำคัญคือในทางนิติปรัชญา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนยันรับรองสถานะของคปค.100 เปอร์เซ็นต์เพราะอ้างคำปรารภในพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครอง วันที่ 20 ก.ย.2549 คำวินิจฉัยไม่ได้รับรองแต่เพียงตัวประกาศของคปค. แต่เอาคำปรารภในพระบรมราชโองการประกาศการแต่งตั้งหัวหน้า คปค.มาใช้เป็นฐานอีกด้วย"

วรเจตน์ชี้ให้ดูว่าศาลอ้างคำปรารภที่สรุปได้ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณก่อให้เกิดความขัดแย้งมีเหตุผลในการยึดอำนาจ 4 ข้อเอามาใช้เป็นฐานว่าทำไมจึงต้องมี คตส.ขึ้นมา

“มันเป็นการรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ protect หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ควรวินิจฉัยเฉพาะตัวประกาศ วัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างไร แต่วินิจฉัยอย่างนี้เท่ากับรับรองความชอบธรรมของการรัฐประหารอีกชั้นหนึ่ง รับรองโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะเอาคำปรารภมาอ้าง ศาลอาจจะมองว่าช่วยทำให้เห็นวัตถุประสงค์ แต่อีกมุมหนึ่งเท่ากับยอมรับความชอบธรรมของการแก้ปัญหาในทางการเมืองโดยกำลังทหาร"

"เวลาที่ศาลให้เหตุผลว่าประกาศ คปค.สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อย่างนี้เป็นเหตุผลที่พึงอ้าง แต่ไม่ควรไปนำเอาคำปรารภมาใช้เป็นฐาน แม้จะมีที่มาจากอันนั้นก็ตาม เพราะเท่ากับเราไปรับรองความชอบธรรมของการทำรัฐประหาร"

แล้วก็ไม่ควรอ้าง 309

"ถ้าลงความเห็นว่าประกาศตั้ง คตส.สอดคล้องรัฐธรรมนูญก็จบ ทำไมต้องเอา 309 มา backup อีกชั้นหนึ่งล่ะ

กลัวว่า 309 ไม่มีที่ใช้หรือ"

"ผมไม่แน่ใจว่าการอ้าง 309 ของศาลรัฐธรรมนูญจะมีนัยอะไรต่อไปในคดีที่ศาลฎีกาหรือเปล่า เพราะต่อไปก็จะมีการสู้คดีกัน มีการฟ้องเรื่องการกระทำของคตส.-ตัวการกระทำ ไม่ใช่ตัวประกาศ เป็นเรื่องกระบวนการสอบสวนวว่า คตส.ทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มันจะมีปัญหาบทบาทของมาตรา 309 เข้ามา ว่าจะรับรองตัวการกระทำด้วยไหม อันนี้ยังไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ารับรองอันนี้ด้วยคุณก็ไม่ต้องสู้คดีหรอก"

“การกระทำของ คตส.คุ้มครองด้วยหรือเปล่า ตัว act ตาม 309 เรารู้หรือว่าที่ผ่านมา คตส.ทำอะไรไม่ชอบด้วยกฎหมายบ้าง มันยังไม่เห็น แต่วันข้างหน้ามันจะเป็นคดี สมมติงบประมาณใช้จ่ายกันอย่างไร การใช้อำนาจสอบสวนเป็นอย่างไร"

"309 ส่วนหนึ่งเขียนให้คมช.ด้วยหรือเปล่า ระหว่างที่คมช.ไปทำอะไรในเวลานั้น งบประมาณที่ใช้จ่ายในเวลานั้น ที่ชัดเจนที่สุดครั้งแรกคือตอนที่ กกต.ยกมาอ้าง พอเหตุผลในทางหลักกฎหมายมันไปไม่ได้ เอา 309 ขึ้นมา เป็นยันต์วิเศษ มาตรานี้เป็นยันต์วิเศษ อย่ามายุ่งกับผมนะผมมี 309"

ตอนดีเบทรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครพูดเลยว่ามาตรา 309 เกี่ยวกับ คตส.

"ไม่มีเลย คน debate รัฐธรรมนูญไม่ได้พูด เรื่องนี้ ไม่มีใครปะทะตรงๆ เพราะเหตุผลทางหลักนิติศาสตร์แพ้กันชัดๆ เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว จะมีหลักเกณฑ์ซึ่งมาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ ยอมให้ act อันหนึ่งใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ บังคับให้รัฐธรรมนูญต้องไปรับรองความชอบไว้ล่วงหน้า ปิดปากคนที่ตีความรัฐธรรมนูญไปเลย"


"แต่เวลานั้นไม่มีใครพูดเรื่องนี้ ผมก็ถามตรงๆ ว่าเขียนอย่างนี้หมายถึงรับรองการกระทำที่ไม่ชอบใช่ไหม ก็ไม่กล้าตอบกันมาตรงๆ ก็ไพล่กันไปตอบเรื่องอื่น ก็ตอบมาตรงๆ สิว่า 309 มีเอาไว้เพื่อ คตส. เพราะเคยมีปัญหาตอนรสช. ก็ตอบมาสิ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้นไม่ได้หรือ ยังมีคนมาว่าผมอีกว่า อ.วรเจตน์ไปชี้ช่อง มาโทษผมอีก (หัวเราะ)"

คตส.ซ้อน ปปช.

วรเจตน์บอกว่าเขาพอจะยอมรับได้กับประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ตั้ง คตส. แต่ต้องเป็นช่วงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 หรืออย่างน้อย คตส.ต้องไม่ต่ออายุ

“ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือในช่วงที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว และมี ป.ป.ช.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทำไมจึงต้องมีอีกองค์กรหนึ่งมาคู่ขนานกับ ป.ป.ช.ใช้อำนาจซ้อน อันนี้ไม่ได้ตอบชัดๆ ถ้ามีองค์กรหนึ่งที่ทำในเรื่องทั่วไปอยู่แล้ว ยังมีองค์กรหนึ่งขึ้นมา มันหมายความว่าองค์กรนี้ทำเฉพาะเรื่อง"

ซึ่งขัดหลักกฎหมาย?

“ถูกต้อง ผมรับองค์กรพวกนี้ไม่ค่อยได้หรอกนะ แต่เอาละเมื่อทำแล้วก็ทำกันไป ตามที่คุณประกาศ 1 ปี แล้วเลิก ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ทำไมต้องต่ออายุ ซ้อนเข้ามากลายเป็นองค์กรแปลกปลอมในรัฐธรรมนูญ ความจริงต้องเลิกไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ด้วยซ้ำ แต่ถ้าอนุโลมกัน คุณก็ใช้ต่อมาตามประกาศ อีก 1-2 เดือนคุณต้องเลิก”

“23 ส.ค.ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันนั้น คตส.ควรต้องหยุด แล้วส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แต่เมื่อประกาศ คปค.เลยมาถึง ต.ค. เอาละถึง ต.ค.ก็ได้ ถามว่าทำไมต้องต่ออายุอีก แล้วก็จะเป็นจะตายกันตอนที่จะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 จะกระทบกับคตส. ก็เขาเขียนไว้ชัดว่าให้ส่งเรื่องให้ป.ป.ช. ต่ออายุแล้วทำไม่เสร็จก็ต้องส่งให้ป.ป.ช.อยู่ดี ยังจะมีคนดิ้นต่ออายุให้อีกในตอนท้าย มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นหลังจาก ส.ค.มามันซ้อนกันอยู่ครับ"

อาจารย์เห็นว่า คตส.ตอนรัฐประหารก็โอเค

"จริงๆ ไม่โอเค แต่ว่ายังไม่มีรัฐธรรมนูญถาวร มันก็พอหยวนๆ ตอนนั้นระบบยังไม่มีคนใช้อำนาจนี้ แต่พอระบบจริงๆ เกิดขึ้น วันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 วันนั้น คตส.กลายเป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญ แล้วซ้อนกับ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญรับรอง คตส.เป็นผลพวงจากประกาศ คปค. การตั้งก็ตั้งโดย fix ตัวคน ไม่มีกระบวนการได้มาซึ่งตัวคนโดยกระบวนการสรรหา"

"แต่เรื่องนี้คนสู้เขาไม่ได้สู้ประเด็นที่ผมพูด เขาสู้เรื่องการออก พ.ร.บ.ต่ออายุ เป็นการตั้งองค์กรตรวจสอบขึ้นใหม่ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการขยายเวลาให้ดำเนินการต่อได้เพราะตรวจสอบเรื่องที่ดำเนินการอยู่แล้ว จะรับเรื่องใหม่มาเพื่อสอบสวนเพิ่มอีกไม่ได้ การขยายเวลาให้ คตส.ก็จำกัดเพียง 9 เดือน ไม่ได้เนิ่นนานเกินสมควรแต่อย่างใด การตรา พ.ร.บ.นี้เป็นที่ประจักษ์แก่สุจริตชนทั่วไป ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นในทางที่มิชอบ พอเหมาะพอควรแก่กรณี จึงไม่มีส่วนใดไปขัดต่อกระบวนการยุติธรรม”

“เขาออกไปประเด็นนั้น แต่ปัญหาที่ผมบอกคือมันเป็นองค์กรที่ซ้อน มันทำได้ไหม"

วรเจตน์ชี้ว่า การดำรงอยู่ของ คตส.จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญตั้งแต่ประกาศใช้ ในประเด็นนี้ศาลจึงไปอ้างมาตรา 309 อย่างไรก็ดีในความเห็นของเขาไม่ได้แปลว่ายกเลิกมาตรา 309 แล้วคดีจะเป็นโมฆะหมด

“การกระทำอาจไม่เป็นโมฆะหมด แต่คุณต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. เพราะมันซ้อนกันตั้งแต่ ส.ค.เรื่อยมา คตส.จะต้องหมดไปเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้"

"ถ้าวินิจฉัยตามนี้ เป็นไปได้ว่าเสร็จจากช่วงแรกแล้ว การสอบสวนถัดจากนั้นอาจจะใช้ไม่ได้ แต่ก็ส่งให้

ป.ป.ช.ทำต่อได้ มันไม่ถึงกับเสียไปหมด แต่มันเข้าสู่ระบบรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ผมยกตัวอย่างง่ายๆ วันนี้ถ้าสภาฯออกกฎหมายตั้งองค์กรตรวจสอบ ทั้งที่มี ป.ป.ช.อยู่ จะมีใครบอกไหมว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ใครๆ ก็ต้องบอกว่าขัด"

ประเด็นนี้อาจารย์มองต่างกับทั้งพันธมิตรและรัฐบาลที่คิดว่ายกเลิก 309 แล้วทักษิณหลุดหมด

"ไม่เกี่ยวครับ มันอาจจะมีปัญหานิดเดียว มากสุดคือให้ส่ง ป.ป.ช แล้วดำเนินการต่อ”

“การกระทำของ คตส.ถูกรับรองไปทีหนึ่งแล้ว โดยมาตรา 36 รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่พอรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศ คตส. หมดอำนาจ มันมีปัญหาตรงนี้ ที่จะต้องไป review ดูว่าช่วงเวลานั้นต้องส่งต่อให้ ป.ป.ช.

คุณไม่มีอำนาจทำตรงนี้เพราะเป็นองค์กรซ้อนกันตั้งแต่ ส.ค.แต่ไม่ใช่โมฆะทั้งหมด ช่วงแรกได้ทำมาแล้วสิ่งที่ทำหลังจากนั้น ให้ป.ป.ช.รับรองใหม่หรือทำใหม่ก็ตาม เพื่อให้เป็นการกระทำของ ป.ป.ช. ที่รับช่วงต่อมา”

“ยกเลิก 309 วันนี้ก็ไม่มีปัญหาเว้นแต่จะกระทบ คมช.หรือเปล่า คือถ้าทำอะไรชอบก็ไม่เป็นปัญหา เหลือแต่การกระทำโดยไม่ชอบ ซึ่งไม่ควรบอกว่าชอบเพราะยก 309 มา มันทำให้ตรวจสอบไม่ได้”

เราบอกว่าเซอร์ไพรส์ที่เขาไม่คิดว่ายกเลิก 309 แล้วคดีจะหลุดหมด

“คิดอย่างนี้พอไปกันได้ ประนีประนอม เพราะถ้าคิดแบบล้างหมด ต้องย้อนไปก่อน 19 ก.ย. ไม่รับรัฐประหารเลยแม้แต่น้อย มันทำไม่ได้เพระมันเกิดการกระทำบางอย่างตามมา มันย้อนกลับไปตรงจุดนั้นยาก ก็ต้องทำยังไงให้

ระบบมันเดิน เมื่อเดินมาถึงประชมติรัฐธรรมนูญผ่านคุณต้องหยุด แล้วให้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบให้หมด อย่างนี้พอจะสอนกฎหมายกันต่อไปได้โดยไม่รู้สึกผิดในใจมากนัก เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินเราก็ยอมรับ ก็ว่ากันตามระบบ ถ้าว่าในเชิงของ fact มันต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร คุณต้องเดินไปสู่การเลือกตั้ง เพราะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งแล้ว แต่มันย้อนไปไม่ได้ในทางความเป็นจริง เราก็ต้องตีความกฎหมายให้ไม่ขัดกับหลักนิติรัฐให้มากที่สุด และไม่เอา 309 มาเป็นยันต์สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเราจะสอนกฎหมายกันไม่ได้ โดยตัวเนื้อมันขัดกับสปิริตของรัฐธรรมนูญ ต้องตีความกันแบบนี้”
Read more ...

คุยกับธงชัย วินิจจะกูล : “การคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณชนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้”

9/12/52


โดย กองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารฟ้าเดียวกัน
ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2551

แม้จะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญต่อสังคมการเมืองไทยมหาศาล กล่าวเฉพาะในแวดวงการศึกษาก็จะพบว่ามีการผลิตงานเขียนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยออกมามากมายมหาศาลเช่นกัน ทว่างานเขียนเหล่านั้นกลับเป็นไปในทิศทางเดียว ขณะที่การศึกษาประเด็นดังกล่าวอย่างหลากหลายและรอบด้านแทบไม่เคยปรากฏ ยังไม่รวมถึงการเสนอข่าวสารหรือการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 ซึ่งปีนี้จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2551 มีการบรรจุหัวข้อสัมมนาเรื่อง “พระมหากษัตริย์: องค์ประกอบข้างเคียง, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหนังสือหนึ่งเล่ม” (The Monarchy : Accessories, Lèse Majesté, and One Book) เป็นส่วนหนึ่งของงานดังกล่าว ในวงสัมมนานั้นมีการพูดถึงตั้งแต่เรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, ภาพลักษณ์ของกษัตริย์, องคมนตรี และหนังสือเล่มร้อนแรงที่สุดแห่งปี The King Never Smiles

งานดังกล่าวได้รับความสนใจตั้งแต่ก่อนเริ่มเมื่อผู้จัดการออนไลน์ได้กล่าวหาว่างานนี้เป็นการจัดขึ้นเพื่อ “บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์” (ดูใน “ผนึกกำลังต่อต้านการทำลายชาติ”, 5 ธันวาคม 2550) ขณะที่สื่อมวลชนก็รายงานข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตางานนี้อย่างใกล้ชิด แต่ทว่างานดังกล่าวก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

-ฟ้าเดียวกัน- ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ในฐานะผู้ประสานงาน (organizer) จัดงานสัมมนาดังกล่าวมาพูดคุยในประเด็นที่ว่าด้วยสถานภาพไทยศึกษาจากสายตา “คนนอก”, การศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ข้อวิจารณ์ต่อหนังสือ The King Never Smiles ธงชัยย้ำว่าทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อต้องการบอกว่า การคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณชนในสังคมไทยเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดกันอย่างวิพากษ์วิจารณ์

ฟ้าเดียวกัน : ในฐานะที่อาจารย์ติดตามความเคลื่อนไหวของทั้งโลกวิชาการภาษาไทยกับฝรั่ง คิดว่าในปัจจุบันสองโลกวิชาการนี้เป็นอย่างไร แล้วความแตกต่างของสองโลกวิชาการส่งผลอะไรกับการศึกษาสังคมไทยบ้าง

ธงชัย วินิจจะกูล : ฝรั่งศึกษาเรื่องไทย จะดีจะแย่ยังไง ก็เป็นการศึกษามิตรร่วมโลกที่เขาเห็นว่า น่าสนใจและมีอารยธรรมต่างจากตน ดังนั้นยังไงๆ ก็ไม่ใช่การศึกษาเรื่องของตนเองอย่างที่คนไทยศึกษาเรื่องไทย ผมคิดว่านี่เป็นความแตกต่างมูลฐานของไทยศึกษาในโลกวิชาการของไทยกับของฝรั่งหรือที่อื่นๆ มีผลต่อประเด็นความสนใจ ท่าทีในการศึกษา การเมืองของวิชาการ และอีกหลายแง่ ความต่างอีกอย่างก็คือ โลกวิชาการของไทยกับประเทศอื่นมีความแตกต่างกันมากพอควร มีภูมิหลังความเป็นมา จารีตธรรมเนียม กิจกรรม มาตรฐาน คุณภาพ และอีกมากมายหลายแง่ที่ต่างกัน มีผลต่อทั้งปริมาณ คุณภาพของงานวิชาการ มีผลต่อวิถีชีวิตของคนทำงานวิชาการ ความต่างอีกอย่างคือฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทยต่างกัน งานวิชาการล้วนแล้วแต่สร้างสมบนฐานความรู้ที่มีอยู่ ฐานที่ต่างกันจึงมีผลต่อทิศทางของวิชาการไม่เหมือนกัน

ตัวอย่างง่ายๆ คือ การศึกษาเรื่องไทยในต่างประเทศ แยกไม่ค่อยได้จากการรู้จักทั้งภูมิภาค การเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคหรือในโลกที่มีนัยให้เปรียบเทียบกันได้ แต่การศึกษาเรื่องไทยในประเทศไทยมักตัดขาดจากมิติของภูมิภาคและไม่มีนัยเปรียบเทียบ ผลก็คือปัญหาที่สนใจไม่ตรงกันเสียทีเดียวระหว่างคนละโลกวิชาการ คำถามต่อปัญหานั้นไม่ค่อยจะตรงกัน วิธีการศึกษาและคำตอบที่แสวงหาจึงมักต่างกัน องค์ความรู้จึงไม่ค่อยจะเหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในสังคมไทย จนกลายเป็นประเด็นอื้อฉาว หรือ “ขายได้” แต่ในโลกวิชาการภาษาอังกฤษ ประเด็นนี้ไม่มีผลต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยเท่าใดนัก ไม่ว่าจะสรุปผลออกมาอย่างไรก็ตาม

ความต่างเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าฝ่ายหนึ่งก้าวหน้าอีกฝ่ายหนึ่งล้าหลัง ไม่จำเป็นเสมอไป อาจเป็นอย่างนั้นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ตัวอย่างเช่น การศึกษาเรื่องสยามเผชิญหน้ากับลัทธิล่าอาณานิคม สยามเป็นกึ่งเมืองขึ้น สยามเป็นนักล่าอาณานิคม ประเด็นพรรค์นี้โลกวิชาการภาษาอังกฤษไปไกลกว่าภาษาไทย แต่พอดูเรื่อง 2475 เรื่องบทบาททางการเมืองของฝ่ายขุนนางนิยมเจ้า เราจะพบว่างานของคนไทยภาษาไทยน่าตื่นเต้นกว่าในโลกภาษาอังกฤษมาก

การศึกษาเรื่องที่ถือกันว่าเป็นองค์ประกอบของความเป็นไทย ความเป็นตัวตนของเราเองจะยิ่งเห็นความแตกต่างชัดเจน อย่างเช่นเรื่องพุทธศาสนาในสังคมไทย เรื่องชาตินิยมไทย เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น หลายคนชอบพูดว่าฝรั่งจะมาเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ดีกว่าคนไทยได้ยังไงกัน คำกล่าวพรรค์นี้ก็มีส่วนถูกต้องอยู่ คือเหมือนเราเป็นปลาว่ายอยู่ในอ่างใบหนึ่ง คนที่ไม่ได้เป็นปลาอยู่ในอ่างใบเดียวกัน จะมารู้จักชีวิตในอ่างของเราได้ดีกว่าเราคงเป็นไปได้ยาก แต่ความอ่อนแอของความรู้ของเราก็อยู่ตรงที่ความเข้มแข็งนั่นแหละ คือรู้จักชีวิตในอ่างแบบปลาอยู่ในอ่างแค่นั้นแหละ เราจึงมักไม่ค่อยเข้าใจชาตินิยมของตัวเอง การศึกษาเรื่องพุทธศาสนาในสังคมไทยจึงติดกรอบที่ค่อนข้างจำกัด คนไทยเขียนถึงพระมหากษัตริย์เหมือนปลาที่ไม่เคยรู้จักชีวิตแบบอื่นที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในน้ำ และเห็นว่าชีวิตท่ามกลางน้ำในอ่างใบนั้นวิเศษที่สุด

ฟ้าเดียวกัน : ความแตกต่างของโลกวิชาการภาษาไทยกับฝรั่งนี้เกี่ยวเนื่องกับกรอบทฤษฎีด้วยหรือไม่

ธงชัย วินิจจะกูล : แน่นอน กรอบคิดทฤษฎีย่อมต่างกันเพราะความต่างทั้งหลายอย่างที่ว่ามานั้นเป็นภูมิหลัง ปัญหาอีกอย่างในเรื่องกรอบคิดทฤษฎีก็คือ เรามักถือว่าตัวเองรู้จักสังคมไทยดีกว่า ดีมากๆ จนถึงรายละเอียดจิปาถะ จนมักคิดว่าทฤษฎีอะไรก็ใช้กับสังคมไทยไม่ได้ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่มีทฤษฎีที่ไหนในโลกอธิบายข้อเท็จจริงได้หมดหรอก ไม่ว่าที่ไหนก็เถอะ แต่กลับจำเป็นมากในการอธิบายประเด็นที่ซับซ้อนใหญ่โตเกินกว่าความรู้แบบสามัญสำนึก เราไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของกรอบคิดทฤษฎีหรือเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเข้าใจข้อเท็จจริงที่กระจัดกระจายมากมายเต็มไปหมด ผลในข้อนี้ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถหลุดพ้นกรอบทฤษฎีไปได้ เพราะเราหนีไม่พ้นการเอากรอบคิดบางอย่างมาสร้างความหมายให้กับข้อเท็จจริงที่มีอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด แต่กลายเป็นว่าเราไม่ค่อยตรวจสอบหรือระมัดระวังกรอบคิดทฤษฎีที่เราใช้ บ่อยครั้งใช้อย่างไม่รู้ตัว กลายเป็นสามัญสำนึกด้วยซ้ำไป

ฟ้าเดียวกัน : ถ้าเช่นนั้นหนังสือ Siam Mapped ของอาจารย์ก็ถือเป็นผลผลิตของกรอบคิดฝรั่งด้วยหรือไม่ จึงทำให้แตกต่างจากงานศึกษาในประเด็นเดียวกันก่อนหน้านั้นในโลกภาษาไทย

ธงชัย วินิจจะกูล : ใช่ ใครจะบอกว่าผมได้ความคิดมาจากการอ่านงานของฝรั่งผมก็ไม่ปฏิเสธ การศึกษาเรื่องไทยที่เราเชื่อกันว่าเป็นแบบไทยๆ เอาเข้าจริงก็เป็นผลผลิตของกรอบคิดฝรั่งเช่นกัน เยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งที่รู้ตัวและใช้ได้ดี และที่ไม่รู้ตัวและใช้อย่างหละหลวม แถมยังอ้างว่าไม่ได้อิทธิพลฝรั่งเสียอีก ความรู้ที่อ้างว่าเป็นแบบไทยๆ เอาเข้าจริงเป็นผลผลิตของการส่งผ่านแลกเปลี่ยนความรู้กับฝรั่งมาแต่ไหนแต่ไรเป็นร้อยปีแล้ว

ในขณะที่ผมเห็นว่ามีความต่างกันมากพอควร ระหว่างโลกวิชาการและความรู้ที่ผลิตในสังคมไทยกับที่อื่นอย่างที่พูดไปแล้ว ผมกลับเห็นว่า ผลของการแบ่งว่าใคร อย่างไร เป็นฝรั่ง เป็นไทย อย่างที่เข้าใจกัน มักจะผิดมากกว่าถูก และกลายเป็นแค่วาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ความคิดของตัวเอง และลดความน่าเชื่อถือของคนอื่นแค่นั้นเอง เป็นโวหารมากกว่ามีสาระอะไรจริงๆ จังๆ

เอาเข้าจริงผมกลับคิดว่าความคิดของผมมีที่มาจากสังคมไทยมากๆ แต่อาจจะไม่ใช่ในแบบที่คนอื่นเป็น คนที่มักกล่าวว่าผมเป็นฝรั่งมากไป มักจะดูเอาง่ายๆ จากการที่ผมอยู่ต่างประเทศครึ่งชีวิต ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยรู้จักอากาศนอกประเทศไทยเลย ตลอดครึ่งแรกของชีวิต ผมโดนโปรแกรมโดยสังคมไทยไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผมอาจโดนหล่อหลอมโดยสังคมไทยต่างจากคนอื่น ตรงนี้ต่างหากที่ปัจเจกบุคคลมีสิทธิที่จะแตกต่างกันได้ท่ามกลางปัจจัยที่ใกล้เคียงกัน ความต่างตรงนี้แหละที่ทำให้ผมมักถูกกล่าวหาว่าไม่ค่อยเป็นไทย สังคมไทยไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยยอมรับการที่คนในสังคมตัวเองเป็น “คนนอก” คือเกิดระยะห่างที่มองกลับมาดูตัวเอง สังคมตัวเอง ต่างไปจากปลาอยู่ในอ่าง เป็นระยะห่างทางปัญญามากกว่าในเชิงกายภาพ มีคนอย่างนี้อยู่เยอะแยะไป แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ทั่วๆ ไป ก็เลยโดนผลักให้กลายเป็นอื่น เป็นฝรั่งไปเสียเลย ผมรู้ตัวและยอมรับว่าตัวเองเป็นคนนอกในแง่นี้ ซึ่งเป็นผลผลิตของสังคมไทยเอง เป็นผลผลิตของภูมิหลังประสบการณ์ที่ผมได้รับจากครึ่งแรกของชีวิตในสังคมไทยเอง ดังนั้นแทนที่ผมจะโดนโปรแกรมให้เป็นเหมือนคนอื่นๆ กลับเกิดระยะห่างทางปัญญาให้ผมมองสังคมไทยจากมุมมองที่ไม่ใช่ปลาอยู่ในอ่าง ผมขอย้ำนะครับว่านี่ไม่ใช่กรณีประหลาด มีคนแบบนี้อีกมากมายในดีกรีต่างๆ กัน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในโลกทางปัญญา เพราะระยะห่างดังกล่าวเป็นเรื่องทางปัญญามากกว่าเรื่องกายภาพ

“ช้างน้อย” เคยเรียกผมเป็น “ผี” คืออยู่ในสังคมไทยเดียวกันกับคนอื่นๆ แต่เหมือนอยู่คนละภพภูมิ คุณจะจัดประเภทตามแบบไตรภูมิหรือตามแบบจิตวิทยาก็เชิญ สิ่งที่เหมือนกันคือ สังคมไทยหล่อหลอมให้ผมมีระยะห่างในการมองย้อนกลับมาดูความเป็นไทย ชาตินิยมไทยและอะไรไทยๆ ทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยปลอดพ้นจากอิทธิพลของความเป็นไทย ชาตินิยมไทยเหล่านั้นเลย จึงต่างจากฝรั่งที่อยู่นอกสังคมไทยจริงๆ ที่มาศึกษาเรื่องไทยตรงนี้แหละ

ผมคิดว่าสภาวะทางปัญญาแบบนี้ต่างหากที่มีส่วนสำคัญ เป็นฐานของความคิดของผมในการศึกษาเรื่องไทย หนังสือหนังหากรอบคิดทฤษฎีต่างๆ เป็นแค่เครื่องมือที่ “คนนอก” อย่างผมหยิบฉวยมาใช้ ไม่ต่างจากที่นักวิชาการคนไทยอื่นๆ ก็ฉวยใช้ แต่ใช้ในแบบของเขา ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องกรอบคิดทฤษฎีฝรั่งมากเท่ากับเรื่องตำแหน่งแห่งที่ทางปัญญาที่ใช้มองสังคมไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องกอดคัมภีร์ฝรั่งไม่รู้จักสังคมไทยอย่างที่กล่าวหากันอย่างมักง่าย ไร้สาระ แต่เป็นเรื่องของการคิดมาจากมุมคนละแบบ ปัญญาชนไทยไม่น้อยที่คิดแบบปลาอยู่ในอ่างก็เป็นอย่างนี้แหละ ชอบผลักไสความแตกต่างให้กลายเป็นฝรั่งต่างชาติไปเสียเลย ง่ายดี

ผมเองรู้ตัวและพอใจกับการมีระยะห่างทางปัญญากับสังคมไทย ยิ่งบวกกับระยะห่างโดยประสบการณ์และกายภาพยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ เพราะสภาวะแบบนี้ช่วยให้ผมมีคำถามกับสังคมฝรั่งจากมุมมองของคนนอกได้แทบทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง และมีคำถามกับสังคมไทยจากมุมมองของคนนอกไปอีกแบบได้ทุกวัน วันละหลายๆ ครั้งเช่นกัน ผมกลับดีใจว่าผมโตมากับสังคมไทยมากพอ มีประสบการณ์ที่ต้องถือว่าหาได้ยาก ซึ่งหล่อหลอมฐานทางปัญญาของผมในแบบที่อาจจะต่างจากอีกหลายๆ คน แล้วยังมีโอกาสได้มาอยู่ท่ามกลางเงื่อนไขทางปัญญาอีกแบบที่ช่วยให้ผมสามารถคิดข้ามวัฒนธรรมเป็นชีวิตประจำวัน ผมเคยคิดจะเขียนเรื่องนี้หลายครั้ง เก็บโน้ตไว้เต็มไปหมด ทั้งเรื่องโลกวิชาการข้ามวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมองจากข้ามวัฒนธรรม ไปจนถึงชีวิตประจำวัน การเมือง และสารพัดเรื่องจากมุมมองข้ามวัฒนธรรม แต่ลงท้ายผมไม่ได้เขียนสักที เพราะแค่นี้ก็โดนหาว่าเป็นฝรั่งไม่รู้จักสังคมไทยมากพอแล้ว

ออกนอกเรื่องมายืดยาว ขอตอบข้อนี้ปิดท้ายว่า เพื่อนฝรั่งที่ศึกษาเรื่องไทยมา 30 กว่าปีแล้ว แต่งงานกับคนไทย อยู่เมืองไทยปีละ 2-3 เดือน เคยบอกผมว่า Siam Mapped มีรสชาติ (flavor) ที่รู้ได้ชัดๆ ว่าคนเขียนไม่ใช่ฝรั่ง

ฟ้าเดียวกัน : ในการสัมมนาไทยศึกษานานาชาติที่ผ่านมา ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้ประสานงานจัดวงสัมมนาเรื่อง “The Monarchy: Accessories, Lèse Majesté, and One Book” ซึ่งมีทั้งการนำเสนอบทความวิชาการ การเสวนาเกี่ยวกับหนังสือ The King Never Smiles ถ้าให้ประเมินอาจารย์คิดว่าปัจจุบันการศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์มีความก้าวหน้าหรือจุดเปลี่ยนอะไรบ้าง และจุดเปลี่ยนนั้นๆ มีความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องไทยอย่างไร

ธงชัย วินิจจะกูล : ฝรั่งที่ศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็มี แต่ไม่มาก อาจจะมีเรื่องความกลัวไม่ได้วีซ่าด้วย แต่เราคงต้องย้อนกลับไปถามว่ามีฝรั่งทำเรื่องไทยสักกี่คน ประเด็นเกี่ยวกับเมืองไทยมีตั้งมากมาย แต่คนที่เขียนเรื่องนี้เอาเข้าจริงมีอยู่ไม่เยอะ สังคมไทยเองต่างหากที่มีการเขียนเรื่องพระมหากษัตริย์เยอะมาก แต่เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเยอะในแบบไหน งานที่ทำในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งน้อยมาก นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่า การศึกษาเรื่องไทยแบบไทยๆ แบบปลาอยู่ในอ่าง ไม่ได้แปลว่าเข้าท่าเสมอไป เพราะเราอยู่ในกรอบที่ฝังหัวจนไม่เคยโดนท้าทาย ต่อให้มีผู้วิจารณ์เราก็พยายามแก้ตัวแก้ต่างหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลใหม่ ความคิดใหม่ เพื่อลงกรอบเดิมให้ได้ การจัดวงคุยครั้งนี้ขึ้นมาเพราะผมคิดว่าสังคมไทยน่าจะคุยกันได้ในเรื่องนี้ คุยกันดีๆ เป็นเรื่องเป็นราว

แน่นอนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นปัญหา ซึ่งในความเห็นผมกฎหมายนี้ควรจะยกเลิกและเปิดให้คุยเรื่องนี้กันได้ แต่แม้ว่ากฎหมายหมิ่นฯ ยังคงอยู่อย่างปัจจุบันนี้ เราก็ยังคุยเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราวได้มากกว่าที่เราคิด จุดประสงค์ของการจัดวงครั้งนี้ขึ้นมาก็เพื่อบอกว่า การคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณชนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ถึงแม้จะมีข้อจำกัด แต่ก็ยังมีเรื่องให้คุยกันมากกว่าที่บอกว่าเราพูดไม่ได้ หมายความว่าเรามีสิทธิและมีช่องทางจะพูดเรื่องนี้มากขึ้น และแน่นอนนี่คือการส่งสัญญาณว่าสังคมไทยควรจะต้องคุยกันเรื่องนี้ คุยเรื่องนี้กันอย่างรับผิดชอบ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์กับสังคมไทยในระยะยาวมากกว่า ผมเชื่อว่ายิ่งคุยกันมากขึ้น จะยิ่งช่วยให้สังคมไทยตระหนักว่ากฎหมายหมิ่นฯ เป็นอุปสรรค เป็นเรื่องไม่เข้าท่า และควรยกเลิกซะ การคุยกันเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องจำเป็นมากๆ เร่งด่วนด้วย เพื่อให้สังคมไทยรู้จักคิดรู้จักปรับตัวท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไป แทนที่จะหลอกตัวเองอยู่ร่ำไปแล้วรอวันที่จู่ๆ ก็เกิดปัญหาที่ตั้งตัวรับไม่ทัน กฎหมายหมิ่นฯ เป็นกฎหมายที่ก่อปัญหาต่ออนาคตของสังคมไทย

ทำไมถึงอยากจัดให้มีการคุยเกี่ยวกับหนังสือ The King Never Smiles ของพอล แฮนด์ลีย์ ก็เพราะผมเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ควรที่จะมาพูดคุยถกเถียง ไม่ใช่มาห้าม ไม่ต้องกลัวว่าคนไทยจะรักเคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์มากขึ้นหรือน้อยลงเพียงเพราะหนังสือเล่มเดียว เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นกรรมของสังคมไทย ที่หนังสือเล่มเดียวสามารถจะก่อผลได้ขนาดนั้น ผมคิดว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะคุยถึงหนังสือเล่มนี้ อาจมีผลไม่พึงประสงค์บ้างก็เป็นเรื่องปกติของการถกเถียงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จะดีกว่าถ้าสังคมไทยเผชิญกับเรื่องพวกนี้ เพื่อจะรู้จักปรับตัวรู้จักเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น แทนที่จะเอาแต่ปกปิดกัน หรือทำให้คนกลัว ซึ่งไม่ช่วยให้สังคมไทยมีวุฒิภาวะ

นี่คือจุดประสงค์ของการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ การศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในบ้านเรามีเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ที่ใช้ได้มีไม่มาก และโดยมากก็เป็นการยืนยันกรอบเดิมๆ อย่างเป็นวิชาการ หรืออย่างมีเหตุมีผลหนักแน่นกว่าการสรรเสริญเยินยอตามธรรมเนียมที่มีอยู่อย่างดาษดื่น แวดวงวิชาการมีการพูดคุยเรื่องนี้น้อยเกินไป ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควรจะพูดกัน อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้ให้เห็นว่าในวงการนิติศาสตร์แทบไม่มีการถกเถียงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้สะท้อนถึงการไม่รับผิดชอบของนักวิชาการ ทั้งที่คุยกันได้ว่ากฎหมายนี้ควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร แต่กลับไม่มีการคุยกันเลย

ฟ้าเดียวกัน : ในการอภิปรายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวว่าเหตุที่วงวิชาการไทยไม่ศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์มี 2 ประเด็นคือ หนึ่ง กลัวเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ อีกประเด็นหนึ่งคือ วงการไทยศึกษาไม่คิดว่าเป็นประเด็นหลักของการศึกษาเรื่องไทย อาจารย์นิธิบอกว่า The King Never Smiles มีคุณค่ามหาศาลต่อการศึกษาเรื่องการเมืองไทย เพราะเป็นการท้าทายต่อกรอบคำอธิบายเดิมๆ ที่ใช้กันมานาน อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่

ธงชัย วินิจจะกูล : ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิในข้อนี้ และเป็นประเด็นสำคัญมาก สถาบันกษัตริย์เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นไปทางสังคมมากมหาศาล แต่เรากลับเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง และยกออกไปไม่นำมาพิจารณาในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง อย่างนี้ถ้าไม่ใช่ความมืดบอดทางปัญญา ก็ต้องเรียกว่ารู้แต่กลับไม่รับผิดชอบ

สังคมไทยปล่อยให้ชีวิตของสังคมผูกติดกับความเป็นไปของสถาบันกษัตริย์มากเกินไป เรื่องนี้ก็นับว่าแย่มากแล้ว แต่ซ้ำกลับหลอกตัวเอง ไม่ศึกษา ไม่ยอมให้มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีการยกระดับวุฒิภาวะให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง อันนี้แย่มากๆ และอันตราย สังคมที่มีวุฒิภาวะพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงคือสังคมที่เปิดให้มีการถกเถียงกัน คนจะค่อยๆ ปรับความคิดปรับตัว รับรู้สิ่งที่ดีสิ่งที่ไม่ดีแล้วตัดสินเอง ผมไม่เชื่อว่าการเปิดให้คุยเรื่องนี้กันแล้วสังคมไทยจะเปลี่ยนความคิดอย่างมหาศาลในเวลาชั่วข้ามคืน

ฟ้าเดียวกัน : ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง มองจุดแข็งของหนังสือ The King Never Smiles เล่มนี้อยู่ตรงไหน

ธงชัย วินิจจะกูล : จุดแข็งคือมันเปิดประเด็นที่สังคมไทยไม่กล้าพูด ไม่ยอมพูด แต่เอาเข้าจริงแฮนด์ลีย์ไม่ใช่คนแรกที่ทำ คนไทยซุบซิบนินทาเรื่องแบบนี้ทุกวี่วัน แต่ไม่เขียนไม่ถกเถียงกันให้เป็นเรื่องราว ทั้งเพราะกฎหมายหมิ่น ทั้งเพราะไม่พยายามทำ ไม่อยากลงแรงหาเรื่องเดือดร้อน

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ ว่าหนังสือเล่มนี้พยายามเสนอกรอบอธิบายต่างไปจากเดิมที่นักวิชาการไทยทำ เป็นกรอบที่นักวิชาการไทยไม่คิด หรือคิดแต่ไม่สามารถทำออกมาได้ หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ประมวลข่าวลือซุบซิบนินทาอย่างที่หลายคนกล่าวหา แต่เป็นการเสนอกรอบความเข้าใจบทบาทของราชสำนัก กลุ่มนิยมเจ้า พอล แฮนด์ลีย์ พูดถึงเครือข่ายฝ่ายเจ้า (network monarchy) แม้เขาจะไม่ได้ใช้คำนี้โดยตรงดังที่ดันแคน แมคคาร์โก [1] เสนอไว้ก็ตาม หนังสือเล่มนี้พูดถึงกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทางการเมือง เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และมีบทบาทในการเมืองไทย ถ้าสังคมเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองก็ต้องรู้ด้วยว่าฝ่ายเจ้าเหล่านี้ไม่ได้อยู่เหนือการเมืองเลย เขาเกี่ยวข้องกับการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร อาจารย์นิธิไม่ได้ฟันธงว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับหนังสือนี้ แต่เปิดประเด็นให้คุยกันว่าการวิเคราะห์โดยใช้กรอบนี้เข้าท่าไหม จุดอ่อนจุดแข็งอยู่ตรงไหน ซึ่งก็เป็นจุดประสงค์หนึ่งที่จัดวงพูดคุยนี้ขึ้นมา

ย้อนกลับไปอีกวงสัมมนาที่ อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล และเดวิด สเตร็กฟัสส์ เสนอเรื่อง “The Lèse Majesté Law in Thailand: Its Prosecution, Victims and Implications of Its Use on Politics and History” ผมชอบมากที่วิทยากรทั้งสองท่านสรุปว่ามีทางออกเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 4 ข้อ [2] ใน 4 ข้อนั้น เขาไม่ได้บอกว่าข้อไหนเป็นทางออก เขาบอกว่าสังคมไทยควรจะคุยกันว่าใน 4 เรื่องนี้จะเอาอย่างไร แต่ละเรื่องก็คุยกันได้จมเลย ส่วนการตัดสินว่าจะเลือกข้อไหนก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องหาคำตอบกันเอาเอง

หนังสือของพอล แฮนด์ลีย์ ถือว่าเปิดกรอบมุมมองต่อเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่เคยพูดกันมาบ้างออกมาอย่างเป็นชุด มีข้อมูลสนับสนุน ผมคิดว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ดีกว่าหนังสือที่เขียนมาก่อนหน้า แม้กระทั่ง The Revolutionary King ของวิลเลียม สตีเวนสัน [3] ซึ่งมีโอกาสไปสัมภาษณ์ในหลวง บางคนคิดว่านั่นเป็นจุดแข็ง แต่ผมว่าหนังสือไม่ค่อยมีคุณภาพ ไม่มีสาระสำคัญที่น่าสนใจเลย ถึงแม้พอล แฮนด์ลีย์ไม่ได้สัมภาษณ์ ผมกลับคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีสาระให้ขบคิดอะไรใหม่ๆ ดีกว่าหนังสือของสตีเวนสันมากมาย

ฟ้าเดียวกัน : แล้วจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้มีอะไรบ้าง

ธงชัย วินิจจะกูล : ผมคิดว่าบทแรกๆ ที่อธิบายความคิดเรื่องธรรมราชาโดยย้อนกลับไปสุโขทัยโน่น อธิบายไม่ดีเท่าไหร่ แถมยังอธิบายแบบประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเปี๊ยบเลย ความคิดธรรมราชามีมาแต่โบราณ แต่ไม่ใช่อย่างที่ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอธิบาย การอธิบายแบบนั้นเป็นผลผลิตของภูมิปัญญาฝ่ายเจ้าสมัยใหม่ ที่ก่อรูปก่อร่างราว 150 ปีมานี้เอง และค่อนข้างลงตัว 60 ปีมานี้เอง ไม่ใช่เรื่องโบร่ำโบราณสมัยสุโขทัย

ผมชอบการอธิบายช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก แต่ช่วงหลังของหนังสือเอาข่าวลือต่างๆ มาเล่าประกอบมากเหลือเกิน ซึ่งหลายแห่งก็ไม่จำเป็น เพราะสามารถสร้างข้อถกเถียงได้โดยไม่ต้องใช้ข่าวลือพรรค์นั้น แต่ผมต้องยอมรับว่า เขาไม่ได้ใช้ข่าวลือเป็นฐานการวิเคราะห์ แต่ใช้อย่างยอมรับได้ด้วยซ้ำไป คือระบุชัดเจนว่าเป็นข่าวลือ รายละเอียดเชื่อถือไม่ค่อยได้ แต่สะท้อนอะไร ซึ่งมีข้อเท็จจริงสนับสนุนต่างหากอย่างไร

ข้อวิจารณ์ของ แอนเนต แฮมิลตัน ในการสัมมนาก็น่าคิด คือ แฮนด์ลีย์ทำให้คนไทยดูเป็นพวกล้าหลังงมงายกับสถาบันกษัตริย์อย่างไม่น่าเชื่อ ตรงนี้คุณคิดเอาเองแล้วกันว่าแฮนด์ลีย์เป็นฝรั่งที่ดูถูกคนไทย หรือเขาพูดถูกเพราะคนไทยเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อที่ดูเหมือนงมงายก็ต้องการคำอธิบายว่าทำไมจึงกลายเป็นอย่างนั้นไปได้ อีกประเด็นสำคัญคือ ในช่วงครึ่งแรกของหนังสือ ผมว่าเขาอธิบายเครือข่ายของพวกฝ่ายเจ้าได้ดีมาก แต่ช่วงหลังที่ใกล้สมัยปัจจุบันเข้ามากลับกลายเป็นเรื่องของบุคคลมากเข้าทุกที แฮนด์ลีย์ให้เหตุผลว่า เพราะยิ่งนานวันบุคคลยิ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดของเครือข่ายทั้งหมด ผมคิดว่าต่อให้เป็นอย่างนั้นจริง ความสำคัญของเครือข่ายฝ่ายเจ้าในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรสนใจอยู่ดี ผมไม่ค่อยเชื่อว่าเครือข่ายในฐานะกลุ่มผลประโยชน์นี้ขึ้นต่อหรืออยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลไปหมด แฮนด์ลีย์เองก็ตระหนักข้อนี้ ดูจากการที่เขาสะสมข้อมูลเกี่ยวกับองคมนตรี สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย แต่เรื่องพวกนี้กลับจางลงไปในช่วงท้ายๆ ของหนังสือ

ฟ้าเดียวกัน : อาจารย์คิดอย่างไรต่อข้อวิจารณ์ของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ในหนังสือ พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย [4] ซึ่งแม้จะไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเขียนมาโต้หนังสือ The King Never Smiles ก็ตาม นั่นคืออาจารย์นครินทร์ ชี้ว่าแนวคิดที่ว่ากษัตริย์อยู่เบื้องหลังทุกอย่างทางการเมือง ทำให้สถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลเกินจริง

ธงชัย วินิจจะกูล : อาจารย์นครินทร์ต้องเถียงออกมาว่ากษัตริย์ไม่ได้อยู่เบื้องหลังอย่างที่แฮนด์ลีย์เสนอ จะอธิบายว่าเป็นเรื่องของเครือข่ายฝ่ายเจ้าแต่ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์เอง หรือจะอธิบายว่าไม่ใช่ทั้งนั้น ทั้งบุคคลและเครือข่ายไม่ได้เกี่ยวเลย อธิบายออกมาเลยครับ จะได้มีข้อถกเถียงกันได้ แต่หนังสืออาจารย์นครินทร์ไม่ได้อธิบายตรงนี้ กลับโบ้ยไปอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองแบบเดิมๆ คือสถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ยกเว้นเมื่อประเทศชาติวุ่นวาย แล้วทรงกอบกู้ประเทศชาติให้พ้นจากวิกฤติได้ ผมต้องถือว่าอาจารย์นครินทร์ผลิตงานตามกรอบเดิมๆ อีกชิ้น โดยไม่ได้วิจารณ์ตอบโต้แฮนด์ลีย์เลยสักนิด

ผมกลับคิดด้วยว่ากฎหมายและวาทกรรมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนฉลาดอย่างอาจารย์นครินทร์ที่อยากจะออกมาตอบโต้แฮนด์ลีย์ กลับไม่สามารถทำได้ถนัด ผมเชื่อว่าอาจารย์นครินทร์รู้และอยากจะพูดอยากจะเขียน อยากจะฉะกับแฮนด์ลีย์อย่างตรงไปตรงกว่านี้ แต่กลับไม่สามารถทำได้อย่างที่คิด เพราะการอภิปรายเชิงวิพากษ์วิจารณ์แม้จะลงท้ายเป็นการสรรเสริญเชิดชูก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ คุณดูตัวอย่างงานของอาจารย์กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร [5] ก็ได้ ผมคิดว่าให้อาจารย์กอบเกื้อเขียนเป็นภาษาไทยก็คงไม่ง่ายนัก ทั้งๆ ที่เป็นงานที่มีนัยตรงข้ามกับแฮนด์ลีย์ลิบลับ กลายเป็นว่าคนที่อยากจะยกย่องเชิดชูเจ้าอย่างวิพากษ์วิจารณ์ก็เกร็งเพราะกลัวจะล้ำเส้นเช่นกัน งานของอาจารย์นครินทร์ก็เลยออกมาเป็นงานวิชาการสำนัก “กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย” 2550 ทำนองเดียวกับอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิชและอีกหลายคนที่ออกมาช่วงประมาณปี 2510 ต้นๆ

ฟ้าเดียวกัน : ในงานวิจัยชิ้นล่าสุด “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา: จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี), 2519-2549″ ทำให้ความเข้าใจเรื่องฝ่ายขวาไทยของอาจารย์เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง มีอะไรที่เข้าใจมากขึ้น หรืออะไรที่ยังไม่เข้าใจ

ธงชัย วินิจจะกูล : งานเรื่องความทรงจำของฝ่ายขวาที่ผมนำเสนอเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อใหญ่เรื่องความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลา ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาฝ่ายขวา ความเงียบเกี่ยวกับ 6 ตุลา มีหลายแบบหลายประเภท ฝ่ายขวาเป็นแบบหนึ่ง ประเภทหนึ่ง แต่ผมไม่ได้ตั้งใจให้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับฝ่ายขวาเป็นสาระสำคัญที่สุด ผมตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องแวดล้อมกับความเงียบของพวกเขา ทำไมพวกเขาเงียบไป ทำไมไม่พูด เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา พวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร ทำไมจึงถูกทำให้เงียบลงไป แน่นอน ผมได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับฝ่ายขวา แต่มีหลายแง่หลายมุมสำคัญที่ผมยังไม่ได้แตะเลยถ้าหากประเด็นใหญ่เป็นเรื่องของฝ่ายขวาโดยเฉพาะ แม้กระทั่งการเลือกว่าจะสนใจใคร คุยกับใคร ก็ถือเอาเป้าหมายเรื่องความทรงจำเป็นสำคัญ ถ้าผมต้องการศึกษาฝ่ายขวาเป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะ ผมต้องเลือกคนอีกแบบ คำถามอีกแบบ

ฟ้าเดียวกัน : พอพูดถึงงานในซีกที่ศึกษาขวาไทยที่ไม่ได้ศึกษาในฐานะเป็นปกติ ยังมีประเด็นที่น่าทำอีกเยอะ แล้วในความเห็นของอาจารย์ ถ้าจัดลำดับก่อน-หลังของความจำเป็น (priority) มีประเด็นอะไรน่าทำมากๆ ที่จะเปิดพื้นที่การศึกษาเรื่องนี้

ธงชัย วินิจจะกูล : ผมยังไม่ได้คิด ถ้าให้ยกตัวอย่างก็เช่นเรื่องสถาบันกษัตริย์ เรายังศึกษากันน้อย เรายังวิพากษ์วิจารณ์กันน้อย แต่ผมไม่ได้ต้องการส่งเสริมให้ศึกษาเผยแพร่ข่าวลือทั้งหลายซึ่งไม่เป็นเรื่องเป็นราว ย้อนกลับมาที่งานสัมมนาไทยศึกษา ตอนผมได้อ่านงานศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [6] ปรากฏว่ามันน่าตื่นเต้นมาก แล้วถามว่างานศึกษาเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เรื่องเดียวเพียงพอแล้วหรือ ไม่พอแน่นอน หรือเรื่องการผลิตเรื่องกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างลัทธิเสด็จพ่อ ร.5 เกี่ยวข้องอย่างไรกับสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด โดยเฉพาะปัจจุบัน [7] เราก็ไม่ค่อยได้คิด จริงอยู่มีการพูดเรื่องลัทธิเสด็จพ่อ ร.5 มาพักหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังสามารถตั้งคำถามใหม่ๆ ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งในวงสัมมนา มีการเสนอบทความของแฮนด์ลีย์เรื่ององคมนตรี [8] ตัวบทความทำหน้าที่บอกข้อมูล ข้อมูลเหล่านั้นทำให้เราคิดอะไรได้อีกมากมายที่เอาไปศึกษาได้

ตัวผมเองสนใจเรื่องความคิด ภูมิปัญญา ผมสนใจเรื่องชาตินิยมของไทย ความเป็นไทย เพราะผมคิดว่าภูมิปัญญาพรรค์นี้เป็นฐานของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ดูเหมือนจะอยู่ต่อไปอีกนาน ความเข้าใจที่ว่าชาตินิยมที่อันตรายและไม่ดีคือความคิดแบบเชื้อชาตินิยมนั้น ผมว่าไม่พอ ผมไม่ค่อยแน่ใจด้วยซ้ำว่าเชื้อชาตินิยมของไทยเป็นเรื่องของเชื้อชาติจริงๆ ผมคิดว่าชาตินิยมของไทยดูคล้ายกับเป็นเรื่องของเชื้อชาติ แต่ที่จริงมีองค์ประกอบอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติ เพราะความรู้เรื่องเชื้อชาติแบบฝรั่งคิดกันไม่เคยมีฐานในสังคมไทยเลย ความรู้มานุษยวิทยากายภาพมีน้อยมากในสังคมไทย วาทกรรมเชื้อชาติในสังคมไทยจึงไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติเสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรมมาตลอด ชาตินิยมไทยเป็นชาตินิยมเชิงการเมืองวัฒนธรรมมาตลอด แต่การต่อสู้ช่วงชิงความหมายชาตินิยมเชิงวัฒนธรรมก็มีมาตลอดเช่นกัน ผมคิดเรื่องนี้มา 20 กว่าปี แต่ยอมรับว่ามีอีกหลายประเด็นที่ยังคิดไม่ชัดเจนอยู่ดี ที่เพิ่งกล่าวไปก็ยังฟังดูชอบกล คงต้องค่อยว่ากันอีกทีในโอกาสอื่น

ฟ้าเดียวกัน : แล้วหนังสือ The King Never Smiles ทำไมต้องรอให้ฝรั่งมาเขียน ทั้งที่หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่สังคมไทยรู้กันอยู่มิใช่หรือ

ธงชัย วินิจจะกูล : นั่นน่ะสิ เวลาคนชอบว่าฝรั่งไม่เข้าใจสังคมไทย ผมอยากจะตอบอย่างที่คุณถาม คุณก็เขียนสิ กล้าที่จะเขียน กล้าที่จะค้นสิ ถ้าคุณไม่กล้าที่จะค้น ไม่กล้าที่จะเขียน หรือทำไม่ได้ คุณก็อย่าไปต่อว่าฝรั่งที่เขาคิด เขาค้นแล้วเขาเขียนออกมา ความรู้เป็นของใครก็ได้ แล้วการที่คนอื่นเขาค้น เขาเขียน คุณไม่เห็นด้วย คุณก็เขียนโต้ออกมาสิ คุณก็เถียงเขาไปสิ ความรู้จากมุมข้างนอกจากมุมข้างใน เราเห็นต่างกัน ก็เขียนออกมาสิ ถามว่าเขียนได้ยังไง เดือดร้อนเปล่าๆ ผมว่ายังมีประเด็นและช่องทางให้เขียนได้อีกมากมายโดยไม่เดือดร้อน และยิ่งพูดยิ่งทำก็จะยิ่งท้าทายกฎหมายหมิ่นฯ เรื่องอะไรจะปล่อยให้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นฝ่ายกระทำต่อเราอยู่ข้างเดียว เราน่าจะสู้ push the limits ท้าทายกฎหมายหมิ่นฯ ด้วยในระดับที่ทำได้แล้วค่อยๆ เขยิบมากขึ้น

เชิงอรรถ

[1] ดูเพิ่มเติม Duncan McCargo, “Network monarchy and legitimacy crises in Thailand,” Pacific Review, 18: 4 (December 2005), pp. 499-519.

[2] ข้อเสนอต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 4 ข้อนั้นคือ
    1. ให้กฎหมายหมิ่นฯ ไม่ครอบคลุมการแสดงออกตามเจตนาของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
    2. ให้ยกเลิกความผิดฐาน ‘ดูหมิ่น’ ซึ่งมีความหมายและกระบวนการพิสูจน์ความผิดต่างจากความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาท’
    3. ให้จำกัดอำนาจการฟ้องร้องและผู้ฟ้องตามกฎหมายนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้เสียหายหรือสำนักพระราชวัง เป็นต้น
   4. ให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ดูเพิ่มเติมใน กองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน, “รายงาน : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติที่ธรรมศาสตร์,” ประชาไท, 21 มกราคม 2551)

[3] William Stevenson, The Revolutionary King: The True-life Sequel to The King and I. (Robinson Publishing, 2001)

[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย: 60 ปี สิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549)

[5] Kobkua Suwannathat-Pian, Kings, Country and Constitutions: Thailand’s Political Development 1932-2000 (London: Routledge Curzon, 2003)

[6] Porphant Ouyyanont, “How did the Crown Property Bureau Survive the 1997 Economic Crisis?,”

[7] Irene Stengs, “Celebrating Kingship, Worrying about the Monarchy,”

[8] Paul Handley, “Princes, Politicians, Bureaucrats, Generals: The Evolution of the Privy Council under the Constitutional Monarchy,” นำเสนอโดย Chris Baker

“มันคงจะไม่เข้าท่านักถ้าหากนักวิชาการเอาแต่คุยกับนักวิชาการด้วยกันเอง”
Read more ...