ความจำเป็นและประโยชน์ของการมีศาลปกครอง

27/12/52

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน18/3/2552

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากที่ประเทศไทยมีศาลปกครองทำให้ประชาชนมีสิทธิมากกว่าที่เป็นอยู่ ในแต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุให้ข้าราชการทำงานอย่างไม่มั่นใจและสะดวกใจ เพราะกริ่งเกรงว่าจะมีการปฏิบัติงานผิดพลาด ศาลปกครองจึงอาจจะถูกมองทั้งในแง่บวก เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และในขณะเดียวกัน ก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อการปฏิบัติของข้าราชการ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองด้วย ประเด็นดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการพินิจพิเคราะห์จากแง่มุมต่างๆ อย่างถี่ถ้วน

ภายใต้ระบบการเมืองการปกครองนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนคือ เจ้าของประเทศ และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การมีระบบการปกครองซึ่งมาจากการมีรัฐบาล มีรัฐสภา และมีศาล ก็คือการมอบพันธกิจให้กับบุคคลที่ทำหน้าที่ในสถาบันดังกล่าวดูแลผลประโยชน์ของประชาชนด้วยการใช้อำนาจรัฐ ทรัพยากร การวางกฎระเบียบ และการมีนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาและเพื่อการพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ได้อย่างมีความผาสุก

แต่อำนาจเป็นดาบสองคม สามารถจะนำไปสู่ความเสียหายได้ ทั้งโดยเจตนาด้วยการลุแก่อำนาจ หรือโดยประมาทรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยไม่แยแสต่อผลที่จะเกิดขึ้น ประชาชนมีที่พึ่งด้วยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลักดัน ด้วยการเรียกร้องผ่านผู้แทนราษฎร หรือเรียกร้องโดยตรงต่อรัฐบาลหรือรัฐสภา ในบางกรณีก็มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลระหว่างกันเอง หรือการฟ้องร้ององค์กรของรัฐ หน่วยราชการต่างๆ

ศาลปกครองเป็นองค์กรหนึ่งที่ดูแลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างหน่วยราชการด้วยกันเอง ก็สามารถจะเป็นที่พึ่งในการแก้ปัญหาได้ หรือประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการประจำ ย่อมจะมีสิทธิในการป้องกันสิทธิและผลประโยชน์ของตนที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ

ข้าราชการที่ทำงานด้วยการอุทิศตนอย่างเต็มที่ ปฏิบัติตามกฎหมาย วางตัวเป็นกลางทางการเมือง มีศีลธรรมและจริยธรรม ย่อมมีความองอาจและบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่รู้สึกถึงการทำงานที่ไม่สบายใจเพราะมิได้ทำความผิดอะไร หลักการก็คือ ต้องถือเอาความยุติธรรมและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

สิทธิของประชาชนที่จะพึ่งพาศาลปกครองเพื่อความยุติธรรมและเพื่อความถูกต้อง เป็นสิทธิขั้นมูลฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้องค์กรของรัฐไม่ว่าจะฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายราชการละเมิดสิทธิของตนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย


สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างกระจ่างก็คือ รัฐเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยความยินยอมของประชาชนในสังคม ในลักษณะสัญญาประชาคม (social contract) ตามที่รุสโซได้กล่าวไว้ ความหมายก็คือ เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มจนกลายเป็นสังคมย่อมจะต้องมีความขัดแย้ง จึงได้ยินยอมให้มีการสถาปนารัฐขึ้น และผู้ใช้อำนาจรัฐซึ่งมี 3 อำนาจ ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จะทำหน้าที่ตามอาณัติที่ได้รับมอบจากประชาชน แต่เมื่อใดก็ตามที่การทำหน้าที่ดังกล่าวกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ประชาชนย่อมมีทางออกที่จะไม่ปล่อยให้ผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวดำรงอยู่ต่อไป วิธีการก็คือ การถอนอาณัติ

การถอนอาณัติในระบอบประชาธิปไตยก็คือ การไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งบุคคลดังกล่าวมาทำหน้าที่ต่อไป ขณะเดียวกันก็มีทางออกอื่นด้วยการชุมนุมโดยสงบและปราศจาอาวุธ ประท้วงและต่อต้านไม่ให้มีโครงการซึ่งกำหนดโดยรัฐที่ส่งผลกระทบต่อตน เช่น การสร้างมลภาวะ การทำให้การทำมาหากินโดยสงบสุขถูกกระทบกระเทือน โดยมีเหตุผลพอเพียงที่จะชี้ให้เห็นประจักษ์ และเมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถจะทำให้สัมฤทธิผลได้ก็ต้องอาศัยองค์กรที่มีอยู่ และองค์กรที่มีอยู่ในหลายๆ องค์กรก็คือศาลสถิตยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลสถิตยุติธรรมมี 3 ศาล คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ในส่วนของศาลปกครองนั้นก็มี 2 ระดับ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ มีภารกิจสำคัญคือ การวินิจฉัยตีความกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม นอกเหนือจากนั้น ประชาชนสามารถจะพึ่งพาองค์กรที่เรียกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (ตามรัฐธรรมนูญปี 2540) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน (ตามรัฐธรรมนูญปี 2550) เพื่อแก้ไขความทุกข์ของประชาชนจากการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม นอกจากนั้น ยังมีองค์กรที่เรียกว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นที่พึ่งในกรณีที่มีการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองก็เช่นเดียวกันกับศาลสถิตยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นองค์กรที่สำคัญและเป็นองค์กรที่ประชาชนภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีสิทธิที่จะใช้เป็นที่พึ่งพาในกรณีที่มีการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของตนจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น