ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร

13/7/58
ข้อมูลจาก หนังสือขอนแก่นแมกกาซีน ฉบับที่ ๗๗ ประจำวันที่ ๕-๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๙

ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร

นักขับทั้งหลายคงจะรู้จักใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรเป็นอย่างดีนะครับ  คงมีน้อยท่านที่จะไม่รู้จักกับใบสั่ง ไม่เป็นไรครับ ถึงจะขับรถดีแล้วก็อาจมีการผิดผลาดได้บ้าง  แต่การสะสมใบสั่งเยอะๆ  นั้นไม่ดีแน่  ลองมาทำความรู้จักกับใบสั่งบ้างดีมั้ยครับ

๑. ใบสั่งคืออะไร
   
ใบสั่งเป็นภาษาที่เราเรียกแบบชาวบ้านๆ  แต่ภาษากฎหมายคือ  "ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่"  ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๑๔๐ วรรคสาม  ซึ่งเมื่อถูกจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไป  แล้วให้ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่มาใช้แทนไปก่อน  คำว่า  "ใบสั่ง"  จึงเป็นคำเรียกรวมๆ ครับ  เนื่องจากใบสั่ง ๑ เล่ม  จะมี ๒๕ ชุดใบสั่ง  ซึ่งใน ๑ ชุดประกอบด้วย ๔ แผ่น ๔ สี คือ ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่(สีขาว) กับสำเนาอีก ๓ แผ่น (สีเหลือง สีชมพู สีฟ้า) เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านได้รับมาคือใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ครับ  ใบสั่งนั้นเป็นสิ่งคล้ายบันทึกจับกุมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดในคดีอาญา  จะต้องทำขึ้นหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำตัวผู้ต้องหาพร้อมบันทึกจับกุมส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี  แต่เนื่องจากคดีจราจรเป็นคดีที่มีโทษเพียงเล็กน้อยเป็นโทษปรับเสียส่วนใหญ่ ( ยกเว้นขับรถประมาท  เมาสุรา ใช้สารเสพติด  ชนแล้วหนี  และขับรถแข่ง มีโทษจำคุก) กฎหมายจึงอนุญาตให้ตำรวจจราจรเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่เพื่อเป็นประกันว่าท่านจะไปที่โรงพัก  แล้วออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่มอบเป็นที่ระลึกแก่ท่านให้ท่านไปชำระค่าปรับทีหลังภายในเวลา ๗ วัน ไม่ต้องเอาตัวท่านไปโรงพักในทันทีเหมือนคดีอาญาอื่นๆ

ใบสั่งมี ๒ ชนิด คือ
   
ก. ใบสั่งกรณีพบตัวผู้ขับขี่ คือ กรณีทั่วไป
   
ข. ใบสั่งกรณีไม่พบตัวผู้ขับขี่ หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าใบสั่งแปะ ใบสั่งผูก เป็นกรณีที่ผู้ขับขี่ซึ่งเป็นผู้กระทำผิดไม่อยู่ที่รถ หรืออยู่บริเวณใกล้เคียงไม่ยอมปรากฎกายให้เห็น  เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรก็จะออกใบสั่งแปะหรือผูกไว้ที่หน้ากระจกรถให้เห็นชัดเจน โดยไม่ยึดใบอนุญาตขับขี่มา  แต่จะกลับไปแจ้งพนักงานสอบสวนลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน  แล้วรอให้ท่านมาชำระค่าปรับ  ถ้าท่านไม่มาชำระค่าปรับภายใน ๗ วัน  ถ้าทราบที่อยู่ก็จะออกหมายเรียกไปที่บ้านท่าน  ถ้าไม่ทราบหรือเรียกแล้วท่านไม่มาก็จะแจ้งอายัดไปที่กรมการขนส่งทางบกหรือขนส่งจังหวัด  รอเช็คบิลกันตอนชำระภาษีประจำปีครับ  และใบสั่งทั้งสองชนิดใช้แบบฟอร์มเดียวกันครับ

๒. อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่เกี่ยวกับใบสั่ง
   
เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎจราจรครับ  แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเท่านั้นที่จะออกใบสั่งแก่ท่านได้  ลำดับขั้นตอนในการใช้อำนาจในการจับกุมผู้ขับขี่รถยนต์ที่กระทำผิดก็มีดังต่อไปนี้
   
๑. ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ จะโดยวิธีใดก็แล้วแต่  อาทิ การมองเห็นการกระทำผิดต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร  หรือใช้เครื่องมือต่างๆ ในการตรวจสอบความผิด เช่น ใช้เครื่องจับความเร็ว
   
๒. ถ้าท่านขับรถอยู่จะเรียกให้ท่านหยุดแล้วขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาที่ท่านได้กระทำผิดให้ทราบ  ในบางความผิดที่ยังไม่ชัดเจนอาจใช้วิธีเรียกให้ท่านหยุดรถก่อน แล้วตรวจสอบหาความผิดต่อไป  เช่น ตรววจวัดควันดำ  เสียงดัง  ตรวจหาความมั่นคงแข็งแรงของอุปกรณ์ของรถ ฯลฯ
   
๓. เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสามารถใช้ดุลพินิจในขั้นตอนนี้พิจารณาด้วยตนเองว่า  สมควรจะออกใบสั่งให้แก่ท่านหรือไม่ หากเห็นว่าท่านกระทำผิดเพียงเล็กน้อยไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความเดือนร้อน แก่ผู้อื่น ก็อาจใช้อำนาจว่ากล่าวตักเตือน แก่ท่านก็ได้  แต่ถ้าเห็นว่าเป็นความผิดที่ไม่อาจอภัยให้ได้ เช่น ขับรถเร็ว ฝ่าฝืนไฟแดง แซงทางโค้ง ฯลฯ ก็จะออกใบสั่งให้เลยและเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่จากท่าน อำนาจในการว่ากล่าวตักเตือนนี้ เป็นคนละขั้นตอนกับอำนาจของพนักงานสอบสวนครับ
   
๔. หลังจากที่เรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่จากท่านแล้ว ก็จะต้องนำใบอนุญาตขับขี่และสำเนาใบสั่งไปส่งให้พนักงานสอบสวนภายใน ๘ ชั่วโมง นับจากเวลาที่ได้ออกใบสั่งให้แก่ท่าน
Read more ...

ศาลญี่ปุ่นตัดสินอุลตร้าแมนเป็นของคนไทย

10/10/53
โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ เมื่อ 6 ต.ค.2553

ศาลญี่ปุ่นนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีประวัติศาสตร์อุลตร้าแมน สั่งซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จ่ายค่าเสียหาย 16 ล้านเยนฐานละเมิดสิทธิ์นอกประเทศฝ่าฝืนคำพิพากษาศาลสูงสุดที่เคยตัดสินให้ "สมโพธิ แสงเดือนฉาย"

เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั่วโลกยกเว้นญี่ปุ่น เผยค่ายหนังอเมริกาเจรจาซื้อลิขสิทธิ์สร้างเป็นภาพยนตร์ส่งฉายทั่วโลก

นายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ประธานบริษัท ซึบูราญ่า ไชโย จำกัด
ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าหลังจากที่คดีการฟ้องร้องสิทธิ์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนระหว่าง

บริษัท ซึบูราญ่า ไชโย จำกัด

กับ

บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)


ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปีวันนี้ฝ่ายไทยได้รับชัยชนะอีกครั้ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ที่ผ่านมาศาลแขวงกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ได้พิพากษาให้ บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)ในฐานะจำเลย สูญเสียสิทธิ์ที่จะใช้คาแรกเตอร์อุลตร้าแมนทั่วโลกยกเว้นญี่ปุ่น

จากกรณีที่บริษัทยูเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะโจทก์ ซึ่งได้รับการโอนสิทธิ์อุลตร้าแมน จากนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ได้ทำการฟ้องบริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว) มาตั้งแต่ปี 2549 โดยจำเลยอ้างว่าศาลฎีกาไทยได้มีการยืนยันว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ์ในการใช้คาแรกเตอร์และภาพยนตร์อุลตร้าแมนตามสัญญาในคดีและห้ามโจทก์อ้างสิทธิ์ใดตามสัญญาในคดี

โดยส่วนหนึ่งของคำพิพากษาที่ 10273 ศาลแขวงกรุงโตเกียวได้มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายแก่โจทก์เพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่ได้จากผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การให้ไลเซนส์ การใช้สิทธิ์นอกประเทศญี่ปุ่นจำนวน 16,363,636 เยน นับตั้งแต่วันที่ 26 เดือนมิถุนายน 2549 พร้อมดอกเบี้ยปีละ 5% จนกว่าจะชำระหมด

จากคำพิพากษาดังกล่าวนายสมโพธิกล่าวว่าส่งผลให้บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)ต้อง

หยุดทำธุรกรรมต่างๆ เพราะไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในประเทศไทยแล้ว นอกจากนั้นศาลแขวงกรุงโตเกียวญี่ปุ่นยังบังคับไม่ให้บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)ออกไปดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

นายสมโพธิยังกล่าวอีกว่าคดีเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการถือครองสิทธิ์อุลตร้าแมนที่ตนเป็นฝ่ายชนะมาโดยตลอดนั้น

โดยก่อนหน้านี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 ในคดีหมายเลข 3516/2553 ยกฟ้องนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย และผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลอีกประมาณ 20 คนในฐานะจำเลยร่วม จากการที่บริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์(โตเกียว) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2547 กรณีละเมิดลิขสิทธิ์นำตัวคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนไปใช้ในทางการค้ากับผลิตภัณฑ์ KFC

โดยศาลให้เหตุผลว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำความผิดทางอาญาละเมิดลิขสิทธิ์เนื่องจากศาลประเทศญี่ปุ่นได้ตัดสินให้นายสมโพธิ แสงเดือนฉายมีสิทธิ์ใช้คาแรกเตอร์อุลตร้าแมนได้ทั่วโลกยกเว้นในประเทศญี่ปุ่น

ย้อนหลังไปในปี 2552 ศาลอาญารัชดาฯ ที่ได้มีคำพิพากษาที่ 1484/2552 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 กรณีที่บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว) เป็นโจทก์ฟ้องนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย จำเลยที่ 1 และบริษัทซึบูราญ่า ไชโย จำกัด จำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้และอ้างเอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ โดยศาลพิพากษายกฟ้องโดยอ้างถึงคำพิพากษาของศาลสูงญี่ปุ่นและข่าวตีพิมพ์ของผลคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นที่ระบุถึงสิทธิ์การใช้อย่างผูกขาดนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นของนายสมโพธิ

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า โจทก์ยังรับว่ามีประเด็นเรื่องสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่แท้จริงและมีผลบังคับได้หรือไม่รวมอยู่ในคดีนั้นด้วย เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาญี่ปุ่นขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลฎีกาไทย แสดงว่าผลของคำพิพากษาของทั้งสองประเทศขัดกันจริง พฤติการณ์ดังกล่าวทั้งหมดล้วนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิ์ตามสัญญาพิพาทจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าคดีของโจทก์มีมูลตามฟ้อง ศาลอาญารัชดาฯจึงพิพากษายกฟ้อง

นอกจากนั้นศาลอาญากรุงเทพใต้ยังได้พิจารณาคดีแดงที่ 1274 /2548 ที่บริษัท ซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว)เป็นโจทก์ ฟ้องนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย กรณีหมิ่นประมาทในตัวคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนจำนวน 4 ตัวใหม่ คือ ทีก้า ไดนา ไกญ่า และคอสมอส เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท โดยศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ให้ยกฟ้องด้วยเหตุผลว่ายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง กรณีจึงไม่อาจบังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายส่วนแพ่งได้ จึงพิพากษายกฟ้องทั้งหมด

ส่วนการขับเคลื่อนทางธุรกิจนั้นนายสมโพธิกล่าวว่า ขณะนี้มีสตูดิโอชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาติดต่อแสดงความสนใจจะนำคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายในฮอลลีวูดและทั่วโลก ทราบว่าทางบริษัทยูเอ็มซี คอร์ปอเรชั่นฯ ที่รับโอนสิทธิ์อุลตร้าแมนจากตนกำลังพิจารณาในรายละเอียดของสัญญา

"ชื่อเสียงของอุลตร้าแมนวันนี้โด่งดังไปทั่วโลกและศาลญี่ปุ่นก็ตัดสินครั้งแล้วครั้งเล่าว่าผมซึ่งเป็นคนไทยเป็นผู้ถือครองสิทธิ์โดยถูกต้อง จึงอยากวอนให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ น่าจะให้ความสนใจสนับสนุนอย่างจริงจังเพราะเป็นการสร้างสรรค์ทางด้านความคิด เป็นโอกาสในการสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย สามารถสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและทำรายได้เข้าประเทศได้อีกมหาศาล" นายสมโพธิกล่าวในที่สุด

นางสาวพนิดา สกุลพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดรีม เอ็กเพรส จำกัด หรือ เดกซ์ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ก่อนหน้านี้ว่า ลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนที่บริษัทได้มา เป็นลิขสิทธิ์ โฮมวิดีโอ และเมอร์ชันไดซิ่ง ของ อุลตร้าแมน แม็กซ์ และอุลตร้าแมน เมเบียส ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เดียวกับที่บริษัท มีเดีย เน็ตเวิร์คฯ เคยบริหาร

ล่าสุด เดกซ์ ยังร่วมกับ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดกิจกรรมต้อนรับปิดเทอม มีการแสดงโชว์ 'อุลตร้าแมน เมบิอุส & พี่น้องอุลตร้า โชว์' ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่บริษัทได้รับมา ประกอบด้วย อุลตร้าแมน เมบิอุส อุลตร้าเซเว่น และอุลตร้าแมนทาโร่ นอกจากนี้ ยังมีอุลตร้าแมนคลาสสิก ตั้งแต่อุลตร้าแมนร่างแรก และอุลตร้าแมนคาแรกเตอร์ฮิต ที่คนไทยรู้จักมาร่วมแสดงโชว์ด้วยในงาน 'คิดส์ ออฟ เดอะ เวิลด์' ระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม


Read more ...

"จารุวรรณ" แพ้คดี ขรก.สตง.ซ้ำซาก ศาล ปค.สั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง"ผอ.สำนักฯ" ไม่ชอบด้วย กม.อีก

23/9/53
โดยมติชน เมื่อ 23 ก.ย.2553

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 กันยายนในคดีที่

นางจุฑาทิพย์ ศิริรักษ์ ข้าราชการระดับ 8 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา) 

ฟ้อง

1. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ

2. ผู้่่ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ 

กรณีออกคำสั่งแต่งตั้ง

นายเฉลิมชัย ทั่วจบ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดิน (นักบริหาร8) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา)

ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

โดยศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ฟ้อง ได้แก่ นางจุฑาทิพย์ ข้าราชการซี8 สตง.ภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา)และรักษาราชการแทนผู้ำอำนวยการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ระดับ 9 (นักบริหาร9) ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจาก ผู้ว่าการฯ ออกคำสั่งโดยลดระดับตำแหน่งของผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค (นักบริหาร9) สตง.ภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา) ตำแหน่งที่2607 ลงหนึ่งระดับ เป็นตำแหน่งนักบริหาร 8 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งนายเฉลิมชัย ทั่วจบ ได้ทำให้ตนไม่ได้รับโอกาสในการคัดเลือกเพื่อเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9

แต่เนื่องจากการกำหนดตำแหน่งตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 มีนาคม 2549 คณะกรรมการข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(ก.ตง.) ได้กำหนดตำแหน่งนักบริหารไว้เพียง 2 ระดับ คือ 

1.นักบริหาร10 ระดับ10 รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ

2.นักบริหาร9 ระดับ9 ผู้อำนวยการสำนักงาน 

โดยที่การแต่งตั้งนักบริหาร8 ระดับ8ถึง นักบริหาร10 ระดับ10 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

ดังนั้น การลดระดับตำแหน่งของผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค (นักบริหาร9) ลงหนึ่งระดับ เป็นตำแหน่งนักบริหาร 8 เพื่อแต่งตั้งนายเฉลิมชัย ทั่วจบ ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

เพราะคุณหญิงจารุวรรณ ไม่มีอำนาจที่จะปรับลดระดับตำแหน่ง ของตำแหน่งที่ ก.ตง.ไม่ได้กำหนดให้
ดังนั้น เมื่อตำแหน่งผู้ำอำนวยการตรวจเงินแผ่นดิน (นักบริหาร9) สตง.ภูมิภาคที่ 15 (จ.สงขลา) ก.ตง.ได้กำหนดให้เป็นตำแหน่งนักบริหาร 9 ตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการเดิม (พ.ศ.2545) อยู่แล้ว ตำแหน่งดังกล่าวจึงมิใช่ตำแหน่งที่ ก.ตง.กำหนด การลดระดับตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้นายเฉลิมชัย ดำรงตำแหน่ง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การจัดคนลงตามโครงสร้างใหม่ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ให้ความเห็นชอบเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่แต่งตั้งนายเฉลิมชัย ทั่วจบ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค (นักบริหาร8)ตำแหน่งเลขที่ 2607 สตง.ภูมิภาคที่15 (จ.สงขลา)โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และให้ผู้ว่าฯสตง.พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการ รวมทั้งตัวนางจุฑาทิพย์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป คำขออื่นให้ยก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คุณหญิงจารุวรรณ แพ้คดีการแต่งตั้งข้ารากชาร สตง.ดดยไม่ชอบมาแล้ว จำนวน 2 คดี จากที่มีผู้ฟ้องทั้งหมด 4 คดี โดยศาลปกครองกลางได้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำนวน 2คดี ดังนี้

1. เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา เนตรสว่าง จากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน สตง.(ส่วนกลาง)ไปเป็นนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 กลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สตง.ภูมิภาคที่ 1 ตั้งแต่มีนาคม 2549 (หมายเลขแดงที่ 88/2552)


2.เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง นายอภิชัย ล้อไพบูลย์ทรัพย์ จากผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สตง.ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 2 ระดับ 9 เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบเพราะไม่ทำตามมติคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ที่เสนอให้แต่งตั้งนายอภิชัย ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย(หมายเลขแดงที่ 1357/2552)

ทั้งสองคดีเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบคือไม่ทำตามมติคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ซึ่งพิจารณาเสนอแต่งตั้งบุคคลทั้งสองตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ได้กำหนดไว้ แต่คุณหญิงจารุวรรณอ้างว่า บุคคลทั้งสองคุณสมบัติไม่เหมาะสม

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 10.30 น. วันเดียวกัน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะรักษาการ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เดินทางมาขอเป็นผู้ร้องสอดในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าdkiฯ โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณ ได้ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการฯ เป็นผู้รักษาการผู้ว่าการฯ โดยระบุว่า เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งของผู้ไม่มีอำนาจ 

เพราะ ผู้ออกคำสั่ง(คุณหญิงจารุวรรณ)ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว พร้อมทั้งขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ทำให้นายพิศิษฐ์ ตัดสินใจเดินทางมายื่นฟ้องด้วยตัวเอง

นายพิศิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่ามายื่นคำร้องขอเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าว นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลได้ดำเนินการไต่สวนฉุกเฉินและออกมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่ผู้ร้องสอดด้วย เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของราชการ และให้คุณหญิงจารุวรรณหยุดการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

"เหตุที่ทำให้ผมตัดสินใจเดินทางมาฟ้องท่านครั้งนี้เพราะว่า ระหว่างที่รักษาการอยู่นั้นมีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานมากมาย อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสับสนต่อข้าราชการในหน่วยงาน สตง.และหน่วยงานราชการอื่นๆ อีกด้วย จึงตัดสินใจเดินทางมาเป็นผู้ร้องสอดในวันนี้ เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นต้องทำความเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับตัวบุคคล" นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า เหตุการณ์ที่คุณหญิงจารุวรรณเข้ามาตบไหล่นั้น เป็นเรื่องจริง และได้แถลงข่าวเล่าให้สื่อมวลชนฟัง ซึ่งตอนนั้นคุณหญิงจารุวรรณก็นั่งอยู่ด้วย และก็ไม่ได้โต้แย้งอะไร แสดงว่าคุณหญิงจารุวรรณก็ยอมรับการกระทำดังกล่าวด้วย

เมื่อถามว่าทั้งรถยนต์ประจำตำแหน่ง โทรศัพท์มือถือ และห้องทำงานขณะนี้ได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง รักษาการ ผู้ว่าการฯ กล่าวว่า การดำเนินการทุกอย่างก็ปฏิบัติตามระเบียบราชการ เมื่อคุณหญิงจารุวรรณได้พ้นจากภาระหน้าที่ไปแล้ว ทรัพย์สมบัติที่เป็นของหน่วยงานราชการทั้งหมดก็จำเป็นจะต้องนำมาคืน แต่ด้วยความอะลุ่มอะล่วยเก็ได้แต่เพียงทำหนังสือขอคืนไปแต่จนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วท่านก็ยังไม่ได้นำมาคืนแต่อย่างใด 

หากคุณหญิงจารุวรรณกระทำเช่นนี้แล้วข้าราชการ สตง.จะไปดำเนินการกับหน่วยงานอื่นได้อย่างไร ในเมื่อ สตง.ต้องเป็นหน่วยงานที่คอยดูแลพิทักษ์ทรัยพ์สินของรัฐ แต่คุณหญิงจารุวรรณซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็มาทำเสียเอง
Read more ...

ศาลปกครองตัดสินเพิกถอนคำสั่งให้ออก 3 อ. ม.ราชภัฎนครศรีธรรม ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 2.4 แสน

2/9/53
เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553

อ.คมกฤช วางหา, 
อ.ปริญดา ตันเสวี,และ
อ.วีลายา มะห์มูดีย์


อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ได้ร่วมแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า

วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ศาลปกครองนครศรีธรรมราชนั่งบัลลังค์ตัดสินคดี 3 ในทีม 14

อาจารย์ ที่ถูกอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชไล่ออก ระบุชัด การลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสอบสวนทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนพร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายภายใน 90 วัน รวมกว่า 2.4 แสนบาท

3 อาจารย์ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมกันแถลงต่อไปอีกว่า

ตามที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดย 

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ได้มีคำสั่งให้ 14 อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ถูกไล่ออกอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ทั้งที่อาจารย์เหล่านั้นไม่ได้รับการตรวจสอบมูลความผิดตามกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด
จึงได้ขอความเป็นธรรมโดยทยอยส่งคำฟ้องไปที่ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551- มกราคม 2552 นั้น
ต่อมาในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมาศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้มีคำพิพากษา 3

คดีแรก ประกอบด้วย  

อ.คมกฤช วางหา 
อ.ปริญดา ตันติเสวี และ 
อ.วีลายา มะห์มูดีย์
คำพิพากษาอ้างถึงเอกสารสัญญาจ้างและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุ

"โดยที่ระเบียบกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดลักษณะดังกล่าวไว้แล้ว เช่น การลงโทษว่ากล่าวตักเตือน การทำทัณฑ์บน ซึ่งต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสอบสวนทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนเพื่อทราบรายละเอียดแห่งพฤติการณ์แห่งการกระทำและการให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานหักล้าง เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด 

ดังนั้นข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดทั้งสองจึงปราศจากพยานหลักฐาน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดสัญญาจ้างอันเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิเลิกจ้างโดยชอบธรรมตามกฎหมายได้"

สะท้อนว่าอาจารย์สัญญาจ้างเหล่านี้ไม่มีความผิดและถูกให้ออกจากราชการโดยไม่ชอบธรรม พร้อมให้มหาวิทยาลัยจ่ายค่าเสียหายรวม จำนวน 244,354 บาท 

ประกอบด้วย

-ค่าตอบแทนการออกจากราชการโดยไม่มีความผิด 
-ค่าเสียหายที่พึงได้จากการขาดรายได้ตามสัญญา 

ทั้งนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ร้อยละ 7.5 ต่อปี
และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลให้ผู้ฟ้องคดีบางส่วนตามส่วนของการชนะคดี  

ทั้งนี้ดำเนินการให้เป็นตามคำพิพากษาของศาลภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

หนึ่งในอาจารย์ผู้ชนะคดีท่านหนึ่งกล่าวด้วยความดีใจหลังฟังพิพากษาว่า 

เหตุมาจากระบบงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชที่คร่ำครึ 

เบี่ยงเบนและขาดจิตวิญญาณมหาวิทยาลัย
อ้างแต่วัฒนธรรมองค์กรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

จนเลยเถิดขาดจริยธรรมและคุณธรรมแทนที่จะพัฒนานำพาองค์กรให้มีอุดมการณ์รับใช้ท้องถิ่น
กลับเถลิงแก่อำนาจรังแกผู้อ่อนแอกว่า

ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญเน้นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมได้รับการคุ้มครอง

ความเป็นธรรมครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของคนเล็กคนน้อยที่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้และแสวงหาความยุติธรรม

พร้อมวอนเพื่อนอาจารย์สัญญาจ้างศึกษากฎหมายเพื่อสร้างปกป้องศักดิ์ศรีและธำรงมาตรฐานทางจริยธรรม
Read more ...

ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งไล่ออก 3 อาจารย์ ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช

2/9/53
โดยโพสต์ทูเดย์ เมื่อ 2 กันยายน 2553

ศาลปกครองพิพากษาให้มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีฯชดใช้เงินกว่า2.4 แสน หลังไล่ออก3อาจารย์ไม่เป็นธรรม

1. อ.คมกฤช วางหา 
2. อ.ปริญดา ตันเสวี และ
3. อ.วีลายา มะห์มูดีย์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 

ร่วมกันแถลงข่าวว่า 

เมื่อวันที่ 25ส.ค.2253 ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ได้พิพากษาตัดสินคดี 3 ใน 14 อาจารย์ ที่

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม และไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2551

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลปกครองอ้างถึงเอกสารสัญญาจ้างและประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดลักษณะดังกล่าวไว้ เช่น 

การลงโทษว่ากล่าวตักเตือน การทำทัณฑ์บน ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสอบสวนทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน

เพื่อทราบรายละเอียดแห่งพฤติการณ์แห่งการกระทำและการให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานหักล้าง

ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ข้อกล่าวอ้างจึงปราศจากพยานหลักฐาน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดสัญญาจ้าง อันเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีสิทธิเลิกจ้างโดยชอบธรรมตามกฎหมายได้ และให้มหาวิทยาลัยจ่ายค่าเสียหายรวมจำนวน 244,354 บาท
Read more ...

ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายในคดีละเมิด ตาม กม.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

16/8/53
ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายในคดีละเมิด ตามมาตรา 9

มาตรา 9 บัญญัติว่า “ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะนำมาเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้”
ตามบทบัญญัตินี้ บุคคลผู้ที่ได้รับความเสียหายจะตกลงหรือให้ความยินยอมยกเว้น (คือ การที่ผู้ก่อความเสียหายไม่ต้องรับผิดเลย) หริอจำกัดความรับผิด ( คือ การที่ผู้ก่อความเสียหายยังต้องรับผิดอยู่บ้างแต่ไม่ทั้งหมด) เพื่อละเมิดของผู้ก่อความเสียหายไม่ได้ หากความเสียหายที่ผู้ก่อความเสียหายได้ก่อให้เกิดขึ้นนั้น เกิดจาการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับผลบังคับของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
มาตรา 10 บัญญัติว่า “ในการวินิจฉัยว่าข้อสัญญาจะมีผลบังคับเพียงใดจึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ให้พิเคราะห์ถึงพฤติกรณีทั้งปวง รวมทั้ง
(1)

-ความสุจริต 
-อำนาจต่อรอง 
-ฐานะทางเศรษฐกิจ 
-ความรู้ความเข้าใจ 
-ความสันทัดจัดเจน 
-ความคาดหมาย 
-แนวทางที่เคยปฏิบัติ 
-ทางเลือกอย่างอื่น และ
-ทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง
(2)ปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น
(3)เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาหรือในการปฏิบัติตามสัญญา
(4)การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง”
ตามบทบัญญัตินี้ กำหนดแนวทางในการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสภาพบังคับของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมว่าจะมีผลบังคับเพียงใดจึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี อันได้แก่กรณีตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 6 และมาตรา 8 วรรคสอง นอกจากนี้ยังใช้โดยอนุโลมในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งว่าจะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ตามมาตรา 4 วรรคสี่
Read more ...

เหตุลดโทษในประมวลกฎหมายอาญา

16/8/53
โดยอาจารย์ ดร. มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์

เหตุลดโทษในประมวลกฎหมายอาญา

มี 3 กรณีดังนี้

1. บันดาลโทสะ (มาตรา 72) 2. ความไม่รู้กฎหมาย (มาตรา 64) 3. เหตุบรรเทาโทษอื่นๆ

1. บันดาลโทสะ (มาตรา 72) 

มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ

-ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

-การที่ถูกข่มเหงนั้น เป็นเหตุให้ ผู้กระทำบันดาลโทสะ

-ผู้กระทำได้กระทำ ความผิด ต่อผู้ข่มเหง ในขณะบันดาลโทสะ

ผล : ศาล “จะ” ลงโทษผู้กระทำน้อยกว่าที่กม. กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ คือ ศาลจะไม่ลงโทษเลยไม่ได้ แต่อาจไม่ลดโทษให้ได้

1. ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม 

ความหมาย : 

“การข่มเหง” คือ การใช้วิธีรังแกหรือรบกวนให้ผู้อื่นเดือดร้อนโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่จะกระทำเช่นนั้น

ข้อสังเกต : การข่มเหงต้องเกิดจากต้องเกิดจากการกระทำของบุคคลเท่านั้น หากสิ่งของ สัตว์หรือธรรมชาติเป็นเหตุให้เกิดโทสะ จะว่าถูกข่มเหงไม่ได้

“ร้ายแรง” : การพิจารณาว่าเป็นการข่มเหงในเรื่องที่ร้ายแรงหรือไม่ อาศัยการสมมติบุคคลขึ้นมาเปรียบเทียบ ให้อยู่ในฐานะและสภาพอย่างเดียวกับผู้กระทำผิด แต่ระดับความร้ายแรงให้ถือระดับ “วิญญูชน”

“ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม” คือ กระทำโดยปราศจากเหตุผล

ข้อสังเกต : 

“ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม” คือ ไม่มีเหตุสมควรที่จะทำเช่นนั้น (ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม) ซึ่ง “วิญญูชน”โดยทั่วไปเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะทำเช่นนั้น

“การข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมนี้ อาจกระทำการ ข่มเหงต่อผู้กระทำความผิดเองหรือกระทำต่อผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้กระทำความผิดก็ได้” 
ex พ่อตา – ลูกเขย , น้า – หลาน , พ่อ – ลูก , สามี – ภรรยา (แต่เพื่อนสนิทของสามีไม่ได้)

* การข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม คือ กระทำโดยปราศจากเหตุผล แม้อาจไม่ถึงกับผิด กม.ก็ตาม

ข้อยกเว้น

- ถ้าผู้ที่บันดาลโทสะเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน จะอ้างว่าถูกข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมไม่ได้

- การวิวาทหรือสมัครใจเข้าต่อสู้ทำร้ายซึ่งกันและกัน จะยกข้อต่อสู้ว่าถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ไม่ได้

- การกระทำความผิดโดยจำเป็นตาม ม. 69 เป็นการกระทำที่ผิดกม. เพียงแต่ ก.ม. ยกเว้นโทษ จึงอาจถือ ว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมได้

ex อ้นขู่ว่าจะยิงอ้วน หากจะไม่ใช้ไม้ตีหัวอุ้ย อ้วนทำตาม เพราะกลัวถูกยิง เมื่ออ้วนตีหัวอุ้ยแตกอ้วนจึงวิ่งหนี อุ้ยวิ่งไล่ตามใช้ปืนยิงอ้วน อ้นอ้างบันดาลโทสะได้
ข้อสังเกต : 

การพิจารณาว่าผู้กระทำบันดาลโทสะหรือไม่ ต้องพิจารณาจากจิตใจของผู้กระทำผิดนั้นเอง มิใช่เปรียบเทียบกับความรู้สึกของ “วิญญูชน”

การบันดาลโทสะ อาจเกิดขึ้นหลังจากการข่มเหง ได้ผ่านพ้นไปนานแล้วก็ได้

การบันดาลโทสะ อาจจะ เกิดจากคำบอกเล่าก็ได้ ไม่จำเป็นที่ผู้กระทำความผิดต้องประสบเหตุการข่มเหงด้วยตนเอง

เมื่อทราบเหตุข่มเหงแล้ว ต้องบันดาลโทสะทันที หากทราบเหตุแล้วยังไม่บันดาลโทสะ แต่ไปบันดาลโทสะในภายหลัง แม้จะกระทำความผิดในขณะที่ยังมีโทสะอยู่ ก็อ้างบันดาลโทสะไม่ได้

3. ผู้กระทำได้กระทำในขณะบันดาลโทสะ 

ข้อสังเกต :
หลักการวินิจฉัยเป็นการกระทำความผิด ในขณะบันดาลโทสะหรือไม่ ต้องเปรียบเทียบกับ “วิญญูชน” ที่อยู่ในฐานะอย่างเดียวกับตัวผู้กระทำว่าสามารถระงับโทสะได้หรือยัง หากวิญญูชนสามารถระงับโทสะได้แล้ว แต่จำเลยยังระงับโทสะไม่ได้ จะอ้างบันดาลโทสะไม่ได้

“ในขณะบันดาลโทสะ” หมายถึง กระทำในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิด หรือในขณะที่ยังมีโทสะรุนแรงก่อนเวลาที่จะสงบอารมณ์ได้ หากขาดตอนไปไม่เป็นบันดาลโทสะ (ฎ. 272/2513)

ต้องเป็นการกระทำต่อผู้ข่มเหงเท่านั้น หากกระทำ ต่อผู้อื่นอ้างบันดาลโทสะไม่ได้ แต่หากเป็นเรื่องพลาดอ้างบันดาลโทสะโดยพลาดได้

ต้องเป็นการกระทำโดยมี “เจตนาธรรมดา” กล่าวคือ ประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผล หรือพลาด และมี “เจตนาพิเศษ” เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

2. ความไม่รู้กฎหมาย (มาตรา 64) 

ความไม่รู้กฎหมาย (ม.64) : โดยปกติบุคคลจะอ้างว่า ไม่รู้กม.ไม่ได้ เว้นแต่ ความผิดที่ ก.ม.ห้าม (Mala prohibita) เพราะเป็น กม.ที่มีลักษณะพิเศษที่บทบัญญัติมีความแตกต่างกับศีลธรรม

ข้อสังเกต ทางทฤษฎีบอกว่าควรเป็นเหตุยกเว้นโทษ แต่ตาม ป.อ.ของไทยเป็นเพียงเหตุลดโทษซึ่งอยู่นอกโครงสร้างความรับผิดทางอาญา

3. เหตุบรรเทาโทษอื่นๆ 

ศาลพิจารณาโดยอาศัยข้อเท็จจริงประกอบการนำสืบของจำเลย

Ex : 

- ป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- กระทำด้วยความจำเป็น แต่เกินขอบเขต

- ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน

- เป็นบุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม

- กระทำผิดด้วยความยากแค้นลำเค็ญ

- กระทำความผิดด้วยความมึนเมา (ที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ก.ม.)
Read more ...

การสอบสวนพยานบุคคล

15/8/53
ถ้อยคำของบุคคลที่ให้ต่อพนักงานสอบสวน ในฐานะพยานนั้น หากพิจารณาถึง ผลที่ได้จากถ้อยคำของบุคคลนั้น ๆ ก็พิจารณาแยกได้เป็น 3 ประเภท คือ พยานฝ่ายผู้กล่าวหา พยานฝ่ายผู้ต้องหา และพยานฝ่ายเป็นกลาง

(3.1 ) พยานฝ่ายผู้กล่าวหา 


พยานประเภทนี้มีที่มาจากเหตุ ดังต่อไปนี้

- จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ จะทราบได้ว่ามีบุคคลใดอยู่ในที่เกิดเหตุบ้าง

เช่น ได้รับบาดเจ็บอยู่ในที่เกิดเหตุ หรือทราบว่าผู้ใดนำผู้บาดเจ็บส่งไปรับการตรวจรักษา บุคคลดังกล่าวนี้จึงเป็นพยานที่ได้จากที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมีบุคคลอยู่ตามเส้นทางซึ่งผู้กระทำผิดหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ ดังนั้น ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุพึงแสวงหาบุคคลดังกล่าวนี้ เพื่อสอบสวนเป็นพยานในคดี

- จากการกล่าวอ้างหรือให้การหรือการยืนยันจากผู้เสียหาย หรือจากผู้กล่าวหา หรือจากพยานว่าเป็นบุคคลที่รู้เห็นในคดีนั้น ๆ

- จากบุคคลซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องหรืออาจยืนยันซึ่งเอกสารหรือวัตถุพยานอันเป็นการสนับสนุนให้พยานเอกสารหรือวัตถุพยานนั้น ๆ มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

จากการสอบสวนพยานฝ่ายผู้กล่าวหานี้ ชอบที่ พงส. จะซักถามพยานที่ให้การเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในคดี และพิสูจน์ได้ว่าพยานรู้เห็นจริงหรือว่ามีการซักซ้อม ตระเตรียม ว่าจ้าง ให้มาเป็นพยาน ถ้าพยานให้การสอดคล้องต้องกันโดยเป็นเหตุเป็นผลก็เป็นข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าพยานแต่ละคนให้การขัดกันหรือมีเหตุผลข้อเท็จจริงที่ไม่น่าเป็นไปได้ น้ำหนักคำพยานนั้นที่จะรับฟังก็ย่อมลดน้อยลง หรือไม่น่ารับฟัง แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยเหตุการณ์ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอื่นประกอบด้วย ฉะนั้น ในการสอบสวนพยานฝ่ายผู้กล่าวหาซึ่งจะต้องสอบสวนโดยอาศัยประสบการณ์ ตลอดจนการมีความรู้ในเรื่องความเป็นไปได้มาซักถามพยานอย่างละเอียดรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม พยานที่ถูกกล่าวอ้างดังกล่าวนี้ พงส.จะต้องรีบสอบสวนโดยด่วน เพื่อป้องกันการซักซ้อมหรือในบางกรณีก็อาจมีการแยกสอบสวนพยานเพื่อป้องกันมิให้พยานได้พบปะกัน ภายหลังจากที่ได้สอบสวนพยานผู้หนึ่งไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี และเพื่อมิให้ผู้กล่าวหาหรือพยานดูถูก พงส.ได้ว่า รู้เท่าไม่ทันหรือถูกต้มถูกหลอก

(3.2) พยานฝ่ายผู้ต้องหา 


พยานประเภทนี้ มักจะปรากฏจากบุคคลที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง เช่น อ้างว่า ขณะเกิดเหตุพยานบุคคลนี้อยู่ร่วมกับผู้ต้องหา ไปด้วยกันหรืออ้างสถานที่อยู่ หรือจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบว่ามีเหตุผลเชื่อว่าบุคคลนี้อยู่กับผู้ต้องหา จึงจำเป็นต้องสอบสวนให้ได้ความกระจ่างว่า ในสถานที่ซึ่งผู้ต้องหาได้อยู่ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุเป็นใครบ้าง อีกทั้งต้องสอบสวนถึงเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ว่าได้มีการกระทำอะไรเกิดขึ้น ซึ่งต้องรีบสอบสวนพยานหลักฐานต่าง ๆ นี้โดยเร็ว การสอบสวนพยานที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างนั้น พงส. ควรเดินทางไปสอบสวนยังที่อยู่ของพยานดีกว่าเรียกพยานมาสอบสวน ณ ที่ทำการของ พงส. เพราะการเรียกพยานมาสอบสวนนั้น พยานมีโอกาสได้พบปะกันระหว่างพยานด้วยกันหรือพบกับผู้ต้องหา หรือญาติ พรรคพวกของผู้ต้องหาได้ อันจะทำให้พยานถูกกดดันหรือบีบคั้น เพื่อให้การบิดเบือนเป็นประโยชน์กับฝ่ายผู้ต้องหาได้

พยานฝ่ายผู้ต้องหานั้น ถ้ามิใช่เป็นบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ จริง ๆ แล้ว ย่อมจะให้การมีความแตกต่างถ้อยคำของผู้ต้องหาที่ให้การไว้บ้างในหลายประเด็น เช่น การแต่งกาย การพูดคุย การรับประทานอาหาร ชนิดของอาหาร หรือการแบ่งมอบหมายการงาน ความถนัดของมือข้างซ้ายข้างขวา เหล่านี้ก็จะทำให้วินิจฉัยได้ว่าผู้ต้องหาให้การจริงหรือเท็จประการใดบ้าง

พยานฝ่ายผู้ต้องหานั้น พงส. ส่วนใหญ่มักไม่คอยสอบปากคำโดยคิดว่า พยานฝ่ายผู้กล่าวหาดีแล้ว หนักแน่นแล้ว เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอบพยานฝ่ายผู้ต้องหาก็ได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะหาก พงส.ละเว้นการสอบพยานดังกล่าว ผู้ต้องหาซึ่งมีสิทธิอ้างพยานในชั้นศาลก็จะขอให้ศาลเรียกไปเบิกความในศาล และมีการซักซ้อมกับฝ่ายผู้ต้องหา หรือมีการเตรียมการที่จะเบิกความให้เป็นประโยชน์ในทางคดีแก่ผู้ต้องหาได้

(ข้อบังคับ มท. พ.ศ.2523 แก้ไข (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2538 ข้อ 3 และ ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 8 บทที่ 5 ข้อ 254)

ประการนี้ หากว่ามีเหตุผลและพยานบุคคลตลอดจนวัตถุพยานฝ่ายผู้กล่าวหาหนาแน่นดีแล้วก็ควรสอบสวนพยานที่ผู้ต้องหาอ้างเป็นการปิดปากไว้ก่อน ซึ่งหากผู้ต้องหานำไปกล่าวอ้างชั้นศาล พยานนี้ก็ไม่อาจจะบิดเบือนข้อเท็จจริงไปได้

ข้อสังเกต 

(1) สอบสวนพยานคนใดไว้แล้ว พยานคนนั้นเกิดตาย พงส. จะต้องสอบสวนบุคคลที่รู้เห็น ในการสอบสวนพยานผู้นั้นไว้ประกอบด้วย เพื่อใช้ในการรับรองคำให้การพยานที่ตายนั้นในชั้นศาล (ฎีกาที่ 1769/2541)

(2) พยานถูกยิงหลอดเสียงแตก และเขียนหนังสือไม่ได้ การสอบสวนให้พยานตอบโดย การแสดงอาการกิริยา เช่น พยักหน้า หรือใช้มือโบกว่าใช่ หรือไม่ใช่ก็ได้ ตาม ป.วิ อาญา ม.96 ป.วิ อาญา ม.15 และควรสอบสวนต่อหน้าบุคคลอื่นด้วย (ตามหนังสือ คด.ที่ 0503(ส)/4426 ลง 10 ก.ย.2524)

(3) คำเบิกความของพยานที่หูหนวกและเป็นใบ้ให้ถือว่า เป็นคำเบิกความของพยานบุคคลส่วนวิธีถามหรือตอบนั้น อาจจะทำโดยวิธีเขียนหนังสือหรือโดยวิธีอื่นที่สมควรก็ได้ ตาม ป.วิ แพ่ง ม.96 (ฎีกาที่ 81/2531)

(4) บุตรโจทก์ถูกรถของนาย ส. ชนตาย พงส.จดคำพยานไม่ตรงข้อเท็จจริง เพื่อช่วยนาย ส .ดังนี้ พงส. ผิด ม.157 , 200 (ฎีกาที่ 2294/2517

(5) พงส.ได้ชกปากผู้ต้องหา เพราะไม่ยอมรับสารภาพ ผิด ม.157 (ฎีกาที่ 1399/2508)

(6) การสอบสวนจำเลยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้เตือนจำเลยตาม ป.วิ อาญา ม.134 คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนจะใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยไม่ได้ (ฎีกาที่ 1304/2483)

(7) ในการสอบสวนหากปรากฏว่า มีผู้ให้การโดยมิได้มีการสาบานหรือปฏิญาณตน การสอบสวนก็มิเสียไป (ฎีกาที่ 614/2486)

(8) พงส. เอาคำให้การของพยานที่ให้การไว้ในชั้นกรรมการสอบสวนมาถามพยานและให้รับรองและสอบถามเพิ่มเติม แล้วจดบันทึกและอ่านบันทึกให้พยานฟังและลงลายมือชื่อดังนี้ ถือว่าได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว (ฎีกาที่ 869/2520)

(9) มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาหนึ่ง พงส.ได้ทำการสอบสวนเห็นว่า เป็นความผิดอีกข้อหาหนึ่ง ดังนี้ เป็นดุลพินิจของ พงส. สามารถทำได้ (ฎีกาที่ 755/2509)

(10) พยานให้การต่อ พงส.แล้ว แต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำให้การ ดังนี้ ให้พงส.บันทึกเหตุนั้นไว้ตาม ป.วิ อาญา ม.11 (ฎีกาที่ 51/2481)

(11) บันทึกคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ลง วัน เดือน ปี ไม่ตรงกับวันที่สอบจริง ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป ถือว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบแล้ว (ฎีกา 1991/2535)

(12) ในคดีที่ผู้เสียหายหรือพยานเป็นจำนวนมาก พงส.จำเป็นต้องทำแบบพิมพ์

เดียวกัน แล้วกรอกข้อความในส่วนที่แตกต่างกันของพยานแต่ละคน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในปัจจุบันเช่นนี้ ถือว่าใช้ได้ (ฎีกาที่ 2888/2535)

(3.3) พยานฝ่ายเป็นกลาง 

พยานประเภทนี้ เป็นพยานที่ได้จากการสืบสวนสอบสวนของ พงส. ซึ่ง

จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือในคดี อีกทั้งให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมากที่สุด พยานบุคคลที่ได้เช่นนี้เป็นพยานที่ พงส.ซักไซร้จากการสอบสวนผู้กล่าวหาหรือผู้ต้องหา หรือพยานบุคคลอื่น แล้วปรากฏขึ้นมาโดยทั้ง ๆ ที่ผู้กล่าวหาและผู้ต้องหาพยายามปกปิดเอาไว้ เพราะหากอ้างขึ้นมาก็จะทำให้ฝ่ายตนเสียหาย บางครั้งพยานบุคคลประเภทนี้ก็ได้จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ โดยมีผู้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่าตนเองเป็นผู้เห็น หรือยืนยันว่าพยานบุคคลนั้น ๆ เห็น หรืออยู่ในที่เกิดเหตุ หรือน่าจะเห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ หรือผ่านไปพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเข้าพอดี ซึ่งพยานดังกล่าวนี้ มักไม่ใช่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่กรณี นอกจากนี้พยานที่เป็นผู้ชำนาญการ เป็นผู้ออกความเห็น พยานบุคคลประเภทนี้ในบางครั้งก็จำเป็นต้องเรียกมาสอบสวน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงละเอียดยิ่งขึ้นในบางประเด็น หรือรับฟังจากเอกสารที่ส่งมา

ในการสอบสวนพยานทั้งสามประเภทดังกล่าวข้างต้นนั้น พงส.จะต้องพิจารณาประเด็นที่จะสอบให้เป็นลูกโซ่สอดคล้องกัน อีกทั้งต้องปรากฏเหตุผลและที่มาของพยานมิใช่ไม่ปรากฏเหตุผลความเป็นมาของพยานนั้น ๆ

การสอบสวนและบันทึกถ้อยคำหรือคำให้การของพยานนั้น ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบของการสอบสวน อีกทั้งกฎหมายที่กำหนดวิธีการปฏิบัติต่อพยาน เช่น การให้พยานสาบานตน หรือกรณีที่จะต้องมีล่ามแปลหรือปฏิบัติตามที่ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 กำหนดไว้ นอกจากนี้จะต้องเคร่งครัดต่อข้อกำหนดตามกฎหมาย เช่น การขีดฆ่าคำผิดและลงชื่อกำกับ หรือการอ่านข้อความที่บันทึกให้พยานฟังแล้วให้ลงนามไว้ทุกแผ่น นอกจากนี้เอกสารการสอบสวนพยานจะต้องสะอาดเรียบร้อย มีรูปแบบที่งามตา

( - ป.วิ อาญา มาตรา 11, 13, 133 , - ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 8 บทที่ 1 ข้อ 124)

(3.4) การควบคุมพยานและการป้องกันพยานสำคัญในคดีอาญา 

1. เป็นพยานสำคัญในคดีอาญาที่สมควรป้องกัน ได้แก่

- พยานนั้นเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีนั้น

- พยานเป็นผู้ไม่มีหลักแหล่งแห่งที่มั่นคงหรือทางสืบสวนมีเหตุผลน่า

เชื่อว่าถ้าจะปล่อยให้พยานอยู่ในที่เดิมแล้วจะเกิดอันตรายเสียก่อนที่พยานจะได้เบิกความ หรือฝ่ายผู้ต้องหาได้พยายามจัดการที่จะให้พยานหลบหนีไปเสียก่อน

2. วิธีป้องกันพยานสำคัญในคดีอาญา

- ให้ พงส.รายงานชี้แจงเหตุผลพร้อมด้วยอัตราเบี้ยเลี้ยงต่อกรมตำรวจเพื่อขออนุมัติให้ดำเนินการป้องกันพยาน

- เมื่อได้รับคำสั่งอนุมัติจาก ตร. แล้ว ให้ พงส. ระดับ สารวัตรขึ้นไป อธิบายความประสงค์ในการป้องกันพยานให้พยานทราบให้พยานลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงป้องกันพยานตามแบบบันทึกที่กำหนดขึ้น (แบบ ก.)

- ในการนี้ให้ พงส.จัดที่อยู่อาศัยหรือสถานที่กินอยู่ หลับนอนให้แก่พยานชั่วคราว และจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงค่าทดแทนจนกว่าพยานจะเบิกความเสร็จ ในระหว่างรออยู่นี้ หากพยานจะไปที่ใดจะต้องขออนุญาตจาก พงส.ก่อน เพื่อให้สามารถติดตามตัวมาเบิกความได้ (ไม่ใช่เป็นการควบคุม)

- ทำคำร้องตามแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ยื่นต่อศาลโดยเร็ว โดยแสดงเหตุผลให้ศาลทราบว่า ทางราชการได้จัดการป้องกันพยานสำคัญนี้อย่างใด เพื่อขอให้ศาลรีบพิจารณาคดีและให้พยานนั้นได้เบิกความโดยเร็ว

( ป.เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ บทที่ 6 ข้อ 255,256 , - ระเบียบ ตร.ว่าด้วยการคุมพยานและการป้องกันพยานสำคัญในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530)

(3.5) การขอให้สืบพยานไว้ก่อน 

1. ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ยากแก่การนำสืบ ให้พนักงานอัยการโดยตรงหรือได้รับคำร้องขอจาก พงส.จะนำผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องต่อศาล โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ (ป.วิ อาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคแรก)

2. คดีเรื่องใดเมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด หรือเพียงบางคนก็ตามเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะอ้างนำมาสืบในภายหน้าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ยากแก่การนำสืบ พงส.จะดำเนินการให้มีการสืบพยานก่อนฟ้องได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

- กรณีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ให้ พงส.ส่งคำร้องและหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้น พร้อมนำตัวผู้ต้องหหาส่งพนักงานอัยการโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดเหตุผล และความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อน เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้น

- กรณีที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว ให้ พงส.สั่งให้นายประกันนำตัวผู้ต้องหามาส่งแล้วส่งคำร้องขอและหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้น พร้อมนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการ โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อนเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลมีคำส่งให้สืบพยานนั้น

- กรณีที่ผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างฝากขังตามอำนาจศาลให้ พงส.ส่งคำร้องขอและหลักฐานการสอบสวนเบื้องต้นต่อพนักงานอัยการโดยไม่จำเป็นต้องส่งตัวผู้ต้องหา โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานไว้ก่อน เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้น ทั้งนี้ให้รายงานไว้ในคำร้องขอ ว่าผู้ต้องหาได้ถูกขังโดยศาลอยู่แล้วตามคำร้องฝากขังที่…………….ลงวัน เดือน ปีใดด้วย

3. กรณีที่ผู้ต้องหาเห็นว่า หากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว บุคคลซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาสืบเป็นพยานของตนจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร อันทำให้เป็นการยากแก่การที่จะนำบุคคลนั้นมาสืบในภายหน้า ถ้าเป็นกรณีผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนจะยื่นคำร้องโดยผ่าน พงส.ก็ได้ เพื่อดำเนินการต่อไปตาม (2) แล้วแต่กรณี

4. คำร้องขอให้มีการสืบพยานไว้ก่อนให้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิด เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานไว้ก่อน ตามแบบคำร้องขอสืบพยานไว้ก่อน ตามแบบท้ายระเบียบฯ และให้รวมไว้ในสำนวนการสอบสวน

(3.6) พยานที่มีเอกสิทธิ์ทางการทูต 

1. หากประสงค์จะสอบสวนบุคคลซึ่งเป็นทูต หรืออยู่ในคณะทูตที่มีเอกสิทธิทางการทูตเป็นพยานต้องรายงานกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) สั่งการก่อน จะออกหมายเรียก หรือเชิญตัวมาสอบสวนเป็นพยานโดยพลการไม่ได้

2. ถ้าได้รับอนุมัติให้สอบสวนบุคคลดังกล่าวเป็นพยานได้ หากจำเป็น

ต้องใช้ล่ามก็ให้สอบสวนล่ามและผู้ที่นั่งฟังการสอบสวนเป็นพยานด้วยว่า ได้ฟังพยานนั้น ๆ ให้การอย่างไร ด้วยอาการอย่างไร ทั้งนี้หากว่าพยานกลับไปประเทศของตน ก่อนที่ไปเบิกความที่ศาล หรือกลับใจอ้างเอกสิทธิในภายหลัง จะได้ส่งคำให้การของพยาน และนำล่ามหรือผู้ที่ฟังการสอบสวนเข้าสืบชั้นศาลต่อไป

(3.7) พยานที่เป็นใบ้ หูหนวก 

1. ต้องใช้ล่าม โดยล่ามต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อน

2. พยานที่เป็นใบ้ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้การ

3. ถ้าคนใบ้อ่านหนังสือได้ ควรใช้วิธีเขียนหนังสือถาม และให้คนใบ้ เขียนหนังสือตอบก็จะได้ความดีขึ้น

4.. อ่านคำให้การให้ล่ามและพยานที่เป็นใบ้ฟังให้ล่ามและคนใบ้ลงลายมือชื่อไว้

อนึ่ง พยานที่เป็นใบ้นั้น ถ้าไม่ใช่ตัวผู้เสียหายซึ่งจะต้องสอบสวนเป็นพยานเสมอแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่สอบสวนเป็นพยาน เพราะยุ่งยากและอาจได้ผลแก่คดีน้อย

(ป.วิ แพ่ง มาตรา 95 , วิ อาญา มาตรา 15)

(3.8) พยานแพทย์หรือผู้ชำนาญการพิเศษ

พยานประเภทนี้ซึ่งได้ออกรายงานผลการตรวจไว้แล้วไม่จำเป็นต้องสอบปากคำอีกเว้นแต่มีประเด็นต้องสอบสวนนอกเหนือจากรายงานผลการตรวจหรือมีประเด็นอื่นที่ยังไม่สิ้นสงสัย

(ป. วิ อาญา มาตรา 243, - หนังสือ คด.ตร.ที่ 0004.6/10940 ลง 3 ก.ย.2545 เรื่องแนวทางการปฏิบัติในการทำสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม)

พยานซึ่งเป็นแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ หรือชันสูตรบาดแผลผู้เสียหายนั้น ควรทำความเห็นตามหลักวิชาการแพทย์ ถึงสาเหตุที่ตายหรือความเห็นในลักษณะบาดแผลนั้นว่า รักษากี่วันหาย เป็นอันตรายธรรมดาหรืออันตรายสาหัสไว้ด้วย

(3.9) พยานที่เป็นเด็กอ่อนอายุ 

1. กฎหมายไม่กำหนดว่าบุคคลใดจึงจะเป็นพยานได้หรือไม่ได้ เพียงแต่ระบุว่าถ้าบุคคลนั้นสามารถเข้าใจและตอบคำถามได้และเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้น มาด้วยตนเองโดยตรง ก็ให้รับฟังเป็นพยานได้

(ป.วิ แพ่ง มาตรา 95 , ป. วิ อาญา มาตรา 15)

ฉะนั้น แม้เป็นเด็กอ่อนอายุ ถ้าสามารถเข้าใจและตอบคำถามได้ และรู้เห็นเหตุการณ์ในคดีก็อาจสอบสวนเป็นพยานได้

2. เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้การ

3. ต้องสร้างบรรยากาศในการซักถามเพื่อมิให้เด็กประหม่า หรือตกใจกลัวจนเสียผลในการให้ข้อเท็จจริง ด้วยการตั้งคำถามง่าย ๆ และให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กนั่งฟังการสอบสวนด้วย

4. ต้องสอบสวนปากคำบิดามารดา หรือผู้ปกครองเด็กไว้ด้วยว่า เมื่อเห็นเหตุการณ์ในคดีแล้ว เด็กได้เล่าเรื่องที่พบเห็นได้ฟังอย่างไรบ้างหรือไม่

5.ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ตั้งแต่สามปีขึ้นไปหรือในคดีที่โทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสามปี และผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กร้องขอ หรือในคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย

ให้เป็นหน้าที่ของ พงส.ที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการทราบ

นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการ ที่เข้าร่วมในการถามปากคำ อาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น

การถามปากคำเด็กให้ พงส.จัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าว ซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน ประการนี้ให้บันทึกไว้ในบันทึกคำให้การพยานเด็กหรือผู้เสียหายเด็กด้วย

ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควร ไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้ ให้ พงส.ถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวข้างต้นอยู่ร่วมด้วยก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวนและมิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(3.10) พยานที่เป็นพระภิกษุหรือสามเณรในพระพุทธศาสนา 

1. อย่าเรียกหรือนิมนต์พยานมาที่สถานีตำรวจ เว้นแต่พยานจะเต็มใจมาเอง และอย่าออกหมายเรียก เพราะหมายนั้นไม่มีสภาพบังคับเนื่องจากพยานมีเอกสิทธิที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามหมายเรียก

2. ก่อนถามปากคำ ไม่ต้องให้พยานสาบานหรือปฏิญาณตนเพราะพยานมีเอกสิทธิที่จะไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้การ

3. อธิบายให้พยานทราบว่า พยานมีเอกสิทธิที่ไม่ไปให้การเป็นพยานศาล และมีสิทธิที่จะไม่เบิกความได้ แล้วสอบถามพยานให้แน่ใจว่าพยานจะไม่ใช้เอกสิทธิดังกล่าว จึงบันทึกคำพยานไว้

(3.11) คำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตาย 

ก. คำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายนั้น หมายถึงถ้อยคำที่ผู้ตายได้กล่าวไว้ต่อ

ผู้ใกล้ชิด หรือเจ้าพนักงานก่อนตาย ซึ่งโดยปกติก็นำผู้ที่รับฟังคำบอกเล่านั้นมาให้การหรือเบิกความต่อศาล จึงถือเป็นพยานบอกเล่า แต่ศาลรับฟังหากว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ต้องนำสืบเพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดีที่ต้องบาดเจ็บหรือถูกประทุษร้ายถึงตายเท่านั้น

(2) ผู้กล่าวได้รู้สึกตัวดีว่ากำลังใกล้จะตาย

(3) ความตายนั้นใกล้จะถึง คำกล่าวที่จะรับฟังนั้นจะรับฟังเฉพาะถึงเหตุในการที่ต้องบาดเจ็บหรือถูกประทุษร้ายเท่านั้น

ข. ในกรณีที่ พงส. เป็นผู้บันทึกถ้อยคำของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายไว้ด้วยตนเอง

มีหลักเกณฑ์ในการบันทึกดังนี้

1) บันทึกถึงความรู้สึกของผู้ถูกทำร้ายใกล้จะตายว่า

- เขากำลังใกล้จะตายเพราะบาดแผลที่ถูกทำร้าย

- ในขณะที่ให้การหรือเล่าเหตุการณ์อันร้ายแรงให้ฟังนี้เขายังมีสติอยู่

- ให้ผู้นั้นลงชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ท้ายคำให้การ

2) บันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ไว้คือ

- ชื่อและตำบลที่อยู่ ที่ถูกต้องของผู้ใกล้ตาย

- วันเดือนปี และเวลาที่ถูกทำร้าย

- ใครเป็นผู้ทำร้ายด้วยอาวุธใด

- ถูกทำร้ายตรงไหน ก่อนหลังอย่างไร

- สาเหตุที่ถูกทำร้ายกับใคร

- ผู้ทำร้ายเป็นใครบ้าง จำได้หรือไม่

- รูปพรรณของผู้ทำร้ายมีรูปร่างอย่างไร

- ข้อเท็จจริงอื่น ๆ เพิ่มเติม

3) คำให้การของบุคคลผู้ใกล้จะตายนั้น ให้อ่านให้ผู้ใกล้ตายฟังต่อหน้า พยานอย่างน้อย 1 คน และ พงส. และพยานจะต้องลงชื่อกำกับไว้ทันที

ค. ถ้า พงส. ไม่ได้สอบปากคำผู้ถูกทำร้ายก่อนตายไว้ ให้สอบสวนผู้ที่ได้รับคำบอกเล่าเช่นนั้นไว้ โดยหลักการเช่นเดียวกันที่กล่าวมาข้างต้น

ดังนี้ พงส. จะต้องรีบไปสอบสวนผู้ที่ถูกทำร้ายโดยเร็ว ด้วยเหตุที่คำให้การของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายนั้น ศาลรับฟัง หากไปสอบสวนแล้วแต่ปรากฏว่าผู้ถูกทำร้ายดังกล่าวยังไม่ตายแต่ไม่อาจให้ถ้อยคำได้ เช่น หมดสติ หรืออาการหนักหรือแพทย์กำลังช่วยชีวิตอยู่ ดังนั้น พงส.จะต้องบันทึกเหตุขัดข้องนี้ไว้ แล้วให้พยานที่ทราบเหตุดังกล่าวนี้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ในบันทึกนั้นด้วย

(3.12) การส่งประเด็นหรือให้ พงส.อื่นสอบสวนพยานแทน 

1. การใดในการสอบสวนอยู่นอกเขตอำนาจของตน พงส.มีอำนาจจะส่งประเด็นไปให้ พงส.อื่น ซึ่งมีอำนาจการนั้นจัดการได้

2. การส่งประเด็นนั้น พงส. ผู้รับผิดชอบเป็นผู้จัดส่งไปควรสำเนาคำให้การของผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ กับสำเนาคำให้การผู้ต้องหาส่งไปด้วย และถ้าจะแจ้งประเด็นซักถามหรือข้อความที่ควรซักถามไปให้ผู้รับประเด็นทราบด้วยก็จะเป็นการสะดวกแก่ผู้รับประเด็นมากขึ้น

( ป.วิ อาญา มาตรา 128)
Read more ...

ศาลปกครองกับการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน

15/8/53
โดยชินานนท์ วงศ์วีระชัย เมื่อ 29/06/2553 www.forlayman.com


ในการสอบสอนคดีอาญานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน   ผู้ที่จะเป็นพนักงานสอบสวนได้ก็คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ   ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเป็นพนักงานสอบสวน   มีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ
    
การสอบสวนก็คือ การรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับความผิดที่มีการกล่าวหา   เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด   และเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ   ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงอาจออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ   หรืออาจจะขอให้ศาลออกหมายค้นเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ    หรือขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อเอาตัวผู้ต้องหามาเพื่อดำเนินคดีต่อไปก็ได้   และขั้นตอนสุดท้ายคือ การสั่งคดีว่าควรจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่   ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจได้ตามความเหมาะสมตามกรอบที่กฎหมายกำหนด
    
ศาลปกครองนั้น มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำต่างๆของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่   แต่ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปปฏิบัติการในเรื่องนั้นๆเสียเอง   ดังนั้น การเข้าไปใช้ดุลพินิจสั่งการในเรื่องนั้นๆเสียเอง ศาลปกครองไม่สามารถกระทำได้   คงวินิจฉัยว่าการดำเนินการในเรื่องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น   แต่ถ้าพนักงานสอบสวนละเลยต่อหน้าที่หรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่   ศาลปกครองสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
    
คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๙๐/๒๕๕๒   การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีอาญานั้น   เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม

-กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและ
-ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับคดี   ประกอบกับ
-ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   

เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน(ผู้ถูกฟ้องคดี)   กล่าวโทษพี่สาวของผู้ฟ้องคดีและเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาว่ายักยอกฉ้อโกงทรัพย์มรดก   แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการใดๆ   จึงเป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยหรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่   อันเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ   หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร   คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
    
แต่ถ้าเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน   เกี่ยวกับการดำเนินคดีหรือการรวบรวมพยานหลักฐานใดๆหรือการสั่งคดี   พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจกระทำการอย่างใดก็ได้ตามที่เห็นสมควรตามกรอบของกฎหมาย   อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   กรณีเหล่านี้ย่อมอยู่ในการตรวจสอบของศาลยุติธรรม   ไม่ใช่ศาลปกครอง(คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๙๙/๒๕๕๐)
    
สำหรับกรณีที่พนักงานสอบสวนกระทำละเมิด   เช่น กรณีที่พนักงานสอบสวนยึดรถของผู้ฟ้องคดีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย   เมื่อผู้ฟ้องคดีขอรับรถคืนแล้วไม่คืนให้   และรถยนต์ถูกจอดทิ้งไว้โดยไม่มีการดูแลรักษา   เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีรถยนต์ใช้และรถยนต์ได้รับความเสียหาย   จึงเป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่า พนักงานสอบสวนกระทำละเมิดของผู้ฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา   คดีอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม   ไม่ใช่ศาลปกครองเช่นเดียวกัน(คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๖๖/๒๕๕๒)
Read more ...

"คดีเสร็จเด็ดขาด" กับ "คดีถึงที่สุด" ต่างกันอย่างไร

10/8/53
คดีเสร็จเด็ดขาด หมายความว่า คดีที่ศาลได้มีการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและได้มีคำพิพากษาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากคู่ความไม่พอใจก็อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้อีก แต่ต้องอุทธรณ์ ฎีกาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกาด้วย

ตัวอย่าง ฎีกาเกี่ยวกับคดีเสร็จเด็ดขาด 
ฎีกาที่ 977/2466 
นางนวม ไพโรจน์ จ. 
นางชัง นางถมยา ล.
กฎหมายที่ใช้ วิธีพิจารณาแพ่ง รื้อร้องฟ้องคดีเรื่องเดียวกัน วางหลักเรื่องคดีเสร็จเด็ดขาด

ย่อยาว
โจทย์ฟ้องเรียกเงินกล่าวว่า จำเลยรับเงินค่าซื้อไม้ซุงเกินไปรวมทั้งดอกเบี้ยด้วยเปนเงิน ๔๐๘๐ บาท ขอให้คืน จำเลยให้การปฏิเสธแก้ว่า เมื่อคิดบาญชีกันแล้ว โจทย์ยังคงเปนณี่จำเลยอีก ดังที่จำเลยที่ ๑ ได้ฟ้องแล้วที่ศาลจังหวัดศุโขทัย

ฎีกาตัดสินว่า ต้องวินิจฉัยตามข้อตัดฟ้องที่จำเลยแก้นี้เสียก่อนว่า ณี่สินรายนี้จะเปนรายเดียวกับที่จำเลยได้ฟ้องโจทย์ที่ศาลจังหวัดศุโขทัยฤาไม่ การที่จะวินิจฉัยว่า คดีเสร็จเด็ดขาดฟ้องอีกไม่ได้ มีหลักคือ

๑. ประเด็นข้อทุ่มเถียง ทั้งเรื่องก่อนเรื่องนี้ต้องเหมือนกัน (มีที่สังเกตุว่าพยานชุดเดียวกันนั้นจะค้ำจุนอุดหนุนคดีทั้ง ๒ เรื่องได้ฤาไม่)

๒. คู่ความเรื่องหลังต้องเปนคู่ความหรือเปนผู้เกี่ยวข้องกับคดีเรื่องก่อน

๓. ประเด็นข้อทุ่มเถียงกันในคดีเรื่องก่อนนั้นศาลมีอำนาจได้พิพากษาเด็ดขาดไปแล้ว

เมื่อได้พิจารณาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าคดีเข้าหลักทั้ง ๓ หลักที่กล่าวมาข้างต้น คือประเด็นทั้ง ๒ คดีเปนประเด็นอันเดียวกัน คู่ความคน ๆ เดียวกัน แลในคดีเรื่องก่อนศาลฎีกาได้พิพากษาเด็ดขาดไปแล้วตามฎีกาที่ ๕๕๓/๖๖ ว่าโจทย์เปนณี่จำเลย จึงพิพากษาว่าคดีโจทย์ต้องด้วยบทห้ามตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ.๑๒๗ ให้ยกฎีกาโจทย์แลยกฟ้องโจทย์ ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฯ

องค์คณะ
จินดา.นรเนติ.หริศ.
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน
ศาลชั้นต้น -
ศาลอุทธรณ์ -


ฎีกาที่ 331/2479 
โจทก์ฟ้องผู้กู้แลผู้ค้ำประกัน ผู้กู้ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ค้ำประกันมาทำยอมความต่อศาลฯได้ พิพากษาให้เป็นไปตามยอมแล้ว และจัดการยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกันได้ไม่พอดังนี้ โจทก์มาฟ้องเรียกเงินที่ขาดจากผู้กู้ได้อีก ไม่นับว่าผู้กู้ได้หลุดพ้นความรับผิดและไม่นับว่าเป็นคดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว


ฎีกาที่ 1777/2506 
จำเลยถูกฟ้องยังศาลทหารฐานทำร้ายร่างกายและศาลพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ต่อมาอัยการยังฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายอีก โดยเอาการทำร้ายร่างกายครั้งเดียวกันนั่นเองมาเป็นองค์ความผิดของคดีหลังนี้ด้วย ดังนี้ ต้องถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ฎีกาที่ 1499/2531 
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาหมิ่นประมาทโดยจำเลยทั้งสองกับพวกทำหนังสือใส่ความโจทก์ซึ่งเป็นกำนันร้องเรียนต่อนายอำเภอ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์จะนำการกระทำอันเดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกในข้อหาแจ้งความเท็จกล่าวหาโจทก์ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้แม้ประเด็นในคดีทั้งสองนี้จะต่างกันก็ตาม สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แล้ว

คดีถึงที่สุด หมายความว่า คดีที่ศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีนั้นไปแล้ว แต่คู่ความมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ หรือฎีกา คำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือ ศาลอุทธรณ์ ดังกล่าวจนล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ หรือฎีกาแล้ว ผลแห่งคดีที่ถึงที่สุดย่อมต้องเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในกรณีที่มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ หรือเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในกรณีที่มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ รวมทั้งในกรณีที่มีการใช้สิทธิอุทธรณ์และได้มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วโดยกฎหมายบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ผลแห่งคดีที่ถึงที่สุดย่อมต้องเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และในกรณีที่ใช้สิทธิฎีกา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีนั้น คดีย่อมถึงที่สุดไปตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัย 

ตัวอย่างคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีถึงที่สุด 

ฎีกาที่ 2224/2547 
ในคดีอาญาโจทก์และจำเลยจะขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาตามยอมหาได้ไม่  คดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองสำนวนถอนฟ้องได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และมีผลให้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองระงับไปด้วยในตัว 

ฎีกาที่ 853/2490 
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งไม่มีฝ่ายใดฎีกาคัดค้านและไม่มีทางใดที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉะบับนั้นได้ ต้องถือว่าถึงที่สุด เมื่ออ่านให้คู่ความฟังแล้ว
ในคดีความผิดส่วนตัวเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้อง แต่คดีไม่มีการยื่นฎีกานั้น ศาลจะสั่งให้คดีระงับไม่ได้ โดยถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว
Read more ...