น้ำยาวิชานิติศาสตร์ไทย

16/2/53
การศึกษากฎหมายไทย ไม่ให้ความสนใจต่อการศึกษาค้นคว้าถึงแนวความคิดทฤษฎี ที่จะช่วยให้เกิดพลังใน การวิ พากษ์วิจารณ์หรือเกิดการตั้งคำถามใหม่ๆ ในทางวิชาการ ทำให้ไม่เกิดความเคลื่อนไหวหรือการโต้แย้งในประเด็นต่างๆ เช่น ความคิดแบบอิตถีศาสตร์ทางกฎหมาย (Feminist Legal Theory) มีส่วนอย่างมากต่อการวิเคราะห์ถึงความไม่เสมอภาคทางเพศในกฎหมาย อันเป็นผลให้นำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น แนวความคิดแบบสัจนิยมทางกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อการตัดสินของผู้บังคับใช้กฎหมายว่าดำเนินไปโดยมีอคติใดแอบแฝงอยู่หรือไม่ แต่สำหรับวิชานิติศาสตร์ไทย แนวความคิดต่างๆ เหล่านี้ปราศจากความหมาย เนื่องจากไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียนกลายเป็น "นักกฎหมายที่เก่ง" ขึ้นมา อีกทั้งกลายเป็นวิชาไม่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพเลย
น้ำยาวิชานิติศาสตร์ไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

1. ความเฟื่องฟูในความตกต่ำ
สุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความนิยมของการศึกษาทางด้านกฎหมายว่ากำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

"จากการรับสมัครนักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แบบรับตรงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้สมัครรวมถึง 2,367 คน จากจำนวนรับเพียง 125 คน นอกจากนี้นักศึกษาที่สอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นคนสุดท้าย มีคะแนนที่สามารถเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้สบายๆ

แสดงว่าในปัจจุบันมีความต้องการเรียนกฎหมายเพิ่มขึ้น เพราะปัจจัยเกี่ยวกับค่าตอบแทนของผู้พิพากษาและอัยการสูงขึ้น ทำให้เกิดกระแสความต้องการรวมถึงบทบาทของนักกฎหมายที่เกิดขึ้นในโอกาสต่างๆ ทำให้สังคมเห็นความจำเป็น ขนาดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังตั้งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายด้วย" (มติชนรายวัน 17 ตุลาคม 2545)

ภาพประกอบบทความดัดแปลง ผลงานจิตรกรรมของ Lucian Freud ชื่อภาพ Girl with a white dog 1951 ภาพประกอบหลัง ผลงานภาพถ่ายของ George Steinmetz จากหนังสือ National Geographic : July 2001หน้า 110-111 หากประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา จะแก้ปัญหาได้

Rrelate

ในการเรียนการสอนทุกศาสตร์ทุกสาขาวิชาชีพในปัจจุบันนี้ จะเน้นเทคนิคเป็นตัวตั้งไม่สนเรื่องคน ส่วนนิติศาสตร์ก็ดำทะมึนไม่เห็นทางออก : ศ.นพ.ประเวศ วะสี 

ความเฟื่องฟูของการศึกษาวิชานิติศาสตร์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นสถาบันเก่าแก่อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น มีการขยายตัวของการศึกษาเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้มีอย่างชัดเจน หากพิจารณาถึงการเปิดสอนหลักสูตรนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเอกชน จากเดิมที่มีสถาบันเอกชนเปิดสอนระดับปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์เพียง 5 แห่งเมื่อ พ.ศ. 2529 กลับเพิ่มจำนวนเป็นไม่น้อยกว่า 25 แห่งในปัจจุบัน

รวมถึงการขยายตัวของการศึกษาที่สูงขึ้นทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยที่ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของรัฐ 2 แห่งเปิดสอนหลักสูตรในระดับปริญญาเอก

แต่ความเฟื่องฟูของการศึกษาวิชานิติศาสตร์นี้ เป็นเครื่องหมายถึงความก้าวหน้าในทางวิชาการนิติศาสตร์ด้วยหรือไม่?

ดูเหมือนว่าไม่มีคำตอบหรือการพิเคราะห์ที่ชัดเจนจากแวดวงวิชาการนิติศาสตร์ สุรพลซึ่งตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ หากเพียงแต่สรุปสถานการณ์ของการเรียนนิติศาสตร์ที่ดูเหมือนน่าภาคภูมิใจมากขึ้นกว่าเดิม เพราะ "ที่ผ่านมาเด็กนิติฯ มักจะขอโอนย้ายไปเรียนสาขาอื่น แต่เวลานี้เด็กสาขาอื่นกลับโอนมาเรียนนิติกันแล้ว"

แต่สำหรับสายตาของบุคคลที่อยู่นอกแวดวง หรือมิได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายโดยตรง ความเฟื่องฟูนี้ไม่ได้มีความหมายถึงความก้าวหน้าในวิชาการความรู้นิติศาสตร์แต่อย่างใด นพ. ประเวศ วะสี ซึ่งได้เคยแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ระบบกฎหมายของไทยมาหลายครั้งถึงสภาพปัญหา(ที่วงการนิติศาสตร์ไทยเองไม่ค่อยได้ตระหนักถึง) ของการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยบ่อยครั้ง ได้ย้ำถึงทรรศนะของตนที่มีต่อวงการนิติศาสตร์อีกครั้งเมื่อ 31 ตุลาคม 2545 ที่ผ่านมาว่า...

"ในการเรียนการสอนทุกศาสตร์ทุกสาขาวิชาชีพในปัจจุบันนี้ จะเน้นเทคนิคเป็นตัวตั้งไม่สนเรื่องคน ส่วนนิติศาสตร์ก็ดำทะมึนไม่เห็นทางออก จนทำให้เกิดความรุนแรงอย่างชาวบ้านที่จังหวัดอ่างทองถูกตำรวจจับกุม เพราะส่งกระจายเสียงวิทยุชุมชนของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกกฎหมาย ตนพูดเสมอว่าอย่าเอานิติศาสตร์เป็นตัวตั้งให้เอาธรรมศาสตร์หรือธรรมะเป็นตัวตั้ง จึงจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมาย ตนพูดกับนักกฎหมายมา 7-8 ปีแต่ทำไม่ได้ นักกฎหมายบอกว่าเป็นความอ่อนแอทางวิชาการ กฎหมายสอนแต่ให้เป็นทนายความเป็นผู้พิพากษา" (มติชนรายวัน 1 พฤศจิกายน 2545)

คำวิจารณ์ต่อระบบกฎหมายของไทย เป็นส่วนหนึ่งในการบรรยายเรื่องปรัชญาสหวิทยาการ (เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ศ.ดร. อภิชัย พันธเสน) โดยที่ได้หยิบยกเอาการศึกษากฎหมายขึ้นมาเป็นประเด็นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ในทรรศนะของผู้พูดต้องเป็นปัญหาที่มีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว

แม้ว่าโดยวิชาชีพที่ไม่ใช่นักกฎหมายแต่นับว่า นพ. ประเวศ สะท้อนกล่าวได้ตรงประเด็นถึงปัญหาของระบบการศึกษากฎหมายไทยว่า เป็นผลของการที่สถาบันการศึกษากฎหมายของไทยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเพื่อไปประกอบอาชีพเช่นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ เป็นหลัก

Lord Denning นักกฎหมายชาวอังกฤษได้แสดงความเห็นว่าบทบาทหรือภารกิจของสถาบันการศึกษากฎหมายที่สำคัญมีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ

ประการแรก การให้การศึกษากฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือ positive law อันเป็นการศึกษาว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะนั้นมีเนื้อหา การตีความ การบังคับใช้อย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและใช้กฎหมายได้

ประการที่สอง ศึกษากฎหมายในด้านของพัฒนาการ เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของหลักกฎหมายและเหตุผลที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย และ

ประการที่สาม เป็นการศึกษานิติศาสตร์ในทางคุณค่าเพื่อชี้ให้เห็นผลดีผลเสียจากการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการแสวงหาทางออกในกรณีที่กฎหมายนั้นไม่สอดคล้องหรือก่อให้เกิดปัญหากับสังคม

นี่คือภารกิจพื้นฐาน 3 ประการของการจัดการศึกษาวิชานิติศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง แต่สำหรับในประเทศไทยดูเหมือนว่าจะมีเพียงภารกิจประการแรกเท่านั้น ที่ได้รับความใส่ใจ ส่วนภารกิจในด้านอื่นๆ ที่เหลือกลับยังแทบไม่ปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด

มีเหตุผลอะไรที่ทำให้การศึกษานิติศาสตร์ในประเทศไทย จึงมองข้ามบทบาทด้านอื่นๆ ไปแทบจะสิ้นเชิง?

2. วิชาชีพครอบงำวิชาการ

ระบบการศึกษาวิชานิติศาสตร์ของไทยในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2492 การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นมีการยกเลิกหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งตามวัตถุประสงค์เดิมเป็นการจัดการศึกษา เพื่อเผยแพร่แนวความคิดและหลักวิชาใหม่ๆในระบอบประชาธิปไตย แก่คนในสังคมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลายมาเป็นระบบการศึกษาที่มีการแยกออกเป็นสาขาวิชาต่างๆ อย่างชัดเจน คือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

เฉพาะในส่วนของนิติศาสตร์ มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่เป็นไปเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพทางด้านกฎหมายมากขึ้น เช่น กฎหมายอาญาที่เดิมเคยจัดไว้เพียงภาคการศึกษาเดียวก็ขยายออกเป็น 3 ภาคการศึกษา สอนเนื้อหากฎหมายที่เป็นอาชีพเฉพาะทาง เช่น พ.ร.บ. ข้าราชการตุลาการ อัยการ ทนายความ เป็นต้น และมีการตัดเนื้อหาวิชา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจกับสังคมออกไป เช่น วิชาลัทธิเศรษฐกิจ

หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาให้ชัดเจนที่สุดก็คือ หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตหลังการแยกเป็นคณะคือการเปลี่ยนทิศทางการศึกษากฎหมายบนฐานของสหวิทยาการ มาสู่ความเป็นช่างเทคนิคทางกฎหมายมากขึ้น

นอกจากการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์แล้ว ใน พ.ศ. 2491 ได้มีการจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภาขึ้น อันเป็นหน่วยงานที่จะมีบทบาทต่อการกำหนดแนวทางการศึกษากฎหมายอย่างมากต่อมาในภายหลัง

ในเบื้องต้นวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเนติฯ ก็เพื่อเป็นการฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่มีอาชีพทางด้านกฎหมายในอันที่จะใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ แนวทางการศึกษาของเนติฯ จึงเน้นหนักในแง่ของตัวบทกฎหมาย การตีความและการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

เพราะฉะนั้น หากเปรียบเทียบระหว่างสถาบันการศึกษาเช่นเนติฯ กับการศึกษาวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย อาจกล่าวได้ว่าขณะที่มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ในการจัดการศึกษาทั้งในแง่ของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ พัฒนาการความเป็นมาและการประเมินถึงผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไข ส่วนเนติฯ จะจัดการศึกษาเพิ่มเติมเฉพาะในส่วนของผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพที่ใช้ความรู้ทางด้านกฎหมายโดยตรง ให้สามารถใช้กฎหมายที่มีผลบังคับอยู่ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

แต่เส้นแบ่งระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งสองปรากฏขึ้นในความเป็นจริงหรือไม่?

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยกล่าวถึงข้อขัดแย้งของระบบการศึกษากฎหมายไทย โดยเฉพาะบทบาทของเนติฯ ไว้อย่างตรงไปตรงมาที่สุดครั้งหนึ่ง ในการสัมมนาเรื่องพัฒนาการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์กับสังคมไทย เมื่อ พ.ศ. 2529 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้

"ปัญหาของการศึกษานิติศาสตร์ในประเทศไทยในเวลานี้ก็คือว่า ทุกมหาวิทยาลัยหวังแต่ผลิตบัณฑิตของตัวให้หางานทำได้มากที่สุด ตลาดใหญ่ที่สุดและ traditional มากที่สุดคือตลาดอัยการ, ผู้พิพากษา, ทนาย สามวิชาชีพนี้มีอะไรคุมครับ เนติบัณฑิตยสภา สำนักฝึกอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เพราะฉะนั้นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั้งหลายทั้งที่เป็นรัฐและของเอกชน จึงเลียนแบบหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ร้ายไปกว่านั้นเอาอาจารย์ชุดเดียวกันมาสอนครับทั้งที่เนติฯ, จุฬา, ธรรมศาสตร์

เคยมีผู้พยายามที่จะแหวกวงว่ายออกจากวัฏจักรนี้ที่อาจารย์มาลี (พฤกพงษศาวลี) ว่าก็คืออาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ แต่เป็นที่น่าเสียดายนะครับท่านก็ถูกโจมตีว่าจะไปสอบเนติฯ สู้เขาได้อย่างไร

ผลก็คือว่าวิชาชีพมันครอบงำวิชาการ ซึ่งมีผลในการพัฒนาการศึกษากฎหมายเพราะว่า นักวิชาชีพคือท่านผู้พิพากษา ท่านอัยการ ท่านทนายความเหล่านี้ ได้เข้ามากำหนดบทบาทของการศึกษานิติศาสตร์นั้น ท่านเข้าไปทั่วทุกหัวระแหง แห่งแรกที่ท่านยึดหัวหาดคือเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย เป็นเพราะมหาวิทยาลัยเองระบบอาจารย์ประจำยังไม่แข็ง ซึ่งในเวลานี้สภาพดีขึ้นมากแล้ว(เฉพาะในมหาวิทยาลัยของรัฐเท่านั้น-ผู้เขียน)

แห่งที่สองที่ท่านเข้าไปยึดหัวหาดก็คือท่านเข้าไปในกรรมการต่างๆ ของรัฐที่คุมการศึกษานิติศาสตร์ ท่านเข้าไปในทบวงมหาวิทยาลัยอยู่ในคณะกรรมข้าราชการพลเรือนเลยทีเดียว ท่านเข้าไปคุมการศึกษานิติศาสตร์ภาคเอกชน ท่านเข้าคุมสภาวิจัยแห่งชาติ 40 กรรมการสาขานิติศาสตร์ของสภาวิจัยกว่าครึ่งมาจากวิชาชีพดั้งเดิม ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หลายท่านเป็นครูบาอาจารย์ของผม

และเป็นที่น่าแปลกมหัศจรรย์ว่าหลายท่านนั้น ตำราสักเล่มหนึ่งท่านก็ไม่เคยเขียนแต่เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติทางด้านนิติศาสตร์ เพราะฉะนั้นผลผลิตออกมาคุณสมบัติเดียวกันหมด จบธรรมศาสตร์ จบจุฬาฯ จบรามคำแหง จบ มสธ. จบศรีปทุม อะไรก็แล้วแต่คุณภาพเหมือนกันหมด"(รายงานการสัมมนาทางวิชาการ, 2529 น. 215-216)

3. มหาวิทยาลัยในฐานะอาณานิคม

จำเป็นต้องกล่าวในเบื้องต้นไว้ก่อนว่า การศึกษากฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในแต่ละช่วงเวลา เป็นความจำเป็นพื้นฐานของการศึกษากฎหมายเพื่อให้สามารถรู้และใช้กฎหมายเป็น การศึกษากฎหมายที่เน้นถึงตัวบทอันเป็นลายลักษณ์อักษร และการตีความ เมื่อเกิดข้อพิพาทในทางกฎหมายก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาที่ปรากฏอยู่ที่สำนักฝึกอบรมกฎหมายแห่งเนติฯ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

แต่ปัญหาของการศึกษาวิชานิติศาสตร์ไทยก็เป็นไปดังที่บวรศักดิ์ได้แสดงความเห็นไว้ว่า เป็นภาวะที่ "วิชาชีพครอบงำวิชาการ" อันทำให้เกิดสภาพความยุ่งยากในระบบการศึกษากฎหมายดังที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน คือ

ประการแรก หลักสูตรวิชานิติศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ล้วนแต่มีสภาพเป็นเพียงโรงเรียนเตรียมเนติฯ แทบทั้งสิ้น

การครอบงำของเนติฯ ทำให้หลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ไม่มีความแตกต่างไปจากเนื้อหาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรเนติฯ เนื้อหาของวิชาที่ศึกษาในระดับปริญญาตรีประมาณ 80-90เปอร์เซ็นต์ของทุกสถาบันการศึกษาล้วน แต่มุ่งเพื่อให้ไปสู่การเรียนในชั้นเนติฯ ได้

สภาพเช่นนี้คณะนิติศาสตร์หรือสาขาวิชานิติศาสตร์ที่ผลิตบัณฑิตจึงมีสถานะเป็นเพียงโรงเรียนเตรียมเนติฯ แม้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยบางแห่งพยายามที่จะแหวกให้พ้นไปจากวังวนดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่

ประการที่สอง การศึกษาที่เน้นการท่องจำกลายเป็นกระแสหลักของระบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ไทย

ด้วยเหตุที่หลักสูตรของนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเนติฯ จึงมีผลให้การเรียนวิชานิติศาสตร์ไม่ต่างไปจากการเรียนในชั้นเนติฯ ซึ่งเน้นการท่องจำตัวบทและแนวคำวินิจฉัยของศาลในคดีต่างๆ ว่ามีแนวคำพิพากษาอย่างไร โดยไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการทำความเข้าใจถึงหลักกฎหมาย เจตนารมย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษากฎหมายเช่นกัน

วิระดา สมสวัสดิ์ ในฐานะผู้สอนกฎหมายคนหนึ่งได้สะท้อนลักษณะของการศึกษาแบบนี้ไว้ว่า
"วิชาเหล่านั้นความจริงแล้วในตัวของมันเองและผู้สอน น่าจะสร้างความคิดวิเคราะห์ให้แก่นักศึกษาต่างๆได้ว่า วิชาหรือตัวบทกฎหมายที่มันมีอยู่เป็นอย่างไร หรือมันเป็นความเป็นธรรมหรือไม่ นิติศาสตร์ทางคุณค่าไม่เป็นที่รู้จัก มันมีเหตุผลเบื้องหลังของบทบัญญัตินั้นอย่างไรใครเป็นผู้ได้ประโยชน์เสียประโยชน์ ก็น่าเสียใจไม่มีการพูดถึงเลย ก็เอาแต่ว่าจดจำกันกันอย่างไรและวงการนิติศาสตร์จะเป็นที่ปลาบปลื้มกันอย่างมากว่า ใครจำได้เก่งและคนที่จำได้เก่งมากจะเป็นผู้มีความสามารถอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราพูดกับวงการอื่นแล้วเขาหัวเราะเยาะเอาอย่างมากเลยว่า นิติศาสตร์นั้นไม่ได้มีความกว้างขวาง ไม่ได้มีความรับรู้สภาพของสังคมภายนอก" (รายงานสัมมนาทางวิชาการ, น. 220)

แม้จะเป็นคำวิจารณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ในงานสัมมนาคราวเดียวกันกับที่บวรศักดิ์ได้วิจารณ์ถึงการครอบงำของวิชาชีพต่อวิชาการทางกฎหมาย แต่ผ่านมาจนบัดนี้ก็ยังไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้นมากนัก กับแนวทางการศึกษาวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ

ประการที่สาม ความพยายามในการสลัดหลุดจากการครอบงำ
สภาพปัญหาที่กล่าวมาไม่ใช่ไม่เคยเป็นที่ตระหนักถึง ในหมู่นักกฎหมายบางส่วนได้เคยมีความพยายามที่จะไปให้พ้นจากการครอบงำนี้ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการแก้ไขหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. 2515 ด้วยการเพิ่มลักษณะวิชาที่เป็นทฤษฎีความคิดและพัฒนาการของกฎหมาย ดังวิชานิติปรัชญา ประวัติศาสตร์กฎหมาย และลดเนื้อหาของกฎหมายที่เป็นตัวบท เช่นรวบรวมกฎหมายเอกเทศสัญญาย่อยๆ เข้ามาเป็นวิชาเดียวและสอนหลักที่สำคัญเท่านั้น

ถึงจะมีความเปลี่ยนแปลงในการปรับหลักสูตรนิติศาสตร์เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง คงเกิดขึ้นเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการเท่านั้น ยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชน ที่พากันแห่เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์ในขณะนี้สามารถกล่าวได้ว่าทั้งหมดคือ โรงเรียนเตรียมเนติฯ เท่านั้น

นอกจากนี้ วาทกรรมกระแสหลักในแวดวงทางกฎหมายที่ยังคงเชื่อว่า ผู้ที่มีความสามารถทางด้านกฎหมายนั้น คือผู้ที่สอบผ่านเนติฯ ก็มีผลกดดันต่อการจัดทำหลักสูตรอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ที่ธรรมศาสตร์. ปรีชา สุวรรณทัต ก็ได้กล่าวถึงความคาดหวังที่มีต่อตนเองในคราวเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ว่า

"ผู้หลักผู้ใหญ่ของผมอาจารย์ที่ผมนับถือ แนะนำผมเป็นสิ่งแรกเลยบอกอาจารย์ปรีชา ทำอย่างไรจะให้นิติศาสตร์ของเราได้ที่ 1 เนติฯ ผมก้าวขาไม่ออกเลย เพราะฉะนั้นในปัจจุบันความคิดของท่านอาจารย์ในระดับนั้น ที่เรานับถือยังมองดูว่านิติศาสตร์ที่ไหนจะเก่งไม่เก่งวัดกันที่ตัวเนติฯ ที่ 1 หรือสอบได้มากสอบได้น้อย ปีไหนรามคำแหงได้ที่ 1 ชี้หน้าจุฬาฯ ชี้หน้าผม ทำไมรามฯ เขาได้ที่ 1 เขาวัดกันที่ตัวนี้ครับ"

4. ความอับจนของการศึกษากฎหมายไทย

ลักษณะของการศึกษากฎหมายไทยภายใต้บริบทที่กล่าวมามีผลกระทบต่อวงวิชาการนิติศาสตร์ไทยในประการสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง การตีความและการบังคับใช้กฎหมายแบบนิติอักษรศาสตร์ ในการใช้กฎหมายของนักกฎหมายส่วนใหญ่ มักเป็นไปด้วยการยึดตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจต่อการนำเอาเจตนารมย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัย และก็ไม่คำนึงว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้น จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือไม่ หากยึดแต่เพียง "ความถูกต้องตามกฎหมาย" เท่านั้น

ที่เป็นปัญหารุนแรงกว่านั้นก็คือ การตีความโดยยึดกฎหมายที่ให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐเป็นหลัก หรือตีความที่เป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้จะมีกฎหมายที่ใหญ่กว่าให้อำนาจไว้ก็มิได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใด การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย พ.ร.บ. หรือระเบียบของหน่วยงานรัฐในหลายเรื่องเป็นตัวอย่างของการตีความทำนองนี้

สอง ไม่ให้ความสนใจต่อการศึกษาค้นคว้าถึงแนวความคิดทฤษฎี ที่จะช่วยให้เกิดพลังในการวิพากษ์วิจารณ์หรือเกิดการตั้งคำถามใหม่ๆ ในทางวิชาการ ทำให้ไม่เกิดความเคลื่อนไหวหรือการโต้แย้งในประเด็นต่างๆ เช่น ความคิดแบบอิตถีศาสตร์ทางกฎหมาย (Feminist Legal Theory) มีส่วนอย่างมากต่อการวิเคราะห์ถึงความไม่เสมอภาคทางเพศในกฎหมาย อันเป็นผลให้นำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น แนวความคิดแบบสัจนิยมทางกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อการตัดสินของผู้บังคับใช้กฎหมายว่าดำเนินไปโดยมีอคติใดแอบแฝงอยู่หรือไม่

แต่สำหรับวิชานิติศาสตร์ไทย แนวความคิดต่างๆ เหล่านี้ปราศจากความหมาย เนื่องจากไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียนกลายเป็น "นักกฎหมายที่เก่ง" ขึ้นมา อีกทั้งกลายเป็นวิชาไม่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพเลย

สาม ผลสืบเนื่องจากเหตุทั้งสองประการที่กล่าวมา ทำให้นิติศาสตร์ไทยไร้พลังในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุที่การศึกษากฎหมายเพื่อมุ่งไปสู่การประกอบอาชีพนั้น มีธรรมชาติของการศึกษาในทิศทางที่ต้องจดจำและยึดเอาแนวทางคำอธิบาย การตัดสิน ที่ได้รับการยอมรับไว้เป็นสรณะในการวินิจฉัยข้อขัดแย้งต่างๆ

ลักษณะของการศึกษาเช่นนี้จึงเป็นการตอกย้ำ และรักษาสถานะของชุดความรู้ที่มีอยู่ให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างชอบธรรม

เมื่อเผชิญกับสภาพปัญหาหรือการแก้ไขความขัดแย้งที่พ้นไปจากกรอบความรู้ที่เคยมี ทำให้นักกฎหมายไม่อาจให้คำตอบหรือปฏิเสธต่อความรู้ชุดใหม่นี้ ดังการเกิดขึ้นของแนวความคิดเรื่องสิทธิชุมชนในสังคมไทย นักกฎหมายที่แม้จะจัดเป็นหัวก้าวหน้าจำนวนมาก ก็ไม่อาจรับแนวความคิดนี้ได้ เพราะรากฐานแนวความคิดเรื่องสิทธิในกฎหมายมีเพียง สิทธิของรัฐ และปัจเจกชนเท่านั้น

ที่กล่าวมาเป็นเพียงความอ่อนแอเสี้ยวหนึ่งที่สืบเนื่องมาในวงวิชาการนิติศาสตร์ไทย และเมื่อได้เกิดความเฟื่องฟูในการศึกษานิติศาสตร์อันเป็นผลมาจากเงินที่ให้แก่ตำแหน่งผู้พิพากษาหรืออัยการ แรงผลักดันเช่นนี้มีแต่จะทำให้การศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องถลำเข้าไปเป็นอาณานิคมของการศึกษาที่เน้นอาชีพมากยิ่งขึ้น 


และความตกต่ำในทางวิชาการของนิติศาสตร์ไทยก็คงยังจะดำเนินต่อไปอีกตราบนานเท่านาน
Read more ...