ศาลผู้บริโภค

25/12/52
ทำความรู้จักศาลผู้บริโภคกันครับ


วันนี้สำนักงานคงอดไม่ได้ที่จะพูดถึงศาลผู้บริโภคหรือศาลแผนกคดีผู้บริโภคกันครับ ซึ่งที่จริงแล้วศาลผู้บริโภคก็เป็นระบบวิธีพิจารณาคดีทางแพ่งของศาลยุติธรรมรูปแบบใหม่ตามพระราช บัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ . ศ.2551 นั้นเอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2551เป็นต้นไป

ประชาชนในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ได้รับความเสียหายจากสินค้าอันตรายต่างๆสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อแผนกคดีผู้บริโภคที่มีประจำอยู่ในศาลแขวงศาลจังหวัด และศาลแพ่งทุกแห่งโดยระบบวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะเอื้อต่อการใช้สิทธิของผู้บริโภคเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วเที่ยงธรรมและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้นส่วนฟ้องนั้นจะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ไม่ว่าจะฟ้องด้วยตนเองหรือแต่งทนายความ หรือขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ดำเนินการฟ้องร้องแทนให้ก็ได้อีกเช่นกันครับ ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม และประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่เป็นอันตรายไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมเช่นกัน ซึ่งทั้งสองกรณีต้องไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายเกินควร ไม่เช่นนั้นศาลอาจมีคำสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในภายหลังได้ที่สำคัญการที่ผู้บริโภคไม่มีความรู้ ขาดข้อมูลในหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ ดังนั้น ในคดีผู้บริโภคจึงกำหนดให้ภาระการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการต่อสู้คดีให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

คดีแบบไหนที่ศาลจะรับดำเนินคดีและพิจารณาคดีเป็นคดีผู้บริโภค

1. คดีแพ่ง ที่ผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจมีข้อพิพาทกันเนื่องจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ

2. คดีแพ่ง ที่ประชาชนได้รับความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

3. คดีแพ่ง ที่เกี่ยวพันกับคดีทั้ง 2 ข้อข้างต้น

4. คดีแพ่งอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นคดีผู้บริโภค

ใครบ้างที่สามารถฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคได้

1. ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม (หากยื่นฟ้องในข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคที่ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยอาจต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมเอง แต่หากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่ได้รับการรับรองฟ้องแทน จะได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมเว้นแต่เป็นการเรียกค่าเสียหายเกินควร)

2. ผู้ประกอบธุรกิจหมายถึง ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย (การยื่นฟ้องต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม)

3. ผู้เสียหายหมายถึง ผู้ได้รับความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ หรือทรัพย์สิน แต่ไม่รวมถึงความเสียหายต่อตัวสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้น (การยื่นฟ้องไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมเว้นแต่เรียกค่าเสียหายเกินควร)

ขั้นตอนการยื่นฟ้องต่อศาลคดีผู้บริโภค

1. ผู้บริโภคหรือผู้เสียหาย มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่หรือต่อศาลแห่งอื่นได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องคดีผู้บริโภคได้เฉพาะเขตศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่เท่านั้น

2. ให้ยื่นฟ้องต่อศาล ที่แผนกคดีผู้บริโภค ภายในความ 3 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย หากเลยกำหนดนี้ถือว่าขาดอายุความ

3. หากความเสียหายไม่เกิน 300,000 บาท ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ถ้าเกิน 300,000 บาทให้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด หากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง

4. ในการฟ้องคดีผู้บริโภค สามารถฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้

5. การยื่นฟ้องด้วยวาจา เจ้าพนักงานคดีจะเป็นผู้บันทึกคำฟ้อง และให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ ดังนั้นผู้ฟ้องจึงสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีทนายความก็ได้

6.คำฟ้องต้องมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุที่ต้องมาฟ้องคดีรวมทั้งต้องมีคำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นชัดเจนพอที่จะให้เข้าใจได้

7. เมื่อศาลรับคำฟ้องแล้วศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็วและออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดนัดเพื่อไกล่เกลี่ยให้การและสืบพยานในวันเดียวกัน


•ข้อดีของศาลคดีผู้บริโภค

1. ศาลยุติธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นศาลผู้บริโภค

2. ระบบวิธีพิจารณาคดีเอื้อต่อการใช้สิทธิของผู้บริโภค

3. การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม

4. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้าและบริการ

5. ภาระพิสูจน์เกี่ยวกับสินค้าตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

6. กระบวนวิธีพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น และคำพิพากษาถือเป็นที่สิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์เท่านั้น

7. ให้การคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

8. ศาลอาจจะใช้ผลการพิจารณาคดีเดิม เป็นฐานในการกรณีพิจารณาคดีที่ใกล้เคียงกันได้


ศาลคดีผู้บริโภคมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจทำอะไรได้บ้าง

1. เปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ แทนการแก้ไขซ่อมแซม

2. ให้ทำประกาศเรียกรับสินค้าคืนจากผู้บริโภค

3. ห้ามจำหน่ายสินค้าที่เหลือ เรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่าย หรือให้ทำลายสินค้าที่เหลือ กรณีที่สินค้าอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังผู้ประกอบธุรกิจได้

4. จ่ายค่าเสียหายเกินคำขอของผู้บริโภคได้หากเห็นว่าเกิดความเสียหายมากกว่าที่ได้ขอไป

5. จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริง

6. ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น