ศาลแพ่ง พิพากษา สตช.แพ้คดี สั่งจ่าย 2.5 แสนละเมิดผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา หลังทำสำนวนคดีหมิ่นประมาทล่าช้า

10/8/53
โดยหนังสือพิมพ์แนวหน้า

ที่ ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 22 ส.ค.51 ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำหมายเลขที่ 2283/2550 ที่

นาย xxx ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 

เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง 

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)  
2. พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.  
3. พล.ต.อ.ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ ผช.ผบ.ตร. 
4. พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ผบช.น.
5. พล.ต.ต.อำนาวย นิ่มมะโน ผบก.น.2 และ
6. พ.ต.อ.วราวุธ ทวีชัยการ ผกก.สน.พหลโยธิน (ทั้งหมดตำแหน่งขณะฟ้องเมื่อปี 50 ) 

เป็นจำเลยที่ 1 - 6 เรื่องละเมิด 

เรียกค่าเสียหายทุนทรัพย์ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี

ตามคำฟ้องระบุว่าเมื่อวันที่ 14 ม.ค.48 โจทก์ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ขอให้ดำเนินคดีกับ

นายชัยเจริญ ดุษฎีพร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในขณะนั้น

ในข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีนายชัยเจริญ ทำหนังสือถือเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่าโจทก์มักจะสร้างความหวั่นไหวแก่องค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยการที่โจทก์ทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาองค์คณะซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่น่าจะถูกสอบสวนมากกว่าจะสอบสวนผู้ที่โจทก์ร้องเรียน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จและใส่ความโจทก์ต่อเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมให้เข้าใจว่าโจทก์เป็นข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ดีที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง โดยพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้ 

โดย พล.ต.ต.อำนวย จำเลยที่ 5 มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.วราวุธ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนลงรายงานประจำวันรับคดีไว้เป็นหลักฐานในเบื้องต้นเพราะเห็นว่าเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 6 กลับไม่ลงรายงานไว้เป็นหลักฐานและไม่เรียกนายชัยเจริญ ผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งไม่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาเมื่อมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและเพิกเฉยไม่ดำเนินการทำความเห็นสั่งคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ สตช.จำเลยที่หนึ่งกำหนดเป็นระเบียบราชการเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2532 ซึ่งการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีอันเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์ทำหนังสือลงวันที่ 26 ต.ค.48 ร้องเรียนไปยังจำเลยที่ 2,4และ5 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 5 แสนบาท ต่อมา วันที่ 22 ธ.ค.48 โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลย 2,4 ขอทราบผล รวมทั้งเรื่องการทำความเห็นสั่งคดีที่โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ไว้

ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.48 จำเลยที่ 5 แจ้งให้โจทก์ทราบผลความเห็นสั่งคดีว่าคณะพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายชัยเจริญ ผู้ต้องหาเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้องโดย พ.ต.อ.พัลลภ สุวรรณบัตร รอง ผบก.น.2 ปฏิบัติหน้าที่แทน ผบก.น.2 ก็ได้พิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นพ้องด้วยว่า คณะทำงานสอบสวนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อสองฝ่ายไปแล้วจึงมีความเห็นควรยุติเรื่องซึ่งได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นดังกล่าวไปยัง กองบัญชาการตำรวจนครบาลแต่จำเลยที่ 5 ไม่ได้ออกใบรับคำขอให้โจทก์รับไว้เป็นหลักฐานให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 11 

ซึ่งการที่จำเลยที่ 5 มีความเห็นควรยุติเรื่องไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นขัดแย้งกับคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือลงวันที่ 14 ก.พ.49 แจ้งให้โจทก์ทราบผลเรื่องขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและชดใช้ค่าสินไหมว่า จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดประกอบด้วย

-รอง ผบก.น.2,
-รอง ผกก.อก.บก.น.2,
-สว.สส.สน.พหลโยธิน

ซึ่งโจทก์ก็ได้ทำหนังสือลงวันที่ 21 ก.พ.49 ถึงจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดกับจำเลยที่ 4 - 6 ขณะที่จำเลยที่ 3 กลับให้คณะกรรมการดังกล่าวสอบข้อเท็จจริงต่อไปเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้เรียกโจทก์เข้าไปสอบปากคำในฐานะผู้ร้องเรียนให้ถูกต้องตามระเบียบราชการว่าด้วยการสอบสวน รวมทั้งการสอบข้อเท็จจริงยังมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิดซึ่งเป็นพวกเดียวกันโดยระบุว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีอันเป็นการจงใจรวมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงขอให้จำเลยที่ 1 - 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 5 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 6 เป็นพนักงานสอบสวนระดับผู้กำกับการต้องรู้ดีว่าข้อความที่นายชัยเจริญกล่าวถึงโจทก์และโจทก์เข้าแจ้งความร้องทุกข์เป็นปัญหาว่าจะเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์หรือไม่การที่จำเลยที่ 6 มาด่วนใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายชัยเจริญจึงไม่ถูกต้องสมเหตุสมผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ควรจะเป็น การใช้ดุลยพินิจทำความเห็นสั่งคดีของจำเลยที่ 6 ย่อมเป็นการมิชอบ 

ซึ่งแม้การทำความเห็นเป็นการใช้ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่จำเลยทั้งหกให้การไว้ แต่การใช้ดุลยพินิจนั้นต้องอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและให้ถูกต้องสมเหตุสม

ผลการกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีเพราะนอกจากจะมีความล่าช้าในการสอบสวนโดยไม่มีความจำเป็นแล้วโจทก์ยังอาจเสียสิทธิในการนำคดีเข้าสูงกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล

ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 6 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ และคดีไมจำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องที่โจทก์กล่าวหาในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 6 ไม่ลงรายงานประจำวันรับคดีไว้เป็นหลักฐาน ไม่เรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหาและไม่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์อีกหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนจำเลยที่ 2-5 ศาลเห็นว่าขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 6 ดังนั้นจึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่มีความเห็นพ้องด้วยกับจำเลยที่ 6 ในการทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เป็นการร่วมกันกับจำเลยที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 ด้วย

โดยคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพียงใด ศาลเห็นว่าแม้จำเลยที่ 6 จะทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาโดยจำเลยที่ 2 - 5 เห็นพ้องด้วยแต่เมื่อจำเลยที่ 6 เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นดังกล่าวไปที่พนักงานอัยการ พนักงานอัยการกลับได้สั่งฟ้องนายชัยเจริญ เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือ จึงเห็นว่าเมื่อมีการนำคดีเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่านายชัยเจริญกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ถือได้ว่าความเสียหายของโจทก์ได้รับการบรรเทาไปบ้างแล้วจึงเหลือเพียงความเสียหายจากความล่าช้าในการสอบสวนโดยไม่มีความจำเป็นเท่านั้น 

ศาลจึงเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 2 - 6 เป็นการกระทำซึ่งสังกัดจำเลยที่ 1ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 2- 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยตรง แต่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 2 -6 

จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 250,000 บา พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องคดี 15 มิ.ย.49 และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์รวมทั้งค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้ยกฟ้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น