"นิติรัฐ": การปกครองโดยกฎหมาย (ที่ต้อง "ชอบธรรม" และ "เป็นธรรม" ด้วย)

5/12/52
Tue, 11/03/2009 - 11:21

by 13ank

กล่าวกันว่าหลักคิดในเรื่องนี้มีที่มาจากแนวคิดของ 'อริสโตเติล' ที่ได้เสนอไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งก่อนคริสตกาล เขาพยายามเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งของหลักการปกครองโดยกฎหมาย แตกต่างสิ้นเชิงกับการปกครองโดยปุถุชน ซึ่งแนวโน้มมักจะไม่คงเส้นคงวา ถือเอาเป็นหลักเกณฑ์แน่นอนไม่ค่อยได้

หลักการเช่นนี้นี่เองที่ถือเป็นบ่อเกิดสำคัญของ "ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม" ในห้วงเวลาต่อมา ซึ่งเชื่อมั่นมากว่า "รัฐต้องมีอำนาจจำกัด" หรืออีกนัยหนึ่งใกล้เคียงกับคำว่า "Law and Order" หรือบ้านเมืองมีขื่อมีแปนั่นเอง ต่อมาหลักการนี้ก็เป็นที่ยอมรับยิ่งขึ้นในนาม "หลักนิติรัฐ" (Legal state) เพื่อยืนยันว่ารัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

อย่างไรก็ตาม 'หยุด แสงอุทัย' ได้เคยรวบรัดอธิบายไว้ว่า "รัฐตามรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ย่อมเป็นนิติรัฐ คือ เป็นรัฐที่ยอมตนอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมาย ซึ่งรัฐเป็นผู้ตราขึ้นเองหรือยอมใช้บังคับ" และ 'วิษณุ เครืองาม' สรุปว่าการที่ประเทศใดจะเป็นนิติรัฐได้นั้น จำต้องมีคุณลักษณะเด่นดังนี้

1) ในประเทศนั้น กฎหมายจะต้องอยู่เหนือสิ่งใดทั้งหมด การกระทำต่างๆ ในทางปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำของตำรวจ จะต้องเป็นไปตามกฎหมายและชอบด้วยกฎหมาย หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎรอยู่ที่กฎหมาย ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐเข้ามากล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของผู้คนโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เจ้าพนักงานก็ย่อมจะต้องมีความผิดทางอาญา

2) ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ ขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของรัฐย่อมกำหนดไว้แน่นอน เริ่มตั้งแต่การแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยมีขอบเขตในการใช้อำนาจของรัฐ อำนาจของเจ้าพนักงานของรัฐที่ลดหลั่นลงมาก็เป็นอำนาจที่วัดได้ ก็คือ เป็นอำนาจที่มีขอบเขตเช่นเดียวกัน และต้องมีการควบคุมให้มีการใช้อำนาจภายในขอบเขตเท่านั้น เช่นในประเทศไทย บุคคลย่อมทราบได้จากกฎหมายว่าตำรวจมีอำนาจหน้าที่อย่างไร และสามารถจะใช้อำนาจนั้นกับราษฎรได้หรือไม่

3) ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ ผู้พิพากษาหรือตุลาการจะต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม โดยจะต้องมีหลักประกันดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นหลักประกันอันเพียงพอสำหรับราษฎร ตามนัยนี้ นิติรัฐจึงนับเป็นรัฐที่ยอมให้ศาลเข้ามาควบคุมการกระทำของฝ่ายปกครองในทางอรรถคดีได้ เช่นในการวินิจฉัยว่าการกระทำของเจ้าพนักงานว่าได้กระทำผิดในทางอาญา หรือกระทำการละเมิดในทางแพ่งต่อราษฎรหรือไม่ เพียงใด เป็นต้น

ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น เราจึงยกย่องรัฐที่ทุกคน (แม้แต่ประมุขของรัฐก็ไม่มีข้อยกเว้น) ทุกองค์กรยอมลดตนลงมาปฏิบัติตามกฎหมาย และรัฐเปิดช่องทางให้ปัจเจกชนฟ้องคดีต่อองค์กรตุลาการ เพื่อตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจรัฐว่าเป็น "นิติรัฐ"

ส่วนคำว่า "นิติธรรม" (The Rule of law) นั้น นักกฎหมายรัฐธรรมนูญเรืองนามชาวอังกฤษที่ชื่อ 'Albert Venn Dicey' เป็นผู้ริเริ่มวางแนวไว้ ตามทัศนะของเขาแล้ว หลักนิติธรรมจะต้องอาศัยหลักการสำคัญๆ คือ

1) ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจตามอำเภอใจ กล่าวคือ บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหรือบังคับให้ต้องรับโทษทางร่างกายหรือทรัพย์สิน เว้นแต่จะเป็นผลของการละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ซึ่งได้รับการพิสูจน์ตามวิธีพิจารณาของศาลยุติธรรม

2) บุคคลทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน โดยทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และศาลเดียวกันเป็นผู้พิจารณาไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะเป็นใครก็ตาม

3) หลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นผลของกฎหมายสามัญของแผ่นดิน ซึ่งหมายความว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษเป็นผลมาจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ศาลได้พิพากษาเป็นบรรทัดฐานกำหนดรับรองและคุ้มครองให้ ไม่ใช่เป็นเพียงผลมาจากตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ควรทราบด้วยว่า หลักนิติธรรมเป็นหลักทางวิชาการตามแบบฉบับของอังกฤษ ประเทศที่มีเอกลักษณ์ด้านการเมืองการปกครองเฉพาะตัว เป็นต้นว่าไม่มีรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุด ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law) และอาศัยเพียงศาลยุติธรรมในการตัดสินอรรถคดีทุกประเภทเท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน จะใช้หลักการนิติรัฐ หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ เพียงแต่เรียก "Due Process of Law" แตกต่างกันชัดเจนตรงที่หลักนิติธรรมเรียกร้องเอาเฉพาะแต่การควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยองค์กรตุลาการ ขณะที่หลักนิติรัฐจะรวมถึงการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราโดยองค์กรนิติบัญญัติไว้ด้วย

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เรามักจะใช้คำว่านิติรัฐกับนิติธรรมสับสนปะปนกันอยู่เสมอ แต่หมายความถึงหลักการเดียวกัน ซึ่งปรารถนาให้ความคุ้มครองประชาชนว่าการดำเนินงานใดๆ ก็ตามของรัฐ จะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่มีคุณภาพ (เนื้อหาแน่นอนชัดเจน ไม่มีโทษย้อนหลัง ได้สัดส่วน มีความเป็นธรรมและเสมอภาค) มิใช่โดยอำเภอใจของผู้ปกครอง ดั่งเป็นรากแก้วของการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยแท้

จากมุมประชาชน "เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามเอาไว้ เราสามารถที่จะทำอะไรก็ได้" ขณะที่ผู้ปกครองทั้งหลายพึงสังวรณ์ "ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจท่านๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำเรื่องนั้นได้" หรือ "ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ" นั่นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎหมายเช่นว่าก็จักต้องเป็นกฎหมายที่มีความ "ชอบธรรม" และ "เป็นธรรม" ด้วย มิใช่ศักดิ์แต่ถูกเรียกว่าเป็น "กฎหมาย" แล้วจะเอามาใช้กดหัวใครอย่างไรก็ได้อย่างที่กลุ่มคนบางกลุ่ม (ทหาร / ตุลาการ / อภิชน) ในประเทศหนึ่งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมทำกันเอิกเกริกตลอดหลายปีมานี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น