ขอประณาม (ล่วงหน้า) การทำรัฐประหาร (1)

5/12/52

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช


บทนำ

สถานการณ์การเมืองในขณะนี้มีความขัดแย้งมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญหน้าและการปะทะกันระหว่างฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายต่อต้านพันธมิตรในคืนวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม จนมีกระแสกล่าวถึงเรื่องการทำรัฐประหารตามสื่อต่างๆอย่างกว้างขวาง ผมเห็นว่า การทำรัฐประหารนอกจากจะมิใช่เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาแล้วกลับจะทำให้สถานการณ์การเมือง ปัญหาเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทยเลวร้ายหนักลงไปอีก

1. เงื่อนไขของการทำรัฐประหารมีจริงหรือ

เป็นที่ทราบกันดีว่า การเมืองไทยเวียนว่ายกับการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เเละทุกครั้งที่มี “ปัญหา” ทางการเมือง (ซึ่งคนไทยก็ไม่เคยเข้าใจหรือเเกล้งทำเป็นไม่เข้าใจว่า โดยธรรมชาติของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องมีความเห็นเเตกต่างเป็นของปกติธรรมดา) ก็มักจะมีการพูดถึงรัฐประหาร โดยเฉพาะในขณะนี้มักมีการพูดกันมากว่า “รัฐบาลอย่าสร้างเงื่อนไขของการทำรัฐประหาร” หรือที่ทหารบางท่านกล่าว่า “อะไรจะเกิดก็เกิด” คำพูดนี้สะท้อนอะไร ในความเห็นของผม ไม่มี “เงื่อนไขของรัฐประหาร” อยู่จริง นอกเสียจากการสร้างสถานการณ์หรือประโคมข่าวอะไรบ้างอย่างเพื่อใช้เป็น “ข้ออ้าง” (Pretext) ในการยึดอำนาจเท่านั้นเอง

อะไรคือเงื่อนไขของการทำรัฐประหาร หากย้อนดูอดีต การยึดอำนาจมักจะอ้างปัญหาคอร์รัปชั่นเเต่เกือบทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารนั่นเองที่มีข่าวพัวพันการทุจริตเเจกผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องไม่เว้นเเม้เเต่การทำรัฐประหาร 19 กันยายนที่ผ่านมา

ต่อมาก็อ้างความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ซึ่งรัฐบาลสุรยุทธ์ที่มาจากการเเต่งตั้งของคณะรัฐประหารก็เป็นหลักฐานที่สุดของความล้มเหลวของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร ผมไม่ทราบว่าคราวนี้จะอ้างอะไรมาเป็นเงื่อนไขของการทำรัฐประหาร อาจเป็นได้ว่านำเรื่องความไม่จงรักภักดีมาเป็นข้ออ้าง เเต่การทำรัฐประหารก็มิได้ทำให้ประเด็นดังกล่าวมีน้ำหนักมากพอเนื่องจากมีมาตรา 112 เเห่งประมวลกฎหมายอาญาเเละกระบวนการยุติธรรมที่คอยทำหน้าที่พิสูจน์ความผิดอยู่เเล้ว

อีกข้ออ้างหนึ่งที่จะนำมาใช้คือการปะทะของมวลชน ซึ่งข้ออ้างนี้คณะรัฐประหารชุดล่าสุดก็ใช้เป็นเหตุในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยาที่ผ่านมา ประกอบกับเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมามีการปะทะกันระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายต่อต้านพันธมิตรยังผลให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บนั้น ถามว่าข้ออ้างนี้มีน้ำหนักมากพอหรือไม่ที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร คำตอบก็คือ “ไม่” ไม่ในความหมายของผมมิได้หมายความว่า “ไม่มากพอ” เเต่หมายถึง “ไม่เด็ดขาด” หากมีการยอมรับข้ออ้างนี้ เราคงเห็นการทำรัฐประหารทั่วภูมิภาคของโลกไปเเล้ว เพราะว่าเกือบทุกประเทศมีความขัดเเย้งหรือชุมนุมเป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามักได้ยินข่าวบ่อยๆว่าเเฟนบอลประเทศโน้นประเทศนี้ปะทะกันตีกันจนถึงเเก่ความตายก็มี หรือหลายประเทศในยุโรปก็มีการเผาประท้วง ปิดถนน ผมก็ไม่เห็นมีการทำรับประหารเลย อีกทั้งเกือบทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยก็มีตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมหรือสลายมวลชนอยู่เเล้ว เช่น การยิงด้วยกระสุนยาง กระบองยาง หรือใช้นำฉีด เป็นต้น นอกจากนี้ การควบคุมหรือสลายการชุมนุม ประเทศที่เจริญเเล้วจะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนทหารนั้นไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อปฎิบัติภารกิจด้านนี้โดยตรง

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าจะพิจารณาในเเง่มุมใดก็ตาม ผมเห็นว่าเงื่อนไขของการทำรัฐประหารนั้นไม่มีอยู่จริงอย่างสิ้นเชิง การเสนอ “วาทกรรมเรื่องเงื่อนไขของการทำรัฐประหาร” นั้นเเสดงถึงความอับจนทางสติปัญญาของผู้พูดเเละเเสดงถึง “ทรรศคติที่เป็นอันตราย” อย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยอยู่ร่วมโลกไม่ได้กับรัฐประหาร การพูดถึงเงื่อนไขของรัฐประหารเท่ากับว่าเรากำลังให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหารไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สำหรับผมนั้น ไม่มีเงื่อนไขของการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเลยไม่ว่ากรณีใดๆ เปรียบได้ว่า เจ้าบ้านซื้อทองเเละเเหวนเพชรไว้ในบ้าน เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขให้มีการลักทรัพย์ดอกหรือ การที่ขโมยขึ้นบ้านเอาทองเเละเเหวนเพชรไป โจรผู้นั้นอ้างได้หรือไม่ว่า ที่ลักขโมยทองเเละเเหวนเพชรไปเพราะว่าเจ้าของบ้านสร้างเงื่อนไขในการลักพรัพย์โดยการซื้อทองเเละเเหวนเพชรไว้ในบ้าน หากไม่ซื้อทองเเละเเหวนเพชร โจรก็จะไม่ขึ้นบ้าน ตรรกะเเบบนี้โจรเท่านั้นที่อ้าง วิญญูชนทั่วไปอย่าว่าเเต่จะ “อ้าง” เลย เเค่ “คิด” เขาก็ไม่คิดเเล้ว



2.หลักความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร (Supremacy of Civilian Government)

นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากอย่าง Huttington เสนอ “หลักความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร” หลักนี้หมายความว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจควบคุมการบังคับบัญชาเหนือกองทัพเเละกองทัพถูกทำให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทหารเป็นทหารอาชีพ (Profession) เเต่หลักนี้ไม่เคยหยั่งรากลึกในการเมืองไทยเลย หากมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยมาโดยตลอด อีกทั้งสังคมไทยยังมีความเข้าใจผิดๆมาโดยตลอดว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมต้องเป็นทหาร เพราะทหารเท่านั้นที่จะรู้เรื่องทหาร หากไปดูประเทศที่พัฒนาเเล้ว รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมักจะเป็นพลเรือน นับเเต่นี้ไป กองทัพจะต้องเป็นกองทัพโดยอาชีพ การวางตัวของผู้บัญชาการกองทัพบกคนปัจจุบันถือว่าวางตัวได้ถูกต้องที่จะไม่นำกองทัพเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ส่วนทหารท่านใดที่เเสดงความคิดเห็นในเชิงไว้ท่าทีเกี่ยวกับการทำรัฐประหาร หากเกิดขึ้นในสังคมที่เจริญเเล้ว เป็นที่เชื่อเเน่ว่า ทหารผู้นั้นคงโดยย้ายหรือปลดไปเเล้วเพราะขัดกับหลัก “หลักความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร” การเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยเฉพาะการสงวนท่าทีในการทำรัฐประหารนั้นต้องถือว่าขัดกับความเป็นทหารอาชีพเเละเป็นการทำลายเกียรติของคนพูดเอง

3. ผู้พิพากษาจะทำอย่างไรเมื่อเผชิญปัญหาการใช้กฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหาร

นักกฎหมายท่านหนึ่งนามว่า Tayyab Mahmudได้รวบรวมทางเลือกที่ผู้พิพากษาต้องประสบยามวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอันเป็นผลพวงมาจาการทำรัฐประหาร โดยมีอยู่สี่ทางเลือกดังนี้

1) รับรองความชอบด้วยกฎหมายของการทำรัฐประหารเเละบรรดากฎหมายที่ออกโดยรัฐประหาร (Validation of Usurpation) ทางเลือกนี้หมายถึงผู้พิพากษายอมรับว่าเมื่อมีการทำรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารได้เปลี่ยนสถานะตนเองกลายเป็นรัฐบาลตามความเป็นจริง (de facto) เเม้จะมิใช่รัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม เเละรับรองบรรดาคำสั่งหรือประกาศที่ออกโดยคณะรัฐประหารว่าเป็นกฎหมาย

2) ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ (Strict Constitutionalism) ทางเลือกนี้อยู่ตรงกันข้ามกับทางเลือกเเรกอย่างสิ้นเชิง กรณีนี้ผู้พิพากษาวินิจฉัยว่า การทำรัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเเละบรรดาคำสั่งเเละประกาศของคณะรัฐประหาร ผู้พิพากษาจะทำการตรวจสอบอย่างละเอียดว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำสั่งเเละประกาศบางฉบับที่ออกโดยคณะรัฐประหาร ผู้พิพากษาให้ยอมให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เเต่กรณีนี้ถือว่าเป็นการ “ให้อภัย”มิใช่เป็นการให้ความชอบธรรม (Condonation not Legitimation)

3) การลาออกจากการเป็นผู้พิพากษา (Resignation of Office)ทางเลือกนี้ต้องอาศัยความกล้าหาญทางจริยธรรมส่วนบุคคลของผู้พิพากษาที่ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือรับรองความชอบด้วยกฎหมายของคณะรัฐประหาร การที่ผู้พิพากษาเลือกที่จะลาออกนั้นนอกจากจะเป็นการรักษาหลักนิติรัฐเเล้วยังเป็นการรักษาเกียรติภูมิของวิชาชีพตุลาการมิให้มัวหมองอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น