คำถามข้อ 1 ( ภาพทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด )
โจทก์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
แต่เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินสวนยางแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่จังหวัดจันทบุรี
จำเลย มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดระยอง
โจทก์มอบหมายให้จำเลยหาคนมากรีดยางกับทำหน้าที่ดูแลสวนยางและเสียภาษีบำรุงท้องที่แทนโจทก์ตลอดมา
แต่แล้วจำเลยกลับยักยอกที่ดินของโจทก์โดยนำที่ดินสวนยางไปทำสัญญาขายให้แก่นายโชคที่ จังหวัดตราด กับส่งมอบ ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ ทั้งหมดให้แก่นายโชค
เป็นเหตุให้นายโชคนำไปขอออก หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน สวนยางเป็นของนายโชค
โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อ ศาลจังหวัดตราด และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยักยอกให้จำคุก 1 ปี จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และจำเลยถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดตราด อยู่ที่เรือนจำจังหวัดตราด
โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดตราด กล่าวหาว่า
จำเลยกระทำละเมิด ด้วยการยักยอกเอาที่ดินสวนยางของโจทก์ไปขายให้แก่นายโชค
ที่บ้านของนายโชค ซึ่งตั้งอยู่ใน จังหวัดตราด
เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายสูญเสียที่ดินสวนยางไป
ขอให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดิน พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้ว่า
-ที่ดินสวนยางเป็นที่สาธารณะ มิใช่เป็นของโจทก์และ
-จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
-อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดตราด ด้วย
ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลย ยื่น คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ว่า
ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
แต่ศาลกลับมี คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ว่า
คดีไม่อยู่เขตอำนาจของศาลจังหวัดตราด
โดยมิได้วินิจฉัยในปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
แล้วพิพากษายกฟ้องของโจทก์
ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดของศาลจังหวัดตราดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
-----------------------------------------------------------------------
ธงคำตอบข้อ 1 โจทก์ฟ้องว่า
จำเลย กระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายสูญเสียที่ดินสวนยางของโจทก์ไป
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ ไม่ใช่ของโจทก์และ
จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ขอให้ยกฟ้อง
แม้จำเลยจะมิได้กล่าวแก้ เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ ว่า
- ที่ดินสวนยางพิพาทเป็นของจำเลย และ
- ตามฟ้องโจทก์ จะมิได้มีคำขอบังคับแก่ที่ดินพิพาท ด้วยก็ตาม
แต่การที่จะพิจารณาว่า
จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่
อันเป็น การพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์
จึงเป็น คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งโจทก์ต้องเสนอคำฟ้อง ต่อ
- ศาลจังหวัดจันทบุรี ที่อสังหาริมทรัพย์นั้น ตั้งอยู่ในเขตศาล
หรือต่อ
- ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา อยู่ในเขตศาล
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ทวิ
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2527 (ประชุมใหญ่))
ปวพ. มาตรา ๔ ทวิ
คำฟ้อง เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือ สิทธิ หรือ ประโยชน์ อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อ ศาล ที่อสังหาริมทรัพย์นั้น ตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่า จำเลย จะมี ภูมิลำเนา อยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือ ต่อศาล ที่จำเลย มีภูมิลำเนา อยู่ในเขตศาล
แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง
จำเลยจะถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดตราด อยู่ในเรือนจำจังหวัดตราด ก็ตาม
แต่ก็ถือไม่ได้ว่า ภูมิลำเนาของจำเลยผู้ถูกจำคุก ได้แก่ เรือนจำที่จำเลยถูกจำคุกอยู่
เพราะ คำพิพากษาของศาลจังหวัดตราดยังไม่ถึงที่สุดตาม ปพพ. มาตรา 47
ปพพ. มาตรา ๔๗
ภูมิลำเนา ของ ผู้ที่ถูกจำคุก ตาม คำพิพากษา ถึงที่สุด ของ ศาล หรือ ตามคำสั่ง โดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำ หรือ ทัณฑสถาน ที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับ การปล่อยตัว
กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดระยอง
แม้หากโจทก์ไม่ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี ที่ที่ดินสวนยางพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาล
โจทก์ก็ต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดระยอง ที่จำเลยมีภูมิลำเนา
การที่โจทก์นำคดีมายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดตราด
จึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ทวิ และ
ศาลจังหวัดตราด ย่อมไม่มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8336/2538)
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น โดยอ้างเหตุหนึ่ง
แต่ศาลเห็นว่า
กรณีเข้าเหตุอื่น ที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดได้
กรณีย่อมเข้าเกณฑ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 24
ที่เมื่อศาลเห็นสมควร see as appropriate
ศาลย่อมมีอำนาจที่จะมี คำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น preliminary decision ในเหตุอื่นนั้นได้
ปวพ. มาตรา ๒๔
เมื่อ คู่ความ ฝ่ายใด ยกปัญหาข้อกฎหมาย ขึ้นอ้าง ซึ่ง ถ้าหาก ได้วินิจฉัย ให้เป็นคุณ แก่ฝ่ายใดแล้ว จะไม่ต้องมี การพิจารณาคดี ต่อไปอีก หรือ ไม่ต้องพิจารณา ประเด็นสำคัญ แห่งคดีบางข้อ หรือ ถึงแม้จะ ดำเนินการพิจารณา ประเด็นข้อสำคัญ แห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ ได้ความชัด ขึ้นอีกแล้ว เมื่อ ศาลเห็นสมควร หรือเมื่อ คู่ความ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีคำขอ ให้ศาล มีอำนาจที่จะ มีคำสั่ง ให้มีผลว่า ก่อน ดำเนินการพิจารณา ต่อไป ศาลจะได้พิจารณา ปัญหาข้อกฎหมาย เช่นว่านี้ แล้ว วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ในปัญหานั้น
ถ้า ศาลเห็นว่า คำวินิจฉัยชี้ขาด เช่นว่านี้ จะทำให้ คดีเสร็จไปได้ ทั้งเรื่อง หรือ เฉพาะแต่ ประเด็นแห่งคดี บางข้อ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาด ปัญหาที่กล่าวแล้ว และ พิพากษา คดีเรื่องนั้น หรือ เฉพาะแต่ประเด็น ที่เกี่ยวข้อง ไปโดย คำพิพากษา หรือ คำสั่ง ฉบับเดียวกัน ก็ได้
คำสั่งใดๆ ของศาล ที่ได้ออก ตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์ และ ฎีกาได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๒๒๗, ๒๒๘ และ ๒๔๗
ดังนั้น
แม้จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
แต่เนื่องจาก ตามคำให้การของจำเลย ไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องฟ้องเคลือบคลุมที่จะวินิจฉัย
เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลก็มีอำนาจหยิบยกประเด็น ตามคำให้การต่อสู้ของจำเลย ว่า
คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดตราดขึ้นวินิจฉัย
เพื่อพิพากษายกฟ้องของโจทก์ได้
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102/2506)
คำวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลจังหวัดตราด ที่ วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า
คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของ ศาลจังหวัดตราด
โดย มิได้วินิจฉัยในปัญหาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
แล้วพิพากษายกฟ้องของโจทก์
ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น