เหตุ(ร้าวลึก!)เกิดที่ศาลปกครอง(2)

12/10/52
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์
วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เวลา 20:30:04 น.



สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงกฎหมายมหาชน อาจไม่เข้าใจว่า การลาออกของ  


ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ 


จากตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพียงคนเดียว ทำไมจึงมีความสลักสำคัญมากมายนัก


โดยเฉพาะการลาออกดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นเพียงอาการของคน"อกหัก"เท่านั้น


แต่ถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวในศาลปกครองมาตลอดจะรู้ว่า ปรากฏกาณณ์ที่เกิดขึ้นมิใช่เรื่องธรรมดา เพราะเป็นเรื่องหลักการในการทำงานของศาลปกครองในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร  แนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นที่สาธารณชนมีต่อศาลปกครองได้


นอกจากนั้นในการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นเมื่อปี 2543  ดร.วรพจน์ เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการลงหลักปักฐานของศาลปกครองกลางในฐานะอธิบดีคนแรก เช่นเดียวกับ  


ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ 


ในฐานะเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้จัดระบบต่างๆรองรับการทำงานของตุลาการ


การทำงานของ ดร.วรพจน์ เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา  แม้บางครั้งจะมีความพยายามแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองผ่าน "อดีตบิ๊ก"บางคนในศาลปกครองสูงสุด แต่ดร.วรพจน์ ไม่ยินยอมและนำเรื่องเข้าที่ประชุมตุลาการศาลปกครองกลางพิจารณาหักล้าง


เมื่อมีการเปิดสอบตุลาการศาลปกครองสูงสุดรุ่นแรก ดร.วรพจน์ได้รับการขอจาก"ผู้ใหญ่" บางคนให้ทำหน้าที่อธิบดีต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อนเพื่อวางระบบการวินิจฉัยคดีให้มั่นคง 


ขณะที่  


นายเกษม คมสัตย์ธรรม  

ซึ่งเป็นเพียงตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองกลาง สามารถสอบเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดก่อนดร.วรพจน์ที่สอบเข้าไปเป็นตุลาการศาลปครองสูงสุดรุ่นที่ 2


แต่ด้วยคำมั่นของ"ผู้ใหญ่"บางคน ทำให้ ดร.วรพจน์เชื่อว่า "ผู้ใหญ่"จะทำตามสัญญา ที่จะไม่ถือว่า เรื่องการเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดก่อนหรือหลัง เป็นเหตุในการพิจารณาตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด


แล้วก็เกิดกรณีปราสาทพระวิหารจนกลายเป็นปมขัดแย้งและร้าวลึก เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2551 คุ้มครองชั่วคราวห้ามนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน.2551 ซึ่งเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปดำเนินการการใดๆ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น


 ดร.วรพจน์ และ ดร.ชาญชัยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โดยเห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองเพราะมติคณะรัฐมนตรีเรื่องนี้เป็นการกระทำในทางรัฐบาล หรือเรื่องในทางนโยบาย โดยแท้ มิใช่การกระทำทางปกครอง


แต่ความเห็นที่แตกต่างกันอย่างเดียวไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรขึ้น แต่ในฐานะนักวิชาการที่สอนกฎหมายด้วย มีการนำคำสั่งไปวิพากษ์วิจารณ์ในห้องเรียนสร้างความไม่พอใจให้"ผู้ใหญ่"บางคน


ต่อมาเมื่อศาลปกครองสูงสุดคณะที่ 1 ซึ่งมี ดร.อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ยิ่งทำให้ปมความขัดแย้งขยายใหญ่ขึ้น


เนื่องจาก มีกระแสข่าวเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่เรื่องคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางออกมาในเวลาตีสอง ซึ่งทำให้สงสัยว่า ทำไมองค์คณะจึงทำงานกันกลางดึกเช่นนั้น  การเปลี่ยนองค์คณะ แต่ไม่มีใครยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่า เป็นอย่างไร


น่าเสียดายว่า ศาลปกครองมิได้ชี้แจงและนำเอกสารหลักฐาน เช่น การจ่ายสำนวน กระบวนพิจารณาคดีชี้แจงต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส  กระแสข่าวดังกล่าวจึงเป็นเรื่องอึมครึมที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในแวดวงวิชาการกฎหมาย


หลังจากเกิดกระแสข่าวดังกล่าวได้เกิดสภาพหวาดระแวงขึ้นในศาลปกครองโดย"ผู้ใหญ่"บางคนมองว่า มีการนำเรื่องภายในไปปูดข้างนอก แน่นอนว่า ทั้งดร.วรพจน์และ ดร.ชาญชัย  ถูกเพ่งเล็งอยู่ด้วย


กอปรกับช่วงการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในสำนักงานศาลปกครอง จึงมีการขุดเรื่องเก่าเกี่ยวกับการจ้างสถาบันพระปกเกล้าทำวิจัยเรื่อง"สัญญาทางปกครอง"และ "คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล"ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งศาลใหม่ๆขึ้นมาเล่นงานตุลาการศาลปกครองสูงสุดบางคนโดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)สอบโดยอ้างว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งๆที่เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าว มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดว่า จ้างบุคคลใดทำวิจัย ใครเป็นที่ปรึกษาซึ่ง "ผู้ใหญ่"เองก็รับรู้ข้อมูลนี้มาตลอด


แต่ทำไมเพิ่งนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาแต่งตั้งตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด


จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการสกัดบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างกันในหลักการพิจารณาคดีและทางการเมือง


หลังการลาออกของ ดร.วรพจน์ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 มีความเคลื่อนไหวจากตุลาการจำนวนหนึ่งทำหนังาอถึงประธานศาลปกครองสูงสุดให้ยับยั้งการลาออกดังกล่าว


อีกไม่กี่วันคงจะรู้ว่า ดร.อักขราทรจะตัดสินใจอย่างไรและอาจเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบว่า อนาคตของศาลปกครองจะเป็นอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น