5 อาจารย์ นิติฯ ธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ต่อการพิจารณาคดียุบ 3 พรรคการเมือง ชี้ 2 ประเด็น 1.คุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่าน อาจขาดคุณสมบัติ และ 2.กรอบระยะเวลาในการพิจารณาตัดสินคดีอาจรวบรัด และเร่งด่วนเกินไป
แถลงการณ์ของ 5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมือง
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินกระบวนพิจารณาคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และ พรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยได้กำหนดนัดคู่ความให้มีการแถลงปิดคดีในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 แล้ว นั้น
เรา กลุ่ม 5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแสดงทัศนะเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวข้างต้น ดังต่อไปนี้
1.คุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้วินิจฉัยคดี
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 วินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรี ( นาย สมัคร สุนทรเวช ) ได้ปรากฏประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านซึ่งอยู่ในองค์คณะที่พิจารณาพิพากษาคดีนี้อาจขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยดังกล่าว
ประเด็นปัญหานี้เป็นกรณีสำคัญยิ่ง เพราะหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นจากการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งขาดคุณสมบัติ ย่อมเท่ากับว่า คำวินิจฉัยนั้นเกิดขึ้นจากการวินิจฉัยโดยบุคคลซึ่งไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ และโดยที่การขาดคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์คณะวินิจฉัยเป็นเรื่องที่มีความร้ายแรงในทางกฎหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปโดยมิได้ตระหนักถึงปัญหานี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ก็หมิ่นเหม่อย่างยิ่งต่อการที่จะไม่อาจนำไปบังคับใช้ได้ในทางกฎหมาย
2.กรอบเวลาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดี
ยุบพรรคการเมืองเป็นคดีสำคัญยิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในทางการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้เร่งรัดให้มีการวินิจฉัยคดีอย่างรีบด่วน ในช่วงเวลาที่ผู้คนในบ้านเมืองกำลังขาดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันอย่างรุนแรง กรณีอาจมีผลทำให้สาธารณชนทั่วไปเกิดความเคลือบแคลงสงสัยได้ว่า การวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญได้เป็นไปเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง หรือเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หากศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยไม่ตระหนักต่อปัญหานี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวก็หมิ่นเหม่อย่างยิ่งต่อการที่จะไม่ได้รับการยอมรับนับถือทั้งจากคู่กรณีและทั้งจากสาธารณชนทั่วไป
ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองอย่างยิ่งเราขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในสองประเด็นนี้อย่างรอบคอบก่อนที่จะมีการวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว กลายเป็นชนวนอันหนึ่งต่อภาวะสงครามกลางเมืองซึ่งกำลังใกล้จะเกิดขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร
อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
30 พฤศจิกายน 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น