ข้อสังเกตเกี่ยวกับการให้เหตุผลทางกฎหมายและการตีความในคำพิพากษาของศาล โดย อ. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

5/12/52

(ที่มา คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ ประชาทรรศน์รายวัน , 29 ก.ย. 2008)

รศ.ดร. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทนำ :

ในช่วงระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้มีวาทกรรมตุลาการภิวัตน์ขึ้น โดยวาทกรรมนี้ถูกเสนอขึ้นในสังคมไทยโดยมุ่งหมายจะให้ประชาชนเข้าใจว่า ตุลาการภิวัตน์ หมายถึง กรณีองค์กรตุลาการเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงการขจัดปัญหาการทุจริตของนักการเมือง ซึ่งเป็นการบิดเบือนความหมายที่เเท้จริงของ Judicialization หรือ Judicial Activism ในภาษาอังกฤษที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งหมายถึง การควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือการกระทำของรัฐบาล

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในทางตรงกันข้าม ตุลาการภิวัตน์ในสังคมไทยถูกนำเสนอขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจตุลาการในการใช้และตีความ “กฎหมาย” เพื่อตัดตอนอำนาจทางการเมืองที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย โดยเนื้อหาหรือข้อความที่ปรากฏในคำพิพากษา มีข้อความในเชิงว่ากล่าว ตำหนิ อบรมสั่งสอน ฯลฯ ไปด้วย ซึ่งผิดปกติวิสัยลักษณะของคำพิพากษาที่มุ่งจะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นข้อพิพาทเท่านั้น ข้อเขียนนี้อธิบายลักษณะและหน้าที่ของคำพิพากษารวมถึงวิธีการตีความกฎหมายของต่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิจารณ์ตุลาการภิวัตน์ในสังคมไทยต่อไป

1.หน้าที่ของคำพิพากษา

ตามระบบกฎหมายของภาคพื้นยุโรป เช่น ประเทศฝรั่งเศส คำพิพากษาของศาลจะสั้น กระชับ ไม่ยืดยาว โดยคำพิพากษาจะประกอบด้วย “ข้อเท็จจริงของคดี” และ “หลักกฎหมาย” ที่ใช้ในการตัดสินคดีเท่านั้น คำพิพากษาจะละเว้นไม่กล่าวถึงเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเด็นข้อกฎหมาย ผู้พิพากษาชื่อว่า P.Mimin ได้ตำหนิผู้พิพากษาที่พยายามสอดแทรกข้อโต้แย้งทางนโยบาย (Policy argument) ความเห็นส่วนตัว (Personal views) หรือความไร้สาระ (nonsense) อื่นๆ ไว้ในคำพิพากษา1 ทำนองเดียวกับศาลของออสเตรเลียที่เห็นว่าข้อโต้แย้งด้านนโยบายไม่ควรปรากฏในคำพิพากษา2 พูดง่ายๆ ก็คือ ข้อโต้แย้งด้านนโยบายมิใช่เป็นเรื่องของศาล แต่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ

ในทางตรงกันข้าม หากกลับมาพิจารณาคำพิพากษาของศาลไทยในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ที่ผ่านมา จะพบว่าเนื้อหาของคำพิพากษาบางตอนมิได้เกี่ยวข้องกับการอธิบายหลักกฎหมาย หรือการตีความถ้อยคำทางกฎหมาย แต่มีความพยายามสอดแทรกทัศนคติ ความรู้สึกทางศีลธรรม ความควรความไม่ควร ฯลฯ การพยายามที่จะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษาให้ปรากฏในคำพิพากษาไม่ว่าแรงจูงใจจะดีเพียงใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มิใช่สาระสำคัญของคำพิพากษาแต่ประการใด คำพิพากษาที่ดีต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติ และหลักกฎหมายที่ถูกต้อง ชัดเจน และอธิบายได้ คำพิพากษาของศาลมิใช่เป็นช่องทางสำหรับการอบรมสั่งสอนจริยธรรมว่าอะไรควรอะไรไม่ควร หรือว่ากล่าวตำหนิติเตียนผู้หนึ่งผู้ใด หน้าที่ของผู้พิพากษาคือการตัดสินประเด็นข้อกฎหมาย (Legal issues) และการตัดสินของผู้พิพากษาต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย หาใช่อ้างอิงหลักศีลธรรมจรรยาไม่

ตัวอย่างของคำพิพากษาที่ปรากฏ “ถ้อยคำ” หรือ “ข้อความ” ซึ่งมิใช่สาระสำคัญของคดี แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศีลธรรมจรรยา หรือความเห็นส่วนตัว เช่น

1) คดียุบพรรคไทยรักไทย

ข้อความตอนหนึ่งปรากฏว่า “ผู้ถูกร้องที่ 1 มิได้ให้ความสำคัญหรือเห็นคุณค่าของสิทธิเลือกตั้งของประชาชาชน...นอกจากนี้ยังแสดงถึงการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง…ผู้ถูกร้องที่ 1 มิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้คนในชาติมีความสุขทั่วหน้า ดังที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ต่อประชาชน…”

2) คดีแถลงการณ์ร่วมกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

ข้อความตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการทำแถลงการณ์ร่วม ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า “…เป็นเรื่องที่ผู้ทำหนังสือสัญญาจะต้องใคร่ครวญให้รอบคอบ ก่อนที่จะดำเนินการทำหนังสือสัญญาดังกล่าว…” “...การดำเนินการและพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องนี้จึงต้องกระทำอย่างรอบคอบ” เเละ “…ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปภายหน้าได้” ...พึงเล็งเห็นได้ว่า หากลงนามคำแถลงการณ์ร่วมไป ก็อาจก่อให้เกิดการแตกแยกกันทางด้านความคิดของคนในสังคมทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤติแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศกัมพูชา”

3) คดีหลบเลี่ยงภาษีหุ้น

ข้อความตอนหนึ่งศาลกล่าวว่า “…จำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย…”

2.นิติวิธี : การตีความกฎหมาย

ก่อนอื่นต้องอธิบายความแตกต่างระหว่างคำว่า “การตีความ” (Interpretation) กับการแปลความ (Translation) ก่อนว่าไม่เหมือนกัน การตีความนั้นเป็นการหยั่งหาความหมายของถ้อยคำทางกฎหมาย หรือบทบัญญัติ ว่ามีเจตนารมณ์หรือมีความหมายแคบกว้างเพียงใด ในขณะที่การแปลความเป็นการแปลถ้อยคำอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการค้นหาหรือหยั่งทราบเจตนารมณ์ของถ้อยคำหรือบทบัญญัตินั้นๆ แต่อย่างใด

หลักการตีความถ้อยคำทางกฎหมาย (Legal terminology) นั้นต้องคำนึงถึงหลักความเป็น “เอกภาพของระบบกฎหมาย” ด้วย ในประเด็นนี้ อ.หยุด แสงอุทัย กล่าวว่า

“กฎหมายต่างๆ ไม่สามารถบัญญัติข้อความที่ใช้ในกฎหมายนั้นได้ทั้งหมดทั้งสิ้น จำเป็นต้องอาศัยข้อความที่กฎหมายอื่นบัญญัติไว้บ้าง เป็นต้นว่า ถ้าเราจะเปิดดูพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดแห่งกฎหมาย เราจะเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติว่าคำว่า “ภูมิลำเนา” มีความหมายว่าอย่างไร โดยอาศัยหลักที่ว่า กฎหมายฉบับหนึ่งย่อมจะต้องอาศัยข้อความที่กฎหมายฉบับอื่นๆ บัญญัติไว้บ้าง หรืออีกนัยหนึ่ง โดยอาศัยหลักที่ว่า กฎหมายต่างๆ อาจเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เราจึงต้องถือว่าคำว่า “ภูมิลำเนา” มีความหมายเช่นเดียวกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ทั้งนี้ ถือว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องนี้”3

นอกจากนี้ ผู้พิพากษายังต้องพิเคราะห์ถ้อยคำอีกด้วยว่า ถ้อยคำดังกล่าวเป็น “ถ้อยคำธรรมดา” หรือเป็น “ถ้อยคำตามกฎหมาย” ซึ่งถ้อยคำบางคำอาจมีความหมายได้ทั้งความหมายธรรมดาและความหมายทางกฎหมาย เช่น คำว่า “หนี้” หนี้ตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไปหมายถึง หนี้เงิน แต่หนี้ในความหมายของวิชานิติศาสตร์หมายถึง การกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดและส่งมอบทรัพย์
 
กรณีศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการจัดรายการชิมไปบ่นไปของอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช นั้นเข้าข่ายเป็น “ลูกจ้าง” แล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดพจนานุกรม5 เพื่อหาความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ว่ามีความหมายว่าอย่างไร โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำว่า "ลูกจ้าง" ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของกฎหมาย หรือการแปลตามความหมายทั่วไป โดยศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ในความหมายของ "ลูกจ้าง" ว่าหมายถึง ผู้รับจ้างทำการงาน ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิได้คำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากได้มีการตกลงรับจ้างกันทำการงานการแล้วย่อมมีความของคำว่า "ลูกจ้าง" ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ทั้งสิ้น


ในคดีชิมไปบ่นไป ผมมีข้อสังเกตบางประการดังนี้

ประการแรก ประเด็นที่สำคัญของคดีนี้คือ การทำรายการของอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นมีลักษณะเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ การจะวินิจฉัยว่า อดีตนายกฯ มีสถานะเป็นลูกจ้างหรือไม่ มิใช่เพียงแค่เปิดพจนานุกกรมเพื่อหาความหมายของคำว่าลูกจ้าง แต่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิเคราะห์ลักษณะหรือองค์ประกอบของสัญญาจ้างแรงงานด้วย ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานนั้นมีหลายประการ เช่น เป็นสัญญาเฉพาะตัว เป็นสัญญาต่างตอบแทน เป็นสัญญาไม่มีแบบ เป็นสัญญาที่นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือลูกจ้าง ผมไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จะวินิจฉัยว่าอดีตนายกฯ เป็นลูกจ้างนั้น ได้มีการวิเคราะห์อธิบายแต่ละองค์ประกอบข้างต้นว่าลักษณะการทำงานของอดีตนายกฯ นั้นเข้าองค์ประกอบแต่ละข้ออย่างละเอียดหรือไม่ เนื่องจากขณะเขียนบทความนี้ คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เผยแพร่ ข่าวที่ปรากฏดูเหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเพ่งเล็งไปที่เรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก แต่ค่าตอบแทนนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น

ประการที่สอง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการจ้างแรงงาน มาตรา 575 จะไม่มีบทนิยามศัพท์หรือคำอธิบายว่าลูกจ้างคืออะไรก็ตาม แต่กฎหมายแรงงานอย่างอื่นก็มีบทนิยามศัพท์ในเรื่องลูกจ้างว่าคืออะไร เช่น ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 4 บัญญัติว่า ลูกจ้าง หมายถึง “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หรือใน พระราชบัญญัติเงินทดแทน” พ.ศ.2537 มาตรา 5 บัญญัติว่า ลูกจ้าง หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย” หรือ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 บัญญัติว่า ลูกจ้าง หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง”

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งมีอยู่มากมาย เกี่ยวกับสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานว่ามีอะไรบ้าง กล่าวโดยสรุปแล้ว การค้นหาความหมายของคำว่าลูกจ้าง ศาลรัฐธรรมนูญควรเทียบเคียงจากกฎหมายแรงงานอื่นๆ มากกว่าดูจากพจนานุกรมอย่างเดียว การที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า กฎหมายแต่ละฉบับมีเจตนารมณ์เป็นของตนเองแตกต่างกันไปแต่ละฉบับนั้น แม้จะรับฟังได้ก็ตาม แต่การค้นหาความหมายของลูกจ้างที่ปรากฏในกฎหมายแรงงาน ประกอบกับแนวคำพิพากษาของศาลที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งตำรากฎหมายแรงงานซึ่งมีผู้แต่งหลายท่าน เพื่อค้นหาหลักหรือสาระสำคัญของลูกจ้างหรือสัญญาจ้างเเรงงานว่ามีลักษณะอย่างไร ย่อมดีกว่าเพียงแค่เปิดพจนานุกรมอย่างแน่นอน

ประการที่สาม ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญควรอธิบายหรือวิเคราะห์ก็คือ ความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ว่ามีความหมายแคบกว้างเพียงใด โดยศึกษาเปรียบเทียบจากกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งได้มีบทนิยามความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้แล้ว เพื่อประกอบเป็นแนว

ประการที่สี่ ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์และกฎหมายแรงงานอื่นๆ มีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจนำมาใช้ได้นั้น ข้อนี้มีน้ำหนักน้อย เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายแรงงานอื่นๆ ยังมีสถานะเป็นกฎหมาย แต่พจนานุกรมนั้นไม่มีสถานะเป็น “กฎหมาย” ด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ ประเด็นนี้ไม่ใช่เป็นประเด็นเรื่อง “ลำดับชั้น” หรือ “ลำดับศักดิ์” ของกฎหมาย (Hierarchy of laws) ลำดับชั้นหรือลำดับศักดิ์ของกฎหมาย หมายถึง กรณีที่กฎหมายลำดับต่ำกว่าจะมีเนื้อหาหรือข้อความขัดกับกฎหมายในลำดับสูงกว่าไม่ได้ แต่กรณีนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยสัญญาจ้างแรงงานก็ดี กฎหมายแรงงานอื่นๆ ก็ดี หาได้มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับมาตรา 267 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่

ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญยกเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายมาเป็นเหตุผลนั้น เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวมากกว่า อีกทั้ง อ.หยุด แสงอุทัย ยังได้ตั้งเป็นข้อสังเกตอีกว่า เป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายฉบับหนึ่งจะบัญญัติทุกสิ่งทุกอย่าง6 ผมเห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถที่ให้คำนิยามหรือบทนิยามศัพท์ได้ทุกคำ ถ้อยคำกฎหมายใดที่กฎหมายนั้นๆ ไม่มีการให้คำนิยามศัพท์เป็นการเฉพาะเจาะจงแล้ว ผู้ใช้กฎหมายพึงเทียบเคียงกับกฎหมายทั่วไปอย่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายอาญา หรือค้นหาจากแนวคำพิพากษาของศาลในเรื่องนั้นๆ ประกอบการตัดสิน

จากคำอธิบายของ อ.หยุด แสงอุทัย ข้างต้น ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความคำว่า “ลูกจ้าง” ให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน โดยเทียบเคียงจากกฎหมายแรงงานอื่นๆ แนวคำพิพากษาของศาลและตำรากฎหมายแรงงาน เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมายด้วย มิใช่พิจารณาเพียงแค่เรื่องลูกจ้างเท่านั้น การตีความโดยอาศัยพจนานุกรมนั้นไม่เพียงพอที่จะอธิบายความหมายของลูกจ้างได้ เพราะคำว่าลูกจ้างนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญต้องอธิบายองค์ประกอบอื่นของสัญญาจ้างแรงงานด้วย

บทส่งท้าย :

หน้าที่ของคำพิพากษาคือการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นพิพาทกัน คำพิพากษาที่ดีจะต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติ ไม่คลุมเครือ และหลักกฎหมายที่ถูกต้อง ชัดเจน ปราศจากข้อความที่ไม่จำเป็นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหรือความคิดเห็นส่วนตัว ถ้อยคำในเชิงอบรมหรือตำหนิติเตียน (ไม่ว่าผู้พิพากษาท่านนั้นจะมีความตั้งใจดีเพียงใดก็ตาม) ภาษาที่ฟุ่มเฟือย เป็นต้น ตลอดจนการตีความกฎหมายที่ถูกต้องตามหลักวิชานิติศาสตร์ในระบบกฎหมายนั้นๆ ที่สำคัญที่สุด คำพิพากษาที่ตัดสินออกมาแล้วจะให้ประชาชนยอมรับ (หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์น้อยที่สุด) มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการให้เหตุผลทางกฎหมาย (Legal reasoning) เป็นสำคัญ คำพิพากษาที่ดีจึงมิใช่เป็นเรื่องของการมุ่งไปที่ “ผล” อย่างเดียว แล้วหาคำอธิบายมาประกอบเท่านั้น โดยหวังว่า “ผล” ของคำพิพากษาจะแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ เพราะว่าประชาชนสามารถแยกแยะได้ว่า “ผล” (Result) กับ “เหตุผล” (Reason) นั้นไม่เหมือนกัน

...................................................................................

1 Eva Steiner, French Legal Method, (New York: Oxford University Press, 2002), p.150

2 Gwen Morris, Laying Down the Law, (Sydney: Butteworths1992) p.47

3 หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, (กทม: สำนักพิมพ์หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527) หน้า 53

4 ปรีดี เกษมทรัพย์, กฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป, (กทม.: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์, 2526), หน้า 66

5 ในต่างประเทศ ผู้พิพากษาก็เปิดดูพจนานุกรมเพื่อหาความหมายของศัพท์กฎหมายได้ แต่พจนานุกรมนี้มิใช่เป็นพจนานุกรมทั่วๆ ไป แต่เป็นพจนานุกรมทางกฎหมายโดยเฉพาะ เช่น Prof. Glanville Williams แนะนำให้ใช้พจนานุกรมชื่อว่า Broom’s Legal Maxim หรือ A Dictionary of Modern Legal Usage เป็นต้น โปรดดู Glanville Williams, Learning the Law, (London: Sweet & Maxwell), หน้า 88-89 ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสก็มีการใช้พจนานุกรมทางกฎหมายของ Guillien and Vincent, Lexique de Terms Juridique และ Cornu, Vocabulaire Juridique, โปรดดู Eva Steiner, อ้างแล้ว, หน้า 152

6 หยุด แสงอุทัย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, (กทม: สำนักพิมพ์ประกายพรึก), หน้า 171

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น