ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ปฎิลูบการเมือง” หรือ ฉบับ “ประชาชัง”

5/12/52
วันศุกร์, พฤษภาคม 25, 2007


บทความประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช: ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ปฎิลูบการเมือง” หรือ ฉบับ “ประชาชัง”

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์

ที่มา ประชาไท 24 พฤษภาคม 2550

ก่อนอื่น ต้องขอบอกความรู้สึกส่วนตัวที่เห็นแถลงการณ์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มนักวิชาการก่อน ว่ามีอยู่สองความรู้สึก

อย่างแรก คือ ผิดหวังที่ออกมาช้ามากๆๆๆๆ ไม่ใช่ช้าไปหน่อย ที่ออกมาไม่รับร่าง ทั้งๆ ที่ นักวิชาการบางท่านอย่าง

อ.พิชิต (ลิขิตกิจสมบูรณ์)
อ.สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล)
อ.สุธาชัย (ยิ้มประเสริฐ) รวมถึงเพื่อนอาจารย์ด้วยกันอย่าง
อ.วรเจตน์ (ภาคีรัตน์)
อ.ฐาปนันนท์ (นิพิฏฐกุล)
อ.ธีระ (สุธีวรางกูร)
อ.ปิยบุตร (แสงกนกกุล) และ
ผมเอง

ออกมา “ลับ” ร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง จนผมโดนข้อหาทางการเมือง คือ “เป็นพวกทักษิณ” ไปแล้ว

ข้อหานี้อุฉกรรจ์นักแล พวกสนับสนุนรัฐประหารมักใช้ข้อหานี้อย่างเหวี่ยงแหกับคนที่คัดค้านรัฐประหารและวิจารณ์การทำงานของ ส.ส.ร.และ คตส. อย่างที่เคยชอบอ้างว่าคนโน้นคนนี้ทำผิดข้อหา Lese-majesty

อย่างที่สอง รู้สึกดีใจที่นักวิชาการยังพอตั้งสติกันได้ อย่างน้อยผมก็ไม่อยากเห็นประชาคมของนักวิชาการหันไปเห็นด้วยกับรัฐประหารที่ผ่านมา เกาะกลุ่มกันหน่อยก็ดีครับ ที่ผ่านมายอมรับว่าเหงาไม่น้อย

วันนี้ขอเขียนงานเบาๆ น่ะครับ ภาษาไม่ออกวิชาการมากนัก วันนี้ขอรับบทบาท “นักกฎหมายมหาซน” บ้างลองร่างรัฐธรรมนูญแข่งกับ “นักกฎหมายมหาชน”

หมวด 1

บททั่วไป

มาตรา 6 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายต่ำสุดของประเทศ แถลงการณ์ ประกาศ หรือบรรดาคำสั่งของคณะรัฐประหารสามารถขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้

หมวด 3

สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย

มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ย่อมสามารถกระทำได้ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ

ความเสมอภาค

มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ยกเว้นประชาชนที่อยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย

มาตรา 31 หลักความเสมอภาคกันในกฎหมายนี้ไม่ใช้บังคับแก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลุ่มราชนิกูล กลุ่มพันธมิตร บรรดาราษฎรอาวุโส และผู้มากด้วยจริยธรรม

สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล

มาตรา 34 การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้ ยกเว้นอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

สิทธิในกระบวนการยุติธรรม

มาตรา 39ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานก่อนว่าผู้นั้นกระทำความผิด เว้นแต่ผู้นั้นจะพิสูจน์ต่อศาลว่า ตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน

มาตรา 45 บุคคลไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นวิจารณ์ประธานองคมนตรี รัฐบาล คมช. ส.ส.ร. และคตส.

การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์จะกระทำมิได้ แต่การปิดเว็บไซต์ ทั้งในประเทศไทยและนอกราชอาณาจักร รวมถึงวิทยุชุมชนที่ไม่สนับสนุนคณะรัฐประหารนั้นสามารถกระทำได้

สิทธิในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ

มาตรา 67 ในกรณีที่บ้านเมืองวุ่นวาย สับสน เผด็จการย่อมมีสิทธิที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ทุกเมื่อ

มาตรา 68 ประชาชนไม่มีสิทธิต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี

อนึ่ง ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เหตุการณ์คับขัน ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ฝ่ายพันธมิตร ผู้เฒ่าผู้แก่จำนวน 5 ท่าน และผู้มากด้วยจริยธรรมอีก 5 ท่าน รวมถึงนายวิชา มหาคุณ และนางสดศรี สัตยธรรม เป็นคณะบุคคลอาสาแก้ไขวิกฤติการณ์ของประเทศ มติของที่ประชุมถือเป็นที่สุดและผูกพันคนไทยทั้งประเทศให้ต้องถือปฎิบัติตาม

แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

มาตรา 76 รัฐพึงจัดปัจจัยสี่อย่างพอเพียง ครัวเรือนทุกครัวเรือนต้องมียาสามัญประจำบ้าน และให้ยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

มาตรา 77 รัฐต้องจัดให้กองทัพมีอาวุธยุทโธปกรณ์และคลังแสงสรรพาวุธอย่างเพียบพร้อม ทันสมัย เพียงพอ ล้ำนำหน้า และต้องทำการค้นคว้าและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ให้ได้ภายใน 5 ปีเพื่อพิทักษ์รักษาความมั่นคงของ คมช.

มาตรา 78 รัฐบาลพึงให้ความสำคัญกับข้อคิดเห็น ข้อตักเตือน ข้อแนะนำ ข้อห่วงใยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายสุเมธ ตันติเวชกุล กลุ่มราชนิกูล พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ฝ่ายพันธมิตร ราษฎรอาวุโสและผู้มากด้วยจริธรรมทั้งหลาย

แนวนโยบายด้านการต่างประเทศ

มาตรา 81 รัฐบาลไทยต้องดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก โดยไม่ต้องตามกระแสประชาธิปไตย หลักนิติธรรม โลกาภิวัตน์ และสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

รัฐบาลไทยพึงผูกมิตรกับประเทศพม่า ปากีสถาน ฟิจิ รวมถึงรัฐบาลต่างประเทศที่มาจากการทำรัฐประหาร

หมวดวุฒิสภา

มาตรา 106 วุฒิสภามาจากการสรรหาจำนวน 160 คน โดยมาจากการใช้ดุลพินิจของนายจรัญ ภักดีธนากุล นายวิชา มหาคุณ นางสดศรี สัตยธรรม ผู้มากจริยธรรมอีก 5 ท่าน ราษฎรอาวุโส และฝ่ายพันธมิตร

หมวดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองและข้าราชการระดับสูง

มาตรา 270 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงทั้งหลายต้องไม่มีคุณสมบัติดังต่อไป

(1) อยู่บ้านหลวงฟรี

(2) ครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย

(3) จดทะเบียนสมรสซ้อน

(4) ไม่มีประวัติกรรโชกทรัพย์

(5) ไม่มีประวัติถลุงงบหลวง ทัวร์นอก ลอกวิทยานิพนธ์ และ

(6) ต้องไม่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

อนึ่ง นอกจากไม่มีคุณสมบัติข้างต้นแล้ว ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ด้วย

(1) จบนักธรรมเอก หรือบวชเรียนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 พรรษา

(2) ต้องถือศีล 8

(3) ต้องสมถะ ถ่อมตน มักน้อย เรียบง่าย และมีสัมมาคารวะต่อผู้หลักผู้ใหญ่

(4) เข้าใจหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะได้ไม่ยึดถือลาภสักการะและตำแหน่งทางเมือง

หมวดนิรโทษกรรม

มาตรา 299 รัฐประหารที่กระทำขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549 และบรรดาการกระทำทั้งหลายหลังจากวันที่ 19 กันยาน 2549 รวมไปถึงรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และไกล ทั้งชาตินี้ ชาติหน้าและทุกชาติไป ย่อมชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ใดจะฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้

หมวดประชามติ

มาตรา 300 ประชาชนมีหน้าที่แสดงประชามติและต้องกาช่องรับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานทรยศต่อความไว้วางใจ คมช.และ ส.ส.ร. ต้องจำคุก 15 ปี หรือปรับ 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทส่งท้าย

ฝากไว้ให้ท่าน ส.ส.ร. พิจารณาด้วยครับ ภาษาอาจไม่สละสลวยเพราะมิได้เป็น “เนติบริกรมืออาชีพ” ส่วนชื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ผมให้ชื่อว่า ฉบับ “ปฎิลูบการเมือง” หรือ ฉบับ “ประชาชัง” ครับ อ้อ เกือบลืมไป ก่อนที่จะมีการแปรญัตติในคราวต่อไป ฝากคณะกรรมาธิการกรุณามี “เข็มทิศ” ไว้กับตัวทุกท่าน เผื่อว่า “ออกทะเล” จะได้กลับฝั่งถูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น