นายสิน ทำ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน มี โฉนดจาก นายพวง สองแปลง ชำระเงินให้นายพวงบางส่วน ตกลงโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินส่วนที่เหลือ ภายใน 6 เดือน
ครบกำหนดนายพวงผิดสัญญาไม่โอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้นายสิน กลับนำ ที่ดินแปลงแรกไปจดทะเบียนโอนขายให้ นายเขียว
โดยนายเขียว ทราบว่านายพวงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายสินไว้ก่อนแล้ว และนายสินไม่ทราบเรื่อง
ต่อมานายสิน กลัวว่านายพวงจะโอนขาย ที่ดินแปลงที่สองให้แก่บุคคลอื่น จึงฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอบังคับให้นายพวงจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่สองให้แก่ นายสินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน พร้อมทั้งแจ้งเรื่องที่ฟ้องคดีดังกล่าวให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ
แต่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น นายพวง จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงที่สองให้แก่ นายขาว โดยเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งเรื่องที่นายสินฟ้องคดีดังกล่าวให้นายขาวทราบ แต่นายขาว ยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้
ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2545 นายสินทราบว่า นายพวง จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงที่สองให้ นายขาว และ
วันที่ 30 กันยายน 2546 นายสิน ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินทราบว่านายพวงจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงแรกให้นายเขียว นายสิน จึงฟ้องนายพวง นายเขียว และนายขาวต่อศาล
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลง ระหว่างนายพวงกับนายขาว และ นายพวงกับนายเขียว
หลังจากฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว นายเขียว ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงแรกให้แก่ นางแดง โดยขณะที่ซื้อขายที่ดิน นายแดงไม่ทราบว่า นายสินฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างนายสินกับนายเขียว
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นได้หมายเรียกนายแดงเข้ามาเป็นจำเลยร่วม หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวข้างต้น
ทั้ง
นายพวง
นายเขียว
นายขาว และ
นายแดง
ให้การต่อสู้ว่า นายสินไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนและคดีขาดอายุความแล้ว
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาซื้อขาย
- ที่ดินแปลงแรก ระหว่าง นายพวงกับนายเขียว + ระหว่าง นายเขียวกับนายแดง
และ
- ที่ดินแปลงที่สอง ระหว่าง นายพวงกับนายขาว ได้หรือไม่
-------------------------------------------------------------------
ธงคำตอบข้อ 2
สำหรับการขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ดินแปลงแรก นายสินเป็นเจ้าหนี้นายพวง ในการที่จะบังคับให้นายพวงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แม้จะมิได้มีการฟ้องคดีต่อศาลก็ตาม
เมื่อนายเขียวซื้อที่ดินจากนายพวงลูกหนี้โดยทราบว่านายพวงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไว้กับนายสินไว้ก่อนแล้ว เป็นการทำนิติกรรมที่ทำให้นายสินเจ้าหนี้ของนายพวงเสียเปรียบ
จึงเป็นการฉ้อฉลนายสิน
ส่วนนายแดงแม้จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายเขียวโดยสุจริต แต่เป็นการซื้อที่ดินมาภายหลังจากที่นายสิน ฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างนายพวงกับนายเขียวแล้ว
จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238
ปพพ. มาตรา ๒๓๘ การเพิกถอน ดั่งกล่าวมา ในบทมาตราก่อนนั้น ไม่อาจกระทบกระทั่ง ถึง สิทธิของ บุคคลภายนอก อันได้มา โดยสุจริต ก่อนเริ่มฟ้องคดี ขอเพิกถอน
อนึ่ง ความที่กล่าวมา ในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้า สิทธินั้น ได้มาโดยเสน่หา
และนายแดงเป็นผู้รับโอนที่ดินของลูกหนี้ต่อจากนายเขียวผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ ไม่ใช่เป็นคู่กรณีทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง จึงไม่ใช่เป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้ลาภงอกอันจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 237
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3180/2540)
ปพพ. มาตรา ๒๓๗ เจ้าหนี้ ชอบที่จะร้องขอ ให้ศาลเพิกถอนเสียได้ ซึ่ง นิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ ได้กระทำลง ทั้งรู้อยู่ว่า จะเป็นทางให้ เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้า ปรากฏว่า ในขณะที่ทำ นิติกรรมนั้น บุคคล ซึ่ง เป็นผู้ได้ลาภงอก แต่การนั้น มิได้รู้เท่าถึง ข้อความจริง อันเป็นทางให้เจ้าหนี้ ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณี เป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่า เพียงแต่ลูกหนี้ เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว เท่านั้น ก็พอแล้ว ที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติ ดังกล่าวมา ในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่ นิติกรรมใด อันมิได้มีวัตถุ เป็นสิทธิใน ทรัพย์สิน
เมื่อนายสินฟ้องคดียังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนคดีจึงไม่ขาดอายุความ ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงแรกระหว่างนายพวงกับนายเขียว และระหว่างนายเขียวกับนายแดงได้ ส่วนการขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ดินแปลงที่สอง การที่นายขาวทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินว่านายสินได้ฟ้องขอให้บังคับนายพวงโอนที่ดินให้นายสิน แต่นายขาวยังยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวตามคำขอ
การกระทำของนายขาวเห็นได้ว่ามีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินเพื่อขัดขวางมิให้นายสินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายพวงได้รับชำระหนี้ทั้งหมด ตามที่นายสินได้ใช้สิทธิทางศาลในการเรียกร้องให้นายพวงชำระหนี้ไว้แล้ว
นิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
นายทุนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิ์ฟ้องขอให้เพิกถอนได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิในเรื่อง
การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738 - 5739/2545)
และไม่อยู่บังคับที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี ตามมาตรา 240
(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2547)
ปพพ. มาตรา ๒๔๐ การเรียกร้อง ขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ ฟ้องร้อง เมื่อ พ้นปีหนึ่ง นับแต่ เวลาที่เจ้าหนี้ ได้รู้ต้นเหตุ อันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือ พ้นสิบปี นับแต่ ได้ทำ นิติกรรมนั้น
ดังนั้น แม้จะได้ความว่านายสินฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีก็ไม่ขาดอายุความ
ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่สองระหว่างนายพวงกับนายขาวได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น