ธงคำตอบผู้ช่วยผู้พิพากษา สนามใหญ่ พ.ศ. 2550 วิแพ่ง วิอาญา

20/4/53
ธงคำตอบ การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา

วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550  วิชา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เวลาสอบ 4 ชั่วโมง (เวลา 14.00 น. – 18.00 น.)

ธงคำตอบข้อ 1

(ก) เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนายโท และจำหน่ายคดีเฉพาะนายโทออกจากสารบบความแล้ว นายโทจึงเป็นบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดตาม วิ.แพ่ง ม.57 วรรคหนึ่ง และการที่นายโทยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวจำเลยที่ 1 เพราะนายโทเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างไม่จำกัดจำนวน อันถือได้ว่านายโทมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น จึงเป็นการร้องสอดตาม ม.57(2) นายโทย่อมต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ม.58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว นายโทย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การเพราะเป็นการใช้สิทธิอย่างอื่นนอกเหนือจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งนายโทเข้าเป็นจำเลยร่วม

คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายโทเข้าเป็นจำเลยร่วมชอบแล้ว แต่คำสั่งศาลชั้นต้นที่รับคำให้การของนายโทไม่ชอบ (996/2549)

(ข) นายเอกทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารกับห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวที่จังหวัดชัยนาท เพื่อก่อสร้างสำนักงานสาขาในจังหวัดเดียวกัน การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวผู้ว่าจ้างได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าก่อสร้างดังกล่าว มูลหนี้ตามเช็คจึงมีที่มาจากหนี้ค่าก่อสร้างที่ได้ทำสัญญาระหว่างกันที่จังหวัดชัยนาท ศาลจังหวัดชัยนาทจึงเป็นศาลที่มูลคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวให้แก่นายเอกเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4(1) นายเอกจึงมีสิทธิฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวต่อศาลจังหวัดชัยนาท (1864/2548)

ส่วนนายโทเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างฯ โดยไม่จำกัดจำนวน มูลความแห่งคดีจึงเกี่ยวข้องกัน นายเอกจึงฟ้องนายโทร่วมกันเป็นจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดการท่องเที่ยวต่อศาลจังหวัดชัยนาทได้ตาม ม.5

นายเอกจึงฟ้องห้างฯ และนายโทให้ร่วมกันชำระเงินตามเช็คดังกล่าวต่อศาลจังหวัดชัยนาทได้


ธงคำตอบข้อ 2

การที่นายกล้าเป็นโจทก์ฟ้องนายโดดเป็นจำเลยที่ 1 และนายจอมเป็นจำเลยที่ 2 คดีหลัง ในขณะที่คดีก่อนซึ่งนายเก่งเป็นโจทก์ฟ้องนายโดดเป็นจำเลยอยู่ระหว่างการพิจารณา คดีก่อนที่นายเก่งเป็นโจทก์ฟ้องจึงยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดจะมีผลให้คดีหลังที่นายกล้าเป็นโจทก์ฟ้องเป็นฟ้องซ้ำได้ ทั้งนายจอมก็มิได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของนายกล้าคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม วิ.แพ่ง ม.148

การที่นายเก่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโดดเป็นจำเลยกรณีกระทำละเมิดเป็นเหตุให้นางแก้วตามารดานายเก่งและนายกล้าถึงแก่ความตาย ขอให้ชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพนั้น ในส่วนของค่าปลงศพถือว่านายเก่งฟ้องเพื่อประโยชน์ของทายาทนางแก้วตาผู้ตายทุกคนรวมทั้งนายกล้าด้วย ฉะนั้น คดีหลังที่นายกล้าฟ้องนายโดดเป็นจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้นางแก้วตามารดาถึงแก่ความตายและขอให้ชดใช้ค่าปลงศพด้วย จึงเป็นคำฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีก่อนที่นายเก่งฟ้องนายโดดเป็นจำเลยและอยู่ในระหว่างการพิจารณา ฟ้องของนายกล้าส่วนนี้จึงเป็นการฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม วิ.แพ่ง ม.173 วรรคสอง (1) ทั้งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนให้นายโดดใช้ค่าปลงศพแล้ว ฟ้องของนายกล้าเกี่ยวกับนายโดดที่ขอให้ใช้ค่าปลงศพในคดีหลังยังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ม.144 แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่ได้รับความเสียหาย ไม่ถือว่านายเก่งฟ้องเพื่อประโยชน์ของทายาทคนอื่น ๆ ฟ้องของนายกล้าเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากนายโดดในคดีหลังจึงไม่ใช่เรื่องเดียวกันหรือประเด็นเดียวกันกับคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ส่วนฟ้องของนายกล้าเกี่ยวกับนายจอมซึ่เป็นจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับนายโดดในฐานะนายจ้างนั้น เมื่อนายจอมไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อนที่นายเก่งฟ้องนายโดด ฟ้องของนายกล้าเกี่ยวกับนายจอมจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (6641/2548)

ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายโดดที่ว่าฟ้องของนายกล้าจึงรับฟังได้แต่เพียงในส่วนค่าปลงศพที่นายกล้าฟ้องนายโดดในคดีหลังเป็นฟ้องซ้อนและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ส่วนข้อต่อสู้ของนายจอมที่ว่าฟ้องของนายกล้าในคดีหลังเป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำรับฟังไม่ได้


ธงคำตอบข้อ 3

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่ตาม วิ.แพ่ง ม.203 เมื่อคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าว คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จึงไม่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอีกต่อไป ที่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของศาลชั้นต้นนั้นเป็นคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ทำให้คดีตามฟ้องเดิมของโจทก์อยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์มีสิทธิยื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกันเป็นคดีใหม่หลังจากศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีแล้วได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืน ม.173 วรรคสอง (1) ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังไม่เป็นฟ้องซ้อน (3291/2537)

จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นโจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง เมื่อคดีเดิมในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งโจทก์ในคดีหลังในเรื่องเดียวกันอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีเดิม ต้องห้ามตาม วิ.แพ่ง ม.173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ถอนอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งในคดีเดิมแล้วก็หาทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ในคดีหลัง ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในขณะยื่นฟ้องมาแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่ (337/2538)

จำเลยที่ 1 เคยฟ้องแย้งโจทก์ในเรื่องเดียวกัน แม้จำเลยที่ 1 จะได้ถอนฟ้องแย้งไปแล้ว แต่การที่จำเลยที่ 1 ถอนฟ้องแย้งโดยแถลงต่อศาลในคดีเดิมว่าจะไม่นำคดีมาฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการซื้อขายข้าวสารที่พิพาทอีก เป็นกระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 1 ในคดีนั้นได้ทำต่อศาลและต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คำแถลงของจำเลยที่ 1 เป็นการสละสิทธิที่มีอยู่ตาม วิ.แพ่ง ม.176 ซึ่งให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ผู้ถอนฟ้องแย้งที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่อีกจึงผูกมัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจฟ้องแย้งโจทก์ในคดีหลังได้อีก (2002/2511)

ธงคำตอบข้อ 4

(ก) กรณีของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การตาม วิ.แพ่ง ม.197 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิขออนุญาตยื่นคำให้การได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้โจทก์มายื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง ก่อน (4340-4341/2545 ประชุมใหญ่) และเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยจงใจตาม ม.199 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จะยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ม.199 ตรี (2) ประกอบ ม.199 วรรคสาม

ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ ถ้าจำเลยที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาย่อมมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตาม วิ.แพ่ง ม.199 ตรี ดังนั้น แม้โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เต็มตามฟ้อง แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

(ข) ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดตาม วิ.แพ่ง ม.199 เบญจ วรรคสี่ แต่การที่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดนั้น จะต้องเป็นการวินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีในชั้นขอพิจารณาคดีใหม่ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่วางเงินค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีในชั้นขอพิจารณาคดีใหม่ กรณีไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิฎีกาต่อไปได้ (คำสั่งคำร้อง 3779/2546)


ธงคำตอบข้อ 5

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม วิ.แพ่ง ม.24 การที่โจทก์อุทธรณ์และมีคำขอท้ายอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปและมีคำพิพากษาใหม่ มิได้ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้ายประมวล วิ.แพ่ง

การที่โจทก์สำคัญผิดว่าจะต้องเสียค่าขึ้นศาล 20,000 บาท ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องแล้วยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมที่โจทก์จะต้องใช้แกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาโดยในวันที่ยื่นอุทธรณ์โจทก์ได้นำเงิน 20,000 บาท ซึ่งเกินกว่าค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์กับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม วิ.แพ่ง ม.229 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้วางค่าธรรมเนียมศาลและเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถูกต้องตาม ม.229 แล้ว ดังนั้น กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับตั้งแต่มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมตามคำร้องของโจทก์ตลอดจนมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย (464/2549)

เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตาม วิ.แพ่ง ม.232 หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ อันเป็นการปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ม.234 แล้วศาลชั้นต้นจึงมีหน้าที่จะต้องส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณาตาม ม.236 จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งอีกไม่ได้เนื่องจากพ้นอำนาจของศาลชั้นต้นไปแล้ว (1436/2548) ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ธงคำตอบข้อ 6

การปิดประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่กำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันผิดประกาศนั้น มิใช่การส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องตาม วิ.แพ่ง ม.67 และ ม.70 จึงไม่ต้องด้วย ม.79 วรรคสอง ที่ให้มีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วันได้ล่วงพ้นไปแล้ว กำหนดเวลาดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการปิดประกาศโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 15 วัน เสียก่อน (5393/2542)

แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องเมื่อเกิน 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศก็ตาม แต่กำหนดระยะเวลาที่ให้ผู้ที่อ้างว่ามิใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลเป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลดังกล่าวว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่เท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาตาม วิ.แพ่ง ม.23 ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วก็ตาม (6013/2539 และ 5294/2547) ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องได้ ข้อคัดค้านของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ส่วนคำแถลงของจำเลยที่ว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นปัญหาในคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เกี่ยวกับคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตาม ม.296 จัตวา (3) แต่อย่างใด จึงไม่มีผลถึงคดีของผู้ร้อง ข้อคัดค้านของจำเลยฟังไม่ขึ้น (1592/2542)

เมื่อตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นสามีผู้ร้องได้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์โดยผู้ร้องไม่ทราบและไม่ได้รู้เห็นยินยอม สัญญาซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว สัญญาซื้อขายจึงมีผลสมบูรณ์ผูกพันผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่อาจแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเสีย (5393/2542)


ธงคำตอบข้อ 7

นายทองต้องการกู้เงินจากสหกรณ์ฯ แต่นายทองไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะกู้ได้ การที่นายทองให้นางเงินกู้เงินจากสหกรณ์ฯ ก็ด้วยนางเงินเป็นสมาชิกมีสิทธิที่จะกู้เงินจากสหกรณ์ฯ ต้องถือว่านางเงินเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะต้องรับผิดต่อสหกรณ์ฯ และเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิในเงินที่กู้ยืมจากสหกรณ์ฯ ตราบเท่าที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ต่อให้แก่ผู้ใด การที่นางเงินได้ฝากเงินกับนายเพชรเพื่อนำไปมอบให้แก่นายทอง เป็นกรณีที่นายเพชรกระทำการเป็นตัวแทนนางเงินในการที่จะนำเงินไปมอบให้กับนายทอง เมื่อนายเพชรยังมิได้มอบเงินให้แก่นายทอง เงินดังกล่าวยังเป็นของนางเงินอยู่ การที่นายเพชรเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต การกระทำของนายเพชรย่อมเป็นความผิดฐานยักยอกเงินของนางเงิน นางเงินจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องนายเพชรในข้อหายักยอกได้ ตาม วิ.อาญา ม.2(4), 28 (7062/2548)

ตาม วิ.อาญา ม.5(2) วางหลักไว้ว่า กรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้โดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ตามที่บัญญัติใน ม.3(2) แม้นายทองถูกนายเพชรทำร้ายจนถึงแก่ความตายซึ่งเป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายสามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ก็ตาม แต่นางเงินเป็นเพียงน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายทองและเป็นผู้จัดการมรดกของนายทอง นางเงินมิใช่บุคคลตามบทกฎหมายดังกล่าวที่จะมีอำนาจจัดการแทนนายทองผู้เสียหาย นางเงินจึงไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (866/2494 และ 4185/2529)


ธงคำตอบข้อ 8

(ก) การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีของนายสิงห์เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหา ไม่ใช่การถามปากคำผู้ต้องหาและมิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหาซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายโดยเฉพาะ ดังนั้น แม้จะกระทำขณะนายสิงห์อายุไม่เกิน 18 ปี ก็ไม่จำต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่นายสิงห์ร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมอยู่ด้วยในการนำชี้ตามบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปี ตาม วิ.อาญา ม.134/2 ประกอบ 133 ทวิ และ ม.133 ตรี การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีของนายสิงห์จึงชอบแล้ว (2132/2548)

(ข) วิ.อาญา ม.134/1 วรรคหนึ่ง ในคดีที่ผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ การที่พนักงานสอบสวนสอบถามนายสิงห์เรื่องทนายความและนายสิงห์ไม่ต้องการทนายความ แล้วพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำนายสิงห์ไปโดยมิได้จัดหาทนายความและตั้งทนายความให้ จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ ม.134/4 วรรคห้า เพียงบัญญัติว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดไม่ได้เท่านั้น แสดงว่าไม่มีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด อันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ม.120 ดังนั้น พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง

(ค) การแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบตาม วิ.อาญา ม.134 นั้น มิได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิด เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นายสิงห์ว่า ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว แม้ไม่ได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของนายสิงห์เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นก็เรียกได้ว่ามีการสอบสวนในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องนายสิงห์ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นได้ตาม ม.120 (8316/2548)


ธงคำตอบข้อ 9

วันที่โจทก์รู้เรื่องการกระทำความผิดของจำเลยไม่เป็นองค์ประกอบของความผิดและไม่เป็นรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ตาม วิ.อาญา ม.158 ที่โจทก์ต้องบรรยายมาในฟ้อง เมื่อในชั้นตรวจคำฟ้องถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องได้ ตาม วิ.อาญา ม.161 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เพื่อทราบว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องโดยให้ระบุวันที่โจทก์รู้เรื่องจำเลยกระทำความผิดให้ถูกต้องได้ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (5095/2540)

การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยขอให้ศาลอนุญาตให้ตัวโจทก์ลงลายมือชื่อในฟ้อง หรือถือเอาคำร้องเป็นการลงลายมือชื่อของตัวโจทก์ในช่องโจทก์ท้ายฟ้องก่อนที่จะได้มีการสืบพยานโจทก์ ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี หรือหลงต่อสู้ในข้อที่พลั้งเผลอแต่อย่างใด กรณ๊เช่นนี้ย่อมมีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้ถูกต้องได้ ทั้งไม่ล่วงเลยเวลาที่จะสั่งให้แก้ฟ้องได้ ตาม วิ.อาญา ม.163 วรรคหนึ่ง และ ม. 164 คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (856/2510)

ส่วนคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ที่ขอเพิ่มเติมฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยในฐานะเป็นพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในหมวดความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นการแก้ฐานความผิดหรือเพิ่มเติมฐานความผิด เป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้ กรณีเช่นนี้ย่อมมีเหตุอันควร และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในวันที่สืบพยานจำเลยเสร็จซึ่งเป็นเวลาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตาม วิ.อาญา ม.163 วรรคหนึ่ง และ ม.164 คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นกัน (8187/2543)


ธงคำตอบข้อ 10

(ก) อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์โต้เถียงว่าคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และแม้คดีนี้จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม วิ.อาญา ม.193 ทวิ ทั้งนี้ปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์นั้นต้องเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี แต่ปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ (1927/2537)

(ข) วิ.อาญา ม.212 บัญญัติว่า คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกนายสามอีกสถานหนึ่งแม้จะรอการลงโทษจำคุกไว้ ก็ถือว่าเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษนายสาม โดยพนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษนายสามให้หนักขึ้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ลงโทษจำคุกนายสามโดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้นั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว (4899/2536)

ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ริบมีดของกลางนั้น โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ริบมีดของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินของนายสามที่ใช้ในการกระทำความผิดมาด้วย แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยยังไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องของกลาง เป็นการไม่ชอบด้วย วิ.อาญา ม.186(9) ซึ่งปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องและพิพากษาให้ริบมีดของกลางได้ตาม 195 วรรคสอง โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ริบมีดของกลางดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (6247/2545, 714/2542 และ 8154/2543)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น