แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง

11/11/52
แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง

โดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

ส่วนที่ 2 แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
       
กฎหมายปกครองเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายมหาชน โดยกฎหมายมหาชนนั้นเป็นกฎหมายที่รวบรวมกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐ (les pouvoirs publics) หรือระหว่างนิติบุคคลในกฎหมายมหาชน (les personnes publiques) กับเอกชน ในขณะที่กฎหมายเอกชนนั้นเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกัน เช่น กฎหมายแพ่ง เป็นต้น
       
ดังได้กล่าวไปแล้วในบทนำว่านักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าสามารถแบ่งกฎหมายมหาชนออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง
       
กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการวางระเบียบการปกครองรัฐการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น ในกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงประกอบด้วยบรรดาหลักเกณฑ์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกอำนาจ (la séparation des pouvoirs) ในการปกครองประเทศออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในเรื่องหลังนี้ก็จะรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐและประชาชนด้วย กฎหมายรัฐธรรมนูญเหล่านี้มักจะถูกรวบรวมไว้เป็นเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ (constitution)
       
กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักในการจัดระเบียบการปกครองรัฐ และการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย บรรดาหลักเกณฑ์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งและ การดำเนินงานขององค์กรต่างๆของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐกับประชาชน เช่น กฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัย หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการลงทะเบียนเรียนของนิสิตนักศึกษา กฎเกณฑ์สำหรับการรับปริญญา โทษและการลงโทษทางวินัยแก่นิสิตนักศึกษา เป็นต้น
       
สำหรับเหตุที่ต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้กับฝ่ายปกครอง ก็เนื่องมาจากวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของฝ่ายปกครองนั้นแตกต่างจากวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของเอกชน กล่าวคือ ฝ่ายปกครองดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อประโยชน์สาธารณะ (l’intérêt général) ในขณะที่การดำเนินกิจกรรมของเอกชนมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน (l’intérêt personnel) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสำเร็จลุล่วงไปได้เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และทั่วถึง ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศจึงสร้างระบบกฎหมายพิเศษขึ้นมาเพื่อใช้กับการจัดตั้ง การกำหนดสถานะของฝ่ายปกครอง และการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง โดยให้ฝ่าย ปกครองมีเอกสิทธิ (prérogatives) เหนือกว่าฝ่ายเอกชนโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง(เพื่อประโยชน์สาธารณะ) สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (1)
      
    
1.1 การเกิดขึ้นของกฎหมายปกครอง(2)      
      
วิวัฒนาการของกฎหมายปกครอง
      
ในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็น ต้นแบบของกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองนั้น กฎหมายปกครองเริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างเห็นได้ชัดภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 แต่ในความเป็นจริงแล้วก่อนการปฏิวัติคือในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้มีการวางกฎเกณฑ์พิเศษอยู่แล้วเพื่อรองรับการดำเนินงานของฝ่ายปกครองภายใต้ระบบกษัตริย์ เมื่อมีการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 บรรดานักปฏิวัติทั้งหลายที่มีความรู้ทางด้านวิชาการด้านกฎหมายต่างก็ต้องการนำเอาหลักการแบ่งแยกอำนาจ (le principe de la séparation des pouvoirs) มาใช้ในการปกครองประเทศเนื่องจากความหวาดวิตกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะกลับคืนมาอีกและตนจะต้องกลับไปอยู่ภายใต้ระบบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมดังเช่นที่ผ่านมาในอดีต จึงได้จัดทำกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้น คือกฎหมายลงวันที่ 16-24 สิงหาคม ค.ศ.1790 เพื่อห้ามศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาคดีที่มีฝ่ายปกครองเป็นคู่ความ กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้อยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้
      
      
เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ศาลยุติธรรมก็ไม่สามารถเข้ามาพิจารณาคดีที่ฝ่ายปกครองเป็นคู่ความได้ จึงเกิดปัญหาตามมาว่า ใครจะเป็นผู้เข้ามาทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่มีฝ่ายปกครองเป็นคู่ความ ในเมื่อการมอบให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีที่มีฝ่ายปกครองเป็นคู่ความไม่สามารถทำได้ การจัดตั้งศาลขึ้นมาใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีที่มีฝ่ายปกครองเป็นคู่ความก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและอาจสร้างปัญหาตามมา ดังนั้น จึงมีแนวความคิดว่า ควรให้ฝ่ายปกครองเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาทที่มีฝ่ายปกครองเป็นคู่ความจะเหมาะสมที่สุด เพราะอย่างน้อยก็เป็นการระงับปัญหาภายในฝ่ายปกครองด้วยกันเองซึ่งไม่เป็นการกระทบถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจ และนอกจากนี้ฝ่ายปกครองเองก็ย่อมเข้าใจถึงกระบวนการในการดำเนินการต่างๆของฝ่ายปกครองได้เป็นอย่างดีอีกด้วย แนวความคิดดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดระบบการควบคุมการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองขึ้นภายในฝ่ายปกครองอันเป็นการควบคุมในระบบบังคับบัญชา (le contrôle hiérarchique) โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงซึ่งก็คือรัฐมนตรีจะเป็นผู้ชี้ขาดปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายปกครองด้วยกันหรือระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชน
      
เมื่อนโปเลียนก้าวเข้าสู่อำนาจ ก็มีแนวความคิดที่จะจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือฝ่ายปกครองในการดำเนินกิจกรรมทั้งหลาย รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและแก้ไขข้อพิพาทอันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองด้วย ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1799 จึงได้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (le Conseil d’Etat) ขึ้นภายในส่วนกลาง และสภาที่ปรึกษาแห่งจังหวัด (le Conseil de préfecture) ขึ้นในระดับจังหวัด (département) โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดไว้ในมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1799 ว่า ภายใต้การกำกับดูแลของ นโปเลียน สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐมีหน้าที่ยกร่างรัฐบัญญัติ (rédiger les projets de loi) และกฎเกณฑ์ของฝ่ายปกครอง (les règlements d’administration publique) รวมทั้งแก้ไขข้อพิพาทอันเกิดจากการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง หน้าที่ของสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐและสภาที่ปรึกษาแห่งจังหวัดมีอยู่เพียงการให้คำปรึกษาแก่ฝ่ายปกครองโดยไม่มีอำนาจในการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท การตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทยังคงเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองระดับสูงอยู่ดังเช่นที่เป็นมาก่อนหน้านี้โดยผู้บังคับบัญชาสูงสุดจะเป็นผู้ชี้ขาดปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายปกครองด้วยกันหรือฝ่ายปกครองกับเอกชน ซึ่งในฝรั่งเศสเรียกระบบนี้ว่า ระบบ la justice retenue
      
เมื่อพิจารณาจากประวัติของสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐแล้วจะพบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คือในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1799 ถึงปี ค.ศ. 1872 สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐพยายามที่จะหาความเป็นอิสระในการดำเนินงานให้กับตนเอง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1872 ภายหลังจากที่สภา ที่ปรึกษาแห่งรัฐได้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับสังคมว่า สามารถพิจารณาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองได้เป็นอย่างดีแล้ว รัฐสภาก็ได้จัดทำกฎหมายฉบับหนึ่ง คือรัฐบัญญัติลงวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1872 เพื่อแยกหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐออกจากกัน กล่าวคือ มีการแยกหน้าที่ในฐานะเป็นที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายปกครอง (ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับร่างกฎหมายหรือร่างรัฐกฤษฎีกา(décret)) ออกจากหน้าที่ในการพิจารณาข้อพิพาททางปกครอง (เตรียมร่างคำวินิจฉัยให้รัฐมนตรีที่มีอำนาจเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชน) กฎหมายฉบับนี้มีผลทำให้ระบบ la justice retenue สิ้นสุดลง โดยในมาตรา 9 แห่งกฎหมายฉบับดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่าสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐมีอำนาจในการพิจารณาคำร้องเรียนที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองโดยให้มีอำนาจตัดสินชี้ขาดได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ผู้บังคับบัญชาของฝ่ายปกครองเป็นผู้ชี้ขาดอีกต่อไป ซึ่งในฝรั่งเศสเรียกระบบนี้ว่า la justice déléguée นับแต่ บัดนั้นเป็นต้นมา สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐจึงกลายเป็นศาลปกครองที่ตัดสินในนามของประชาชนชาวฝรั่งเศส และไม่ได้เป็น ผู้ช่วยของฝ่ายปกครองที่คอยทำหน้าที่ เตรียมความเห็นเกี่ยวกับ ข้อพิพาทให้ฝ่ายปกครองผู้บริหารเป็นผู้ชี้ขาดอีกต่อไป และนอกจากนี้แล้ว รัฐบัญญัติดังกล่าวยังมีผลเป็นการแยกฝ่ายปกครองผู้ปฏิบัติการ (l’administration active) และผู้พิพากษาศาลปกครอง (le juge administratif) ออกจากกันด้วย
      
นอกจากรัฐบัญญัติลงวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1872 จะสร้าง ศาลปกครองขึ้นมาแล้ว รัฐบัญญัติดังกล่าวยังได้จัดตั้ง ศาลคดีขัดกัน” (le Tribunal des conflits) ขึ้นมาอีกด้วย ศาลคดีขัดกันเป็นศาลที่มีความจำเป็นมากในระบบศาลคู่เพราะทำหน้าที่เป็นผู้ ชี้ว่าข้อพิพาทที่มีปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลจะอยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาของศาลใดในระหว่างศาลยุติธรรมกับศาล ปกครอง นอกจากนี้แล้ว ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาจะพบว่า ศาลคดีขัดกันได้วางหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญๆไว้มากมาย หลักเหล่านี้เกิดจากการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลปกครองกับศาลยุติธรรมนั่นเอง
      
ในปี ค.ศ. 1873 คำวินิจฉัยหนึ่งของศาลคดีขัดกันได้วางหลักสำคัญสองหลักเกี่ยวกับกฎหมายปกครองคือ หลักที่ว่าบริการสาธารณะ (le service public) เป็นเรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง กับหลักที่ว่าระบบกฎหมายปกครองมีความเป็นอิสระจากระบบกฎหมายเอกชน คำวินิจฉัยดังกล่าวได้แก่คำวินิจฉัยคดี Blanco ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1873 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปความได้ว่า เด็กหญิงคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บในสถานที่ทำงานของฝ่ายปกครอง ผู้ปกครองเด็กหญิงนั้นจึงเรียกค่าเสียหาย มีคำถามเกิดขึ้นว่า ระบบศาลใดจะเป็นระบบศาลที่มีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทนี้ และจะนำหลักเกณฑ์ใดมาใช้กับการจ่ายค่าทดแทน คำวินิจฉัยศาลคดีขัดกันในคดีดังกล่าวได้วางหลักสำคัญไว้สองประการคือในประการแรกนั้น เป็นอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาคดีดังกล่าวเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นมีที่มาจากการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะอันเป็นภารกิจหลักของฝ่ายปกครอง จึงย่อมอยู่ในอำนาจของศาลปกครองแต่เพียงศาลเดียวที่จะวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว ส่วนในประการที่สอง ศาลปกครองได้วางหลักไว้ว่าไม่ให้นำเอา หลักกฎหมายแพ่งมาใช้ในการชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวและต้องนำหลักเกณฑ์เฉพาะ (des règles spécifiques) มาใช้เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะของฝ่ายปกครอง จึงไม่สมควรนำเอากฎหมายเอกชนซึ่งใช้สำหรับความรับผิดทั่วไประหว่างเอกชนด้วยกันมาปรับใช้กับการวินิจฉัยคดีดังกล่าว แต่สมควรให้ศาลปกครองเป็นผู้วางกฎเกณฑ์พิเศษในการพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของฝ่ายปกครอง จากผลของคำวินิจฉัยดังกล่าว กฎหมายปกครองจึงถือกำเนิดขึ้นและมีความเป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายเอกชน
      
แม้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 จะไม่มีการบัญญัติถึงระบบศาลปกครองและคดีปกครองไว้เป็นการเฉพาะก็ตาม แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (le Conseil Constitutionnel) ของฝรั่งเศสก็ได้วางหลักที่เกี่ยวข้องกับระบบศาลปกครองไว้ในคำวินิจฉัยสองคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยแรกคือคำวินิจฉัยลงวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 นั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการศาลปกครอง (le juge administratif) ว่า เป็นหลักการสำคัญที่กฎหมายแห่งสาธารณรัฐให้การยอมรับ ส่วนในคำวินิจฉัยที่สองคือคำวินิจฉัยลงวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1987 นั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยอมรับถึงอำนาจของตุลาการศาลปกครองในการพิจารณาวินิจฉัยคดีพิเศษบางประเภทโดยเฉพาะการเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่ออกโดยฝ่ายปกครอง ในการวินิจฉัยทั้งสองคดีดังกล่าวคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้นำหลักเกี่ยวกับความเป็นอิสระของตุลาการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้มาปรับใช้กับระบบศาลปกครองและได้กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยทั้งสองด้วยว่า หลักที่ปรากฏในคำวินิจฉัยทั้งสองนั้นเป็นหลักที่มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญ (de valeur constitutionnelle) ซึ่งหมายความว่าเป็นหลักที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองนั่นเอง
      
จากวิวัฒนาการที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าลักษณะของกฎหมายปกครองฝรั่งเศสนั้น เป็นกฎหมายที่มีที่มาจากแหล่งที่มาที่สำคัญสองแหล่งคือ จากแนวคำวินิจฉัยของศาลที่มิใช่ศาลยุติธรรม เนื่องจากเหตุผลที่ว่าภารกิจของฝ่ายปกครองเป็นภารกิจที่มีลักษณะพิเศษซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการของประโยชน์ส่วนรวม (l’intérêt général) และจากหลักว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจที่ต้องแยกการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทของฝ่ายบริหารออกจากกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายตุลาการ
      
      
1.2 ความหมายของฝ่ายปกครอง      


คำว่า ฝ่ายปกครอง” (l’ administration)นั้น หมายความถึง หน่วยงานของรัฐและบุคลากรของฝ่ายปกครองที่มีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะ
      
ในระบบกฎหมายปกครองฝรั่งเศสนั้น มีการจัดแบ่งองค์กรและบุคลากรของรัฐออกเป็นสองประเภท คือ องค์กรและบุคลากรของฝ่ายปกครองที่ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติอันเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของฝ่ายปกครองและการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง กับศาลปกครองและตุลาการศาลปกครองที่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรและบุคลากรของฝ่ายปกครองให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและบุคลากรของฝ่ายปกครอง (3) นั้นก็ได้มีการแบ่งองค์กรภายในฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองออกเป็นสองระดับคือ องค์กรฝ่ายปกครองส่วนกลางและองค์กรฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น การแบ่งองค์กรของฝ่ายปกครองดังกล่าวมีที่มาสืบเนื่องจากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีการจัดแบ่งการปกครองของประเทศออกเป็นการปกครองในส่วนกลางและการปกครองในส่วนท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติ กษัตริย์จะรวมอำนาจการปกครองทั้ง 2 ส่วนไว้ที่ตนเองเพื่อมิให้บรรดาขุนนางที่อยู่ตามหัวเมืองมีอำนาจมากเกินไปนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ภายหลังการสิ้นสุดของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเข้ามาแทนที่ ฝรั่งเศสก็ยังแบ่งการปกครองออกเป็นสองส่วนเช่นเดิมคือการปกครองส่วนกลางและการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็มีการมอบอำนาจให้แก่ส่วนท้องถิ่นมากขึ้นกว่าแต่เดิม
      
ในปัจจุบัน องค์กรและบุคลากรของฝ่ายปกครองสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ ส่วนกลาง (l’administration centrale) ส่วนท้องถิ่น (l’administration locale) และวิสาหกิจมหาชน (les établissements publics) ซึ่งรวมถึงนิติบุคคลในกฎหมายมหาชนอื่นๆ (autres personnes morales de droit public) ด้วย
       
การแบ่งองค์กรของฝ่ายปกครองในปัจจุบันออกเป็นสามประเภทนี้ มีที่มาจากความเป็น นิติบุคคล” (personne publique) ขององค์กรนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากในประเทศ ฝรั่งเศสนั้น รัฐ (Etat) มีสถานะเป็นนิติบุคคลในขณะที่กระทรวงและกรมอันเป็นหน่วยงานภายในของรัฐไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเนื่องจากถือว่าเป็น ส่วนหนึ่งของโครงสร้างของรัฐ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (les collectivités locales) นั้น ก็มีการกำหนดให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับหลักว่าด้วยความเป็นอิสระในการบริหารงาน (le principe de libre administration) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ สำหรับองค์การมหาชนนั้นก็ เช่นเดียวกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องการความเป็นอิสระในการบริหารงาน จึงต้องมีการกำหนดให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกัน
      
      
1.3 พัฒนาการของกฎหมายปกครอง (4)

      
1.3.1 กำเนิดแนวความคิดกฎหมายปกครองในประเทศภาคพื้นยุโรป
      
ในยุกกรีกโบราณ นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้นสองคน ได้แก่ เปลโต (plato) และอริสโตเติ้ล (Aristotle) เปลโต (427-347 ก่อน ค.ศ.) เป็นนักปราชญ์ที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านได้ก่อตั้งสำนักอคาเดมี (Academy) ขึ้นที่กรุงเอเธนส์และชาวเมืองอื่นๆ ที่เข้ามาเรียน เปลโตได้เขียนผลงานสำคัญๆ ไว้หลายเล่ม หนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง คือ Republic (รัฐ) โดยเปลโตได้เขียนถึง รัฐในอุดมคติเอาไว้ว่า ประเทศชาติจะมีความผาสุกหากจัดระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย (Monarchy) โดยมีกษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยสติปัญญาและทรงวิทยาคุณในทางปรัชญาเป็นประมุข ดังที่เรียกว่า ราชานักปราชญ์ (Philosopher King) เปลโตเห็นว่าการมีการมีกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและอาจมีผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะเป็นการจำกัดอำนาจและดุลพินิจของราชานักปราชญ์ แต่ต่อมาเปลโตได้แต่งวรรณกรรมเกี่ยวกับ ในอุดมคติอีกเรื่องหนึ่ง คือ Statesman ซึ่งเปลโตก็ได้ยอมรับว่ารัฐในอุดมคติตามที่เคยเสนอไว้ใน Republic นั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ เป็นไปได้ยาก จึงควรผ่อนคลายเงื่อนไขบางอย่างลงบ้าง เช่น หากไม่อาจหาราชานักปราชญ์มาจัดการปกครองแบบราชาธิปไตยได้ ก็อาจจัดระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้เช่นกัน และในวรรณกรรมเรื่องสุดท้าย “Laws” เปลโตก็ได้เสนอแนวความคิดใหม่ว่าอาจมีสังคมแบบใหม่ ซึ่งมีนักกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญแทนที่ราชานักปราชญ์ เพราะราชานักปราชญ์เป็นสิ่งหาได้ยาก
      
ส่วนอริสโตเติล (384-322 ก่อน ค.ศ.) นั้น ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์และมีอิทธิพลต่อการพัฒนากฎหมายมหาชนมาก เพราะท่านได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับความหมายของ รัฐ กำเนิดของรัฐ รูปของรัฐ และความสิ้นสุดของรัฐไว้อย่างละเอียด อริสโตเติลเป็นลูกศิษย์ที่ได้รับการยกย่องและนับถือมากที่สุดจากสำนักอคาเดมีของเปลโต อริสโตเติลศึกษาอยู่ในสำนักอคาเดมีเป็นเวลา 20 ปีเศษ จนมีความชำนาญและ เจนจัดในทางวิชา ต่อมาเมื่อเปลโตถึงแก่กรรม อริสโตเติลจึงได้เปิดสำนักศึกษาชื่อ ไลเซียม (Lyceum) จากการศึกษางานของอริสโตเติล พบว่า ทฤษฎีของอริสโตเติลนั้นมีส่วนที่สามารถนำมาปฏิบัติได้และเห็นจริงเห็นจังได้ชัดกว่าทฤษฎีของเปลโต วรรณกรรมที่สำคัญของอริสโตเติล คือ Politics และ Ethics ซึ่งอริสโตเติลได้กล่าวถึงรูปแบบการปกครองรัฐเอาไว้ว่ามี 3 ประเภท ด้วยกัน คือ
      
ก. บุคคลคนเดียว เท่านั้นที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งอริสโตเติลเห็นว่าหากคนคนนั้นใช้อำนาจในทางเด็ดขาดที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ก็ต้องเรียกว่าเป็นการปกครองในระบอบทรราชาธิปไตย (Tyranny) แต่หากคนคนนั้นใช้อำนาจในทางเด็ดขาดเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็ต้องเรียกว่าเป็นการปกครองในระบอบกษัตริย์ (Monarchy)
      
ข. บุคคลกลุ่มเล็กๆ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งอริสโตเติลเห็นว่าหากกลุ่มบุคคลนั้นใช้อำนาจในทางเด็ดขาดเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มของตนก็ต้องเรียกว่าเป็นการปกครอง ในระบอบคณาธิปไตย (Oligarchy) แต่หากกลุ่มบุคคลนั้นใช้อำนาจในทางเด็ดขาดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็ต้องเรียกว่าเป็นการปกครองในระบอบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy)
      
ค. คนจำนวนมาก หรือคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งอริสโตเติลแยกออกเป็นสองระบอบด้วยกัน คือ ระบอบประชาธิปไตยแบบกรรมาชีพ (Democracy) และระบอบราษฎราธิปไตย (Polity) อริสโตเติลมองระบอบประชาธิปไตยแบบกรรมาชีพว่าเป็นการปกครองโดยคนจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านี้อาจไม่รู้จักคิดและไม่รู้จักตัดสินใจได้ถูกต้อง และที่สำคัญ คือ การตัดสินปัญหาเป็นไปในลักษณะของฝูงชนที่ไม่มีความรับผิดชอบ (mob)
      
ส่วนระบอบราษฎราธิปไตยนั้น อริสโตเติลเห็นว่าเป็นทางสายกลาง เพราะเป็นการเอาประชาธิปไตย (Democracy) กับคณาธิปไตย (Oligarchy) มารวมกัน ประชาธิปไตยนั้นดีแต่จำนวน แต่การปกครองจะระส่ำระสายง่ายเพราะมวลชนจำนวนมากไม่รู้จักวิธีการปกครอง ส่วนคณาธิปไตยนั้นคนส่วนน้อยปกครองเพื่อประโยชน์พวกพ้อง ทางสายกลางก็คือ คนจำนวนมากตรวจตราป้องกันการที่ผู้ปกครองจะใช้อำนาจไม่เป็นธรรม
      
สำหรับในเรื่องของกฎหมายนั้น อริสโตเติลได้พูดถึงหลักนิติธรรม (The Rule of Law) เอาไว้บ่อยครั้ง โดยเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุดในรัฐ นอกจากนี้ อริสโตเติลยังได้แยกกฎหมายออกเป็นสองประเภทด้วยกัน คือ กฎหมายที่มนุษย์คิดขึ้นและกฎหมายตามธรรมชาติ โดยได้อธิบายถึงกฎหมายตามธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติของมัน เช่น ห้ามฆ่ากัน ห้ามลักทรัพย์ ฯลฯ
      
ในยุคโรมัน หลังจากนครรัฐของกรีกเสื่อมลง กรุงโรมซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักรบหลายกลุ่มก็ได้แผ่ขยายอาณาจักรออกไปกว้างจนกลายเป็นจักรวรรดิ์โรมันที่ยิ่งใหญ่ อารายธรรมของโรมันรุ่งเรืองมากโดยเฉพาะในด้านความคิดทางกฎหมายและทางการปกครองในยุคต้นๆ ก่อนคริสตกาล อาณาจักรของโรมันประกอบด้วยชนสองชั้น คือ ชนชาวโรมันที่เรียกว่า Patrician อันเป็นชนชั้นปกครองและมีสิทธิ มีเสียงในการปกครอง กับพวกสามัญชนที่เรียกว่า Plebeian อันเป็นชนชั้นที่ถูกปกครองและไม่มีสิทธิมีเสียงในการปกครอง สำหรับกฎหมายที่ใช้ในอาณาจักรโรมันนั้น แบ่งออกเป็น Jus Civile อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับพลเมืองชาวโรมัน และ Jus Gentium อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับสามัญชนและคนต่างด้าวที่มิได้มีฐานะเป็นพลเมืองชาวโรมัน กฎหมายทั้งสองประเภทนี้ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมีแต่ชนชั้นปกครองเท่านั้นที่รู้ ต่อมาในปี 452 ก่อนคริสตกาล จึงได้มีการนำเอากฎหมายที่ใช้กันอยู่นี้มาบันทึกลงบนแผ่นทองแดงรวม 12 แผ่น แล้วเอาไปตั้งไว้กลางเมืองเพื่อให้ประชาชนรู้โดยเรียกกฎหมายนี้ว่า กฎหมายสิบสองโต๊ะ (Law of Twelve Tables) ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมกฎหมายขึ้นและเป็นครั้งแรกที่มีการนำเอาจารีตประเพณีมาบันทึกเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร และเป็นการเริ่มต้นยอมรับว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่จะต้องเปิดเผยให้ทุกคนได้รับรู้ กฎหมายสิบสองโต๊ะแยกมีรายละเอียด ดังนี้
      
โต๊ะที่ 1-3      การพิจารณาความแพ่งและการบังคับคดี
      
โต๊ะที่ 4         อำนาจของบิดาในฐานะหัวหน้าครอบครัว
      
โต๊ะที่ 5-7      การใช้อำนาจปกครอง การรับมรดก ทรัพย์สิน
      
โต๊ะที่ 8         การละเมิดและการกระทำความผิดทางอาญา
      
โต๊ะที่ 9         กฎหมายมหาชน
      
โต๊ะที่ 10         กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ (ศาสนา)
      
โต๊ะที่ 11-12  กฎหมายอื่นๆ รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นที่ถูกปกครอง
      
เมื่อพิจารณาจากกฎหมายสิบสองโต๊ะแล้ว จะเห็นได้ว่า ในยุคโรมันนี้กฎหมายมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ
      
ก.กฎหมายเอกชน (Jus Privatum) ได้แก่ กฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวพันกับราษฎรทุกคน
       ในชีวิตประจำวัน
      
ข.กฎหมายมหาชน (Jus Publicum) ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องเฉพาะบุคคลบางประเภท    เช่น สมาชิกสภา ศาล และกฎหมายเกี่ยวกับกิจการทางการเมืองการปกครอง
      
ค.กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ (Jus Sacrum) ได้แก่ กฎหมายที่พระใช้ในหมู่พระ ซึ่งถือว่าเป็นสังคมต่างหากอีกสังคมหนึ่ง
      
 หลังจากที่ชาวโรมันใช้กฎหมายสิบสองโต๊ะมาร่วมพันปี ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายเพราะกฎหมายนี้มีเนื้อหาไม่ครอบคลุมมาก เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น ลูกขุนก็จะนำไปปรึกษาบรรดานักปราชญ์ ซึ่งก็เกิดการให้ความเห็นที่ขัดแย้ง ในปี ค.ศ.426 จักรพรรดิโรมันจึงได้ออกกฎหมายชื่อ The Law of Citations ซึ่งกำหนดให้ถือหลักว่าความเห็นของนักปราชญ์ซึ่งได้รับการยกย่องในขณะนั้น 5 ท่าน เป็นความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าในปัญหาใดปราชญ์ทั้ง 5 เห็นไม่ตรงกัน ก็ให้ถือเอาความเห็นของฝ่ายข้างมากเป็นเกณฑ์ ในเวลาต่อมาหลักกฎหมายโรมันที่เกิดจากความเห็นของนักปราชญ์จึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้เรียนและผู้ใช้เป็นอันมาก ดังนั้น ในสมัยของพระเจ้าจัสติเนียน (Justinian) พระองค์จึงทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นสะสางและรวบรวมหลักกฎหมายต่างๆ ที่ใช้อยู่เพื่อจัดทำเป็นประมวลกฎหมายเรียกว่า Corpus Juris Civilis ซึ่งถือได้ว่าเป็นประมวลกฎหมายเอกชน ประมวลกฎหมายนี้ทำให้กฎหมายเอกชนชัดเจนขึ้นและแยกตัวเองออกจากกฎหมายมหาชนได้เกือบเด็ดขาด
      
ในปี ค.ศ. 476 พวกบาบาเรียน (Barbarian) บุกเข้าโจมตีกรุงโรมจนแตก ทำให้จักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลง จึงพลอยทำให้แนวความคิดทางด้านกฎหมายต่างๆ ของชาวโรมันเสื่อมไปด้วย เพราะว่าก่อนที่จักรวรรดิโรมันจะเสื่อมลง คริสตศาสนาได้แพร่หลายเข้ามามาก จนทำให้คนหันไปหาพระเพื่อช่วยชี้ขาดปัญหาบางประการ นอกจากนี้ กฎหมายโรมันก็ยุ่งยากเกินกว่าที่พวกบาบาเรียนจะเข้าใจ พวกบาบาเรียนนี้มีความเป็นอยู่ง่ายๆ ทำการปกครองตนเองในรูปของเผ่า แต่ละเผ่าต่างก็มีขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีประจำเผ่าของตน มีศาลประจำหมู่บ้าน ในระยะแรกแนวความคิดทางด้านกฎหมายของชาวโรมันยังไม่เป็นที่ยอมรับของพวกนี้ แต่ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาระบบการปกครองขึ้นเรื่อยๆ มีการตั้ง Curis Regis หรือสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ขึ้นเพื่อให้คำแนะนำกับกษัตริย์ในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องการออกหมายและการพิจารณาคดี แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายประจำชาติ แต่ละท้องถิ่นแต่ละเผ่าต่างก็ใช้กฎหมายประเพณีท้องถิ่นของตน
      
ในคริสตศตวรรษที่ 11 ได้มีการฟื้นฟูกฎหมายโรมันขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มมีการนำเอากฎหมายโรมันมาศึกษากันบ้างในมหาวิทยาลัยบางแห่งในยุโรป ต่อมาในช่วงคริสตศวรรษที่ 12-13 นักบุญโทมัส อไควนัส (Saint Thomas Aquinas) พระชาวอิตาเลียนซึ่งเป็นนักปราชญ์ทางกฎหมายคนสำคัญในยุคนั้น ได้แบ่งประเภทของกฎต่างๆ ออกเป็น 4 ประเภท คือ
      
 -    กฎนิรันดร (Eternal Law) เป็นกฎสูงสุดซึ่งพระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดขึ้น
      
-    กฎธรรมชาติ (Natural Law) เป็นกฎว่าด้วยเหตุผล คุณธรรม ความยุติธรรม
      
-    กฎศักดิ์สิทธ์ (Devine Law) เป็นกฎว่าด้วยหลักประพฤติปฏิบัติทางศาสนา
      
-    กฎหมายของมนุษย์ (Human Law) เป็นกฎซึ่งกำหนดหลักประพฤติปฏิบัติของมนุษย์
      
จากการแบ่งประเภทของกฎหมายต่างๆ ตามแนวนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้แบ่งได้เน้นให้คริสตจักรมี
      
ความสำคัญกว่าอาณาจักร คริสตจักรเป็นผู้นำ อาณาจักรเป็นผู้ตาม ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์ในยุโรปสมัยนั้นจึงต้องคุกเข่าต่อหน้าพระสันตปาปา เพื่อให้พระองค์ประทานพรและสวมมงกุฎให้เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์
      
การฟื้นฟูแนวความคิดทางกฎหมายในยุโรปช่วงนี้เป็นผลมาจากบทบาทอันสำคัญของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรปซึ่งส่วนใหญ่แล้วสอนกฎหมายโรมันเป็นหลัก และมีกฎหมายศาสนา (Canonic Law) เป็นส่วนประกอบ เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะสอนจารีตประเพณีที่ล้าหลังและไม่เป็นธรรม จนกระทั่งในคริสตศตวรรษที่ 17และ18 จึงได้เริ่มมีการเรียนการสอนกฎหมายประจำชาติของตนในมหาวิทยาลัยต่างๆ
      
นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง คือ ฌอง โบแดง (Jean Bodin) โบแดง (ค.ศ. 1529-1596) เป็นเจ้าของทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของกษัตริย์ (The Supremacy of King) ในสมัยนั้นกษัตริย์ฝรั่งเศสต้องต่อสู้กับทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า (The Supremacy of God) กับฝ่ายศาสนา โบแดงจึงคิดทฤษฎีนี้ขึ้นมาเพื่อลดอำนาจของพระสันตปาปาและเพิ่มอำนาจของกษัตริย์ ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของกษัตริย์หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตย (Theory of Sovereignty) นี้มีหลักอยู่ว่าอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศและอำนาจอธิปไตยก็เป็นของรัฐ ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยควรเป็นกษัตริย์ เพราะเป็นประมุขของรัฐ เป็นผู้นำราษฎรและทรงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือ ผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน สามารถออกคำสั่งให้ราษฎรปฏิบัติตามได้แต่ไม่อยู่ใต้คำสั่งใคร การปกครองของฝรั่งเศสในสมัยต่อมาจึงตกอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจทุกอย่างของรัฐ เป็นผู้ตรากฎหมาย เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารภายในประเทศ และเป็นผู้เสริมสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทรงควบคุมด้านการคลัง การทหาร และกฎหมาย จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1789 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงสิ้นสุดลง
      
ในคริสตศตวรรษที่ 16 กฎหมายมหาชนเริ่มกลับมาแพร่หลายขึ้นและรุ่งเรืองมากขึ้นใน คริสตวรรษที่ 18-20 ซึ่งมีการฟื้นฟูการศึกษากฎหมายโรมัน โดยมีการผสมความคิดระหว่างปรัชญากฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) กับปรัชญากฎหมายฝ่ายบ้านเมือง (Positive Law) มีการจัดทำกฎหมายมหาชน คือ รัฐธรรมนูญขึ้น นักปราชญ์คนสำคัญในสมัยนี้อีกคนหนึ่งก็คือ มงเตสกิเออ (Montesquieu) มงเตสกิเออ (ค.ศ. 1689-1755) ได้เขียนหนังสือชื่อ เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย” (L’Esprit des lois) โดยพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ ความสำคัญของระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักการแบ่งแยกอำนาจทั้งสาม คือ อำนาจในการตรากฎหมาย อำนาจในการปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติมหาชน และอำนาจในการพิจารณาพิพากษาผู้กระทำผิดทางอาญา หรือพิพากษาข้อพิพาทระหว่างเอกชน ความเห็นของมงเตสกิเออนี้ถือว่าเป็นรากฐานในการแบ่งแยกการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการของหลายๆ ประเทศในเวลาต่อมา นอกจากมงเตสกิเออแล้วก็ยังมี ฌอง ฌ๊าก รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) รุสโซ (ค.ศ. 1712-1778) เป็นนักปราชญ์ที่สำคัญอีกคนหนึ่ง รุสโซเขียนหนังสือชื่อ สัญญาประชาคม” (Le Contrat Social) ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิดและการพัฒนากฎหมายมหาชนเป็นอันมาก รุสโซเห็นว่ารัฐนั้นเกิดจากคนหลายคนมารวมกันและเสียสละสิทธิและเสรีภาพบางประการเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้ รุสโซยังเป็นเจ้าของทฤษฎีที่ว่า อำนาจอธิปไตยควรเป็นของชาติหรือของประชาชน รวมทั้งยังได้ให้คำจำกัดความของคำว่ากฎหมายเอาไว้ด้วยว่า กฎหมาย คือ เจตจำนงของประชาชนในชาติซึ่งแสดงออกร่วมกัน ทฤษฎีของรุสโซ มีอิทธิพลต่อฝรั่งเศสมาก เมื่อเกิดการปฏิวัติในปี ค.ศ.1789 ขึ้น ก็ได้มีการเอาความคิดของรุสโซไปใส่ไว้ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Declaration des droits de l’homme) ว่าอำนาจอธิปไตยทุกชนิดเป็นของชาติ องค์กรใดหรือบุคคลใดจะใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ได้มาจากชาติไม่ได้
      
หลังจากการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 ฝรั่งเศสได้ใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับโดยได้ทดลองใช้ระบบการเมืองหลายรูปแบบตามแนวความคิดที่นักปราชญ์ได้เผยแพร่เอาไว้ ต่อมาฝรั่งเศสก็ได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายขึ้น นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งขึ้น โดยยึดหลักการของการปฏิวัติฝรั่งเศส คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ หลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนาในการทำสัญญารวมทั้งหลักความศักดิ์สิทธิ์ของทรัพย์สินของเอกชน ประมวลกฎหมายนี้สำเร็จในปี ค.ศ. 1804 นอกจากประมวลกฎหมายนี้แล้ว ต่อมาก็มีการตราประมวลกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ
      
นอกจากการจัดทำประมวลกฎหมายแล้ว นโปเลียนยังได้จัดตั้งสภาแห่งรัฐ (Conseil d’Etat) ขึ้นในปี ค.ศ.1799 โดยกำหนดให้สภาแห่งรัฐทำหน้าที่ร่างกฎหมายให้กับหัวหน้าของฝ่ายบริหารและเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายบริหาร ซึ่งต้องทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาททางปกครอง และเสนอคำวินิจฉัยให้ นโปเลียนพิจารณาสั่งการตามแต่จะเห็นสมควรด้วย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1872 หลังจากที่สภาแห่งรัฐได้พัฒนาระบบวิธีการพิจารณาคดีปกครองขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับ จึงได้รับมอบอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งทำให้สภาแห่งรัฐกลายเป็นศาลปกครองและเป็นแบบอย่างให้หลายๆ ประเทศในโลกปฏิบัติตาม
      
      
1.3.2 กำเนิดแนวความคิดกฎหมายปกครองในประเทศไทย

      
กฎหมายมหาชนเป็นที่รู้จักกันในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่ได้มีการแบ่งแยกออกจากกฎหมายเอกชนอย่างชัด เพราะการแบ่งสาขาของกฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนเพิ่งจะเป็นที่รู้จักกันในหมู่ของนักกฎหมายไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เอง ในหัวข้อนี้อธิบายถึงระบบกฎหมายและการปกครองของไทย เพื่อให้เห็นภาพของพัฒนาการของกฎหมายปกครองในประเทศไทย
      
แต่เดิมในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี (พ.ศ. 1781-1893) การปกครองประเทศยังเป็นแบบง่ายๆ เนื่องจากกรุงสุโขทัยมีขนาดเล็กและมีประชากรไม่มากนัก ไม่มีกฎเกณฑ์และกฎหมาย อำนาจในการปกครอง การศาลและการเมืองทุกอย่างจึงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งเรียกกันว่า พ่อขุนพ่อขุนทำหน้าที่ปกครองประเทศ โดยใช้หลักบิดากับบุตร ประชาชนในฐานะบุตรมีหน้าที่เชื่อฟังพ่อขุน ช่วยเหลือกิจการบ้านเมืองตามที่พ่อขุนวางได้วางแนวทางเอาไว้ สำหรับโครงสร้างการปกครองนั้น เมืองสุโขทัยปกครองด้วยระบบนครรัฐ (City-State) คือ ศูนย์กลางของอำนาจอยู่ที่กรุงสุโขทัยซึ่งเป็นเมืองหลวง มีเมืองลูกหลวงกับเมืองหน้าด่านอีก 4 เมือง เมืองอื่นๆ นอกจากนั้น เป็นเมืองประเทศราชซึ่งมีการปกครองตนเอง บริหารงานภายในเมืองตนเอง แต่ยอมรับนับถือกษัตริย์ของกรุงสุโขทัยเป็นหลัก การปกครองเมืองประเทศราชจึงขึ้นอยู่กับกษัตริย์เป็นสำคัญ ทางด้านกฎหมายนั้น พ่อขุนเป็นผู้ตรากฎหมายใช้บังคับเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองและกำหนดสิทธิหน้าที่ของพลเมือง เนื้อหาของกฎหมายได้นำเอาหลักพระธรรมศาสตร์มาใช้กับหลักพระราชศาสตร์ (หลักพระธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่มาจากอินเดีย เป็นหลักกฎหมายที่กษัตริย์จะต้องเรียนรู้และนำไปใช้ในการตัดสินคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนหลักพระราชศาสตร์ คือ พระบรมราชวินิจฉัยที่กษัตริย์ได้ทรงวินิจฉัยไว้ในคดีต่างๆ และมีการจัดรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่เทียบเท่ากับแนวคำพิพากษาของศาล) กฎหมายในสมัยกรุงสุโขทัยนี้ค้นพบจากหลักศิลาจารึก ปรากฏว่ามีกฎหมายเกี่ยวกับภาษี กฎหมายเกี่ยวกับการจับจองทรัพย์สิน กฎหมายเกี่ยวกับมรดก กฎหมายเรื่องการพิจารณาคดี และกฎหมายลักษณะลักพา
      
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. 1893-1991 ) พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาราชวงศ์ขึ้นใหม่และตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังนั้น พระองค์จึงต้องการอำนาจเด็ดขาดให้เป็นของกษัตริย์ ระบอบการปกครองในช่วงนั้นจึงเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ศูนย์อำนาจทั้งหลายทั้งปวงอยู่ที่กษัตริย์ซึ่งมีฐานะดังสมมติเทพหรือเทวราช การปกครองบ้านเมืองในสมัยนี้เป็นการปกครองที่มีระเบียบแบบแผนซับซ้อนยิ่งกว่าสมัยสุโขทัย มีการแบ่งการปกครองออกเป็นชั้นๆ คือ ราชธานี หัวเมืองชั้นใน เมืองหน้าด่าน หัวเมืองชั้นนอกและเมืองประเทศราช สำหรับการปกครองราชธานีนั้น พระมหากษัตริย์ทรงปกครองด้วยพระองค์เองและใช้การปกครองแบบจตุสดมภ์ คือ
      
ก.ขุนเวียง ทำหน้าที่พนักงานปกครองท้องที่ รักษาความสงบเรียบร้อย ปราบปรามโจรผู้ร้ายและลงราชทัณฑ์แก่ผู้ทำความผิด
      
ข.ขุนวัง ทำหน้าที่รักษาพระราชมณเฑียรและพระราชวังชั้นนอก ดูแลงานราชพิธีและ งานตุลาการ
      
ค.ขุนคลัง ทำหน้าที่เก็บรักษาพระราชทรัพย์
      
ง.ขุนนา ทำหน้าที่ตรวจตราดูแลการทำไร่นาของราษฎร เก็บข้าวขึ้นยุ้งฉางหลวง เก็บค่านาและหางข้าว ตลอดจนพิจารณาคดีเกี่ยวกับนา (ที่ดิน)
      
ส่วนการปกครองหัวเมืองต่างๆ นั้น ใช้วิธีส่งคนจากราชธานีหรือแต่งตั้งผู้มีอิทธิพลในเมืองนั้นเป็นผู้ปกครองโดยใช้วิธีการสืบตระกูลต่อกันไปหรือที่เรียกว่า กินเมืองซึ่งเจ้าเมืองจะเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์บังคับบัญชากันเองภายในเมือง ซึ่งทางเมืองหลวงจะไม่เกี่ยวข้องด้วยในรายละเอียด ส่วนเมืองขึ้นและเมืองประเทศราชทั้งหลายก็เพียงแต่จัดส่งส่วยสาอากรมาเป็นเครื่องบรรณาการทำนุบำรุงเมือง ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. 1893-1912) นี้ มีการตรากฎหมายถึง 8 ฉบับด้วยกัน กฎหมายฉบับหนึ่ง คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1895 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะความผิดและโทษของข้าราชการที่กระทำผิดต่อหน้าที่และวินัยนั้น นับได้ว่าเป็นกฎหมายปกครองที่เก่าแก่ที่สุด นอกจากนี้ ก็ยังมีกฎหมายลักษณะพยาน พ.ศ. 1894 กฎหมายลักษณะลักพา พ.ศ. 1899 กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 1905 ฯลฯ
      
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 1990-2310) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแบ่งเขตการปกครองของราชการส่วนภูมิภาคเสียใหม่โดยแบ่งเป็น
      
ก.เมืองในวงราชธานี หมายถึง บรรดาหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่รอบๆ และอยู่ใกล้เมืองหลวง แต่ละเมืองไม่มีอิสระเต็มที่ มีผู้ปกครองซึ่งทรงแต่งตั้งไปจากราชธานี และขึ้นต่อกระทรวงซึ่งอยู่ในราชธานี
      
ข.เมืองพระยามหานคร หมายถึง เมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป เจ้าเมืองมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาเด็ดขาดและขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ การสืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นการสืบทอดโดยการสืบสกุล
      
ค.เมืองประเทศราช หมายถึง เมืองที่อยู่ห่างไกลศูนย์กลางออกไปมาก บางเมืองมีเจ้าเมืองหรือกษัตริย์ผู้ปกครองอยู่แล้ว จึงปล่อยให้เป็นอิสระแต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย อันเป็นการแสดงความสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา
      
นอกจากนี้ ยังได้ทรงแยกฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนออกจากกันโดยฝ่ายทหารมี เจ้าพระยามหาเสนาเป็นหัวหน้าสูงสุด มีกองทัพเดโชและกองทัพท้ายน้ำอยู่ในสังกัดทำหน้าที่ป้องกันชาติ รบ และคัดเลือกชายฉกรรจ์เข้าประจำกรมกองเพื่อฝึกหัดการรบ ส่วนฝ่ายพลเรือนมี เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์เป็นหัวหน้าสูงสุด มีการแบ่งหน่วยงานเป็น 4 กรม เหมือนกับในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือ แบบจตุสดมภ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายนี้ กฎหมายปกครองที่สำคัญ ได้แก่ กฎอัยการศึก กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนตลอดจนทหารหัวเมือง ซึ่งเป็นทำเนียบกำหนดศักดินาราชทินนามตำแหน่งยศหน้าที่ของข้าราชการต่างๆ ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน
      
ในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310 – 2325) เนื่องจากมีระยะเวลาทั้งสิ้นเพียง 15 ปี จึงไม่ปรากฏว่ามีการปรับปรุงฎหมายแต่อย่างใด
      
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2348 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระบรมราชโองการให้อาลักษณ์ 4 คน ลูกขุน 3 คน และราชบัณฑิตอีก 4 คน ร่วมกันทำการชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการในแผ่นดินที่มีอยู่ในหอหลวง โดยให้จัดเป็นหมวดหมู่และปรับปรุงให้สอดคล้องกับความยุติธรรม พระราชกำหนดกฎหมายที่ชำระสะสางเสร็จแล้วนี้เรียกกันว่า กฎหมายตราสามดวงตราสามดวงนี้ หมายถึง ตราพระราชสีห์อันเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก ตราคชสีห์อันเป้นตราประจำตำแหน่งสมุหกลาโหม ตราบัวแก้ว อันเป็นตราประจำตำแหน่งโกษาธิบดี กฎหมายตราสามดวงเป็นกฎหมายหลักที่ใช้กันมาเป็นเวลาร้อยปีเศษจนกระทั่งเลิกใช้ในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากได้มีการปฏิรูปกฎหมายเสียใหม่ให้เป็นแบบตะวันตก เพื่อที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก
      
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาวยุโรปมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยในปีพ.ศ. 2054 ในรัชกาลของพระรามาธิบดีที่ 2 ได้มีคณะทูตชาวโปรตุเกสเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา จากนั้นก็ได้มีชาวยุโรปชาติอื่นๆ เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชนชาติยุโรปเฟื่องฟูที่สุดในรัชกาลของพระนารายณ์มหาราช แต่เนื่องจากระบบกฎหมายและการศาลของไทยยังล้าหลังกว่าในต่างประเทศ ชนต่างชาติในยุคนั้นจึงแสดงความรังเกียจกฎหมายและการศาลไทย จึงได้พยายามที่จะขอสิทธิพิเศษทางกฎหมายและการศาล ต่อมาในปีพ.ศ. 2207 ประเทศไทยได้ยินยอมทำสัญญากับบริษัทอินเดียตะวันออกของประเทศฮอลันดาเพื่อยกว้นการใช้กฎมายและศาลไทยกับลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว โดยถ้าลูกจ้างบริษัทดังกล่าวกระทำผิดทางอาญา ก็ส่งตัวผู้นั้นให้แก่หัวหน้าของบริษัทเพื่อพิจารณาลงโทษตามกฎหมายของฮอลันดา และในปี พ.ศ. 2230 ไทยก็ได้ทำสนธิสัญญาที่มีลักษณะเดียวกับที่ทำกับประเทศฮอลันดาให้กับฝรั่งเศส โดยให้หัวหน้าพนักงานของบริษัทมีอำนาจชำระความแพ่งและอาญาที่เกิดขึ้นระหว่างคนงานของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นชาติฝรั่งเศสหรือไม่ก็ตาม และให้ส่งตัวผู้กระทำผิดไปลงโทษที่ประเทศฝรั่งเศส และหากคนงานของบริษัทวิวาทกับคนที่ไม่ได้อยู่ในบริษัท ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานไทยที่จะพิจารณาโดยมีเจ้าพนักงานของบริษัทนั่งพิจารณาและออกความเห็นชี้ขาดตัดสินคดีด้วย
      
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสิมทร์ อังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้พยายามขอตั้งสถานกงสุลขึ้นในประทศไทย และต้องการทำสนธิสัญญาให้ชาวอังกฤษและชาวสหรัฐอเมริกาทำการค้าแบบเสรีและมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตโดยไม่ต้องขึ้นศาลไทยและไม่อยู่ใต้ข้อบังคับของกฎหมายไทย ซึ่งก็ได้รับการปฎิเสธไปหลายครั้ง จนกระทั่งสมัยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2398 อังกฤษส่งเซอร์จอนห์เบาว์ริ่งเข้ามาเจรจา พระองค์จึงทรงยอมทำสนธิสัญญาเพราะเห็นว่าขณะนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสได้เปลี่ยนท่าทีจากการเจรจาขอทำการค้ามาเป็นการแสวงหาอาณานิคม และได้ยึดครองประเทศต่างๆ ในเอเชียไว้หลายประเทศ หากปฏิเสธความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกก็จะเป็นอันตรายต่อความเป็นเอกราชของประเทศ จึงทรงโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องประเทศตะวันตกโดยยอมทำสนธิสัญญายกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่คนในบังคับของประเทศตะวันตก ไทยจึงยังคงรักษาเอกราชไว้ได้ เนื้อหาของสนธิสัญญาเบาว์ริ่งก็คือ กฎหมายและ ศาลไทยไม่สามารถใช้กับคนในบังคับของอังกฤษได้ สำหรับเหตุผลที่บรรดาประเทศตะวันตกไม่ยอมให้คนในบังคับของตนตกอยู่ภายใต้กฎหมายและศาลไทย ก็เพราะประเทศเหล่านั้นตำหนิว่ากระบวนยุติธรรมของไทยยังไม่เป็นหลักประกันความปลอดภัยอย่างเพียงพอกับชาวต่างประเทศ เนื่องจากประเทศที่ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บางครั้งพระราชปรารถนาจะเข้ามาแทนที่ความยุติธรรมทางกฎหมาย และนอกจากนี้กฎหมายต่างๆในขณะนั้นยังกระจัดกระจายไม่เป็นหมวดหมู่ กฎหมายเกี่ยวกับการพาณิชย์ เช่น หุ้นส่วนบริษัท หรือตั๋วเงินยังไม่มี อีกทั้งมีการให้สินบนผู้พิพากษา ขั้นตอนในการพิจารณาคดีก็มาก ทำให้เกิดการล่าช้าและบทลงโทษก็รุนแรงเกินไปด้วย
      
ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักว่าวิธีที่จะต่อต้านการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกก็คือ การปรับปรุงประเทศไทยให้ก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก เพราะเหตุผลที่ประเทศตะวันตกอ้างเพื่อเข้ายึดดินแดนต่างๆ ไว้เป็นอาณานิคมก็คือ เพื่อช่วยสร้างความเจริญให้แก่ดินแดนที่ล้าหลังป่าเถื่อน พระองค์จึงทรงเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการปกครอง การสาธารณสุข การสาธารณูปโภค ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงต่างๆนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนกฎหมายที่ใช้กันอยู่เดิมคือ กฎหมายตราสามดวงกลายเป็นสิ่งล้าสมัยไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
      
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ.2411นั้น พระองค์ทรงใช้เวลา 6-7 ปี เพื่อศึกษาและวางแผนการปฏิรูปการปกครองครั้งสำคัญ จุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการปกครองก็เพื่อสร้างประเทศให้เป็นปึกแผ่น เพื่อผนึกกำลังป้องกันการล่าอาณานิคมของอังกฤษกับฝรั่งเศส และในขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมสร้างสถาบันกษัตริย์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
      
ในปีพ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตราพระราชบัญญัติ เคาน์ซิล ออฟ สเตด (ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน) และพระราชบัญญัติปรีวีเคานืซิล (ที่ปรึกษาในพระองค์) เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการของพระองค์ สำหรับการปฏิรูปการปกครองประเทศในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นสามารถแยกได้เป็น 3 ด้าน คือ
      
ก. ด้านการปกครองประเทศ พระองค์ทรงเริ่มปฏิรูประบบราชการบริหารส่วนกลางด้วยการจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นในปีพ.ศ. 2418 โดยแยกมาจากกรมเจ้าท่าและให้มีหน้าที่รวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์ของแผ่นดิน ซึ่งแต่ละกรมยังคงเป็นเจ้าหน้าที่จัดเก็บเพื่อให้ทราบจำนวนแน่นอนว่ามีเงินอยู่เป็นจำนวนเท่าใด และเร่งให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2433 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติโดยมีหน้าที่รักษาจ่ายเงินแผ่นดินและสมบัติพัสดุทั้งปวง โดยรวมเอาหน่วยงานที่เก็บภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพภาษี กรมอากรแผ่นดิน และกรมศุลกากร มาอยู่ในสังกัดเดียวกัน และให้กรมสารบัญชีและรับจ่ายตามงบประมาณซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนั้นเอง นอกจากนี้ ก็ยังมีการจ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการแทนเบี้ยหวัด กับมีการแยกเงินและทรัพย์สินส่วนแผ่นดินออกจากเงินและทรัพย์สินส่วนพระองค์ การปฏิรูปการคลังด้วยระบบดังกล่าวทำให้สามารถหาเงินเข้าท้องพระคลังได้มากขึ้นถึงสามเท่าตัว ต่อมาเมื่อมีเงินเพียงพอต่อการปฏิรูประบบราชการ กับมีการเร่งสร้างคนให้สามารถรับงานได้แล้ว ก็ทรงโปรดเกล้าฯให้มาทำงานที่สำนักงาน แทนที่จะให้เสนาบดีว่าราชการอยู่ที่จวนหรือที่วังและเปลี่ยนระบบกินเมืองมาเป็นการรับเงินเดือนจากรัฐบาลแทน ต่อมาในปีพ.ศ. 2435 ได้ทรงจัดตั้งกระทรวงขึ้น 11 กระทรวง โดยมีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา จึงทำให้การปกครองระบอบจตุสดมภ์ซึ่งใช้มาเป็นเวลากว่า 400 ปีสิ้นสุดลง
      
สำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาคนั้น ทรงรวบรวมหัวเมืองต่างๆ มาเป็นมณฑลยกเลิกระบบกินเมือง และส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปบังคับบัญชาเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำให้บังคับบัญชาในเขตมณฑล ให้หัวเมืองต่างๆ มารวมขึ้นกระทรวงมหาดไทยเพียงแห่งเดียว และต่อมาก็มีการตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 และข้อบังคับปกครองหัวเมือง ร.ศ. 117 จัดรูปการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นระบบเดียวกันทั้งหมดทั่วประเทศ ประกอบด้วยมณฑลซึ่งมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด แต่ละมณฑลประกอบด้วยเมืองซึ่งมีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้บริหารเมืองแบ่งเป็นอำเภอ มีนายอำเภอเป็นหัวหน้า อำเภอแบ่งออกเป็นตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้า ตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้า กฎหมายฉบับนี้นับว่าเป็นต้นแบบของพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 ซึ่งตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 และยังใช้บังคับอยู่จนทุกวันนี้
      
ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการบริหารท้องถิ่นนั้น ทรงจัดรูปการปกครองท้องถิ่นตามแบบต่างประเทศขึ้นในรูปของ สุขาภิบาลโดยจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 เพื่อให้ทำหน้าที่บำรุงรักษาท้องถิ่นให้สะอาดเรียบร้อยถูกสุขอนามัย มีหนทางสัญจรสะดวก โดยใช้เงินภาษีโรงเรือนในท้องถิ่นนั้นมาใช้จ่ายโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน ต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลท้องถิ่นต่างๆ ขึ้นอีกหลายแห่ง และมีกฎหมายออกมา คือ พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 แบ่งสุขาภิบาลเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามเมือง และ สุขาภิบาลท้องที่ซึ่งจะตั้งขึ้นตามอำเภอหรือตำบลใหญ่ๆ ระบบสุขาภิบาลนี้ยังไม่ได้เป็นระบบกระจายอำนาจการปกครองอย่างแท้จริง เพราะเจ้าหน้าที่บริหารสุขาภิบาลเป็นข้าราชการเกือบทั้งหมด
      
ข.ด้านกฎหมายและการศาล ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เหตุผลที่บรรดาประเทศตะวันตกไม่ยอมให้คนในบังคับของตนตกอยู่ภายใต้กฎหมายและศาลไทยก็เพราะประเทศเหล่านั้นตำหนิกระบวนการยุติธรรมของไทยว่ายังไม่เป็นหลักประกันความปลอดภัยอย่างเพียงพอแก่ชาวต่างประเทศ ประเทศตะวันตกทั้งหลายจึงพากันขอทำสนธิสัญญาสงวนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่คนในบังคับของตนตามแบบที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษไปแล้ว ซึ่งประเทศไทยไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ต่อมาประเทศตะวันตกได้ถือโอกาสตีความสนธิสัญญาบิดเบือนไปจากเดิมมาก โดยขยายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปให้แก่คนเอเชียซึ่งประเทศของผู้นั้นตกเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกนั้นด้วยเพื่อเป็นการขยายอิทธิพลของตน จึงเป็นการชี้ช่องทางให้แก่คนเอเชียที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานให้หลีกเลี่ยงกฎหมายไทย เช่น ชาวจีนเป็นจำนวนมากซึ่งไม่มีสิทธิพิเศษทางการศาล เพราะไม่มีกงสุลจีน ได้ขอเข้าเป็นคนในบังคับของอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจของกฎหมายและศาลไทย และแม้แต่คนไทยบางพวกก็ไปขอหนังสือจากกงสุลต่างประเทศเพื่อขอเป็นคนในบังคับของต่างประเทศอีกด้วย สภาพเช่นนี้ทำให้รัฐบาลไทยต้องผจญกับปัญหาต่างๆ มากมาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเห็นว่า วิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็คือ ปรับปรุงระบบศาลและกฎหมายไทยให้อยู่ในระดับที่ชาวตะวันตกยอมรับ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้เคยใช้วิธีการนี้ขอยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับประเทศตะวันตกสำเร็จมาแล้ว ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2434 พระองค์จึงทรงจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นให้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านการยุติธรรมแทนศาลระบบเดิมที่อยู่ในสังกัดของหลายกระทรวง
      
ในปี พ.ศ. 2435 รัฐบาลไทยได้จ้างนายโรแลง จ๊าดแม็งส์ (Rollin Jacquemyns) นักกฎหมายชาวเบลเยี่ยมเข้ามาทำงานตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไปของประเทศด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีนายริชาร์ค เกอร์แปตริก (Richard Kirkpatrick) ชาวเบลเยี่ยม และนายโตกิจิ มาซาโอะ (Tokichi Masao) ชาวญี่ปุ่น เป็นต้น เข้ามารับราชการในประเทศไทย
      
เมื่อได้ทรงสถาปนากระทรวงยุติธรรมและปรับปรุงระบบการศาลของไทยให้เป็นระบบขึ้นกว่าเดิมแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเริ่มต้นปฏิรูประบบกฎหมายไทยตามหลักกฎหมายของประเทศตะวันตกอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2440 โดยในการปฏิรูปกฎหมายไทยนั้น มีปัญหาอยู่ว่าจะใช้ระบบกฎหมายใดมาเป็นแบบอย่าง ขณะนั้นมีระบบกฎหมายที่อยู่ในข่ายพิจารณาอยู่สองระบบ ค่อ ระบบคอมมอนลอว์ (Common Law System) ของอังกฤษ ซึ่งใช้หลักกฎหมายจารีตประเพณีตามแนวคำพิพากษาของศาลเป็นสำคัญ กับระบบซีวิลลอว์ (Civil Law System) ของประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป ซึ่งใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญ และมีการรวบรวมหลักกฎหมายไว้ในประมวลกฎหมายอย่างเป็นระบบ ถึงแม้ว่าประเทศตะวันตกซึ่งทำสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับประเทศไทยจะใช้ระบบกฎหมาซีวิลลอว์เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่อังกฤษก็มีอิทธิพลทางการเมือง วัฒนธรรม และกฎหมายต่อประเทศไทยขณะนั้นเป็นอย่างมาก ศาลไทยได้นำหลักกฎหมายอังกฤษมาใช้ขณะนั้นอยู่แล้วหลายลักษณะ อีกทั้งนักกฎหมายไทยชั้นนำในรุ่นนั้นส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาทางกฎหมายมาจากประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น พระองค์จึงได้ทรงเสนอให้ใช้ระบบกฎหมายอังกฤษเป็นแบบอย่างในการปฏิรูประบบกฎหมายไทย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการเปลี่ยนระบบกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับระบบซีวิลลอว์ จะเป็นการสะดวกและง่ายกว่า เพราะกฎหมายเดิมของไทยมีแนวโน้มไปในทางระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย จึงทรงตัดสินพระทัยเลือกเอาระบบซีวิลลอว์เป็นแบบอย่างในการปฏิรูประบบกฎหมายไทย
      
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มปฏิรูประบบกฎหมายไทยที่กฎหมายอาญาก่อน พระองค์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเมื่อปีพ.ศ. 2440 โดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่ตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายอาญา แต่เนื่องจากมีข้อขัดข้องหลายประการ การร่างประมวลกฎหมายอาญาโดยคณะกรรมการดังกล่าวจึงยังไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2447 ประเทศไทยต้องทำสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศสซึ่งบังคับให้ประเทศไทยต้องจ้างชาวฝรั่งเศสเข้ามารับราชการในตำแหน่งสูงๆ เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสเกรงว่าประเทศอังกฤษจะมีอิทธิพลครอบงำประเทศไทยแต่เพียงประเทศเดียว เพราะขณะนั้นไทยได้จ้างชาวอังกฤษเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาในกระทรวงต่างๆ เป็นจำนวนมาก รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้แนะนำไทยให้จ้างนายจอร์จ ปาดู (Georges Padoux) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสไว้ในตำแหน่งที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย ในตอนแรกไทยไม่ค่อยพอใจนัก แต่เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของนายปาดูโดยละเอียดแล้วเห็นว่าเหมาะสมกับหน้าที่ดังกล่าว จึงแต่งตั้งนายปาดูให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย (Conseiller Legislatif) ต่อมานายปาดูก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการร่างประมวลกฎหมายอาญา โดยมีนายวิลเลียม ติลิกี (William Tilleke) ผู้แทนเจ้ากรมอัยการ พระอัตถการประสิทธิ์ (ปลื้ม สุจริตกุล) ผู้พิพากษาคดีต่างประเทศ และหลวงสกล สัตยาทร (ทองบุ๋น บุณยมานพ) ผู้พิพากษาศาลแพ่งเป็นกรรมการ คณะกรรมการชุดนายปาดูได้ตรวจดูร่างที่คณะกรรมการชุดเดิมได้ทำไว้แล้วเห็นว่าเทียบเคียงมาจากประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย ซึ่งเป็นการนำหลักกฎหมายของอังกฤษมาบัญญัติไว้ในรูปของประมวลกฎหมายเท่านั้น มิได้ใช้หลักกฎหมายของประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป นายปาดูจึงได้ยกร่างประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่โดยเทียบเคียงจากประมวลกฎหมายอาญาของฝรั่งเศส อิตาลี และฮอลันดา เป็นหลัก และให้คณะกรรมการเป็นผู้ตรวจแก้ไขร่างนั้น โดยให้เปรียบเทียบกับกฎหมายไทยและคำพิพากษาไทยที่มีอยู่ในเรื่องเดียวกัน แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำผิด นายปาดูจึงให้คณะกรรมการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ก่อนทำการตรวจร่างกฎหมาย
      
1.อำนาจในการลงอาญาของศาลต่างๆ และการปรับปรุงการลงโทษ ทั้งนี้ เพื่อให้ประมวลกฎหมายที่จะร่างออกมาสอดคล้องกับกระบวนการลงอาญาของศาลไทย
      
2.ทัณฑสถานและการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือนักโทษ เพื่อความสะดวกในการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาของไทยให้เข้ากับประมวลกฎหมายอาญาต่างประเทศ
      
3.ค่าปรับและประโยชน์ที่ได้จากการจำคุกแทนค่าปรับ
      
ส่วนนายปาดูนั้น ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบหลักกฎหมายอาญาของต่างประเทศในแต่ละเรื่องอย่างละเอียดแล้ว จึงร่างประมวลกฎหมาย งานร่าง และการตรวจแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2448 จากนั้นก็ได้มีการพิมพ์ร่างกฎหมายจัดส่งไปให้กระทรวงต่างๆ พิจารณาว่าจะมีข้อท้วงติงหรือข้อสงสัยประการใด ซึ่งคณะกรรมการก็จะได้ทำการแก้ไขหรืออธิบายให้กระจ่างต่อไป
      
ต่อมานายปาดู ก็ได้กราบบังคมทูลเสนอให้ทรงจัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นเพื่อพิจารณาแก้ไขร่างประมวลกฎหมายอาญาอีกครั้งหนึ่งก่อนประกาศใช้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการชั้นสูงขึ้นเพื่อตรวจร่างประมวลกฎหมายอาญาตามข้อเสนอของนายปาดู โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการชั้นสูงได้เริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 เพื่อจะได้เร่งให้ประมวลกฎหมายอาญาเสร็จทันเวลาที่เสด็จกลับจากประพาสทวีปยุโรป ตามที่ทรงพระราชปรารภไว้ ที่ประชุมได้ตกลงกันว่าควรตรวจร่างกฎหมายที่เป็นภาษาอังกฤษให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วจึงค่อยแปลเป็นภาษาไทย ในการตรวจร่างกฎหมายนี้ ที่ประชุมอนุญาตให้กรรมการเอาร่างกฎหมายไปอ่านพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมตัดทอนได้ โดยนายปาดูได้กำหนดวันที่จะไปหากรรมการแต่ละพระองค์เพื่อตอบข้อสงสัย ความตอนใดในกฎหมายที่เป็นปัญหามากก็นำเข้ามาชี้ขาดกันในที่ประชุมคณะกรรมการชั้นสูงต่อไป การตรวจร่างกฎหมายได้กระทำเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2449 จากนั้นก็ได้มีการแปลร่างกฎหมายจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ซึ่งคณะกรรมการชั้นสูงได้ขอให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนศิริธัชสังกาส พระยาประชากิจ กรจักร (แช่ม บุนนาค) และพระบริรักษ์จตุรงค์ เป็นกรรมการตรวจแก้ไขภาษาไทยในประมวลกฎหมายอาญา งานแปลร่างกฎหมายเป็นภาษาไทยได้เสร็จสิ้นลงในปี พ.ศ. 2450 และได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จกลับพระนครในปี พ.ศ. 2450 ซึ่งพระองค์ทรงตรวจแก้ไขด้วยพระองค์เองอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้ทรงปรึกษากับรัฐมนตรีสภาแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายลักษณะอาญาเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2451 และในการพิมพ์กฎหมายเพื่อประกาศใช้นี้ได้มีการพิมพ์เป็น 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส
      
กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 นี้ นับได้ว่าเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย และนับได้ว่าเป็นประมวลกฎหมายอาญาที่ทันสมัยมากในขณะนั้น เพราะได้นำหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่นิยมอยู่ในประเทศต่างๆ ในขณะนั้นมาพิจารณาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของไทยอันเป็นการยกระดับประเทศขึ้นสู่ระดับอารยประเทศ กฎหมายลักษณะอาญาฉบับนี้มีบทบัญญัติรวม 340 มาตรา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประมวลกฎหมายอาญาของต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นหรืออินเดีย ก็จะเห็นได้ว่ากฎหมายลักษณะอาญาของไทยมีบทบัญญัติที่สั้นกะทัดรัด เข้าใจง่าย สะดวกแก่การใช้มากกว่า และมีข้อบกพร่องน้อยกว่าประมวลกฎหมายอาญาของญี่ปุ่น ซึ่งมีประมวลกฎหมายอาญาใช้ก่อนประเทศไทย นับได้ว่ากฎหมายลักษณะอาญาของไทยได้ทำขึ้นด้วยความละเอียดรอบคอบและสมบูรณ์ ดังปรากฏจากการที่กฎหมายลักษณะอาญาฉบับนี้ใช้บังคับมาเกือบ 50 ปี จึงถูกยกเลิกโดยประมวลกฎหมายอาญาฉบับปี พ.ศ. 2499 ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
      
ในสมัยเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นอีกคณะหนึ่งโดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ให้มีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายวิธีสบัญญัติขึ้นใช้บังคับไปพลางก่อนจนกว่าจะมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความที่สมบูรณ์ออกใช้แทน คณะกรรมการดังกล่าวได้ร่างกฎหมายเสร็จและประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาอาญา ร.ศ.126 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ.127 และพระราชธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ. 127 สำหรับสาเหตุที่ต้องร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้เพื่อใช้ไปพลางก่อน ก็เพราะการร่างประมวลกฎหมายใช้เวลานานมากไม่ทันต่อความเจริญของประเทศ ซึ่งขณะนั้นต้องการให้มีการพิจารณาคดีแบบประเทศตะวันตกโดยเร็ว จึงต้องบัญญัติกฎหมายเหล่านี้ให้ใช้ไปพลางก่อน
      
ส่วนการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น หลังจากประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2451 โดยมีกรรมการหลายฝ่ายทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ แต่ร่าง ยังไม่เสร็จก็พอดีสิ้นรัชกาลของพระองค์ในปี พ.ศ. 2453 ต่อมาในรัชกาลของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสเข้ามาช่วยร่างอยู่ด้วยประมาณ 4-5 คน จนร่างบรรพ 1 และบรรพ 2 เสร็จ แต่เนื่องจากร่างไว้เป็นภาษาอังกฤษและมีศัพท์กฎหมายใหม่อีกจำนวนมากที่ไม่เคยมีในกฎหมายไทยมาก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นในปี พ.ศ. 2465 ประกอบด้วย เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ให้มีหน้าที่ตรวจแก้คำแปลร่างบรรพ 1 และบรรพ 2 เป็นภาษาไทย คณะกรรมการดังกล่าวได้ตรวจพบว่าร่างบรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ชาวฝรั่งเศสเขียนไว้ไม่สอดคล้องกัน จึงได้ทูลเกล้าฯ เสนอให้ประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ออกไปก่อนแต่ยังไม่ให้มีผลบังคับใช้เพื่อให้บรรดาผู้พิพากษาและทนายความได้อ่านกันก่อน ซึ่งบุคคลดังกล่าวอ่านแล้วไม่เข้าใจและเห็นว่าเขียนไว้ไม่สอดคล้องกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งอันประกอบด้วยชายไทย 4 คน และชาวฝรั่งเศส 1 คน คือ นายเรอเน่ กียอง (Rene Guyon) ให้มีหน้าที่ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการชุดนี้ใช้วิธีการเดียวกับที่ญี่ปุ่นได้เคยทำมาก่อนแล้ว คือ ญี่ปุ่นได้เอาประมวลกฎหมายแพ่งของเยอรมันมาลอก ตอนใดยากเกินไปก็ตัดออก ทำให้ญี่ปุ่นสามารถร่างประมวลแพ่งของตนได้อย่างรวดเร็วและสอดคล้องต้องกัน คณะกรรมการดังกล่าว จึงนำเอาประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นมาใช้เป็นหลักในการร่าง ได้เอาบางส่วนมาจากร่างเดิมของชาวฝรั่งเศส และบางส่วนจากประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ เพื่อรักษาไมตรีของชาวฝรั่งเศสเอาไว้จนสามารถร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ได้เสร็จ และประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2468 ส่วนบรรพ 3 ถึงบรรพ 6 นั้น นายเรอเน่ กียอง ก็ได้มีส่วนร่วมร่างอยู่ด้วยตลอด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยจึงได้รับแนวความคิดมาจากกฎหมายฝรั่งเศสในหลายๆ เรื่อง
      
ในปี พ.ศ. 2465 รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องให้ไทยจัดตั้งกรมร่างกฎหมายขึ้นก่อนที่ประเทศฝรั่งเศสจะยอมแก้ไขสนธิสัญญายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ดังนั้น ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกรมร่างกฎหมายขึ้นโดยยกกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นเป็นกรมสังกัดกระทรวงยุติธรรม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เป็นนายกกรรมการ และนายเรอเน่ กียอง เป็นที่ปรึกษา และมีชาวไทยกับชาวต่างประเทศอีกหลายท่านเป็นกรรมการฯ มีหน้าที่ชำระประมวลกฎหมายและ ร่างกฎหมายอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ถูกต้องด้วยวิธีเรียบเรียงขึ้นให้ส่งไปยังกรมร่างกฎหมายเพื่อตรวจแก้หรือ ยกร่างขึ้นใหม่ให้เป็นการแน่นอนว่าถูกต้องด้วยหลักการแล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าถวาย นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีองค์กรกลางในการร่างกฎหมายขึ้นเพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาซึ่งไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศฝรั่งเศสโดยตรงในการจัดตั้งกรมร่างกฎหมายนี้ขึ้น
      
สำหรับการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น หลังจากที่ได้มีการบัญญัติกฎหมายวิธีพิจารณาความชั่วคราวขึ้นมาแล้ว ก็ได้มีการดำเนินการจัดทำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับถาวรขึ้น เมื่อนายเรอเน่ กียอง ได้เข้ามารับราชการในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2451 นายจอร์จ ปาดู ก็ได้มอบหมายให้นายกียองเตรียมการที่จะร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยนายกียอง ได้ทำการศึกษาค้นคว้าระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของต่างประเทศอย่างละเอียด และได้ช่วยนายปาดูจัดทำรายงานเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญๆ ที่ควรจะมีอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พร้อมทั้งทฤษฎีและข้อคิดเห็นรวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่นักนิติศาสตร์ทั้งหลายได้กล่าวถึงเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว ต่อมานายปาดูได้ทำรายงานเสนอรัฐบาลไทยในปี พ.ศ. 2456 และได้เสนอปัญหาต่างๆ รวม 25 ข้อ ที่รัฐบาลไทยจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อนในเบื้องต้นว่าจะมีนโยบายอย่างไร เพื่อที่จะได้ยกร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาขึ้นมาตามนโยบายหรือหลักการของรัฐบาล ซึ่งก็ได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่นายปาดูเสนอ และต่อมาเมื่อนายปาดูเดินทางกลับไปยังประเทศฝรั่งเศสก็ได้มีการแต่งตั้งนายกียองเป็นหัวหน้ากรรมการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแทน โดยนายกียองเป็นผู้ยกร่างตามระบบกฎหมายของประเทศภาคพื้นยุโรป
      
ในปี พ.ศ. 2461 คณะกรรมการชำระประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้ตรวจแก้ร่างของนายกียองเสร็จและเสนอต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ. 2461 หลังจากนั้นก็ได้มีการจัดพิมพ์ร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ตรวจแก้เสร็จแล้วและเวียนให้แก่บรรดาผู้พิพากษา ทนายความ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนสถานทูตของต่างประเทศเพื่อให้ข้อคิดเห็นหรือข้อคัดค้าน ซึ่งก็ปรากฎว่าสถานทูตอังกฤษคัดค้านหลักการหลายอย่างในร่างดังกล่าว เนื่องจากไม่เหมือนกับระบบกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของอังกฤษ ต่อมาคณะกรรมการชำระประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงได้แก้ไขร่างดังกล่าวเสียใหม่ โดยได้นำเอาประมวลกฎหมายของประเทศภาคพื้นยุโรปมาประกอบการพิจารณาเพื่อเป็นการประนีประนอมข้อคัดค้านของสถานทูตอังกฤษ ในระยะหลังนี้ได้มีนายเรมี เดอ ปลังตาโรส (Remy de Planterose) และนายชาร์ลส์ เลเวก (Charles L’ Evesque) เป็นผู้ยกร่างจนสำเร็จลุล่วงและประกาศใช้เป็นกฎหมายในปี พ.ศ. 2478
      
ส่วนการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ในระยะแรก คือ ในระหว่างปี พ.ศ. 2454 ถึงปี พ.ศ. 2457 นายริวิแอร์ (Riviere) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ยกร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยอาศัยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. 127 พระราชบัญญัติลักษณะพยาน ร.ศ. 113 และกฎข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาความในศาลกงสุลของอังกฤษในประเทศไทยเป็นหลัก ต่อมานายชาร์ลส์ เลเวก ได้รับช่วงยกร่างต่อจนแล้วเสร็จ และประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ในปี พ.ศ. 2478 เช่นเดียวกัน
      
ค.ด้านการศึกษากฎหมายและการฝึกอบรมนักกฎหมายไทย การที่ประเทศตะวันตกบังคับให้ประเทศไทยทำสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต มีผลทำให้ประเทศไทยต้องทำการปฏิรูประบบศาลและระบบกฎหมายไทยให้ทันสมัยทัดเทียมกับของประเทศตะวันตก แต่การปฏิรูปตัวบทกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวไม่พอ เพราะการมีประมวลกฎหมายที่ทันสมัยแต่ขาดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การปฏิรูปกฎหมายก็คงจะไร้ผล ดังนั้น การสร้างนักกฎหมายไทยให้สามารถใช้ตัวบทกฎหมายที่ทันสมัยได้ จึงเป็นงานสำคัญอีกประการหนึ่งที่ประเทศไทยจะต้องกระทำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นในกระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ. 2440 โดยทรงมอบให้ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ดูแลการสอน ซึ่งกรมหลวงราชบุรี ดิเรกฤทธิ์ ก็ทรงใช้ระบบการศึกษาแบบอังกฤษ เพราะทรงจบการศึกษากฎหมายจากประเทศอังกฤษ และในสมัยนั้นวัฒนธรรมอังกฤษกำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย ครูที่สอนก็ล้วนแต่สำเร็จการศึกษากฎหมายจากประเทศอังกฤษ ในการสอนครั้งแรกฯ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงสอนด้วยพระองค์เอง สำหรับกฎหมายอาญาทรงใช้ประมวลกฎหมายอาญาของอินเดียเป็นหลัก ส่วนวิชาอื่นๆ ทรงใช้ตำรากฎหมายของอังกฤษ
       
ต่อมาเมื่อการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ใกล้เสร็จแล้ว นายปาดูซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากรรมการร่างประมวลกฎหมาย ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการศึกษากฎหมายให้สอดคล้องกับระบบ Civil Law ของประเทศภาคพื้นยุโรปซึ่งประเทศไทยได้เลือกใช้เป็นแบบในการปฏิรูประบบกฎหมาย นายปาดูจึงได้ถวายบันทึกความเห็นต่อกรมหลวงสวัสดิ์วัฒนวิศิษฐ์ อธิบดีศาลฎีกาว่า เนื่องจากการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ใกล้เสร็จแล้ว ควรรีบด่วนที่จะเริ่มดำเนินการเพื่อให้ศาลไทยใช้ประมวลกฎหมายในทางที่ถูกต้อง แต่เนื่องจากระบบกฎหมายซีวิลลอว์ของประเทศภาคพื้นยุโรปนั้นแตกต่างกัน ทั้งในหลักกฎหมายและวิธีการตีความ นักกฎหมายซึ่งได้รับการฝึกฝนมาโดยวิธีหนึ่งคงไม่อาจทำงานโดยอีกวิธีหนึ่งได้ง่ายนัก นายปาดูจึงได้ถวายคำแนะนำว่าควรส่งคนไทยไปศึกษาในเยอรมันและฝรั่งเศส กรมหลวงสวัสดิ์วัฒนวิศิษฐ์ทรงเห็นด้วยกับนายปาดู จึงกราบบังคมทูลถวายความเห็นต่อพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ควรดำเนินการตามที่ นายปาดูเสนอ ซึ่งพระองค์ทรงเห็นชอบด้วยจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษากฎหมายทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมายและในด้านการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษากฎหมายในต่างประเทศ โดยในด้านการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมายนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภานิติศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. 2467 ให้มีหน้าที่จัดระเบียบและวางหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนกฎหมายให้อยู่ในระดับเดียวกับต่างประเทศ สภานิติศึกษานี้มี ดร.ดูปลาตร์ (Duplatre) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสเป็นผู้อำนวยแผนกวิชา และมีการศึกษากฎหมายฝรั่งเศสหรืออังกฤษด้วย ส่วนในด้านการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษากฎหมายในต่างประเทศนั้น เดิมประเทศไทยส่งนักเรียนทุนหลวงไปศึกษากฎหมายในประเทศอังกฤษ แต่หลังจากที่นายปาดูเสนอความเห็นดังกล่าวข้างต้นไปแล้ว ก็ได้มีการส่งนักเรียนทุนหลวงไปศึกษากฎหมายยังประเทศอื่น เช่น ในปี พ.ศ. 2460 หลวงนารถบัญชาถูกส่งไปสหรัฐอเมริกา นายปรีดี พนมยงค์ ถูกส่งไปประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2463 เป็นต้น
      
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ก็ได้มีประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2476 ให้ยุบสภานิติศึกษาและตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และให้โอนโรงเรียนกฎหมายในกระทรวงยุติธรรมไปสมทบกับคณะนิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยให้ ดร.ดูปลาตร์ เป็นผู้อำนวยการแผนกวิชาในคณะนิติศาสตร์ แต่การเรียนการสอนกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินไปได้เพียงปีเดียวก็มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น และให้โอนคณะนิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปขึ้นต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้งขึ้นมา ซึ่งในระยะแรกๆ นั้น มีอาจารย์ชาวฝรั่งเศส เช่น ดร.ดูปลาตร์ เป็นผู้สอนและมีอาจารย์ไทยคอยแปลคำบรรยายเป็นภาษาไทยให้นักศึกษาฟังอีกทอดหนึ่ง และต่อมาก็ได้เริ่มมีการแปลคำบรรยายต่างๆ เป็นตำราภาษาไทย เช่น คำอธิบายธรรมศาสตร์ของ ดร.ดูปลาตร์ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นตำราชุดแรกของไทยที่พูดถึงทฤษฏีกฎหมายมหาชน
      
แต่เดิมนักกฎหมายไทยเข้าใจกันว่ากฎหมายแบ่งออกเป็น 2 สาขา คือ กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา ดังที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทรงอธิบายไว้ในปี พ.ศ. 2444 ว่า กฎหมายนั้นแบ่งเป็น 2 อย่าง แพ่งอย่างหนึ่ง อาญาอย่างหนึ่งแต่ภายหลังได้ทรงอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า กฎหมายแบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ 1.แพ่ง 2.อาญา 3.ระหว่างประเทศแนวความคิดดังกล่าวมีอิทธิพลมากเนื่องจากเป็นแนวความคิดเดิมที่เข้าใจกันในหมู่นักกฎหมายไทยในขณะนั้น ประกอบกับคำอธิบายดังกล่าวเป็นของนักกฎหมายไทยที่สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ และอธิบายอย่างที่นักกฎหมายอธิบาย แนวความคิดนี้ก็แน่นแฟ้นขึ้นว่า กฎหมายเอกชน คือ กฎหมายแพ่ง กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายอาญา ส่วนกฎหมายปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
      
นักกฎหมายไทยเริ่มรู้จักการแบ่งสาขากฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนในรัชกาลพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยานิติศาสตร์ไพศาลได้อธิบายไว้ในหัวข้อเลคเชอร์ธรรมศาสตร์ ณ โรงเรียนกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2462 ว่ากฎหมายแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครอง อำนาจ สิทธิ หน้าที่ และความเป็นไปของบ้านเมือง ส่วนกฎหมายเอกชน คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิ หน้าที่ และความเกี่ยวพันระหว่างราษฎรกับราษฎร คำอธิบายดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการอธิบายครั้งแรกในประเทศไทยว่ากฎหมายแบ่งออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน แต่พระยานิติศาสตร์ไพศาลก็อธิบายด้วยว่ากฎหมายอาจแบ่งเป็นกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาก็ได้ การสอนการอธิบายกฎหมายในสมัยนั้นจึงยังคงเน้นการแบ่งกฎหมายออกเป็นกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญามากกว่าการแบ่งกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน เพราะหาตัวอย่างกฎหมายมาอธิบายได้ง่ายกว่า เนื่องจากขณะนั้นกฎหมายลักษณะอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บางบรรพได้ประกาศใช้แล้ว ส่วนกฎหมายปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญยังไม่รู้จักกัน เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปกครองจึงถูกจัดอยู่ในประเภทของกฎหมายแพ่ง นักกฎหมายไทยในสมัยนั้นจึงเข้าใจกันว่ากฎหมายเอกชน คือ กฎหมายแพ่ง กฎหมายมหาชนคือกฎหมายอาญา
      
การแบ่งสาขาของกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน เพิ่งจะปรากฏความสำคัญจริงจังในตอนปลายรัชกาลที่ 6 เมื่อมีนักกฎหมายชาวฝรั่งเศส 2 คน คือ ดร.ดูปลาตร์ และ ดร.เอกูต์ เข้ามาสอนกฎหมายในประเทศไทย ดร.ดูปลาตร์ได้เขียนคำอธิบายไว้ในปี พ.ศ. 2475 ก่อน การเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า กฎหมายมหาชนนั้นต่างกับกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายซึ่งบังคับนิติสัมพันธ์อันเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ประเทศได้แสดงตัวเป็นผู้บังคับปกครองในพระราชอาณาจักร โดยรักษาความสงบเรียบร้อย ระเบียบการเก็บภาษีอากร และการที่ประเทศแสดงตัวนอกพระราชอาณาจักรเป็นผู้ทำการเกี่ยวพันกับประเทศอื่นๆ กฎหมายมหาชนมีกฎหมายปกครองเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ กฎหมายปกครอง คือ หลักและข้อบังคับว่าด้วยระเบียบและวิธีดำเนินการของราชการฝ่ายปกครองและว่าด้วยความเกี่ยวข้องซึ่งเอกชนพึงมีแก่ราชการ ดร.ดูปลาตร์ ได้อธิบายต่อไปว่า กฎหมายปกครองมีความเจริญมาก ในฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสมีศาลปกครองแยกต่างหากจากศาลยุติธรรมและไม่ยอมให้ศาลยุติธรรมชี้ขาดว่ากิจการที่ฝ่ายปกครองกระทำไปนั้นถูกหรือผิด แต่จะให้ตุลาการของฝ่ายปกครองเป็นผู้วินิจฉัย กฎหมายปกครองของฝรั่งเศสมีขอบเขตกว้างขวาง เพราะครอบคลุมทั้งการจัดระเบียบและวิธีดำเนินการของราชการแผ่นดิน ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับเอกชนและอำนาจวิธีพิจารณาของศาลปกครอง ดร.ดูปลาตร์ ได้สรุปไว้ว่าการที่ประเทศไทยไม่มีศาลปกครอง ทำให้กฎหมายปกครองของไทยมีเนื้อหาน้อยลง เพราะมีแต่การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น
      
ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ดร.เอกูต์ ได้เขียนอธิบายไว้ในวิชาธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า กฎหมายแบ่งได้เป็น 3 สาขา คือ กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเอกชน กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมหาชน และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมหาชนนั้น ดร.เอกูต์ อธิบายว่า ประเทศถือเสมือนเป็นนิติบุคคลและแยกออกต่างหากจากบุคคลธรรมดาที่ประกอบกันเป็นประเทศ ประเทศนั้นแสดงออกโดย 3 วิธี คือ ในฐานะอำนาจทางการเมือง (กฎหมายรัฐธรรมนูญ) ในทางจัดการสาธารณประโยชน์ (กฎหมายปกครอง) และในทางลงโทษผู้ซึ่งทำลายความสงบเรียบร้อยของประชาชน (กฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)
      
การอธิบายการแบ่งสาขากฎหมายตามแนว ดร.ดูปลาตร์ และ ดร.เอกูต์ นี้ เป็นการอธิบายตามแนวคิดของฝรั่งเศสซึ่งมีอิทธิพลสืบเนื่องต่อมาอีกนานในวงการศึกษากฎหมายในไทย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่มิได้มีการเน้นให้เห็นถึงปรัชญาทางการแบ่งแยกสาขากฎหมายและความสำคัญของการแบ่งแยกสาขาของกฎหมายในทางปฏิบัติหรือในการใช้กฎหมายแต่ละสาขา ดังนั้น ถึงแม้ว่าการแบ่งแยกสาขากฎหมายออกเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนจะเป็นที่ปรากฏในตำราของมหาวิทยาลัยในระยะแรกและในเวลาต่อมาก็ตาม แต่ก็เป็นเพื่อประโยชน์ในการอธิบายแต่เพียงว่ากฎหมายมหาชนมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจากกฎหมายเอกชนหรือเพื่อใช้ในการแบ่งภาควิชาเท่านั้น
      
ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่แนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองในประเทศไทยนอกจากนักกฎหมายฝรั่งเศสดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ยังมีนักกฎหมายไทยที่สำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสอีกหลายท่าน แต่ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุด คือ นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อท่านสำเร็จการศึกษากฎหมายกลับมาในปี พ.ศ. 2470 ท่านได้รับตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาและผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย นอกจากนี้ ท่านยังได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ผู้บรรยายที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม โดยในระยะแรกและท่านได้สอนวิชากฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัทและสมาคม ต่อมาได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมายในปี พ.ศ. 2474 นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้รับมอบหมายให้สอนวิชากฎหมายปกครองขึ้นเป็นครั้งแรก หนังสือคำอธิบายกฎหมายปกครอง (พ.ศ. 2474) ของท่านได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงและได้สร้างชื่อให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก เพราะท่านได้อธิบายหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นประเทศไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากนี้ ท่านยังได้อธิบายถึงหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ เช่น การปกครองท้องถิ่น การงานในทางปกครองและคดีปกครอง ฯลฯ เอาไว้ด้วย
      
หลังจากที่ได้เผยแพร่แนวความคิดเกี่ยวกับหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยและ หลักกฎหมายปกครองที่สำคัญตามแนวความคิดของฝรั่งเศสแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้นำเอาความคิดดังกล่าวมาใช้ในทางปฏิบัติโดยการเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนร่วมกับ คณะราษฎร์ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยท่านได้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย คือ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
      
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลโดยดำริของนายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476 ขึ้น โดยโอนงานของกรมร่างกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2466 ไปเป็นงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและกำหนดให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ร่างกฎหมายให้คำปรึกษาทางกฎหมายและพิจารณาคดีปกครองตามแบบของสภาแห่งรัฐ (Le Conseil d’Etat) ของฝรั่งเศส แต่ในขณะนั้นกฎหมายที่กำหนดว่าอะไรเป็นคดีปกครอง ยังมิได้ตราขึ้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2492 ได้มีการตราพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ จัดตั้งคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ขึ้นอีกคณะหนึ่งต่างหาก ซึ่งอันที่จริงแล้วการพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ก็คือการเริ่มพิจารณาคดีปกครองนั่นเอง ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมิได้ทำหน้าที่พิจารณาคดีปกครอง และกฎหมายว่าด้วยเรื่องราวร้องทุกข์ได้ทำให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งได้แบบอย่างมาจาก สภาแห่งรัฐของฝรั่งเศสต้องแยกออกเป็นสองส่วน โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเองทำหน้าที่ในด้านการร่างกฎหมาย และการรับปรึกษาให้ความเห็นกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐเท่านั้น
      
ต่อมาในปี พ.ศ.2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2517 ก็ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองแยกออกต่างหากจากศาลยุติธรรมไว้ในมาตรา 212 ว่า ศาลปกครองและศาลในสาขาแรงงาน สาขาภาษี หรือสาขาสังคม จะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตามการจัดตั้งศาลปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ยังมิได้เกิดขึ้นจนกระทั่งสิ้นสุดการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2517 เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปในปี พ.ศ. 2519
      
ในปี พ.ศ. 2522 มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ขึ้นมาแทนที่พระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 ซึ่งมีปัญหาทำให้ไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ได้ พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ได้จัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครอง แต่มิได้เป็นศาลปกครอง เพราะเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครองเป็นประการใดแล้ว ก็ต้องเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าของฝ่ายบริหารและฝ่ายปกครองให้พิจารณาสั่งการ คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้วางแนวทางในการพัฒนา ศึกษา และวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครองเอาไว้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มีผลใช้บังคับ จึงได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ก็ได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด
      
ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2517 ก็ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองแยกออกต่างหากจากศาลยุติธรรมไว้ในมาตรา 212 ว่าศาลปกครองและศาลในสาขาแรงงาน สาขาภาษีหรือสาขาสังคม ก็จะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งศาลปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ยังมิได้เกิดขึ้นจนกระทั่งสิ้นสุดการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2517 เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปในปี พ.ศ. 2519
      
ในปี พ.ศ.2522 มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ขึ้นมาแทนที่พระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 ซึ่งมีปัญหาทำไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ได้ พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ได้จัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองแต่มิได้เป็นศาลปกครองเพราะเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครองเป็นประการใดแล้วก็ต้องเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าของฝ่ายบริหารและฝ่ายปกครองให้พิจารณาสั่งการ คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้วางแนวทางในการพัฒนาศึกษาและวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครองเอาไว้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มีผลใช้บังคับ จึงได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ก็ได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด       
      
เชิงอรรถ      
      
1.สรุปความจาก Michel de VILLIERS, Droit public general, (Paris: Litec, (2002) p. 1 – 44.
      
2. สรุปความจาก Michel de VILLIERS, Droit public general, (Paris: Litec, (2002) p. 1 – 44.
      
3.สรุปความจาก Jean-Louis QUERMONNE , L’appareil administratif de l’Etat , (Paris : Editions du Seuil ,1991) , หน้า 29-128 และ Philippe GEORGES et Guy SIAT , Droit public , (Paris : Sirey, 13e édition , 2002 , หน้า 131-201.
      
4. นันทวัฒน์ บรมานันท์, เอกสารประกอบคำบรรยายวิชากฎหมายมหาชน : หลักทั่วไป, (เอกสารอัดสำเนาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535)             
        
       ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง ส่วนที่ 2 แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 4 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
       ครั้งที่ 5 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
       ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
       ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น